ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

ดนตรีไทย

เราได้ยินเสียงต่างๆ ตลอดเวลา เสียงนกร้องจิ๊บ จิ๊บ เสียงฝนตกจั้ก จั้ก เสียงแตรรถยนต์ดัง ปี๊น ปี๊น เสียงคนพูด หัวเราะ และบางทีก็ตะโกนโหวกเหวก บางเสียงเราชอบฟัง บางเสียงเราไม่ชอบฟัง เสียงเหล่านี้ ไม่นับว่าเป็นเสียงดนตรี

เสียงดนตรีเป็นเสียงที่คนเราทำให้เกิดขึ้น ด้วยความตั้งใจจะ ให้เป็นเสียงไพเราะน่าฟัง เป็นเสียงที่แตกต่างจากเสียงนก เสียงฝน เสียงแตรรถยนต์ และเสียงคนพูด

เราได้ยินเสียงดนตรีบ่อยๆ เหมือนกัน มักมีการเล่นดนตรีใน เวลาที่มีงานวัด งานกาชาด งานศพ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ก็มีรายการดนตรีเสมอ

ถ้าเรามีโอกาสได้ดูคนเล่นดนตรี จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นใช้เครื่อง มือหลายอย่าง บางอย่างเรารู้จักดี เช่น กลอง ขลุ่ย แคน เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้ทำให้เกิดเสียงต่างๆ ตามความต้องการ เรียกว่า เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีมีหลายอย่าง และมีหลายวิธีที่จะทำให้เกิดเสียง ต่างๆ กัน เช่น กลอง ผู้เล่นต้องใช้มือ หรือไม้ตีกลอง ปี่ หรือ ขลุ่ย ใช้วิธีเป่า ซอใช้วิธีสีด้วยเส้นหางม้า จะเข้ ใช้วิธีดีดที่สายจะเข้ เป็นต้น

ดนตรีต้องมีผู้แต่ง การแต่ง คือ นำเอาเสียงต่างๆ อันเกิดจาก การบรรเลงเครื่องดนตรี มาเรียบเรียงกันเข้าเป็นทำนองเพลง

เสียงดนตรี ทำให้สบายใจ บางทีเรารู้สึกสนุก อยากหัวเราะ อยากกระโดดโลดเต้น หรืออยากทำท่าร่ายรำไปตามเสียงนั้น

นอกจากจะมีดนตรีในงานทำบุญต่างๆ แล้ว เราก็ใช้ดนตรี สำหรับการละเล่นบางอย่างเช่นเดียวกับชนชาติอื่น การแสดงละคร ฟ้อนรำ โขน หุ่นกระบอก หนัง (แบบโบราณ) ของเรา ล้วนแต่ ต้องใช้ดนตรีทั้งสิ้น มีเพลงต่างๆ มากมายที่มีผู้แต่งไว้สำหรับใช้ใน การแสดงดังกล่าวมาแล้ว น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยจะทราบนามผู้แต่ง เพลง เพราะคนไทยแต่โบราณไม่นิยมออกนามของตนเอง ด้วยมี ความคิดว่า สิ่งที่ตนแต่งขึ้นนั้น สำคัญกว่าตนเอง อย่างไรก็ดี มี เพลงบางเพลงที่เราทราบได้แน่ว่าใครเป็นผู้แต่ง เช่น เพลงราตรีประ- ดับดาว ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว เพลงเขมรไทรโยค พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้า- ฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นต้น

คนเรารู้จักแต่งเพลง และชอบฟังเพลงมานานแล้ว แม้แต่คนป่าเถื่อน ก็ยังรู้จักทำเสียงต่างๆ ที่ตนคิดว่าไพเราะ บางทีก็ใช้แต่เสียงของตนเองทำเพลง ร้อง บางทีก็นำเอาสิ่งที่มีอยู่รอบตัวมาทำให้เกิดเสียงสูงต่ำเป็นจังหวะหรือเป็น ทำนอง เช่น เอาไม้สองอันมาเคาะกัน เอาใบไม้มาพับริม แล้วเป่า เป็นต้น เมื่อคนเจริญมากขึ้นมีความสังเกตและเรียนรู้เรื่องเสียงต่างๆ มากขึ้น ก็รู้จัก ประดิษฐ์เครื่องมือที่ทำให้เกิดเสียงต่างๆ และรู้จักนำเสียงมาเรียบเรียงเป็นทำ นองโดยพิสดารยิ่งขึ้น

คนแต่ละชาติ แต่ละเผ่า มีความนิยมทางดนตรีแตกต่างกันไป เครื่อง ดนตรีแตกต่างกัน แม้ว่าลักษณะบางอย่างจะคล้ายคลึงกัน เช่น หลายชาติจะมี เครื่องตี เช่น กลอง แต่กลองก็มีหลายอย่าง กลองไทย กลองแขก กลองฝรั่ง แตกต่างกันอยู่บ้าง ในเครื่องดนตรีประเภทกลอง ก็ยังมีกลองชนิดต่างๆ อีก เช่น กลองทัด ตะโพน เป็นต้น นอกจากเครื่องดนตรีของแต่ละชาติจะแตกต่าง กันแล้ว ทำนองเพลง จังหวะ และระดับเสียงสูงต่ำ ก็มีลักษณะแตกต่างกันไป ประเพณีนิยมในการเล่น และการฟังดนตรีก็แตกต่างกัน

ไทยเรามีดนตรีมาแต่โบราณ ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เวลา ทำบุญที่มีพระสงฆ์สวดมนต์เย็น ก่อนจะเริ่มงานก็มีปี่พาทย์โหมโรง และตีกลอง ดังตุ่มๆ ต้อมๆ บอกให้รู้ว่างานเริ่มขึ้นแล้ว การบรรเลงดนตรีจะมีตลอดงานนั้น เวลามีการเทศน์มหาชาติที่วัด ก็มีการบรรเลงเพลงประจำกัณฑ์เทศน์แต่ละกัณฑ์ ในงานศพ มีการบรรเลงเพลงเป็นระยะ เรามีเพลงซึ่งจัดไว้สำหรับงานแต่ละ อย่างแต่ละเวลา เช่น ก่อนพระสงฆ์สวดมนต์เย็น ในเวลาทำบุญใช้เพลงโหมโรง เย็น เมื่อพระสงฆ์มาครบแล้ว ปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงช้า ครั้นพระสงฆ์สวดมนต์ จบ ปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงกราวใน และเพลงเชิด เช่นนี้เป็นต้น

เครื่องดนตรีของไทยเรา มีเครื่องสำหรับ ดีด สี ตี เป่า ครบครัน เครื่องดีด ได้แก่ กระจับปี่ จะเข้ ซึ่งทำให้เกิดเสียงโดยใช้ไม้ดีด ดีดกับสายเสียงของเครื่อง เครื่องสี ซึ่งมีสายและต้องใช้เส้นหางม้าหลายๆ เส้น สีไปบนสาย เครื่องสี ได้แก่ ซอชนิดต่างๆ คือ ซอสามสาย ซออู้ ซอด้วง เครื่องตี ได้แก่ ระนาด กลอง ฆ้อง โทน รำมะนา และตะโพน เครื่องตีนั้น ใช้ไม้ตีหรือตีด้วยมือ เครื่องตีบางอย่าง เช่น กรับ และฉาบ ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนที่เหมือนกัน ก็ใช้สองส่วนนี้ตี กันเอง นอกจากนี้ก็มี เครื่องเป่า ซึ่งต้องใช้ลมปากเป่าให้เกิดเสียง ได้แก่ ปี่ และ ขลุ่ย

เครื่องดนตรีสี่ประเภทนี้ อาจแยกออกกว้างๆ ตามหน้าที่ของมันได้ ๒ ประเภท คือ เครื่องเดินทำนอง ทำให้เกิดเป็นเพลง พวกหนึ่ง กับเครื่องทำ จังหวะ ประเภทหนึ่ง เครื่องทั้งสองประเภทนี้ ต้องบรรเลงให้กลมกลืนกัน จึงจะ ไพเราะ

ดนตรี คือ เสียงเป็นทำนองเพลง หรือจังหวะ ดนตรีไทยก็สร้างขึ้นตามลักษณะที่คน ไทยเห็นงามเห็นเพราะ ในเรื่องของดนตรีไทยนี้จะแยกอธิบายเป็น ๔ หัวข้อ คือ ๑. เรื่อง เครื่องดนตรี ๒. เรื่องเพลงดนตรี ๓. เรื่องวิธีบรรเลงดนตรี ๔. เรื่องเบ็ดเตล็ด

๑. เครื่องดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทย คือ สิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับทำเสียงให้เป็นทำนอง หรือจังหวะ วิธีที่ทำให้มีเสียง ดังขึ้นนั้นมีอยู่ ๔ วิธีคือ

ใช้มือหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งดีดที่สาย แล้วเกิดเสียงดังขึ้น สิ่งที่มีสายสำหรับดีด เรียกว่า "เครื่องดีด"

