|
สิ่งพิมพ์รัฐบาล
ความหมาย
สิ่งพิมพ์รัฐบาล ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Government Publications หรือ Government documents และในปัจจุบันบางแห่งใช้คำว่า Government informationได้มีผู้อธิบายความหมายของคำว่าสิ่งพิมพ์รัฐบาลไว้หลายกรณี ดังต่อไปนี้
กนกวรรณ สุวรรณวัฒนา (1) ได้กล่าวว่า สิ่งพิมพ์รัฐบาลหมายถึงหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่ทางราชการเป็นผู้รับผิดชอบในการพิมพ์หรือสั่งให้มีการจัดพิมพ์ขึ้น โดยใช้เงินงบประมาณของรัฐบาล เพื่อจะจำหน่ายหรือจ่ายแจกเป็นบริการให้เปล่าแก่หน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนถึงประชาชนที่สนใจ
จารุวรรณ สินธุโสภณ (2) ให้ความหมายสิ่งพิมพ์รัฐบาลไว้ว่าสิ่งพิมพ์รัฐบาล หมายถึงสิ่งพิมพ์ที่จัดพิมพ์โดยหน่วยราชการ หรือหน่วยราชการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงสิ่งพิมพ์ขององค์การสากลหรือองค์การนานาชาติด้วยอาจจะทำในลักษณะแผ่นปลิว เอกสารอัดสำเนา เป็นต้น เนื้อหาสาระอาจจะเป็นรายงานการปฏิบัติงาน เอกสารวิจัย บทความทางวิชาการ บันทึกการบริหารงาน สถิติข้อมูล คำแนะนำ รวมสุนทรพจน์ ประมวลระเบียบข้อบังคับ เป็นต้น
เฉลียว พันธุ์สีดา (3) ได้สรุปความหมายของสิ่งพิมพ์รัฐบาลว่า สิ่งพิมพ์รัฐบาลหมายถึงเอกสาร ที่ พิมพ์ขึ้นในลักษณะต่าง ๆ กัน โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ เน้นสาระเกี่ยวกับระเบียบ ข้อบังคับ ประวัติ รายงานที่ได้ปฏิบัติจริง คำแนะนำ สถิติ ผลการวิจัย ตลอดจนโครงการต่าง ๆ ของหน่วยราชการนั้นๆเพื่อเผยแพร่ให้บุคลากรในหน่วยงานและองค์การภายนอกได้เข้าถึงระบบการบริหารงานในหน่วยงานเป็นสำคัญ
ธาดาศักดิ์ วชิรปรีชาพงศ์ (4) ได้ให้ความหมายของสิ่งพิมพ์รัฐบาลไว้ว่าสิ่งพิมพ์รัฐบาลคือหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของรัฐบาล หรือความรู้ในแขนงวิชาต่าง ๆ ที่ประชาชนควรทราบ ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เป็นสิ่งพิมพ์ที่หน่วยราชการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดพิมพ์ เพื่อจำหน่าย หรือ จ่ายแจกแก่หน่วยงานต่าง ๆ หรือประชาชนที่สนใจ
2. เป็นการเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานให้ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องทราบ
3. เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวในทางวิชาการใหม่ๆ รวมทั้งคำสั่งประกาศหรือพระราชบัญญัติให้ประชาชนทราบ
พิมลพรรณ ประเสริฐวงศ์ เรพเพอร์ (5) กล่าวว่าสิ่งพิมพ์รัฐบาลหมายถึงหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่ทางราชการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดพิมพ์ หรือสั่งให้มีการจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อจำหน่าย จ่ายแจก เป็นบริการให้เปล่าแก่หน่วยงานต่างๆตลอดจนประชาชนที่สนใจเพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ผลงานของทางราชการ รายงานความเคลื่อนไหวทางวิชาการใหม่ ๆ หรือเพื่อเผยแพร่บทความทางวิชาการที่ประชาชนควรทราบ
รัญจวน อินทรกำแหง (6) ได้ให้ความหมายสิ่งพิมพ์รัฐบาลว่า สิ่งพิมพ์รัฐบาลคือสิ่งพิมพ์ที่หน่วยงานของรัฐจัดพิมพ์ด้วยเงินงบประมาณของรัฐบาล
โรเบิร์ต (A. D. Robert) (7) ได้กล่าวว่า สิ่งพิมพ์รัฐบาลมีความหมายกว้าง ซึ่งรวมถึงสิ่งพิมพ์ที่รัฐบาลจัดพิมพ์และสิ่งพิมพ์ที่รัฐบาลออกค่าใช้จ่าย หรือจัดพิมพ์ในนามรัฐบาล โดยนำไปพิมพ์จากที่ใดก็ตาม สิ่งพิมพ์เหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลหรือเทศบาลท้องถิ่นรวมทั้งสิ่งพิมพ์ของสหประชาชาติด้วย
