|
915 ภูมิศาสตร์ทวีปเอเซีย
915.93 ประเทศไทย
ประเทศไทย
ประเทศไทย หรือชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐชาติที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปแบบเป็นราชาธิปไตยภายใต้
รัฐธรรมนูญ และปกครองในประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย
และอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดกับทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดกับประเทศพม่าและประเทศลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออก
เป็น 75 จังหวัด โดยมีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของประเทศ
ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากเป็นอันดับ 20 ของโลก คือ
ประมาณ 66 ล้านคน ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ
ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง อาทิ พัทยา, จังหวัดภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงใหม่ อันสร้างรายได้ให้กับประเทศ เช่นเดียวกับการส่งออกซึ่งมี
ส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยจีดีพีของประเทศซึ่งมีมูลค่าราว 260,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตามการประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2552
เศรษฐกิจของประเทศไทยนับว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 33 ของโลก
ในอาณาเขตประเทศไทยพบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึง 5 แสนปี นักประวัติศาสตร์มักถือว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกของ
คนไทย ซึ่งต่อมาตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรอยุธยา อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความยิ่งใหญ่เนื่องจากการติดต่อกับชาติตะวันตก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2054 สงครามจาก
การขยายอำนาจของพม่านำไปสู่การเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง ก่อนที่อยุธยาจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งได้เสื่อมอำนาจและล่มสลายไปหลังการเสียกรุงครั้งที่สอง
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราช และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี เหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยของราชวงศ์จักรี
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยรับมือกับภัยคุกคามจากชาติใกล้เคียง แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคอย่างมาก
นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาหลายฉบับและการเสียดินแดน กระนั้น ไทยก็ยังธำรงตนไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติใด ๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมกับ
ฝ่ายพันธมิตร ในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการปฏิวัติซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ไทยเข้ากับฝ่ายอักษะระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในช่วงสงครามเย็น
ไทยดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ไทยเคยประสบปัญหาคอมมิวนิสต์ในประเทศ หลังจากอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารนับหลายสิบปี ประชาธิปไตย
ในประเทศกำลังพัฒนาขึ้น
คำว่า "สยาม" เป็นคำที่ชาวต่างประเทศใช้เรียกอาณาจักรอยุธยา เมื่อราว พ.ศ. 2000 เดิมทีประเทศไทยเองก็เคยใช้ชื่อว่า สยาม มานับตั้งแต่
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา แต่ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" อย่างชาวต่างชาติหรือตามชื่อประเทศอย่างเป็น
ทางการในสมัยนั้นเลย ส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ชาวอยุธยาได้เรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ตามประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 1 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 24 มิถุนายน
พ.ศ. 2482) ได้เปลี่ยนชื่อประเทศ พร้อมกับเรียกประชาชน และสัญชาติจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ซึ่งจอมพล ป. มีเจตนาต้องการบ่งบอกว่า
ดินแดนนี้เป็นของชาวไทย มิใช่ของเชื้อชาติอื่น ตามลัทธิชาตินิยมในเวลานั้น โดยในช่วงต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็นสยามเมื่อปี พ.ศ. 2488
แต่ก็ได้เปลี่ยนกลับมาชื่อไทยอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ยังเปลี่ยนจาก "Siam"
ในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เป็น "Tha?lande" ในภาษาฝรั่งเศส และ "Thailand" ในภาษาอังกฤษอย่างในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม
ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
ภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ภาพถ่ายประเทศไทยจากดาวเทียมประเทศไทยมีขนาดประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นอันดับที่ 50 ของโลก เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