ใช้เส้นหางม้าหลายๆ เส้นรวมกันสีไปมาที่สาย แล้วเกิดเสียงดังขึ้น สิ่งที่มีสายแล้วใช้เส้น หางม้าสีให้เกิดเสียง เรียกว่า "เครื่องสี"

ใช้มือหรือไม้ตีที่สิ่งนั้น แล้วเกิดเสียงดังขึ้น สิ่งที่ใช้ไม้หรือมือตี เรียกว่า "เครื่องตี"

ใช้ปากเป่าลมเข้าไปในสิ่งนั้น แล้วเกิดเสียงดังขึ้น สิ่งที่เป่าลมเข้าไปแล้วเกิดเสียงเรียกว่า "เครื่องเป่า" เครื่องทุกอย่างที่กล่าวแล้วรวมเรียกว่า เครื่องดีด สี ตี เป่า

เครื่องดีด

เครื่องดีดทุกอย่างจะต้องมีส่วนที่เป็นกระพุ้งเสียง บางทีก็เรียกว่า กะโหลก สำหรับทำให้ เสียงที่ดีดนั้นก้องวานดังขึ้นอีก เครื่องดีดของไทยที่ใช้ในวงดนตรีแต่โบราณเรียกว่า "พิณ" ซึ่งมา จากภาษาของชาวอินเดียที่ว่า "วีณา" ในสมัยหลังๆ ต่อมาจึงบัญญัติชื่อเป็นอย่างอื่น ตามรูปร่างบ้าง ตามภาษาของชาติใกล้เคียงบ้าง เช่น "กระจับปี่" ซึ่งมีกระพุ้งเสียงรูปแบน ด้านหน้าและด้านหลัง กลมรี คล้ายรูปไข่ มีคันต่อยาวเรียวขึ้นไป ตอนปลายบานและงอนโค้งไปข้างหลังเรียกว่า ทวน มี สายทำด้วยเอ็นหรือไหม ๔ สาย ขึงผ่านหน้ากะโหลกตามคันขึ้นไปจนถึงลูกบิด ๔ อัน ผูกปลาย สายอันละสาย มีนมติดตามคันทวนสำหรับกดสายลงไปติดสันนม ให้เกิดเสียงสูงต่ำตามประสงค์ ผู้ดีดต้องนั่งพับเพียบทางขวา วางตัวกระจับปี่ (กะโหลก) ลงตรงหน้าขาขวา กดนิ้วตามสายด้วยมือ ซ้าย ดีดด้วยมือขวา รูปกระจับปี่ (หรือพิณ) ของไทยมีลักษณะดังในภาพเครื่องดีดของไทยที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบันก็คือ "จะเข้" จะเข้เป็นเครื่องดีดที่ วางนอนตามพื้นราบ ทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงภายใน ไม้แก่นขนุนเป็นดีที่สุด ด้านล่างมีกระ- ดานแปะเป็นพื้นท้อง เจาะรูระบายอากาศพอสมควร มีเท้าตอนหัว ๔ เท้า ตอนท้าย ๑ เท้า รวม เป็น ๕ เท้า มีสาย ๓ สาย สายเอก (เสียงสูง) กับสายกลางทำด้วยเอ็นหรือไหม สายต่ำสุด ทำด้วย ลวดทองเหลืองเรียกว่า สายลวด ขึงจากหลักตอนหัวผ่านโต๊ะและนม ไปลอดหย่อง แล้วพันกับ ลูกบิดสายละลูก มีนมตั้งเรียงลำดับบนหลัง ๑๑ นม สำหรับกดสายให้แตะเป็นเสียงสูงต่ำตามต้อง การ การดีดต้องใช้ไม้ดีดทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เหลากลม เรียวแหลม ผูกพันติดกับนิ้วชี้ มือขวา ดีดปัดสายไปมา ส่วนมือซ้ายใช้นิ้วกดสายตรงสันนมต่างๆ ตามต้องการ

เครื่องสี

เครื่องดนตรีที่ต้องใช้เส้นหางม้าหลายๆ เส้นรวมกัน สีไปบนสายซึ่งทำด้วยไหมหรือเอ็นนี้ โดยมากเรียกว่า "ซอ" ทั้งนั้น ซอของไทยที่มีมาแต่โบราณก็คือ "ซอสามสาย" ใช้บรรเลงประกอบ ในพระราชพีธีสมโภชต่างๆ ซอสามสายนี้กะโหลกสำหรับอุ้มเสียงทำด้วยกะลามะพร้าวตัดขวางให้ เหลือพูทั้งสามอยู่ด้านหลัง ขึงหน้าด้วยหนังแพะหรือหนังลูกวัว มีคัน (ทวน) ตั้งต่อจากกะโหลก ขึ้นไปยาวประมาณ ๑.๒๐ เมตร ทำด้วยงาช้างหรือไม้แก่น กลึงตอนปลายให้สวยงาม มีลูกบิดสอด ขวางคันทวน ๓ อัน สำหรับพันปลายสาย เร่งให้ตึงหรือหย่อนตามต้องการ มีทวนล่างต่อลงไป จากกะโหลก กลึงให้เรียวเล็กลงไปจนแหลม เลี่ยมโลหะตอนปลายเพื่อให้แข็งแรงสำหรับปักลงกับ พื้น สายทั้งสามนั้นทำด้วยไหมหรือเอ็น ขึงจากทวนล่างผ่านหน้าซอซึ่งมีหย่องรองรับขึ้นไปตามทวน และร้อยเข้าในรูไปพันลูกบิดสายละอัน ส่วนคันชักหรือคันสีนั้น ทำคล้ายคันกระสุน ขึงด้วยเส้น หางม้าหลายๆ เส้น สีไปมาบนสายทั้งสามตามต้องการ สิ่งสำคัญของซอสามสายอย่างหนึ่ง คือ

"ถ่วงหน้า" ถ่วงหน้านี้ทำด้วยโลหะประดิษฐ์ให้สวยงาม บางทีถึงแก่ฝังเพชรพลอยก็มี แต่จะต้อง มีน้ำหนักได้ส่วนสัมพันธ์กับหน้าซอ สำหรับติดตรงหน้าซอตอนบนด้านซ้าย ถ้าไม่มีถ่วงหน้าแล้ว เสียงจะดังอู้อี้ไม่ไพเราะ

ซอด้วง เป็นเครื่องสีที่มี ๒ สายเรียกว่า สายเอก และสายทุ้ม ตัวกระพุ้งอุ้มเสียงเรียกว่า กระบอก เพราะมีรูปอย่างกระบอกไม้ไผ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง ขึงหน้าด้วยหนังงูเหลือม ถ้าไม่มีก็ใช้หนังแพะหรือหนังลูกวัว มีทวน (คัน) เสียบกระบอกยาวขึ้นไป ตอนปลายเป็นสี่เหลี่ยม โอนไปทางหลัง มีลูกบิดสำหรับพันปลายสาย ๒ อัน เนื่องจากซอด้วงเป็นซอเสียงเล็กแหลม จึง ใช้สายที่ทำด้วยไหมหรือเอ็นเป็นเส้นเล็กๆ ส่วนคันชักนั้น ร้อยเส้นหางม้าให้เข้าอยู่ในระหว่างสาย ทั้งสอง

ซออู้ เป็นเครื่องสีที่มีสาย ๒ สาย ทำด้วยไหมหรือเอ็น เรียกว่า สายเอกและสายทุ้มเช่น เดียวกับซอด้วง แต่กะโหลกซึ่งเป็นเครื่องอุ้มเสียงทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดตามยาวให้พูอยู่ข้างบน ขึงหน้าด้วยหนังแพะหรือหนังลูกวัว มีทวน (คัน) เสียบยาวขึ้นไปกลึงกลมตลอดปลาย มีลูกบิด สำหรับพันสาย ๒ อัน คันชักนั้นร้อยเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายทั้งสอง

การเรียกสายของเครื่องดนตรีทั้งเครื่องดีดและเครื่องสีว่า "เอก" และ "ทุ้ม" นี้ เรียกตาม ลักษณะของเสียง สายที่มีเสียงสูงก็เรียกว่า สายเอก สายที่มีเสียงต่ำก็เรียกว่า สายทุ้ม ตลอดจน เครื่องตีที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็อนุโลมเช่นเดียวกัน เครื่องที่มีเสียงสูงก็เรียกว่า เอก เครื่องที่มีเสียงต่ำ ก็เรียกว่า ทุ้ม

เครื่องตี

เครื่องดนตรีที่ตีแล้วดังเป็นเพลงหรือเป็นจังหวะมีมากมาย จะกล่าวเฉพาะที่ควรจะรู้จักและ ใช้กันอยู่ทั่วไป คือ

กรับ เป็นเครื่องตีที่เมื่อตีแล้วดัง กรับ - กรับ กรับอย่างหนึ่งเป็นไม้ไผ่ผ่าซีก ๒ อัน ถือ มือละอัน แล้วเอาทางผิวไม้ตีกัน เรียกว่า "กรับคู่" หรือ "กรับละคร" เพราะโดยมากใช้ประกอบ การเล่นละคร

