คณะครุศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
สาระการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกาญจนบุรี: สะพานมอญ

ผู้สอน
นายจุมินทร์ วนิชกุล


ที่ตั้งและอาณาเขต

ชาวมอญ
อำเภอสังขละบุรี

ขนบธรรมเนียมชาวมอญ
อำเภอสังขละบุรี

ประวัติการก่อสร้าง

วิถีชีวิตชุมชน
สะพานมอญ

เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
สะพานมอญ

              หน้าหลัก

ประวัติการก่อสร้างสะพานมอญ

   สะพานมอญ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์ เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปยัง หมู่บ้านมอญ ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า และเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี เป็นสะพานแห่งศรัทธา ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรี ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญในแถบนี้ สิ่งที่ห้ามพลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กับสะพานที่เสมือนเป็นสายใยวัฒนธรรมของชาวมอญและไทยในดินแดนสุดขอบประเทศแห่งนี้

   การเที่ยวชมสะพานมอญ ควรแวะเดินชมตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะช่วงเวลา 6.00 - 7.00 น. เป็น ช่วงที่ได้เห็นวิถีชีวิตชาวมอญ ใส่บาตรพระทุกเช้า หากนักท่องเที่ยวต้องการใส่บาตร ก็มีอาหารขายบริเวณหมู่บ้านมอญ สายๆ หากเดินข้ามฝั่งไปยังหมู่บ้านมอญ ก็สามารถเที่ยวชมบ้านเรือนในแบบชาวมอญ ซื้อของที่ระลึก หรือจะแวะชิมขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย ที่เป็นอาหารพื้นบ้านชาวมอญก็ได้

ก่อนที่จะมีการสร้างสะพานมอญ ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย ใช้สะพานที่เรียกว่า "สะพาน บาทเดียว" โดยใช้ไม้ไผ่ต่อเป็นแพ แล้วมีคนคอยลากให้มาเชื่อมต่อกันไปมา โดยเก็บเงินข้ามฟากครั้งละ 1 บาท ต่อมาหลวงพ่ออุตตมะได้ริเริ่มสร้างสะพานไม้นี้ขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านเดินทางข้ามแม่น้ำได้สะดวกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย วิธีการสร้าง และขั้นตอนการสร้าง ไม่ได้ใช้เครื่องจักรใดๆ ใช้เพียงอุปกรณ์พื้นบ้าน และแรงงานชาวบ้านที่ศรัทธาต่อหลวงพ่อสมัครใจมาช่วยกันลำเลียงวัสดุ ผูกยึด ตอไม้ เสา และกระดานไม้ สะพานไม้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2529 - 2530 มีความยาวทั้งสิ้น 850 เมตร ข้ามแม่น้ำซองกาเลียระยะทางประมาณ 455 เมตร

   วัสดุทั้งหมดล้วนทำด้วยไม้ ส่วนใหญ่จะใช้ไม้เนื้อแข็ง พวกไม้แดง เพราะมีความทนทาน ไม้ที่ได้ ส่วน หนึ่งนำมาจากต้นไม้ที่ยืนต้นจมอยู่เหนือเขื่อน ราวสะพาน และพื้นสะพาน ใช้ไม้กระดานที่ตัดเป็นท่อนๆ ขนาดหน้ากว้างไม่มาก นำมาต่อกัน ตัวสะพานใช้เสา 60 ต้น ตรงช่วงกลาง เสาห่าง 10 ศอก เพื่อให้เรือสัญจรไปมาได้ สะพานที่สร้างเสร็จเชื่อมต่อหมู่ 2 กับหมู่ 3 ของตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี สะพานไม้นี้จึงมีความหมายกับคนมอญเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่สะพานเชื่อมหมู่บ้านสองฝั่งแม่น้ำ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพลังศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะ เป็นสะพานมิตรภาพ ความสมานฉันท์ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันทั้งชาวไทยและชาวมอญในสังขละบุรี

สะพานมอญได้รับการซ่อมแซมดูแลเพื่อให้มีความปลอดภัยตลอดมา ครั้งล่าสุดได้รับการซ่อมแซมเป็น ครั้งที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2554 และได้ติดเสาไฟรูปหงส์เพิ่มเติม ซึ่งหงส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของมอญ เหมือนกับรูปหงส์สีทองที่อยู่ในธงประจำชาติมอญ

   เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เกิดมีมรสุมทำให้ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จนเกิดน้ำป่าไหลหลากมาจากทุ่งใหญ่นเรศวร พัดขยะและเศษไม้ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย ไหลมาตามลำน้ำ แล้วปะทะกับเข้ากับสะพานมอญ จนทำให้   สะพานมอญพังและขาด   ประมาณ 30 - 70 เมตร พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ได้ดูแลให้ชาวบ้านหาไม้ไผ่มาคนละลำ ด้วยคำว่า "หนึ่งคน หนึ่งลำ" เพื่อให้มาช่วยกันทำแพลูกบวบ ซึ่งเป็นแพที่นำลำไม้ไผ่มามัดต่อกันเป็นแพบนบนผิวน้ำ ใช้เป็นสะพานชั่วคราวแทนสะพานที่กำลังซ่อม ซึ่งการซ่อมแซมสะพานมอญนี้ก็จะคงสภาพความเป็นสะพานไม้ไว้เหมือนเดิม และใช้วิธีการตามวิถีชาวบ้าน ไม่ได้ใช้เครื่องจักรใดๆ เพื่อรักษาคุณค่าของสะพานไม้ไว้ต่อไป

แพลูกบวบที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางชั่วคราว       มีความกว้าง 6 เมตร มีความยาวประมาณ 300 เมตร ตามความกว้างของลำน้ำ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน แพนี้สร้างขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 6 วัน และกลายเป็นจุดดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเป็นอันมาก เพราะทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนได้เดินบนผิวน้ำแม่น้ำซองกาเลีย บริเวณตอนกลางของแพลูกบวบจะทำเป็นสะพานไม้ยกสูงเพื่อให้เรือลอดผ่านไปได้ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เรียบง่าย และยังคงความเป็นบรรยากาศแบบธรรมชาติไว้ด้วย ปัจจุบันได้มีการซ่อมแซมสะพานมอญที่ขาดพังและเสียหายจากพายุและ   ทำพิธีเปิด   เพื่อเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยได้ใช้งานต่อไป

 

ติดต่อสอบถามได้ที่ jommyzazy@hotmail.co.th
สงวนลิขสิทธิ์ © 2015
จัดทำเมื่อ สิงหาคม 2015