สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
โรงเรียนแจ่มจันทร์
ความรู้เกี่ยวกับศาสนาในประเทศไทย
Introduction to religions in Thailand
ภาคต้น ปีการศึกษา 2551
ผู้สอน
นางไพเราะ รักเสน่ห์


คำอธิบายรายวิชา
/แนวการสอน

หน่วยการเรียนรู้

รายละเอียดสาระ
การเรียนรู้

แนวการจัดการเรียนรู้

ตำราประกอบการสอน

แหล่งทรัพยากร
สารสนเทศอื่นๆ

แหล่งทรัพยากรเกี่ยวกับ
อินเทอร์เน็ต

ตำราและวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์

แนะนำผู้สอน

แบบทดสอบ

เฉลยแบบทดสอบ


Home

ประวัติพุทธสาวกและชาดก

ในสมัยพุทธกาล เมื่อแรกเริ่มที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระศาสนา หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้มีพุทธสาวกหลายท่านมีส่วนในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา บางครั้ง มีการใช้นิทานชาดกเป็นสื่อในการสอน ขอยกตัวอย่างพุทธสาวกบางท่านและนิทานชาดกบางเรื่องให้นักเรียนได้อ่าน
พระอุรุเวลกัสสปะ
1. สถานะเดิม
พระอุรุเวลกัสสปะ ท่านมีชื่อตามโคตรว่า กัสสปะ ต่อมาบวชเป็นฤาษี ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ บิดาและมารดา เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ไม่ปรากฎชื่อในตำนาน เกิดที่ กรุงพาราณสี ก่อนหน้าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงอุบัติ การศึกษา เรียนจบไตรเพท อุรุเวลกัสสปะมีน้องชาย ๒ คน ชื่อตามโคตรว่า กัสสปะ เหมือนกันทั้ง ๒ คน แต่ต่อมา เมื่อออกบวชเป็นฤาษี คนกลางได้ตั้งอาศรมอยู่ที่ทางโค้งแม่น้ำคงคา จึงได้นามว่านทีกัสสปะ คนเล็กได้ ตั้งอาศรมอยู่ที่ ตำบลคยาสีสะ จึงได้นามว่า คยากัสสปะ อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คน นทีกัสสปะมีบริวาร ๓๐๐ คน คยากัสสปะมีบริวาร ๒๐๐ คน ต่างสอนไตรเพทแก่บริวารของตน ต่อมาคนทั้ง ๓ นั้นตรวจดูสาระประโยชน์ในคัมภีร์ทั้งหมดของตน ได้เห็นแต่เพียงประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น เกิดความยินดีในการบวช จึงชักชวนกันออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว
2. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศ พระศาสนายังแคว้นต่าง ๆ แล้วพระองค์ได้เสด็จดำเนินไปลำพังพระองค์เดียวมุ่งสู่แคว้นมคธ ทรงทราบดีว่า ท่านอุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้มีอายุมาก เป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ จึงทรงมุ่งหมายไปที่ท่าน เพราะถ้าสามารถโปรดท่านได้แล้ว จะได้ชาวมคธอีกเป็นจำนวนมาก ในระหว่างทางได้ทรงเทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้ว ส่งไปประกาศพระศาสนา จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ตรัสขอที่พักกับอุรุเวลกัสสปะ ๆ ไม่เต็มใจต้อนรับ จึงบอกให้ไปพักในโรงไฟ ชึ่งมีนาคราชดุร้าย มีฤทธิ์มีพิษร้ายแรง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จเข้าไปยังโรงไฟ ทรงปูลาดสันถัดหญ้า ประทับนั่งคู้บัลลังก์ตั้งพระกายตรงดำรงพระสติไว้ เฉพาะหน้าอย่างมั่นคง นาคราชไม่ได้ทำอันตรายใด ๆ จนถึงรุ่งเช้าวันใหม่ อุรุเวลกัสสปะก็ยังคิดว่า ถึงอย่างไรพระมหาสมณะนี้ก็คงไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกับเขาว่า กัสสปะ เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์หรอก และแม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นอรหันต์ของเธอก็ยังไม่มีเลย อุรุเวลกัสสปะได้ซบศีรษะลงที่พระบาทแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ เธอเป็นนายก เป็นผู้เลิศ เป็นประมุข เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน เธอจงบอกลาชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน อุรุเวลกัสสปะจึงเข้าไปหาชฎิลเหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ชาวเราเอ่ย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ ในพระมหาสมณะ ขอพวกท่านจงทำตาม ที่เข้าใจเถิด พวกชฎิลกล่าวว่า แม้พวกเราทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะนั้นด้วยเหมือนกัน ได้พากันปล่อยบริขารและเครื่องบูชาไฟลอยไปในน้ำ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา และอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า
3. วิธีอุปสมบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบท ของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น
4. การบรรลุอรหัตตผล
เมื่ออุรุเวลกัสสปะ พร้อมทั้งบริวาร ลอยบริขารและเครื่องบูชาไฟไปในแม่น้ำ น้องชายทั้งสองทราบ จึงมาขอบวชในสำนักของพระศาสดา พร้อมกับบริวารทั้งหมด ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ แล้วทรงพาภิกษุ ๑๐๐๓ รูปนั้น เสด็จไปยังคยาสีสะตำบล ประทับนั่งบนแผ่นหิน ทรงให้สมณะทั้งหมดนั้นดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วยอาทิตตปริยายเทศนา ใจความย่อแห่งอาทิตตปริยายเทศนาว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ เพราะความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ
5.งานประกาศพระศาสนา
พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ตามตำนานเล่าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาภิกษุ ๑๐๐๓ รูปนั้น เสด็จไปถึงเมืองราชคฤห์ ประทับที่สวนตาลหนุ่ม ชื่อลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธทรงทราบข่าว จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า พระพุทธองค์ ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร มีกิริยาอาการไม่อ่อนน้อม จึงตรัสสั่งให้พระอุรุเวลกัสสปะ ประกาศให้คนเหล่านั้นทราบว่า ลัทธิของท่านไม่มีแก่นสาร ท่านได้ทำตามพระพุทธดำรัส คนเหล่านั้นสิ้นความสงสัย ตั้งใจฟังพระเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เวลาจบเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุโสดาปัตติผล อีก ๑ ส่วน ดำรงอยู่ในสรณคมน์
6. เอตทัคคะ
พระอุรุเวลกัสสปะ ได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เพราะท่านสามารถอบรมสั่งสอนเขาด้วยคุณต่าง ๆ ได้ และเพราะท่านได้ทำบุญเอาไว้ใน พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน
7.บุญญาธิการ
ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติในโลก พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชาวเมืองหังสวดี ได้ไปฟังธรรมของพระองค์ และได้เห็นพระองค์ทรงตั้งพระสาวกในตำแหน่ง เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เกิดความพอใจ อยากได้ฐานันดรนั้นบ้าง จึงได้ทำบุญมีทานเป็นต้น กับพราหมณ์อีก ๑๐๐๐ คน แล้วตั้งความปรารถนา พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จ จึงได้พยากรณ์ว่าต่อไปนี้อีกแสนกัปป์ จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาทรง พระนามว่าโคดม และได้ฐานันดรนั้น ท่านได้บำเพ็ญบารมีตลอดมาถึงสมัยของพระศาสดาทรงพระนาม ว่าผุสสะ ทั้ง ๓ พี่น้อง ได้เป็นราชอำมาตย์ในพระนครพาราณสี ได้บำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการให้บริบูรณ์ และอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธาและความเคารพ ชาติสุดท้ายจึงได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้มีความสุข สมบูรณ์ในพระนครพาราณสี และได้รับฐานันดรตามที่ปรารถนาไว้
8.ธรรมวาทะ
การบูชายัญ ล้วนแต่มุ่งหมายรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่า นั่นเป็นมลทินในขันธ์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงและการบูชายัญ
9.ปรินิพพาน
พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดุจดวงประทีปที่โชติช่วงชัชวาลแล้วมอดดับไป

แหล่งที่มา

ประวัติ พระอุรุเวลกัสสปเถระ. (2551). ค้นเมื่อ กรกฎาคม 12, 2551,

จาก http://www.gongtham.org/my_data/luksut/
anududdha/5bud_02.html

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 31 กรกฎาคม 2551
ไพเราะ รักเสน่ห์