|
294.34 พิธีกรรมทางศาสนาที่ศาสนิกชนปฏิบัติ เช่น การทำบุญวันเกิด
การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การสวดในงานศพ
ศาสนพิธีทางพุทธศาสนา
ศาสนาพิธีต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา
ศาสนพิธี หมายถึง ระเบียบแบบแผนหรือแบบอย่างที่ถือปฎิบัติในศาสนา เมื่อนำมาใช้ในพระพุทธศาสนา จึงหมายถึงระเบียบแบบแผนหรือแบบอย่างที่พึงปฎิบัติในพระพุทธศาสนา ศาสนพิธีต่างๆ ช่วยทำให้ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนิกชนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเป็นสิ่งตอกย้ำใจให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยได้อย่างดีเยี่ยม จึงเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงามที่ควรรักษาไว้คู่กับพระพุทธศาสนาตลอดไป
ศาสนพิธี เป็นพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งถือปฏิบัติเป็นแบบอย่าง เป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามเป็นแบบเดียวกัน เหตุให้เกิดศาสนพิธีนี้คือความนิยมทำบุญของพุทธศาสนิกชนซึ่งไม่ว่าจะปรารภเหตุอะไรทำกัน ก็มักจะให้ตรงและครบตามหลักวิธีทำบุญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะแนวไว้ 3 หลัก คือ
1. ทาน การบริจาควัตถุสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
2. ศีล การรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อย
3. ภาวนา การยกระดับจิตให้สูงขึ้นด้วยการอบรมให้สงบนิ่งและให้เกิดปัญญา
ดังนั้น ในการทำบุญทุกครั้ง ชาวพุทธจึงถือคติว่าต้องให้เข้าหลัก 3 ประการนี้ โดยเริ่มต้นจะทำข้อ
ไหนก่อนก็ได้ เช่น รับศีลแล้วฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ (ภาวนา) จบลงด้วยการถวายทาน เป็นต้น
ความนิยมนี้ได้แพร่หลายทั่วไปจนกลายเป็นประเพณีทางศาสนาไป พิธีกรรมแบบนี้จึงสมมติเรียกกันต่อมาว่า ศาสนพิธี
ศาสนาพิธีทางพระพุทธศาสนา
ประโยชน์ของศาสนพิธี
ถ้าเปรียบศาสนาเหมือนกับต้นไม้ ศาสนพิธีก็เปรียบได้กับเปลือกนอกของต้นไม้ ตัวสัจธรรมคือคำสอนที่เป็นหลักปฏิบัติทางศาสนาเปรียบได้กับแก่นไม้ทั้งเปลือกทั้งแก่นไม้ย่อมมีประโยชน์ต่อต้นไม้เท่าๆ กัน หากมีแต่แก่น ไม่มีเปลือกห่อหุ้ม ต้นไม้นั้นก็จะอยู่ไม่ได้ หรือมีแต่เปลือกอย่างเดียว แก่นไม่มี หรือแก่นมีแต่เล็กเรียวเกินไปเพราะเปลือกหนามาก ต้นไม้นั้นก็ให้ประโยชน์น้อย ดังนั้น ต้นไม้จึงต้องมีทั้งแก่นและเปลือกเพื่ออาศัยซึ่งกันและกัน หากถึงคราวจะใช้ทำประโยชน์จริงๆ ค่อยกะเทาะเปลือกนอกออก นำเฉพาะแก่นเท่านั้นไปใช้ จึงจะได้รับประโยชน์จากต้นไม้นั้นอย่างแท้จริง
ศาสนาก็มีลักษณะเช่นนี้ พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเรียกในที่นี้ว่าศาสนพิธีนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบภายนอกที่ห่อหุ้มแก่นศาสนาคือตัวสัจธรรมไว้ หากจะเลือกใช้เลือกสอนกันแต่แก่นๆ แล้วคงเป็นไปและเข้าใจได้ยาก จำต้องเริ่มต้นจากเปลือกกระพี้ไปก่อนเพราะความนิยมของคนและพื้นฐานความรู้ของคนไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน แต่พิธีกรรมนั้นต้องเป็นไปพอเหมาะพอควร ไม่มากไม่น้อยเกินไป หากพิธีกรรมมีมากเกินไป แก่นธรรมก็จะเล็กเรียวลง