1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

การศึกษาวิชาสารนิเทศศาสตร์ในทวีปเอเซีย

การศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น พัฒนาการศึกษาวิชาสารนิเทศศาสตร์เริ่มต้นจากการเปิดสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ โดยเริ่มต้นเปิดสอน เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2446 จนกระทั่งในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 113 แห่ง และมหาวิทยาลัย 105 แห่ง เปิดสอนวิชาบรรณา ศาสตร์ (นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ 2529 : 62) และเริ่มมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ เช่น มหาวิทยาลัยเคโอ มหาวิทยาลัยเออิชิ โชกุโตกุ มหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ เป็นต้น

มหาวิทยาลัยบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์( University of Library and Information Science-ULIS) นับเป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวที่มีฐานะเรียกว่ามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นสถาบันวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศ ศาสตร์ที่สำคัญในประเทศญี่ปุ่น เริ่มเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อ พ.ศ. 2523 และระดับปริญญาโท เมื่อ พ.ศ. 2527 การศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี เป็นหลักสูตร 4 ปี ประกอบไปด้วยการเรียนรายวิชาต่าง ๆ รวม 134 หน่วยกิต เป็นวิชาบังคับ 40 หน่วยกิต นักศึกษาต้องเสนอวิทยานิพนธ์และฝึกงานทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ องค์ประกอบของ หลักสูตรแบ่งเป็น 5 สาขาวิชาคือ วิชาพื้นฐานทางศิลปศาสตร์ 24 หน่วยกิต วิชาภาษาต่างประเทศ 8 หน่วยกิต วิชาอนามัยศาสตร์และพลศึกษา 4 หน่วยกิต วิชาชีพ ก ซึ่งเป็นรายวิชาหลักด้านการศึกษาและวิจัยทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ 37 หน่วยกิต และวิชาชีพ ข ซึ่งเป็นรายวิชาเลือกตามความสนใจของนักศึกษาซึ่งสัมพันธ์กับวิชาชีพ ก (นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ 2529 : 66-68)

ตัวอย่างรายชื่อวิชาทางสารนิเทศศาสตร์

    ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
    ทฤษฎีเบื้องต้นเกี่ยวกับสารนิเทศศาสตร์
    ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อสารนิเทศศาสตร์
    การสัมมนาการบริการอ้างอิงและบริการสารนิเทศ
    การจัดการสารนิเทศ
    การสืบค้นสารนิเทศ
    ทฤษฎีของระบบสารนิเทศ
    การวิเคราะห์ระบบ
    ระบบคอมพิวเตอร์
    การประมวลผลภาษาธรรมชาติ
    การดำเนินงานห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศ

การศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาโท เป็นหลักสูตร 2 ปี ประกอบไปด้วยการเรียนรายวิชาต่าง ๆ จำนวน 30 หน่วยกิต หรือมากกว่า นักศึกษาต้องเรียนวิชาวิจัยและ ต้องเสนอวิทยานิพนธ์ รายวิชาที่เรียนแบ่งเป็น 8 สาขาวิชา คือ กลุ่มวิชาพื้นฐานทางบรรณารักษศาสตร์ และสารนิเทศศาสตร์ กลุ่มวิชาทฤษฎี กลุ่มวิชาสื่อสารนิเทศ กลุ่มวิชาการจัดระบบแหล่งห้องสมุดและสารนิเทศ กลุ่มวิชาการใช้เครื่อง ปฎิบัติการสารนิเทศ และกลุ่มวิชาการค้นคืนสารนิเทศ (นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ 2529 : 68-70) โดยมีตัวอย่างรายชื่อวิชาจากกลุ่มต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
    ทฤษฎีของสัญลักษณ์
    การวิเคราะห์ภาษาสารนิเทศ
    คณิตศาสตร์สารนิเทศชั้นสูง
    ระบบการจัดการห้องสมุดและสารนิเทศ
    ทฤษฎีเครื่องจักรอัตโนมัติ
    รูปแบบการประมวลผลสารนิเทศ
    โครงสร้างสารนิเทศชั้นสูง
    ทฤษฎีของฐานข้อมูล
    โครงสร้างสารนิเทศทางบรรณานุกรม
    ระบบสังคมสารนิเทศ
    สังคมข่าวสาร
    การออกแบบภาวะแวดล้อมสารนิเทศ
    มนุษย์และสารนิเทศ
    สื่อสารนิเทศในรูปการบันทึก
    องค์ประกอบของวัสดุในการสื่อสาร
    การถ่ายทอดการสื่อสาร
    การเผยแพร่สารนิเทศชั้นสูง
    ระบบสารนิเทศชั้นสูง
    ระบบคอมพิวเตอร์ชั้นสูง
    เครือข่ายคอมพิวเตอร์ชั้นสูง
    การปฏิบัติการค้นคืนสารนิเทศ
    การค้นคืนสารนิเทศชั้นสูง

มหาวิทยาลัยบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ นับว่าเป็นสถาบันการศึกษาทันสมัย มีห้องสมุดเฉพาะด้านโดยตรงในการศึกษา ค้นคว้า มีการใช้คอมพิวเตอร์บริหารงานทั้งระบบ มีฐานข้อมูลหลายฐานข้อมูลซึ่งอำนวยประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการฝึกปฎิบัติงานของนัก ศึกษาเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมซึ่งมีผลต่อความก้าวหน้าของประเทศญี่ปุ่นโดยส่วนรวม

การศึกษาวิชาสารนิเทศศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในกลุ่มประเทศอาเซียนการศึกษาวิชาสารนิเทศศาสตร์ได้พัฒนาไปตามลำดับ การเปิดสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ในสถาบัน วิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย มีการจัดตั้งแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1959 และเริ่มเปิดสอนใน ระดับปริญญาโท ในปี ค.ศ. 1969 ได้เริ่มเปิดรายวิชาสารนิเทศศาสตร์เบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา และมีวิชาเลือก เช่น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเอกสารสิ่งพิพม์มาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1970 (Picache 1983 : 41) และมีวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารนิเทศ เช่น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูล เป็นต้น

ในประเทศมาเลเซีย สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ คือ โรงเรียนบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีมารา ได้เปิดสอน ในระดับ Diploma เริ่มเปิดสอนวิชาทางสารนิเทศศาสตร์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1975 (Picache 1983 : 41) รายวิชาที่เกี่ยวข้องกับสารนิเทศศาสตร์ที่เปิดสอน มีดังนี้
    ความรู้พื้นฐานทางการจัดเก็บและสืบค้นสารนิเทศ
    การทำดรรชนีของแหล่งสารนิเทศ
    ระบบการจัดเก็บและสืบค้นสารนิเทศ
    คอมพิวเตอร์และห้องสมุด I
    คอมพิวเตอร์และห้องสมุด II
    ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาปัญหาทางด้านสารนิเทศศาสตร์

การสอนวิชาสารนิเทศศาสตร์ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นการศึกษาในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ สถาบันบรรณารักษศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ได้เปิดสอนรายวิชาสารนิเทศศาสตร์ในระดับปริญญาโท มาตั้งแต่ ค.ศ. 1971 (Picache 1983 : 46) โดยมีรายวิชาดังต่อไปนี้
    ความรู้เบื้องต้นทางสารนิเทศศาสตร์
    การวิเคราะห์สารนิเทศ
    เทคโนโลยีสารนิเทศ I
    เทคโนโลยีสารนิเทศ II
    สารนิเทศและสังคม
    ระบบสารนิเทศ
    การวางแผนและการพัฒนาการสัมมนาเกี่ยวกับการจัดหมู่และการทำดรรชนี
    เทคโนโลยีสื่อสารในบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
    การศึกษาเชิงปริมาณในบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์

หน้าสารบัญ