1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

  การใช้แผ่นซีดี-รอมในการสืบค้นข้อมูล

              เทคโนโลยีสารนิเทศอีกประเภทหนึ่งที่บรรณารักษ์ควรสนใจและมีความรู้ ต่อการนำมาใช้ในการบริการข้อมูล  คือ  การใช้แผ่นซีดี-รอม  (CD-ROM)  ร่วมกับการ ใช้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในห้องสมุด  แผ่นซีดี-รอม (Compact Disc-Read Only Memory : CD-ROM) เป็นสื่อสารนิเทศที่ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ใช้คำนี้ในภาษาไทย  บางแห่งจึงทับศัพท์เรียกว่า แผ่นซีดี-รอม หรือเรียกว่า แผ่นซีดี  เป็นวัสดุเทคโนโลยีสารนิเทศที่ให้ข้อมูล ในลักษณะสื่อผสมเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา แผ่นซีดี-รอม  เป็นวัสดุสารนิเทศที่พัฒนา มาจากแผ่นเสียงเลเซอร์ซึ่งเริ่ม ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปลายปี  พ.ศ.2513   ต่อมาพัฒนาเป็นแผ่นซีดี-ไอ   (Compact   Disc Interactive)  และแผ่นซีดีวี  (Compact Disc Video) จนกระทั่งมาเป็นแผ่นซีดีรอม  และมีบทบาทต่อสังคมสารนิเทศ มากกว่าวัสดุสารนิเทศใด ๆ ในปัจจุบัน

            ตัวแผ่นซีดี-รอม เป็นดิสก์หน้าเดียว ไม่มีแบบ 2 หน้า เหมือนดิสก์ทั่ว ๆ ไป ขนาดของแผ่นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.72 นิ้ว หรือ 120 มม. มีรูศูนย์กลางแผ่นกว้าง 0.59นิ้ว  หรือ  15  มม.  ตัวแผ่นจานจะทำด้วยอลูมิเนียมและ เคลือบผิวด้วยพลาสติกโพลีคาร์บอเนต  ซึ่งมีลักษณะทั่วๆไปเหมือนกับ คอมแพคดิสก์ที่ใช้ระบบเสียงไฮไฟ แต่ต่างกันตรงที่ตัวกลางแม่เหล็ก มีวงรอบสำหรับเก็บข้อมูล เรียกว่า แทรค(Tracks)  โดยแผ่นซีดี-รอมประกอบ ด้วยแทรคข้อมูล ที่มีลักษณะขดเป็นวง  เมื่อวัดความยาวของแทรคที่เป็นวงขดแล้ว จะมีความยาวถึง 3 ไมล์ โดย จะมีจำนวน 16,000 รอบต่อนิ้ว แต่ละส่วน (Sector) ของข้อมูลมีความจุ 2,000 ไบท์ กินเนื้อที่ของความยาว 3 /4 นิ้ว

            วิธีบันทึกข้อมูลลงบนแผ่นทำได้โดยเก็บข้อมูลลงบนพื้นที่เล็ก ๆ ด้วยลำแสงเลเซอร์  โดยการรวมลำแสง ให้เป็นลำเล็กมาก ฉายลงไปบนพื้นผิวที่เก็บข้อมูล พื้นผิวนี้เป็นชิ้นของสารที่ไวต่อปฏิกริยา สารนี้เป็นโลหะผสม  เช่น ทองคำขาว ทองคำเงิน เป็นต้น จะถูกฉาบไวบาง ๆ บนผิวของแผ่นโลหะ   เมื่อถูกแสงบริเวณ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ข้อมูลจึงถูกบันทึกลงไว้ตามลักษณะของลำแสง   การอ่านข้อมูลกลับออกมาทำได้   โดยใช้ลำแสงเลเซอร์ พลังงานต่ำ ส่องลงไป บริเวณพื้นผิวที่ได้บันทึกข้อมูลไว้จะสะท้อนลำแสงแตกต่างไปจาก บริเวณข้างเคียง   และส่งสัญญาณสะท้อนกลับออกมาเป็นสารนิเทศที่ต้องการ  แผ่นซีดี-รอมมีลักษณะพิเศษประจำตัว  คือ สามารถอ่านข้อมูลได้อย่างเดียว ไม่สามารถเขียนข้อมูลใหม่หรือข้อมูลเดิมที่มีอยู่ก่อนได้    ลักษณะพิเศษนี้มีส่วนดี ในด้านความคงทนของสารนิเทศที่บันทึกไว้ จะไม่ถูกลบทิ้งโดยความจงใจหรือความพลั้งเผลอใด ๆ ดังเช่น ดิสก์หรือเทปแม่เหล็กทั้งหลาย แผ่นซีดี-รอมมีข้อบกพร่องที่อ่านสารนิเทศได้อย่างเดียว แต่เขียนข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้  การปรับปรุงสารนิเทศจึงจำเป็นต้องใช้แผ่นซีดี-รอมแผ่นใหม่ ซึ่งทำให้ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติม

            คุณค่าของแผ่นซีดี-รอมมีอย่างมากมาย ทั้งนี้เพราะแผ่นซีดี-รอมเพียงแผ่นเดียว  มีความสามารถในการจัดเก็บ สารนิเทศได้ถึง 500 เมกกะไบท์ หรือมากกว่านี้เทียบเท่ากับจำนวนหน้าหนังสือประมาณ 250,000 หน้า หรือเทียบเท่าแผ่นดิสก์ธรรมดา จำนวนประมาณ  1,500  แผ่น  หรือแผ่นดิสก์ขนาดหนา  (Hard  Discs)  ประมาณ  50 แผ่น คุณค่าในการบรรจุสารนิเทศอันมหาศาลนี้เอง ทำให้สังคมข่าวสารแคบลง ขจัดปัญหาในเรื่องการจัดซื้อสารนิเทศ เพื่อนำมาให้บริการ ตลอดจนการค้นหาข้อมูลของทุก ๆ สาขาวิชาในเวลา ที่ต้องการได้ ข้อดีเด่นของแผ่นซีดี-รอม คือ เป็นแผ่นที่สามารถบรรจุข้อมูลได้อย่างมหาศาล สามารถบันทึกสารนิเทศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตัวอักษร กราฟิก ภาพ หรือ เสียง เก็บรักษาได้ง่าย   สามารถนำแผ่นมาทำความสะอาดเมื่อแผ่นสกปรก   และ  ประการที่สำคัญคือ ช่วยลดปัญหาในเรื่องการใช้ทรัพยากรสารนิเทศร่วมกันได้ สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย  มีการบริการแผ่น ซีดี-รอมอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดความร่วมมือในการใช้แผ่นซีดี-รอมร่วมกัน ห้องสมุดโรงเรียนก็ควรมีแนวทางในการ พิจารณาเลือกซื้อแผ่นซีดี-รอมร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ทรัพยากร สารนิเทศร่วมกันในอนาคต  และในขณะนี้มีการผลิตและจำหน่ายแผ่นซีดี-รอมเป็นภาษาไทย เพิ่มมากขึ้น เช่น แผ่นซีดี-รอม เรื่อง พรรณไม้งามในสวนหลวง แผ่นซีดี-รอม เรื่อง พระไตรปิฎกซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัย มหิดล  และ แผ่นซีดี-รอม เรื่อง สารานุกรมไทยสำหรับ เยาวชน เป็นต้น  บรรณารักษ์จะต้องรู้จักเครื่องอ่านซีดี-รอม (CD-ROM Driver) ซี่งเป็นอุปกรณ์ เทคโนโลยีสารนิเทศใช้ร่วมกับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์  รู้จักการเลือกแผ่นซีดี-รอมเพื่อ นำมาให้บริการภายในห้องสมุดโรงเรียน ตลอดจนรู้วิธีการใช้แผ่นซีดี-รอม ดังต่อไปนี้ 

อุปกรณ์การค้นสารนิเทศจากแผ่นซีดี-รอม ได้แก่

    1. เครื่องอ่านซีดี-รอม เครื่องอ่านแผ่นซีดี-รอมเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ในการอ่านข้อมูลจากแผ่นซีดี-รอม เดิมมักเป็นเครื่องอ่านซึ่งติดตั้งอยู่ภายนอกเครื่อง  ปัจจุบันมีการผลิตและออกแบบเพื่อให้ติดตั้งอยู่ภายในเครื่อง ไมโครคอมพิวเตอร์ และมีวัสดุประกอบการค้นข้อมูลในระบบสื่อผสม คือมีทั้งการ์ดเสียง ลำโพง และ ไมโครโฟน ประกอบมาให้พร้อม การเลือกซื้อเครื่องอ่านแผ่นซีดี-รอม บรรณารักษ์ควรพิจารณา องค์ประกอบเพิ่มเติม ดังนี้
    1.1 ชนิดของเครื่องอ่านควรเป็นแบบติดตั้งภายใน
    1.2 มีอัตราการเข้าถึงของข้อมูล(ms) อย่างน้อย 300 ms
    1.3 มีอัตราการส่งผ่านข้อมูล(kps) อย่างน้อย 600 Kbyte/sec
    1.4 ระบบการส่งข้อมูลเป็นแบบ SCSI II
    1.5 มีหน่วยความจำแคชอย่างน้อย 256 KB
    1.6 ควรมีมาตรฐานในการสนับสนุนมาตรฐาน MPC Level I และ  MPC Level II

2. แผ่นซีดี-รอม บรรณารักษ์ควรเลือกซื้อแผ่นซีดี-รอมให้เหมาะสมกับ การให้บริการการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา

            รายชื่อแผ่นซีดี-รอมที่สมควรพิจารณาจัดซื้อ ตัวอย่างเช่น

                2.1 แผ่นซีดี-รอม พรรณไม้งามในสวนหลวง
                2.2 แผ่นซีดี-รอม Information Finder (เป็นแผ่นซีดี-รอมที่บันทึก  ข้อมูลจากสารานุกรม World Book Encyclopedia ทั้งชุด)
                2.3 แผ่นซีดี-รอม McGraw-Hill Multimedia of Science and  Technology (เป็นแผ่นซีดี-รอมที่บันทึกข้อมูลจากสารานุกรม  Encyclopedia of Science and Technology ของบริษัท  McGraw-Hill ทั้งชุด)
                2.4 แผ่นซีดี-รอม สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน (อยู่ในระหว่างการจัดทำ)

หน้าสารบัญ