1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

สื่อโทรคมนาคม (Telecommunication Tools)

ในบรรดาสารนิเทศทั้งหมด ที่ได้รับประโยชน์ในการใช้ข้อมูลประจำวัน นับได้ว่าผู้ใช้สารนิเทศต่างได้ประโยชน์จาก สื่อโทรคมนาคมมากที่สุด เป็นสื่อที่พัฒนามาจากระบบเทคโนโลยีข้อมูลง่าย ๆ จนกระทั่งกลาย เป็นเทคโนโลยีข้อมูลที่สลับซับซ้อนและพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า โทรคมนาคม มีความหมายถึง ระบบหรือกรรมวิธีในการส่ง การกระจาย หรือการรับภาพ เครื่องหมาย สัญญาณ ข้อเขียน เสียง หรือการทำให้เข้าใจด้วยวิธีใด ๆ โดยอาศัยระบบสายวิทยุสื่อสาร หรือระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่น ๆ (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 415) การใช้คำว่า โทรคมนาคม จึงหมายรวมถึง โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร โทรภาพ การกระจายเสียง โทรทัศน์ (จรูญ โฆษณานันท์ 2521 : 8880) ตลอดจน รูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ในการสื่อสารถ่ายทอดและรับสารในระยะทาง ไกลในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสามารถเชื่อมโยงติดต่อได้ด้วยสายวิทยุ หรือดาวเทียม (Buchsbaum 1981 : 73) สื่อโทรคมนาคม จึงเป็นสิ่อที่ติดต่อในระยะไกลให้เหมือนอยู่ ใกล้ และผ่านขั้นตอนวิวัฒนาการมาหลายสมัย โทรคมนาคมมีหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การใช้สัญญาณ เช่น สัญญาณแสง สัญ ญาณธง แผ่นป้ายสัญญาณ ควันไฟ สัญญาณเหล่านี้ใช้สายตามองสัญญาณ ซึ่งส่งถ่ายทอดถึงกัน กลุ่มที่สองเป็นวิวัฒนาการในช่วงต่อมาของการสื่อสาร โทรคมนาคม ใช้ไฟฟ้าและเส้นลวดถ่ายทอดสัญญาณจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง เช่น โทรเลข โทรภาพ และ โทรทัศน์ เป็นต้น กลุ่มที่สามเป็นการพัฒนาการส่งสัญญาณซึ่งไม่ต้องใช้สายไฟฟ้า แต่จะเปลี่ยนสัญญาณให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแล้วส่งไปในอากาศและในอวกาศไปได้ทุกทิศทาง เช่น วิทยุโทรเลข วิทยุโทรภาพ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ( บุญเริง แก้วสะอาด 2528 : 11) เป็นต้น

สื่อโทรคมนาคมในปัจจุบันที่สำคัญในการเป็นสื่อเพื่อการสื่อสารให้ได้สารนิเทศ ในเวลาอันรวดเร็วในสังคมข่าวสาร มีดังต่อไปนี้ คือ

1. โทรเลข (Telegraphs) เป็นสื่อสารนิเทศของระบบโทรคมนาคมที่ หมายถึงการใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าส่งรหัสสัญญาณจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยอาศัยสายตัวนำ ที่โยงติดต่อกัน และอาศัยอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นหลักสำคัญ (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 415) รหัสสัญญาณที่ได้คือ สารนิเทศจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งตามต้องการ เครื่องโทรเลขทำงานด้วยระบบไฟฟ้า ไฟฟ้าย่อมไหลจากขั้วหนึ่งของเซลหรือ จากแบตเตอรีไปตามเส้นลวด แล้วกลับเข้ามายังอีกขั้วหนึ่งในเซลหรือแบตเตอรีนั้น การเดิน ของกระแสไฟฟ้านี้เรียกว่า วงจร