1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

การกำหนดหัวเรื่องสารนิเทศ

การกำหนดหัวเรื่องสารนิเทศ เป็นวิธีการจัดเก็บและควบคุมสารนิเทศอีกวิธีหนึ่ง โดยการทำควบคู่ไปกับการจัดหมวดหมู่หนังสือ เพื่อกำหนดที่อยู่ของหนังสือ และสามารถค้นเนื้อหาของสารนิเทศที่มีอยู่จากบัตรรายการ ในระยะหลังเมื่อมีการทำเทคโนโลยี สารนิเทศมาใช้กับศูนย์สารนิเทศ บรรณารักษ์หรือนักสารนิเทศสามารถเรียกใช้สารนิเทศได้ โดยตรงจากคอมพิวเตอร์ การจัดหมวดหมู่มาเป็นการให้หัวเรื่องเพื่อสะดวกต่อการจัดเก็บ และค้นหาโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ การกำหนดหัวเรื่องสารนิเทศ จัดทำไดั 2 ลักษณะ คือ

1. หัวเรื่องสารนิเทศทั่วไป (Subject Headings) การให้หัวเรื่องสารนิเทศทั่วไปเป็นการกำหนดหัวเรื่องที่ใช้ในวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ กำหนดวิธีการใช้เพื่อการสรุปเนื้อหา ของหนังสือในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยทั่ว ๆไป ห้องสมุดประเภทต่าง ๆ หรือศูนย์สารนิเทศโดยทั่วไป อาจกำหนดหัวเรื่อง จากคู่มือหนังสือหัวเรื่อง ในการกำหนดเนื้อหาวิชาเพื่อค้นหาสารนิเทศได้ตามต้องการ

หัวเรื่องประกอบด้วยคำหรือวลี ซึ่งกำหนดใช้แทนเนื้อเรื่องของหนังสือแต่ละเล่ม หัวเรื่องส่วนมากเป็นคำที่สั้น ได้ใจความ และมีความหมายเฉพาะอย่างเด่นชัด คำที่ กำหนดเป็นหัวเรื่องมีลักษณะดังนี้ (สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย 2522 : 15-16) คือ
    1. คำนามที่เป็นคำเดียว เช่น กฎหมาย, การศึกษา, จราจร, ดนตรี, ปรัชญา, ธง, ผลไม้, ภาษา, ยางพารา, วิทยุ, สถิติ, หมากรุก, อาหาร ฯลฯ เป็นต้น
    2. คำนามสองคำขึ้นไปเชื่อมด้วยสันธาน "กับ" หัวเรื่องประเภทนี้ใช้กับหนัง สือที่มีเนื้อเรื่องสองเรื่องสัมพันธ์กัน หรือเนื้อเรื่องสองเรื่อง ตรงข้ามกัน แต่เขียนให้สัมพันธ์กันหรือเกี่ยวข้องกัน เช่น ธนาคารและการธนาคาร, อาชญากรรมและอาชญากร
    3. กลุ่มคำ ประกอบด้วย คำหลายคำเรียบเรียงเป็นข้อความที่ได้ใจความ เช่น จีนในประเทศไทย, ทาสในประเทศไทย, ประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นต้น
    4. กลุ่มคำในข้อ 3 เมื่อนำมาทำเป็นหัวเรื่องแล้วไม่ได้เรียบถ้อยคำตามนั้น หากย้ายที่ คำซึ่งประสงค์จะเน้นหนัก มาเรียงไว้เป็นคำแรก หัวเรื่องประเภทนี้ดัดแปลงขึ้น เพื่อสะดวกในการเรียงบัตร คำดังกล่าวนี้ส่วนมากมักเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "การ" ทำ ใช้นำหน้าคำกริยาให้เป็นคำนาม การกลับคำในที่นี้ใช้เครื่องหมายจุลภาคคั่นระหว่างคำที่กลับ เช่น การสอบสวนคดีอาญา นำเอาคำการสอบสวนไปไว้หลัง คดีอาญา เป็นคดีอาญา, การสอบสวนหรือการปรุงอาหาร เป็นอาหาร, การปรุง เป็นต้น
    5. หัวเรื่องที่มีคำอธิบายประกอบ คำอธิบายประกอบนี้เป็นคำที่มีอยู่ในวงเล็บ ทั้งนี้ก็เพราะคำหรือวลีที่กำหนดขึ้น เป็นหัวเรื่องนั้นมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น กระท่อม อาจหมายถึงที่อยุ่อาศัย หรือหมายถึงพืชก็ได้ ดังนั้นเมื่อจะใช้คำว่า กระท่อมเป็นหัว เรื่องที่เกี่ยวกับพืชก็ใช้คำว่าพืช ซึ่งอยู่ในวงเล็บเติมเข้าไป เป็น กระท่อม (พืช) หัวเรื่อง ที่ได้ก็จะหมายความถึงกระท่อม ที่เป็นพืชชนิดหนึ่ง มิใช่กระท่อมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ดังนี้เป็นต้น