เฮนรี่ เฟิร์สท์ (Henry Furst) (8) ได้ให้คำจำกัดความว่า สิ่งพิมพ์รัฐบาลหมายถึงสิ่งพิมพ์ตลอดทั้งเอกสารที่จัดพิมพ์ในนามของรัฐบาล รวมทั้งสิ่งพิมพ์ของประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และการประชุมต่าง ๆ ที่รัฐบาลเป็นผู้ให้เงินอุดหนุน
ตามกฎหมายการพิมพ์ค.ศ.1895 (9)ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดระบบการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์รัฐบาล ได้ให้ความหมายของสิ่งพิมพ์รัฐบาลไว้ว่า สิ่งพิมพ์รัฐบาลคือสิ่งพิมพ์ใด ๆ ก็ตาม ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หรือจัดพิมพ์โดยความรับผิดชอบของรัฐสภา หน่วยราชการ หรือสิ่งพิมพ์ที่หน่วย ราชการจัดซื้อหามาหรือแจกจ่ายแก่ข้าราชการหรือประชาชนทั่วไป
เฮิร์ชเบิร์ก(Hirshberg)และเมลินัท(Melinat) (10) ได้ให้คำจำกัดความว่าสิ่งพิมพ์รัฐบาล คือเอกสารที่รัฐบาลจัดพิมพ์ออกมาในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น หนังสือ จุลสาร แผนที่ จะเป็นตัวเขียนหรือตัวพิมพ์ ก็ได้ที่รัฐเป็นผู้จัดทำ หรืออยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยราชการที่มีอำนาจดำเนินการได้ตามกฎหมาย
ในปัจจุบันสิ่งพิมพ์รัฐบาลมีปริมาณมาก และมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากมาย หน่วยราชการต่าง ๆ ได้จัดพิมพ์และผลิตเอกสารทั้งในรูปของวัสดุตีพิมพ์และวัสดุไม่ตีพิมพ์อย่างมากมายและตลอดเวลา สิ่งพิมพ์รัฐบาลจึงมีความหมายรวมถึงวัสดุตีพิมพ์และวัสดุไม่ตีพิมพ์ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐบาล หรือส่วนราชการ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศจัดพิมพ์หรือรับผิดชอบในการจัดพิมพ์ หรือสั่งให้มีการผลิต หรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผลิตเพื่อจ่ายแจกหรือจัดจำหน่ายให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนผู้สนใจทั่วไป
วัตถุประสงค์ของการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์รัฐบาล
ในการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์รัฐบาล ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ หรือส่วนราชการต่าง ๆ จัดพิมพ์ขึ้นนั้น จะมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (11)
1. เพื่อเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่อประชาชน ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวข้อง
2. เพื่อแถลงนโยบายการดำเนินงานให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันโดยถูกต้อง
3. เพื่อเผยแพร่วิชาการและความรู้ในงานที่หน่วยงานนั้นรับผิดชอบ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและส่วนรวม
4. เพื่อเป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ร่วมงาน หรือหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง
5. เพื่อเรียกร้องการสนับสนุน ในด้านกำลังเงิน กำลังใจ จากเจ้าสังกัดจากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6. เพื่อประชาสัมพันธ์ ให้บุคคลทั่วไปและผู้มาเยี่ยมเยียนหน่วยงานได้รู้จักลักษณะของงาน เข้าใจในเหตุผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานนั้นอย่างถูกต้อง
ลักษณะของสิ่งพิมพ์รัฐบาล
การจำแนกลักษณะสิ่งพิมพ์รัฐบาล จำแนกได้ตามลักษณะต่าง ๆ 3 ประการ คือ จำแนกตามลักษณะของหน่วยงานที่จัดพิมพ์ จำแนกตามเนื้อหา และจำแนกตามรูปแบบของสิ่งพิมพ์ได้ดังนี้
ก. หน่วยงานที่จัดพิมพ์ วรรณี วัชรางค์กูล(12) ได้จำแนกลักษณะของสิ่งพิมพ์รัฐบาล ตามลักษณะการปกครองประเทศออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. สิ่งพิมพ์ทางอำนาจนิติบัญญัติหรือที่เกี่ยวกับกฎหมาย ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่จัดพิมพ์ขึ้นในความรับผิดชอบของรัฐสภาเพื่อใช้ในสภาทั้งสองหรือสภาใดสภาหนึ่งรายงานการประชุม (Proceeding) ของแต่ละสภา ร่างกฎหมาย (Bills) กฎหมาย (Law) และประมวลกฎหมาย (Codes)
