|
1633110 เทคโนโลยีสารนิเทศและการประยุกต์ใช้
Information Technology and Application
ภาคต้น ปีการศึกษา 2548
3 (2-2)
ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
อ.เมือง กาญจนบุรี 71190
chumpot@hotmail.com
ประเภทของเครื่องคอมพิวเตอร์
เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถจำแนกออกไปเป็น 3 ประเภท (Sanders, 1988, pp. 28-29) คือ เครื่องคอมพิวเตอร์แบบอะนาลอก (Analog Computer) เครื่องคอมพิวเตอร์แบบดิจิตอล (Digital Computer) และเครื่องคอมพิวเตอร์แบบไฮบริด (Hybrid Computer)
เครื่องคอมพิวเตอร์แบบอะนาลอก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการวัดคุณค่าทางฟิสิกส์โดยการเปลี่ยนสถานภาพบางอย่างให้กลายมาเป็นปริมาณที่วัดได้ เครื่องคอมพิวเตอร์แบบอะนาลอกจัดเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดข้อมูลแบบต่อเนื่อง (Continous Data) ตัวอย่างเช่น ในสถานีบริการน้ำมันมีการวัดปริมาณน้ำมันและแจ้งราคาน้ำมัน เทอร์โมมิเตอร์ และ Slide Rule เป็นต้น
เครื่องคอมพิวเตอร์แบบดิจิตอล ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการนับตัวเลขหรือแทนสัญลักษณ์ทางตัวเลข อักขระ หรือสัญลักษณ์อื่น ๆ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการนับข้อมูล เช่น เครื่องนับจำนวนคนตามทางประตูทางเข้าห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
เครื่องคอมพิวเตอร์แบบไฮบริด ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่รวมเอาความสามารถในการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบอะนาลอกและแบบดิจิตอลเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้เราอาจจำแนกประเภทของเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้กับงานทั่วไป (General Purpose Computer) และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้กับงานเฉพาะ ( Special Purpose Computer )
เครื่องคอมพิวเตอร์แบบที่ใช้กับงานทั่วไป เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำการคำนวณทางคณิตศาสตร์พื้นฐานโดยทั่วไปได้ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถสั่งให้เครื่องทำงานชนิดใดก็ได้ขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่ผู้ใช้เขียน โดยปกติจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดนี้กับงานทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการคำนวณที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อนเพื่อการค้นคว้าต่าง ๆ
เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้กับงานเฉพาะ เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขีดจำกัดในการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง การทำงานจึงเกี่ยวข้องกับงานประจำที่มีเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอยู่เสมอ การคำนวณที่ใช้เป็นแบบง่าย ๆ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อวัตถุประสงค์ที่แน่นอนนี้ จะทำได้โดยการเขียนโปรแกรมสำเร็จรูปเข้าไปในเครื่องเพื่อการใช้ตลอดไป เครื่องคอมพิวเตอร์ประเภทนี้ใช้มากในงานด้านธุรกิจ ตัวอย่างเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการออกใบเสร็จรับเงินค่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
ขนาดของเครื่องคอมพิวเตอร์
ขนาดของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น เราวัดตามขนาดของความจุของหน่วยความจำหลักที่ใช้งาน (Main Memory) ซึ่งบอกความจุเป็นจำนวนกิโลไบท์ -K Bytes ZKilo Bytes โดยที่ K เป็นค่าคงที่ มีค่าเท่ากับ 2ยกกำลัง 10 หรือ 1,024 และไบท์ 1 ตัวหมายถึง 1 ตัวอักขระ (ตัวเลข ตัวอักษร หรือ