นอกจากจะมีวิธีการกำหนดหัวเรื่องแล้ว ยังมีวิธัการกำหนดหัวเรื่องย่อยซึ่งเป็นหัวเรื่องที่กำหนดขึ้นใช้ตามหลังหัวเรื่องใหญ่ หรือหัวเรื่องเฉพาะเพื่อกำหนดขอบเขตหรือความหมายของหัวเรื่องดังกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไป

ตัวอย่าง การกำหนดหัวเรื่องสารนิเทศที่มีเนื้อหาวิชาเกี่ยวข้องกับเรื่องห้องสมุด (คณะอนุกรรมการวิเคราะห์เลขหมู่และ ทำบัตรรายการ 2528 : ห9-ห13) มีรายละเอียดของหัวเรื่องย่อยดังต่อไปนี้
    ห้องสมุด (Libraries) แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์ ห้องสมุดประเภทต่าง ๆ ใช้เป็นหัวเรื่องได้ด้วย
      ดูเพิ่มเติม บริการสารนิเทศ
      หอจดหมายเหตุ
      XX การศึกษา

    หนังสือและการอ่าน
      -- กฏและระเบียบข้อบังคับ
      -- การจัดซื้อ
      -- การจ่ายรับ
      ดูเพิ่มเติม การยืมระหว่างห้องสมุด

    การใช้เครื่องจักรกล
      ดูเพิ่มเติม ระบบการจัดเก็บและค้นข้อสนเทศ

    การบริหาร แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
    การประชาสัมพันธ์ ดูที่ การประชาสัมพันธ์ห้องสมุด
    การยืม ดูที่ ห้องสมุด--การจ่ายรับ
    การศึกษาและการสอน
    ความร่วมมือ ดูที่ ความร่วมมือระหว่างห้องสมุด
    คำคม
    คู่มือ
    งานเทคนิค
    ไทย--กรุงเทพมหานคร
    นิทรรศการ
    บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า
      ดูที่ บริการตอบคำถาม

    บริการสารนิเทศ
      ประวัติ
      วิธีใช้
      สถิติ

    สมาคม ดูที่ สมาคมห้องสมุด
    ห้องสมุด, ครุภัณฑ์
    ห้องสมุด, โรงเรียน ดูที่ ห้องสมุดโรงเรียน
    ห้องสมุดกับการศึกษา แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
      ดูเพิ่มเติม ห้องสมุดกับการศึกษาผู้ใหญ่

    ห้องสมุดกับโรงเรียน
    ห้องสมุดกับการศึกษาผู้ใหญ่ แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
      X การศึกษาผู้ใหญ่กับห้องสมุด
      XX ห้องสมุดกับการศึกษา

    ห้องสมุดกับการให้บริการ ดูที่ ห้องสมุดและบริการของห้องสมุด
    ห้องสมุดกับคนพิการ แบ่งตามภูมิศาสตร์
    ห้องสมุดกับชุมชน
      ดูเพิ่มเติม ห้องสมุดกับการศึกษาผู้ใหญ่
      X ผู้อ่านกับห้องสมุด

    ห้องสมุดกับผู้ใช้
    ห้องสมุดกับผู้อ่าน
    ห้องสมุดกับรัฐ แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
      ดูเพิ่มเติม บริการสารนิเทศกับรัฐ

    ห้องสมุดเคลื่อนที่ แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
    ห้องสมุดเฉพาะ แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
      การบริหาร

    ห้องสมุดเด็ก แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
      X ห้องสมุดเยาวชน

    ห้องสมุดทันตแพทย์
    ห้องสมุดประชาชน
    ห้องสมุดพยาบาล
    ห้องสมุดแพทย์ แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
    ห้องสมุดมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
      XX มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย

    ห้องสมุดเยาวชน ดูที่ ห้องสมุดเด็ก
    ห้องสมุดโรงพยาบาล แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
    ห้องสมุดโรงเรียน แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
      ดูเพิ่มเติม ห้องสมุดกับโรงเรียน
      X ห้องสมุด, โรงเรียน

    ห้องสมุดและบริการของห้องสมุด
      X บริการของห้องสมุด

    ห้องสมุดวิทยาศาสตร์ แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
    ห้องสมุดส่วนตัว แบ่งตามชื่อภูมิศาสตร์
    ห้องสมุดแห่งชาติ ดูที่ หอสมุดแห่งชาติ

คู่มือการให้หัวเรื่องโดยทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ Library of Congress Subject Headings จัดทำโดย หอสมุดรัฐสภา อเมริกัน (1980) หนังสือ Sear's List of Subject Headings จัดทำโดย Westby (1982) ส่วนการให้หัวเรื่องภาษาไทยมีหนังสือคู่มือที่สำคัญ คือหนังสือหัวเรื่องสำ หรับภาษาไทย จัดพิมพ์โดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย (2525) และหนังสือหัวเรื่องสำหรับหนังสือภาษาไทย จัดพิมพ์โดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์เลขหมู่และทำบัตรรายการ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (2528) หนังสือคู่มือการให้หัวเรื่องจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดเนื้อหาของหนังสือเพื่อ การจัดเก็บสารนิเทศและการค้นสารนิเทศได้อย่างรวดเร็ว

2. หัวเรื่องสารนิเทศเฉพาะเจาะจง หรือ หัวเรื่องเฉพาะวิชา(Thesaurus)

ในศูนย์เอกสารหรือศูนย์สารนิเทศเฉพาะวิชา ซึ่งมีสารนิเทศเฉพาะวิชา เป็นจำนวนมากประสบปัญหาต่อการให้หัวเรื่อง ของสารนิเทศที่มีอยู่ เพราะไม่สามารถกำหนดหัวเรื่องจากหัวเรื่องทั่ว ๆ ไปได้ ทั้งนี้เพราะศูนย์สารนิเทศเฉาะวิชามีความจำเป็นในการควบ คุมการให้หัวเรื่องเฉพาะวิชามากกว่าการให้หัวเรื่องในห้องสมุดโดยทั่วๆไป นักสารนิเทศ จึงได้กำหนดหัวเรื่องสารนิเทศเฉพาะเจาะจง เพื่อใช้เป็นของตนเอง หัวเรื่องเฉพาะเจาะจง หรือ หัวเรื่องเฉพาะวิชา (Thesaurus) เป็นคำใหม่ ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์สำ หรับคำนี้โดยเฉพาะ บรรณารักษ์และนักสารนิเทศเรียกคำนี้แตกต่างกันไป เช่น เรียกว่า ศัพท์สัมพันธ์ (ประดิษฐา ศิริพันธ์ 2531 : 14; ณรงค์ ป้อมบุปผา 2530 : 88) หรือ ทะเบียนศัพท์สัมพันธ์ (สอางค์ อิศรางกูร ณ อยุธยา 2530 : 4) หรือรายการคำศัพท์ บัญชีคำศัพท์ (จิรวรรณ ภักดีบุตร 2522 : 110) เป็นต้น

หัวเรื่องเฉพาะเจาะจง หมายถึง ศัพท์ที่รวบรวมสำหรับใช้เป็นหัวเรื่องในการจัดระบบสารนิเทศ เป็นศัพท์ที่รวบรวมเอกสาร และศัพท์ที่นักวิชาการใช้หรือบัญญัติขึ้น ศัพท์ที่สัมพันธ์มีลักษณะเป็นศัพท์บังคับ โดยกำหนดให้ศัพท์คำหนึ่งมีหน้าที่ควบคุม ให้ใช้แทนคำหลายคำที่มีความหมายเช่นเดียวกัน จุดมุ่งหมายเพื่อความเป็นมาตรฐาน และช่วยให้ค้นเรื่องได้รวดเร็ว

