|
1633110 เทคโนโลยีสารนิเทศและการประยุกต์ใช้
Information Technology and Application
ภาคต้น ปีการศึกษา 2548
3 (2-2)
ผู้สอน : รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
อ.เมือง กาญจนบุรี 71190
chumpot@hotmail.com
บทบาทของคอมพิวเตอร์ในสังคมสารนิเทศ
ในสังคมสารนิเทศปัจจุบัน กล่าวได้ว่า คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น บทบาทของคอมพิวเตอร์มีมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการสารนิเทศสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสารนิเทศเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับตนเองก็หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ด้านอื่น ๆ ไปได้ บทบาทของคอมพิวเตอร์ที่มีต่อการใช้สารนิเทศในสังคมมีดังต่อไปนี้
ด้านการศึกษา
การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการศึกษา แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา และใช้เป็นเครื่องมือในการสอน การใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาเกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษาซึ่งผู้บริหารการศึกษา จำเป็นต้องทราบสารนิเทศต่าง ๆ ทางด้านนักศึกษา ด้านแผนการเรียน ด้านบุคลากร ด้านการเงิน และด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ (ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 96) ข้อมูลแต่ละด้านที่ได้จากคอมพิวเตอร์ ผู้บริหารการศึกษาสามารถนำมาใช้ช่วยในการตัดสินใจได้
การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการสอน เป็นการช่วยให้ครูใช้ความรู้ความสามารถพิเศษให้เป็นประโยชน์แก่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น การนำคอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนช่วยในการสอน และการศึกษามีประโยชน์ในเรื่องดังต่อไปนี้ (ไชยยศ เรืองสุวรรณ, 2526, หน้า 217-219) คือ
1. เพื่อการสอบแบบตัวต่อตัว
2. เพื่อฝึกทักษะต่าง ๆ ในการเรียน
3. เพื่อการสาธิต
4. เพื่อการเล่นเกมและสถานการณ์จำลอง
5. เพื่อสอนงานด้านการเขียน
6. เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอน
7. เพื่อช่วยผู้เรียนที่มีปัญหาเฉพาะตัว
ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์กำลังมีบทบาทต่อการศึกษาด้านภาษา เป็นเพราะว่าแต่เดิมมานั้น คอมพิวเตอร์มีบทบาทเฉพาะการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เพราะคอมพิวเตอร์ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ในขณะนี้สังคมข่าวสารไม่ได้สกัดกั้นในการรับรู้สารนิเทศในภาษาอื่น ๆ มีการสร้างโปรแกรมภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน รัสเซีย สเปน และแม้แต่ภาษาทางด้านตะวันออก เช่น ภาษาอารบิค จีน ฮิบรู ญี่ปุ่น เกาหลี (Becker, 1984, p. 82) การสร้างโปรแกรมภาษาต่าง ๆ จัดทำโดยผู้ที่รู้ภาษานั้น ๆ โดยตรง หรือผู้ที่สนใจในการสร้างโปรแกรมภาษาต่าง ๆเช่น การสร้างโปรแกรมการใช้ภาษาไทยของวิศวกรไทย ตลอดจน
การใช้โปรแกรมภาษาพม่า ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยวิศวกรไทย (ถวัลย์วงศ์ ไกรโรจนานนท์, 2532, หน้า : 10) คอมพิวเตอร์จะเป็นตัวกลางในการขจัดปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจภาษาระหว่างชนชาติในอนาคต
ในประเทศสหรัฐอเมริกา คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีบทบาทต่อด้านการศึกษา มีการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้นในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีการคาดหมายว่าจะมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในชั้นเรียน จาก 1:40 ในปี พ.ศ. 2529 เป็น 1 ต่อ 20 ภายในปี พ.ศ. 2533 คอมพิวเตอร์มีบทบาทต่อการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารทางด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดีไม่เฉพาะแต่ภายในสถานศึกษาเท่านั้น บริษัทเอกชนต่าง ๆ สามารถนำคอมพิวเตอร์มาใช้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของตนให้ได้รับการศึกษาหรือฝึกอบรมในงานหน้าที่ได้เป็นอย่างดีด้วย (Sanders, 1988, p. 5 ) การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาจะเป็นเรื่องธรรมดาในระบบการศึกษาต่อไป
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
