|
ประเภทของหนังสืออ้างอิง
หนังสืออ้างอิงแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. หนังสืออ้างอิงที่ให้คำตอบหรือข้อเท็จจริงโดยตรง หรือที่เรียกว่า สื่ออ้างอิงที่ให้สารสนเทศได้แก่ พจนานุกรม สารานุกรม หนังสือรายปี มานานุกรม อักขรานุกรมชีวประวัติ และหนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์
2. หนังสืออ้างอิงซึ่งแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าเรื่องราวที่ต้องการจะได้จากที่ใด หรือที่เรียกว่าสื่ออ้างอิงประเภทชี้แนะแห่งสารสนเทศ ได้แก่ บรรณนุกรม และดรรชนีวารสาร
หนังสืออ้างอิงที่ให้คำตอบหรือข้อเท็จจริงโดยตรง มีรายละเอียดดังนี้
1. พจนานุกรม (Dictionaries) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับคำ เช่น ชนิดของคำ ที่มาของคำ การออกเสียง คำจำกัดความ คำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือคำที่มีความหมายตรงข้ามกัน พจนานุกรมแบ่งได้หลายประเภท เช่น พจนานุกรมทั่วไป พจนานุกรมเฉพาะสาขาวิชา พจนานุกรมภาษาเดียว พจนานุกรมสองภาษาหรือมากกว่า พจนานุกรมคำพ้อง พจนานุกรมคำตรงข้าม พจนานุกรมคำสะแลง เป็นต้น
2. สารานุกรม (Encyclopedias) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้สาขาวิชาการต่างๆ ตามขอบเขตที่กำหนด จัดเรียงตามลำดับตัวอักษรของเรื่องหรือสาขาวิชามีดรรชนีช่วยค้นอย่างละเอียด สารานุกรมแบ่งเป็น สารานุกรมทั่วไป และสารานุกรมเฉพาะสาขาวิชามีการจัดทำเป็นชุดหรือเล่มเดียวจบ จัดทำเพื่อบุคคลทั่วไป หรือสำหรับผู้ที่มีความรู้ระดับต่างๆ เช่น ระดับนักเรียน นักศึกษา
3. หนังสือรายปี (Yearbook, Almanacs, Annuals) เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวมความรู้และข้อเท็จจริงต่างๆในรอบปี จัดพิมพ์อย่างสม่ำเสมอเป็นรายปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราว เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ สถิติ ภาพเหตุการณ์สำคัญๆของประเทศและภูมิภาคต่างๆของโลก หนังสือรายปีที่จัดเป็น Yearbooks จะเสนอเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับรัฐบาล องค์การและหน่วยงานเอกชน หนังสือรายปีประเภท Almanacs เสนอสถิติเรื่องราว เหตุการณ์ด้ายการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา ดนตรี ฯลฯ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอกชน และหนังสือรายปีอีกประเภทหนึ่งคือ Annuals หรือ Books of the year นั้น เป็นหนังสือรายปีของสารานุกรมชุดต่างๆ ที่จัดทำเพื่อเพิ่มข้อมูลสารานุกรมชุดนั้นให้ทันสมัย
4. นามานุกรม(Directories) หรือบางทีเรียกว่า ทำเนียบนาม หรือนามสงเคราะห์เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวมรายชื่อบุคคล สถาบัน องค์การ สมาคม หน่วยงานราชการหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ รายชื่อเหล่านี้จัดเรียงตามลำดับตัวอักษร ตัวอย่างของหนังสืออ้างอิงประเภทนี้คือ สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เขตโทรศัพท์นครหลวง สำหรับนามานุกรมสถานบัน ประกอบด้วยชื่อสถาบัน หัวหน้างานที่รับผิดชอบ สถานที่ตั้ง หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร เป็นต้น
5. อักขรานุกรมชีวิประวัติ (Biographical dictionaries) เป็นหนังสืออ้างอิงที่รวบรวมชีวประวัติบุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการราชการ หรือภาคเอกชน อาจรวมอยู่ในเล่มเดียวกันหรือแยกตามจุดมุ่งหมายหรือขอบเขตที่จัดทำ จัดเรียงตามลำดับชื่อบุคคล หรือจัดเรียงตามอาชีพ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับปีเกิด การศึกษา หน้าที่การงาน และผลงานที่ดีเด่น ฯลฯ
6. หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ (Geographical sources) เป็นหนังสืออ้างอิงที่ให้รายละเอียดทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ชื่อเมือง ภูเขา ทะเลสาบ แม่น้ำ มหาสมุทร และสถานที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
6.1 อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ (Geographical dictionaries) หมายถึงหนังสืออ้างอิงที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์เรียงตามลำดับอักษร
6.2 หนังสือนำเที่ยว (Guide book)
6.3 หนังสือแผนที่ (Atlases)
7. หนังสือคู่มือ (Hand books) เป็นหนังสือที่รวบรวมสารสนเทศเบ็ดเตล็ดต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปติดตัวไปใช้ได้สะดวกและค้นเรื่องราวได้เบ็ดเสร็จในเล่มเดียว เช่น คู่มือการลูกเสือไทย 200 ปี การศึกษาไทย พระราชบัญญัติครู ข้อบังคับคุรุสภา ระเบียบหลักเกณฑ์อื่นๆ ของคุรุสภาเป็นต้น
สำหรับหนังสืออ้างอิงบางประเภท เช่น พจนานุกรม นอกจากจะมีรูปแบบที่เป็นสื่อตีพิมพ์แล้ว ยังมีรูปแบบที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ซีดี - รอมออนไลน์) อีกด้วย เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานสถาน พ.ศ. 2525 ฉบับซีดี-รอม, Britannica CD, Comptons Interactive Encyclopedia, Grolier Multimedia Encyclopedia และ World Book Multimedia Encyclopedia เป็นต้น
|
|