เหมือนต้นไม้ ถ้ามีเปลือกกระพี้หนามาก แก่นของต้นไม้นั้นมักจะเล็กเรียวมาก พิธีกรรมนั้นจะต้องเป็นพิธีกรรมที่ดีด้วย เพราะพิธีกรรมที่ดีจะส่อให้เห็นว่าแก่นธรรมนั้นดี เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีเปลือกดี ส่อให้เห็นว่าแก่นข้างในย่อมดี หรือผลไม้ที่มีเปลือกนอกดีก็ส่อให้เห็นว่าเนื้อข้างในจะไม่เน่าไม่เสียด้วย ตรงข้ามหากเปลือกนอกมีจุดด่างดำหรือมีรอยเน่า ก็ส่อให้เห็นว่าเนื้อข้างในยังวางใจไม่ได้
ดังนั้น ศาสนพิธีจึงต้องคงคู่ไว้กับแก่นธรรม แต่การประกอบศาสนพิธีอย่าติดเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น ทั้งไม่ควรคิดว่าพิธีกรรมต่างๆ ที่ทำกันอยู่นั้นเป็นตัวแท้เป็นแก่นศาสนา ความจริงพิธีกรรมเป็นเพียงส่วนประกอบภายนอกเพื่อเป็นทางผ่านให้เข้าถึงแก่นธรรมหรือตัวแท้แห่งศาสนาเท่านั้น รวมความแล้ว ศาสนพิธีมีประโยชน์ 2 อย่าง คือ
1. รักษาความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ คือพิธีกรรมทางศาสนานั้นมีแบบแผนเป็นของตัวเองโดยเฉพาะจึงเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งในแบบวัฒนธรรมของชาติ อาจเชิดชูเอกลักษณ์ของชาติไว้ได้ด้วยแบบอย่างนั้น เพราะเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองโดยเฉพาะ นับว่าเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาของชาติได้ทางหนึ่งที่พอจะอวดผู้อื่นได้ว่าชาติเรานั้นได้สะสมระเบียบประเพณีอันดีงามมานานแสนนานแล้ว ซึ่งแสดงถึงว่าเรามีวัฒนธรรมมานานแสนนานแล้วนั่นเอง
2. ส่งเสริมคุณค่าทางด้านจิตใจ คือทำให้ผู้ประกอบพิธีกรรมนั้นๆ เบิกบานใจ เกิดความปีติสดชื่นขึ้นเพราะได้ประกอบพิธีกรรมนั้นแล้ว เป็นการเตรียมใจไว้รองรับบุญกุศลหรือความดีอื่นๆ ต่อไป และเป็นเหตุจูงใจให้ผู้พบเห็นปรารถนาจะทำตามอย่างบ้าง ตัวอย่างในการส่งเสริมคุณค่าทางด้านจิตใจของศาสนพิธีเช่นเมื่อต้องการจะทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน แบบแรกตัดพิธีกรรมออกหมด คือเมื่อพระมาถึงบ้านก็นำอาหารคาวหวานมาถวายท่านเลย เมื่อพระท่านฉันเสร็จแล้วก็อำลากลับวัดเลยเช่นกัน นี่แบบตัดพิธีกรรมออก อีกแบบหนึ่งเป็นแบบทำตามพิธีกรรม คือ เมื่อพระมาถึงแล้วเจ้าของบ้านจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยได้กราบพระ ได้รับศีล ได้ฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ ได้ถวายทานด้วยมือตนเอง พระท่านฉันเสร็จแล้วก็ได้รับพรจากพระ ได้กรวดน้ำ ได้รับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ตามลำดับ ในสองแบบนี้แบบแรกไม่มีพิธีกรรม แบบหลังมีพิธีกรรมเพิ่มขึ้นตามความนิยม แบบไหนจะเป็นเหตุให้ผู้เป็นเจ้าภาพหรือผู้กระทำประทับใจและเกิดความแช่มชื่น เป็นสุขใจมากกว่ากัน
ผลจากการเรียนรู้ศาสนพิธี
ผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาสนพิธีดีแล้วย่อมเป็นผู้ฉลาดในการจัดทำพิธีกรรมต่างๆ ในทางศาสนา เป็นผู้สามารถในการประกอบพิธีกรรมนั้นๆ ได้ถูกต้องตามแบบแผนที่นิยมกันทั่วไป เป็นเหตุให้ผู้ได้พบเห็นเกิดศรัทธาในผู้นั้นว่าเป็นผู้ช่ำชองได้รับการฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ไม่มีความเคอะเขินในการจัดทำเป็นการเพิ่มเสน่ห์และบุคลิกภาพให้แก่ตัวเองอย่างหนึ่ง และนอกจากนั้นยังได้ชื่อว่าช่วยสืบต่ออายุพระศาสนาโดยปริยายด้วยเพราะแบบอย่างหรือธรรมเนียมที่ดีงามมีเหตุมีผลเป็นพิธีกรรมนั้นๆ เมื่อยังรักษากันไว้ได้เพียงใด ตัวศาสนาก็ยังชื่อว่าได้รับการรักษาอยู่เพียงนั้น เหมือนเปลือกกระพี้ของต้นไม้ยังคงสดอยู่ตราบใดต้นไม้นั้นก็จะยังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น
การประกอบศาสนพิธี
ดังกล่าวมาแล้วว่าพิธีกรรมนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบไม่ใช่ตัวหลักการศาสนา เวลาจะประกอบพิธีกรรมจึงควรยึดถือเฉพาะที่เป็นหลักศาสนพิธี คือให้เข้าหลักการทำบุญทางศาสนา ๓ ประการข้างต้นนั้นเท่านั้น ตัดพิธีกรรมส่วนเกินซึ่งเป็นเหตุฟุ่มเฟือย เป็นสิ่งที่ทำต่อกันมาโดยไม่ทราบเหตุผลออกเสีย นอกจากต้องคำนึงถึงหลักศาสนพิธีแล้วต้องคำนึงถึงหลักเศรษฐกิจและหลักสังคมด้วย
สรุปแล้ว การประกอบพิธีกรรมทุกประเภทควรคำนึงถึงหลักอย่างน้อย 4 ประการ คือ
1. ต้องประหยัด คือใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ทำแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ตัดสิ่งที่ไม่เกิดบุญไม่เกิดกุศลออกเสีย ยิ่งสิ่งที่เป็นอบายมุขต่างๆ ด้วยแล้วไม่ควรจัดให้มีขึ้นในพิธีกรรมเป็นเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ยังจะพลอยเป็นบาปเป็นกรรมไปเสียอีกด้วย
2. ต้องให้ได้ประโยชน์และคุ้มค่า คือสิ่งที่ทำที่ลงทุนไปนั้นต้องให้ได้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองหรือผู้อื่นที่เราต้องการให้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทำแล้วให้มีกำไรมากกว่าขาดทุนหรือให้เป็นกำไรทั้งหมด คือให้เป็นบุญมากกว่าเป็นบาป หรือให้เป็นบุญล้วนๆ ไม่มีบาปเข้ามาปน
3. ต้องถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม คือทำให้ถูกหลักเกณฑ์แห่งการทำบุญนั้นๆ ตัดพิธีกรรมส่วนเกินออกเสีย แต่เมื่อตัดแล้วต้องไม่เสียแบบแผนที่ดีงาม ที่มีเหตุมีผลต้นปลายซึ่งนิยมกันมา ทั้งนี้มิใช่ว่าต้องทำตามอย่างที่เขาทำมาทั้งหมดเสมอไป เพราะพิธีกรรมที่ทำตามอย่างกันมานั้นมักจะเป็นพิธีกรรมส่วนเกินเสียเป็นส่วนใหญ่ บางทีก็ทำกันไปโดยไม่รู้ว่าทำกันไปทำไมก็มี เห็นเขาทำก็ทำตามเขาบ้าง หรือทำไปด้วยความจำใจ ถ้าไม่ทำก็กลัวว่าเขาจะตำหนิหรือติฉินเอาก็มี
4. ต้องให้เหมาะสม คือเวลาทำต้องดูฐานะความเป็นอยู่ดูกำลังของตัวก่อนว่าควรทำได้เพียงไรแค่ไหน มีแค่ไหนก็ควรทำแค่นั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้เท่าเขาหรือให้เหมือนเขาเสมอไป อย่าถึงกับต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาทำ เพราะจะทำให้เดือดร้อนในภายหลังได้การประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ย่อมได้ผลไม่น้อยและทำได้ไม่ยากนัก เป็นทางบุญแน่แท้ ทำแล้วย่อมได้บุญสมประสงค์ แต่ถ้าประกอบไม่ถูกต้องหรือประกอบโดยไม่เข้าใจอาจจะไม่ได้ผลบุญเท่าที่ควรจะได้ ทั้งยังจะขาดทุนเสียด้วยซ้ำไป
ศาสนพิธีมี 4 หมวดใหญ่
ในพระพุทธศาสนาแบ่งศาสนพิธีออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ดังนี้