อีกอย่างหนึ่ง เป็นกรับที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง เป็นซีกหนาๆ ประกบ ๒ ข้าง แล้วมีแผ่นโลหะ หรือไม้ หรืองา ทำเป็นแผ่นบางๆ หลายๆ อันซ้อนกันอยู่ข้างใน เจาะรูตอนโคน ร้อยเชือกเหมือนพัด เรียกว่า "กรับพวง"

ระนาด เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยไม้หรือเหล็กหรือทองเหลืองหลายๆ อัน เรียงเป็นลำดับกัน บางอย่างก็ร้อยเชือกหัวท้ายแขวน บางอย่างก็วางเรียงกันเฉยๆ

ระนาดเอก ลูกระนาดทำด้วยไม้ไผ่บง หรือไม้ชิงชัง ไม้พะยูง และไม้มะหาด ลูกระนาด ฝานหัวท้ายและท้องตอนกลาง ตัดให้มีความยาวลดหลั่นกันตามลำดับของเสียง โดยปกติมี ๒๑ ลูก เรียงเสียงต่ำสูงตามลำดับ ลูกระนาดทุกลูกเจาะรูร้อยเชือกหัวท้ายแขวนบนรางซึ่งมีรูปโค้งขึ้น มีเท้า รูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางสำหรับตั้ง ไม้สำหรับตีมี ๒ อย่างคือ ไม้แข็ง (เมื่อต้องการเสียงดังแกร่ง กร้าว) และไม้นวม (เมื่อต้องการเสียงเบาและนุ่มนวล)

ระนาดทุ้ม ลูกระนาดเหมือนระนาดเอก แต่ใหญ่และยาวกว่า มี ๑๗ ลูก รางที่แขวนนั้น ด้านบนโค้งขึ้น แต่ด้านล่างตรงขนานกับพื้นราบ มีเท้าเล็กๆ ตรงมุม ๔ เท้า ไม้ตีใช้แต่ไม้นวม

การเทียบเสียงระนาดเอก และระนาดทุ้ม เมื่อต้องการให้สูงต่ำ ใช้ขี้ผึ้งผสมกับผงตะกั่ว ติดตรงหัวและท้ายด้านล่าง ถ่วงเสียงตามต้องการ

ระนาดเอกเหล็ก ลูกระนาดทำด้วยเหล็ก วางเรียงบนราง ไม่ต้องเจาะรูร้อยเชือกมี ๒๐ ลูก หรือมากกว่านั้น ถ้าลูกระนาดทำด้วยทองเหลืองก็เรียกว่า ระนาดทอง

ระนาดทุ้มเหล็ก เหมือนระนาดเอกเหล็กทุกประการ นอกจากลูกระนาดใหญ่และยาวกว่า มี ๑๗ ลูก ถ้าทำด้วยทองเหลืองก็เรียก ระนาดทุ้มทอง

การเทียบเสียงระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กนี้ ใช้ตะไบถูหัวท้ายด้านล่างและท้องลูก ระนาด ไม่ใช้ขี้ผึ้งผสมผงตะถั่วติด เมื่อต้องการให้ลูกไหนเสียงสูงขึ้น ก็ตะไบหัวหรือท้ายให้บาง ถ้าต้องการให้ต่ำก็ตะไบท้องให้บาง

ฆ้อง ทำด้วยโลหะ เป็นแผ่นกลม ตรงกลางมีปุ่มกลมนูนขึ้นสำหรับตี ขอบนอกหักมุมลง รอบตัว เป็นรูปเหมือนฉัตร ฆ้องมีหลายชนิด คือ

ฆ้องโหม่ง เป็นฆ้องขนาดเขื่อง ขนาดตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ถึง ๔๕ เซนติเมตร โดยปกติใช้แขวนไม้ขาหยั่ง ๓ อัน หรือทำเป็นรูปอย่างอื่น ตีด้วยไม้ซึ่งพันด้วย ผ้าเป็นปุ่มตอนปลาย เสียงดังโหม่ง - โหม่ง จึงเรียกชื่อตามเสียง ฆ้องวงใหญ่มี ๑๖ ลูก ขนาดลดหลั่นกันไปตามลำดับ ลูกต้นขนาดใหญ่ เสียงต่ำ อยู่ทาง ซ้ายของผู้ตี ลูกยอดขนาดเล็ก เสียงสูง อยู่ทางขวาของผู้ตี ทุกลูกผูกบนร้านซึ่งทำเป็นวงรอบตัว คนตี เว้นด้านหลังไว้ ผู้ตีนั่งในกลางวง ตีด้วยไม้ที่ทำด้วยแผ่นหนังหนา ตัดเป็นวงกลม มีด้าม เสียบตรงรูกลางแผ่นหนัง

ฆ้องวงเล็ก รูปร่างลักษณะเหมือนฆ้องวงใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น มีจำนวนลูกฆ้อง ๑๘ ลูก

การเทียบเสียงฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็กนี้ ใช้ขี้ผึ้งผสมกับผงตะกั่ว ติดตรงด้านล่างของ ปุ่มฆ้อง เพื่อให้ได้เสียงสูงต่ำตามต้องการ

ฉิ่ง ทำด้วยโลหะหล่อหนา รูปเหมือนฝาชี ปากกว้างประมาณ ๖ เซนติเมตร มีรูตรงกลาง สำหรับร้อยเชือก สำรับหนึ่งมี ๒ อัน เรียกว่า คู่ ตีให้ทางปากเข้ากระทบประกบกันดัง ฉิ่ง - ฉับ

ฉาบ ทำด้วยโลหะหล่อ บางกว่าฉิ่ง รูปเหมือนฉิ่งแต่มีชานต่อออกไปรอบตัว สำรับหนึง มี ๒ อัน เรียกว่า คู่ เหมือนกัน ฉาบนี้มี ๒ ขนาด อย่างเล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๓ เซนติเมตร เรียกว่า "ฉาบเล็ก" อย่างใหญ่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๕ เซนติเมตร เรียกว่า "ฉาบใหญ่"

กลองทัด เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยไม้ท่อน กลึงให้ได้รูปและสัดส่วน ภายในขุดเป็นโพรง ขึง หน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ตรึงด้วยหมุด (เรียกว่าแส้) ขนาดหน้ากลองเส้นผ่านศูนย์ กลางประมาณ ๔๖ เซนติเมตร เท่ากันทั้งสองหน้า ตัวกลองยาวประมาณ ๕๑ เซนติเมตร มีหู สำหรับแขวนเรียกว่า หูระวิง ๑ หู ชุดหนึ่งมี ๒ ลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียกว่า ตัวเมีย ก่อนจะใช้ต้องติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าบดให้เข้ากัน ติดตรงกลางหน้าล่างซึ่งไม่ได้ใช้ตี เพื่อ ให้เสียงนุ่มนวลขึ้น ใช้ตีด้วยไม้ท่อนยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร

กลองแขก เป็นกลองที่มีรูปร่างยาวประมาณ ๕๗ เซนติเมตร ขึงหน้าด้วยหนังแพะหรือ หนังลูกวัว หน้าข้างหนึ่งใหญ่ กว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เรียกว่า "หน้ารุ่ย" หน้าข้างเล็กกว้าง ประมาณ ๑๗ เซนติเมตร เรียกว่า "หน้าต่าน" มีสายโย่งเร่งเสียงถึงกันทั้งสองหน้าห่างๆ ทำด้วย หวายผ่าซีก และอีกเส้นหนึ่งพันยึดสายเป็นคู่ๆ รอบกลองเรียกว่า รัดอก สำรับหนึ่งมี ๒ ลูก ลูก เสียงสูงเรียกว่า ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียกว่า ตัวเมีย ใช้ตีด้วยมือทั้งสองหน้า

โทน เป็นเครื่องตีที่ขึงหนังหน้าเดียว รูปร่างตอนต้นโต แล้วค่อยเรียวลงไป ตอนสุดผาย ออกนิดหน่อย มีสายโยงเร่งเสียงจากหน้ามาถึงคอ ซึ่งมีอยู่ ๒ อย่างคือ โทนมโหรีกับโทนชาตรี รูปร่างลักษณะต่างกันเล็กน้อย

โทนมโหรี สำหรับใช้ในวงมโหรี ในสมัยโบราณเรียกว่า "ทับ" จึงได้เรียกทั้งสองชื่อติดกันว่า "โทนทับ" ตัวโทนทำด้วยดินเผา สายโยงเร่งเสียงมักใช้ไหมหรือเอ็น (อย่างสายซอ) หรือด้ายขึง หน้าด้วยหนังแพะหรือหนังลูกวัว หรือหนังงูเหลือม

