1635303 บริการสารสนเทศเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม
Information Service for Business and Industry

(3-0)
ภาคปลาย ปีการศึกษา 2544

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
บัณฑิตวิทยาลัย
สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
กรุงเทพมหานคร

chumpot@hotmail.com

สิทธิบัตร

คำว่า "สิทธิบัตร" อาจจะเป็นคำใหม่ที่หลายท่านไม่คุ้นเคยและไม่เข้าใจความหมาย และหลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า สิทธิบัตรอยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่เอง สิทธิบัตร เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของทุกๆ คนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน นับ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนหรือแม้กระทั่งเวลานอนหลับบนที่นอน เรียกได้ว่าตลอด 24 ชั่วโมงเลยที่เดียว หรือแม้แต่เครื่องจักร เครื่องยนต์ใหญ่ๆ หรือเครื่องจักรที่มีความสลับซับซ้อนที่ใช้ในกิจการต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผลที่ได้จากการประดิษฐ์คิดค้นทั้งสิ้น ถ้าจะสังเกตุให้ดี บนตัวสินค้าหรือบนภาชนะที่ใช้บรรจุสินค้าจะเห็นคำว่า "สิทธิบัตรไทย หรือ สบท." หรือคำที่เป็นภาษาอังกฤษคำว่า "PATENT หรือ PAT" สิทธิบัตร เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าต่างๆ ที่มีประโยชน์แก่มนุษย์มีความสะดวกสบาย และมีความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้น เมื่อสินค้าที่มีประโยชน์และเป็นที่ต้องการของตลาด สิทธิบัตรที่ก่อให้เกิดการผลิตสินค้านั้นย่อมมีราคาถูก การประดิษฐ์คิดค้นบางอย่างมีมูลค่ามากมายมหาศาล เช่น ทีวี ตู้เย็น วิทยุ หรือแม้แต่ที่เรียกกันว่า "เทปขน"ที่ใช้ประกอบกับรองเท้า ผ้าอ้อมเด็กหรือเครื่องใช้อื่นๆ เป็นต้น ที่สามารถขายได้ทั่วโลกคิดเป็นมูลค่ามหาศาล เมื่อสิทธิบัตรเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ในทางการค้า หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ได้พยายามที่จะเจรจาต่อรองให้ประเทศคู่ค้าของตนให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรืออาจพูดได้ง่ายๆ ว่า ไม่ต้องการให้มีสินค้าที่ลอกเลียนแบบสินค้าที่ได้รับสิทธิบัตรที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศคู้ค้านั้น ๆ ในการเจรจาทางการค้าเกี่ยวกับสิทธิพิเศษทางศุลกากร ที่เรียกกันว่า "แกตต์" ซึ่งเป็นการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ ได้หยิบยกเรื่องการให้ความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรมาเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจา ซึ่งได้มีการประชุมเจรจากันที่เรียกว่า "การเจรจารอบอุรุกวัย" ซึ่งมีผลให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต้องให้ความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรอย่างเท่าเทียมกัน สิทธิบัตร นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีอีกด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะสิทธิบัตรนั้น เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ หรือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้มีสินค้าที่ทันสมัย มีคุณภาพสูง ดังนั้น ผู้ประดิษฐ์คิดค้นสินค้าเหล่านี้ได้เป็นคนแรกย่อมได้รับประโยชน์จากการค้าขายสินค้านั้น จึงมีการแข่งขันกันในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้สูงขึ้นไปโดยอาศัยข้อมูลวิธีการประดิษฐ์ที่ได้เปิดเผยไว้ในสิทธิบัตรเป็นพื้นฐานในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมต่อไป สิทธิบัตร นอกจากจะเกี่ยวข้องกับทุกๆ คนแล้ว ยังมีความสำคัญและมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ดังนั้นทุกคนควรที่จะตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจในเรื่องสิทธิบัตรให้มากขึ้น ในปัจจุบันมีสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยหลายเรื่องที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้ขายความคิดนั้นให้กับต่างประเทศ และได้เงินจากการประดิษฐ์คิดค้นนั้น และท่านอาจเป็นคนหนึ่งในอนาคตก็เป็นได้

