ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา

อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.น.บ., น.บ.ท.,ว.ว. (นิติเวชศาสตร์)

ศาสตราจารย์คลินิก เลขาธิการแพทยสภา

การทำแท้ง หรือการยุติตั้งครรภ์เป็นปัญหา ทั้งทางสังคม ทางการแพทย์ และทางกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน และหลากหลายในประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง. ล่าสุดได้มีข่าวใหญ่ที่ได้มีการจับกุมแพทย์คนหนึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการทำแท้งที่คลินิกส่วนตัว ซึ่งทันทีที่มีการจับกุม แพทยสภาก็ได้ดำเนินการตรวจสอบ และพิจารณาในเรื่องจริยธรรมของแพทย์ ดังกล่าวทันที.

การทำแท้งนั้นสามารถกระทำได้โดยถูกกฎหมาย ในบางกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือ ยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าว ในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของ หญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด

ขณะนี้มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เพิ่มจากเดิมอีก โดยได้บัญญัติให้ชัดเจนว่า สามารถกระทำได้เพื่อสุขภาพจิตของมารดา และ เพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยซึ่งเป็นกรณีที่หลายๆฝ่ายเห็นว่า ควรได้รับการยกเว้นให้กระทำได้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์แล้วมีปัญหา แต่ขณะที่กำลังรอร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ แพทยสภาก็ได้มีข้อบังคับของแพทยสภาในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วดังนี้

ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย

หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์

ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (3) (ฎ) และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการแพทยสภาออกข้อบังคับ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548"Ž

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น จะกระทำได้เมื่อหญิงตั้งครรภ์นั้นยินยอม

ข้อ 4 แพทย์ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย

ข้อ 5 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
(1) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ
(2) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะต้องได้รับการรับรอง หรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยหนึ่งคน

ในกรณีที่หญิงนั้นมีความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์ มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง เมื่อหญิงนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (Genetic counseling) และมีการลงนามรับรองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน ให้ถือว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นมีปัญหาสุขภาพจิตตาม (2)

ทั้งนี้ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิต และต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐาน

ข้อ 6 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ต้องมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า หญิงตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 305 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ข้อ 7 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อ 5 และข้อ 6 ต้องกระทำในสถานพยาบาลดังต่อไปนี้
(1) โรงพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน หรือสถานพยาบาลเวชกรรมที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ทั้งนี้โดยสามารถปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ได้ตามความเหมาะสม
(2) คลินิกเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล โดยสามารถปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่อายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์

ข้อ 8 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้จะต้องทำรายงานเสนอต่อแพทยสภา ตามเงื่อนไขและระยะเวลาในแบบฟอร์มที่แพทยสภากำหนด

ข้อ 9 ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่รักษามาตรฐานในระดับที่ดีที่สุด

ข้อ 10 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าได้กระทำตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548

นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

นายกแพทยสภา

ขอให้แพทย์ที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย โปรดปฏิบัติตามข้อบังคับของแพทยสภาโดยเคร่งครัด.

ที่มา
อำนาจ กุสลานันท์. (2555). ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา.

ค้นจาก http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_
content&view=article&id=493:2011-06-09-01-37-20&catid=40&Itemid=482

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:September 2012


Send comments to wachum49@hotmail.com