1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

ศาสตราจารย์สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์

การศึกษา

อาจารย์สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2466 ที่จังหวัดสระบุรี ได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษาจาก โรงเรียนประสานอักษร ในตรอกสะพานสว่าง พระนคร เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 3 แล้วได้เข้าศึกษาขั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2480 เพราะชอบอ่านหนังสือ รักงานประพันธ์ จึงได้เข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2482 รุ่นเดียวกับอาจารย์แม้นมาส ชวลิต, อาจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ และอาจารย์ ม.ล.รสสุคนธ์ อิศรเสนา ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2486

พ.ศ. 2495 ได้รับทุนการศึกษาจากวิทยาลัยซิมมอนส์ (Simmons Collage) ประเทศสหรัฐอเมริกา และทุนค่าเดินทางจากมูลนิธิ ฟุลไบรท์ ไปศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์ชั้นปริญญาโท อาจารย์สุทธิลักษณ์ ได้รับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ จากวิทยาลัยซีมมอนส์ เมื่อพ.ศ. 2496

พ.ศ. 2513 ได้รับทุนจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติไปศึกษาวิธีสอนบรรณารักษศาสตร์ และบรรณารักษศาสตร์เปรียบเทียบ ณ ประเทศเดนมาร์ก เป็นเวลา 3 เดือน ได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนบรรณารักษศาสตร์ กรุงโคเปนเฮเกน

ตำแหน่งหน้าที่

เมื่อได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตแล้ว อาจารย์สุทธิลักษณ์ ได้สมัครเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษศาสตร์ หอสมุดกลาง จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2486 เพื่อหาโอกาสอ่านหนังสือให้เต็มที่ และได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ แผนกวิชาภาษาไทย และภาษาโบราณตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2490 อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ในปีพ.ศ. 2494 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนวิชาจัดห้องสมุดแก่ผู้ประกอบอาชีพบรรณารักษศาสตร์ และผู้ที่สนใจ เป็นการศึกษาภาคพิเศษในตอนเย็น โดยมูบนิธิฟุลไบร์ทได้เอื้อเฟื้อส่ง ดร.แฟรนเซส แลนเดอร์ สเปน (Dr. Frances Lander Spain) อาจารย์ชาวอเมริกันมาทำการสอนเป็นคนแรก อาจารย์สุทธิลักษณ์ ได้ทำหน้าที่ล่ามและผู้ให้ความสะดวกแก่ผู้สอน และได้เรียนวิชา จัดห้องสมุด 3 วิชาด้วยกัน

พ.ศ. 2499 หลังจากที่ได้รับปริญญาโททางบรรณารักษศาสตร์ จากวิทยาลัยซีมมอนส์ และได้กลับมารับหน้าที่เดิม คือ ผู้ช่วยบรรณารักษ์หอสมุดกลาง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2496 แล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการบรรณารักษ์หอสมุดกลาง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2499

พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งเป็นบรรณารักษ์หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแต่เดิมตำแหน่งบรรณารักษ์ เป็นตำแหน่ง กิตติมศักดิ์ สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

พ.ศ. 2498 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ และได้เริ่มสอนวิชา บรรณารักษศาสตร์ ระดับอนุปริญญาขึ้น อาจารย์สุทธิลักษณ์ จึงได้ย้ายจากแผนกวิชาภาษาไทยและภาษาโบราณตะวันออก มาเป็นอาจารย์แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ทำหน้าที่สอน ควบคุมและดำเนินกิจการในแผนกวิชาอีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ. 2501 ได้รับแต่งตั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือของมหาวิทยาลัย เพื่อวางมาตรฐานและแบบแผนของสิ่งพิมพ์ของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้จัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

พ.ศ. 2507 ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2518 ได้ลาออกจากตำแหน่งบรรณารักศาสตร์หอสมุดกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2518 และทำหน้าที่หัวหน้าแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์เพียงหน้าที่เดียว

พ.ศ. 2521 ได้ลาออกจากราชการไปเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการองค์การค้าของคุรุสภา ควบคุมการดำเนินงานด้านบรรณาธิการ หนังสือเรียน ทั้งหมดของกรมวิชาการ กรมอื่น ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ และหนังสือชุดต่าง ๆ ที่องค์การค้าฯ จัดทำและพิมพ์จำหน่าย และเป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2523 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อาจารย์สุทธิลักษณ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชดิสริยาภรณ์สูงสุดคือ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย

งานหอสมุดกลางและอาชีพบรรณารักษ์

ใน พ.ศ. 2496 จุฬาลงกรณ์ได้สร้างตึกหอสมุดกลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นใหม่ และได้กระทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศง 2500 อาจารย์สุทธิลักษณ์ ได้เป็นผู้วางโครงการจัดหอสมุดกลางให้เป็นหอสมุดแผนใหม่ โดยริเริ่มวิธีจัดหนังสือแบบหิ้งเปิด (Open Shelves) เปิดโอกาสให้นิสิตและอาจารย์เลือกค้นหาหนังสือได้จากหิ้งตามความพอใจ จัดให้มีห้องอ่านหนังสือ เริ่มจัดห้องหนังสือ เกี่ยวกับประเทศไทย และสะสมหนังสือด้านนี้เพิ่มขึ้น และต่อมาได้รวบรวมทำบรรณานุกรมหนังสือต่างประเทศเกี่ยวกับเมืองไทย ให้มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์ เริ่มเปิดบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า บริการหนังสือจองขึ้นในหอสมุดกลาง เริ่มเก็บสถิติ จำนวนผู้ใช้หอสมุดกลางและจำนวนหนังสือที่มีผู้ยืม เรียบเรียบคู่มือหอสมุดกลาง และจัดพิมพ์เป็นเล่ม เพื่อแจกแก่นิสิตและอาจารย์ เริ่มทำรายชื่อหนังสือที่ได้รับประจำเดือนของหอสมุดกลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจกให้ผู้ใช้และแลกเปลี่ยนรายชื่อนี้กับห้องสมุดอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และริเริ่มจัดให้มีนิทรรศการหนังสือในหอสมุดกลาง จัดทำบัตรรายการหนังสือให้ถูกต้องตามแบบแผน สากล และริเริ่มจัดทำสหบัตรของหอสมุดทั้งหมดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของห้องสมุดคณะ

นอกจากตำแหน่งหน้าที่ทางราชการแล้ว อาจารย์สุทธิลักษณ์ ได้เป็นผู้หนึ่งในการดำเนินการก่อตั้งสมาคมวิชาชีพบรรณารักษ์ โดยเป็นประธานชมรมบรรณารักษ์ ก่อนที่ชมรมนี้จะขยายกิจการเป็นสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และเคยเป็นกรรมการตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 - 2519 ได้แก่ตำแหน่งอุปนายก ประธานแผนก เผยแพร่วิชาการ ประธานแผนกบรรณานุกรมแห่งชาติ ประธานแผนกแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้ได้ทำหน้าที่กรรมการด้านวิชาชีพอีกหลายกรรมการ เช่น
    อนุกรรมการบัญญัติศัพท์บรรณารักษศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2496
    อนุกรรมการเลขหมู่หนังสือภาษาไทยและหัวเรื่อง กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2496
    อนุกรรมการเลือกซื้อหนังสือสำหรับห้องสมุด กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2496
    ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาและมาตรฐานการศึกษาบรรณารักศาสตร์ กรมวิเทศสหการ พ.ศ. 2508
    ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาและมาตรฐานห้องสมุดมหาวิทยาลัย กรมวิเทศสหการ พ.ศ. 2508 และกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2517 - 2518

หน้าสารบัญ