เครื่องหมายต่างๆ ) ดังนั้นถ้าคอมพิวเตอร์มีขนาด 5 กิโลไบท์ ก็หมายความว่า เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น สามารถเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยความจำของเครื่องได้เท่ากับ 5 x 1,024 ตัว ในปัจจุบัน นักคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ได้แบ่งขนาดของคอมพิวเตอร์ได้ดังนี้ (Williams,Brian k., Sawyers, Stacey C., & Hutchinson, Sarah E, 1999,pp. 21-24; Sanders, 1988, pp. 30-31) คือ
1. คอมพิวเตอร์ส่วนควบคุม (Microcontrollers) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ที่ติดตั้งลงไปในอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ติดตั้งลงไปในเครื่องไมโครเวฟ เพื่อสั่งให้ทำงานตามที่ระบุไว้เช่น อุ่นอาหารเป็นเวลาตามที่กำหนด เป็นต้น
2. คอมพิวเตอร์ส่วนบุคล (Personal computers) คอมพิวเตอร์ขนาดนี้เป็นเครื่องขนาดเล็ก มีขนาดเล็กจนกระทั่งสามารถนำไปใช้งานกับการควบคุมระบบของเครื่องยนต์ได้หรือจัดสร้างโดยคนทั่วไป สามารถมีไว้ใช้ส่วนตัวเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computers) และใช้กับการทำงานในสำนักงาน เป็นคอมพิวเตอร์สำนักงาน (workstations)
คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เหมาะสำหรับการทำงานโดยทั่วไป เคลื่อนย้ายได้ง่าย มีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับการใช้งานในสภาพต่างๆกัน เช่นคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop computer) คอมพิวเตอร์แบบพกพา(Laptops หรือ Notebook computers) เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีน้ำหนักเบา มีน้ำหนักประมาณ 1- 2 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีการจัดทำคอมพิวเตอร์ฉบับกระเป๋า(Pocket computer)ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 1 ปอนด์ สามารถพกใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อได้อย่างสะดวก
คอมพิวเตอร์สำนักงาน (Workstations) เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการทำงานในสำนักงานทั่วไป มีคุณสมบัติในการทำงานที่ดีกว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคลทั่วๆไป เหมาะสำหรับการตั้งประจำอยู่บนโต๊ะทำงาน ไม่เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหน
3. คอมพิวเตอร์ขนาดกลางขนาดใหญ่(Minicomputers)เป็นคอมพิวเตอร์ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้งานทางด้านจุดประสงค์โดยทั่วๆ ไป แต่สามารถให้บริการแก่คนจำนวนมากได้ เหมาะสำหรับงานบริษัทต่างๆในระบบเครือข่าย
4. คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (Mainframe Computers) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และมีหน่วยความจำมากตั้งแต่ 1,000 กิโลไบท์ขึ้นไป เหมาะกับงานธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น งานด้านธนาคาร ศูนย์บริการข้อมูลระบบออนไลท์ เป็นต้น
5. คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่พิเศษ (Supercomputers) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุด ผลิตเพื่อการทำงานเกี่ยวกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สลับซับซ้อน สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วที่สุด และมีราคาแพงที่สุด
ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer System)
ระบบคอมพิวเตอร์ หมายถึง องค์ประกอบที่รวมการปฏิบัติงานส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เพื่อปฎิบัติงานให้เกิดผลตามที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าขาดองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่ง คอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่ต้องการ
องค์ประกอบหรือระบบของคอมพิวเตอร์