คอมพิวเตอร์มีบทบาทอย่างสูงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกอย่างยิ่งในด้านการแพทย์ เริ่มตั้งแต่การรักษาพยาบาลทั่ว ๆไป โรงพยาบาลบางแห่งใช้คอมพิวเตอร์ในการทำทะเบียนคนไข้ ตลอดจนการวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ จากการใช้ประโยชน์ของสารนิเทศที่ได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอาจเกี่ยวข้องในด้านต่อไปนี้คือ ด้านการรักษาพยาบาลทั่วไป ด้านการบริหารการแพทย์ ด้านห้องทดลอง ด้านตรวจวินิจฉัยโรค และด้านการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ (ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 100-101) การใช้ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญในปัจจุบันคือ ด้านวินิจฉัยโรคและด้านการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถค้นคว้าข้อมูลทางการแพทย์เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา เป็นการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขอย่างไม่หยุดยั้ง (Sanders, 1988, p. 7) คอมพิวเตอร์มีบทบาทต่อการให้ข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยโรค สำหรับทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ในวงการแพทย์เริ่มรู้จักใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า อีเอ็มไอสแกนเนอร์ (EMI Scanner) เมื่อปี พ.ศ. 2515 เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ใช้ถ่ายภาพสมองมนุษย์เพื่อตรวจดูเนื้องอก พยาธิ เลือดออกในสมองและความผิดปกติอื่น ๆ ในสมอง ต่อมาได้พัฒนาให้ถ่ายภาพหน้าตัดได้ทั่วร่างกาย เรียกชื่อว่าซีเอที (CAT-Computerized Axial Tomographic Scanner) มีวิธีการฉายแสงเป็นจังหวะไปรอบ ๆ ร่างกายของมนุษย์ที่ต้องการถ่ายเอกซเรย์และเครื่องรับแสงเอกซเรย์ที่อยู่ตรงข้ามจะเปลี่ยนแสงเอกซเรย์ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า ไปเก็บไว้ในจานหรือแถบแม่เหล็ก แล้วนำสัญญาณ
ไฟฟ้าเหล่านี้เข้าไปวิเคราะห์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อได้ผลลัพธ์ออกมาก็นำไปเก็บในส่วนความจำ และพิมพ์ภาพออกมาหรือแสดงเป็นภาพทางจอโทรทัศน์ (วิชัย ศังขจันทรานนท์, 2530, หน้า 48-149) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จึงเป็นตัวอย่างของการใช้คอมพิวเตอร์ในการวินิจฉัยและรักษาโรค
ด้านอุตสาหกรรม
คอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อใช้ในบ้านและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ทั้งนี้หุ่นยนต์จะเป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบการทำงานของอวัยวะส่วนบนของมนุษย์ ประกอบด้วยระบบทางกลของหุ่นยนต์ และระบบควบคุมหุ่นยนต์ ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุม ซึ่งควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์โดยอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ นับเป็นส่วนสำคัญที่สุดของหุ่นยนต์ ระบบควบคุมนี้ทำหน้าที่เป็นสมองเก็บข้อมูลสั่งหุ่นยนต์ให้ทำงานตรวจสอบและควบคุมรายละเอียดของการทำงานให้ถูกต้อง (หริส สูตะบุตร, 2530, หน้า 160) การประดิษฐ์หุ่นยนต์อุตสาหกรรมอำนวยประโยชน์ในการช่วยทำงาน
ในอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ งานที่ต้องเสี่ยงภัยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Sanders, 1988, p. 7) เช่น โรงงานยาฆ่าแมลง โรงงานสารเคมี งานที่ต้องการความละเอียดสูง ถูกต้อง และรวดเร็ว เช่น
โรงงานทำเฟืองนาฬิกา โรงงานทำเลนส์กล้องถ่ายรูป และงานที่ต้องทำซ้ำๆซากๆ และน่าเบื่อหน่าย เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานประกอบวงจรเบ็ดเสร็จ หรือไอซี และโรงงานทำแบตเตอรี่ เป็นต้น
การประดิษฐ์สิ่งของหรือผลิตภัณฑ์บางอย่างในโรงงานอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อการควบคุมการผลิตสินค้าโดยไม่ต้องใช้แรงงานคนมาก เป็นการประหยัดแรงงาน นอกจากด้านการผลิตสินค้าแล้ว คอมพิวเตอร์ยังมีส่วนช่วยต่อการจัดส่งสินค้าตามใบสั่งสินค้า การควบคุมวัสดุคงคลัง และการคิดราคาต้นทุกสินค้า เป็นต้น (ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 93)
ด้านเกษตรกรรม
การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมได้แก่ การจัดทำระบบข้อมูลเพื่อการเกษตรซึ่งอาจมีทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ สำหรับระดับนานาชาตินั้น อาจจะเริ่มด้วยสำมะโนเกษตรนานาชาติ ซึ่งสถาบันการเกษตรระหว่างประเทศ (International Institute of