เมื่อทำให้วงจรขาดกระแสไฟฟ้า ไฟจะหยุดไหล เครื่อง มือสำคัญของโทรเลขคือแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ปลายทางจะมีแท่งเหล็กอ่อนพันด้วยลวดไฟฟ้าที่มี ฉนวนหุ้มบาง ๆ ปลายลวดไฟฟ้าข้างหนึ่งจะต่อไปที่ขั้วไฟฟ้า ส่วนปลายลวดอีกข้างหนึ่งก็ต่อ เข้าอีกขั้วหนึ่งของเซลไฟฟ้า แท่งเหล็กอ่อนนี้เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลรอบก็จะเป็นแม่เหล็กไฟ ฟ้าดูดเข็มหรือสารแม่เหล็กได้ โดยหลักการนี้จึงเกิดเป็นสัญญาณโทรเลขเป็นแบบจุดและขีด ตามรหัสของมอร์ส เมื่อแปลงเป็นตัวอักษรผสมกันก็จะเป็นสารนิเทศระหว่างกันได้ (อุทัย สินธุสาร 2519 : 1885) การส่งสารในระยะแรกยังมีขอบเขตจำกัดในเรื่องระยะทาง คือ สามารถส่งไปได้ไกลประมาณ 1,700 ฟุต หรือประมาณ 518 เมตร (Emery 1981 : 75) ต่อมาภายหลังมีการปรับปรุงการเชื่อมโยงสายโทรเลข ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของ การส่งสารนิเทศไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น โทรเลขมีบทบาทต่อการเชื่อมโยงสังคมข่าวสารจากประเทศไทยไปต่างประเทศ เริ่มมีบริการวิทยุโทรเลขกับประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และสวีเดน เมื่อ พ.ศ. 2489 (กระทรวงคมนาคม 2530 : 247) หลังจากนั้นก็แพร่หลายในการให้บริการวิทยุ โทรเลขยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การบริการสารนิเทศด้วยบริการโทรเลขในปัจจุบัน การสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาการรับส่งโทรเลขด้วยการใช้เครื่องโทรพิมพ์ สมัยใหม่ที่ควบคุมด้วยระบบไมโครคอมพิวเตอร์และสามารถติดต่อรับส่งได้ด้วยความเร็วสูงถึง 240 คำต่อนาที มาใช้เป็นอุปกรณ์รับส่งโทรเลข นอกจากนี้ยังมีการติดต่อชุมสายโทรเลขอัตโนมัติ ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถคัดแยกโทรเลขจากที่ห นึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยอัตโนมัติ ทำให้ โทรเลขไปถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว (กองโทรเลข การสื่อสารแห่งประเทศไทย 2531 : 105-106) นับว่าบริการโทรเลขในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ข่าวสารถึงมือผู้รับใน เวลาอันรวดเร็ว

2. วิทยุ (Radios) เป็นสื่อสารนิเทศที่อาศัยคลื่นวิทยุ (Electromagnetic wave) เป็นตัวที่เหนี่ยวนำให้เกิดไฟฟ้าขึ้นในตัวนำหรือสายอากาศของเครื่องรับวิทยุที่อยู่ห่าง ไกลออกไปได้ คลื่นวิทยุมีคุณสมบัติพิเศษสามารถผ่านทะลุเมฆหมอก บ้านเรือน ตัวคน และวัสดุเกือบทุกชนิดได้ ยกเว้นโลหะหรือสิ่งทึบ เช่น ภูเขาหรือตึกใหญ่ ๆ คลื่นวิทยุเฉย ๆ ไม่อาจบอกให้ทราบเรื่องราวได้ ต้องมีการส่งสัญญาณหรือคำพูด แรกเริ่มในการติดต่อสื่อสาร ใช้วิธีนับประกายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นที่เครื่องรับว่ามีกี่ครั้ง แล้วตกลงกันระหว่างผู้ส่งกับผู้รับว่ามีความหมายอย่างไร ต่อมาจึงใช้รหัสโทรเลขเป็นวิทยุ โทรเลข (อุทัย สินธุสาร 2522 : 4057-4059) และพัฒนาต่อมาด้วยการส่งคลื่นวิทยุซึ่ง ประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ห้องผลิตรายการ (studio) และเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง (transmitter) ห้องผลิตรายการจะทำการผสมสัญญาณเสียงจาก แหล่งเสียง (Sound sources) ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น จากไมโครโฟน แผ่นเสียง เทปบันทึกเสียง โทรทัศน์และแหล่งอื่น ๆ ให้อยู่ในรูปของคลื่นไฟฟ้า แล้วส่งไปเข้าเครื่อง ส่ง เครื่องส่งจะทำหน้าที่ผสมคลื่นเสียงกับคลื่นวิทยุที่เราเรียกว่า "คลื่นพาหะ" (Carrier wave) ซึ่งเกิดจาการทำงานทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ วงจรออสซิลเลเตอร์ (Oscillator circuit) ทำให้เกิดการกระเพื่อมของกระแสไฟฟ้าขึ้น การสลับของกระแสไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นตัวปล่อยพลังงานคลื่นพาหะหรือคลื่นวิทยุไปในอากาศที่ความถี่ต่าง ๆ ตามต้อง การ คลื่นวิทยุที่ผสมกับคลื่นเสียงแล้วก็จะทำการแพร่สัญญาณออกทางเสาอากาศเครื่องส่งออกอากาศไปเข้าเครื่องรับ (receiver) ของผู้ฟังต่อไป (ณรงค์ สมพงษ์ 2530 : 376) สารนิเทศนี้จึงได้จาการฟัง วิทยุจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสังคมข่าวสารในปัจจุบัน ประชาชนสามารถทราบ สารนิเทศได้จากการฟังและนำมาจดเป็นข้อบันทึก เพื่อใช้ประโยชน์ หรือจัดเก็อสารนิเทศด้วยการบันทึกเสียงวิทยุเป็นอุปกรณ์ทางสารนิเทศ ที่เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด และ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว การกระจายของคลื่นวิทยุที่ส่งออกไปในส่วนต่างๆ สามารถ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของประเทศ แม้แต่ที่กันดาร สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบ หรือสภาพชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ประชาชนก็สามารถรับสารนิเทศต่าง ๆ ได้จาก วิทยุ และได้ความรู้ในสารนิเทศในทุกสถานที่ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา

3. โทรพิมพ์ (Teleprinter Exchange : Telex) เป็นสื่อสารนิเทศ ทางระบบโทรคมนาคมที่ใช้กับเครื่องรับส่งสัญญาณโทรเลข ประกอบด้วย แป้นพิมพ์และแคร่ พิมพ์ ลักษณะคล้ายเครื่องพิมพ์ดีด สามารถรับส่งสัญญาณโทรเลขเพื่อพิมพ์เป็นตัวอักษรบนกระดาษพิมพ์และส่งตัวอักษรที่พิมพ์เป็นสัญญาณโทรเลขผ่านวงจรโทรเลขที่ต่ออยู่กับเครื่องโทร พิมพ์นั้นได้ (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 415) สารนิเทศที่ได้จึงได้จากการอ่านข้อความ นายสมาน บุณยรัตน์พันธุ์ นายช่างโทรเลขของไทยได้คิดค้นเครื่องโทรพิมพ์ ภาษาไทยได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2496 และปรับปรุงจนกระทั่งเครื่องโทรพิมพ์สามารถพิมพ์ได้ทั้ง 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในเครื่องเดียวกัน มีชื่อเรียกว่า เครื่อง โทรพิมพ์ไทยแบบ S.P. จากนั้นเริ่มมีการส่งเครื่องโทรพิมพ์ไทยเข้ามาใช้กับงานรับส่งโทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์-เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 กุม ภาพันธ์ พ.