|
วิถีชีวิตชุมชนสะพานมอญ
วิถีชีวิตชาวมอญที่พบเห็นได้บริเวณสะพานมอญ และหมู่บ้านมอญเมื่อความเจริญค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่หมู่บ้านมอญ การเดินทางมีความสะดวกสบายขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ทำให้ วิถีชีวิตชาวมอญ เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แทรกซึมเข้ามาสู่ชุมชน แต่ก็ยังได้เห็นกลิ่นไอความเป็นมอญบางอย่างหลงเหลืออยู่บ้้าง แต่ละครอบครัวในหมู่บ้านมอญ ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาว จะเข้าไปรับจ้างทำงานในตัวเมือง เราจึงมักเห็นการดำเนินชีวิตประจำวันแบบมอญของเด็กๆ และผู้สูงวัย มากกว่าวัยรุ่น
การแต่งกายของชาวมอญเป็นแบบเรียบง่าย โดยผู้ชายจะใส่เสื้อและโสร่ง ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อกับผ้านุ่ง และมีผ้าคาดบ่า การใส่บาตรตอนเช้าจะนั่งรอที่พื้นกันอย่างเรียบร้อย เมื่อพระมาถึงจะยืนขึ้น แล้วตักข้าวของใส่บาตรอย่างสงบและสำรวม ชาวมอญนิยมประแป้งขาวใส่ผ้านุ่งเดินเทินของไว้บนศีรษะข้ามผ่านสะพานไป-มาอย่างคึกคัก
ในงานขึ้นปีใหม่ (ปกติมักจัดขึ้นในวันที่ 16-18 เมษายน) ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันชาวไทยรามัญมาถือศีลกินนอนที่วัด ลูกหลานทำสำหรับกับข้าวมาถวายพระสงฆ์ มาส่งให้พ่อแม่ พอล่วงเข้าสูวันที่ 16 ชาวมอญเริ่มพิธีประเพณีปีใหม่ด้วยการอาบน้ำให้บุพการี งานนี้มีมากกว่ารดน้ำดำหัวแบบคนไทย คือลูกหลานจัดการอาบน้ำฟอกสบู่ให้พ่อแม่ เสร็จสรรพก็เตรียมชุดมาให้ จัดการสวมใส่ให้ทั้งหมด นับเป็นประเพณีที่แปลกแต่ซ่อนความงดงามอยู่ในที พอตกตอนเย็นพากันนำทรายเข้าวัด ไปช่วยกันก่อเจดีย์
วันที่สองของปีใหม่มอญ ชาวมอญยังคงไปวัด ไปไหว้พระเจดีย์ บ้างไปสะเดาะเคราะห์ด้วยการนำทรายไปก่อ นำไม้ไปสร้างสะพาน ไม่ว่าจะเป็นสะพานเล็กหรือใหญ่สะพาน สะพานไม้ไผ่หรือสะพานปูนล้วนเป็นการสะเดาะเคราะห์ทั้งสิ้น พอเข้าถึงช่วงบ่ายแก่ๆ ชาวมอญทั้งหมดจะมารวมตัวหน้าเจดีย์พุทธคยา พวกเขาแต่งตัวประจำชาติ ผู้ชายใส่โสร่งสีแดง เสื้อเชิ้ตสีขาว ผู้หญิงใสผ้าซิ่นมากับเสื้อแขนยาวบ้าง แขนสั้นบ้าง ล้วนแล้วแต่สวยงาม
เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ลงมา จะเทน้ำจากขันเงินลงสู่รางไม้ไผ่ น้ำจากรางไผ่หลายสิบรางรินไหลลงไปรวมอยู่ในรางเดียว น้ำจากศรัทธาธรรมหลอมรวมเป็นหนึ่งราดรดองค์พระสงฆ์ นับเป็นความคิดที่แยบยลซ่อนกลธรรมแห่งความอยู่ร่วม จากหลายสายธารรวมเป็นหนึ่ง นี่คือปมประเด็นที่สวยงามในการหล่อหลอมรวมน้ำใจ พอรดน้ำสรงพระสงฆ์เสร็จ น้ำที่เหลือในขันเงินจะถูกสาดซัดไปยังหัวใจทุกดวงของผู้มาร่วมงาน สาดกันด้วยน้ำ สาดกันด้วยใจ สาดกันด้วยศรัทธางาม
งานปีใหม่วันสุดท้าย ช่วงสายๆ ผู้หญิงผู้ชายยังแต่งตัวเหมือนเดิม พวกเขาแบกต้นผ้าป่ามาจากซอกหลืบในหมูบ้าน ผ้าป่าบางต้นมีขนาดเล็กเขาจะเทินมาบนหัว มารวมตัวกันที่ลานโล่งริมตลาด จากนั้นแหแหนไปที่วัด นำไปถวายพระ จากนั้นย้ายมาที่เจดีย์ทราย นั่งล้อมเจดีย์ พวกเขากราบเจดีย์ลงบนพื้นดิน ไม่รังเกียจว่าจะเป็นดิน เป็นทราย เพราะการกราบเป็นการเคารพพระพุทธศาสนา กราบด้วยศรัทธาที่ฝังรากมาจากใจ ประเพณีท้ายสุดของวันปีใหม่คือทำพิธีนำฉัตรทองฉลุลายขึ้นไปอยู่บนยอดเจดีย์ พระสงฆ์สวดรับและส่งเป็นอันเสร็จพิธีกรรม
บรรณานุกรม
พรายทะเล. (2558). พายุทรายกับพรายทะเล. ค้นจาก
http://www.oknation.net/blog/praitala/2013/05/21/entry-1
|
|