เป็นอันดับที่ 3 ในคาบสมุทรอินโดจีน รองจากประเทศอินโดนีเซียเเละประเทศพม่า และมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศสเปนมากที่สุด
ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อนหลายเทือกเขา จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ ดอยอินทนนท์ ณ
2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล รวมทั้งยังปกคลุมด้วยป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของที่ราบสูง
โคราช สภาพของดินค่อนข้างแห้งแล้งและไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกนัก แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากแม่น้ำหลายสายที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ อัน
ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ทำให้ภาคกลางกลายเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ และถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่ง
ของโลก ภาคใต้ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน มีจุดที่แคบลง ณ คอคอดกระ แล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู
แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย การผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตรจะต้องอาศัยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากแม่น้ำ
ทั้งสองและสาขาทั้งหลาย อ่าวไทยกินพื้นที่ประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นแหล่ง
ดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำตื้นใสตามแนวชายฝั่งของภาคใต้และคอคอดกระ อ่าวไทยยังเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากมีท่าเรือหลักในสัตหีบ และถือ
ได้ว่าเป็นประตูที่จะนำไปสู่ท่าเรืออื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ส่วนทะเลอันดามันถือได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามากที่สุดของไทย เนื่องจากมีรีสอร์ตที่ได้รับ
ความนิยมอย่างสูงในทวีปเอเชีย รวมไปถึงจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดตรัง และหมู่เกาะตามแนวชายฝั่งของทะเลอันดามัน ซึ่งนักท่องเที่ยวมัก
จะมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ
ช้างเอเชีย (Elephas maximus) สัตว์ประจำชาติไทยภูมิอากาศของไทยเป็นแบบเขตร้อน หรือแบบสะวันนา มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-34 ?C
และมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยตลอดปีกว่า 1,500 มิลลิเมตร สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดูกาล: อากาศร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเป็นฤดูร้อน;
ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้เป็นฤดูฝน; ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม
ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนเป็นฤดูหนาว ส่วนภาคใต้มีสภาพอากาศแบบป่าดงดิบ ซึ่งมีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี
จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฤดู: โดยฝั่งทะเลตะวันออก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และฝั่งทะเลตะวันตก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
ถึงเดือนเมษายน
ประเทศไทยยังคงมีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์อยู่มาก อันเป็นรากฐานอันมั่นคงของการผลิตในภาคการเกษตร และประเทศไทยได้มีผลไม้
เมืองร้อนหลากชนิด พื้นที่ราว 29% ของประเทศไทยเป็นป่าไม้ รวมไปถึงพื้นที่ปลูกยางพาราและกิจกรรมปลูกป่าบางแห่ง ประเทศไทยมีเขตรักษาพันธุ์
สัตว์ป่ากว่า 50 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 56 แห่ง โดยพื้นที่ 12% ของประเทศเป็นอุทยานแห่งชาติ (ปัจจุบันมี 110 แห่ง) และอีกเกือบ 20%
เป็นเขตป่าสงวนประเทศไทยมีพืช 15,000 สปีชีส์ คิดเป็น 8% ของสปีชีส์พืชทั้งหมดบนโลก ในประเทศไทย พบนกจำนวน 982 ชนิด นอกจากนี้
ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 1,715 สปีชีส์ซึ่งได้รับการบันทึก
ประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เครื่องปั้นดินเผาซึ่งถูกพบใกล้กับบ้านเชียง สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 2,000 ปีประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในอดีต พื้นที่ซึ่งเป็นประเทศไทย
ในปัจจุบันได้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่าเป็นต้นมา คือ ราว 20,000 ปีที่แล้ว ภูมิภาคดังกล่าวได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและทางศาสนาจากอินเดีย
นับตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน ราวศตวรรษที่ 1 ของศักราชกลาง แต่สำหรับรัฐของคนไทยแล้ว ตามตำนานโยนกได้บันทึกว่า การก่อตั้งอาณาจักรของคนไทยครั้งแรกเกิดขึ้น
