ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

923.7   Geography & History
ชีวประวัติบุคคลในสาขาการศึกษา

พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิง


ประวัติ

ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม ไกรยง) เกิดเมื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีของนายฮันส์ ไกรเยอร์ นักธุรกิจชาวเยอรมันและนางเจียม ไกรยง ข้าหลวงในพระราชวังสวนสุนันทา ขณะอายุ 3 ปีครึ่ง บิดามารดาได้นำไปถวายตัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ได้รับพระราชทานชื่อ “พูนทรัพย์” แต่เนื่องจากยังเล็กมาก จึงทรงฝากให้สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเลี้ยงดูไปก่อน โดยโปรดให้นอนหน้าพระแท่นบรรทม จากนั้นได้เจริญวัยอยู่ในพระราชวังพญาไท เป็นเวลานานถึง 20 ปี และด้วยการอุปการะเลี้ยงดูอย่างดี ทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีกิริยาวาจา เรียบร้อย สง่างาม ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ มีแววเฉลียวฉลาดตั้งแต่วัยเด็ก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร จึงทรงสนับสนุนให้ได้เรียนที่โรงเรียนราชินี เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าเรียนต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำเร็จเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก และได้รับราชการในสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้รับทุนบาเบอร์ประเทศสหรัฐอเมริกาไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แล้วจึงโอนมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตครอบครัว

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ได้สมรสกับศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาได้พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นดำรงตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งแม้จะไม่มีบุตร-ธิดา แต่ท่านทั้งสองก็ครองชีวิตคู่ด้วยความสุขสมบูรณ์ เป็นตัวอย่างของคู่ชีวิตที่รักใคร่กลมเกลียวกันมายาวนานกว่า 50 ปี ทั้งยังช่วยเหลือ สนับสนุนซึ่งกันและกันในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติร่วมกันมาโดยตลอด

ก่อตั้งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ยังเป็นผู้ที่มองการณ์ไกลด้านการศึกษา โดยในระหว่างที่เข้ารับราชการอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฝึกหัดครูระดับปริญญา จึงริเริ่มให้มีแผนกครุศาสตร์เป็นแผนกเล็กๆ ในคณะอักษรศาสตร์ และได้พยายามบุกเบิกให้ก้าวหน้าจนยกระดับขึ้นเป็นคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรก และเป็นคณบดีหญิงคนแรกของประเทศไทยด้วย และได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนานถึง 14 ปี อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาพยาบาลศึกษา ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อผลิตครูและผู้บริหารงานด้นการพยาบาลให้แก่กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ท่านยังก่อตั้งแผนกจิตวิทยาและแผนกพลศึกษา (คณะจิตวิทยาและสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ในปัจจุบัน) ขึ้นในคณะครุศาสตร์ และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ เป็นทั้งครูและกัลยาณมิตรของลูกศิษย์ลูกหา เป็นนักวิชาการและนักการศึกษาที่อุทิศตนตามอุดมคติของครุฐานนิยธรรม เป็นผู้นำและต้นแบบของนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ซึ่งตลอดชีวิตการรับราชการที่ผ่านมาได้ทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญาอย่างเต็มที่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานอันมั่นคงให้การศึกษาของประเทศโดยรวม

การอุทิศตัวเพื่อสังคม

นอกเหนือจากงานราชการแล้ว ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ยังปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือสังคมอีกหลายด้าน อาทิ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิกตเวทิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานคณะผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและนายกสโมสรซอนต้า กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่งวงวิชาการ การศึกษา การพัฒนาเยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตลอดจนการยกสถานภาพสตรีไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ

ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ถือเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความห่วงใยในการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ท่านได้เป็นประธานกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ และเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลก็ได้มีมติประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยถือเอาวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมวิชาการเรื่อง การใช้ภาษาไทย ที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2505 และด้วยจิตใจที่มีแต่ให้และระลึกถึงสังคมส่วนรวมตลอดเวลา ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ได้มอบที่ดินชายทะเลหาดแสงจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง จำนวน 2 ไร่ 54.3 ตารางวา ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในกิจการของคณะครุศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์บริการวิชาการ จิรายุ-พูนทรัพย์” ภายใต้การดูแลของคณะครุศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2549 ได้ถวายที่ดินและบ้านที่ตนพำนักแก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะครุศาสตร์และกรุงเทพมหานคร จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ให้เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ หลังจากเกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ยังมีกุศลจิต ช่วยเหลือสังคมโดยการเข้ารับการสภา นายกสโมสร และประธานมูลนิธิที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ สภาการศึกษาแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ฯลฯ ด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยความเสียสละโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทำให้ผลงานแห่งชีวิตที่ผ่านมาของท่านผู้หญิงเป็นที่ปรากฏชัดในระดับชาติและนานาชาติมาต่อเนื่องยาวนาน จนได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นปูชนียาจารย์คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานะบุคคลที่ทำประโยชน์แก่การศึกษาของชาติอย่างสูงยิ่งในการตัดงาน ครอบรอบ 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ[1] ซึ่งจะพระราชทานเป็นกรณีพิเศษให้แก่ผู้ที่กระทำความดีความชอบ เป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน อันเป็นเกียรติประวัติสูงสุด เนื่องจากท่านผู้หญิงพูนทรัพย์เป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์คุโณปการต่อชาติอย่างมากมาย รัฐบาลจึงได้มีมติยกย่องท่านให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552

ที่มา

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2555). พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิง. ค้นเมื่อ กรกฎาคม 19, 2555, จาก

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%
B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%
B9%8C_%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%
B9%8C_%E0%B8%93_%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%
98%E0%B8%A2%E0%B8%B2

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com