โทนชาตรี ตัวโทนทำด้วยไม้ สายโยงเร่งเสียงมักจะใช้หนัง ขึงหน้าด้วยหนังลูกวัวโดยมาก ทางภาคใต้มักใช้ขนาดใหญ่ ส่วนภาคกลางใช้ขนาดย่อมกว่า

รำมะนา เป็นเครื่องตีที่ขึงหนังหน้าเดียว รูปร่างแบน (หรือสั้น) มี ๒ อย่าง คือ รำมะนา ลำตัด และรำมะนามโหรี รำมะนาตัดนั้นมีขนาดใหญ่ แต่จะไม่พูดถึง เพราะมิได้อยู่ในวงดนตรี จึงกล่าวแต่เฉพาะรำมะนาที่ใช้ในวงมโหรีเท่านั้น

รำมะนาในวงมโหรี ขึงหน้าด้วยหนังลูกวัว ตรึงด้วยหมุด ตัวกลองสั้น กลึงให้ทางปาก สอบเข้า มีเส้นเชือกควั่นเป็นเกลียวยัดหนุนริมหน้าภายใน สำหรับหมุนให้หน้าตึงขึ้น เรียกว่า "สนับ"

ตะโพน เป็นเครื่องตีที่ขึงหนัง ๒ หน้า ตัวหุ่นทำด้วยไม้ ตรงกลางป่อง ภายในขุดเป็นโพรง หนังที่ขึงหน้าเจาะรูรอบ มีเส้นหนังเล็กๆ ควั่นเป็นเกลียวถัก เรียกว่า "ไส้ละมาน" ใช้หนังตัด เป็นแถบเล็กๆ เรียกว่า "หนังเรียด" ร้อยไส้ละมานโยงทั้งสองหน้าเร่งเสียงตามต้องการ ตรงกลาง มีหนังเรียดพันเป็น "รัดอก" วางนอนบนเท้าซึ่งทำด้วยไม้เข้ารูปกับหน้าตะโพน หน้าใหญ่เรียกว่า

"หน้าเท่ง" หน้าเล็กเรียกว่า "หน้ามัด" เวลาจะตีต้องติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าทางหน้าเท่งถ่วงเสียงให้ พอเหมาะ

เครื่องเป่า

เครื่องดนตรีไทยที่ใช้ลมเป่าแล้วดังเป็นเสียงนั้น แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท ประเภท หนึ่งต้องมีลิ้นที่ทำด้วยใบไม้ หรือไม้ไผ่ หรือโลหะ สอดใส่เข้าไว้ เมื่อเป่าลมเข้าไปลิ้นก็จะเต้นไหว ให้เกิดเสียง เรียกว่า "ปี่" อีกประเภทหนึ่งไม่มีลิ้น แต่มีรูบังคับทำให้ลมที่เป่าหักมุน แล้วเกิด เป็นเสียงขึ้น เรียกว่า "ขลุ่ย" ทั้งปี่และขลุ่ย ลักษณนามเรียกว่า "เลา" ซึ่งมีอยู่หลายประเภท แต่จะกล่าวเฉพาะที่ควรรู้เท่านั้น คือ

ปี่ใน ทำด้วยไม้ชิงชังหรือไม้พะยูง กลึงให้ป่องกลางและบานปลายทั้ง ๒ ข้างเล็กน้อย เจาะเป็นรูกลวงภายใน มีรูสำหรับปิดเปิดนิ้วให้เป็นเสียงสูงต่ำ เจาะที่ตัวปี่ ๖ รู ๔ รูบนเรียงตาม ลำดับ แล้วเว้นห่างพอควรจึงถึง ๒ รูล่าง ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลตัดกลมมน ซ้อน ๔ ชั้น ผูกติดกับ หลอดโลหะที่เรียกว่า "กำพวด" สอดกำพวดเข้าในรูปี่ด้านบนแล้วจึงเป่า

ที่เรียกว่าปี่ในนี้ มาเรียกกันเมื่อมีปี่รูปร่างอย่างเดียวกัน แต่ขนาดต่างกันเกิดขึ้น คือ ปี่ที่ ย่อมกว่าปี่ใน เล็กน้อยเรียก "ปี่กลาง" และปี่ขนาดเล็กเรียกว่า "ปี่นอก"

ปี่ไฉน เป็นปี่ที่มี ๒ ท่อน สวมต่อกัน มีรูปเหมือนดอกลำโพง ยาวประมาณ ๑๙ เซนติเมตร บรรเลงร่วมกับกลองชนะ ในงานพระบรมศพ พระศพเจ้านาย หรือศพที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศ

ปี่ชวา รูปร่างเหมือนปี่ไฉน แต่ใหญ่กว่า ยาวประมาณ ๓๙ เซนติเมตร บรรเลงร่วมในวง เครื่องสายปี่ชวา และปี่พาทย์นางหงส์

ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่าที่ไม่มีลิ้น ทำด้วยไม้รวก (ที่ทำด้วยไม้ชิงชังหรืองาช้างก็มี) มีรูสี่- เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ด้านใต้ ซึ่งทำให้ลมหักมุมลง เรียกว่า รูปากนกแก้ว รูที่สำหรับปิดเปิดนิ้วบังคับ เสียงสูงต่ำอยู่ด้านบน ๗ รู และ ด้านล่างเรียกว่า รูนิ้วค้ำ อีก ๑ รู ด้านขวามีรูสำหรับปิดเยื่อ (เยื่อ ในปล้องไม้ไผ่หรือเยื่อหัวหอม) เพื่อให้เสียงแตก (เมื่อต้องการ) ขลุ่ยรูปร่างอย่างเดียวกันนี้มี ๓ ขนาดคือ "ขลุ่ยหลิบ" ขนาดเล็ก มีเสียงสูง ยาวประมาณ ๓๖ เซนติเมตร "ขลุ่ยเพียงออ" ขนาด กลาง เสียงระดับกลาง ยาวประมาณ ๔๕ เซนติเมตร และ "ขลุ่ยอู้" ขนาดใหญ่ มีเสียงต่ำ ยาว ประมาณ ๖๐ เซนติเมตร

การผสมวง

ผสมวงคือ การเอาเครื่องดนตรีหลายๆ อย่างมาบรรเลงรวมกัน แต่การที่จะนำเอาเครื่อง ดนตรีคนละอย่างมาบรรเลงพร้อมๆ กันนี้ จะต้องพิจารณาเลือกแต่สิ่งที่มีเสียงกลมกลืนกันและ ไม่ดังกลบเสียงกัน สมัยโบราณนั้นเครื่องดีดก็จะผสมแต่กับเครื่องสี เพราะมีเสียงที่ค่อนข้างเบา ด้วยกัน และเครื่องตีก็จะผสมแต่เฉพาะกับเครื่องเป่าเท่านั้น เพราะมีเสียงค่อนข้างดังมากด้วยกัน ภายหลังเมื่อรู้จักวิธีสร้างหรือแก้ไขเครื่องตีและเครื่องเป่าให้ลดความดังลงได้พอเสมอกับเครื่องดีด เครื่องสี จึงได้นำเครื่องตีและเครื่องเป่าเหล่านั้นบางอย่างเข้าผสมเฉพาะ แต่ที่ต้องการและจำเป็น และเลือกดูว่า เครื่องดนตรีอย่างไหนทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ ได้หลายเสียง ก็ให้บรรเลงเป็นทำนอง อย่าง ไหนทำเสียงสูงต่ำหลายๆ เสียงไม่ได้ ก็ให้เป็นพวกบรรเลงประกอบจังหวะ

วงดนตรีไทยที่ผสมเป็นวงและถือเป็นแบบแผน มีอยู่ ๓ อย่างคือ วงปี่พาทย์ วงเครื่อง สาย และวงมโหรี นอกจากนี้ถือว่าเป็นวงพิเศษ

วงปี่พาทย์

วงปี่พาทย์ ผสมด้วยเครื่องตีและเป่า มีอยู่ ๓ ขนาด คือวงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์ เครื่องคู่ และวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

วงปี่พาทย์เครื่องห้า

มีเครื่องดนตรีที่ผสมในวง โดยมีวิธีบรรเลงและหน้าที่ต่างๆ กันดังนี้
๑. ปี่ใน เดินทำนองถี่ๆ บ้าง โหยหวนเป็นเสียงยาวบ้าง มีหน้าที่ดำเนินทำนองและช่วยนำ วงด้วย
๒. ระนาดเอก ตีพร้อมกัน ๒ มือเป็นคู่ ๘ เดินทำนองเก็บถี่ๆ โดยตลอด มีหน้าที่เป็นผู้ นำวง
๓. ฆ้องวงใหญ่ ตีพร้อมกัน ๒ มือบ้าง ตีมือละลูกบ้าง มีหน้าที่ดำเนินทำนองเนื้อเพลง เป็นหลักของวง
๔. ตะโพน ตีมือละหน้า ให้เสียงสอดสลับกัน มีหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับให้รู้วรรคตอน ของเพลง และเป็นผู้นำกลองทัดด้วย
๕. กลองทัด ตีห่างบ้างถี่บ้าง ตามแบบแผนของแต่ละเพลง
๖. ฉิ่ง โดยปกติตีสลับกันให้ดังฉิ่งทีหนึ่ง ดังฉับทีหนึ่ง โดยสม่ำเสมอ มีหน้าที่กำกับจังหวะ ย่อย ให้รู้จังหวะเบาจังหวะหนัก