ศัพท์สัมพันธ์ไม่อธิบายความหมายหรือคำแปล แต่โครงสร้างของศัพท์แสดงความสัมพันธ์ เริ่มจากศัพท์ที่มีความหมายกว้าง แสดงความสัมพันธ์กับศัพท์ที่มีความหมายแคบ โดยจำแนกชนิด ประเภท และพันธุ์ตามลำดับชั้น และโยงศัพท์ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกันด้วย การใช้คำศัพท์หรือหัวเรื่องหลาย ๆ คำเพื่ออธิบายข้อคิดเนื้อหาเพียงด้านเดียว อัตราผลลัพท์ที่ได้จากการค้นคืนออกจากฐานข้อมูล จะมีผลไม่สมบูรณ์และจะต่ำมาก เพราะข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับข้อคิดอันเดียวกันจะแตกแยกอยู่ภายใต้คำศัพท์หลาย ๆ คำ และไม่อาจดึงออกมาได้ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดและบังคับให้ใช้คำศัพท์หนึ่งศัพท์ได้ ในจำนวนศัพท์ต่าง ๆ ที่มีความหมายเหมือนกัน และต้องมีการกำหนดไว้ให้ใช้ในการกำหนดสาระของข้องมูล (สอางค์ อิศรางกูร ณ อยุธยา 2530 : 4) ดังนั้น

การใช้หัวเรื่องเฉพาะเจาะจงจะเป็นคู่มือแนะนำให้รู้จักศัพท์ทุกคำที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพ ในการกำหนดคำศัพท์ให้แก่เอกสารในการทำดรรชนี รวมทั้งการใช้ศัพท์ในการค้นข้อมูล เช่น ศัพท์ที่อยู่ในสายสกุลเดียวกัน จะปรากฎอยู่ในรายการเดียวกันทั้งหมด

หัวเรื่องเฉพาะวิชา จะมีประโยชน์ในการอำนวยประโยชน์แก่นักสารนิเทศ ดังต่อไปนี้
    1. ควบคุมการใช้คำศัพท์หรือหัวเรื่องต่าง ๆ ที่มีความหมายเหมือนกัน แต่ประ เด็นหัวเรื่องแตกต่างกัน
    2. ให้ความสะดวกต่อการสืบค้นข้อมูล เนื่องจากรวบรวมหัวเรื่องที่อยู่ในสายเดียวกันและเกี่ยวข้องกันเข้าไว้ด้วยกัน นักสารนิเทศ สามารถค้นข้อสารนิเทศออกมาได้อย่างกว้างขวาง
    3. ใช้เป็นคู่มือในการจัดทำดรรชนี หรือสาระสังเขปของข้อมูลสารนิเทศต่าง ๆ มีความละเอียดมากกว่าและใช้ได้ดีกว่า การให้หัวเรื่องจากหนังสือหัวเรื่องทั่ว ๆ ไป
    4. เป็นเครื่องมือในการสร้างดรรชนีคอมพิวเตอร์

จิรวรรณ ภักดีบุตร (2528 : 6-7) ได้แนะนำวิธีการจัดทำบัญชีหัวเรื่องเฉพาะ โดยคำนึงถึงเอกสารที่มีอยู่ภายในศูนย์เอกสาร เป็นหลักให้รวบรวม จัดทำคำศัพท์จากการพิจารณาเนื้อหาสาระของเอกสาร กำหนดรายการหัวเรื่องที่ใช้อยู่มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม และปรับปรุงเพิ่มเติมจากบัญชีหัวเรื่องเฉพาะในบางสาขา ก็จะกลายเป็การประมวลคำของบัญชีหัวเรื่องเฉพาะของกลุ่มเอกสาร ของหน่วยงานนั้นในที่สุด ในกรณีดังกล่าว การจัดทำบัญชีหัวเรื่องเฉพาะ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของนักสารนิเทศในการที่จะพัฒนา การใช้หัวเรื่องเฉพาะขึ้นใช้เอง โดยยึดหนังสือข้อมูลในวิชาเฉพาะต่างๆ ได้อย่างดีในอนาคต

โครงสร้างของหัวเรื่องเฉพาะวิชา

หัวเรื่องเฉพาะเจาะจง หรือหัวเรื่องเฉพาะวิชา เป็นการรวบรวมคำศัพท์หรือบัญชีคำศัพท์ ถ้าเป็นคำศัพท์ในสาขาวิชาเดียวกันเรียกว่า Micro-thesaurus ถ้ารวมหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกันเรียกว่า Macro-thesaurus(จิรวรรณ ภักดีบุตร 2528 : 110) รายการหัวเรื่องจะประกอบ ด้วยคำศัพท์เรียงตามลำดับอักษร โดยทั่ว ๆ ไป หนังสือหัวเรื่องเฉพาะวิชาจะจัดเรียงตามลำดับอักษรของหัวเรื่อง และสายความสัมพันธ์ ของหัวเรื่อง และแสดงการค้นรายการอื่น ๆ เช่น การจัดแสดงหมวดหมู่เนื้อหาวิชา เป็นต้น

