1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science
สารนิเทศและระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติ
ความหมายของระบบสารนิเทศ
ระบบสารนิเทศ (Information System) เป็นคำที่มาจากคำว่า ระบบ (System) ซึ่งหมายถึง โครงสร้างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ มารวมกันเป็นส่วน
ประกอบที่เกิ้อกูลกัน มีความเชื่อมโยงกัน ทำหน้าที่ต่างๆที่จะให้บรรลุถึงเป้าหมายร่วมกัน เมื่อมารวมกับคำว่า สารนิเทศซึ่งหมายถึง ข่าวสาร เรื่องราววิชาการต่าง ๆ
แล้ว จะมีความหมายถึงระบบในการรวบรวม จัดเก็บ และให้บริการสารนิเทศ เกิดจากความร่วมมือและประสานงานกับระหว่างสถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ
สารนิเทศ ระบบสารนิเทศจึงเกี่ยวข้องกับ วิธีการดำเนินงาน ทางสารนิเทศที่เกิดจากการร่วมมือ ประสานงานกันดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสารนิเทศเป็นสำคัญ
ระบบสารนิเทศเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะถ้ามีการประสานงาน ในด้านการจัดการสารนิเทศที่ดี จะลดความซ้ำซ้อนในการ ให้บริการสารนิเทศ
เป็นการ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสารนิเทศภายในประเทศ
องค์ประกอบของสารนิเทศ
ระบบสารนิเทศจะมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สามารถพัฒนาการดำเนินงานทางด้าน สารนิเทศให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
องค์ประกอบเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาและ ทรัพยากรจำนวนมากในการพัฒนาให้เป็นระบบเดียวกัน จนสามารถกำหนดให้เป็นระบบ สารนิเทศของชาติได้ในภายหลัง
องค์ประกอบที่สำคัญของระบบสารนิเทศ ได้แก่ แหล่ง ผลิตสารนิเทศ แหล่งบริการสารนิเทศ แหล่งผลิตและฝึกอบรมบุคลากรสารนิเทศ ผู้ใช้ สารนิเทศ
และงบประมาณในการดำเนินงานสารนิเทศ
แหล่งผลิตสารนิเทศ
แหล่งผลิตสารนิเทศ ได้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตความรู้ ข้อมูล และ ข่าวสารทั้งหมด ซึ่งเป็นสารนิเทศที่จำเป็นสำหรับสังคม หน่วยงานเหล่านี้ได้แก่
สถาบัน การศึกษา สมาคม องค์กรทางวิชาชีพ สำนักพิมพ์ สำนักข่าว หน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ได้จัดพิมพ์ หนังสือตำราเรียน หนังสือสารคดี วารสาร
เอกสารทางวิชาการ ตลอดจน โสตทัศนวัสดุและสื่อความรู้ในรูปแบบอื่นๆ เป็นแหล่งสื่อความรู้ ที่ถูกต้อง ทันสมัย สนอง ความต้องการของผู้ใช้สารนิเทศได้
แหล่งผลิตสารนิเทศสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของการผลิตสื่อสารนิเทศ โดย แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- 1. แหล่งผลิตสารนิเทศประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ ประเภทตีพิมพ์ ได้แก่ หน่วยงาน ทางการศึกษา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ
อุตสาหกรรมการพิมพ์เช่น สำนักพิมพ์โรงพิมพ์สำนักข่าว นับเป็นแหล่งผลิตที่ผลิตสารนิเทศออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทันต่อเหตุการณ์
สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีบทบาทมากที่สุดต่อสังคม สารนิเทศ ได้แก่ หนังสือพิมพ์และวารสาร ความต้องการในการอ่านจากประชาชน สูงขึ้น
ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