เมื่อราว พ.ศ. 1400
อาณาจักรสุโขทัย
ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิขะแมร์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้มีรัฐเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไม่นานนัก อาทิ ชาวไท มอญ
เขมรและมาเลย์ นักประวัติศาสตร์ไทยเริ่มถือเอาสมัยอาณาจักรสุโขทัย นับตั้งแต่ พ.ศ. 1781 เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งตรงกับสมัยรุ่งเรืองของ
อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรสุโขทัยขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่เริ่มอ่อนแอลงภายหลังการสวรรคต
ของพระองค์ การรับพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามา ทำให้อาณาจักรสุโขทัยเริ่มมีการปกครองแบบธรรมราชา
อาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระเจ้าอู่ทองทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรของชนชาติไทยขึ้น ในปี พ.ศ. 1893 มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งยึดมาจากหลัก
ของศาสนาพราหมณ์ การเข้าแทรกแซงสุโขทัยอย่างต่อเนื่องทำให้อาณาจักรสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา ต่อมา ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พระร่วงเจ้าสุโขทัย คนสุดท้าย พระยายุทธิษฐิระ เอาใจออกห่างไปเข้ากับอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช พระองค์จึงทรงไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
และทำสงครามกับอาณาจักรล้านนาเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ ซึ่งบางส่วนได้ใช้มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โกษาปานนำพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2054 ตรงกับรัชสมัยของ
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทำให้อยุธยาเริ่มการติดต่อกับชาติตะวันตก ในขณะเดียวกัน ราชวงศ์ตองอูของพม่าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น จึงนำมาสู่การขยายดินแดนมายัง
กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง การสงครามอันยืดเยื้อนับสิบปี ส่งผลให้อยุธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอูใน
พ.ศ. 2112 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้เวลา 15 ปีเพื่อสร้างภาวะครอบงำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง
จากนั้น กรุงศรีอยุธยาได้กลายมาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอยุธยารุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในรัชสมัย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส, ดัตช์, และอังกฤษ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลซึ่งเพิ่มมากขึ้นของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา
ทำให้พระเพทราชาประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอนความขัดแย้งภายในทำให้การติดต่อกับชาติตะวันตกซบเซาลง
อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมอำนาจลงราวพุทธศตวรรษที่ 24 การสงครามกับราชวงศ์อลองพญา ส่งผลให้อยุธยาถูกปล้นสะดมและเผาทำลาย เมื่อปี
พ.ศ. 2310 ในปีเดียวกัน พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคนไทยเป็นเวลานาน 15 ปี
ถือเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามและการฟื้นฟูความเจริญของชาติ จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้สถาปนากรุง
รัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง
ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยเผชิญกับการรุกรานจากพม่าครั้งใหญ่ ได้แก่ สงครามเก้าทัพ ผลจากสงครามทำให้พม่าไม่รุกรานไทยอีกเลย นอกจากนี้
ไทยยังมีอำนาจครอบคลุมส่วนใหญ่ของลาวและกัมพูชา แต่ไทยประสบกับการรุกรานในกบฎเจ้าอนุวงศ์ และการรุกรานจากเวียดนามหลายครั้ง
การเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก
การสูญเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสและอังกฤษในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษ
ได้เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง อันเป็นสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมฉบับแรกที่ทำกับต่างชาติ ตามด้วยการทำสนธิสัญญาอีกหลายฉบับ ต่อมา การคุกคามของฝรั่งเศสและอังกฤษ
ทำให้สยามเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากชาติมหาอำนาจ อาณาจักรสยามก็ยีง
สามารถธำรงตนเป็นรัฐเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกเลย หากแต่สยามก็ต้องรับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกเข้าสู่ประเทศ
อย่างมาก จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมและวัฒนธรรมในเวลาต่อมา และดำรงบทบาทของตนเป็นรัฐกันชนระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งสอง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายพันธมิตร ทำให้ประเทศได้รับการยอมรับ
