ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

370.27 รวมข่าวทางการศึกษา
ประธานสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โพสต์ไม่เห็นด้วยแยกวิชาปวศ.-หน้าที่พลเมือง

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนนายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Athapol Anunthavorasakul แสดงความเห็นโต้แย้งแนวคิดที่จะแยกวิชาประวัติศาสตร์และ หน้าที่พลเมืองออกจากชุดวิชาสังคมศึกษามีเนื้อหาดังนี้

สำหรับท่านที่สงสัยว่าทำไมผมจึงไม่เห็นด้วย กับการแยกวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ออกจากชุดวิชาเดิมคือสังคมศึกษาผมขอชี้แจงยาว ๆ ดังนี้

1 หากการแยกรายวิชาเป็นไปตามแนวคิดร่วมสมัย ในการจัดการศึกษาคงไม่มีใครว่า แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาดังกล่าว ทั้งนักวิชาการภายนอกและภายในศธ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายส่วนงาน ก็เห็นไปทิศทางเดียวกันว่าไม่สมควรดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน ควรเน้นการเชื่อมโยงหลอมหลวมและบูรณาการความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เป็นการศึกษาภาคบังคับ ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาใหม่นั่นคือการเพิ่มเวลาเรียน เพิ่มการแยกส่วนเนื้อหาสาระมากขึ้นโดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากแนวคิดทางการศึกษาใดๆ และ ไม่ได้มีพื้นฐานจากข้อมูลหรือเหตุผลทางวิชาการ แต่อาศัยประสบการณ์และมุมมองส่วนบุคคล โดยไม่มีการรับฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอนและเด็กนักเรียน ที่จะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

2 การกำหนดแนวทางการทำงานระดับนโยบายการจัดการศึกษาในครั้งนี้ ไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันแม้แต่น้อย ขณะที่นักการศึกษาหัวก้าวหน้านักการศึกษาทางเลือก ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านที่สนใจจะเข้ามาพัฒนางานการศึกษา ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มนายจ้าง กำลังต้องการยกระดับเชิงคุณภาพในการจัดการศึกษา ลดเวลาเรียน ลดสาระความรู้ที่มากเกินไปและไม่จำเป็น ส่งเสริมแนวทางการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ ฯลฯ

การประกาศนโยบายเรียนวิชาใหม่เหมือนกันทั้งประเทศที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ ในการนำมาใช้กลางปี??การศึกษา เพื่อจะเริ่มต้นใช้ในภาคการศึกษาปลาย ในอีกไม่ถึง 4 เดือน โดยจะต้องเร่งทำเอกสารหลักสูตรให้เสร็จ ฝึกอบรมครูผู้สอนให้ใช้เอกสารหลักสูตรและชุดกิจกรรมในเวลาเร่งด่วนเช่นนี้ จึงชวนให้เกิดคำถามอย่างมากว่าเราจะยกระดับคุณภาพการศึกษา หรือซ้ำเติมคุณภาพที่ถูกตั้งคำถามอยู่ให้ถดถอยลงกันแน่

3 การประกาศให้การแยกวิชาใหม่จากเนื้อหาสาระเดิม กำหนดจำนวนคาบมา??ให้เป็นโจทย์ว่าละ 1 คาบสัปดาห์ ในส่วนวิชาเพิ่มเติม ทำให้ต้องพิจารณากันว่าเดิมจำนวนคาบเหล่านี้ เคยได้รับการกระจายหน้าที่รับผิดชอบอย่างหลากหลายในแต่ละโรงเรียน ที่สามารถจัดรายวิชาแตกต่างกันไปตามบริบทและความต้องการของโรงเรียนเช่น เน้นการพัฒนาทักษะภาษาไทยสำหรับชั้นเด็กเล็ก ในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องระดับความสามารถทางภาษาของเด็ก การเน้นวิชาภาษาต่างประเทศโรงเรียนที่เน้นวิชาเฉพาะเช่นวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ดนตรี - ศิลปะพลศึกษา

เราจะเพิ่มวิชาใหม่นี้เข้าโดยลดทอนจำนวนชั่วโมงเรียนเดิมที่จัดเต็มแน่นอยู่แล้ว หรือเพิ่มเข้าไปให้จำนวนชั่วโมงเรียนของเด็ก ๆ เพิ่มขึ้นอีก?

ใครคือผู้รับผิดชอบรายวิชาใหม่นี้ หากเป็นไปตามการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา รายวิชาใหม่นี้จะเน้นการพัฒนาทักษะและคุณลักษณะ ที่ครูทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอน

หากโรงเรียนนั้นมีจำนวนห้องเรียนระดับชั้นละ 6 - 12 ห้องเรียนต่อระดับชั้นและ เปิดสอน 6 ระดับชั้นการเพิ่มชม. เรียนต่อ ๆ ละ 1 คาบสัปดาห์ นั่นเท่ากับจะมีภาระงานสอนของครูเพิ่มขึ้นทั้ง ร.ร. อยู่ที่ 36-72 คาบเรียน