- 2. แหล่งผลิตสารนิเทศประเภทสื่อโสตทัศนวัสดุ ได่แก่ หน่วยงานที่ดำเนินการ ธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารและคมนาคม
ประชาชนได้รับสารนิเทศได้อย่าง รวดเร็ว และมีบทบาทสูงต่อการรับรู้สารนิเทศในสังคม หน่วยงานเหล่านี้ ได้แก่ สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ ตลอดจนองค์การต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม สารนิเทศที่ได้รับ อยู่ในรูปแบบของเครื่องรับฟัง เครื่องรับชม เช่น วิทยุ โทรทัศน์ นอกจากนี้สารนิเทศยังได้
รับการบันทึกในรูปของแถบบันทึกเสียง ม้วนวีดิทัศน์ ตลอดจนแผ่นสารนิเทศซึ่งมีบทบาท สูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมข่าวสารในปัจจุบัน
- แหล่งผลิตสารนิเทศ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคมสารนิเทศใน ปัจจุบันมีรายงานการวิจัยว่า สังคมสารนิเทศในปัจจุบัน
เป็นระบบสังคมที่เกี่ยวข้องกับสารนิเทศ อยู่ตลอดเวลา โดยได้อ้างถึงอัตราเฉลี่ยของรายได้ประชาชาติต่อหัว (Gross National Product - GNP) ว่า
รายได้ประชาชาติส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมข่าวสาร (Information Industries) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุตสาหกรรมแห่งความรู้ (Knowledge Industries)
ซึ่งได้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาการประมวล ข้อมูล การให้คำปรึกษาด้านการจัดการอุตสาหกรรม หนังสือพิมพ์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมแห่งความรู้เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการเผยแพร่ แนวความคิดเห็นของสารนิเทศต่าง ๆ มีรายได้ที่เกิดขึ้นเท่ากับ 1 ใน 4
ของรายได้ ประชาชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2498 และจะทวีปริมาณรายได้ที่เกิดขึ้น จากอุตสาหกรรมแห่งความรู้มากขึ้นทุกปี ดังนั้นแหล่งผลิต
สารนิเทศจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญทั้งการส่งเสริมการใช้สารนิเทศ ในสังคมสารนิเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในประเทศสหรัฐอเมริกา
- ในประเทศไทย อุตสาหกรรมการพิมพ์ก็นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญเช่นเดียวกัน ได้ศึกษาและวิจัยพบว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์
สามารถพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการ ส่งออกได้
- จากการศึกษาข้อมูลค่าผลิตภัณฑ์ประชาชาติในประเทศไทย (GDP) คิดตามราคา ตลาดในสาขาการพิมพ์พบว่า ใน พ.ศ. 2520 มีมูลค่าเท่ากับ 1,255.50
ล้านบาท ต่อมา เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,784.16 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2528 แสดงให้เห็นว่า
อุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอุตสาหกรรมหนึ่งในประเทศไทย เมื่อพิจารณา ทางด้านมูลค่าของผลิตผลทั้งหมด
นอกจากนั้นถ้าพิจารณาทางด้านการใช้แรงงานอุตสาหกรรม การพิมพ์ ก็เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดการจ้างงานได้มากอุตสาหกรรมหนึ่ง เพราะงานผลิตสิ่งพิมพ์
เป็นงานที่ต้องใช้แรงงานประกอบกับเครื่องมือเครื่องจักร เช่น งานเก็บเล่ม เย็บเล่ม งาน ไสกาว และงานหีบห่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
