|
บัตรรายการ
บัตรรายการ
หนังสือในห้องสมุดไม่ได้จัดเรียงตามลำดับชื่อผู้แต่ง หรือชื่อหนังสือ หรือตามลำดับอักษรหัวเรื่อง แต่ห้องสมุดจัดเรียงหนังสือไว้บนชั้นตามลำดับเลขเรียกหนังสือ ดังนั้น ในการหาหนังสือผู้ใช้ต้องทราบเลขเรียกหนังสือก่อน
ความหมายของบัตรรายการ
บัตรรายการเป็นเครื่องมือช่วยค้นในรูปบัตรขนาด 3 x 5 นิ้ว ใช้บันทึกรายละเอียด
เกี่ยวกับบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศ ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ หรือผู้จัดพิมพ์ ปีที่พิมพ์ จำนวนหน้าหรือจำนวนเล่ม ภาพประกอบ ขนาดส่วนสูงของหนังสือ ชื่อชุดข้อความที่เป็นรายละเอียดอื่นๆ ที่ควรค่าแก่การบันทึก เช่น โอกาสในการจัดพิมพ์คำอธิบายเพิ่มเติมลักษณะพิเศษของหนังสือ เลขมาตรฐานสากล ประวัติหนังสือ เลขเรียกหนังสือ เลขสืบค้น และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้หลักฐานจัดเป็นเครื่องมือเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศที่ห้องสมุดส่วนใหญ่ในประเทศยังมีการใช้กันอยู่
การใช้บัตรรายการ
บัตรรายการเปรียบเสมือนดรรชนีของห้องสมุด คือ ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ใช้ทราบว่า ห้องสมุดมีหนังสืออะไรบ้าง หรือห้องสมุดมีหนังสือเล่มที่ต้องการหรือไม่ โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปดูหนังสือตามชั้นต่าง ๆ เพียงแต่ไปดูที่ดูบัตรรายการก็ทราบได้อย่างรวดเร็ว และหากเปิดไม่พบรายการที่ต้องการ ก็แสดงว่าไม่มีหนังสือเล่มที่ต้องการอยู่ในห้องสมุด
การค้นหาบัตรรายการนั้น ผู้อ่านเพียงแต่ทราบชื่อเรื่องหรือชื่อผู้แต่ง ชื่อผู้แปล หรือเพียงแต่ทราบว่าตนเองต้องการอ่านเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็สามารถค้นหาหนังสือได้โดยง่าย
การใช้บัตรรายการ มีหลักการใช้ โดยสรุปดังนี้
1. ใช้ลิ้นชักบัตรผู้แต่ง เมื่อทราบชื่อผู้แต่ง ผู้แปล บรรณานุกรม ผู้รวบรวมหรือผู้วาดภาพประกอบ ใช้ลิ้นชักบัตรชื่อเรื่อง เมื่อทราบชื่อหนังสือ หรือชื่อชุดของหนังสือ ถ้าไม่ทราบทั้งชื่อผู้แต่งและชื่อหนังสือ ให้คิดคำที่จะครอบคลุม เนื้อหาของหนังสือที่ต้องการ แล้วเปิดหาจากบัตรหัวเรื่อง
2. ผู้ใช้จะค้นบัตรที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว โดยดูจากป้ายหน้าลิ้นชักซึ่งมีตัวเลขบอกลำดับที่ของลิ้นชัก และมีตัวอักษรส่วนของคำเพื่อบอกให้ทราบว่าในลิ้นชักนั้นมีบัตรขึ้นต้นด้วยอักษรใด ภายในลิ้นชักยังมีบัตรแบ่งตอนคั่นอยู่เป็นระยะ ช่วยให้หาบัตรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
3. เมื่อพบบัตรรายการที่ต้องการ ขอให้บันทึกรายการที่ต้องการใช้ เช่น เลขเรียกหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ลงในกระดาษที่ห้องสมุดจัดไว้ให้ ห้ามดึงบัตรออกจากลิ้นชักบัตรโดยเด็ดขาด
4. เมื่อใช้บัตรรายการเสร็จแล้ว ขอให้นำลิ้นชักบัตรรายการเก็บเข้าตู้บัตร ให้ถูกต้องตามประเภทของบัตรรายการนั้น โดยเรียงหมายเลขประจำลิ้นชักบัตรรายการให้ถูกต้องตามลำดับ
การเข้าถึงรายการทรัพยากร สารสนเทศออนไลน์ (โอแพค - OPAC)
การสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศในระยะแรก ใช้บัตรรายการเป็นเครื่องมือช่วยค้น ซึ่งใช้สำหรับค้นหาทรัพยากรสารสนเทศที่มีให้บริการในห้องสมุดนั้น ๆ เท่านั้น แม้ว่าบางแห่งอาจมีการจัดทำ สหบัตรบรรณานุกรม (Union Catalog) เป็นบัตรรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีในห้องสมุดอื่น ๆ ไว้ให้บริการด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ทันสมัย และไม่สามารถบอกได้ว่า ทรัพยากรสารสนเทศนั้นมีตัวเล่มอยู่หรือไม่ ต้องเดินทางไปด้วยตนเอง ซึ่งใช้เวลาและมีค่าใช้จ่าย
ในปัจจุบันห้องสมุดได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการดำเนินงาน โดยเฉพาะโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ อาทิ VTLS , INNOPAC , TINLIB , Alice for Windows เป็นต้น ทำให้ห้องสมุดสามารถพัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศของตนเองได้ในแต่ละแห่ง ทั้งฐานข้อมูลรายการหนังสือ ตำรา สื่อโสตทัศน์ ฐานข้อมูลดรรชนีบทความ วารสาร ฐานข้อมูลบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ เป็นต้น และนำขึ้นไปเชื่อมต่อกับเครือข่าย ทั้งในระบบเครือข่ายภายในองค์กร สถาบันที่ให้บริการ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้สามารถค้นได้จากคอมพิวเตอร์แทนการใช้บัตรรายการ วิธีการนี้เรียกว่า การเข้าถึงรายการทรัพยากรสารสนเทศออนไลน์ (Online Public Access Catalog - OPAC) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า โอแพค
โอแพค (OPAC) เป็นเครื่องมือช่วยค้นข้อมูลบทางบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศที่มีให้บริการในห้องสมุด เช่นเดียวกับบัตรรายการ แต่สามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลห้องสมุดกับเครือข่ายอืนเทอร์เน็ต และมีการจัดทำเว๊บไซต์ของห้องสมุด ผู้ใช้สามารถค้นฐานข้อมูลบรรณานุกรมผ่านทางเว๊บไซต์
|
|