1635206 การจัดการข้อมูลและศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น
Information Management and Local Information Centers
3(2-2)

ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
กรุงเทพมหานคร

chumpot@hotmail.com

พัฒนาการในการดำเนินงานจัดการข้อมูลท้องถิ่น

การดำเนินงานจัดการในเรื่องข้อมูลท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับเรื่องข้อมูลของท้องถิ่นในแต่ละแห่งที่มีการจัดเก็บในสภาพความต้องการของแต่ละ ท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ถ้ารวบรวมจากพัฒนาการของเกิดศูนย์สารนิเทศจากอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พอสรุปจากประเภทของสารสนเทศ ที่จัดเก็บ เป็นห้องสมุดในอดีตได้ ดังนี้

1.ห้องสมุดดินเหนียว (Libraries of Clay หรือ House of Clay Tablets) เป็นห้องสมุดยุคแรกที่ เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรเมโสโปเตเมียโบราณเรือง อำนาจซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศอิรัก ซีเรีย และตุรกี ประชาชนชาวเมโสโปเตเมีย ได้ค้นพบวิธีการจดสารนิเทศให้คงทนอยู่ได้นาน ด้วยการขีดเขียนอักษร ลงบนแผ่นดินเหนียวซึ่ง เปียกอยู่แล้วนำไปทำให้แห้งหรือเผากลายเป็น สารนิเทศเพื่อการเรียนรู้ของคนในชาติยุคนั้น (Atherton 1981 : 228 g) และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของคนในปัจจุบัน

มีการสร้างห้องสมุดเพื่อเก็บรักษาแผ่นดินเหนียวในวัด ในวัง ในบ้าน และที่ทำ การของรัฐบาล เรื่องราวส่วนใหญ่ที่บันทึก ได้แก่ วรรณกรรม นิยาย กาพย์ กลอน ต่าง ๆ และเรื่องราวทางศาสนา เช่น การสดุดีเทพเจ้า เพลงสวด วรรณกรรมที่รู้จักกันอย่าง แพร่หลาย คือ มหากาพย์กิลกาเมซ (Gilgamesh Eqic) ซึ่งกล่าวถึงการผจญภัย ของกษัตริย์ในเทพนิยายของนครเออรุค เขียนลงแผ่นดินเผาขนาดใหญ่ 12 แผ่น รวมทั้งสิ้น 3,000บรรทัด ผลงานที่ค้นพบจากแผ่นดินเหนียวของชาวบาบิโลเนียนที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่อง ประมวลกฏหมายฮัมมูราบี (The code of Hammurabi) ซึ่งนับว่าเป็นกฏหมาย ฉบับแรกของโลก ห้องสมุดดินเหนียวที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ห้องสมุดประจำวิหารของนาบู ใน สมัยของพระเจ้าซาร์กอนที่ 2

เมื่อประมาณ ค.ศ. 1850 นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ค้นพบแผ่นดินเหนียว หลายพันแผ่นที่เมืองนิเนเวห์ (Nineveh) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ อาณาจักรอัลซิเรีย สันนิษฐานว่าเป็นแผ่นดินเหนียวในสมัยของพระเจ้าเซ็นนาเชอริน (King Senna Cherib of Assyria) ซึ่งครองราชสมบัติ ราวปี 704-681 ก่อนคริสตกาล และหอสมุดที่ได้รับ การยกย่องและเป็นที่รู้จักกันมากคือ หอสมุดกรุงนิเนเวห์ในรัชสมัยของพระเจ้าอัสเซอร์ บานิปาล (Ashurbanipal) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรอัสซีเรีย เพราะได้พบแผ่นดิน เหนียวประมาณ 25,000 แผ่น (Francis 1980 : 856) เป็นจารึกเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น ศาสนา ได้แก่ เรื่องราวของเพลงสวด นิยายปรำปราเกี่ยวกับมหาอุทกภัยและ การสร้างโลก เรื่องราวจารึก ทางด้านประวัติศาสตร์และการปกครอง การแพทย์ การทหาร และวรรณกรรมต่าง ๆ กล่าวกันว่า หอสมุดกรุงนิเนเวห์เป็นหอสมุดจารึก แผ่นดิน เหนียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สารนิเทศที่อ่านได้จากแผ่นดินเหนียว มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายเรื่องไม่ว่าจะ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ของสังคมในยุคนั้น เป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่ สามารถถ่ายทอดข้อความที่บันทึกไว้ได้หมด และสื่อสารนิเทศประเภท แผ่นดินเหนียวก็เริ่ม เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา และขาดผู้ที่มีความสามารถในการอ่านอักษรคูนิฟอร์มที่ใช้บันทึก ทำให้คนในสมัยปัจจุบันจะต้องหาวิธีการ ที่ถ่ายทอดสารนิเทศที่มีนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการ ศึกษาค้นคว้าต่อไป

