1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

สื่อไม่ตีพิมพ์ (Non-Printed Materials)

สื่อสารนิเทศประเภทไม่ตีพิมพ์ คือสื่อประเภทโสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Materials) เป็นสื่อสารนิเทศที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อการเรียนกาสอนและวงการธุรกิจ การสื่อสารประเภทนี้จัดเป็นสาขาวิชาหนึ่ง โดยตรง คือ วิชาโสตทัศนศึกษา (Audio Visual Education) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาที่กล่าวถึงเทคนิค การสอน โดยใช้โสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ประกอบบทเรียนของครู คำว่า โสตทัศนศึกษา หมายถึง คำต่าง ๆ อีกหลายคำ เช่น Audio Visual Media, Instructional Media, Educational Technology, Educational Media เป็นต้น (เกื้อกูล คุปรัตน์ และ คนอื่น ๆ 2520 : 2) สื่อวัสดุสารนิเทศไม่ตีพิมพ์จึงเป็นวัสดุประเภทที่ใช้ดูหรือฟัง หรือทั้งดู และฟังพร้อมกันเป็นหลัก เป็นสารนิเทศที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจ ได้ง่าย มักใช้เป็นอุปกรณ์ การสอนในชั้นเรียนและใช้ประโยชน์ในวงการธุรกิจ เนื่องจากมีคุณค่าทางการศึกษาและ การบริหารงานทางธุรกิจ

สื่อสารนิเทศไม่ตีพิมพ์ที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้

1. ภาพ (Pictures) ได้แก่ ทัศนสัญลักษณ์ที่ได้มาจากการถ่ายภาพ วาดหรือพิมพ์ เป็นสื่อสารนิเทศที่หาได้ง่าย ราคาถูก และมีประโยชน์ต่อการสื่อสารในสังคม ภาพมี ความหมายในตัวของมันเอง เป็นเครื่องมือสื่อสารสากลที่ชนทุกชาติทุกภาษาเข้าใจ และสัม ผัสความจริงได้ด้วยสายตาของตนเอง (Dale 1969 : 430) ภาพเพียงภาพเดียวดีเท่า กับคำพูดล้านคำ (Shores 1949 : 190) ภาพจึงเป็นสื่อสารนิเทศที่สามารถ อธิบายความหมายในตัวของมันเอง ภาพมีความสำคัญในทุกสาขาวิชา ครูอาจารย์ใช้ภาพเป็นส่วนประกอบใน การสอนวิชาต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น วงการอุตสาหกรรมหนังสือ ใช้ภาพเป็นส่วนประกอบในหน้าหนังสือหรือหนังสือพิมพ์เพื่ออธิบายข้อความหรือเรื่องราวให้ แจ่มชัดขึ้น ภาพที่มีคุณค่าทางศิลปะให้ความจรรโลงใจแก่ผู้พบเห็น ปัจจุบันห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศจัดรวบรวมภาพประเภทต่าง ๆ ให้บริการและ เพื่อการค้นคว้าแยกไว้เป็นบริการพิเศษโดยเฉพาะ

2. วัสดุกราฟฟิค (Graphic Materials) เป็นสื่อประเภททัศนวัสดุที่นำมา ใช้ในการสื่อความหมายเพื่อแสดงสัญลักษณ์ หรือความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อ เท็จจริงแนวความคิด และเสริมความเข้าใจจากการผสมผสานสื่อของภาพวาด คำพูด สัญลักษณ์ และรูปภาพ เป็นต้น (Wittich and Schuller 1973 : 110) วัสดุกราฟ ฟิคมีบทบาทต่อสังคมข่าวสารในปัจจุบัน สื่อวัสดุกราฟฟิค มีดังต่อไปนี้
    2.1 แผนสถิติ (Graphs) เป็นสื่อสารนิเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อเน้นการสื่อ ความหมายในเชิงปริมาณและตัวเลข ซึ่งเป็นนามธรรม กราฟแต่ละแผ่นควรแจ้งให้ทราบที่มา ของข้อมูลต่าง ๆ ด้วย เพื่อสร้างความเชื่อถือและเปิดโอกาสให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ง่ายขึ้น ตัวอักษร เส้น และสี ควรชัดเจน อ่านง่าย มีหลายชนิด (Prytherch 1987 : 339) จัดแบ่งเป็น 4 ชนิด (Modley 1981 : 312) ดังนี้ คือ
    2.1.1 กราฟเส้น ใช้แสดงด้วยเส้นที่แทนข้อมูลในแต่ละหน่วย
    2.1.2 กราฟแท่ง ใช้แสดงด้วยรูปแท่ง อาจจะอยู่ในรูปแนวนอนหรือแนวตั้ง
    2.1.3 กราฟรูปภาพ ใช้แสดงด้วยสัญลักษณ์หรือรูปภาดของข้อมูลเป็น การอธิบายที่ชัดเจนขึ้น ในเรื่องนั้นๆ
    2.1.4 กราฟวงกลม ใช้แสดงด้วยวงกลม แบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ตามค่าของข้อมูลที่ปรากฏ