จากนานาประเทศ นำมาซึ่งการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลายเพื่อให้ชาติมีอธิปไตยอย่างแท้จริง แต่กว่าจะเสร็จก็ล่วงถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อานันทมหิดล
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทยวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการปฏิวัติ
ซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตร
ทางทหารกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่เนื่องจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรให้การยอมรับในขบวนการเสรีไทย ประเทศไทย
จึงรอดพ้นจากสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม
ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยมีนโยบายในการต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค
และส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ต่อมา ประเทศไทยประสบกับปัญหาการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในประเทศ แต่ในภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์
แห่งประเทศไทยก็กลับอ่อนแอลงจนไม่สามารถปฏิบัติการได้อีก โดยสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุติลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี พ.ศ. 2523
การพัฒนาประชาธิปไตย
ผู้ร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการทหารในทางปฏิบัติอยู่
หลายทศวรรษ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรกเป็นผลมาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2516 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งในช่วงเวลานั้น ประเทศไทย
ประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และได้มีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารผ่านรัฐประหารหลายสิบครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้มีเหตุการณ์เรียกร้อง
ประชาธิปไตยครั้งสำคัญถึงสองครั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงเริ่มมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของทักษิณ ชินวัตร เป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยมีการประท้วงเพื่อขับไล่ออกจาก
ตำแหน่งโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังจากนั้นได้เกิดรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ ทำให้ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเป็น
เวลาหนึ่งปี ก่อนที่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกสมัยหนึ่ง การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไปใน
สมัยรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย ต่อมา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน
จึงเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์
การเมืองการปกครองและรัฐบาล
เดิมประเทศไทยมีการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา จนกระทั่งมีการปกครองในลักษณะรวมอำนาจเข้าสู่
ศูนย์กลางแบบเด็ดขาดตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้กระทำการปฏิวัติ
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเป็นสามส่วน โดยมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาควบคู่ไปกับราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุขในทางนิตินัย ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย
ซึ่งกำหนดรูปแบบองค์กรบริหารอำนาจทั้งสามส่วนดังนี้
อำนาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาในระบบสองสภา อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีสมาชิกรวมกันทั้งสิ้น 630 คน เป็นองค์กรบริหารอำนาจ
มีประธานรัฐสภาเป็นประมุขแห่งอำนาจ
อำนาจบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ตามคำกราบบังคมทูลของประธานรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์
ทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี เป็นองค์กรบริหารอำนาจ นายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งอำนาจ
อำนาจตุลาการ มีระบบศาล ซึ่งประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง เป็นองค์กรบริหารอำนาจ มีประธานศาลฎีกา
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประมุขในส่วนของตน
สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยผู้แทนราษฎรจำนวน 480 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน
80 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี; วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน (รวมกรุงเทพมหานคร)
และมาจากการสรรหาจากกลุ่มอาชีพ 74 คน โดยมีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 7 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี และไม่สามารถเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ติดต่อกันเกิน 1 วาระ; นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ตามสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เกิน 8 ปี