วงปี่พาทย์เครื่องคู่ มีเครื่องดนตรีที่ผสมเป็นวงดังนี้
๑. ปี่ใน (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๓. ระนาดทุ้ม ตีพร้อมกันทั้งสองมือบ้าง ตีมือละลูกบ้าง และมือละหลายๆ ลูกบ้าง มี หน้าที่สอดแทรก หยอกล้อ ยั่วเย้า ไปกับทำนองให้สนุกสนาน
๔. ฆ้องวงใหญ่ (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๕. ฆ้องวงเล็ก ตีเก็บถี่ๆ มือละลูกบ้าง มือละหลายๆ ลูกบ้าง มีหน้าที่สอดแทรกทำนอง ในทางเสียงสูง
๖. ตะโพน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๗. กลองทัด (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๘. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)

ปี่พาทย์เครื่องคู่นี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

มีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงดังนี้
๑. ปี่ใน (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๓. ระนาดทุ้ม (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่)
๔. ระนาดเอกเหล็ก ตีพร้อมกันทั้งสองมือ เป็นคู่ ๘ เดินทำนองถี่ๆ บ้าง ตีกรอบ้าง เช่นเดียวกับระนาดเอก แต่มีหน้าที่เพียงช่วยให้เสียงกระหึ่มขึ้นเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เป็นผู้นำวง
๕. ระนาดทุ้มเหล็ก ตีมือละลูก หรือหลายๆ ลูก เดินทำนองห่างๆ มีหน้าที่ยั่วเย้าทำนอง เพลงห่างๆ
๖. ฆ้องวงใหญ่ (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๗. ฆ้องวงเล็ก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่)
๘. ตะโพน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๙. กลองทัด (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)
๑๐. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)

วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่นี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในวงปี่พาทย์ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่นี้ ถ้าการบรรเลงบางเพลงเห็นควรมีฉาบ เล็ก ฉาบใหญ่ หรือ โหม่ง ก็นำมาผสมกันได้ โดยมีหน้าที่ดังนี้

ฉาบเล็ก ตีได้ทั้งให้ข้างๆ กระทบกัน หรือ ตี ๒ ฝาเข้าประกบกัน มีหน้าที่หยอกล้อ ยั่วเย้าไปกับฉิ่ง หรือให้สอดคล้องกับทำนองเพลง

ฉาบใหญ่ ตี ๒ ฝาเข้าประกบกันตามจังหวะห่างๆ มีหน้าที่ช่วยกำกับจังหวะห่างๆ ถ้า เป็นเพลงสำเนียงจีนก็ตีให้เข้ากับทำนอง

โหม่ง ตีตรงปุ่มด้วยไม้ตีตามจังหวะห่างๆ มีหน้าที่ควบคุมจังหวะห่างๆ

การบรรเลงปี่พาทย์นี้ โดยปกติระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่จะใช้ไม้แข็งตี แต่ถ้าต้องการให้ มีเสียงนุ่มนวล ก็เปลี่ยนไม้ตีเป็นไม้นวมเสียทั้งสองอย่าง เรียกว่า "ปี่พาทย์ไม้นวม"

ถ้าบรรเลงประกอบการขับเสภา ซึ่งมีร้องส่ง ก็เอาตะโพน และกลองทัดออก ใช้ "สอง หน้า" ตีกำกับจังหวะหน้าทับ และใช้ได้ทั้งปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ ใช้ไม้แข็งตี ตามปกติ

หากจะให้เป็นปี่พาทย์นางหงส์ ก็เอาตะโพน กลองทัด และปี่ในออก เอา "ปี่ชวา" และ "กลองมลายู" เข้ามาแทน ปี่พาทย์นางหงส์นี้ใช้เฉพาะงานศพเท่านั้น

เครื่องสาย

วงเครื่องสาย เป็นวงดนตรีที่มีเครื่องดีด และเครื่องสีเป็นหลัก มีเครื่องเป่าและเครื่องตีที่ ได้เลือกว่ามีเสียงเหมาะสมกันผสม ดังนี้

เครื่องสายวงเล็ก

มีเครื่องดนตรีผสมในวง และมีหน้าที่ต่างๆ กันคือ
๑. ซอด้วง สีเป็นทำนองเพลงมีถี่บ้าง โหยหวนเป็นเสียงยาวบ้าง มีหน้าที่เป็นผู้นำวง และ เป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง
๒. ซออู้ สีหยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง
๓. จะเข้ ดีดเก็บถี่ๆ บ้าง ห่างๆ บ้าง สอดแทรกทำนองให้เกิดความไพเราะ
๔. ขลุ่ยเพียงออ เป่าเก็บถี่ๆ บ้าง โหยหวนเป็นเสียงยาวบ้าง ดำเนินทำนองเพลง
๕. โทน ตีให้สอดสลับกับรำมะนา กำกับจังหวะหน้าทับ
๖. รำมะนา ตีให้สอดสลับกับโทน กำกับจังหวะหน้าทับ

โทนกับรำมะนานี้ ต้องตีให้สอดคล้องกัน เหมือนเครื่องดนตรีอย่างเดียว เพราะฉะนั้นบางที จึงใช้คนเดียวตีทั้งสองอย่าง

๗. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)

วงเครื่องสายเครื่องคู่

มีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงและมีหน้าที่ดังนี้
๑. ซอด้วง ๒ คัน การสีเหมือนในเครื่องสายวงเล็ก แต่มีหน้าที่การนำวงมีเพียงคันเดียว อีก คันหนึ่งเพียงช่วยเป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง
๒. ซออู้ ๒ คัน (การสีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๓. จะเข้ ๒ ตัว (การดีดและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๔. ขลุ่ยเพียงออ (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๕. ขลุ่ยหลิบ วิธีเป่าเหมือนกับขลุ่ยเพียงออ แต่มีหน้าที่สอดแทรกทำนองไปในทางเสียง สูง
๖. โทน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๗. รำมะนา (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๘. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)

มโหรี

มโหรี เป็นวงดนตรีผสม ตั้งแต่มีไม่กี่สิ่ง จนกลายเป็นวงเครื่องสายผสมกับวงปี่พาทย์ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

วงมโหรีโบราณ

มีเครื่องดนตรีและผู้บรรเลงเพียง ๔ คน
๑. ซอสามสาย สีเก็บบ้าง โหยหวนเสียงยาวๆ บ้าง มีหน้าที่คลอเสียงคนร้องและดำเนิน ทำนองเพลง
๒. กระจับปี่ ดีดดำเนินทำนองถี่บ้างห่างบ้าง เป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง
๓. โทน ตีให้สอดสลับไปแต่อย่างเดียว (เพราะยังไม่มีรำมะนา) มีหน้าที่กำกับจังหวะ หน้าทับ
๔. กรับพวง ตีตามจังหวะห่างๆ มีหน้าที่กำกับจังหวะย่อย ซึ่งคนร้องเป็นผู้ตี

วงมโหรีอย่างนี้ได้ค่อยๆ เพิ่มเครื่องดนตรีมากขึ้นเป็นขั้นๆ ขั้นแรกเพิ่มรำมะนาให้ตีคู่กับ โทน แล้วเพิ่มฉิ่งแทนกรับพวง ต่อมาก็เพิ่มขลุ่ยเพียงออ และนำเอาจะเข้เข้ามาแทนกระจับปี่ ต่อจากนั้น ก็นำเอาเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายและวง ปี่พาทย์เข้ามาผสม แต่เครื่องดนตรีที่นำมาจาก วงปี่พาทย์นั้น ทุกๆ อย่างจะต้องย่อขนาดให้เล็กลง เพื่อให้เสียงเล็กและเบาลง ไม่กลบเสียง เครื่องดีดเครื่องสีที่มีอยู่แล้ว มีขนาดวงตามลำดับ ดังนี้

มโหรีวงเล็ก

มีเครื่องดนตรีดังนี้
๑. ซอสามสาย (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงมโหรีโบราณ)
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)
๓. ฆ้องวง เนื่องจากย่อขนาดเล็กลงกว่าฆ้องวงใหญ่ และใหญ่กว่าฆ้องวงเล็กในวง ปี่พาทย์ จึงมักเรียกว่า "ฆ้องกลาง" หรือ "ฆ้องมโหรี" วิธีตีและหน้าที่เหมือนฆ้องวง ใหญ่ในวงปี่พาทย์
๔. ซอด้วง (วิธีสีเหมือนในวงเครื่องสาย แต่ไม่ต้องเป็นผู้นำวง เพราะมีระนาดเอกเป็น ผู้นำวงอยู่แล้ว)
๕. ซออู้ (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๖. จะเข้ (วิธีดีดและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๗. ขลุ่ยเพียงออ (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๘. โทน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๙. รำมะนา (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย)
๑๐. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)