2. สิ่งพิมพ์ทางอำนาจตุลาการ ได้แก่ สิ่งพิมพ์ของศาล คำพิพากษาศาลที่จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นประจำ กฎข้อบังคับของศาล และรายงานต่าง ๆ
3. สิ่งพิมพ์ทางอำนาจบริหาร หรือเรียกว่าสิ่งพิมพ์ของส่วนราชการต่าง ๆ ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่หน่วยราชการต่าง ๆ จัดพิมพ์ มีรายงานบางอย่างที่หน่วยราชการของทางอำนาจบริหารเป็นผู้จัดทำตั้งแต่แรกเริ่ม แต่นำมาจัดพิมพ์เป็นสิ่งพิมพ์ของรัฐสภาได้แก่ รายงานที่หัวหน้าส่วนราชการยื่นต่อรัฐสภา และรายงานต่าง ๆ ที่รัฐสภาขอไปจากส่วนราชการต่าง ๆ สิ่งพิมพ์ที่หน่วยราชการต่าง ๆ จัดพิมพ์ ได้แก่ รายงานประจำปี รายงานสถิติ รายงานการค้นคว้าและวิจัย วารสาร ระเบียบข้อบังคับ และ เรื่องราว ข้อเท็จจริงต่าง ๆ
ข. เนื้อหา สิ่งพิมพ์รัฐบาลไม่ว่าจะอยู่ในแบบใด หรือผลิตโดยหน่วยงาน ใดก็ตามจะมีเนื้อหา ลักษณะโดยทั่วไปดังนี้
1. เสนอข้อเท็จจริงในการบริหารงานของรัฐบาล หรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง
2. เสนอรายงานการค้นคว้าวิจัยพร้อมทั้งข้อมูลและสถิติต่าง ๆ ที่สำคัญ
3. เสนอความรู้เรื่องราวทั่ว ๆ ไปทุกแขนงวิชาที่อยู่ในความสนใจของ ประชาชน ค. รูปแบบของสิ่งพิมพ์
ถ้าพิจารณารูปแบบของสิ่งพิมพ์รัฐบาลตามชนิดของสิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์รัฐบาลจะผลิตออกมาในรูปแบบต่อไปนี้
1. หนังสือเล่ม เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีหลายหน้าเย็บรวมกันเป็นเล่มหรือเป็นปีกมีปกหุ้ม อาจจะเป็นปกอ่อนหรือปกแข็งก็ได้ ขนาดของหนังสือไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ซึ่งอาจเป็นขนาด 8 หน้ายก หรือ 16 หน้ายก
2. วารสาร เป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกเป็นระยะติดต่อกัน มีกำหนดระยะเวลาออกที่แน่นอน
3. จุลสารหรือเอกสาร เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่มีจำนวนไม่กี่หน้ามักมีเรื่องราวที่จบสมบูรณ์ในเล่มเดียว อาจออกเป็นชุดต่อเนื่องกันได้ 5
4. ใบปลิวหรือแผ่นปลิว เป็นกระดาษแผ่นเดียวไม่มีรอยพับจะพิมพ์หน้าเดียวหรือสองหน้า
5. แผ่นพับ เป็นกระดาษแผ่นเดียว พับหนึ่ง พับสอง หรือ พับสามก็ได้เมื่อกางแผ่นพับออกจะเป็นแผ่นกระดาษยาว ๆ ปกติใช้สำหรับโฆษณาหรือประกาศ หรือสูจิบัตรในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นแบบที่ประหยัด เพราะไม่ต้องเข้าเล่มหรือเย็บเล่ม
6. โสตทัศนวัสดุ เป็นวัสดุไม่ตีพิมพ์ทั้งหลาย เช่น ภาพยนตร์ ภาพนิ่งภาพเลื่อน แผ่นเสียง เทปบันทึกเสียง ตลอดจนวัสดุย่อส่วน(Microform) ชนิดต่าง ๆ
ลักษณะที่ดีของสิ่งพิมพ์รัฐบาล
หลุยส์ ชอร์ส (13) ได้กล่าวถึงลักษณะที่ดีของสิ่งพิมพ์รัฐบาลไว้ดังนี้
1. ผู้แต่ง จะมีความเชื่อถือได้สูงเพราะจัดพิมพ์ออกมาในนามของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องนั้น ๆ โดยตรง ในการนำเสนอข้อมูลมักจะทำในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งส่วนใหญ่จะ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือมีความเชี่ยวชาญในงานด้านนั้น ๆ โดยเฉพาะ
2.งบประมาณ จะประหยัดเงินของผู้อ่านหรือห้องสมุด ในการจัดซื้อเพราะในการจัดหาสิ่งพิมพ์ รัฐบาลอาจจะติดต่อขอรับบริจาคได้ฟรี หรือถ้าจะต้องซื้อก็สามารถซื้อได้ในราคาถูก เพราะการจัดพิมพ์นั้นมิได้มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการค้า
