1633106 การเผยแพร่สารนิเทศด้วยเทคโนโลยีสารนิเทศ
Information Technology Dissemination
with Information Technology Tools

3 (2-2)

บริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศ
(Selective Dissemination of Information-SDI)

บริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศ เป็นบริการสารนิเทศชนิดหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากการให้บริการสารนิเทศทันสมัย บริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศเกิดขึ้นครั้งแรกในศูนย์สารนิเทศเฉพาะโดยจัดเป็นบริการภายในหน่วยงานที่ใช้เครื่องจักรกล ในการคัดเลือกสารนิเทศใหม่ๆ จากแหล่งข้อมูลทุก ประเภท

นวนิตย์ อินทรามะ (2518 : 76) ให้ความหมายของการบริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศว่า เป็นการให้บริการที่ผู้ใช้บริการ แจ้งให้หน่วยบริการสารนิเทศทราบว่าผู้ใช้นั้น สนใจในวิชาใด เอกสารประเภทใด แล้วมอบให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะ เสาะแสวงหาสารนิเทศนั้น เอกสารหรือสารนิเทศต่าง ๆ ที่หน่วยบริการสารนิเทศได้รับจะคัดเลือกตามความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน แล้วแจ้งให้ผู้ใช้ทราบ อาจโดยวิธีการทำสาระสังเขป ดรรชนี หรือบรรณานุกรม แต่เป็นการทำเฉพาะเอกสารที่อยู่ในความสนใจ ของผู้ใช้แต่ละคน

ความสำคัญของบริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศ
ปัจจุบันศูนย์สารนิเทศและห้องสมุดต่างๆ ได้ให้บริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศ ให้แก่ผู้ใช้สารนิเทศเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะบุคคล จนบริการชนิดนี้ได้จัดทำเป็นการค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น การให้บริการ Automatic Subject Citation Alert (ASCA) ซึ่งมีรายละเอียดของสารนิเทศคล้ายกับ Science Citation Index(สุธันนี กี่ศิริ 2528 : 82-83) และบริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศ กำลังทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอสรุปได้ดังนี้ คือ

    1. เป็นบริการสารนิเทศที่ศึกษาความต้องการของผู้ใช้ก่อน แล้วเปรียบเทียบความต้องการหรือความสนใจของผู้ใช้ กับสารนิเทศใหม่ที่ได้รับ
    2. เป็นบริการสารนิเทศที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ใช้ได้พัฒนาตนเองทันกับความก้าวหน้าทางวิชาการ ได้ใช้ประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัย การตัดสินใจ และด้านอื่น
    3. เป็นบริการที่ช่วยประหยัดเวลาของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยในการค้นหาข้อมูล เพราะได้ตัดทอนเอกสารที่ไม่ต้องการออกไป
    4. เป็นบริการที่มีลักษณะต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่สิ้นสุดทันที
    5. เป็นบริการที่ผู้ใช้ไม่สามารถกำหนดให้แน่ชัดว่าต้องการสารนิเทศรายการใด กล่าวคือ เมื่อได้รับข้อมูล ผู้ใช้อาจพอใจกับผลงาน เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะตรงกับงานที่กำลังดำเนินอยู่ หรือเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยเรื่องใหม่ก็ได้
    6.เป็นบริการที่ประเมินผลโดยผู้ใช้ และปรับปรุงรายการความต้องการของผู้ใช้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

องค์ประกอบของบริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศ
การให้บริการเลือกเผยแพร่สารนิเทศ มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 4 ประการ (สุธันนี กี่ศิริ 2528 : 87) ดังต่อไปนี้ คือ