นายกรัฐมนตรีมิได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ได้รับการลงมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร; ศาลรัฐธรรมนูญมีวาระ 9 ปี ประกอบด้วยตุลาการ 9 คน
การแบ่งเขตการปกครอง
ประเทศไทยแบ่งเขตการบริหารออกเป็น การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด 75 จังหวัด โดยที่ไม่นับกรุงเทพมหานครว่าเป็นจังหวัด; 877
อำเภอ (50 เขตในกรุงเทพมหานคร) และ 7,255 ตำบล และการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหาร
ส่วนตำบล โดย "สุขาภิบาล" นั้นถูกยกฐานะไปเป็นเทศบาลทั้งหมดในปี พ.ศ. 2542
ส่วนกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นเขตการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ
จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครปฐม ถูกเรียกเป็นเขตที่เรียกว่า "กรุงเทพมหานครและปริมณฑล"
เมืองใหญ่และจังหวัดใหญ่
รายชื่อจังหวัดซึ่งมีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย (พ.ศ. 2552)
กรุงเทพมหานคร ประชากร 5,702,595
- นครราชสีมา ประชากร 2,571,292
- อุบลราชธานี ประชากร 1,803,754
- ขอนแก่น ประชากร 1,762,242
- เชียงใหม่ ประชากร 1,632,548
- บุรีรัมย์ ประชากร 1,632,548
เศรษฐกิจ
ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบผสม มีรายได้หลักจากอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว การบริการ เกษตรกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 24 ของโลก และมีมูลค่าการนำเข้าเป็นอันดับที่ 23 ของโลก ตลาดนำเข้าสินค้าไทยที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน
สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย ข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ประเทศไทย
ส่งออกสินค้ากว่า 406,990 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร 141,401 ล้านบาท อาหาร 52,332 ล้านบาท สินค้าอุคสาหกรรม 45,959
ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้าราว 285,965 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร 113,421 ล้านบาท น้ำมันและเชื้อเพลิง 50,824 ล้านบาท
และเคมีภัณฑ์ 46,376 ล้านบาท มีมูลค่าการค้าสุทธิ 121,025 ล้านบาท
ตัวชี้วัดทางเศรษฐฏิจ
อัตราการว่างงาน 1.5% (2553 ประมาณ)
การเติบโตของจีดีพี -2.8% (2552 ประมาณ)
ภาวะเงินเฟ้อ CPI -0.9% (2553)
หนี้สาธารณะ 270,000 ล้านล้านบาท (ก.ค. 2553)
ความยากจน 9.6% (2549 ประมาณ)
ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของโลก เคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกระหว่างปี พ.ศ. 2528-2539
(คิดเป็น 9.4% ต่อปีโดยเฉลี่ย) อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอย่างเป็นอันตราย ในปี พ.ศ. 2540
อันเป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย เศรษฐกิจไทยหดตัวลง 1.9% นายกรัฐมนตรีชวลิต ยงใจยุทธได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง
อยู่ที่ 56 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ ก่อนที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 หลังจากนั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2547 ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจ
ของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวกว่า 5-7% ต่อปี และ 4-5% ต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2550 วิกฤตการณ์การเมืองภายใน
ประเทศได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย วิกฤตการณ์การเงินทั่วโลกและความขาดเสถียรภาพทางการเมืองจะยังคงเป็นอุปสรรคขัดขวางเศรษฐกิจไทย
ต่อไป
การศึกษา
ประเทศไทยมีอัตราการรู้หนังสือสูง โดยการศึกษามีระบบโรงเรียนที่ถูกจัดเป็นระบบอย่างดี ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นตามลำดับ
หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมต้น บุคคลสามารถเลือกได้ระหว่างศึกษาต่อสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อ
หรือเลือกศึกษาต่อสายวิชาชีพ หรืออาจเลือกศึกษาต่อในสถาบันทางทหารหรือตำรวจ ตามกฎหมายไทย รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาให้ขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าแก่ประชาชน
เป็นเวลาสิบสองปี ส่วนการศึกษาภาคบังคับในปัจจุบันกำหนดไว้เก้าปี
แต่กระนั้น ก็ยังมีการเป็นห่วงในประเด็นทางด้านระดับเชาวน์ปัญญาของเยาวชนชาวไทย ซึ่งจากการศึกษาของหนังสือพิมพ์เนชั่นได้รายงานว่า
"กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตจะต้องรับมือกับความฉลาดที่ต่ำลง หลังจากได้พบว่าระดับเชาวน์ปัญญาโดยเฉลี่ยในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 80"
