1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

การจัดการศึกษาและการประกอบอาชีพทางสารนิเทศศาสตร์

การศึกษาสารนิเทศศาสตร์ในประเทศต่าง ๆ จัดแบ่งการศึกษาได้เป็น 4 ระดับ คือ

    1. ขั้นปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี โดยเริ่มเรียนในปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 หรือเรียนใน ปีที่ 3 และปีที่ 4
    2. ขั้นปริญญาโท หลักสูตร 2 ปี
    3. ขั้นประกาศนียบัตรชั้นสูง หลักสูตร 1 ปี
    4. ขั้นปริญญาเอก หลักสูตร 2 ปี

เนื่องจากการศึกษาวิชาสารนิเทศศาสตร์ส่วนใหญ่เรียนควบคู่ไปกับรายวิชาบรรณารักษศาสตร์ การได้รับปริญญาจึงขึ้นอยู่กับ การเปิดสอนของภาควิชาที่สังกัดคณะวิชาต่าง ๆ ชื่อเรียกปริญญาจึงแตกต่างกันไป ดังเช่น สถาบันโรงเรียนบรรณารักษศาสตร์หลายแห่งได้ เปลี่ยนชื่อเพื่อให้มีผลต่อการให้ปริญญาทางด้านสารนิเทศศาสตร์โรงเรียนบรรณารักษศาสตร์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 62 แห่ง ได้เปลี่ยนชื่อโดยเติมคำว่า "สารนิเทศ" ท้ายชื่อเดิมจำนวน 36 แห่ง ชื่อของปริญญาโททางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศ ศาสตร์เรียกชื่อแตกต่างกันกันตามสภาพการเปิดสอน (Subramanyam 1986 : 164) ดังเช่น Master of Library Science, Master of Science in Library Science, Master of Science in Instructional Technology, Master of Science in Information Science และ Master of Library and Information Science เป็นต้น

การประกอบอาชีพภายหลังการศึกษาวิชาสารนิเทศศาสตร์แล้วมีความคล่องตัวสูงมาก คือ นอกจากจะประกอบอาชีพ เป็นบรรณารักษ์ได้โดยตรงแล้ว ยังสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสารนิเทศ โดยดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (Debons 1972 : 465) คือ
    1. นักสารนิเทศ (Information technologist) เพื่อปฎิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสารนิเทศได้ทุกชนิด
    2. ผู้เชี่ยวชาญระบบสารนิเทศ (Information System Specialist) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการออกแบบและควบคุม การใช้ประโยชน์จากระบบสารนิเทศ
    3. นักวิทยาศาสตร์สารนิเทศ (Information scientist) เพื่อปฎิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย การพัฒนา อุตสาหกรรมภายในประเทศ และสร้างบุคลากรที่สำคัญทางสารนิเทศ

สถาบันการศึกษาวิชาสารนิเทศศาสตร์ที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา

มหาวิทยาลัยพิทสเบอร์ก

มหาวิทยาลัยพิทสเบอร์ก ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นมหาวิทยาลัยที่สำคัญแห่งหนึ่งในการเปิดสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ และสารนิเทศศาสตร์ มีประวัติพัฒนาการก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1901 เริ่มสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์มาตั้งแต่ต้น จนมีการปรับปรุงเปลี่ยน แปลงหลักสูตรเพื่อให้ทันกับความต้องการของสังคมข่าวสารโดยการขยายการสอนสารนิเทศศาสตร์ และเปลี่ยนชื่อสถาบันการศึกษา ในมหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนบรรณารักษศาสตร์ และสารนิเทศศาสตร์ในปีค.ศ.1979 ประกอบด้วยวิชา 2ภาควิชา คือ ภาควิชา บรรณารักษศาสตร์ และภาควิชาสารนิเทศศาสตร์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์มีการสอน 3 ระดับ คือ ระดับปริญญามหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรชั้นสูงและปริญญาดุษฎีบัณฑิต ส่วนภาควิชาสารนิเทศศาสตร์เปิดสอนเป็น 4 ระดับ คือ ปริญญาบัณฑิตมหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรชั้นสูง และดุษฎีบัณฑิต นอกจากนั้นยังมีการสอนชั้นสูงกว่าปริญญาดุษฎีบัณฑิตอีกด้วย (นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ 2524: 44) การปรับปรุงการสอนวิชาสารนิเทศศาสตร์เป็นหน้าที่ของภาควิชาสารนิเทศศาสตร์โดยตรง เป็นการปรับนโยบายการสอนวิชาชีพ สารนิเทศศาสตร์ให้สอดคล้องกับความต้องการในการผลิตนักสารนิเทศโดยตรง