ศ.2500 และขยายการรับ-ส่งโทรเลขด้วยเครื่องโทรพิมพ์ทั่วประเทศ (กระทรวงคมนาคม 2530 : 247-248) ต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขได้จัดให้มีบริการโทรพิมพ์ระ บบคอมพิวเตอร์มาใช้งานตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2519 มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารอื่น ๆ เข้ามาประกอบในการส่งข่าวสารเพื่อความต้องการของสังคมสารนิเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องโทรพิมพ์ในปัจจุบันมีการพัฒนาการจัดระบบชุมสายให้สามารถติดต่อกันได้ระหว่างแต่ละเครื่องอย่างอัตโนมัติ เครื่องโทรพิมพ์ใช้ประโยชน์ในการรับสารนิเทศ ในวงการธุรกิจและวงการ ธุรกิจการพิมพ์ ในการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์นั้น สำนักงานหนังสือพิมพ์ได้สารนิเทศต่าง ๆ จากทุกมุมโลกจากเครื่องโทรพิมพ์ ซึ่งติดตั้งไว้ที่สำนักงาน ข่าวสารข้อมูลที่ได้มาจากสำนัก งานขายข่าวทั่วโลกซึ่งส่งสารนิเทศมาจากต้นทางโดยตรง

4. โทรศัพท์ (Telephones) เป็นสื่อสารนิเทศด้วยระบบโทรคมนาคมที่ใช้ อุปกรณ์ทางไฟฟ้าเป็นเครื่องมือสื่อสารให้ติดต่อพูดถึงได้ในระยะไกล โดยใช้สายตัวนำไป โยงติดต่อกันและอาศัยอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นหลักสำคัญ (ราชบัณฑิตยสถาน 2531 : 41) สารนิเทศที่ได้ จึงได้จากการรับฟังจากเครื่องรับโทรศัพท์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อเล็กซาน เดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2876 ทั่ว โลกมีโทรศัพท์ใช้กันอยู่ประมาณ 425 ล้านเครื่อง ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้อยู่ประมาณ 1 ใน 5 ของโทรศัพท์ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก (Penna 1981 : 78) เครื่องโทรศัพท์ประกอบด้วยที่พูดและหูฟัง ภายในเครื่องที่พูดมีแผ่นโลหะบาง ๆ เรียกว่า ไดอะแฟรม (Diaphram) ถัดมาเป็นตลับบรรจุเม็ดคาร์บอน (carbon granules) ที่พูดนี้ต่อกับที่กำเนิดไฟฟ้าโดยกระแสไฟเดินเข้าทางหน้าของตลับเม็ดคาร์ บอน ทางที่ติดต่อกับแผ่นไดอะแฟรมและจะไหลผ่านเม็ดคาร์บอนไปออกทางด้านหลังของตลับ ขณะพูดคลื่นเสียงจะไปกระทบแผ่นไดอะแฟรมจนสั่น และกดลงบนเม็ดคาร์บอนในตลับ ทำให้ เม็ดคาร์บอนเบียดตัวชิดกัน กระแสไฟฟ้าไหลได้สะดวกจึงไหลได้มาก เมื่อแผ่นไดอะแฟรมสั่น น้อยก็กดเม็ดคาร์บอนน้อย เม็ดคาร์บอนก็จะอยู่ห่างกัน กระแสไฟฟ้าไหลไม่สะดวกจึงไหลได้ น้อย ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกจากตลับเม็ดคาร์บอนจึงเปลี่ยนแปลงไปตามเสียงที่พูด กระ แสไฟฟ้านี้จะเดินไปตามสายสู่หูฟังที่ปลายทาง หูฟังมีส่วนประกอบเป็นแท่งแม่เหล็กถาวร มีขดลวดไฟฟ้า (coils) พันอยู่ ตรงปลายมีแม่เหล็กบาง ๆ ที่ใช้เป็นไดอะแฟรมอยู่ใกล้ปลายนี้ กระแสไฟฟ้าสัญญาณเสียงที่มา จากแท่งแม่เหล็ก ทำให้อำนาจแม่เหล็กนี้เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามลักษณะของกระแสไฟฟ้า โดยที่อำนาจแม่เหล็กไม่คงที่ แรงดึงดูดที่มีต่อแผ่นไดอะแฟรมจึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้แผ่นไดอะแฟรมสั่นซึ่งทำให้เกิดเสียงขึ้น (อุทัย สินธุสาร 2519 : 1887-1888) ดัง