วัชระ พรรณเชษฐ์ได้รายงานในปี พ.ศ. 2549 ว่า "ค่าเฉลี่ยของระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยอยู่ระหว่าง 87-88 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับ 'ต่ำกว่ามาตรฐาน'
จากการจัดระดับในระดับสากล"
กองทัพไทย
กองทัพไทยแบ่งออกเป็นสามเห่ล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก, ราชนาวี และกองทัพอากาศ ทุกวันนี้กองทัพไทยมีกำลังทหารทั้งสิ้นราว 1,025,640 นาย
และมีกำลังหนุนกว่า 200,000 นาย และมีกำลังกึ่งทหารประจำการกว่า 113,700 นาย พระมหากษัตริย์ไทยดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยโดยพฤตินัย
ซึ่งปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ในทางปฏิบัติ กองทัพอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจบริหารจัดการของกระทรวงกลาโหม
มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้สั่งการ และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการกองทัพไทย มีผู้บัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้สั่งการ เมื่อปี พ.ศ. 2553
กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 154,032,478,600 บาท
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ว่าการป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคน ชายไทยทุกคนมีหน้าที่รับราชการทหาร
กองทัพจะเรียกเกณฑ์ชายซึ่งมีอายุย่างเข้า 21 ปี โดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยจะถูกเรียกมาตรวจเลือกหรือรับเข้ากองประจำการ
ชายที่ได้รับการตรวจเลือกจะต้องทำการฝึกเป็นระยะเวลาระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา การศึกษาวิชาทหาร และการสมัครเข้าเป็นทหาร
ถ้าผู้รับการตรวจเลือกสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หากจับได้สลากแดง (ใบแดง) จะต้องรับราชการ 1 ปีเต็ม หรือหากสมัครโดยไม่จับสลาก
จะรับราชการเพียง 6 เดือน เป็นต้น ผู้ที่จับได้สลากดำ (ใบดำ) ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร ถ้านักศึกษาวิชาทหารสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 1 จะต้องรับราชการ 1 ปีเต็ม
ถ้าสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 2 จะต้องรับราชการ 6 เดือน และถ้าสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 3-5 ไม่ต้องบรรจุในกองประจำการ แต่ยังอาจถูกเรียกพลในฐานะทหารกองหนุน
ประเภท 1
การสื่อสาร
ระบบโทรศัพท์ในประเทศไทยมีโทรศัพท์พื้นฐาน 7.024 ล้านหมายเลข (2550) และโทรศัพท์มือถือ 51.377 ล้านหมายเลข (2550)
สถานีวิทยุ: คลื่นเอฟเอ็ม 351 สถานี คลื่นเอเอ็ม 238 สถานี และคลื่นสั้น 6 สถานี (2550)
สถานีโทรทัศน์ มี 6 ช่องสถานี มีสถานีเครือข่ายทั้งหมด 111 สถานี และจำนวนผู้ใช้โทรทัศน์ 15.19 ล้านคน (2549)
ดาวเทียมสื่อสาร 4 ดวง (2548)
ในประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 13 ล้านคน (2550) จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 20 บริษัท (2552)
โดยมีโฮสติงมากกว่า 1.116 ล้าน (2550) โดเมนระดับบนสุดใช้ในรหัสชื่อ .th โดยมีระดับรองลงมาได้แก่ .ac, .co, .go, .in
และ .or
การคมนาคม
การคมนาคมส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะใช้การขนส่งทางบกเป็นหลัก คือ อาศัยรถยนต์และจักรยานยนต์ ทางหลวงสายหลักในประเทศไทย ได้แก่ ถนนพหลโยธิน
ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรเกษม นอกจากนี้ระบบขนส่งมวลชนจะมีการบริการตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ได้แก่ระบบรถเมล์ และรถไฟ รวมถึงระบบที่เริ่มมีการใช้
งาน รถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดิน และในหลายพื้นที่จะมีการบริการรถสองแถว รวมถึงรถรับจ้างต่าง ๆ ได้แก่ แท็กซี่ เมลเครื่อง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถตุ๊กตุ๊ก
สำหรับการคมนาคมทางอากาศนั้น ปัจจุบันประเทศไทยได้เปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งถือได้ว่าเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ
โดยเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 แทนที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
ส่วนการคมนาคมทางน้ำ ประเทศไทยมีท่าเรือหลัก ๆ คือ ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย และท่าเรือแหลมฉบัง ในบางพื้นที่ ที่อยู่ริมน้ำจะมีเรือรับจ้าง
และแพข้ามฟากบริการ
ลักษณะประชากร
ชนชาติของประเทศไทยเรียกว่า ชาวไทย ซึ่งหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มชนในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นซึ่งมีสัญชาติไทย และอาศัยอยู่ในประเทศไทย
วัฒนธรรมของชาวไทยขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์เป็นหลักซึ่งแบ่งออกได้เป็นสี่กลุ่มใหญ่ ๆ คือวัฒนธรรมภาคเหนือ วัฒนธรรมภาคอีสาน วัฒนธรรมภาคกลาง และวัฒนธรรม
ภาคใต้
