1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

ประวัติการจัดหมวดหมู่หนังสือ

การจัดหมวดหมู่หนังสือคงเริ่มมีการจัดเมื่อมีความต้องการใช้เอกสารต่าง ๆ เป็นเรื่องเป็นราว เป็นพวก ๆ และคงมีวิธีการจัดควบคู่ไปกับการเริ่มบันทึกตัวอักษร เมื่อราว 3600-2357 ปี ก่อนคริสตศักราช ชาวสุเมเรียนบันทึกข้อมูลลงบน แผ่นดินเหนียว เรื่องราวที่บันทึกส่วนใหญ่เกี่ยวกับเทพนิยาย กฎหมาย การปกครอง และเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อต่าง ๆ แต่การเก็บแผ่นดินเหนียวคงใช้วิธีการทำเป็นชั้นแล้วเอาวางเรียงซ้อน ๆ กันไว้ (สุพัฒน์ ส่องแสงจันทร์ 2521 : 3) การจัดหมวดหมู่ในสมัยโบราณอาจมีวิธีการจัด ตามลักษณะรูปเล่ม ตามสีของปกหรือตามความสะดวกของผู้จัดโดยไม่มีระเบียบ แบบแผนที่เป็นหมวดหมู่

แต่เดิมตั้งแต่สมัยอารยธรรมของโลก การจัดหมวดหมู่หนังสือเป็นไปอย่างง่าย เพราะเรื่องราวมีบันทึกไม่มากนัก เช่น ที่ห้องสมุดดินเหนียว (Clay Tablets) ซึ่งพระเจ้าอัสเซอรบานิปาล (Assurbanipal) แห่งอาณาจักรอัสซีเรีย เป็นผู้ทรงรวบรวมแผ่นดินเหนียวเข้าไว้ด้วยกัน มีการแบ่งจัดออกเป็น 2 ประเภท
    1. เรื่องเกี่ยวกับทางโลก - Knowledge of the Earth
    2. เรื่องเกี่ยวกับทางสวรรค์ - Knowledge of the Heavens

ต่อมามีหลักฐานการกล่าวถึงการจัดหมวดหมู่หนังสือที่เป็นระบบในสมัยโบราณ คือ ในสมัยของ คัลลิมาคัส (Callimachus, 310-240 ก่อน คศ.) บรรณารักษ์ชาวอียิปต์ ได้คิดระบบการจัดหมู่หนังสือขึ้นใช้ในห้องสมุดอเล็กซานเดรียโดยเขาได้แบ่งหมวดหมู่วิชาการ สมัยนั้น 5 หมวดหมู่ (Herdman 1978 : 10) ได้แก่
    1. กวีนิพนธ์ (Poetry)
    2. ประวัติศาสตร์ (History)
    3. ปรัชญา (Philosophy)
    4. วาทศิลป์ (Oratory)
    5. เบ็ดเตล็ด (Miscellaneous)

ห้องสมุดในสมัยโบราณตลอดถึงสมัยกลางในทวีปยุโรปมีวิวัฒนาการการจัดเก็บหนังสือเป็นหมวดหมู่แบบหยาบ ๆตามสภาพเนื้อหาของหนังสือที่จัดเก็บ จนกระทั่งเริ่มได้มาตรฐาน มีการจัดหมวดหมู่วิชาออกเป็น 7 กลุ่มวิชา (Herdman 1978: 11) ได้แก่
    1.เอกสารจดหมายเหตุ
    2. ตำราจารึกเรื่องต่าง ๆ
    3. กฎหมายรัฐธรรมนูญ
    4. บันทึกการประชุมของสภา
    5. คำสอนทางศาสนา
    6. ข้อปฎิบัติทางศาสนา
    7. ตำนานชาดก

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการจัดหมู่หนังสือในสมัยแรกๆนิยมการจัดตามความสะดวกเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในสมัยหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ที่คิดระบบการจัดหมู่หนังสือได้ยึดถือหลักความจริงเป็นพื้นฐาน( จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2520 : 56) ผู้ที่คิดภายหลังล้วนแต่ได้แนวคิดมาจากนักปรัชญา