วงมโหรีเครื่องคู่

มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวง ทั้งวิธีบรรเลงและหน้าที่ เหมือนกับวงมโหรีวงเล็กทุกอย่าง แต่เพิ่มซอด้วงเป็น ๒ คัน ซออู้เป็น ๒ คัน จะเข้เป็น ๒ ตัว กับเพิ่มเครื่องดนตรีอีก ๓ อย่าง คือ
๑. ขลุ่ยหลิบ วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสายเครื่องคู่
๒. ระนาดทุ้ม วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่
๓. ฆ้องวงเล็ก มีขนาดเล็กกว่าฆ้องวงเล็กในวงปี่พาทย์ วิธีตีและหน้าที่เหมือนอย่างใน วงปี่พาทย์เครื่องคู่ บางทีก็เพิ่มซอสามสายคันเล็ก เรียกว่า ซอสามสายหลิบ อีก ๑ คัน

วงมโหรีเครื่องใหญ่

มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวง ตลอดจนวิธีบรรเลงและหน้าที่เหมือนกับวงมโหรีเครื่องคู่ทุก อย่าง แต่เพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ

๑. ระนาดเอกเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

๒. ระนาดทุ้มเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ในสมัยปัจจุบันมักจะเพิ่ม "ขลุ่ยอู้" ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ขลุ่ยอู้นี้วิธีเป่าเหมือนกับขลุ่ยเพียงออ แต่มีหน้าที่ดำเนินเนื้อเพลงเป็นทำนองห่างๆ ในทางเสียงต่ำ ส่วนฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ และโหม่ง ผสมได้ทั้งวงเล็ก เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่มีหน้าที่ อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในวงปี่พาทย์

ลำดับเสียง

เสียงของเครื่องดนตรีที่จะบรรเลงเป็นทำนองนั้น จะต้องมีเสียงสูงต่ำเรียงลำดับกันหลายๆ เสียง โดยปกติก็มีอยู่ ๗ เสียง เมื่อถึงเสียงที่ ๘ ก็ถือว่าเป็นเสียงซ้ำกับเสียงที่ ๑ (เรียกว่า คู่ ๘) และซ้ำต่อๆ ไปตามลำดับ แต่ระยะความห่างจากเสียงหนึ่งไปอีกเสียงหนึ่งนั้น ดนตรีของแต่ละ ชาติมักจะนิยมแบ่งระยะไม่เหมือนกัน ส่วนการแบ่งระยะเสียงเรียงลำดับของดนตรีไทยนั้น แบ่ง ความห่างของเสียงเท่าๆ กันทั้ง ๗ เสียง จากเสียงที่ ๑ ไปเสียงที่ ๒ จากเสียงที่ ๒ ไปเสียงที่ ๓ จาก ๓ ไป ๔ จาก ๔ ไป ๕ จาก ๕ ไป ๖ จาก ๖ ไป ๗ และ จาก ๗ ไป ๘ ทุกๆ ระยะ เท่ากันหมด ถ้าจะเปรียบเทียบกับมาตราเสียง (scale) ของดนตรีสากล ในบันไดเสียง C. major ซึ่ง เป็นบันไดเสียงที่ใช้อยู่เป็นสามัญ

เพราะฉะนั้น ถ้าพบเห็นตัวอย่างต่างๆ ซึ่งบันทึกเป็นโน๊ตสากลในสารานุกรม ฯ นี้ขอให้ เข้าใจว่า เป็นการลำดับมาตราเสียงอย่างไทย คือห่างเท่าๆ กันทุกระยะ ที่ใช้โน๊ตสากลก็เพียงโดย อนุโลมเท่านั้น

เสียงของเครื่องดนตรีไทยต่างๆ ที่ผสมเป็นวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย และวงมโหรี โดย เฉพาะเครื่องที่บรรเลงเป็นทำนอง มีเขตเสียงทางสูงและทางต่ำต่างๆ กัน ถ้าจะเทียบกับโน๊ตสากล โดยอนุโลม ก็จะมีดังนี้

๒. เพลงดนตรีไทย

เพลงดนตรีของไทยนั้น มีทำนองต่างๆ เพลงบางชนิดก็มีทำนองพื้นๆ เรียบๆ ไม่มีพลิก แพลงอย่างใด เรียกว่า "เพลงพื้น" บางชนิดก็เดินทำนองเป็นเสียงยาวๆ เพลงชนิดนี้เครื่องดนตรี ประเภทเครื่องตีก็จะต้องตีกรอทำให้เสียงยาว จึงเรียกว่า "เพลงกรอ" และเพลงบางชนิดก็มีทำนอง พลิกแพลงโลดโผน มีแบ่งเครื่องดนตรีเป็นพวก ผลัดกันหยุด ผลัดกันบรรเลง ก็เรียกว่า "เพลงลูก ล้อลูกขัด"

ถ้าจะแบ่งตามลักษณะของเพลง ก็จะแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท คือ

(๑) เพลงหน้าพาทย์

ได้แก่ เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งของมุนษย์ ของ สัตว์ ของวัตถุต่างๆ และอื่นๆ เช่น เดิน นอน วิ่ง กลายร่าง เกิดขึ้น สูญไป เป็นต้น ไม่ว่ากิริยานั้น จะแลเห็นตัวตน เช่น การแสดง โขน ละคร หรือกิริยาสมมุติ แลไม่เห็นตัว เช่น การเชิญเทวดาให้ เสด็จมา ถ้าเป็นการบรรเลงประกอบกิริยานั้นๆ แล้ว ก็เรียกว่าหน้าพาทย์ทั้งสิ้น เช่น
บรรเลงเพลงเชิด ประกอบกิริยาไปมาไกลๆ หรือรีบเร่ง หรือรบกัน
บรรเลงเพลงเสมอ ประกอบกิริยาไปมาใกล้ๆ จากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง
บรรเลงเพลงโอด ประกอบกิริยาร้องไห้ หรือสลบ หรือ ตาย
บรรเลงเพลงเหาะ ประกอบกิริยาไปมาในอากาศของ เทวดา
บรรเลงเพลงโล้ ประกอบกิริยาไปมาในน้ำทั้งของมนุษย์ สัตว์ หรือวัตถุ

(๒) เพลงรับร้อง

บางทีก็เรียกว่า เพลงเสภา เพราะเพลงประเภทนี้ใช้บรรเลงประกอบการขับเสภามาก่อน เพลงประเภทรับร้องนี้ มีทั้งเพลงพื้น เพลงกรอ และเพลงลูกล้อลูกขัด ที่เรียกว่าเพลงรับร้องก็ด้วย บรรเลงรับจากการร้อง คือ เมื่อคนร้องได้ร้องจบไปแล้วแต่ละท่อน ดนตรีก็ต้องบรรเลงรับในท่อน นั้นๆ โดยมากมักเป็นเพลงอัตรา ๓ ชั้นและเพลงเถา เช่น เพลงจระเข้หางยาว ๓ ชั้น เพลงสี่บท ๓ ชั้น และเพลงบุหลันเถา เป็นต้น

(๓) เพลงละคร

หมายถึงเพลงที่บรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร และมหรสพต่างๆ ความจริงการ แสดงโขนละครนี้ ก็จะต้องมีเพลงหน้าพาทย์ด้วย แต่เพลงหน้าพาทย์ได้แยกไปอธิบายอยู่ส่วนหนึ่ง แล้ว เพลงละครในที่นี้จึงหมายเฉพาะเพลงที่มีรัองและดนตรีรับเท่านั้น เพลงละครได้แก่เพลง อัตรา ๒ ชั้น เช่น เพลงเวสสุกรรม เพลงพญาโศก หรือชั้นเดียว เช่น เพลงนาคราช เพลงตะลุ่ม- โปง เป็นต้น กับเพลงจำพวกพิเศษที่ใช้เฉพาะละครแท้ๆ เช่น เพลงช้าปี่ เพลงโอ้ปี่ เพลงโอ้ ชาตรี เพลงโอ้โลม เพลงชมตลาด เป็นต้น
เพลงที่ใช้ร้องประกอบละคร หรือมหรสพอื่นๆ จะต้องใช้ให้ถูกอารมณ์ของตัวละคร เช่น
เพลงพญาโศก เพลงสร้อยเพลง ใช้ในอารมณ์โศกอยู่กับที่
เพลงทยอย เพลงโอ้ร่าย ใช้ในอารมณ์โศกเมื่อเดินหรือเคลื่อนที่ไป
เพลงลิงโลด ใช้ในอารมณ์โกรธ
เพลงชมโฉม ใช้ในเวลาชมรูปร่างคนที่เราพอใจ
เพลงโอ้โลม เพลงโอ้ชาตรี ใช้เวลาเกี้ยวพาราสี
เพลงโอ้ป ใช้เวลาครวญคร่ำรำพันด้วยความโศก
เพลงเย้ย ใช้เวลาเยาะเย้ย
(๔) เพลงเบ็ดเตล็ด
ได้แก่ เพลงเล็กๆ สั้นๆ สำหรับใช้บรรเลงเป็นพิเศษ เช่น บรรเลงต่อท้ายเพลงใหญ่เป็น เพลงลูกบท หรือเพลงภาษาต่างๆ ซึ่งบรรเลงเพื่อสนุกสนาน