ประชากรทั้งหมดของประเทศไทยมีประมาณ 66,404,688 คน (ข้อมูล พ.ศ. 2553) ประกอบด้วยไทยสยามประมาณร้อยละ 75
ไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 14 ไทยเชื้อสายมลายูร้อยละ 3 ช่วงอายุและเพศของชาวไทยแบ่งเป็น
0-14 ปี มีเพศชาย 6,913,501 คน และ เพศหญิง 6,595,401 คน คิดเป็นร้อยละ 20.3 ของประชากรทั้งหมด
15-64 ปี มีเพศชาย 23,213,800 คน และ เพศหญิง 23,724,246 คน คิดเป็นร้อยละ 70.7 ของประชากรทั้งหมด
65 ปีขึ้นไป มีเพศชาย 2,693,129 คน และ เพศหญิง 3,264,611 คน คิดเป็นร้อยละ 9.0 ของประชากรทั้งหมด
ในประเทศไทยถือได้ว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยมีทั้ง ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายลาว ชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมไปถึงกลุ่มชาวไทย
เชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมลายู ชาวชวา (แขกแพ) ชาวจาม (แขกจาม) ชาวเวียด ชาวพม่า และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยง ชาวลีซอ ชาวอ่าข่า ชาวอีก้อ
ชาวม้ง ชาวเย้า รวมไปจนถึงชาวส่วย ชาวกูบ ชาวกวย ชาวจะราย ชาวระแดว์ ชาวข่า ชาวขมุ
ศาสนา
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ณ กรุงเทพมหานครดูเพิ่มที่ พุทธศาสนาในประเทศไทย และ คริสต์ศาสนาในประเทศไทย
ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ประมาณร้อยละ 94.7 ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยโดยพฤตินัย
แม้ว่าจะยังไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดเลยก็ตาม รองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4.6 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทย
ทางภาคใต้ตอนล่าง และยังมีประชาคมของกลุ่มศาสนาที่มีอิทธิพลอยู่ภายในประเทศ เช่น ศาสนาคริสต์ ชาวซิกข์ ชาวฮินดู หรือชาวยิว เป็นต้น
ภาษา
ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ และเป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสาร การศึกษาและเป็นภาษาพูดที่ใช้กันทั่วประเทศ โดยใช้อักษรไทยเป็นรูปแบบ
มาตรฐานในการเขียน ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยสุโขทัยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นอกเหนือจากภาษาไทยกลางแล้ว ภาษาไทยสำเนียงอื่นยังมีการใช้งานใน
แต่ละภูมิภาคเช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือในภาคเหนือ ภาษาไทยถิ่นใต้ในภาคใต้ และภาษาไทยถิ่นอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกเหนือจากภาษาไทยแล้ว ในประเทศไทยยังมีการใช้งานภาษาของชนกลุ่มน้อยเช่น ภาษาจีนโดยเฉพาะสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่ง
บางครั้งนิยามว่าภาษาลาวสำเนียงไทย ภาษามลายูปัตตานีทางภาคใต้ นอกจากนี้ก็มีภาษาอื่นเช่น ภาษากวย ภาษากะยาตะวันออก ภาษาพวน ภาษาไทลื้อ ภาษาไทใหญ่ รวมไป
ถึงภาษาที่ใช้กันในชนเผ่าภูเขา ประกอบด้วยตระกูลภาษามอญ-เขมร เช่น ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม และภาษามลาบรี; ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่น
ภาษาจาม; ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เช่น ภาษาม้ง ภาษากะเหรี่ยง และภาษาไตอื่น ๆ เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาแสก เป็นต้น
ภาษาอังกฤษและอักษรอังกฤษมีสอนในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่จำนวนผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องในประเทศไทยยังคงมีจำนวนน้อยอยู่
และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองและในครอบครัวที่มีการศึกษาดีเท่านั้น ซึ่งในด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษนั้น จากที่ประเทศไทยเคยอยู่ในระดับแนวหน้าในปี
พ.ศ. 2540 แต่เมื่อกลางปี พ.ศ. 2549 ไทยกลับล้าหลังประเทศลาวและประเทศเวียดนาม
วัฒนธรรม
วัฒนธรรมไทยได้รับเอาวัฒนธรรมอินเดีย จีน ขอมและดินแดนบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาอย่างมาก พุทธศาสนานิกายเถรวาท
ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์และศรัทธาของไทยสมัยใหม่ ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยได้มีการพัฒนาตามกาลเวลา
ซึ่งรวมไปถึงการรวมเอาความเชื่อท้องถิ่นที่มาจากศาสนาฮินดู การถือผี และการบูชาบรรพบุรุษ ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึง
ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามามีส่วนสำคัญอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียง ซึ่งการปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มชาวจีน
ได้มีตำแหน่งในอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง
วัฒนธรรมไทยมีส่วนที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวคือ มีการให้ความเคารพแก่บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน ชาวไทยมักจะมี