องค์ประกอบหรือระบบของคอมพิวเตอร์ มี 3 ส่วนคือ
1. ฮาร์ดแวร์ หรือส่วนประกอบของตัวเครื่อง (Hardware)
ฮาร์ดแวร์หรือส่วนประกอบของตัวเครื่อง (Hardware) หมายถึง ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ต่อ เข้ากับเครื่อง คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการประมวลผล ได้แก่
1.1. เครื่องบันทึกข้อมูล (Data Entry Equipment) ได้แก่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียม และบันทึกข้อมูล เพื่อใช้ในการประมวลผล เช่น เครื่องเจาะบัตร (Card Punch) เครื่องบันทึกข้อมูลลงเทป (Key-to-Tape) เครื่องบันทึกข้อมูลลงจานข้อมูล (Key-to-Disk) เป็นต้น
1.2. หน่วยรับข้อมูล (Input Unit) ได้แก่ อุปกรณ์ส่งข้อมูลเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ เช่นเครื่องอ่านจานข้อมูล (Disk Drive) เครื่องอ่านเทป (Tape Reader) แป้นพิมพ์ข้อมูล (Keyboard) เป็นต้น
1.3. หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit) หมายถึงส่วนที่ทำการประมวลผล เป็นศูนย์กลางการควบคุม การทำงานของคอมพิวเตอร์ โดยวิธีการควบคุมการทำงานให้สอดคล้องกัน ประกอบด้วย
1.3.1 รีจีสเตอร์ (Register) เป็นหน่วยความจำประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เก็บข้อมูลอยู่ในหน่วยประมวลผลกลาง ก่อนที่หน่วยประมวลผลกลางจะทำการประมวลผลจะต้องเรียกข้อมูล และโปรแกรมจากหน่วยความจำหลัก มาเก็บไว้ในรีจีสเตอร์ก่อน
1.3.2 หน่วยควบคุม (Control Unit) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมด ได้แก่ควบคุมการทำงานของหน่วยคำนวณและตรรก ควบคุมการทำงานของหน่วยรับ และแสดงผลข้อมูลควบคุมการรับและส่งข้อมูลระหว่างหน่วยความจำหลักกับรีจีสเตอร์
1.3.3 หน่วยคำนวณและตรรก (Arithmetic and Logical Unit) เรียกย่อว่า ALU มีหน้าที่ประมวลผลข้อมูลด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์และตรรก
1.4. หน่วยแสดงผล (Output Unit) หมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้แสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลกลาง เพื่อให้ผู้ใช้ได้เห็นหรือเก็บผลลัพธ์ที่ได้ไว้ในสื่อเก็บข้อมูลอุปกรณ์แสดงผลได้แก่ จอภาพ (Monitor) เครื่องพิมพ์ (Printer) เครื่องขับจานแม่เหล็ก (Disk Drive)
1.4.1 จานบันทึกแม่เหล็ก
จานบันทึกแม่เหล็ก (Magnetic Disks หมายถึงสื่อบันทึกข้อมูลรูปร่างกลมคล้าย
แผ่นจานเสียง หน้าฉาบด้วยสารซึ่งมีอำนาจแม่เหล็ก ใช้เป็นอุปกรณ์บันทึกข้อมูลในหน่วยความจำ
สำรองมี 2 ประเภท ได้แก่
1.4.1.1. แผ่นจานแม่เหล็กชนิดอ่อนหรือดิสเก็ตต์ (Floppy Disk) เป็นแผ่น
พลาสติกเคลือบบรรจุอยู่ในพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองหรือการสัมผัส มีอยู่ 2 ขนาด คือ 3.5 นิ้ว และ 5.25 นิ้ว ปัจจุบันใช้ขนาด 3.5 นิ้ว
การดูแลแผ่นดิสเก็ตต์ ทำได้โดย
1. ห้ามจับต้องตัวเนื้อดิสก์ที่ถูกบรรจุอยู่ในซองพลาสติก (Jacket) ไม่เช่นนั้นจะทำให้แผ่นดิสก์เสีย
2. ห้ามบิดงอแผ่นดิสก์
3. ห้ามวางแผ่นดิสก์ไว้ใกล้สนามแม่เหล็กหรือแหล่งกำเนิดไฟฟ้าแรงสูง เช่น ลำโพงวิทยุ
โทรทัศน์ ตู้เย็น เป็นต้น
4. ห้ามวางแผ่นดิสก์ไว้ในที่อุณหภูมิสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส
5. การเขียนข้อความบนสติกเกอร์นั้นให้เขียนเป็นที่เรียบร้อยก่อนนำไปติดบนแผ่นดิสก์
6.การใส่แผ่นดิสก์เรียบร้อยแล้วให้เก็บในที่ถูกต้อง เช่น เก็บใส่ซอง กล่อง เป็นต้น การใช้งานของแผ่นดิสก์นั้นจะต้องใช้ควบคู่กับเครื่องขับจานแม่เหล็ก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ใช้ในการอ่านและเขียนลงบนแผ่นดิสก์
1.4.1.2 จานแม่เหล็กชนิดแข็ง (Hard Disk) เป็นหน่วยความจำสำรองที่เก็บข้อมูล