สถานประกอบการทางการพิมพ์ก็มีอยู่เกือบทั่วไปในทุก จังหวัดของประเทศไทย โดยมีจำนวน 1,882 แหล่ง และสามารถจ้างงานได้ประมาณ 24,000 คน
กระจายออกไปในภาคต่าง ๆ ของประเทศ และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ประชากรมีรายได้สูงขึ้น ความต้องการสิ่งพิมพ์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
เพราะธุรกิจทางด้าน การค้า การอุตสาหกรรม ก็ต้องพยายามขยาย การโฆษณา มีการจ้างพิมพ์แผ่นพับ ใบปิด และ เอกสารการโฆษณาเพิ่มมากขึ้น
และเมื่อประชากรมีรายได้สูงขึ้น ความต้องการพักผ่อนจาก การอ่านและการศึกษาสิ่งพิมพ์ก็จะมากขึ้นด้วย อุตสาหกรรมการพิมพ์จึงมีการขยายตัวตามภาวะ
ของเศรษฐกิจและจะช่วยให้มีการว่าจ้างทำงานเพิ่มตามไปด้วย
- นอกจากอุตสาหกรรมการพิมพ์จะก่อให้เกิดการจ้างงานแล้ว ยังช่วยลดปัญหา ดุลการค้าและดุลการชำระเงินได้ เพราะอุตสาหกรรม
การพิมพ์มิใช่เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิต เพื่อสนองความต้องการของคนภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งออก จำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย
กล่าวคือ พ.ศ. 2527 ส่งออกเป็นมูลค่า 28.69 ล้านบาท ต่อมาใน พ.ศ.2528 เพิ่มขึ้นเป็น 70.53 ล้านบาท นับว่าเป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์มีโอกาส
และลู่ทางอย่างมากที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกได้และอุตสาหกรรมการพิมพ์ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบบางส่วนที่เป็นผลิตผล
ทางการเกษตรซึ่งสามารถผลิตขึ้นได้เอง ภายในประเทศ เช่น กระดาษ เป็นต้น นับว่าเป็นการสร้างตลาดภายในแก่อุตสาหกรรม กระดาษทำให้ได้ราคาดีขึ้น
ช่วยลดอัตราการค้าเสียเปรียบและอาจส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศซึ่งจะช่วยให้อัตราการค้าและดุลการชำระเงินดีขึ้น มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น และถ้าอุตสาหกรรมการพิมพ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบเชื่อมโยงไปยังสาขา เศรษฐกิจอื่นๆ และมีส่วนต่อการขยายสังคมสารนิเทศให้กว้างขวางอีกด้วย เช่น ก่อให้ เกิดการขยายตัวของบริษัทขนส่ง
ร้านจำหน่ายหนังสือ กิจการค้าขายทางธุรกิจ เป็นต้น
แหล่งบริการสารนิเทศ
- ส่วนที่สำคัญของระบบสารนิเทศอีกประการหนึ่งคือ ผู้ให้บริการสารนิเทศแก่ผู้ต้องการ รับสารนิเทศ ซึ่งได้แก่ สถาบันบริการสารนิเทศ
ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สถาบันเหล่านี้เป็นผู้ รวบรวมแหล่งสารนิเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน มีความรู้ความสามารถในการจัดเก็บให้บริการ
และเผยแพร่สารนิเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งให้บริการสารนิเทศที่สำคัญในอดีต คือ ห้องสมุดประชาชน แต่ในปัจจุบันแหล่งให้
บริการสารนิเทศมีหลายประเภท แตกต่างกันไปตาม วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและการให้บริการสารนิเทศ กฤติยา อัตถากร และ ชุติมา สัจจานันท์
ได้แบ่งสถาบันบริการสารนิเทศที่สำคัญในปัจจุบัน เป็น 9 ประเภท ดังต่อไปนี้ คือ
- 1. ห้องสมุด (Libraries) ห้องสมุดนับเป็นแหล่งที่ให้สารนิเทศที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต เป็นแหล่งสะสมสารนิเทศ เพื่อให้ความรู้ เพื่อการศึกษา เพื่อการค้นคว้าวิจัย
