4000107 เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชีวิต
Information Technology for Life

3 (2 - 2)

ผู้สอน : รศ จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
อ. เมือง กาญจนบุรี 71000
chumpot@hotmail.com

พัฒนาการความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตมีจุดเริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ. 1970 - 1980 จาก โครงการอาร์ปาเน็ต (ARPANET - Advanced Research Projects Administration Network)ของหน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูง ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (US Department of Defense--DOD) โดยมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทางการทหารของกระทรวงกลาโหม และห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางทหารของมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์สำคัญของอาร์ปาเน็ต คือต้องการให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่แยกกันอยู่ และมีการเชื่อมโยงกันอย่างมากมายมหาศาล เข้าอยู่ใน ระบบเดียวกัน ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันจากระยะทางที่ไกลออกไปได้ (Fuller, 1997, pp.125-126) และคาดหวังว่าระบบนี้ จะทำให้การส่งผ่านกรสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีคนควบคุม เป้าหมายคือการควบคุมการส่งผ่านข้อมูลเกี่ยวกับสงคราม โดยเฉพาะทางด้านนิวเคลียร์

โครงการในระยะแรกๆของการทำงานของอาร์ปาเน็ต ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์เพียง 4 เครื่อง คือคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยยูทาห์, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาบาร์บารา, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแองเจลิส และสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด เมื่อมีการทดลองใช้งานอาร์ปาเน็ต จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว กระทรวงกลาโหมของสหรัฐก็ได้ขยายเครือข่ายของอาร์ปาเน็ตออกไป โดยเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ รวม 50 แห่งในปี พ.ศ. 2515 (ต้น ตัณฑ์สุทธิวงศ์ สุพจน์ ปุณณชัยยะ และ สุวัฒน์ ปุณณชัยยะ, 2539, 16-18)ซึ่งเครือข่ายของ อาร์ปาเน็ต จะมีมาตรฐานการรับส่งของมูลอันเดียวกัน เรียกว่า มาตรฐานการควบคุมระบบเครือข่าย (Network Control Protocol - NCP) เป็นส่วนควบคุมการรับส่งข้อมูล, การตรวจสอบความผิดพลาดในการส่งข้อมูล และเปรียบเสมือนตัวกลาง ที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามมาตรฐาน NCP ที่ใช้ในขณะนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีข้อจำกัดในด้าน จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อเข้ากับ อาร์ปาเน็ต ทำให้ขยายจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ออกไปมาก ๆ ไม่ได้ จึงได้เริ่มมีการพัฒนามาตรฐานการ รับส่งข้อมูลแบบใหม่ขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้มีมาตรฐานใหม่ออกมาเรียกว่า Transmission Control Protocol/Internet Protocol หรือ โปรโตคอลแบบ TCP/IP ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่อาร์ปาเน็ตได้วางรากฐานไว้ให้กับอินเตอร์เน็ต เพราะมาตรฐานการรับส่งข้อมูลแบบ TCP/IP นี้ ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ต่างชนิดกันสามารถรับส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้และนับเป็นหัวใจของอินเตอร์เน็ตเลยทีเดียว โปรโตคอล TCP/IP ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปีถัดมาคือปี 2526 และถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการ UNIX เวอร์ชั่น 4.2 จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ ในเน็ตเวิร์คได้เพิ่มขึ้นจาก 235 เครื่องในปี 2525 มาเป็น 500 เครื่องในปี 2526 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เครื่องในปี 2527