นั้นวิธีการสื่อสารด้วยโทรศัพท์นี้ เครื่องส่งจะทำหน้าที่เปลี่ยนคลื่นเสียงซึ่งเกิดจากการกระ เพื่อมของอากาศให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีสภาพของกระแสไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป ตามคลื่นเสียงเข้าสู่เครื่องรับซึ่งจะเปลี่ยนแปลงพลังงานไฟฟ้ากลับเป็นคลื่นเสียง ทำให้ สามารถถ่ายทอดได้ใกล้เคียงกับเสียงพูดในธรรมชาติ ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจการโทรศัพท์ มีพระราชบัญญัติตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2497 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้ปรับปรุงให้บริการข่าวสารประเภทเสียง จากการให้บริการติดตั้งโทรศัพท์ทั่วประเทศ ตลอดจนต่างประเทศ ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2529 ได้นำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในการค้นหาเลขหมายโทรศัพท์ เรียกว่า ระบบซีแดส (CDAS : Computerized Directory Assistance System) สามารถบริการได้รวดเร็วขึ้นกว่า เดิม คือเฉลี่ยเวลาในการค้นหาเพียง 30 วินาทีต่อรายเท่านั้น (กระทรวงคมนาคม 2530 : 252-253) สารนิเทศที่ได้รับโทรศัพท์ ทวีบทบาทมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน องค์การโทรศัพท์ แห่งประเทศไทยมีชุมสายโทรศัพท์รวมทั้งสิ้น 310 ชุมสาย มีเลขหมายโทรศัพท์รวมประมาณ 1,005,872 เลขหมายทั่วประเทศ (ประชาชาติธุรกิจ 4 มีนาคม 2532 : 44) มีการ พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร มีบริการโทรศัพท์ในระบบต่างๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) และโทรศัพท์ไร้สาย (Multi-Access Radio Telephone) เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีโทรศัพท์ภาพ คือสามารถทั้งพูดและ รับชมภาพผู้พูดได้ในเวลาเดียวกัน และนำมาใช้กับโทรประชุมในปัจจุบัน

5. โทรทัศน์ (Televisions) เป็นสื่อสารนิเทศในระบบโทรคมนาคมด้วยวิธี การถ่ายทอดเสียงและภาพได้พร้อมกันจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยวิธีเปลี่ยนคลื่นเสียงและ ภาพให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกสู่อากาศ (ราชบัณฑิตยสถาน 2531 : 41) นับว่าเป็นสื่อ สารนิเทศที่นำภาพและเสียงจากที่ต่างๆทั่วโลกไปยังผู้รับสารนิเทศตามบ้านจากการเปิด เครื่องรับโทรทัศน์ เป็นสื่อสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตและการตลาด ก่อ ให้เกิดการแข่งขันทางการค้าเนื่องจากเป็นสื่อสารนิเทศที่ใช้เป็นแหล่งโฆษณาสินค้าที่สำคัญ (Mickelson and Zettle 1981 : 84 f) นอกจากนี้ยังได้นำมาใช้เป็นสื่อเพื่อการศึก ษากันอย่างกว้างขวาง

โทรทัศน์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
1. โทรทัศน์เพื่อการค้า (Commercial television) หมายถึง การจัดราย การโทรทัศน์ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อโฆษณาสินค้า ให้ความบันเทิงและเสนอข่าว