ตัวอย่าง

การให้รายการขอบเขตเนื้อหาวิชาเฉพาะเรื่องต่าง ๆ จากหนังสือ UNBIS Thesaurus Z1985 : xv - xvii) ปรากฎรายการขอบเขตวิชาทั้งหมด 17 วิชา ดังตัวอย่าง

    08 POPULATION
      08.01.00 Population Dynamics
      08.02.00 Family Planning
      08.03.01 Special Groups
      08.03.02 National Groups

    09 HUMAN SETTLEMENTS
      09.01.00 Settlement Planning
      09.02.00 Housing

    10 HEALTH
      10.01.00 Food and Nutrition
      10.02.00 Comprehensive Health Services
      10.03.01 Diseases and Carriers of Diseases
      10.04.00 Environmental Health
      10.05.00 The Disabled
      10.06.01 Medical Practice
      10.06.02 Medical Sciences

    11 EDUCATION
      11.01.00 Educational Policy and Planning
      11.02.00 Educational Facilities and Technology
      11.03.00 Educational Systems
      11.04.00 Nonformal Education
      11.05.00 Educational Personnel and Population

    ตัวอย่าง การให้รายการหัวเรื่องเฉพาะวิชาตามลำดับตัวอักษรจากหนังสือ UNBIS Thesuarus (1985 : 130) ดังตัวอย่างข้างล่าง

      LIBRARIES
      BIBLIOTHEQUES
      BIBLIOTECAS
        15.05.00
        NT : ARCHIVES

      CHILDREN'S LIBRARIES
      GOVERNMENT LIBRARIES
      NATIONAL LIBRARIES
      PUBLIC LIBRARIES
      RESEARCH LIBRARIES
      SCHOOL LIBRARIES
      SOCIAL SCIENCE LIBRARIES
      SOUND RECORDING LIBRARIES
      SPECIAL LIBRARIES
      UNIVERSITY AND COLLEGE LIBRARIES
        RT : BIBLIOGRAPHICAL CENTRES
        INFORMATION
        INFORMATION SOURCES
        INSTRUCTIONAL MATERIALS CENTRES
        LIBRARY INFORMATION NETWORKS

    ตัวอย่าง การแสดงรายการความสัมพันธ์ของหัวเรื่องเฉพาะวิชาแต่ละหัวเรื่องจากหนังสือ UNBIS Thesaurus (1985 : 309) ในหัวเรื่อง "LIBRARIES" จะแสดงความสัมพันธ์ ของหัวเรื่องที่อยู่ในสายเดียวกัน
      LIBRARIES
        .ARCHIVES
          ..MACHINE-READABLE ARCIVES

        .CHILDREN'S LIBRARIES
        .GOVERNMENT LIBRARIES
        .NATIONAL LIBRARIES
        .PUBLIC LIBRARIES
        .SOCIAL LIBRARIES
        .SOUND RECORDING LIBRARIES
        .SPECIAL LIBRARIES
          ..BUSINESS LIBRARIES
          ..FILM LIBRARIES
          ..LAW LIBRARIES
          ..MAP LIBRARIES
          ..SCIENTIFIC LIBRARIES
          ..MEDICAL LIBRARIES
          ..TECHNICAL LIBRARIES
          ..AGRICULTURAL LIBRARIES

การสร้างหัวเรื่องเฉพาะวิชา นักสารนิเทศมีหนังสือคู่มือที่สำคัญในการพิจารณานำมาเป็นคู่มือในการคิดหัวเรื่องเฉพาะเจาะจง ขึ้น ใช้ในศูนย์สารนิเทศได้แก่UNBIS Thesaurus จัดทำโดย ห้องสมุดดัด ฮัมมาโชลด์ (1985) หนังสือชื่อ The INSPEC Thesaurus จัด ทำโดย สถาบันวิศวกรไฟฟ้า (1985) และหนังสือหัวเรื่องเฉพาะอื่น ๆ ที่จัดพิมพ์โดยองค์การ สหประชาชาติ

หน้าสารบัญ