เพื่อความจรรโลงใจ และเพื่อการพักผ่อน หย่อนใจ ห้องสมุดเป็นบ่อเกิดของพัฒนาการของสถาบันบริการสารนิเทศ ประเภทอื่น ๆ ในปัจจุบัน
ห้องสมุดที่ให้บริการอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
1.1 ห้องสมุดโรงเรียน
1.2 ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
1.3 ห้องสมุดเฉพาะ
1.4 ห้องสมุดประชาชน
1.5 หอสมุดแห่งชาติ
- การค้นหาสารนิเทศจากห้องสมุด เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเรียนรู้ของคนในประเทศ ที่ขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาภายในประเทศเป็นหลัก
การจัดการศึกษาของชาติที่ให้เด็กได้รับ การศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมปีที่1- มัธยมปีที่6 ฝึกให้เด็กได้ใช้บริการค้นหาสารนิเทศจาก ห้องสมุดโรงเรียน
หลังจากนั้นเมื่อเรียนจบระดับมัธยมศึกษาสามารถศึกษาค้นคว้าในระดับ สูงขึ้นจากห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับอื่น
ๆ ให้บริการค้นคว้าที่ลึกซึ้งจากห้องสมุดเฉพาะ ห้องสมุดประชาชน หรือหอสมุดแห่งชาติได้อีก ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
- ห้องสมุดประเภทต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมข่าวสารที่ทำให้ประชาชน ได้ทราบสารนิเทศที่จำเป็นในแต่ละวัน
สารนิเทศที่ได้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต ประจำวันได้เป็นอย่างดี
- 2. ศูนย์เอกสารหรือศูนย์สารนิเทศ (DocumentationCenters) หรือ Information Centers)
- ศูนย์เอกสารหรือศูนย์สารนิเทศเป็นแหล่งที่ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมสารนิเทศ เฉพาะเรื่อง เฉพาะสาขาต่าง ๆ แก่ผู้ใช้สารนิเทศเฉพาะกลุ่ม
กลุ่มเอกสารหรือสารนิเทศ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการศึกษาค้นคว้าเพื่อการวิจัย และเพื่อการปฏิบัติงานใน ศูนย์สารนิเทศ โดยตรง
การจัดตั้งศูนย์สารนิเทศเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความขาดแคลนสารนิเทศและเพื่อสนองความต้องการ ของหน่วยงานหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจ
ศูนย์สารนิเทศมีหลายลักษณะตาม ประเภทของงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจกำหนดขอบเขต ตามสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
ศูนย์สารนิเทศด้านวัสดุและเทคนิคการหีบห่อ เป็นต้น
- ศูนย์สารนิเทศส่วนใหญ่มีเอกสารสารนิเทศเฉพาะเรื่องในขอบเขตการปฏิบัติงานตาม ภาวะหน้าที่โดยตรง เอกสารทุกชิ้นจึงมีค่า
นักสารนิเทศหรือบรรณารักษ์ที่ปฏิบัติงานจึงต้องดำเนิน งานเกี่ยวกับเอกสารในการใช้ประโยชน์จากเอกสารเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การให้บริ การสาระสังเขป
บริการข่าวทันสมัย ตลอดจนบริการสารนิเทศในรูปแบบอื่น ๆ
- 3. ศูนย์ข้อมูล (Data Centers)
- ศูนย์ข้อมูลคือ แหล่งที่ให้บริการในการผลิตหรือรวบรวมข้อมูลตัวเลข สถิติต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ในสถาบันการศึกษาในห้องสมุด ปฏิบัติการ หรือศูนย์วิจัยต่าง
ๆ ข้อมูลต่าง ๆ นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเผยแพร่แก่ผู้ต้องการได้อย่างมีระบบ ้อมูลที่จัดเก็บส่วนใหญ่เป็น ข้อมูลดิบ
และเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่ใช้อยู่ในการดำเนินงาน ศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยที่ น่าสนใจได้แก่ ศูนย์ข้อมูล พลังงานแห่งประเทศไทย
ของสำนักงานพลังงานแห่งชาติ ศูนย์ ข้อมูลธุรกิจหลักทรัพย์ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการตลาด ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
กองข้อมูลการค้า ของกรมพาณิชย์สัมพันธ์ เป็นต้น
- 4. หน่วยงานสถิติ (Staistical Offices)
- ในสถาบันการศึกษาและศูนย์สารนิเทศบางแห่ง มีการดำเนินงานเก็บสถิติตัวเลข ซึ่งเป็นข้อมูลเฉพาะด้านเพื่อนำมาใช้ในการ บริหารงาน
และนำตัวเลขสถิติเหล่านั้นมาศึกษา ค้นคว้า ทำการวิเคราะห์วิจัยเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง หรือเป็นแหล่งเผยแพร่ตัวเลขสถิติต่าง ๆ
หน่วยงานเหล่านี้จัดเป็นหน่วยงานสถิติ เป็นแหล่งให้บริการสารนิเทศทางสถิติตัวเลขเป็นสำคัญ ลักษณะหน่วยงานสถิติในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่
หน่วยงานสถิติที่อยู่ใน กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ หน่วยงานสถิติเฉพาะเรื่องภายในกระทรวง ทบวง กรม หน่วย
งานสถิติขนาดใหญ่จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานสถิติโดยตรง หน่วยงานประมวลข้อมูลสถิติโดยใช้ เครื่องคอมพิวเตอร์
และหน่วยงานสถิติของสถาบันการศึกษาและวิชาการเฉพาะเรื่อง
- ตัวอย่างของหน่วยงานสถิติที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ
สถาบันประชากรศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
- 5. ศูนย์วิเคราะห์สารนิเทศ (Information Analysis Centers)
- ศูนย์วิเคราะห์สารนิเทศ เป็นสถาบันให้บริการสารนิเทศที่ทำหน้าที่เลือกสรรประเมินค่า จัดเก็บ และนำเสนอสารนิเทศเฉพาะวิชา
ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่หรือกำลังดำเนินการ ในรูปแบบที่สะดวก ประหยัดเวลาผู้ใช้ ศูนย์วิเคราะห์สารนิเทศส่วนใหญ่ จะตั้งอยู่หรือเป็นส่วนหนึ่ง
ของศูนย์วิจัย ตัวอย่างของศูนย์วิเคราะห์สารนิเทศในประเทศ ได้แก่ สมาคมสังคมศาสตร์แห่ง ประเทศไทย เป็นต้น
- 6. ศูนย์แจกจ่ายสารนิเทศ (Clearing Houses)
- ศูนย์แจกจ่ายสารนิเทศ เป็นสถาบันบริการสารนิเทศที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมจัด เก็บหลักฐานของสารนิเทศต่าง ๆ
ตลอดจนให้บริการไปยังผู้ที่ต้องการสารนิเทศนั้น ๆ ศูนย์ แจกจ่ายสารนิเทศอาจดำเนินงานเป็นอิสระ หรือเป็นหน่วยงานเฉพาะ ของหน่วยงานสารนิเทศ
มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมเอกสารที่มีแหล่งผลิตต่าง ๆ กันซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการ เข้าถึงเอกสารได้จากแหล่งเดียว
ผู้ผลิตเอกสารจะส่งข่าวสารให้ศูนย์แจกจ่ายสารนิเทศได้ ทราบว่ามีการผลิตเอกสารอะไรบ้าง เมื่อศูนย์แจกจ่ายสารนิเทศได้รับข่าวสารแล้วแจ้งสารนิ
เทศต่อไปในรูปของการจัดทำบรรณานุกรม ดรรชนี ตลอดจนวิธีการอื่น ๆ
- หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์แจกจ่ายสารนิเทศที่สำคัญในประเทศไทย คือ หอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุดยูเนสโก เป็นต้น
- 7. ศูนย์แนะแหล่งสารนิเทศ (Referral Centers)
- ศูนย์แนะแหล่งสารนิเทศทำหน้าที่เป็นสถาบันบริการสารนิเทศในการให้บริการตอบ คำถามของผู้ใช้ โดยการแนะผู้ใช้ ไปยังแหล่งสารนิเทศต่าง ๆ เช่น