2. โทรทัศน์เพื่อการศึกษา (Educational television) เป็นการจัดราย การเพื่อให้การศึกษาโดยทางอ้อม เพื่อให้ผู้ชมได้รับความรู้หรือเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวาง เช่น รายการข่าว รายการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรายการ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
3. โทรทัศน์เพื่อการสอน (Instructional television) เป็นการจัด รายการโทรทัศน์เพื่อใช้ในการสอนประกอบหลักสูตรการสอนโดยตรง ส่วนใหญ่ใช้โทรทัศน์ ระบบวงจรปิด ประเทศไทยได้เริ่มตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ส่งรายการออกอากาศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 โดยสถานีไทยโทรทัศน์จำกัด (อุทัย สินธุสาร 2519 : 1883) ปัจจุบันในกรุงเทพมหานคร มีสถานีโทรทัศน์รวม 5 สถานี คือไทยทีวีสีช่อง3 ททบ.ช่อง 5 ไทยทีวีสีช่อง 7 อสมท. ช่อง 9 และกรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 แต่ละสถานีมีการสร้าง เครือข่ายการถ่ายทอดจนสามารถทำให้ประชาชนทั้งประเทศสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ ได้ทั่วถึงพร้อมกันหมดในเวลาเดียวกัน การใช้โทรทัศน์เป็นสื่อในการรับฟังและรับชมสารนิเทศ ได้มีการพัฒนารูปแบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายต่อสังคมสารนิเทศเป็นอย่างมาก จากการ เชื่อมโยงระบบการสื่อสารอื่น ๆ โทรทัศน์ได้พัฒนารูปแบบอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า โทรวีดิทัศน์ (Videotext) ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารที่รับได้จากเครื่องโทรทัศน์ทั่วไป (Prytherch 1987 : 828) และให้บริการได้ 2 วิธีการคือ
1. การติดต่อสื่อสารสารนิเทศได้โดยตรง (Interactive) เป็นการติดต่อ ถ่ายทอดระบบสารนิเทศผ่านไปตามสายโทรศัพท์ ผู้ใช้สารนิเทศสามารถเรียกสารนิเทศ หรือโต้ตอบสารนิเทศโดยดูสารนิเทศจากเครื่องรับโทรทัศน์ เช่น ระบบ PRESTEL ในประเทศอังกฤษ ระบบ VIEWDATA ในฮ่องกง ระบบ TELETEL ในประเทศฝรั่งเศส ระบบ TELENEWS ในประเทศสิงคโปร์ และระบบ VIATEL ในประเทศออสเตรเลีย (ผู้จัดการ 2532 : 20) เป็นต้น
2. การติดต่อสื่อสารจากการเลือกรายการสารนิเทศ (Broadcast) เป็น ระบบที่สารนิเทศส่งผ่านด้วยคลื่นวิทยุ และผู้ใช้สารนิเทศสามารถเลือกสารนิเทศที่มีให้บริ การเท่านั้น เช่น ระบบ CEEFAX ระบบ ORACLE เป็นต้น

6. โทรสาร (Facsimile) เป็นสื่อสารนิเทศในสื่อโทรคมนาคมอีกประเภท หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมสารนิเทศ ราชบัณฑิตยสถาน (2531 : 41) บัญญัติศัพท์ใช้คำว่า โทรภาพ เพราะเดิมหมายถึงภาพหรือรูปที่ส่งมาโดยทางไกล ตลอดจนหมายถึงกรรมวิธีใน การถอดแบบเอกสารตีพิมพ์หรือรูปภาพโดยทางคลื่นวิทยุหรือทางสาย เช่น สายโทรศัพท์ ใน สังคมสารนิเทศปัจจุบันนิยมใช้คำว่า โทรสาร แทนโทรภาพ เพราะครอบคลุมประเภทของ การส่งสารนิเทศได้มากกว่าภาพ เครื่องโทรสารมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Facimile หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า Fax (แฟกซ์) หมายถึง อุปกรณ์การถ่ายเอกสาร ภาพ และวัสดุกราฟฟิคด้วยคลื่นอากาศความถี่สูง (Prytherch 1987 : 