ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

แกะรอย "แท็บเล็ต" คุ้มหรือไม่คุ้ม

โครงการสมาร์ทคลาสรูม (Smart Classroom) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดินหน้า ในขณะเดียวกันก็เป็นการปิดฉากนโยบายประชานิยม "1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน" หรือ "One Tablet Per Child (OTPC)"

โครงการแจกแท็บเล็ตเริ่มต้นขึ้นภายใต้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียนทั่วประเทศตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554

ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดถึงความคุ้มค่าของงบประมาณหลายพันล้านบาทที่ต้องจัดซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน แม้จะมีเสียงคัดค้าน แต่ที่สุดก็มีการผลักดันจนเกิดโครงการดังกล่าวขึ้นในปีงบประมาณ 2555 ในสมัย นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยได้จัดซื้อแท็บเล็ตจาก บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก เดเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในราคาเครื่องละ 82 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,674 บาท รวมค่าขนส่ง แจกให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนทุกสังกัดจำนวน 856,886 เครื่อง วงเงินเกือบ 2,000 ล้านบาท

ประกอบด้วย โรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 564,723 เครื่อง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 183,360 เครื่อง โรงเรียนสาธิตในกำกับมหาวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวน 3,845 เครื่อง โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 46,575 เครื่อง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1,881 เครื่อง เมืองพัทยา 1,557 เครื่อง และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 54,945 เครื่อง

การบริหารจัดการโครงการแท็บเล็ตมีปัญหาตั้งแต่ปีแรก เช่น การจัดส่งไปยังโรงเรียนล่าช้ากว่ากำหนด แท็บเล็ตมีปัญหาพังหรือเสีย โรงเรียนที่ได้รับแจกแท็บเล็ตในพื้นที่ห่างไกลยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ตลอดจนศูนย์ซ่อมก็มีไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด

อย่างไรก็ตาม บริษัท เสิ่นเจิ้นฯ ได้แก้ไขปัญหาด้วยการจัดส่งเครื่องใหม่เปลี่ยน ทำให้ลดเสียงบ่นลงไปได้มาก

นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่า เนื้อหาที่บรรจุลงในแท็บเล็ตยังไม่สามารถตอบโจทย์ของทุกโรงเรียนที่เด็กมีศักยภาพแตกต่างกันได้ ตลอดจนความไม่พร้อมของครูที่จะนำแท็บเล็ตไปใช้ในการเรียนการสอน จนช่วงแรกเกิดปัญหาว่าเด็กนำแท็บเล็ตไปใช้เพื่อการเล่นเกมมากกว่าการเรียนการสอน

และที่สำคัญคือ เป็นภาระของผู้ปกครองที่ต้องชดใช้เงินในกรณีที่แท็บเล็ตสูญหาย

เข้าสู่ปีที่สองในปี 2556 มีปัญหาชวนปวดหัว เมื่อการจัดซื้อจัดจ้างแท็บเล็ตคราวนี้เปิดโอกาสให้ตลาดภายในประเทศไทยเข้ามาแข่งขันประกวดราคาแท็บเล็ตชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 วงเงินจำนวน 4,611 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณปีแรกเท่ากับใช้งบประมาณไปมากกว่า 6,000 ล้านบาท โดยรอบนี้ได้กำหนดราคากลางที่ 82 ดอลลาร์สหรัฐต่อเครื่อง หรือประมาณ 2,770 บาทเท่ากับปีแรก ซึ่ง สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแทนโรงเรียนทั้งหมดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ออคชั่น ที่แบ่งออกเป็น 4 โซน

ได้แก่ โซนที่ 1 เป็นการจัดซื้อแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 431,105 เครื่อง โซนที่ 2 นักเรียนชั้น ป.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 373,637 เครื่อง โซนที่ 3 นักเรียนชั้น ม.1 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 426,683 เครื่อง และโซนที่ 4 นักเรียนชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 402,889 เครื่อง

ผลการอี-ออคชั่น ปรากฏว่า บริษัท เสิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจนท์ คอนโทรล จำกัด (มหาชน) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ชนะการประกวดราคาในโซนที่ 1 และ 2 ด้วยวงเงิน 30,605,600 บาท และ 786,000,000 บาท ตามลำดับ ส่วนโซน 3 บริษัท สุพรีม ดิสทริบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 1,240,900,000 บาท ส่วนโซน 4 ที่เปิดประมูลครั้งแรกไม่มีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจนต้องเปิดประมูลรอบใหม่ และต่อมาบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลที่ราคา 873,866,241 บาท

แต่ก็เกิดปัญหาการบริหารจัดการที่ล่าช้าข้ามปีจนเด็กชั้น ป.1 ที่ควรจะต้องได้รับแท็บเล็ตได้เลื่อนชั้นขึ้น ป.2 ไปแล้ว เนื่องจาก สพฐ.ต้องยกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโซนที่ 1 เพราะบริษัทที่ชนะการประมูลไม่สามารถจัดส่งเครื่องได้ตามสัญญา