สิ่งพิมพ์ สถาบันบริการ สารนิเทศต่าง ๆ สมาคมวิชาชีพ สถาบันวิจัย ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ ศูนย์และสารนิ เทศจะมีนามานุกรมและรายชื่อแหล่งสารนิเทศต่าง
ๆ ซึ่งจัดทำขึ้นและปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ เสมอ
- ศูนย์แนะแหล่งสารนิเทศที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
- 8. หอจดหมายเหตุ (Archives)
- สถาบันบริการสารนิเทศที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ หอจดหมายเหตุเป็นแหล่ง ที่จัดเก็บและให้บริการสารนิเทศจดหมายเหตุ ที่สำคัญซึ่งได้แก่
เอกสารราชการและเอกสาร ทางประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดจากการบันทึก รายงาน แบบพิมพ์ แผนที่ แผนผัง ภาพถ่าย เป็นต้น
เอกสารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการใช้ประโยชน์ต่อไปแก่ผู้ต้องการใช้ทั้งสิ้น
- ตัวอย่างของหอจดหมายเหตุที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หอบรรณสารของห้องสมุด
และศูนย์สารนิเทศธนาคารแห่งประเทศไทย กองบรรณ สารและห้องสมุด กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
- 9.สถาบันบริการสารนิเทศเชิงพาณิชย์(Commercial Information Service Centers)
- สถาบันบริการสารนิเทศเชิงพาณิชย์ เป็นสถาบันที่จัดให้บริการสารนิเทศโดยคิดค่า บริการ เป็นวิวัฒนาการของสังคมสารนิเทศ
ที่มีอุตสาหกรรมสารนิเทศเกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะ ผู้ใช้บริการต้องการสารนิเทศที่ต้องการได้สะดวกและรวดเร็วแต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จากสถาบัน
ซึ่งให้สารนิเทศสถาบันบริการสารนิเทศเชิงพาณิชย์มีการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นธุรกิจ และจัดให้บริการ สารนิเทศตามความต้องการของผู้ใช้
- ในประเทศไทย บริษัทสยามบรรณ จำกัด นับว่าเป็นตัวอย่างของสถาบันบริการ สารนิเทศเชิงพาณิชย์ได้ เพราะจัดพิมพ์ สยามจดหมายเหตุ
บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์ จำหน่ายเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์เพื่อบริการสารนิเทศเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย และเรื่องน่ารู้ในต่างประเทศ
- แหล่งผลิตและฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวกับสารนิเทศ
- องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ระบบสารนิเทศดำเนินไปด้วยดี ได้แก่ แหล่งผลิตบุคลากรทางด้านสารนิเทศ ซึ่งได้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ
ที่เปิดสอนวิชา บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ในระดับต่างๆสำหรับผลิตบรรณารักษ์ นักสารนิเทศ ผู้จัดการสำนักงานสารนิเทศ
แหล่งผลิตบุคลากรที่เกี่ยวกับสารนิเทศอื่น ๆ เช่น ผู้จัดการ สารนิเทศผู้จัดการสำนักงานสารนิเทศ แหล่งผลิตบุคลากรที่เกี่ยวกับสารนิเทศจะต้องผลิต
บุคลากรทางสารนิเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมสารนิเทศ และต้องติดตาม ความเปลี่ยนแปลงทางสารนิเทศอย่างใกล้ชิด
- สถาบันที่มีส่วนต่อการฝึกอบรมบุคลากรทางสารนิเทศจะมีประโยชน์ต่อการเสริมความสำคัญของวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ และสารนิเทศศาสตร์ เช่น
สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย จัดฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ทางด้านบรรณารักษศาสตร์ และสารนิเทศศาสตร์อยู่เป็นประจำ
ทำให้บุคลากรตอบสนองการทำงานทางด้านสารนิเทศได้ นอกจากนี้ยังมีสถาบันวิชาชีพอื่น ๆ เปิด อบรมการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
ได้เปิดการฝึกอบรมรายวิชาสั้น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม สารนิเทศในการใช้บุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงทำให้ระบบ
สารนิเทศมีความสมบูรณ์ในเรื่องของบุคลากร
- ผู้ใช้สารนิเทศ
- ผู้ใช้สารนิเทศนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในระบบสารนิเทศ เพราะบริการ สารนิเทศให้บริการแก่ผู้ใช้หลายระดับ และเพื่อประโยชน์
ที่ต่างวัตถุประสงค์กันออกไป ประภาวดี สืบสนธิ์ ได้เปรียบเทียบการใช้สารนิเทศในสังคมสารนิเทศว่า เปรียบได้เหมือนกับวงการธุรกิจ ผู้ใช้สารนิเทศคือผู้บริโภค
บรรณารักษ์หรือนักสารนิเทศจึง ต้องพยายามเข้าใจผู้ใช้ในการวิจัยตลาดเพื่อสำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภค
- การพัฒนาผู้ใช้สารนิเทศ เป็นสิ่งจำเป็นที่แหล่งให้บริการสารนิเทศจะดำเนินการ ให้เกิดการใช้สารนิเทศได้เต็มที่ เพราะผู้ใช้สารนิเทศ ต้องนำความรู้
ข้อมูลข่าวสารมาใช้ ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและงานของตน สารนิเทศที่ไม่มีผู้ใช้ นับว่าไร้ประโยชน์ การพัฒนาผู้ใช้
และยกระดับมาตรฐานของผู้ใช้จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงควบคู่ไปกับการพัฒนา ห้องสมุด
- ผู้ใช้สารนิเทศแบ่งได้ตามกลุ่มผู้ใช้ของแหล่งบริการสารนิเทศ เช่น กลุ่มผู้ใช้ ห้องสมุดประชาชน กลุ่มผู้ใช้ห้องสมุดโรงเรียน
กลุ่มผู้ใช้ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มผู้ใช้ ห้องสมุดเฉพาะ เป็นต้น ครั้งล่าสุดมีการวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มผู้ใช้ห้องสมุด ได้แบ่งกลุ่มผู้ใช้ออก เป็น 6 ระดับ ดังต่อไปนี้
คือ
- 1. กลุ่มผู้ใช้ระดับโรงเรียน เป็นการใช้สารนิเทศภายในห้องสมุดโรงเรียน ผู้ใช้สารนิเทศได้แก่ นักเรียน การพัฒนาผู้ใช้ในระดับนี้
บรรณารักษ์ในห้องสมุดโรงเรียน ต้องปลูกฝังนักเรียนให้มีนิสัยรักการอ่าน ให้รู้จักใช้ห้องสมุดเพื่อการค้นคว้าหาคำตอบแก่ตนเอง
ให้รู้จักใช้หนังสืออ้างอิงประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ในห้องสมุด บรรณารักษ์และครูผู้สอนในโรงเรียนต้องร่วมมือประสานงานกัน
ในการชี้แนะการใช้ประโยชน์จากสารนิเทศที่มีอยู่ใน โรงเรียนอย่างเต็มที่
- 2. กลุ่มผู้ใช้ระดับประชาชน เป็นการใช้สารนิเทศของกลุ่มประชาชนทั่วไปรวม ทั้งผู้รู้หนังสือน้อย กลุ่มนี้ใช้บริการสารนิเทศ ค่อนข้างน้อย
และแหล่งบริการของกลุ่มผู้ใช้ ระดับนี้คือห้องสมุดประชาชน ยังมีอุปสรรคต่อการบริการงาน ทำให้ประชาชนไม่เห็นความ จำเป็นของการใช้ห้องสมุดประชาชน
ความต้องการในการใช้สารนิเทศยังไม่ลึกซึ้ง ส่วน ใหญ่แล้ว อ่านหนังสือเพื่อการบันเทิงพักผ่อน กลุ่มผู้ใช้ระดับนี้จึงควรได้รับการพัฒนาในการ
ใช้สารนิเทศเพื่อให้ติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษา ภาคบังคับแล้วไม่ค่อยมีโอกาสติดตามสารนิเทศจากสังคม
ก่อให้เกิดสภาพการลืมหนังสือได้