วิชาสารนิเทศศาสตร์ที่เปิดสอนเป็นโปรแกรมสหสาขาวิชา ซึ่งประกอบด้วยสาขาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ การสื่อสาร และปรัชญา หลักสูตรการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น4ระดับ มีโปรแกรมการศึกษาในแต่ละระดับ (นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ 2524 : 45-51) ดังนี้ คือ

ระดับปริญญาบัณฑิต วิชาเอกสารนิเทศศาสตร์ ต้องเรียนรายวิชาสารนิเทศศาสตร์อย่างน้อย 30-36 หน่ยกิจ วิชาโท 15 หน่วยกิต และวิชาเลือกตามข้อกำหนดของภาควิชา

ตัวอย่างรายชื่อวิชาทางสารนิเทศศาสตร์ประเภทรายวิชาบังคับ

    ความรู้เบื้องต้นทางสารนิเทศศาสตร์
    การสร้างโปรแกรมภาษา I
    การประมวลผลแฟ้มข้อมูล
    การจัดเก็บและสืบค้นสารนิเทศ

ตัวอย่างรายวิชาเลือก

    การวิเคราะห์ทางสถิติของสารนิเทศ
    ทฤษฎีการสื่อสารทางคณิตศาสตร์
    เทคโนโลยีของระบบสารนิเทศ
    โทรคมนาคมและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์
    การออกแบบศูนย์สารนิเทศ
    การออกแบบภาษาคอมพิวเตอร์
    สารนิเทศและสังคม

ระดับปริญญามหาบัณฑิต ประกอบไปด้วยการเรียนรายวิชาทั้งหมด 36 หน่วยกิต เป็นรายวิชาต่าง ๆ 30 หน่วยกิต และการฝึกงาน 6 หน่วยกิต หลักสูตรในระดับนี้แบ่งเป็น 2 สาขา คือ สาขาผู้เชี่ยวชาญระบบสารนิเทศและสาขาที่ปรึกษาทางสารนิเทศ

สาขาผู้เชี่ยวชาญระบบสารนิเทศ เน้นในการผลิตบุคลากรเพื่อให้มีความสามารถใน การวิเคราะห์ ออกแบบ การใช้และ การประเมินผลระบบสารนิเทศ หรือเครือข่ายในวงงานธุรกิจอุตสาหกรรมและการศึกษา การเรียนประกอบไปด้วยวิชาพื้นฐาน 6 หน่วยกิต วิชาเอก 18 หน่วยกิต วิชาโท 6 หน่วยกิต และการฝึกงาน 6 หน่วยกิต

ตัวอย่างรายวิชาบังคับพื้นฐาน

    ความรู้เบื้องต้นทางสารนิเทศศาสตร์
    ปรัชญาของสารนิเทศศาสตร์

ตัวอย่างรายวิชาเอก

    เทคโนโลยีสารนิเทศ
    ระบบสารนิเทศ
    เครือข่ายสารนิเทศ
    ระบบการจัดการฐานข้อมูล

ตัวอย่างรายวิชาโท

    การปะมวลผลสารนิเทศมนุษย์
    การวิเคราะห์การแสวงหาพฤติกรรมทางสารนิเทศ

สาขาที่ปรึกษาทางสารนิเทศ เน้นในการผลิตบุคลากรเพื่อให้มีความสามารถในการประเมินความต้องการทางด้านสารนิเทศ และในการวางแนวหรือกระบวนการเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ให้แก่ผู้ใช้สารนิเทศ

ตัวอย่างรายวิชาที่เรียน

    ความรู้เบื้องต้นทางพฤติกรรมศาสตร์
    การวิเคราะห์การแสวงหาพฤติกรรมทางสารนิเทศ
    การประมวลผลสารนิเทศมนุษย์
    ระบบสารนิเทศ
    เทคโนโลยีสารนิเทศ
    แหล่งสารนิเทศ (ในสาขาวิชาต่าง ๆเช่น ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เป็นต้น)

ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง โปรแกรมการสอนในระดับนี้มีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ทำงานแล้ว ได้มีโอกาสติดตามพัฒนาการ ต่าง ๆในสาขาวิชาที่สนใจรับจากผู้สำเร็จปริญญามหาบัณฑิตมาแล้วการเรียนในโปรแกรมหลักสูตรนี้ประกอบไปด้วยการเรียนรายวิชาต่าง ๆ 24 หน่วยกิต เป็นรายวิชาของภาควิชาสารนิเทศศาสตร์ อย่างน้อย 15 หน่วยกิต

ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต การสอนในหลักสูตรระดับปริญญาเอก มีความมุ่งหมายเพื่อที่จะพัฒนานักวิชาการให้มีทัศนะและความรู้ ในสหสาขาวิชาต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ผู้เข้าศึกษาต้องสำเร็จปริญญามหาบัณฑิตหรือปริญญาบัณฑิต และมีคุณสมบัติเฉพาะโดยต้องมีพื้น ความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิชาพฤติกรรมศาสตร์ และวิชาภาษาศาสตร์มาก่อนตามข้อกำหนดที่ภาควิชาได้กำหนดไว้ ลักษณะรายวิชา ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาสัมมนา นักศึกษาวิชาเอกในสาขาเฉพาะที่สนใจ และวิชาโทในสาขาวิชาที่สัมพันธ์และส่งเสริมวิชาเอก

มหาวิทยาลัยซีเรคิวส์ (Syracuse University)

เป็นมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้เปลี่ยนแปลงชื่อและปรับปรุงการศึกษาวิชาสารนิเทศศาสตร์ เพื่อสนองความต้องการ ของสังคมยุคข่าวสาร มหาวิทยาลัยซีเรคิวส์ตั้งอยู่ที่มลรัฐนิวยอร์ค ได้จัดตั้งโรงเรียนการศึกษาสารนิเทศ (School of Information Studies) โปรแกรมการศึกษาเป็นโปรแกรมสหวิทยาการที่นำเอาความรู้ และแนวความคิดในสาขาวิชาต่าง ๆ มารวมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่การนำสารนิเทศมาใช้ทั้งส่วนบุคคลและองค์การ การศึกษาสารนิเทศศาสตร์ในโรงเรียน การศึกษาสารนิเทศแบ่งเป็น 4 ระดับ (ลานนา ทวีเศรษฐ 2530 : 76-77) คือ
    1. ระดับปริญญามหาบัณฑิตสาขาบรรณารักษศาสตร์ (Master of Library Science -M.L.S)
    2. ระดับปริญญาบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ด้านวิทยาการจัดการ ทรัพยากรสารนิเทศ (Master of Science in Information Resources Management - M.S. in I.R.M.)
    3. ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (Certificate of Advanced Studies - C.A.S.)
    4. ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านการสืบทอดสารนิเทศ (Doctoral Degree in Information Transfer-Ph.D. in Information Transfer) หลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอน เป็นหลักสูตรวิชาอย่างยืดหยุ่นและเน้นทางด้านสารนิเทศศาสตร์

ในโปรแกรมระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ด้านวิทยาการจัดการทรัพยากรสารนิเทศ ประกอบไปด้วยวิชาต่าง ๆ 5 ส่วน (ลานนา ทวีเศรษฐ 2530 : 82) คือ

    1. วิชาบังคับหลัก (Primary Cores) จำนวน 12 หน่วยกิต ได้แก่
    วิชาหลักการจัดการเบื้องต้นเกี่ยวกับการบริการสารนิเทศ ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรสารนิเทศ การวิเคราะห์ระบบสารนิเทศ และความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสารนิเทศศาสตร์

    2. วิชาบังคับเลือก (Secondary Cores) จำนวน 18 หน่วยกิต ผู้เรียนจะต้องเลือกเรียน 2 วิชา จากสาขาย่อย 3 สาขา ในโปรแกรมการเรียน การสอน คือ สาขาวิชาด้านระบบและเทคโนโลยี สาขาวิชาด้านการจัดการและการบริหารงาน และสาขาวิชาด้านทรัพยากรสารนิเทศ

    3. วิชาที่รวมความสนใจเฉพาะด้าน (Concentration) จำนวน 12 หน่วยกิต เป็นวิชาต่าง ๆ ที่ผู้เรียนเรียนได้ตามความสนใจโดย ได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษา

    4. วิชาเลือกเสรี (Free Electives) จำนวน 9 หน่วยกิต

    5. โครงการก่อนสำเร็จการศึกษา (Exit Project) จำนวน 3-6 หน่วยกิต

หน้าสารบัญ