2.ห้องสมุดปาไปรัส(Libraries of Papyrus) ห้องสมุดประเภทนี้เก็บรวบรวม บันทึก เรื่องราว และเหตุการณ์ต่าง ๆ จากวัสดุที่ทำจากกระดาษปาไปรัส ซึ่งชาวอียิปต์รู้ จักทำขึ้นโดยนำต้นอ้อซึ่งมีมากแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ เรียกว่า ต้นปาไปรัส นำมาลอกเอาเยื่อ บาง ๆ ประกบกันหลาย ๆ ชั้น ทำเป็นแผ่นกระดาษขึ้น แผ่นกระดาษเหล่านี้เมื่อนำเอา ด้านข้างมาต่อกันจะเป็นแผ่นที่ยาวออกใน ด้านข้าง บางฉบับยาวถึง 40 หลา ใช้หญ้ามา ทุบปลายให้เป็นฝอยใช้แทนพู่กัน และต่อมาใช้ปล้องหญ้าตัดทำเป็นปากกา หมึกที่ใช้ทำด้วยถ่าน ไม้บดละเอียดผสมยางไม้ การใช้กระดาษปาไปรัสได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่าง ๆ เรื่องราวที่ชาวอียิปต์บันทึกไว้ในม้วนกระดาษปาไปรัสเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ศาสนาการปกครอง ศีลธรรมจรรยา บทละครศาสนา ตำรายา และคณิตศาสตร์ เป็นต้น ม้วนปาไปรัสสูงประมาณ 1 ฟุต ยาวประมาณ 20 ฟุต ม้วนเก็บไว้ในกล่องดินเหนียวหรือ โลหะทรงกระบอกเชื่อกันว่า หนังสือม้วนที่เก่าที่สุดของอียิปต์ ได้แก่Prisse Papyrus ซึ่ง เป็นบันทึกสุภาษิตของปตาหเทป (Ptahhatep)นักปราชญ์ชาวอียิปต์ ซึ่งเขียนขึ้นใน ราว 2,880 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส ส่วนหนังสือม้วนที่ยาว ทิ่สุด ได้แก่ Harris Papyrus I มิความยาวถึง 133 ฟุต ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่ง ชาติอังกฤษ

ห้องสมุดปาไปรัสที่รู้จักกันดีจากการศึกษาและค้นพบทางโบราณคดี ได้แก่ หอสมุด แห่งเมืองกิเซท์ (Gizeh) ซึ่งสร้างเมื่องราว 2,500 ปี ก่อนคริสตกาล หอสมุดที่เมือง อามาร์นา (Amarna) สร้างเมื่อราว 1,350ปีก่อนคริสตกาล และหอสมุดที่เมืองธีบีส (Thebes) เป็นต้น กรีกเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สร้างหอสมุดส่วนตัวไว้มาก ทั้งนี้เพราะชาวกรีกเป็นผู้ที่ รักและสนใจในการศึกษาค้นคว้า ห้องสมุดของเพลโต และอริสโตเติล ซึ่งเป็นนักปราชญ์ที่ สำคัญของโลก ได้รวบรวมม้วนปาไปรัสไว้มากมาย และห้องสมุด ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสมัย กรีกรุ่งเรือง คือ ห้องสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) เป็นห้องสมุดที่รวบรวม เอกสารสำคัญเป็นภาษาอียิปต์ ฮิบรู กรีก และภาษาอื่น ๆ ประมาณเจ็ดแสนม้วน นับเป็นห้องสมุดที่ใหญ่และสำคัญที่สุด ของโลกสมัยโบราณ (Atherton 1981 : 228 g)

3. ห้องสมุดแผ่นหนัง (Libraries of Parchment) การบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในสมัยโบราณ นอกจากจะบันทึกลงบน แผ่นกระดาษปาไปรัสแล้ว ยังมีการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ลงบนแผ่นหนังอีกด้วย การใช้แผ่นหนังเป็นวัสดุสำหรับ การเขียน ได้รู้จักกันมานานราว 500 ปี ก่อนคริสตกาล ต่อมาพระเจ้าปโตเลมีที่ 5 ของอียิปต์ ซึ่งครองราชย์ในราว 200 ปีก่อน คริสตกาลได้ทรง สั่งห้ามมิให้อียิปต์ส่งกระดาษปาไปรัสออกขายต่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ชาติ อื่นๆมีความเจริญทัดเทียมกับอียิปต์

เมื่อกระดาษปาไปรัสเริ่มขาดแคลนประกอบกับม้วนปาไปรัสไม่สะดวกแก่การเขียนและ การอ่าน พระเจ้าเปอร์กามัม (Pergamum) แห่งกรีก จึงทรงดำริคิดหาวิธีฟอกหนังให้เหมาะ แก่การเขียนและสามารถเขียนได้สองหน้าซึ่งเรียกว่า กระดาษหนัง (Parchment) การใช้หนังเพื่อเขียน หนังสือจึงใช้ทั่วไปในยุโรปตั้งแต่นั้นมา และเนื่องจากแผ่นหนังจะม้วนแบบแผ่นปาไปรัสได้ยาก และไม่สามารถนำเอามาต่อกันให้ยาวได้ จึงมีการคิดหาวิธีเอาแผ่นหนังมา วางซ้อนกันเย็บเป็นเล่มเรียกว่า โคเด็กซ์ (Codex) ห้องสมุดที่รวบรวมแผ่นหนังที่สำคัญ คือ ห้องสมุดเมืองเปอร์กามัมในเอเซียไมเนอร์