ความเป็นเจ้าบ้านและความกรุณาอย่างดี แต่ก็มีความรู้สึกในการแบ่งแยกลำดับชั้นอย่างรุนแรงเช่นกัน ความอาวุโสเป็นแนวคิดที่สำคัญในวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง ผู้อาวุโส
จะต้องปกครองดูแลครอบครัวของตนตามธรรมเนียม และน้องจะต้องเชื่อฟังพี่
การทักทายตามประเพณีของไทย คือ การไหว้ ผู้น้อยมักจะเป็นผู้ทักทายก่อนเมื่อพบกัน และผู้ที่อาวุโสกว่าก็จะทักทายตอบในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน สถานะ
และตำแหน่งทางสังคมก็มีส่วนต่อการตัดสินว่าผู้ใดควรจะไหว้อีกผู้หนึ่งก่อนเช่นกัน การไหว้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในการให้ความเคารพและความนับถือแก่อีกผู้หนึ่ง
ศิลปะ
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาศิลปะไทยมีลักษณะเฉพาะตัวค่อนข้างสูง โดยมีความกลมกลืนและคล้ายคลึง
กับศิลปวัฒนธรรมเพื่อนบ้านอยู่บ้าง แต่ด้วยการสืบทอดและการสร้างสรรค์ใหม่ ทำให้ศิลปะไทยมีเอกลักษณ์สูง
จิตรกรรม งานจิตรกรรมไทยนับว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูง ได้รับการสืบทอดมาช้านาน มักปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนัง ตามวัดวาอาราม รวมทั้งในสมุดข่อย
โบราณ งานจิตรกรรมไทยยังเกี่ยวข้องกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น งานลงรักปิดทอง ภาพวาดพระบฏ เป็นต้น
ประติมากรรม เดิมนั้นช่างไทยทำงานประติมากรรมเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป โดยมีสกุลช่างต่างๆ นับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เรียกว่า
สกุลช่างเชียงแสน สกุลช่างสุโขทัย อยุธยา และกระทั่งรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทองสำริดเป็นวัสดุหลักในงานประติมากรรม เนื่องจากสามารถแกะแบบด้วยขี้ผึ้งและตกแต่งได้
แล้วจึงนำไปหล่อโลหะ เมื่อเทียบกับประติมากรรมศิลาในยุคก่อนนั้น งานสำริดนับว่าอ่อนช้อยงดงามกว่ามาก
สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทยมีปรากฏให้เห็นในชั้นหลัง เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมได้ง่าย โดยเฉพาะงานไม้ ไม่ปรากฏร่องรอย
สมัยโบราณเลย สถาปัตยกรรมไทยมีให้เห็นอยู่ในรูปของบ้านเรือนไทย โบสถ์ วัด และปราสาทราชวัง ซึ่งล้วนแต่สร้างขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการใช้สอยจริง
อาหารไทย
อาหารไทยเป็นการผสมผสานรสชาติความหวาน ความเผ็ด ความเปรี้ยว ความขมและความเค็ม ส่วนประกอบซึ่งมักจะใช้ในการปรุงอาหารไทย รวมไปถึง
กระเทียม พริก น้ำมะนาว และน้ำปลา และวัตถุดิบสำคัญของอาหารในประเทศไทย คือ ข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวหอมมะลิ ซึ่งมักจะใช้เป็นองค์ประกอบในอาหารเกือบทุกมื้อ
ตามสถิติพบว่า ชาวไทยรับประทานข้าวขาวมากกว่า 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
วันสำคัญ
วันสำคัญในประเทศไทยจะมีจำนวนมากโดยเฉพาะวันที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ ซึ่งจะตั้งขึ้นหลังจากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น โดยวันชาติของประเทศไทยในปัจจุบัน
ใช้วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
กีฬา
มวยไทย กีฬาประจำชาติของไทยกีฬาซึ่งเป็นของชาวไทยแท้ คือ มวยไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นกีฬาประจำชาติของไทยโดยพฤตินัย เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เผยแพร่ออก
ไปทั่วโลก โดยมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับศิลปะการต่อสู้ของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ
ส่วนกีฬาที่กำลังเติบโตในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ได้แก่ รักบี้และกอล์ฟ โดยผลงานของนักกีฬารักบี้ทีมชาติไทย ทำผลงานได้ถึงอันดับที่ 61 ของโลก
ส่วนกีฬากอล์ฟเอง ไทยได้รับสมญานามว่าเป็น "เมืองหลวงของกอล์ฟในทวีปเอเชีย" ในประเทศไทย มีสนามกอล์ฟคุณภาพระดับโลกกว่า 200 แห่ง
ซึ่งดึงดูดนักกอล์ฟจำนวนมาก
สำหรับผลงานทางด้านกีฬา ประเทศไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับโลกหลายอย่าง เช่น โอลิมปิกฤดูร้อน โอลิมปิกฤดูหนาว เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์
ซึ่งประเทศไทยเองได้รับสิทธิเป็นผู้จัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 4 ครั้ง และซีเกมส์ 6 ครั้ง นอกจากนี้ยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เอเชียนคัพ และฟุตบอลโลกหญิงเยาวชน
อีกด้วย
ที่มา:
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2553). ประเทศไทย. ค้นเมื่อ สิงหาคม 25, 2553, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%
9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%
97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2
รายชื่อหนังสือบนชั้นเล่มอื่นๆ
วิกิพีเดีย / จังหวัดในประเทศไทยเรียงตามพื้นที่
วิกิพีเดีย / รายชื่อจังหวัดในประเทศไทยเรียงตามภูมิภาค
วิกิพีเดีย / รายชื่อจังหวัดในประเทศไทยเรียงตามพื้นที่
|
|