    1. การจัดทำรายชื่อสมาชิกผู้ใช้บริการ (Users Profile) การสร้างรายชื่อสมาชิกผู้ใช้บริการที่สะท้อนถึงความต้องการ จัดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดและมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จของบริการ รายการบันทึกความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนเรียกว่า "Profile" เมื่อนำมารวมกันก็กลายเป็น "Users File" การจัดสร้าง Users Profileหมายถึง การจัดทำหัวข้อวิชาที่ผู้ใช้สนใจกำลังศึกษา หรือ ทำการวิจัยอยู่ทั้งนี้ความต้องการดังกล่าวจะต้องระบุชัดเจน แต่การวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้เป็นเรื่องค่อนข้างยากและซับซ้อน กว่าการวิเคราะห์เอกสาร ระบบการจัดหมู่หนังสือและเอกสารเหมาะกับการจัดหนังสือและเอกสารบนชั้น มากกว่าการวิเคราะห์ ความต้องการของผู้ใช้ บรรณารักษ์หรือนักสารนิเทศจะต้องศึกษาความต้องการของผุ้ใช้เพื่อคัดเลือกสารนิเทศ ได้ตรงกับความสนใจ โดยให้ผู้ใช้สารนิเทศกรอกรายการต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้ เช่น ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง หมายเลขโทรศัพท์ สถานที่ทำงาน สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ ภาษาที่ใช้ หัวข้อวิชาที่สนใจ และรายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อวิชาที่สนใจนั้น ๆ รายละเอียดเหล่านี้จะบันทึกไว้ในรายการบันทึกของผู้ใช้บริการแต่ละคน
    2. การสร้างแหล่งสะสมข้อมูล (Document Profile) เป็นการทำสารนิเทศ ต่างๆในศูนย์สารนิเทศมาวิเคราะห์เนื้อหา เพื่อเตรียมการบริการแก่ผู้ใช้ เรียกว่าเป็นการสร้างฐานข้อมูล ตามวิธีการการจัดเก็บสารนิเทศและเรียกใช้สารนิเทศ การให้หัวเรื่องของ สารนิเทศควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับหัวเรื่องที่ผู้ใช้บริการต้องการใช้เพื่อประโยชน์ในการใช้หัวเรื่องร่วมกัน
    3. การเปรียบเทียบเพื่อคัดเลือกสารนิเทศ (Comparion or Matching) เมื่อได้ระยะเวลาที่กำหนดในการให้บริการเช่น เดือนละครั้ง หรือเดือนละสองครั้ง ศูนย์ สารนิเทศที่ให้บริการจะนำรายชื่อผู้ใช้บริการที่ระบุความต้องการสารนิเทศไว้แล้วมาเปรียบ เทียบกับฐานข้อมูลที่เป็นสารนิเทศที่ได้รวบรวมไว้ในระยะเวลาหลังสุดเพื่อค้นหาสารนิเทศที่ผู้ใช้ต้องการ ในการคัดเลือกสารนิเทศ จะต้องพยายามเลือกให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด ไม่ให้กว้างหรือแคบจนเกินไป
    4. การติดต่อกับสมาชิกผู้ใช้บริการ (Notification) เมื่อทางศูนย์สารนิเทศได้ดำเนินการคัดเลือกสารนิเทศตรงกับความต้องการ ของผู้ใช้สารนิเทศแล้ว ศูนย์สารนิเทศ หรือผู้ให้บริการจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการได้ทราบโดยรวดเร็ว โดยทั่ว ๆไปแล้ว ผู้ให้บริการ มักจัดส่งเฉพาะรายละเอียดทางบรรณานุกรมหรืออาจระบุหัวเรื่องเฉพาะ และสาระสังเขปด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้พิจารณาคัดเลือก สารนิเทศที่ต้องการแล้วจัดส่งในรูปเล่มหนังสือ เอกสารหรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ภายหลัง

ตัวอย่าง
ห้องสมุดที่ให้บริการในประเทศไทย
กองสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ

เริ่มให้บริการ SDI เมื่อปี 2526 โดยใช้ฐานข้อมูลเพียงแห่งเดียว คือ Chemical Abstracts ซึ่งเป็นสาระสังเขปทางเคมีและวิศวกรรมเคมี ให้บริการแก่ผู้ใช้ ห้องสมุดที่ไม่มีเวลาเข้าใช้ห้องสมุดได้เป็นประจำ ผู้ใช้จะแจ้งความต้องการเป็นการส่วนตัวไว้ล่วงหน้า เมื่อห้องสมุดได้รับ Chemical Abstracts ฉบับใหม่ บรรณารักษ์จะถ่ายเอกสารในห้วข้อที่ผู้ใช้ต้องการไปให้

ศูนย์บริการเอกสารวิจัยแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
บริการ SDI จัดรวมอยู่ในบริการข้อสนเทศที่ทันสมัย โดยห้องสมุดจะทำการศึกษาแนวโน้มความสนใจของผู้ใช้ในปัจจุบันว่า สนใจหัวข้อวิชาใด แล้วรวบรวมรายการสารนิเทศของแต่ละหัวข้อวิชาไว้ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ทั้งภายในและภายนอกสถาบัน นอกจากนี้ผู้ ใช้ภายใน อาจแจ้งความต้องการไว้ล่วงหน้า เมื่อห้องสมุดได้รับเอกสารใหม่ที่ตรงกับความต้องการ ก็จัดส่งไปให้ฐานข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ Technical Files ซึ่งเป็นข้อสนเทศใหม่ที่ห้องสมุดได้รับ

หน้าสารบัญ