1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

บรรณานุกรมและการควบคุมบรรณานุกรม

ห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นสถานที่ที่รวบรวมบันทึกและถ่ายทอดสารนิเทศ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีวิธีการควบคุมบรรณานุกรม ผู้ใช้สารนิเทศจะประสบปัญหากับสารนิเทศที่มีอยู่อย่างมหาศาล การจัดทำบรรณานุกรมจะเป็นวิธีการควบคุมสารนิเทศที่มีอยู่มากมายมหาศาล และ กระจัดกระจายไปในที่ต่างๆได้ เพราะการจัดทำบรรณานุกรมจะเป็นการรวบรวมรายการของสื่อสารนิเทศโดยจัดเรียงลำดับอย่างมีแบบแผน บรรณานุกรมที่จัดทำเพื่อใช้ประโยชน์ในการสืบค้นสารนิเทศ ได้แก่ บรรณานุกรมสากล บรรณานุกรมแห่งชาติ บรรณานุกรมเฉพาะ วิชา บรรณานุกรมเลือกสรร และบรรณานุกรมของบรรณานุกรม

การควบคุมบรรณานุกรม เป็นพัฒนาการของระบบการบันทึกของสารนิเทศในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อไม่ตีพิมพ์ ซึ่งช่วยอำนวยต่อการใช้ประโยชน์ในความรู้ และการใช้สารนิเทศของมนุษย์ (Davinson 1981 : 7)

มีแนวความคิดในการจัดทำบรรณานุกรมสากลมานานแล้ว โดยเริ่มต้นจาก คอนราด เกสเนอร์ (Conrad Gesner ; 1516-1565) ได้เริ่มจัดทำบรรณานุกรมสากล (Bibliotheca universalis) เมื่อปี ค.ศ. 1545-1555 แต่สภาพการใช้บริการยังไม่เป็นสากล แต่ก็นับว่าเป็นหนังสือบรรณานุกรมเล่มแรก ซึ่งมีรายชื่อหนังสือกว่า 15,000 ชื่อเรื่อง นับว่าเป็นผลงานที่น่าอัศจรรย์ (Davinson 1981 : 15) และเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้มีการจัดทำหนังสือบรรณานุกรมเพื่อการควบคุมสารนิเทศต่อมา