ความเป็นมา

ในต่างประเทศ ได้มีการให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นในรูปของสิทธิพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพระราชทานโดยกษัตริย์ เป็นสิทธิบัตรที่ออกให้สำหรับเทคโนโลยีใหม่ในสมัยนั้น เช่น กังหันลม เครื่องจักรทอผ้า วิธีการต่อเรือและการทำเหมืองแร่ เป็นต้น กฎหมายสิทธิบัตรที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก คือกฎหมายของสาธารณรัฐเวนิช ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2017 ในช่วงคริสตศวรรษที่ 13 - 16 กษัตริย์อังกฤษได้ทรงให้การส่งเสริมและสนับสนุนแก่ผู้ประกอบกิจการค้า รวมทั้งผู้ที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยพระราชทานสิทธิพิเศษแก่บุคคลเหล่านั้น แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษกลับใช้สิทธิจนเกินขอบเขต เช่น กำหนดราคาสินค้าสูงมากและผลิตสินค้าน้อยจนประชาชนเดือดร้อน ปี พ.ศ. 2166 รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการผูกขาดซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรกของอังกฤษ โดยได้ยกเลิกสิทธิผูกขาดอื่นๆ ทั้งหมด ยกเว้นสิทธิพิเศษสำหรับผู้ประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่ในการที่จะผลิตสิ่งนั้นชั่วระยเวลาหนึ่ง สหรัฐอเมริกา ได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประดิษฐ์ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ จนปี พ.ศ. 2333 สภาครองเกรสได้ออกกฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรก พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อบริหารงานตามกฎหมายนี้ ญี่ปุ่น ได้มีการประกาศใช้กฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. 2414 การพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้อาศัยระบบสิทธิบัตรเป็นพื้นฐานมาโดยตลอด เช่น นายซาคาชิ โตโยดะ ผู้ก่อตั้งบริษัทโตโยต้า โดยอาศัยเงินทุนจากการขายสิทธิบัตรเกี่ยวกับหูกทอผ้าให้แก่บริษัทอังกฤษเป็นเงิน 100,000 ปอนด์ ญี่ปุ่นได้พัฒนาระบบสิทธิบัตรมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันนับได้ว่าระบบสิทธิบัตรของญี่ปุ่นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โซเวียต เมื่อครั้งยังเป็นสหภาพโซเวียต ได้มีกฎหมายสิทธิบัตรปี พ.ศ. 2439 ต่อมาในช่วงสงครามปฏิวัติจะสิ้นสุดลง เลนินได้ลงนามในกฎหมายแห่งสภาประชาชน ว่าด้วยการประดิษฐ์ ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองและใช้ผลงานจากการประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม กฎหมายสิทธิบัตรของสหภาพโซเวียตฉบับที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2516 นับเป็นกฎหมายแม่แบบของประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ประเทศไทย ได้มีความพยายามที่จะออกกฎหมายสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 โดยคาดว่าได้มีการยกร่างกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า "Law on Patents" ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2456 และได้มีการยกร่างกฎหมายสิทธิบัตรมาโดยตลอด พร้อมทั้งได้มีการเตรียมงานในการที่จะนำระบบสิทธิบัตรมาใช้ในประเทศไทย แต่ได้รับการคัดค้านจากสมาชิกรัฐสภาฯ ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่างกฎหมายสิทธิบัตรให้คณะรัฐมนตรีพืจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2522 ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น

สิทธิบัตรคืออะไร

จากลักษณะของสิทธิบัตรดังกล่าวข้างต้น อาจให้คำนิยามของ "สิทธิบัตร" ได้เป็นสองความหมาย ดังนี้ สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครอง การประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด สิทธิบัตร หมายถึง สิทธิพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิเด็ดขาดหรือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียว ในการแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตรนั้น เช่น การผลิตและจำหน่าย เป็นต้น และสิทธิที่ว่านี้จะมีอยู่เพียงช่วงระยะเวลาที่จำกัดช่วงหนึ่งเท่านั้น จากคำนิยามข้างต้น สิทธิบัตรจะเกี่ยวข้องกับ การประดิษฐ์ หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะ องค์ประกอบ โครงสร้าง หรือกลไกของผลิภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้ดีขึ้นหรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ ที่แตกต่างไปจากเดิม การออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ ที่แตกต่างไปจากเดิม

การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้

    1. ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คือ เป็นการประดิษฐ์ที่แตกต่างไปจากเดิม ยังไม่เคยมีใช้หรือแพร่หลายมาก่อนในประเทศ หรือไม่เคยเปิดเผยสาระสำคัญในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์มาก่อนทั้งในและนอกประเทศ หรือยังไม่เคยได้รับสิทธิบัตรมาก่อน
    2. ต้องเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น คือ มีลักษณะที่เป็นการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค หรือไม่เป็นการประดิษฐ์ที่อาจทำได้โดยง่ายต่อผู้ที่มีความรู้ในระดับธรรมดา
    3. ต้องเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือหัตถกรรม

การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้

จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เนื่องจากเป็นเพียงหลักเกณฑ์ทางธรรมชาติเท่านั้น การคิดค้นขึ้นมาได้ถือว่าเป็นการค้นพบเท่านั้น ซึ่งคนอื่นๆ อาจจะค้นพบสิ่งเดียวกันได้เช่นกัน เช่นทฤษฎีพลังงานนิวเคลียร์ของไอน์สไตน์ที่ว่า E = mc2 เป็นต้น ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ ซอฟท์แวร์ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่แล้ว การประดิษฐ์ บำบัด หรือการรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ เนื่องจากถ้ามีการให้ความคุ้มครอง อาจจะมีผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ หรือสัตว์ โดยตรง การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้

ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม คือเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ ยังไม่มีใช้แพร่หลายในประเทศหรือยังไม่ได้เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสาร หรือสิ่งพิมพ์ก่อนวันขอรับสิทธิบัตร หรือไม่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้

    - แบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่
    -แบบผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
    -แบบผลิตภัณฑ์ที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา (ยังไม่มีการกำหนด)
    -แบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ตามข้อข้างต้น

ผู้ที่มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร

    - ผู้ประดิษฐ์ / ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิทธิตามธรรมชาติของผู้ประดิษฐ์คิดค้น
    - ผู้รับโอนสิทธิจากผู้ประดิษฐ์ / ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์
    - นายจ้างของผู้ประดิษฐ์ / ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์

ประโยชน์ที่จะได้รับจากสิทธิบัตร

โดยทั่วๆไป สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีผลมาจากการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็คือสิทธิบัตรนั่นเอง นอกจากจะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่อำนวยความสะดวกต่างๆ แล้วยังก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตมากขึ้นด้วย เช่น ยารักษาโรคต่างๆ เป็นต้น ดังจะเห็นได้จาก เครื่องกลเติมอากาศหรือกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์คิดค้น เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียและใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพของบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนให้ดีขึ้น การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ จะทำให้ประชาชนได้รับแต่สิ่งที่ดี มีคุณภาพสูงขึ้นมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตมากขึ้นนอกจากนี้สิทธิบัตรยังเป็นแหล่งข้อมูล ที่เป็นความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงการผลิต ปรับปรุงคุณภาพของสินค้า ลดต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีให้สูงขึ้นลดการนำเข้า หรือพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้รับจากสิทธิบัตรสามารถสรุปได้ดังนี้

    - ด้านสังคม ประชาชนมีสิ่งของเครื่องใช้ที่มีประโยชน์มีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น
    - ผู้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ จะได้รับผลตอบแทนจากสังคมคือ การได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตร สามารถที่จะนำการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรนั้นไปผลิต จำหน่าย นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรนั้น โดยได้รับค่าตอบแทนเนื่องจากผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบได้ใช้สติปัญญาและความพยายามของตน รวมทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะมีประโยชน์แก่มนุษย์ นับเป็นสิทธิตามธรรมชาติของผู้ประดิษฐ์คิดค้น อันเป็นการจูงใจ และกระตุ้นให้นักประดิษฐ์คิดค้นมีกำลังใจและมีความมั่นใจในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นั้น
    - สามารถนำข้อมูลจากสิทธิบัตรที่กำหนดให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้น ต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้น ไปใช้ในการศึกษาค้นคว้า วิจัยและพัฒนาต่อไปได้ส่งผลให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการผลิตสินค้า ลดต้นทุนการผลิตสินค้า เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจะเป็นการลดการพึ่งพาหรือการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
    - ทำให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างประเทศ การจัดระบบให้มีการคุ้มครองด้านสิทธิบัตร ย่อมทำให้เจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศมีความมั่นใจในการลงทุนหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ร่วมลงทุนในประเทศ

อายุสิทธิบัตร

    - สิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีอายุ 20 ปี นับตั้งแต่วันขอรับสิทธิบัตร
    - สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุ 10 ปี นับตั้งแต่วันขอรับสิทธิบัตร

ขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตร

    - การยื่นคำขอ ที่กองบริการและเผยแพร่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
    - การประกาศโฆษณา เป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นคัดค้านได้
    - การตรวจสอบ (ในกรณีของคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ผู้ขอจะต้องยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ อีกครั้งหนึ่ง)
    - เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้ 2 ฉบับ คือ สิทธิบัตร (Letter Patent) และเอกสารสิทธิบัตร (Patent Specification) ซึ่งเป็นเอกสารอธิบาย รายละเอียดของการประดิษฐ์

หน่วยงานบริการข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิบัตร

    1. กองสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โทร. 245-5271, 246-1387-95 ต่อ 356

    2. ศูนย์ข้อมูลทรัพย์สินทางด้านอุตสาหกรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ 338 ถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง โทร. 276-0045, 693-1540, 693-1545 โทรสาร 693-1541

แหล่งข้อมูลใน Internet

    - US Patent and Trademark Office - ฐานข้อมูลบรรณานุกรม ของสิทธิบัตรที่จดในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1976 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิทธิบัตรฉบับจริง พร้อมรูปภาพประกอบ ของสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับโรคเอดส์

แนะนำเกี่ยวกับกรม พร้อมให้ข้อมูล เรื่องสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ วิธีคุ้มครองลิขสิทธิ์ การดำเนินคดีสำหรับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ The Intellectual Property Information of thailand....

ผู้จัดทำรายงาน

    1. นางกัลยา แทนเอี่ยม
    2. น.ส.รวงทิพย์ หัวใจดี
    3. นางวิราม สุภัทรเกียรติ
    4. ว่าที่ ร.ต.วินัย รำพรรณ์
    5. น.ส.อุบลรัตน์ สาลีผลิน
    6. น.ส.น้ำผึ้ง พุ่มพวง
    7. น.ส.มัลลิกา ทองเอม
    8. นายรัตตพล เนตรคง
    9. น.ส.บานเย็น อ่อนจันทร์

หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com