แต่หากวิชาใหม่นี้เป็นการแยกเนื้อหาสาระจากกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ เดิมออกมา ผู้รับผิดชอบหลักก็คงไม่พ้นครูสังคมศึกษาในโรงเรียนที่อยู่ๆ ก็จะมีการเพิ่มจำนวนชั่วโมงสอนขึ้นในภาคปลาย ขณะที่ภาระงานในปัจจุบันของครูโรงเรียนสังกัด สพฐ อยู่ที่ 20-24 คาบเรียนขึ้นไปต่อคนอยู่แล้ว การเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนมากถึง 36-72 คาบ ให้กับครุกลุ่มสาระการเรียนรู้เดี่ยวจำนวน 10-20 คนต่อโรง ตามขนาดของโรงเรียน เท่ากับเพิ่มชม.สอนต่อคนอีกอย่างน้อย 3-4 คาบเรียน

เรายังใช้งานครูน้อยไปอีกหรือครับ

4 หากมีการแยกวิชาใหม่นี้ จำนวนชั่วโมงสังคมศึกษาเดิมจะลดหายลงไปหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเดิมเรียนสังคมศึกษาจำนวน 160 คาบเรียน / ปีการศึกษา (วิชาภาษาไทย - คณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์กำหนดให้เรียนวิชาละ 120 คาบ / ปีการศึกษา) หากแยกประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองออกมาอย่างละ 40 ชั่วโมงเรียน จะเหลือชม.เรียนวิชาสังคมหลักเดิมอยู่เพียง 80 ชั่วโมง แต่ต้องครอบคลุมทั้งภูมิศาสตร์เศรษฐศาสตร์พุทธศาสนาและศาสนาสากลและ ในทางปฏิบัติ โรงเรียนส่วนใหญ่ได้แยกจัดสอนวิชาพุทธศาสนา แยกอยู่แล้วจำนวน 40 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา จึงเท่ากับเหลือเวลาเรียนภูมิศาสตร์ - เศรษฐศาสตร์และศาสนาสากล รวมกันเพียงสัปดาห์ละ 1 คาบหรือ 40 ชม ต่อปีการศึกษา

ทั้งที่เราได้เห็นแล้วว่าความรู้และทักษะในเรื่องภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม การเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องภูมิอากาศ ภัยพิบัติ ประเด็นร่วมสมัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ การเป็นผู้ผลิต-ผู้บริโภคที่ฉลาดเและเท่าทัน การรู้เรื่องการเงินการออมการลงทุนปรัชญาและแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสนาสากลและจริยธรรมสากล ฯลฯ ล้วนแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

การแยกรายวิชาใหม่นั้น ไม่ว่าจะแยกโดยไม่ลดทอนชั่วโมงเรียนเดิม หรือแยกโดยเพิ่มชั่วโมงเข้าไปในหลักสูตร ก็ล้วนส่งผลต่อการปฏิบัติงานจริงของครูนับแสนคน และ จำนวนชั่วโมงเรียนของเด็ก ๆ นับล้านอย่างแน่นอน

ปัจจุบันเด็กไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับสูงมาก ทั้งประถมศึกษา (ไม่น้อยกว่า 1,000 ชม. ต่อปี) และมัธยมศึกษา (ไม่น้อยกว่า 1,200 ชม. ต่อปี) และ ในทางปฏิบัติก็เรียนกันมากกว่าที่กำหนดขั้นต่ำไว้ในหลักสูตรเสียอีก

การตัดสินใจในเรื่องที่จะกระทบต่อผู้คนจำนวนหลายล้าน ทั้งครูเด็กผู้ปกครอง จำเป็นอย่างยิ่งต้องพิจารณารอบคอบถึงผลกระทบที่จะตามมา

และคำถามที่สำคัญยิ่งก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประเด็น "หน้าที่ของพลเมือง" ในวันนี้ ปัญหาเร่งด่วนอยู่ที่เด็กหรือผู้ใหญ่ในสังคม

เราเชื่อจริงๆหรือว่าการที่เด็ก ๆ เรียนวิชาใหม่นี้เพิ่มขึ้นจากหลักสูตรเดิม 1 คาบเรียน / สัปดาห์ จะทำให้มีความเป็นพลเมืองดีมากขึ้น หากว่าสิ่งที่เด็ก ๆ เรียนในห้องเรียน ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังทำให้เห็น ทั้งการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การปฏิบัติตามหน้าที่พลเมืองการเคารพกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน การเคารพในความหลากหลายของคนในสังคมและ การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น การใช้เหตุผลในการตัดสินใจร่วมกัน การใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การส่งเสริมให้พลเมืองมีความกระตือรือร้นและ มีส่วนร่วมรับผิดรับชอบในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐ ฯลฯ

จำเป็นแล้วหรือที่ต้องเร่งรีบดำเนินการเรื่องเหล่านี้เอากับเด็กๆ ในเวลาไม่กี่เดือนนี้ หรือแท้จริงแล้วเราคิดจะรอให้เด็ก ๆ เหล่านี้ร่ำเรียนจนจบการศึกษา ออกมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ผู้ใหญ่ในสังคมก่อไว้ โดยไม่จัดการกับรากเหง้าปัญหาที่แท้จริงอย่างจริงจังและเร่งด่วน นั่นคือผู้ใหญ่ทุกวันนี้ "เป็นตัวอย่างในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองดี" ให้เด็ก ๆ เห็นแล้วหรือยัง

เพราะนั่นต่างหากคือเป้าหมายแท้จริงของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพลอนันตวรสกุล ประธานสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะครุศาสตร์

 

All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC.
Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey
are registered trademarks of OCLC.
Revised:May 2014

Send comments to wachum49@hotmail.com