3. ทันเหตุการณ์ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสิ่งพิมพ์รัฐบาล มักจะเป็นข้อมูลที่ปรากฏก่อนหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ สิ่งพิมพ์ประเภทอื่น ๆ มักจะนำข้อมูลจากสิ่งพิมพ์รัฐบาลไปใช้ในการอ้างอิง
4. คุณภาพ เป็นที่ยอมรับกันว่าสิ่งพิมพ์รัฐบาลเป็นเอกสารขั้นต้น(Priamry Source) ที่เชื่อถือได้
5. ความน่าอ่าน สิ่งพิมพ์รัฐบาลในต่างประเทศจัดพิมพ์ด้วยรูปเล่มที่น่าอ่าน ส่วนสิ่งพิมพ์รัฐบาลของไทยก็มีหน่วยงานต่าง ๆ หลายแห่งจัดพิมพ์ในรูปเล่มที่น่าอ่าน
ประโยชน์ของสิ่งพิมพ์รัฐบาล
สิ่งพิมพ์รัฐบาลหรือเอกสารของทางราชการทุกชนิด ช่วยให้ผู้อ่านได้ทราบ การบริหารงาน การดำเนินงานและใช้เป็นประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัย รวมทั้งให้ประชาชนได้รับรู้การดำเนินงานของรัฐบาล สิ่งพิมพ์รัฐบาลจึงมีประโยชน์ในด้านต่อไปนี้ (14)
ประโยชน์ของสิ่งพิมพ์รัฐบาล สิ่งพิมพ์รัฐบาลหรือเอกสารของทางราชการทุกชนิด ช่วยให้ผู้อ่านได้ทราบ การบริหารงาน การดำเนินงาน และใช้เป็นประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัย รวมทั้งให้ประชาชนได้รับรู้การดำเนินงานของรัฐบาล สิ่งพิมพ์รัฐบาลจึงมีประโยชน์ในด้านต่อไปนี้
1. ประโยชน์ทางด้านการบริหาร การเสนอเรื่องราว ข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงานทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารขั้นสูงขึ้นไปหรือหน่วยงานย่อย ตลอดจนบุคลากรของหน่วยงานระดับต่าง ๆ และประชาชนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน
2. ประโยชน์ทางด้านกฎหมาย สิ่งพิมพ์รัฐบาลบางประเภท เช่น กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ประชาชน ผู้ปฏิบัติได้ทราบและปฏิบัติได้ ถูกต้อง
3. ประโยชน์ทางด้านการศึกษาค้นคว้าและวิจัย สิ่งพิมพ์รัฐบาลใช้เป็นแหล่งข้อมูลขั้นปฐมภูมิ ซึ่งใช้อ้างอิงในการศึกษาค้นคว้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้สถิติ ข้อมูลต่าง ๆ ใช้ในการศึกษาวิจัยของผู้สนใจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. ประโยชน์ทางด้านประวัติศาสตร์ สิ่งพิมพ์รัฐบาลเป็นบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ แต่ละสมัย ซึ่งจะเป็นเอกสารอ้างอิงในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยไปแล้วเป็นอย่างดี
ที่มา
ชาญกิจ ชอบทำกิจ. สิ่งพิมพ์รัฐบาล. (2546, พฤศจิกายน 11).
ค้นเมื่อ พฤศจิกายน 11, 2546, จาก
http://arc.rint.ac.th/lesson/gpo1.html
รายการเชิงอรรถ
1 กนกวรรณ สุวรรณวัฒนา การจัดสิ่งพิมพ์
รัฐบาลของห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ หน้า 1.
2 จารุวรรณ สินธุโสภณ วิทยานุกรมบรรณารักษศาสตร์ หน้า 62.
3 เฉลียว พันธุ์สีดา สิ่งพิมพ์รัฐบาล หน้า 3.
5 ธาดาศักดิ์ วชิรปรีชาพงศ์ หลักบรรณารักษศาสตร์ หน้า 308.
6 พิมลพรรณ ประเสริฐวงศ์ เรพเพอร์ การบริการตอบคำถามเพื่อช่วย
การค้นคว้า หน้า 236.
7 รัญจวน อินทรกำแหง การเลือกหนังสือพิมพ์
วารสาร สิ่งพิมพ์รัฐบาลและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ หน้า 104.
8 A. D. Robert. Introduction to reference books. p. 126.
Henry Furst. "Government Publication",
Encyclopedia of social sciences. p. 12
10 Anne Morris Boyd. United States Government publications. p. 20
11 Herbert S. Hirshberg and Carl H.
Melenat. Subject guide to United
States publications. pp.19 - 21.
12 รัญจวน อินทรกำแหง การเลือกหนังสือพิมพ์
วารสาร สิ่งพิมพ์รัฐบาล และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ หน้า 104 - 105.
13 วรรณี วัชรางค์กูล การจัดสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลไทย หน้า 18 -19.
14 Louis Shore. Basic reference books. pp. 208 -209.
|
|