จากจุดเริ่มต้นของการประชุมเกี่ยวกับการควบคุมบรรณานุกรมระดับนานาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2493 ซึ่งจัดที่กรุงปารีส โดยองค์การยูเนสโก ได้สรุปถึงบรรดาเอกสารข้อมูลว่ามีความจำเป็นต่อการควบคุมบรรณานุกรม (Davinson 1981 : 12-13) ว่ามีดังต่อไปนี้
    1. บรรณานุกรมของหนังสือ และจุลสารทุกชนิดที่ผลิตจำหน่ายขึ้นในแต่ละประเทศ
    2. บรรณานุกรมของหนังสือและจุลสารที่ไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อจำหน่าย
    3. การจัดทำดรรชนีวารสารและดรรชนีหนังสือพิมพ์
    4. บรรณานุกรมของแผนที่ และสมุดแผนที่
    5. บรรณานุกรมผลงานทางดนตรี
    6. รายชื่อของโสตทัศนวัสดุต่าง ๆ
    7. บรรณานุกรมของวิทยานิพนธ์ และสิ่งพิมพ์มหาวิทยาลัย
    8. บรรณานุกรมของสิ่งพิมพ์รัฐบาล
    9. นามานุกรมของวารสาร และหนังสือพิมพ์
    10. นามานุกรมของสมาคม สถาบัน ห้องสมุด และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากการประชุมระหว่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ร่วมกับสหพันธ์สมาคมห้องสมุดและสถาบันระหว่างประเทศจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีการพิจารณาสร้างระบบการควบ คุมบรรณานุกรมระหว่างชาติ เพื่อหาวิธีการในการอำนวยความสะดวกให้แก่ห้องสมุด และ ศูนย์สารนิเทศทุกแห่งในโลก ในการค้นหาข้อมูลบรรณานุกรมสื่อสารนิเทศได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าสื่อสารนิเทศนั้น ๆ จะผลิตขึ้น ณ ที่ใด ระบบการควบคุมบรรณานุกรมระหว่างชาติเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นเพิ่มเกื้อกูลการกระจายหนังสือและ สารนิเทศอื่น ๆ ให้ทั่วถึง (คุณหญิง แม้นมาส ชวลิต 2530 : 1-2) ในที่ประชุมได้รับรองแนวความคิด และจัดประชุมเพิ่อพิจารณาหลักการในการควบคุมบรรณานุกรม ระหว่างชาติในปี พ.ศ. 2525 และมีผลสรุปจากการประชุม พอสรุปได้ดังต่อไปนี้ (คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต 2530 : 2-27)
    1. ให้มีการควบคุมบรรณานุกรมในระดับระหว่างประเทศกับการควบคุมบรรณานุกรมในระดับประเทศ วิธีการนี้ได้แก่ การกำหนดระบบสากลเพื่อการควบคุมและแลกเปลี่ยนข้อมูลบรรณานุกรมเพื่อจัดการให้ข้อมูลพื้นฐานบรรณานุกรม ของสิ่งพิมพ์ทั้งหมดในโลกนี้ได้รับการกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง และให้เรียกใช้ได้ทันทีในรูปแบบซึ่งเป็นที่รับรองกันทั่วโลก
    2. ให้มีการจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติ และจัดตั้งหน่วยงานควบคุมบรรณานุกรม ในระดับประเทศ การจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติ ในแต่ละชาติจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของความสนใจทางด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรม ชี้ให้เห็นถึงความห้าวหน้าทางวิทยา ศาสตร์และพัฒนาการทางเศรษฐกิจในแต่ละชาติได้ ส่วนการจัดตั้งหน่วยงานควบคุมบรรณานุกรม มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำระเบียนบรรณานุกรมสิ่งพิมพ์ทุกชิ้นของแต่ละประเทศ และหน่วยงานที่เหมาะที่สุด ได้แก่ หอสมุดแห่งชาติแต่ละประเทศ หรือหน่วยงานที่มีชื่ออย่างอื่น แต่ะทำหน้าที่อย่างหอสมุดแห่งชาติ
    3. ให้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมการพิมพ์ เพื่อผลิตสิ่งพิมพ์ในแต่ละประเทศ และ การจัดตั้งคลังสิ่งพิมพ์ที่เป็นทรัพย์สินของประเทศ
    4. ให้ดำเนินการในแนวปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับการจัดทำและการดำเนินงานการรวบรวมบรรณานุกรมแห่งชาติ ทั้งนี้ในแต่ละประเทศต่างประสบปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการส่งสิ่งพิมพ์ให้แก่รัฐบาล เป็นวิธีการสำคัญที่จะสร้างคลังสิ่งพิมพ์ของประเทศ ในบางประเทศเป็นวิธีการให้ได้สิ่งพิมพ์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนัก และเป็นวิธีจะให้ได้สิ่ง พิมพ์มากพอจะนำไปแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศได้
    5. ให้มีวิธีการเลือกสิ่งพิมพ์เพื่อลงรายการในบรรณานุกรมแห่งชาติ ทั้งนี้เป็นเพราะปริมาณการผลิตสิ่งพิมพ์มีมากมายเกิน ที่จะบรรจุลงทุกชิ้น บางประเทศจึงได้กำหนดลงรายการเฉพาะบางประเภท
    6. ให้มีการจัดพิมพ์บรรณานุกรมแห่งชาติเพื่อเผยแพร่ในแต่ละประเทศให้มีกำหนดออกสม่ำเสมอในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ปีละ 4 ฉบับ เป็นต้น โดยมีการกำหนดมาตรฐานทางบรรณาธิการกิจ และรูปเล่มเพื่อจัดทำให้เป็นแบบเดียวกัน เช่นกฎเกณฑ์ การลงรายการบรรณานุกรม ควรใช้กฎเกณฑ์ของสหพันธ์สมาคมห้องสมุด และสถาบันระหว่างประเทศได้พัฒนาขึ้นมาในชุด มาตรฐานสากลสำหรับคำอธิบายรายการบรรณานุกรม (International Standard Bibliographic Description- ISBDS) เช่น ISBD (M) สำหรับเอกสารพิมพ์จำนวนจำกัด ISBD (G) สำหรับคำอธิบายการลงรายการมาตรฐาน ISBD (S) สำหรับวารสาร ISBD (GM) สำหรับแผนที่ ISBD (NEM) สำหรับวัสดุที่มิใช่สิ่งพิมพ์ เป็นต้น