ได้มาก และทำงานได้เร็วกว่าจานแม่เหล็กชนิดอ่อน เป็นแผ่นจานอะลูมิเนียมหลายแผ่น อยู่รวมกันในหน่วยขับหนึ่งหน่วยและถูกปิดผนึกอย่างดีในกรอบโลหะเพื่อป้องกันฝุ่น และสิ่งเปรอะเปื้อนต่างๆ ปกติจะติดแน่นอยู่กับตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ มีราคาแพง
1.4.2 เครื่องพิมพ์
เครื่องพิมพ์ (Printer) เป็นอุปกรณ์แสดงผลโดยพิมพ์ผลลัพธ์ลงบนกระดาษ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.4.2.1 เครื่องพิมพ์ชนิดกระทบ (Impact Printers) คือเครื่องพิมพ์ชนิดที่ใช้การกดแม่พิมพ์ตัวอักษรเข้ากับแถบผ้าหมึก ให้ปรากฏเป็นตัวอักษรบนกระดาษ เช่น เครื่องพิมพ์ตัวอักษรแบบเรียงจุด (Dot Matrix)
1.4.2.2 เครื่องพิมพ์ชนิดไม่กระทบ (Non Impact) คือเครื่องพิมพ์ที่อาศัยกรรมวิธี
การพิมพ์อื่น เช่น เทคนิคด้านความร้อน สารเคมี หรือไฟฟ้า เพื่อให้เกิดเป็นตัวอักษรบนกระดาษเช่น เครื่องแบบใช้แสงเลเซอร์ (Laser Printer) เครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก (Ink Jet Printer)
1.5. หน่วยความจำ (Memory Unit) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หน่วยความจำหลัก และหน่วยความจำสำรอง หน่วยความจำหลัก มี 2 อย่าง คือ หน่วยความจำชนิดอ่าน และเขียน (RAM หรือRandom Access Memory) หมายถึง หน่วยความจำที่สามารถบันทึกข้อมูล หรือคำสั่งได้ ซึ่งข้อมูลที่ถูกบันทึกนี้ สามารถจะเรียกมาใช้งานหรือแก้ไขได้ หน่วยความจำ ชนิดนี้จะต้องมีไฟมาหล่อเลี้ยง ถ้าหากปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือไฟตก ข้อมูลหรือคำสั่ง ที่อยู่ในหน่วยความจำชนิดนี้จะถูกลบหายหมด
หน่วยความจำหลัก อีกลักษณะหนึ่งคือ หน่วยความจำชนิดอ่านอย่างเดียว (ROMหรือ Read Only Memory) หมายถึง หน่วยความจำที่เก็บข้อมูลหรือคำสั่งอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ ข้อมูลหรือคำสั่งที่ถูกเก็บอยู่ในหน่วยความจำชนิดนี้จะยังคงอยู่ได้ตลอดเวลา แม้ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไฟตก โดยปกติแล้วข้อมูลที่เก็บบันทึกจะเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งทางโรงงานผู้ผลิตเครื่องจะเป็นผู้บันทึกข้อมูลมาให้ สำหรับหน่วยความจำสำรอง หมายถึงหน่วยความจำภายนอกเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้แก่ สื่อสารนิเทศต่างๆที่ให้เก็บข้อมูลเพิ่ม จากหน่วยความจำหลัก เช่น จานแม่เหล็ก (Disk) แถบบันทึก (Tape) เป็นต้น
2. ซอฟต์แวร์ หรือคำสั่งในการทำงาน (Software)
ซอฟต์แวร์ หมายถึง ส่วนของโปรแกรมต่าง ๆ ที่สั่งให้เครื่องทำงานตามที่ต้องการ เป็นคำสั่งที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของส่วนฮาร์ดแวร์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
2.1 ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) หรือ "คำสั่งควบคุมระบบ" คือโปรแกรมที่สั่งการให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานในขั้นพื้นฐานได้ และรวมถึงคำสั่งระบบงาน (Operating System) ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ขนาดจิ๋ว อุปกรณ์สลับสายโทรคมนาคมเชิงตัวเลข เป็นต้น คำสั่งควบคุมระบบเป็นคำสั่ง
ที่บันทึกไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อกำหนดลักษณะขั้นพื้นฐานและขนาดความจุของเครื่อง คำสั่ง
ระบบงานของอุปกรณ์สลับสายโทรคมนาคมแท้ที่จริงก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อวัตถุประสงค์
พิเศษและถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์สลับสายหรืออุปกรณ์อื่นใดโดยผู้ผลิตอุปกรณ์นั้น ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง จะมีคำสั่งควบคุมระบบและคำสั่งระบบงานมาพร้อมด้วยจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เครื่องสามารถทำงานได้
ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ ตามปกติจะพัฒนาคำสั่งระบบงานสำหรับเครื่องนั้นๆ แต่คำสั่งระบบงานอาจได้รับการแก้ไข พัฒนาและเพิ่มเติมได้ตามความประสงค์ของผู้ใช้ข้อมูลเช่นการจัดรวมแฟ้มเป็นต้น ตัวอย่างของซอฟต์แวร์ระบบได้แก่
2.1.1 Dos (Disk Operating System)
2.1.2 Os/2 (Operating System/2)
2.1.3 Unix
2.1.4 Linux
2.1.5 Window 98
2.1.6 Windows NT
2.2. โปรแกรมตัวแปลชุดคำสั่ง (Assambler หรือ Compiles Software) เป็นโปรแกรมหรือ Software ที่แปลภาษาของ มนุษย์ให้เป็นภาษาเครื่อง โดยภาษามนุษย์ต้องอยู่ในรูปแบบของภาษาที่
กำหนด เช่น โปรแกรมภาษาเบสิก โปรแกรมภาษาซี โปรแกรมภาษาปาสคาล โปรแกรมภาษา
โปรลอก เป็นต้น
2.3 ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) หมายถึง โปรแกรมที่ผู้ใช้แต่ละคนเขียนส่งให้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาให้ตามที่ต้องการ เช่น ทำระบบคิดคะแนน ออกใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ ชุดของคำสั่งเหล่านี้ ผู้สั่งจะต้องเขียนด้วยภาษาใดภาษาหนึ่งที่เครื่องจะสามารถนำไปแปลเป็นภาษาเครื่องได้ จึงมีผู้จัดทำโปรแกรมสำเร็จรูปในการใช้สารนิเทศต่าง ๆ
โปรแกรมสำเร็จรูป คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการงานเฉพาะอย่างโปรแกรมสำเร็จรูปนี้ช่วยทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถใช้เครื่องได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โปรแกรมสำเร็จรูปของไมโครคอมพิวเตอร์สามารถจำแนกได้ 5 ประเภท (พิชิต สุขเจริญพงษ์, 2532, หน้า 1-2) คือ
1. โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการประมวลคำ (Word Processor)
2. โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับคำนวณ (Electronic Spread Sheet)
3.โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการจัดฐานข้อมูล (Data Base Management Software)
4. โปรแกรมสำเร็จรูปรวมประเภท (Integrated Software)
5. โปรแกรมสำเร็จรูปพิเศษอื่น ๆ (Special Software)
โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการประมวลคำ หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า Word Processor เป็นโปรแกรมเพื่อจัดทำรายงาน พิมพ์จดหมาย พิมพ์เอกสารต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้งานพิมพ์เอกสารทำได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โปรแกรมสำเร็จรูปในกลุ่มนี้ ได้แก่ Word Star, Apple Writer, Easy Writer เป็นต้น
โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการคำนวณ หรือที่เรียกว่า Electronic Spread Sheet หรือ Electronic Work Sheet เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่เหมาะกับงานคำนวณการหาผลลัพธ์ในตารางที่มีลักษณะการคำนวณซ้ำ ๆ กัน หรือมีสูตรทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆโปรแกรมสำเร็จรูปในกลุ่มนี้ได้แก่ VisiCalc Supercalc CalcStar และ Multiplan เป็นต้น
โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการจัดฐานข้อมูล เป็นโปรแกรมที่ใช้เพื่อช่วยในการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์ เช่น การเก็บรักษาข้อมูล การค้นหาข้อมูล การปรับปรุงแก้ไขข้อมูล ตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประวัติพนักงาน ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ หรือข้อมูลประวัติคนไข้ โปรแกรมจัดการฐานข้อมูลที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่ dBASE II, dBase III, DataStar DB Master เป็นต้น
โปรแกรมสำเร็จรูปรวมประเภท หรือที่เรียกว่า Integrated Software เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่รวมเอาลักษณะการทำงานทั้งสามแบบข้างต้นไว้ด้วยกันบวกกับการทำกราฟ ดังนั้นโปรแกรมสำเร็จรูปรวมประเภทจึงประกอบด้วย ความสามารถด้านต่างๆ ดังนี้