- 3. กลุ่มผู้ใช้ระดับการศึกษาชั้นสูง เป็นการใช้สารนิเทศของอาจารย์ นิสิต นักศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
ซึ่งใช้ห้องสมุดเพื่อประกอบการเรียนการสอนตาม หลักสูตรและเพื่อการวิจัย ผู้ใช้กลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือในการขอรับบริการสารนิเทศ ในรูปแบบต่าง ๆ
- 4. กลุ่มผู้ใช้ระดับการค้นคว้าวิจัยที่ลึกซึ้ง ผู้ใช้สารนิเทศกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ใช้ที่พึ่ง ตนเองได้มากที่สุด แหล่งบริการที่สำคัญ ได้แก่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย
ห้องสมุดเฉพาะ และ ศูนย์สารนิเทศเฉพาะวิชาต่าง ๆ ผู้ใช้กลุ่มนี้มีความรู้เรื่องที่ตนเองจะค้นคว้าได้อย่างลึกซึ้ง
- 5. กลุ่มผู้ใช้ระดับผู้บริหาร ผู้ใช้สารนิเทศกลุ่มนี้คือกลุ่มระดับผู้บริหารในหน่วย งานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐบาล
ผู้ใช้ในระดับนี้มีความต้องการใช้สารนิเทศแตก ต่างไปจากนักเรียน นักศึกษา นักวิจัย และประชาชนโดยทั่วไป ผู้บริหารจะต้องรวบรวม
สารนิเทศขึ้นเองเพื่อความสะดวกต่อการบริหารงาน ในหลาย ๆ องค์การได้จัดให้มีระบบ ข้อมูลเพื่อการบริหารขึ้นแยกต่างหากจากห้องสมุด เรียกว่า
ระบบสารนิเทศเพื่อการบริหาร หรือ เพื่อจัดการ (Management Information System - MIS) ซึ่งภายในระบบจะรวมข้อมูลเกี่ยวกับ องค์การไว้ทุกประเภท
และข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการ ขององค์การ บรรณารักษ์หรือนักสารนิเทศจะต้องหาสารนิเทศ ที่เหมาะสมสำหรับผู้บริหาร
และต้องตื่นตัวต่อการนำเทคโนโลยีสารนิเทศมาให้บริการแก่ผู้บริหารเพื่อให้เข้าใจอย่างแจ่มชัดถึง ความต้องการด้านสารนิเทศต่าง ๆ
- 6. กลุ่มผู้ใช้ระดับผู้บริการผู้ใช้สารนิเทศกลุ่มนี้คือ กลุ่มของผู้ให้บริการ สารนิเทศเอง ซึ่งได้แก่บรรณารักษ์และนักสารนิเทศต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะเกิดการเปลี่ยน
แปลงสภาพการจัดเก็บสารนิเทศจากสื่อประเภทสิ่งพิมพ์เป็นสื่อโสตทัศนวัสดุ ซึ่งภายหลังนำมาใช้ประโยชน์ ร่วมกับเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม
ทำให้สารนิเทศเกิดการ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ห้องสมุดเปลี่ยนสภาพการให้บริการ ตลอดจนหน้าที่ของห้อง สมุดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก
ห้องสมุดหลายแห่งเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์สารนิเทศศูนย์ข้อมูล และอื่น ๆ มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสืบค้นสารนิเทศ บรรณารักษ์และนักสารนิเทศจึง
จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง
กลุ่มผู้ใช้สารนิเทศทั้ง 6 กลุ่ม ล้วนแล้วแต่ทำให้สารนิเทศเกิดการใช้ประโยชน์ได้ อย่างเต็มที่ นับเป็นองค์ประกอบของระบบสารนิเทศที่สำคัญ
งบประมาณสารนิเทศ
- องค์ประกอบของระบบสารนิเทศที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ งบประมาณสารนิเทศ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ควรมีการสนับสนุน ทางการเงินอย่างเหมาะสม
เพื่อใช้ ประโยชน์ในการจัดระบบสารนิเทศได้เต็มที่ แหล่งบริการสารนิเทศควรได้รับการสนับสนุน
ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อและให้บริการสารนิเทศแก่ผู้ใช้สารนิเทศได้อย่างเหมาะสม
หน้าสารบัญ