ส่วนโซนที่ 3 มีปัญหาส่อฮั้วประมูลจนต้องมีการยื่นอุทธรณ์ร้องทุกข์และตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลังนานหลายเดือนจนทำให้กระบวนการต่างๆ หยุดชะงัก กว่าจะทยอยส่งเครื่องให้นักเรียนก็ล่าช้าไปหลายเดือนเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับโซนที่ 4 ต้องยกเลิกสัญญาเช่นเดียวกัน เพราะบริษัทที่ชนะการประมูลไม่สามารถจัดส่งแท็บเล็ตได้ตามเวลาที่กำหนด

แต่ทั้งหมดเป็นปัญหาความล่าช้าในการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดส่ง และการที่ สพฐ.ต้องยกเลิกสัญญา น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจยกเลิกโครงการแจกแท็บเล็ตที่เหลือโซนที่ 4 และของปีงบประมาณ 2557 ทั้งหมด

แต่สิ่งที่พึงประเมินควบคู่คือความคุ้มค่ากับเด็ก

ผลวิจัยและการติดตามผลการใช้แท็บเล็ตของหน่วยงานต่างๆ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า การแจกแท็บเล็ตให้เด็กทุกคนไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป

ตรงกันข้าม หากนำงบประมาณไปทำโครงการอื่นๆ เช่น สมาร์ทคลาสรูม อี-เลิร์นนิ่ง ซึ่งเป็นห้องคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนให้นักเรียนหมุนเวียนมาใช้ จะเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า

ผลการวิจัยระบุว่า นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องมีแท็บเล็ตเป็นของตนเองเพราะใช้แท็บเล็ตเรียนเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ดังนั้นการแจกแท็บเล็ตให้เด็กทุกคนจึงถือว่าไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสม

ขณะที่คุณภาพของเครื่อง เนื่องจากมีราคาถูก ทำให้แท็บเล็ตมีคุณภาพต่ำ อายุใช้งานสั้นเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น เพราะไม่คุ้มค่ากับการซ่อม

ผลของการติดตามโครงการแท็บเล็ตปี 2555 ของนายวัชรินทร์ จำปี ผู้ตรวจราชการ ศธ.ประจำเขตตรวจราชการ 17-18 ในพื้นที่จังหวัดเหนือ ระบุว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะระดับโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีความพร้อมรองรับเพียงพอ จะมีปัญหาในการใช้แท็บเล็ตค่อนข้างมาก เพราะเด็กเล็กยังไม่มีความสามารถในการเก็บรักษาดูแลเครื่อง ขณะที่ยังมีปัญหาขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูไอซีที ทำให้ไม่มีครูเชี่ยวชาญด้านไอซีทีมาสอนเด็กรวมถึงมาทำหน้าที่ดูแลรักษาเครื่อง

นอกจากนี้ แบตเตอรี่ไม่สามารถเก็บไฟได้นาน เสื่อมเร็ว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนจำนวนมากที่ยังไม่มีความพร้อมรองรับเพียงพอ ทั้งไม่มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ไม่สามารถใช้งานแท็บเล็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียนชั้น ป.1 ที่สำนักติดตามและประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.ได้สอบถามไปยังโรงเรียนที่ได้รับแท็บเล็ตจำนวน 20,700 แห่ง ครอบคลุมนักเรียน 432,248 คน พบว่า ครูใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 วัน วันละประมาณ 55 นาที ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทยมากที่สุด

ตามด้วยสังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ตามลำดับ โดยครูผู้สอนเห็นว่าแท็บเล็ตส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอน 89% ช่วยให้กระตือรือร้น ตั้งใจเรียน 83.68% ปลูกฝังนิสัยการรักสะอาด 61.18%

การสำรวจในครั้งนี้ยังได้สำรวจความสนใจของนักเรียนเมื่อใช้แท็บเล็ตเมื่ออยู่ตามลำพัง พบว่า สนใจเข้าไปใช้สื่อผสม (Multimedia) มากที่สุด 56% รองลงมาเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) และบทเรียน 5 กลุ่มสาระวิชา

ทางด้านผู้ปกครอง พบว่า ผู้ปกครอง 86.1% เชื่อว่าการใช้แท็บเล็ตจะส่งผลดีต่อการศึกษาของเด็ก และผู้ปกครอง 93.9% เชื่อว่าแท็บเล็ตช่วยให้เด็กไทยก้าวทันเทคโนโลยี ส่วนผู้ปกครอง 82% เชื่อว่าแท็บเล็ตจะช่วยให้เด็กไทยรู้จักค้นคว้าหาความรู้ และช่วยให้เด็กไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้ดี 66.8%

ส่วนผู้บริหารโรงเรียนเห็นว่า แท็บเล็ตจะส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอน 91.52% เป็นวิธีการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา 85% และจะช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาหรือมีการพัฒนาขึ้น 77.50%

จากวิจัยที่ปรากฏสามารถจำแนกได้ว่า ผู้บริหารส่วนกลางเห็นว่าแทบเล็ตไม่คุ้มค่ากับการใช้งบประมาณ แต่สำหรับครู นักเรียน และผู้ปกครองแล้ว กลับเห็นเป็นตรงกันข้าม แกะรอย "แท็บเล็ต" คุ้มหรือไม่คุ้ม. (กรกฎาคม 7, 2557). มติชน, หน้า 6.

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC.
Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are
registered trademarks of OCLC
Revised:March 2013


Send comments to wachum49@hotmail.com