2.2 แผนภูมิ (Charts) เป็นสื่อสารนิเทศที่หมายถึง แผนที่ เส้น หรือ ตารางที่ทำขึ้นเพื่อแสดงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 563) จึงเป็น สารนิเทศอาจอยู่ในรูปของแผนสถิติ ภาพวาด กราฟ หรือวิธีการออกแบบใด ๆ เพื่อแจ้งสารนิเทศให้ง่ายต่อการเข้าใจ ส่วนใหญ่เขียนขึ้นเพื่อแสดงข้อมูลทางธุรกิจ ภูมิศาสตร์ และ สภาพอากาศ (Kurtzworth 1981 : 298) การใช้แผนภูมิประกอบความเข้าใจ ในการสื่อสารได้ง่าย เพราะเป็นการทำให้สื่อประเภทคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรเป็นทัศนสัญลักษณ์ที่ เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แบ่งได้เป็นหลายประเภท (เกื้อกูล คุปรัตน์ 2520 : 157-159) ดังต่อไปนี้ คือ
    2.2.1 แผนภูมิแบบต้นไม้ เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นสารนิเทศว่าสิ่งๆ หนึ่งอาจแบ่งแยกออกไปได้หลายอย่าง และแต่ละอย่างได้แก่อะไรบ้าง
    2.2.2 แผนภูมิแบบสายธาร เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นว่าสิ่ง ๆ หนึ่ง เกิดจากหลายสิ่งมารวมกัน
    2.2.3 แผนภูมิแบบต่อเนื่อง เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงให้เห็นลำดับของ การทำงานอย่างต่อเนื่องกัน
    2.2.4 แผนภูมิแบบองค์การ เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ของ สายงานในองค์การหรือหน่วยงานหนึ่ง ๆ หรือระหว่างองค์การหนือหน่วยงาน
    2.2.5 แผนภูมิแบบเปรียบเทียบ เป็นแผนภูมิที่ใช้เปรียบเทียบให้เห็น ความแตกต่างกันระหว่างรูปร่าง ลักษณะ ขนาด แนวความคิดของสิ่งต่าง ๆ
    2.2.6 แผนภูมิแบบตาราง เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับเหตุการณ์
    2.2.7 แผนภูมิแบบวิวัฒนาการ เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงความเปลี่ยนแปลงไปของสิ่งของต่าง ๆ
    2.2.8 แผนภูมิแบบอธิบายภาพ เป็นแผนภูมิที่ใชสำหรับชี้แจงส่วนต่างๆ ของภาพที่ต้องการ แผนภูมิมีประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนการสอน ในวงการธุรกิจมักใช้ แผนภูมิอธิบายข้อมูลด้านการตลาด การรายงานภาวะตลาดหุ้น และสถานการณ์ทางธุรกิจทั่ว ๆ ไป

2.3 แผนภาพ (Diagrams) เป็นสื่อสารนิเทศที่หมายถึง ภาพหรือเค้า โครงที่เขียนขึ้นเพื่อช่วยในการอธิบายเรื่องราว (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 563) เป็น วัสดุกราฟฟิคที่แสดงส่วนประกอบและระบบการทำงานภายในของสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถมอง เห็นด้วยตาได้ ด้วยการใช้ภาพเหมือนหรือภาพลายเส้นและสัญลักษณ์อื่นประกอบ เน้นเฉพาะ แนวความคิดที่สำคัญไม่มีรายละเอียด ที่ไม่จำเป็น เช่น การวาดภาพ แผนภาพให้เห็นการ ทำงานของลูกสูบในรถยนต์ ส่วนประกอบของต้นไม้ ดอกไม้ เป็นต้น แผนภาพที่นิยมใช้ประกอบการอธิบายสารนิเทศ จัดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท (พรรณพิมล กุลบุญ 2523 : 11) คือ
    2.3.1 แผนภาพเทคนิค (Technical diagrams) ใช้แสดงข้อสารนิเทศทางเทคนิค เช่น วงจรไฟฟ้า และพิมพ์เขียวงานก่อสร้าง เป็นต้น
    2.3.2 แผนภาพกระบวนการ (Process diagrams) ใช้แสดงให้ เห็นความเห็นต่อเนื่องของกิจกรรม หรือขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การทำงานของลูกสูบในรถยนตร์ เป็นต้น

2.4 ภาพชุด (Flipcharts หรือ Flipbooks) เป็นสื่อสารนิเทศที่ รวมภาพถ่าย ภาพวาด แผนภูมิ หรือแผนสถิติ ซึ่งนำมารวมเข้าเป็นเรื่องราว ให้มีความต่อ เนื่องสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นจนจบ มีประโยชน์อย่างมากในการอธิบายประกอบสารนิเทศ มัก นิยมใช้ประกอบการบรรยายในการประชุม หรือการฝึกอบรมในห้องเรียน (ณรงค์ สมพงษ์ 2530 : 126) ในแต่ละหน้าของภาพชุด จะมีภาพที่สัมพันธ์กัน คำอธิบายด้านหลังของหน้าแรกจะเป็นคำบรรยายของภาพในหน้าที่สอง คำบรรยายสรุปนี้จะช่วยแนะแนว ทางการบรรยายให้กับผู้ใช้ด้วย นับว่าเป็นวัสดุกราฟฟิคที่มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการฝึกอบรมในวงการธุรกิจ

2.5 ภาพโฆษณา (Posters หรือ Placards) เป็นสื่อสารนิเทศประเภทวัสดุกราฟฟิคที่จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารข้อมูล โดยใช้ภาพ สี และคำ หรือข้อความประกอบเข้าด้วยกัน มีการออกแบบอย่างดีเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นและเพื่อจูงใจให้มีความ เห็นคล้อยตาม (พรรณพิมล กุลบุญ 2523 : 11) ภาพโฆษณาจึงเป็นสื่อที่นำมาใช้ในวงการค้า การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานทั้งราชการและเอกชน เป็นสื่อสารนิเทศที่สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็นได้อย่างมาก