ในราวศตวรรษที่ 16 และ 17 มีการจัดทำรายการบรรณานุกรมหนังสือกันอย่างแพร่หลาย นักปรัชญาสำคัญคนหนึ่งในช่วงนี้ ได้แก่ เซอร์ฟรานซิส เบคอน (Sir Francis Bacon) ได้เขียนแนวความคิดทฤษฎีของการเรียนรู้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Advancement of Learning (คศ. 1605) และ De Augmentis Scientarium ไว้ว่า ความรู้ทางวิทยาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับหน้าที่ต่าง ๆ ของจิตใจ 3 ส่วน คือ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ซึ่งจิตใจทำหน้าที่บันทึกความทรงจำ กวีนิพนธ์ซึ่งจิตใจทำหน้าที่ในการคิดจินตนาการ และปรัชญาซึ่งจิตใจทำหน้าที่ในการค้นหาเหตุผล (Herdman 1978 : 11) อิทธิพลจากแนวความคิดของเบคอนได้ขยายออกไปอย่าง กว้างขวาง ผู้คิดระบบการจัดหมู่หนังสือที่ได้แนวคิดมาจากเบคอนที่สำคัญ ได้แก่ กาเบรียล โนเด้ (Gabriel Naude') ได้จัดแบ่งวิชาการ เป็น 12 หมวด ได้แก่ เทววิทยา แพทยศาสตร์ บรรณานุกรม กาลานุกรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การทหาร การปกครอง กฏหมาย ปรัชญา การเมือง และวรรณคดี (Herdman 1978 : 11)

ฌอง กานิเย (Jean Ganier) ได้จัดทำบัตรรายการหนังสือของวิทยาลัยแครมอง (Clermont College) ในปารีส เมื่อ คศ. 1678 อิสมาเอล บุลลิโอ (Ismael Bouilliau) เป็นผู้ที่รวบรวมบัตรรายการของห้องสมุด ชาร์ค โอกุสท์ เดอตู (Jacques Auguste de Thou) และเป็นผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดทำระบบจัดหมู่หนังสือแบบฝรั่งเศส (French System) หรือระบบของร้านขายหนังสือที่ปารีส (System of the Paris Bookseller) ในเวลาต่อมาระบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในยุโรป ต่อมาภายหลัง กุสตาฟ บรูเนต์ (Gustave Brunet, 1780-1867) ได้จัดทำรายละ เอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2520 : 59-60)

วิวัฒนาการของแนวความคิดในการจัดหมวดหมู่หนังสือของนักปรัชญาและบรรณารักษ์ในสมัยศตวรรษที่ 18-19 นี้เอง ที่เป็นต้นกำเนิดและแรงดลใจของบรรณารักษ์ในช่วงศตวรรษที่19 ต่อมา โดยมีการปรับปรุงการจัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบ ที่รัดกุมและเป็นมาตรฐานในการจัดหนังสือมากขึ้น เช่น ห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ดัดแปลงระบบของเบคอนมาใช้ เมื่อปี ค.ศ. 1812 วิลเลียม ทอร์เรย์ แฮร์ริส (William Torrey Harris) ดัดแปลงแผนผังของการเรียนรู้ของเบคอนมาใช้กับระบบ การจัดหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุดประชาชนเซนส์หลุยส์ (St. Louis Public School Library) เมื่อปี ค.ศ. 1870 (Herdman 1978 : 12) การปรับปรุงการจัดหมวดหมู่หนังสือจึงเกิดเป็นระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือที่มีระเบียบมากยิ่งขึ้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า ช่วงคริสตวรรษที่ 19 มีการจัดระบบหมวดหมู่หนังสือเพื่อใช้ในห้องสมุดอย่างแท้จริง เริ่มด้วย ระบบทศนิยมของดิวอี้ (DeweyDecimal Classification) ซึ่งถือว่าเป็นระบบจัดหมู่หนังสือที่สมบูรณ์แบบระบบแรกในประวัติศาสตร์ การจัดหมู่หนังสือ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2520 : 61) ระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือที่พัฒนาในช่วงนี้ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ระบบเอ็กซแฟนซีฟ ระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ระบบทศนิยมสากล ระบบบิบโอกราฟฟิค ระบบโคลอน ระบบหอสมุดแพทย์แห่งชาติอเมริกัน เป็นต้น

เนื่องจากปริมาณสารนิเทศในช่วงคริสตวรรษที่ 20 มีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมาก ผู้ใช้สารนิเทศเริ่มเกิดความไม่สะดวก ต่อการใช้ประโยชน์จากสารนิเทศได้เต็มที่จึงมีการคิดค้นในการจัดหมวดหมู่เป็นของตนเอง เพื่อใช้ในหน่วยงาน การจัดหมวดหมู่หนังสือจึง มี 2 วิธี คือ การจัดหมวดหมู่หนังสือตามระบบสากล และการจัดหมวดหมู่หนังสือขึ้นใช้เอง

หน้าสารบัญ