เพลงภาษานั้น ก็คือเพลงที่มีสำเนียงภาษาต่างๆ เช่น เพลงจีน เพลงเขมร เพลงญวน เพลงฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งมีทั้งเอาเพลงของชาตินั้นจริงมาบรรเลง และเพลงที่ไทยเราแต่งขึ้นโดย เลียนสำเนียงภาษานั้นๆ

๓. การบรรเลงดนตรีไทย

การบรรเลงดนตรีไทยนั้น ผู้บรรเลงต้องจำทำนองเนื้อเพลงได้อย่างแม่นยำอย่างหนึ่ง รู้วิธี บรรเลงและหน้าที่ของเครื่องดนตรีที่ตนบรรเลง เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ว่ามีอย่างไร (ดูหัวข้อ การผสมวง) และมีสติปัญญาแต่งทำนองให้เกิดความไพเราะอีกอย่างหนึ่งเพราะการบรรเลงดนตรี ไทยไม่ได้ดูโน๊ต จึงต้องใช้ความจำ ในขณะที่บรรเลง ผู้บรรเลงจะต้องแต่งทำนองด้วยปัญญาของ ตน ให้ดำเนินไปตามวิธีการบรรเลงเครื่องดนตรีที่ตนบรรเลง เช่น ระนาดเอก ก็ต้องเก็บถี่ๆ ตีเป็น คู่ ๘ พร้อมๆ กันทั้งสองมือ และต้องไม่ให้ผิดไปจากเนื้อเพลงของเพลงนั้นด้วย

การบรรเลงหมู่คือ บรรเลงพร้อมๆ กันทั้งวง ก็ต้องถือจังหวะช้าเร็วอันเดียวกัน ทุกคน ต่างบรรเลงตามหน้าที่ของตนให้สอดคล้องต้องกัน โดยถือความพร้อมเพรียงเป็นใหญ่ แต่ถ้าเป็น การบรรเลงเดี่ยว คือ บรรเลงคนเดียว จะบรรเลงโลดโผนอวดฝีมือความสามารถอย่างไรก็ได้ เพราะการบรรเลงเดี่ยวเป็นเรื่องอวดความแม่นยำ อวดฝีมือ และอวดทำนองที่แต่งขึ้นไว้เป็นพิเศษ สำหรับเดี่ยวนั้น

๔. เรื่องเบ็ดเตล็ด

ศัพท์สังคีต

ศัพท์สังคีต คือ ภาษาเฉพาะที่ใช้พูดกันในวงการดนตรีไทย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหมายความ ถึงอะไร หรือให้ปฏิบัติอย่างไร จะนำมาอธิบายเฉพาะคำที่มีกล่าวไว้ในบทข้างต้น ดังต่อไปนี้

กรอ

๑. เป็นวิธีบรรเลงของเครื่องดนตรีประเภทตี (เช่น ระนาด ฆ้องวง) อย่างหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีตี ๒ มือ สลับกันถี่ๆ โดยใช้มือซ้ายกับมือขวาตีมือละเสียง เป็นคู่ ๒ คู่ ๓ คู่ ๔ คู่ ๕ คู่ ๖ และคู่ ๘

๒. เป็นคำเรียกการดำเนินทำนองเพลงที่ใช้เสียงยาวๆ ช้าๆ เพลงที่ดำเนิน ทำนองอย่างนี้เรียกว่า "ทางกรอ" ที่เรียกอย่างนี้ก็ด้วยทำนองที่มีเสียงยาวๆ นั้น เครื่องดนตรีประเภทตี ต้องตีกรอ (ดังข้อ ๑) เพราะไม่สามารถจะทำเสียงยาว อย่างพวกเครื่องสีเครื่องเป่าได้

เก็บ ได้แก่ การบรรเลงที่สอดแทรกเสียงให้มีพยางค์ถี่ขึ้นกว่าเนื้อเพลงธรรมดา เช่น เนื้อเพลงเดินทำนองห่างๆ ได้ ๔ พยางค์ การเก็บก็จะแทรกแซงถี่ขึ้นเป็น ๑๖ พยางค์ ซึ่งมีความยาวเท่ากัน (ดูโน๊ตเปรียบเทียบกับเนื้อเพลงที่คำว่าเนื้อ)

คู่ หมายถึง ๒ เสียงและเสียงทั้งสองนี้จะบรรเลงพร้อมกันก็ได้หรือคนละทีก็ได้ เสียงทั้งสองห่างกันเท่าใดก็เรียกว่าคู่เท่านั้น แต่การนับจะต้องนับเสียงที่ดังทั้ง สองรวมอยู่ด้วยกัน เช่น เสียงหนึ่งอยู่ที่อักษร บ อีกเสียงหนึ่งอยู่ที่อักษร พ การนับก็ต้องนับ บ เป็น ๑ แล้ว ป เป็น ๒ ๓ผ ๔ฝ และ ๕พ คู่เช่นนี้ ก็เรียกว่า "คู่ ๕"

จังหวะ หมายถึง การแบ่งส่วนย่อยของทำนองเพลง ซึ่งดำเนินไปโดยสม่ำเสมอ ทุกๆ ระยะที่แบ่งนี้ คือ จังหวะ

จังหวะที่ใช้ในการบรรเลงดนตรีไทย แยกออกได้เป็น ๓ อย่าง คือ

๑. การแบ่งระยะที่มีความรู้สึกอยู่ในใจ แม้จะไม่มีสัญญาณอะไรตีเป็นที่หมายก็ มีความรู้สึกแบ่งระยะได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะกำหนดแบ่งระยะถี่หรือห่างอย่างไร ก็แล้วแต่ถนัด อย่างนี้เรียกว่า "จังหวะสามัญ" หรือจังหวะทั่วไป

๒. การกำหนดแบ่งระยะนั้น ใช้เสียงฉิ่งที่ตีเป็นที่หมาย เสียงที่ตีดัง "ฉิ่ง" เป็น จังหวะเบา และเสียงที่ตีดัง "ฉับ" เป็นจังหวะหนัก ซึ่งจังหวะหนักเป็นสำคัญ กว่าจังหวะเบา

๓. กำหนดเอาเสียงตีของตะโพน หรือสองหน้า หรือกลองแขกซึ่งเรียกว่า "หน้าทับ" เป็นที่หมายเมื่อตะโพนหรือสองหน้าหรือกลองแขกตีไปจบกระบวน ครั้งหนึ่ง ก็กำหนดว่าเป็นจังหวะหนึ่ง ตีจบไป ๒ ครั้งก็ถือว่าเป็น ๒ จังหวะ ตีจบไปกี่ครั้งก็ถือว่าเป็นเท่านั้นจังหวะ จังหวะอย่างนี้เรียกว่า "จังหวะหน้าทับ"

ตับ หมายถึง เพลงหลายๆ เพลง ที่นำมาร้องหรือบรรเลง ติดต่อกันไป เหมือนอย่าง ปลาหลายๆ ตัว เอาไม้คาบให้เรียงติดกัน ก็เรียกว่า ตับ หรือใบจากหลายๆ ใบนำมาเย็บให้เรียงติดกัน ก็เรียกว่า ตับจาก เพลงที่เรียงติดต่อกันเป็นตับนี้ ยังแยกออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ

๑. ตับเพลง ได้แก่ เพลงที่นำมาร้องหรือบรรเลงติดต่อกันนั้น ต้องเป็นเพลง อัตราเดียวกัน ๒ ชั้นก็ ๒ ชั้นทุกเพลง หรือ ๓ ชั้นก็ ๓ ชั้นทุกๆ เพลง และ ทำนองที่ติดต่อกันได้สนิทสนม ส่วนใจความของบทร้องอาจเป็นคนละเรื่องหรือ คนละตอนก็ได้ ไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญ

๒. ตับเรื่อง เพลงที่นำมารวมร้องหรือบรรเลงติดต่อกันนั้น ต้องมีบทร้องเป็น เรื่องเดียวกัน และดำเนินไปโดยลำดับ ฟังได้ความเป็นเรื่องเป็นราว ส่วน ทำนองเพลงจะเป็นชั้นเดียว ๒ ชั้น หรือจะลักลั่นกันอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ถือ เป็นสิ่งสำคัญ