3. วัสดุแผนที่ (Cartographic Materials) เป็นสื่อสารนิเทศที่รวมหมายถึงวัสดุที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนบางส่วน หรือทั้งหมดของโลก (Gorman 1978 : 85) มักแสดงข้อมูลเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งของสถานที่ ทรัพยากร ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เส้นทางคมนาคม จัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ 2531 : 36) ดังต่อไปนี้คือ
    3.1 แผนที่ (Maps) เป็นสื่อสารนิเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงสารนิเทศ เกี่ยวกับโลกทั้งหมดหรือบางส่วน มีการอธิบายด้วยเส้น คำ สัญลักษณ์ และสีในเรื่องลักษณะ พื้นผิวโลก แผนที่อาจจะแสดงวัตถุในอวกาศ เช่น ดวงดาวและดาวนพเคราะห์ต่าง ๆ การจัดทำแผนที่จะจัดแสดงลักษณะโดยการย่อส่วนบนกระดาษหรือลูกโลก (Jenks 1981 : 134-136) แผนที่แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
      3.1.1 แผนที่อ้างอิงทั่ว ๆ ไป (General reference map)
      3.1.2 แผนที่พิเศษ (Special of thermatic map) แผนที่อ้างอิงทั่ว ๆ ไป แสดงสารนิเทศทั่ว ๆ ไป เช่นทวีป ประเทศ แม่น้ำ เมือง และลักษณะอื่น ๆ ส่วนแผนที่พิเศษจัดทำขึ้นเพื่อแสดงลักษณะเฉพาะบางประการ เช่น จำนวนฝนตก การกระจายของประชากร หรือลักษณะผลผลิตของพืชบางชนิด เป็นต้น การใช้ข้อมูลสารนิเทศจากแผนที่ ผู้ใช้ข้อมูลจะต้องรู้ ถึงภาษาของแผนที่ซึ่ง ประกอบไปด้วยการรู้จักอ่านมาตราส่วน การใช้สัญลักษณ์ ลักษณะของสีที่ปรากฏในแผนที่ ตลอดจนการรู้จักเส้นรุ้ง เส้นแวง ซึ่งจะทำให้ได้สารนิเทศจากแผนที่ได้อย่างดี มาตราส่วนที่ใช้กับแผนที่ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท (กัลยา จยุติรัตน์ และ คนอื่น ๆ 2531 : 36) ดังต่อไปนี้ คือ
      1. แผนที่มาตราส่วนใหญ่ ได้แก่ แผนที่ซึ่งมีขนาดมาตราส่วน 1: 75,000 รองลงมา มีขนาด 1: 50,000, 1: 25,000, 1: 20,000 และ 1: 12,500 เป็นต้น
      2. แผนที่มาตราส่วนปานกลาง ได้แก่ แผนที่ซึ่งมีขนาดมาตราส่วนตั้งแต่ 1:600,000 ลงมา มีขนาด 1: 500,000, 1: 250,000, 1:200,000, 1:125,000 และ 1:100,000 เป็นต้น
      3. แผนที่มาตราส่วนเล็ก ได้แก่แผนที่ซึ่งมีขนาดมาตราส่วนตั้งแต่ 1: 1,000,000 ขึ้นไป มีขนาด 1:1,250,000 และ 1:2,500,000 เป็นต้น
    3.2 หนังสือแผนที่ (Atlases) ได้แก่ การรวมแผนที่หลายแผ่นหรือหลาย ๆ ชุดมารวมกันเข้าเป็นเล่ม เรียกว่า สมุดแผนที่หรือหนังสือแผนที่
    3.3 ลูกโลก (Globes) เป็นสื่อสารนิเทศของวัสดุแผนที่ที่จัดทำขึ้นจำลอง โลกเป็นวัสดุกลม หมุนได้รอบ มีหลายขนาด ทำด้วยวัสดุหลายประเภท แต่ที่นิยมใช้กันมาก คือ ทำด้วยพลาสติก บางชนิดมีหลอดไฟติดตั้งอยู่ภายใน เมื่อเปิดไฟจะเห็นรายละเอียดต่างๆ ชัดเจน วัสดุแผนที่อื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมา อาจหมายรวมถึง ภาพถ่ายทางอากาศที่ได้ จากการถ่ายภาพจากดาวเทียมด้ววย (Gorman 1987 : 85) วัสดุแผที่ต่าง ๆ จึงนับว่า เป็นวัสดุสารนิเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับโลกและทรัพยากรของโลกที่สำคัญ

4. สไลด์ (Slides) หรือแผ่นภาพเลื่อน (ราชบัณฑิตยสถาน ข 2530 : 85) เป็นสารนิเทศที่มีลักษณะเป็นภาพนิ่ง ซึ่งถ่ายลงบนฟิล์มโปร่งแสงผนึกกับกรอบกระดาษหรือ พลาสติก (Prytherch 1987 : 726) มีทั้งสไลด์ขาวดำและสี เมื่อนำไปเข้าเครื่องฉาย แสงสว่างที่มีความสว่างสูงจะส่องผ่านฟิล์มไปปรากฏภาพบนจอ สไลด์มีหลายขนาดตาม แต่ชนิดของฟิล์มที่ใช้ถ่าย แต่ขนาดที่นิยมใช้กันมาก คือ ขนาด 2"x2" ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ กับกล้อง 35 มม. และมีขนาดภาพ 3 ขนาด (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ 2531 : 117) คือ
    1. ขนาดหนึ่งกรอบภาพ มีขนาดของภาพเท่ากับ 18 x 24 มม.
    2. ขนาดสองกรอบภาพ มีขนาดของภาพเท่ากับ 24 x 36 มม. หรือเท่ากับฟิล์ม สตริปสองกรอบภาพ
    3. ขนาดพิเศษ มีขนาดของภาพเท่ากับ 31 x 31 มม.