1. ความสามารถด้านประมวลคำ (Word Processing)
2. ความสามารถด้านการคำนวณ (Work Sheet)
3. ความสามารถด้านการจัดการฐานข้อมูล (Data Base Management)
4. ความสามารถในการแสดงกราฟ (Graphic)
อย่างไรก็ตามโปรแกรมสำเร็จรูปรวมประเภท โดยทั่วไปจะอาศัยพื้นฐานการคำนวณเป็นหลัก หรือ ทำงานด้วยการคำนวณเป็นหลัก การประมวลคำและการจัดการฐานข้อมูลเป็นงานรอง โปรแกรมสำเร็จรูปรวมประเภทจะต้องใช้หน่วยความสามารถและมีใช้เฉพาะในเครื่องไมโครขนาด16 บิทเท่านั้น โปรแกรมสำเร็จรูปรวมประเภทที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่ LOTUS 1-2-3, SYMPHONY, SuperCalc III หรือ Frame Work เป็นต้น
โปรแกรมสำเร็จรูปพิเศษอื่น ๆ ได้แก่ โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้เฉพาะงาน ตัวอย่างเช่น การจัดการสินค้าคงเหลือ การหาสูตรอาหารสัตว์ การทำบัญชีและอื่น ๆ โปรแกรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ LINDO, Harward Project Management, ABSTAT, SPSS ส่วนโปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศที่สำคัญ ได้แก่ CDS/ISIS เป็นต้น
3. บุคลากรทางคอมพิวเตอร์ (Peopleware)
บุคลากรทางคอมพิวเตอร์ ได้แก่ บุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานคอมพิวเตอร์ องค์ประกอบส่วนนี้มีส่วนสัมพันธ์กับนักสารนิเทศอย่างใกล้ชิดที่ต้องทำงานประสานกัน บุคลากรทางคอมพิวเตอร์ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
3.1 ผู้บริการระดับสูง (Top Manager) เป็นผู้วางนโยบายการใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงานนั้น
3.2นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) เป็นผู้ออกแบบแผนผังของระบบข้อมูลให้สอดคล้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้
3.3 นักเขียนโปรแกรม (Programmer) เป็นผู้เขียนโปรแกรมสั่งให้เครื่องทำงานได้ตามแผนผังที่นักวิเคราะห์ระบบได้วางไว้
3.4 ผู้แทนจำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ (Hardware or software urchasing agents)
3.5 ผู้จัดการระบบคอมพิวเตอร์ (System or network managers)
3.6 ผู้ให้การฝึกอบรม (Trainers/support personnel)
3.7 พนักงานบันทึก ควบคุมข้อมูลและเครื่อง (Operator) เป็นผู้ที่ส่งข้อมูลเข้าสู่เครื่อง ตรวจสอบข้อมูล รับผลลัพธ์จากเครื่อง ตลอดจนควบคุมเครื่อง
บุคลากรทางคอมพิวเตอร์จะปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกัน และมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เช่น นักวิเคราะห์ระบบจะทำการวิเคราะห์และออกแบบระบบงานจะต้องศึกษางานด้านนั้น ๆ เป็นอย่างดีและมีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ ส่วนนักเขียนโปรแกรมรับช่วงงานจากนักวิเคราะห์ระบบมาเขียนคำสั่งต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องทำงานตามคำสั่ง (ทักษิณา สวนานนท์, 2530, หน้า 22) บรรณารักษ์หรือนักสารนิเทศจะเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้บริการระดับสูง หรือนักวิเคราะห์ระบบเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการสารนิเทศในศูนย์สารนิเทศ จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์ และทำงานร่วมกับบุคลากรทางคอมพิวเตอร์อื่น ๆ
การเลือกซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์
ผู้ใช้สารนิเทศทั่วไป หากจะเลือกใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ในการทำงานในสังคมข่าวสาร ควรศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดครุภัณฑ์เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เริ่มพิจารณาจัดซื้อ เพื่อนำมาใช้กับการจัดการข้อมูลได้ตามความต้องการ