แนวสรุปจากการประชุมระหว่างชาติดังกล่าว ได้รับการปฏิบัติตอบจากประเทศ ต่าง ๆ ในการจัดประชุมภายในประเทศ ดังเช่น ประเทศไทยได้ดำเนินการจัดการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง การกระจายสิ่งพิมพ์ให้ทั่วถึง เมื่อ พ.ศ. 2530 โดยพิจารณาถึงประ เด็นของสารนิเทศทึงหลายว่าจะมีวิธีการทำอย่างไรจึงจะให้มีการกระจายให้ทั่วถึงภายในประเทศให้มากที่สุด

การควบคุมบรรณานุกรมในประเทศไทย

หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดของประเทศในการรวบรวมสารนิเทศ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ ทำหน้าที่ในการเผยแพร่สารนิเทศจึงเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการ ควบคุมบรรณานุกรมเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จากสารนิเทศที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด

หอสมุดแห่งชาติเริ่มจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2501 คือ บรรณานุกรมแห่งชาติ พ.ศ. 2501 เมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้ว งานได้หยุดชะงักไป และเริ่มต้นจัดทำใหม่ตั้งแต่พ.ศ.2508 จนกระทั่งในปัจจุบัน โดยมีขอบเขตการจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติ ตามแนวทางการควบคุมบรรณานุกรมระหว่างชาติได้กำหนดไว้(สุวคนธ์ ผดุงอรรถ2523:3)

สำหรับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรจัดทำบรรณานุกรมเฉพาะรายการของหนังสือก่อน ส่วนรายการประเภทอื่น ๆ จะดำเนินการจัดทำต่อไปภายหลัง ในการจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติให้เป็นระบบสากล และเพื่อควบคุมสารนิเทศ ให้อยู่ในระบบหอสมุดแห่งชาติได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติระดับประเทศ มีหน้าที่ในการกำหนดหมายเลข มาตรฐานสากลประจำวารสาร(International Standard Serial Number - ISSN) สำหรับวารสารทุกเล่มที่ผลิตขึ้นภายในประเทศไทย หมายเลขมาตรฐานสากลประจำวารสารเป็นรหัสเฉพาะที่กำหนดให้แก่สิ่งพิมพ์ประเภทวารสารแต่ละราย ชื่อมีความมุ่งหมายเพื่อใช้สำหรับการค้นข้อมูลวารสาร การแลกเปลี่ยนวารสาร (ธารา กนกมณี 2529 : 163-164)

นอกจากนี้หอสมุดแห่งชาติยังทำหน้าที่ในการกำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (International Standard Book Number - ISBN) เพื่อเป็นเลขรหัส สากลที่กำหนดขึ้นใช้สำหรับสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือทั่ว ๆ ไปมีความมุ่งหมายที่จะเป็นเอกลักษณ์ของ หนังสือแต่ละเล่ม เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินงานด้านการควบคุมข้อมูลสิ่งพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ ในด้านการสั่งซื้อหนังสือ ด้านการแลกเปลี่ยน ด้านการสำรวจข้อมูล และ ด้านการควบคุมจำนวนหนังสือของสำนักพิมพ์ (ธารา กนกมณี 2529 : 171)

การควบคุมบรรณานุกรมสื่อสารนิเทศต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ มีคู่มือในการสืบค้นหาสารนิเทศ และมีวิธีการเรียกข้อมูล โดยการเอาหรือค้นจากเครื่องคอมพิวเตอร์ย่อมทำให้ผู้ใช้สารนิเทศสามารถเข้าถึงสารนิเทศได้ทุกชนิด ในทุกประเทศได้ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

หน้าสารบัญ