ต่อมาในปี 2529 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Science Foundation (NSF) ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้วางระบบเครือข่าย ขึ้นมาอีกระบบหนึ่งเรียกว่า NSFNET ซึ่งประกอบด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์จำนวน 5 เครื่องใน 5 รัฐ เชื่อมต่อเข้าด้วยกันเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา และค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และได้ใช้โปรโตคอล TCP/IP เป็นมาตรฐานในการรับส่งข้อมูลเช่นกัน ทำให้การขยายตัวของเน็ตเวิร์คเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามีความต้องการที่จะเชื่อมต่อเข้ากับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้การใช้งานซูเปอร์คอมพิวเตอร์คุ้มค่าที่สุด และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ประกอบกับการรับส่งข้อมูลก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจึงเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 เครื่อง นอกจาก ARPANET และ NSFNET แล้ว ยังมีเครือข่ายอื่น ๆ อีกหลายเครือข่าย เช่น UUNET, UUCP, BITNET, CSNET ฯลฯ ซึ่งต่อมาก็ได้เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยมี NSFNET เป็นเครือข่ายหลัก เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังหรือ backbone ของระบบจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ ในเครือข่ายจึงได้เพิ่มเป็นกว่า 20,000 เครื่องในปี 2530 และก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วเป็น 100,000 เครื่องในปี 2532 (ต้น ตัณฑ์สุทธิวงศ์ สุพจน์ ปุณณชัยยะ และ สุวัฒน์ ปุณณชัยยะ, 2539, หน้า 16-18)

จากจุดเริ่มต้นของอาร์ปาเน็ต ต่อมาได้ขยายขอบเขตวัตถุประสงค์โดยเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านอื่นนอกเหนือจากที่เป็นอยู่เดิม มีสถาบันการศึกษา บริษัทห้างร้าน หน่วยงานทางธุรกิจ องค์กรที่ไม่มุ่งหวังกำไร และบุคคลต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในฐานะผู้จัดทำและผู้ใช้ ลากหลายมากมาย ต่อมา อาร์ปาเน็ต ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ดาร์ปาอินเทอร์เน็ต (DARPA INTERNET) แล้วกลายมาเป็นอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

เมื่อเดือนสิงหาคม 2537 มีระบบเครือข่ายบนอินเทอร์เน็ต มากกว่า 20,000 ระบบ จากทั่วโลก ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 3,000,000 เครื่อง เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน และจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตรา 1,000 ระบบ (โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน100,000เครื่อง) ต่อเดือน

ระบบการทำงานของอินเทอร์เน็ต

เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องบนระบบอินเทอร์เน็ต ส่งและรับข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ เครื่องอื่นๆ ในลักษณะ ชิ้นส่วนขาดเล็กหลายๆ กลุ่ม เรียกว่า แพ็กเกจ (Packets) แต่ละแพ็กเกจจะมีที่อยู่ของผู้ส่งและผู้รับ ขนาดสูงสุดของแพ็กเกจจะเปลี่ยนไปตามเครือข่าย แต่โดยปกติ จะอนุญาตให้มีขนาด ระหว่าง 200-2,000 octets (1 octet บน INTERNET คิอ 1 bite หรือ 1 ตัวอักษร) ขนาดทั่วไปที่ใช้กันอยู่คือ 1,536 octets ข้อมูลใด ที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 แพ็กเกจ จะต้องแยกส่งไปเป็นหลายแพ็กเกจ ข้อมูลจะถูกส่งไปหลายเส้นทาง ผ่านเครือข่ายจำนวน มหาศาลซึ่งประกอบกันขึ้นเป็น INTERNET แพ็กเกจแต่ละตัว ไม่ได้เดินทาง ไปในเส้นทางเดียวกัน แต่มันก็ไปถึงจุดหมายปลายทางเดียวกัน แล้วมันจะไปรวมตัวกันอีกครั้ง โดยอัตโนมัติที่ปลายทาง เส้นทางมิใช่อุปสรรคตราบเท่าที่ข้อมูลสามารถไปถึงปลายทางได้โดยปลอดภัย

ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการดูแลแพ็กเกจเหล่านี้คือ เกณฑ์วิธีการควบคุมการขนส่งข้อมูล/อินเทอร์เน็ต โปรโตคอล--ทีซีพี/ไอพี หรือ Transmission Control Protocol/Internet Protocol--TCP/IP โดย TCP ทำหน้าที่แยกกลุ่มข้อมูลที่ต้นทาง และ รวมข้อมูลที่ปลายทาง ส่วน IP เป็นส่วนที่กำหนด และ คอยดูให้แพ็กเกจ เหล่านี้ผ่านเส้นทางบนคอมพิวเตอร์จำนวนมาก

วิธีการเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต

วิธีการพื้นฐานที่ผู้ใช้สามารถเข้าสู่ INTERNET มีอยู่ 2 ทาง คือ การเข้าสู่ INTERNET โดยตรง(Direct access) และการเข้าสู่ INTERNET โดยผ่านอุปกรณ์แปลงสัญญาณต่อเชื่อม ระหว่างสายโทรศัพท์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ที่เรียกว่า โมเด็ม (Modem) ถ้าผู้ใช้เป็นนักศึกษา ก็อาจเข้าโดยตรงจากห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของสถาบัน แต่อาจต้องซื้อโมเด็มสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่บ้าน ในทำนองเดียวกันผู้ใช้ที่ทำงานในหน่วยงานที่มีระบบ INTERNET ก็สามารถใช้วิธีการเข้าสู่ ระบบโดยตรงได้จากที่ทำงาน และมีโมเด็มสำหรับการใช้งานที่บ้าน

การเข้าสู่ INTERNET โดยตรง

การเข้าสู่ INTERNET โดยตรง ผู้ใช้จะเข้าได้เร็วกว่าวิธีการใช้โมเด็ม และการเข้าถึง INTERNET ด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถ เรียกดูข้อมูลที่เป็นกราฟิก คือ มีทั้ง ข้อความ เสียง ภาพ ภาพและข้อความเคลื่อนไหว ได้รวดเร็วมาก ด้วยวิธีนี้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่ INTERNET จากเครือข่ายระยะใกล้ (Local Area Network--LAN) ที่สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ ทุกอย่างได้จัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว ผู้ใช้เพียงแต่ทำตามคำแนะนำที่มีไว้ให้ก็สามารถเข้าสู่ INTERNET เพื่อการใช้งานต่างๆได้

การติดต่อในระบบอินเทอร์เน็ต

การติดต่อสื่อสารในระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ในระบบทุกคน จำเป็นต้องมีชื่อในฐานะผู้ใช้ที่เรียกว่า ชื่อผู้ใช้ (User name) คั่นด้วยเครื่องหมาย @ (หมายถึง at คือ อยู่บนเครื่อง) ตามด้วยชื่อเครื่องที่ใช้บริการอยู่ เช่น chumpot@rikc.ac.th การที่มีชื่อผู้ใช้ดังกล่าว เปรียบเหมือนกับการติดต่อในระบบไปรษณีย์ที่ต้องทราบตำบลที่อยู่ของผู้ที่ต้องการติดต่อด้วยนั่นเอง อธิบายได้ดังต่อไปนี้
    Chumpot@rikc.ac.th
        th หมายถึง ประเทศไทย
        ac หมายถึง อยู่ในกลุ่มสถาบันการศึกษา
        rikc หมายถึง ชื่อเครื่องและชื่อของผู้ให้บริการในระบบเครือข่าย
        @หมายถึง " อยู่บนเครื่อง "
        chumpot หมายถึง ชื่อผู้ใช้ในระบบเครือข่าย

บริการด้านการสื่อสารในระบบอินเทอร์เน็ต

เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดต่อรับส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนกันได้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวดเร็วกว่าการติดต่อแบบธรรมดา และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างถูกกว่ามาก

ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)

ผู้ใช้บริการสามารถติดต่อรับ-ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ E-mail กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 20 ล้านคนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก และบริการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์นี้ก็รวดเร็วทันใจและสะดวกมาก

สนทนาแบบออนไลน์

ผู้ใช้บริการสามารถคุยโต้ตอบกับผู้ใช้คนอื่น ๆ ในอินเตอร์เน็ตได้ในเวลาเดียวกัน (โดยการพิมพ์เข้าไปทางคีย์บอร์ด) เสมือนกับ การคุยกันแต่ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ของทั้งสองที่ ซึ่งก็สนุกและรวดเร็วดี บริการสนทนาแบบออนไลน์นี้เรียกว่า talk เนื่องจากใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า talk ติดต่อกัน หรือจะคุยกันเป็นกลุ่มหลาย ๆ คนในลักษณะของการ chat (ชื่อเต็ม ๆ ว่า Internet Relay Chat หรือ IRC ก็ได้)