รายละเอียดครุภัณฑ์ของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมในการใช้งาน มีดังต่อไปนี้
รายละเอียดทั่วไป
1. เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ตัวเครื่อง จอภาพ แป้นพิมพ์และเมาส์ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน พร้อมคู่มือการใช้งานฉบับจริง
2 .เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองและได้มาตรฐาน
3.ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งสั่งนำเข้าจากต่างประเทศต้องเป็นการสั่งนำเข้าในลักษณะเครื่องที่ประกอบสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย เมนบอร์ด (Mainboard) ดิสก์ไดร์ฟ (Disk Drive) จอภาพ แป้นพิมพ์ เมาส์ และตัวถัง (Case)
4. ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศในกลุ่มยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาหรือ ญี่ปุ่น หากเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศอื่น นอกเหนือจากกลุ่มประเทศดังกล่าว จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่ได้รับมาตรฐานสากลตามมาตรฐาน ISO 9000 เป็นอย่างน้อย
- รายละเอียดทางเทคนิค
1. หน่วยประมวลผลกลาง (CPU)
1.1 ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ อย่างต่ำ Pentium II หรือlสูงกว่า
1.2มีหน่วยความจำแคชภายใน (Internal Cache) ไม่น้อยกว่า 8 Kb มี
EXTERNAL CACHE ไม่น้อยกว่า 256 KB
2. หน่วยความจำหลัก (RAM)
2.1 มีขนาดไม่น้อยกว่า 32 Mb
2.2 มี RAM แบบ SDRAM
2.3 ความเร็วในการเข้าถึงเข้าถึงข้อมูล 70 ns หรือสูงกว่า
3. หน่วยเชื่อมต่ออุปกรณ์ประกอบและการสื่อสารข้อมูล
3.1 มีพอร์ตแบบ USB อย่างน้อย 2 พอร์ต
3.2 มีช่องสำหรับเสียบอุปกรณ์เพิ่มเติม (Expansion Slots) ขนาด 16 Bit หรือดีกว่า
จำนวนไม่น้อยว่า 2 Slots
3.3 มีส่วนควบคุมการแสดงผลแบบ Vesa Local BUS VGA หน่วยความจำอย่าง
น้อย 1 MB สามารถ ขยายเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 2 MB
3.4 มีส่วนควบคุมการเชื่อมต่ออุปกรณ์เก็บ/บันทึกข้อมูลสำรอง (Disk Storage
Interface)
4. หน่วยเก็บข้อมูลสำรอง
4.1 มีฟล็อปปี้ดิสก์ไดรฟ์ (Floppy Disk Drive) ขนาด 3.5 นิ้ว
4.2 มีฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 4.3 GB
5. หน่วยป้อนข้อมูล
5.1 เป็นแป้นพิมพ์ (Keyboard) ที่แยกส่วนออกจากจอภาพ
5.2 มีจำนวนคีย์อย่างน้อย 101 คีย์
5.3 มีตัวอักษรภาษาไทย อังกฤษ ตัวเลข และสัญลักษณ์พิเศษตามมาตรฐานแป้น
พิมพ์ปรากฏอยู่บนแป้นพิมพ์อย่างถาวร
6. หน่วยแสดงผล
6.1 เป็นจอภาพสี ขนาดอย่างน้อย 14 นิ้ว Super VGA ชนิดไม่สะท้อนแสง
(Non-glare)
6.2 เป็นจอภาพแบบ Low Radiation
6.3 มีความละเอียดในการแสดงผลไม่น้อยกว่า 1024 X 768 จุด
6.4 มี Dot Pitch ไม่เกิน 0.28 MM
7. เมาส์พร้อมแผ่นรอง
7.1 มีลักษณะการทำงานแบบ Microsoft Mouse Compatible
7.2 ความละเอียดไม่น้อยกว่า 400 DPI
7.3 มีปุ่มสั่งงานไม่น้อยกว่า 2 ปุ่ม
7.4 มีโปรแกรมไดรเวอร์ (Mouse Driver) ที่บันทึกไว้ในแผ่นฟล็อปปีดิสก์และ
ต้องเป็นต้นฉบับจริง (Original) พร้อมคู่ฉบับจริง จากโรงงานผู้ผลิต
8. แหล่งจ่ายไฟฟ้า
มีแหล่งจ่ายไฟที่มีขนาดพอเพียงแก่การจ่ายแก่กำลังไฟฟ้า ให้แก่อุปกรณ์ทุกชิ้น
ของเครื่องคอมพิวเตอร์
9. โปรแกรม
ประกอบด้วยโปรแกรม (1) ถึง (4) เป็นอย่างน้อย
1. Microsoft Windows98 หรือสูงกว่าที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย
2. โปรแกรมยูทิลิตี้ (Utility) เช่น VGA Utility หรืออื่น ๆ บันทึกอยู่ในแผ่นดิสก์
และต้องเป็นต้นฉบับจริงจากโรงงานผู้ผลิต
3. โปรแกรมอื่น ๆ เช่น โปรแกรมภาษา C, Parcal และอื่น ๆ
10 อุปกรณ์ประกอบเครื่องอื่นๆ เช่น ผ้าคลุมเครื่อง
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 14 มิถุนายน 2548
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com