293) ผ่านระบบโทรศัพท์ทำให้ผู้ส่งและผู้รับจะอยู่ห่างกันแค่ไหนก็ตาม ผู้รับจะได้รับสำเนาเหมือนต้นฉบับจริง ทุกประการ กระบวนการในการรับ-ส่งเอกสาร เป็นการส่งสัญญาณด้วยแสงที่มาแปลเป็น เสียงแล้วย้อนกลับไปเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วแปลกลับมาเป็นเสียงและแสงอีกครั้งหนึ่ง วิธี การส่งเอกสารมีวิธีการง่าย ๆ คือ เมื่อวางต้นฉบับลงบนเครื่องแล้วหมุนหมายเลขโทรศัพท์ ของเครื่องรับปลายทาง เครื่องจะอ่านข้อความหรือรูปภาพในต้นฉบับออกมาเป็นคลื่นเสียง แล้วแปลงคลื่นเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าถึงเครื่องรับ เครื่องรับก็จะทำหน้าที่แปลงสัญญาณไฟฟ้า เป็นคลื่นเสียงกลับออกมาเป็นข้อความหรือรูปภาพที่เหมือนต้นฉบับทุกประการ กระบวนการใน การส่งทั้งหมดนี้สามารถกระทำได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ทั้งนี้นขึ้นอยู่กับมาตราฐานความเร็ว ของเครื่อง (พวงเพ็ญ พงศ์ธนสาร 2529 : 1-2) หรืออาจสรุปได้ว่า เครื่องโทรสาร เป็นการพัฒนาจากเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งสามารถส่งสารนิเทศทางไกลได้ในตัวด้วยเทค โนโลยีการสื่อสาร โทรสารมีจุดเริ่มต้นในประเทศไทยด้วยวิธีการใช้ประโยชน์ในการส่งข่าวสารด้วย ภาพเพียงอย่างเดียวในระยะแรก จึงเรียกชื่อว่า โทรภาพ โดยเริ่มต้นจากการเสนอของ ประเทศญี่ปุ่นในการมอบเครื่องรับ-ส่งโทรภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามชมภาพข่าว การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2506 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2506 เครื่องรับส่งโทรภาพชุดนี้ ผลิตโดย บริษัทนิปปอน อิเล็กทริก จำกัด (Nippon Electric Company Ltd) สามารถทำการติดต่อรับส่งภาพระหว่าง ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้อย่างดี (กระทรวงคมนาคม 2530 : 249-250) และ หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาโทรสารจนใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง มีการใช้เครื่องโทรสารในประเทศไทยเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ก่อให้เกิด การแข่งขันในอุตสาหกรรมข่าวสาร มีรายงานว่าในปี พ.ศ. 2531 เครื่องโทรสารสา มารถจำหน่ายได้มากกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2530 และคาดว่าในปี พ.ศ.2532 จะมีความต้องการในการใช้เครื่องโทรสารอีกประมาณ 10,000 เครื่อง (ประชาชาติธุรกิจ 31 ธันวาคม 2531-3 มกราคม 2532 : 29) ในระยะเวลาที่ผ่านมาประมาณ 3 ปี มีผู้ใช้ เครื่องโทรสารอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปใช้ในการบริหารงาน และมีแนวโน้มใช้มากขึ้นตาม ลำดับได้รับความนิยมใช้จากห้างร้าน บริษัท แม้แต่สื่อมวลชน (สตรีสาร 22 มกราคม 2532 : 13) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ใช้สารนิเทศมีมาก และเห็นประโยชน์และความสะดวก ต่อการใช้โทรสาร เครื่องโทรสารซึ่งเคยใช้อยู่ในสำนักงานในปัจจุบันสามารถใช้ได้แม้ใน รถยนตร์ โดยใช้ร่วมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรถยนตร์ เครื่องโทรสารมีปัญหาในการส่งสารนิเทศ โดยต้องมีต้นฉบับเป็นตัวถ่ายทอดข้อมูล ห้องสมุดที่มีการบริการสารนิเทศ จะต้องถ่ายสำเนาเอกสารก่อนจึงจะนำไปส่งข้อมูล เครื่องโทรสารได้ แต่ในขณะนี้ได้มีบริษัทการค้าหลายบริษัทได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีการสื่อ สาร เช่น บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริง จำกัด ได้ผลิตเครื่องโทรสารยี่ห้อนิทซา โกะ รุ่น เอฟ เอ็กซ์อี 500 ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่นอกจากจะต้องส่งฉบับชนิดเป็นแผ่น ๆ เช่นเดียวกับเครื่องโทรสารทั่วๆไปแล้ว ยังสามารถส่งเอกสารจากหนังสือเป็นเล่มได้โดย ไม่ต้องฉีกออกหรือนำไปถ่ายเอกสารเสียก่อน (กองบรรณาธิการ 2531 : 64) นับว่า อำนวยความสะดวอกอย่างมากในการให้บริการสารนิเทศในห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายต่อการใช้สารนิเทศเป็นอย่างมาก

7. โทรประชุม (Teleconference) เป็นสื่อสารนิเทศระบบโทรคมนาคมประ เภทหนึ่งที่กำลังทวีบทบาทในสังคมข่าวสาร เนื่องจากให้สารนิเทศระหว่างกันได้โดยไม่จำกัด เวลา สถานที่ และตัวบุคคล ระบบโทรคมนาคมช่วยขจัดปัญหาในการสร้างสังคมสารนิเทศ ไม่ให้ขาดการติดต่อได้ ด้วยการสร้างอุปกรณ์ให้มีการประชุมทางไกลได้ ซึ่งปัจจุบันนิยม เรียกว่า โทรประชุม การประชุมทางไกล หรือโทรประชุม เป็นการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร จำลอง โลกให้เล็กลงมาด้วยการติดตั้งอุปกรณ์การประชุมทางไกลในสำนักงานใหญ่ และที่สาขา ห้องประชุม ประกอบไปด้วยจอโทรทัศน์ที่ติดตั้งอยู่ภายใน ผู้ประชุมเพียงแต่กดปุ่มบนโต๊ะ หน้าของผู้เข้าประชุมอีกฝ่ายหนึ่งก็จะปรากฏขึ้นบนจอ เมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นหน้ากันทั้ง ๆ ที่อยู่ใน สถานที่ห่างไกล ก็สามารถดำเนินการประชุมได้เป็นปกติ เหมือนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน นอกจากจอโทรทัศน์แล้ว การประชุมทางไกลยังต้องอาศัยอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น สำหรับการประชุม เช่น โทรทัศน์วงจรเปิด กระดานไฟฟ้า ซึ่งดูเหมือนกระดานไวท์บอร์ด ธรรมดา แต่สามารถถ่ายและย่อตัวหนังสือทั้งหมดบนกระดานลงบนแผ่นกระดาษธรรมดาได้ใน เวลาไม่ถึงนาที และพร้อมที่จะทำสำเนาหนังสือออกแจกจ่ายในที่ประชุมได้ ช่วยให้ผู้ประ ชุมไม่ต้องเสียเวลาในการจดหรือคัดลอกข้อความในขณะดำเนินการประชุมอยู่ และอุปกรณ์ที่ สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ เครื่องโทรสารสำหรับใช้ส่งเอกสารไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ ข้อมูล รูปภาพ แผนที่ แผนภูมิ ให้แก่ผู้ประชุมทางไกลอีกฝ่ายหนึ่ง (วิภา อุตมฉันท์ 2531 : 5) ดังนั้นเอกสารใด ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งเสนอในที่ประชุม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะได้รับเหมือนกันในเวลา เกือบพร้อมกัน โทรประชุมจึงมีบทบาทอย่างมากในวงการธุรกิจ เพราะสามารถประหยัดทั้ง เวลาและค่าใช้จ่าย ขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในเรื่องสถานที่ที่อยู่ห่างไกลกันได้

หน้าสารบัญ