"กระดานข่าว" หรือบูเลตินบอร์ด

บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีการให้บริการในลักษณะของกระดานข่าวหรือบูเล ตินบอร์ด (คล้าย ๆ กับระบบ Bulletin Board System หรือ BBS) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ จำนวนหลายพันกลุ่ม เรียกว่าเป็นกลุ่มข่าวหรือ newsgroup ทุก ๆ วันจะมีผู้ส่งข่าวสารกันผ่านระบบ ดังกล่าว โดยแบ่งแยกออกตามกลุ่มที่สนใจ เช่น กลุ่มผู้สนใจศิลปะ, กลุ่มผู้สนใจเพลงร็อค, กลุ่มวัฒนธรรมยุโรป ฯลฯ นอกจากนี้ก็มีกลุ่มที่สนใจในเรื่อง ของประเทศต่าง ๆ เช่น กลุ่ม Thai group เป็นต้น

Ftp

บริการโอนย้ายไฟล์ข้อมูล ถ้าผู้ใช้ต้องการโอนย้ายข้อมูลหรือไฟล์โปรแกรมต่าง ๆ ก็อาจเรียกใช้บริการ ftp หรือ File Transfer Protocol ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ติดต่อเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องการในอินเตอร์เน็ต และดาวน์โหลด หรือโอนย้ายไฟล์ที่ต้องการมาที่ผู้ใช้ได้ หรือในทางกลับกันจะส่งไฟล์ออกไปยังเครื่องนั้น ๆ ก็ได้ ซึ่งไฟล์ที่รับส่งนี้อาจจะเป็นข้อมูลอะไรก็ได้ไม่จำกัด เช่น ไฟล์ที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์, ไฟล์ที่เป็นตัวอักษร, ไฟล์ที่เป็นรูปภาพหรือเสียงเป็นต้น

Telnet

ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นซึ่งตั้งอยู่ไกลออกไป ก็สามารถใช้บริการ telnet เพื่อเข้าใช้งานเครื่องดังกล่าวได้เหมือนกับ เราไปที่เครื่องนั้นเอง โดยจำลองคอมพิวเตอร์ของเราให้เป็นเสมือนจอภาพเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นได้

Archie

ผู้ใช้บริการจะทำตัวเสมือนเครื่องลูกข่ายที่เรียกเข้าไปใช้บริการ Archie sever เพื่อค้นหาข้อมูลที่ตนเองไม่ทราบว่าเก็บไว้สถาน ที่ใด บริการ Archie นี้จะช่วยให้ผู้ใช้เสมือนกับได้ดูว่าสถานที่ซี่งมีข้อมูลที่ตนต้องการอยู่ที่ใดก่อน จากนั้นจึงเรียกค้นไปยังสถานที่นั้นโดยตรงต่อไป บริการ Archie เกิดขึ้นเนื่องจากข้อมูลข่าวสารมากมายที่เก็บอยู่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีเป็นจำนวนมาก ผู้ใช้ที่ต้องการข้อมูลหาดูไม่ถูกว่าข้อมูล ที่ต้องการอยู่ ณ สถานที่ใดกันบ้าง

Gopher

เป็นบริการค้นหาข้อมูลแบบตามลำดับชั้น ซึ่งมีเมนูให้ใช้งานได้สะดวก โปรแกรม Gopher นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัย มิเนโซตา ฐานข้อมูลที่เก็บอยู่ในระบบเป็นฐานข้อมูลที่กระจายกันอยู่หลายแห่งแต่มีการเชื่อมโยงถึงกันเป็นขั้น ๆ

Hytelnet

เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้หาชื่อโฮสต์และชื่อ login พร้อมคำอธิบายโดยย่อของแหล่งข้อมูลที่ต้องการได้ด้วยการใช้งานแบบเมนู เมื่อได้ชื่อโฮสต์ที่ต้องการแล้วก็สามารถเรียกติดต่อไปได้ทันที แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ของบริการ Hytelnet นี้มักจะเป็นชื่อที่อยู่ของห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วโลก

WAIS (Wide Area Information Service)

เป็นบริการที่มีลักษณะเป็นศูนย์ข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและดัชนีสำหรับค้นหาข้อมูลจำนวนมากเอาไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ในการค้นหาเมื่อเข้าสู่ศูนย์ข้อมูลนั้น และยังมีการเชื่อมโยงกันไปยังศูนย์ข้อมูลอื่น ๆ ปัจจุบันมีศูนย์ข้อมูลแบบ WAIS ให้ค้นหาได้หลายที่

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 7 กันยายน 2546
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com