1. กุศลพิธี เป็นพิธีเกี่ยวกับการอบรมความดีงามทางพระพุทธศาสนาเฉพาะบุคคล เช่น การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และการรักษาศีลประเภทต่างๆ เป็นต้น
2. บุญพิธี เป็นพิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัวซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปมี 2 ประเภท คือ
2.1 พิธีทำบุญในงานมงคล ได้แก่การทำบุญในโอกาสต่างๆ
2.2 พิธีทำบุญในงานอวมงคล เช่น บุญหน้าศพ เป็นต้น
3. ทานพิธี เป็นพิธีถวายทานต่างๆ เช่น การถวายทาน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น
4. ปกิณกะพิธี เป็นพิธีเบ็ดเตล็ด ได้แก่ การอาราธนาศีล การประเคนของพระ เป็นต้น
พิธีตักบาตร
คือการนำข้าวและอาหารคาวหวานใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์หรือสามเณร โดยอาจทำเป็นประจำวันในท้องถิ่นชุมชนที่มีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรออกบิณฑบาตจะทำในวันเกิดของตนหรือวันสำคัญทางศาสนารวามทั้งวันพระ 8 ค่ำ และ 14,15 ค่ำ เป็นต้น
เบื้องต้นของการตักบาตร ต้องเตรียมใจให้ผ่องใสเป็นกุศล เปี่ยมด้วยความเต็มใจ บุญจะได้บังเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มคิด ขณะทำก็ไม่นึกเสียดาย ให้มีใจเป็นสุข หลังจากให้ไปแล้วก็ปลื้มปิติยินดีในทานนั้นไม่นึกเสียดายในภายหลัง บุญกุศลจึงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในการเตรียมของตักบาตร เช่น ข้าวสารอาหารแห้งหรือคาวหวาน ถ้าของสดพึงระวังอย่าให้ข้าวและอาหารนั้นๆ ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุหรือสามเณร ที่ต้องอุ้มบาตรต่อไปในระยะทางไกล ของที่ใส่บาตรนั้นนิยมปฏิบัติธรรมเนียมว่าให้ยกขึ้นจบ (ยกขึ้นสูงระดับหน้าผาก ด้วยท่าประนมมือโดยอนุโลม) แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์หรือสามเณรว่า นิมนต์ครับ หรือนิมนต์ค่ะ เมื่อท่านเดินผ่านมาในระยะใกล้แล้วใส่บของลงบาตร กล่าวคำถวายทานว่า
สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุฯ
แปลว่า ทานที่ข้าพเจ้าให้แล้วด้วยดีหนอ จงเป็นเครื่องกำจัดอาสวกิเลส ออกไปจากใจของข้าพเจ้าด้วยเถิด
เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วนิยมทำการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญแก่ผู้อื่นอันเป็นที่รักด้วย ช่วยทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ เป็นสุขแก่ผู้ปฎิบัติ
แหล่งที่มา
ศาสนาพิธีทางพระพุทธศาสนา พิธีต่างๆ และหน้าที่ชาวพุทธ. (2557). ค้นจาก
http://www.dmc.tv/pages/buddha_biography/%E0%B8%A8%E0%B8%
B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%
98%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%
9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%
97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%
99%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%
AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%
B5%E0%B9%88%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%
9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98-%E0%B8%A8%E0%B8%B2%
E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%
E0%B8%98%E0%B8%B5.html
|
|