เถา คือเพลงที่เป็นเพลงเดียวกัน แต่มีอัตราลดหลั่นกันตามลำดับเช่น ๓ ชั้น ๒ ชั้น และชั้นเดียว อัตราที่ลดหลั่นกันนี้ต้องไม่น้อยกว่า ๓ อันดับ และต้องร้องหรือ บรรเลงติดต่อกัน โดยไม่เว้นระยะหรือมีเพลงอื่นมาแทรก เหมือนชามรูปเดียว กัน ๓ ขนาด มีใหญ่ กลาง และเล็ก นำมาซ้อนกัน หรือวางเรียงกัน ก็เรียกว่า เถา หรือ ๓ ใบเถา

ทาง คำนี้มีความหมายแยกได้เป็น ๓ ประการคือ

๑. หมายถึงวิธีดำเนินทำนองโดยเฉพาะของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เช่น ทางระนาดเอก ทาง ระนาดทุ้ม ทางซอด้วง ทางจะเข้ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีวิธีดำเนิน ทำนองของตนต่างๆ กัน (ดูโน๊ตเปรียบเทียบกับเนื้อเพลงที่คำว่าเนื้อ)

๒. หมายถึงวิธีดำเนินทำนองของเพลงที่แต่งขึ้นโดยเฉพาะ เช่น ทางของครูคน นั้น ทางของครูคนนี้ หรือทางเดี่ยว ทางหมู่ และทางกรอ เป็นต้น

๓. หมายถึงระดับเสียงที่บรรเลง ซึ่งแต่ละทางเป็นคนละเสียง และมีชื่อเรียก ทำนอง ได้แก่ เสียงสูงๆ ต่ำๆ ซึ่งสลับสับสนกัน และมีความสั้น ยาว หนัก เบา ต่างๆ แล้วแต่ความประสงค์ของผู้แต่ง

เนื้อ คำนี้แยกความหมายออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ

๑. หมายถึง บทประพันธ์ที่เป็นถ้อยคำสำหรับร้อง ซึ่งเรียกเต็มๆ ให้ได้ความ หมายชัดเจนขึ้นว่า "เนื้อร้อง"

๒. หมายถึง ทำนองเพลงที่เป็นเนื้อแท้ คือ ทำนอง ที่มิได้ตกแต่งพลิกแพลงออก ไป ถ้าจะเรียกเต็มๆ ให้ได้ความหมายชัดเจนก็ต้องเรียกว่า "เนื้อเพลง" การ ตีฆ้องวงใหญ่ในวงปี่พาทย์โดยปกตินั้น คือ "เนื้อ" (หรือเนื้อเพลง) ส่วนระนาด เอก หรือระนาดทุ้ม หรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ซึ่งดำเนินทำนองพลิกแพลงออกไป ตามวิธีการของเครื่องดนตรีชนิดนั้นๆ เปรียบเสมือนหนังที่หุ้มห่อไปตามรูป ของเนื้อ

เพี้ยน ได้แก่ เสียงที่ไม่ตรงกับระดับที่ถูกต้อง เพี้ยนก็คือผิด แต่เป็นการผิดเพียงเล็ก น้อย ไม่ว่าเสียงร้องหรือเสียงดนตรี ถ้าหากว่าไม่ตรงกับระดับเสียงที่ถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะสูงไปหรือต่ำไป แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็เรียกว่า "เพี้ยน" ทั้งสิ้น

ลูกล้อลูกขัด เป็นวิธีการบรรเลงทำนองอย่างหนึ่ง ที่แบ่งเครื่องดนตรีออกเป็น ๒ พวก และผลัดกันบรรเลงคนละที พวกหนึ่งบรรเลงก่อนเรียกว่า พวกหน้า อีกพวก หนึ่งบรรเลงที่หลังเรียกว่า พวกหลัง ทำนองที่ผลัดกันบรรเลงนี้ จะเป็นวรรค สั้นๆ หรือยาวๆ ก็ได้ แต่ถ้าเมื่อพวกหน้าบรรเลงไปแล้วเป็นทำนองอย่างใด พวกหลังก็บรรเลงเป็นทำนองอย่างเดียวกันเหมือนการพูดล้อเลียนตามกัน ก็ เรียกว่า "ลูกล้อ" ถ้าหากเมื่อพวกหน้าบรรเลงไปเป็นทำนองอย่างหนึ่ง แล้ว พวกหลังแยกทำนองบรรเลงไปเสียอีกอย่างหนึ่ง (ไม่เหมือนพวกหน้า) เหมือน พูดขัดกันก็เรียก "ลูกขัด" ถ้าเพลงใด มีบรรเลงทั้ง ๒ อย่างก็เรียกว่า "ลูก ล้อลูกขัด"

การฟังเพลงไทย

วงดนตรีแต่ละอย่าง ย่อมมีวิธีบรรเลงและเสียงของเครื่องดนตรีต่างกัน จึงต้องรู้จักวงดน- ตรีที่ฟังนั้นเสียก่อน วงปี่พาทย์ที่ตีด้วยไม้แข็ง ก็ย่อมมีเสียงแกร่งกร้าว มักบรรเลงค่อนข้างเร็ว และ โลดโผน วงปี่พาทย์ไม้นวม การบรรเลงก็จะต้องค่อนข้างช้า ไพเราะในทางนุ่มนวล วงมโหรีจะ ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนวงเครื่องสาย อาจมีได้ทั้งรุกเร้า รวดเร็ว และไพเราะนุ่มนวล เมื่อรู้เช่นนี้ ขณะฟังวงอะไรบรรเลงก็ฟังโดยทำใจให้เป็นไปตามลักษณะของวงชนิดนั้น

การฟังเพลง สิ่งสำคัญก็อยู่ที่ทำนอง เครื่องดนตรีที่บรรเลงทุกๆ อย่างย่อมมีทำนองของตัว จะต้องฟังดูว่า เครื่องดนตรีทุกๆ อย่างนั้น ดำเนินทำนองสอดคล้องกลมเกลียวกันดีหรือไม่ และต่าง ทำถูกตามหน้าที่ (ดังที่กล่าวมาในเรื่องผสมวง) หรือไม่ เช่น ซออู้ทำหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้าหรือเปล่า หรือ ฆ้องวงเล็ก ตีสอดแทรกทางเสียงสูงดีหรือไม่ เป็นต้น เมื่อสังเกตการบรรเลงอย่างนั้นแล้ว จึงทำอารมณ์ให้เป็นไปตามอารมณ์ของเพลง เพราะทำนองเพลงย่อมแสดงอารมณ์โศก รัก รื่นเริง หรือขับกล่อมให้เพลิดเพลิน เพลงอารมณ์โศก และรัก มักจะมีจังหวะช้าๆ และเสียงยาว เพลง รื่นเริง มักจะมีจังหวะค่อนข้างเร็ว และเสียงสั้น ส่วนเพลงขับกล่อม ก็มักจะเป็นพื้นๆ เรียบๆ สม่ำเสมอ ทั้งนี้จะต้องสังเกตด้วยเสียงของทำนองที่มาสู่อารมณ์เราด้วย ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อฟัง เพลงในอารมณ์ใด ก็ตั้งใจฟังไปในอารมณ์นั้น ก็จะได้รสไพเราะจากการฟังได้อย่างแท้จริง การบรรเลงดนตรีไทยประกอบงาน

การที่จะมีดนตรีบรรเลงประกอบในงานที่จะจัดให้มีขึ้นนั้น ก็ควรจะยึดถือแบบแผนที่สมัย โบราณได้เคยใช้กันมาจนเป็นประเพณีไปแล้ว คือ

งานที่มีพระสงฆ์สวดมนต์และฉันอาหาร เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิด หรืองาน ที่ต้องการให้ผู้อื่นร่วมอนุโมทนา เช่น งานบวชพระ งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น ควรใช้ วงปี่พาทย์ จะเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ก็แล้วแต่เห็นสมควร

งานแต่งงาน หรือที่เรียกกันว่างานมงคลสมรส ควรใช้วงมโหรีหรือวงเครื่องสาย

งานศพ ถ้าจะใช้ดนตรีไทย ควรใช้วงปี่พาทย์นางหงส์ แต่สมัยปัจจุบันนี้มักจะใช้วงปี่พาทย์ มอญ (วงปี่พาทย์ของมอญมีฆ้องเป็นวงโค้งขึ้น) กันโดยมาก แต่อยู่นอกเรื่องดนตรีไทย จึงมิได้ กล่าวถึง

งานพิเศษที่จัดขึ้นเฉพาะครั้งคราว เช่น รับแขกผู้มีเกียรติ ชุมนุมเพื่อกิจการหรือสมาคม อาจใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม หรือมโหรี หรือเครื่องสาย ก็ได้ทั้งนั้น แล้วแต่เจ้าของงานจะพอใจ แต่ ถ้าเป็นการบรรเลงประกอบการแสดง เช่น โขน ละคร ระบำ ก็จะต้องใช้วงปี่พาทย์

ที่มา

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเล่ม 1. ดนตรีไทย.

ค้นเมื่อ ธันวาคม 5, 2553, จาก
http://202.129.0.133/ThaiEncyclopedia/

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:September 2010


Send comments to Chumpot@hotmail.com