Agriculture) ได้เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2473 โดยมีประเทศต่าง ๆ ร่วมเก็บข้อมูล รวม 46 ประเทศ ต่อมาองค์การอาหารและเกษตร (FAO) ได้ดำเนินงานต่อในปี พ.ศ. 2493 และมีประเทศต่าง ๆ ร่วมโครงการเพิ่มเติมมากขึ้น (ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 112) ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ข้อมูลเพื่อเกษตรกรรมทางด้านสำมะโนเกษตรนอกจากนี้ยังใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำแบบจำลองพยากรณ์ความต้องการพยากรณ์ผลผลิตด้านการเกษตร เป็นต้น
ด้านการเงินการธนาคาร
การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการเงินและการธนาคาร เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในงานด้านการบัญชีและด้านการบริหาร การฝากถอนเงิน การรับจ่าย การโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ การหักบัญชีอัตโนมัติ ด้านสินเชื่อ ด้านแลกเปลี่ยนเงินตรา บริการข่าวสารการธนาคาร บริการฝากถอนเงินนอกเวลาและบริการอื่น ๆ การใช้คอมพิวเตอร์ด้านการเงินการธนาคารที่ประชาชนรู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ บริการฝากถอนเงินนอกเวลา ซึ่งมีใช้กันทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย ซึ่งเรียกชื่อว่า บริการเงินด่วน หรือบริการเอทีเอ็ม ( Automatic Teller Machine - ATM )ที่ธนาคารต่างๆสามารถให้บริการเงินด่วนแก่ลูกค้าได้ (Sanders, 1988, p. 9 ) ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วต่อการใช้เงินในการดำเนินงานทางธุรกิจต่างๆ ได้
ด้านธุรกิจการบิน
ธุรกิจสายการบินมีความจำเป็นต้องนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อให้สามารถให้บริการได้รวดเร็ว เพื่อการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ และเพื่อรักษาความปลอดภัยในการบินโดยช่วยตรวจสอบสภาพเครื่องและอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้องแน่นอนและสม่ำเสมอ ธุรกิจที่มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ด้านการบิน อาจแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ผู้โดยสาร สินค้าพัสดุภัณฑ์ และบริการอื่น ๆ ของสายการบิน (ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 88) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือระบบบริการผู้โดยสาร อาจจะเริ่มด้วยระบบบันทึกตารางการบิน ซึ่งบันทึกและเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลเที่ยวบิน เส้นทางบิน เวลาออกและเวลาถึง จำนวนที่นั่ง สารนิเทศด้านการบริการผู้โดยสารมีความสำคัญอย่างมาก และจำเป็นต้องได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็ว โดยปราศจากปัญหาทางด้านเวลา และสถานที่ รายการบินต่าง ๆ จึงได้แข่งขันในการสร้างฐานข้อมูลทางด้านนี้ บางสายการบินได้รวมตัวกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้สารนิเทศร่วมกัน
ด้านกฎหมายและการปกครอง
ทางด้านกฎหมายและการปกครอง มีการใช้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาด้านกฎหมาย คืองานระบบข้อมูลทางกฎหมายมีการนำสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายทุกฉบับรัฐธรรมนูญทุกฉบับ กฎหมายอาญากฎหมายแพ่งพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงประกาศต่างๆและอื่น ๆ เข้าคอมพิวเตอร์ทั้งหมด หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์จะช่วยในการค้นสารนิเทศทางด้านกฏหมายได้อย่างรวดเร็ว( ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 108) ดังตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้คอมพิวเตอร์ระบบแอสเปน (Aspen System Corporation) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลทางด้านกฎหมายที่ใช้กันมากกว่า 50 แห่ง (ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 108) นักกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงได้ประโยชน์ในการค้นสารนิเทศในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะในการค้นข้อมูลเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เป็นต้น แทนที่จะค้นจากหนังสือซึ่งต้องเสียเวลาเป็นอันมาก
การใช้คอมพิวเตอร์ทางด้านการปกครอง ส่วนใหญ่ใช้ในกิจกรรมการเลือกตั้งดังเช่นในประเทศไทย เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาล่าสุด มีการใช้คอมพิวเตอร์มาประมวลผลข้อมูลการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนได้ทราบผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว
ด้านการทหารและตำรวจ
มีการใช้คอมพิวเตอร์ด้านการทหารและตำรวจอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการทหารได้เจริญก้าวหน้าไปมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก แต่ผลงานด้านนี้มักจะเป็นผลงานชนิดลับสุดยอดต่างๆ เท่าที่พอจะทราบกัน ได้แก่ การใช้คอมพิวเตอร์ในวงจรสื่อสารทหาร ใช้ในการควบคุมประสานงานด้านการทหารใช้แปลรหัสลับใน
งานจารกรรมระหว่างประเทศ ใช้ในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ ใช้ในการทำสงครามจิตวิทยา ใช้ในการวิจัยเตรียมทำสงครามเชื้อโรค ใช้ในการสร้างขีปนาวุธ และใช้ในการส่งดาวเทียมจารกรรม เป็นต้น (ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 111) กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย มีศูนย์ประมวลข่าวสารกรมตำรวจ มีคอมพิวเตอร์ขนาดกลางใช้ทำทะเบียนปืน ทำทะเบียนประวัติอาชญากรรม ทำให้เกิดความสะดวกต่อการสืบสวนคดีต่าง ๆ
ด้านอุตสาหกรรมการพิมพ์และธุรกิจอื่น ๆ
บทบาทของคอมพิวเตอร์ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการพิมพ์ในปัจจุบันมีมาก หน่วยงานทางการพิมพ์ ตลอดจนสำนักข่าวใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดพิมพ์ต้นฉบับ ตรวจแก้ไข จนกระทั่งจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม ทำให้การจัดทำหนังสือพิมพ์ วารสาร และหนังสือต่างๆดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว
และถึงมือผู้อ่านได้อย่างทันท่วงที (Stair, 1984, pp. 32-33) อุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศต่างๆ อยู่ในขณะนี้ และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารนิเทศ มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่คนงานในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 50 ล้านคน ได้ใช้ประโยชน์จากการใช้คอมพิวเตอร์ในการดำรงงานทางธุรกิจ มีการใช้อุปกรณ์สื่อสารระบบสำนักงานอัตโนมัติและเทคโนโลยีโทรคมนาคมอื่นๆร่วมกับคอมพิวเตอร์ทำให้การดำเนินงานทางธุรกิจต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (Sanders ,1988, p. 7) ทำให้ธุรกิจต่างๆ ไม่มีปัญหาทางด้านระยะเวลา และสถานที่ต่อการติดต่อทางธุรกิจอีกต่อไป
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์มีมากในสถาบันการศึกษาตลอดจนสถาบันวิจัยต่าง ๆมีการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการวิจัยทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การวิจัยในทางนิวเคลียร์ ฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของสสาร(ศรีศักดิ์ จามรมาน, 2530, หน้า 115) การค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆทำให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์มีการใช้คอมพิวเตอร์ให้มีส่วนร่วมต่อการออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ทำให้มีส่วนช่วยต่อการออกแบบทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด (Sanders, 1988, p. 8) บทบาทของคอมพิวเตอร์ทางด้านวิทยาศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการพัฒนาข้อมูลสารนิเทศอย่างไม่หยุดยั้ง
จากการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลสารนิเทศโดยระบบโทรคมนาคมคอมพิวเตอร์มีบทบาทอย่างสูงต่อการให้บริการข้อมูลอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ผู้ใช้สารนิเทศสามารถเรียกค้นข้อมูลจากผู้ให้บริการสารนิเทศตั้งแต่เรื่องทั่วๆไปจนกระทั่งขอค้นรายละเอียดจากหนังสือสารานุกรมได้ และภายในบ้านเรือน คอมพิวเตอร์มีบทบาทต่อการใช้ของสมาชิกภายในครอบครัวทุกคนภายในบ้านมีโอกาสได้เล่นเกมวีดิทัศน์ด้วยความบันเทิงสนุกสนาน และศึกษาความรู้จากบทเรียนสำเร็จรูปไปด้วยในตัว คอมพิวเตอร์สำหรับบ้านเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับนักธุรกิจในการจัดเตรียมจดหมาย การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลสารนิเทศส่วนบุคคล และการดำเนินงานกิจการต่าง ๆ ของสมาชิกภายในครอบครัว
บทบาทของคอมพิวเตอร์ ยังมีอีกมากมายทางด้านต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้สารนิเทศต้องการใช้ในด้านใด คอมพิวเตอร์เมื่อนำมาใช้รวมกับระบบโทรคมนาคมการสื่อสารสามารถจะเปลี่ยนอนาคตของสังคมปัจจุบัน เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 14 มิถุนายน 2548
รศ. จุมพจน์ วนิชกุล
chumpot@hotmail.com