นักโบราณคดี ได้ค้นพบหลักฐานการเขียนหนังสือเป็นจำนวนมากในบริเวณถ้ำ แถบทะเลมรณะ (Dead Sea) และให้ชื่อว่า ม้วนแผ่นหนังทะเล มรณะตามสถานที่ค้นพบ (Atherton 1981 : 228 g) ม้วนแผ่นหนังดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่จารึกเรื่องราวเกี่ยวกับ คัมภีร์ศาสนาไบเบิล

4. ห้องสมุดยุคปัจจุบัน (Libraries of papers) อารยธรรมของโลกได้ เจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง จากวิวัฒนาการ เก็บหนังสือในรูปวัสดุต่าง ๆ ในห้องสมุดสมัย โบราณ ยังมีการจัดเก็บหนังสือประเภทต่าง ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น อย่างไรก็ดี ช่วงที่ห้องสมุดมีความซบเซามากที่สุด ได้แก่ ยุคกลางในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นยุคสมัยที่อาณาจักรโรมัน ภาคตะวันตกเสื่อมลง เริ่มมีการก่อตั้งเป็น ประเภทต่าง ๆ ในทวีปยุโรปขึ้นในราว ค.ศ. 500-1000 กิจการการดำเนินงานของห้องสมุดส่วนใหญ่อยู่ในวัง ของกษัตริย์ อยู่ในบ้าน ของขุนนางและ อยู่ภายในวัด ต่อมาในระหว่าง ค.ศ. 1300-1600 มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น ในทวีปยุโรป ซึ่งมีผลก่อให้เกิดสถาบันใหม่ ๆ ขึ้นในสังคม ซึ่งเรียกว่า เป็นยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ทำให้กิจการห้องสมุดได้รับการสนับสนุน จัดสร้างเพิ่มเติมและแพร่หลายไปสู่ประชาชน ในช่วงราวคริสศตวรรษที่ 15 ชาวเยอรมันชื่อ กูเตนเบอร์ก (Gutenberg) ได้ ค้นพบวิธีการพิมพ์หนังสือ โดยคิดประดิษฐ์ เครื่องพิมพ์ตัวอักษร ที่ทำด้วยโลหะขึ้น การค้นพบ วิธีการพิมพ์นี้เองที่ทำให้วิทยาการและการศึกษาค้นคว้าต่าง ๆ แพร่หลายไปทั่ว ลักษณะของ หนังสือก็เปลี่ยนไป หนังสือมีขนาดเล็กลงและมีราคาถูก ใช้ได้สะดวก เมื่อกิจการการพิมพ์ หนังสือแพร่หลาย ทำให้มีการผลิตหนังสือให้กับห้องสมุดประเภทต่าง ๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้

สารนิเทศที่จัดเก็บในห้องสมุดแต่ละยุคแต่ละสมัย เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา ประเทศก่อนที่จะเกิดระบบโรงเรียน ห้องสมุดได้ทำหน้าที่ เป็นโรงเรียนสอนศิลปวิทยาการ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะการใช้ประโยชน์จากสารนิเทศที่คนรุ่นก่อน ได้บันทึกไว้ วิหารของกรีก ในสมัยโบราณ ได้สะสมห้องสมุดเพื่อรวบรวมสารนิเทศไว้มาก และเริ่มเกิดโรงเรียนทาง ปรัชญาได้ศึกษากันหลายแห่ง เช่น โรงเรียนของเพลโต โรงเรียนของเอฟิคิวเรียน ซึ่งมี ชื่อเสียงและเปิดสอนมาหลายศตวรรษ แต่โรงเรียนที่ใช้สารนิเทศในการสอนที่มีชื่อเสียง มากที่สุด ได้แก่ โรงเรียนเปอริพาเตติก ซึ่งจัดตั้งโดยอริสโตเติล (Francis 1980 : 857) และสารนิเทศจากโรงเรียนของอริสโตเติล ได้ตกทอดต่อมาตามลำดับ จนกระทั่งจัด เก็บไว้ให้บริการในกรุงโรมต่อมา

ความเจริญเติบโตและพัฒนาการของห้องสมุดแต่ละยุค เป็นการสะสมสารนิเทศที่ มีค่าของมนุษยชาติมาตั้งแต่ต้น ห้องสมุดจึงทำหน้าที่เป็น ตัวกลางที่สำคัญที่เชื่อมโยงสารนิเทศ และผู้ใช้สารนิเทศเข้าด้วยกัน แม้สื่อสารนิเทศจะเปลี่ยนแปลง รูปแบบออกไป ห้องสมุดก็ยัง ทำหน้าที่เป็นศูนย์สารนิเทศเพื่อการให้บริการความรู้ได้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


หน้าสารบัญ

ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 14 มิถุนายน 2550
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com