นอกจากนี้ยังมีสไลด์ขนาด 3 1/4 x 4 นิ้ว และสไลด์ขนาดเล็ก ซึ่งผลิต จากฟิล์ม 11 มม. มีขนาดของภาพ 15 x 15 มม. งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สไลด์สามารถช่วยให้เกิดการเรียนได้ดี มีความคงทนในการจำมาก ให้ความประทับใจแก่ผู้ดู สามารถบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นมาแสดงได้ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง และสามารถขยายรายละเอียดของภาพมาให้ดูกันได้มาก (ณรงค์ สมพงษ์ 2530 : 195) สไลด์จึงเป็นสื่อสารนิเทศที่สำคัญประเภทหนึ่งในการให้สารนิเทศ เพื่อการศึกษาตลอดจนการประชาสัมพันธ์ หน่วยงานต่าง ๆ ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องเสียง ทำให้มีการใช้สไลด์ประกอบเสียงในการอธิบาย ประกอบการบรรยาย ยิ่งทำให้ สื่อสารนิเทศประเภทนี้มีบทบาทความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้น

สไลด์ประกอบเสียงเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพมากอย่างหนึ่ง เป็นตัวอย่างของการ แสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้า ในการปรับและผสมผสานความรู้ในด้านภาพและเสียงเข้าด้วยกัน โดยบริษัทฟิลลิปส์เป็นผู้นำเอาระบบคาสเซ็ทอัตโนมัติ (Audio-cassette) เข้ามาเชื่อมกับสัญญาณภาพ และต่อมามีการพัฒนาระบบการฉายภาพสไลด์ประกอบเสียงเป็นภาพชุดที่มีความซับซ้อน (Complex Multi-image Presentation) และควบคุมระบบการนำเสนอด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (เกรียงศักดิ์ ทวีวัฒน์ 2530 : ก) การ ใช้สไลด์ประกอบเสียงจึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างมากในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานธุรกิจต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นสื่อข้อมูลที่เร้าความสนใจได้เป็นอย่างมาก

5. ฟิล์มสตริป (Filmstrips) หรือฟิล์มแถบยาว (ราชบัณฑิตยสถาน ข 2530 : 31) ได้แก่สื่อสารนิเทศประเภทภาพนิ่งโปร่งใส จัดทำขึ้นจากการถ่ายบนฟิล์ม โปร่งใส ขนาด 35 มม. มีความยาวประมาณ 20-50 ภาพ เรียงตามลำดับต่อกัน อาจเป็น สีหรือขาวดำมี 2 ขนาด คือ ขนาดหนึ่งกรอบภาพ ขนาด 3/4 x 1 นิ้ว ภาพจะเรียงซ้อนกัน ตามด้านขวางของฟิล์ม และขนาดสองกรอบภาพขนาด 1 x 11/2 นิ้ว ภาพจะเรียงตาม ความยาวของฟิล์ม มักจะม้วนเก็บในกล่องโลหะหรือพลาสติก (กัลยา จยุติรัตน์ และ คนอื่น ๆ 2531 : 128) เวลาใช้จะต้องใช้ฉายภาพไปบนจอด้วยเครื่องฉายฟิล์มสตริป ฟิล์มสตริปบางม้วนมีเสียงประกอบ เรียกว่า ฟิล์มสตริปเสียง (Sound Filmstrips) เสียงที่บันทึกมักเป็นคำบรรยายหรือเสียงประกอบ การฉายฟิล์มสตริปต้อง ใช้กับเครื่องฉายฟิล์มสตริปควบคู่กันกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง (เกื้อกูล คุปรัตน์ 2520 : 95) วิธีการใช้ฟิล์มสตริปจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเหมาะสำหรับใช้สารนิเทศในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

6. ภาพยนตร์ (Motion Pictures หรือ Cine Films) เป็นสื่อสารนิเทศที่ จัดทำเป็นภาพฉายด้วยเครื่องทำให้เห็นเป็นเคลื่อนไหวได้ (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 616) สื่อประเภทนี้จึงเป็นฟิล์มภาพยนตร์ที่มีลักษณะเป็นฟิล์มพอซิทิฟ ซึ่งเรียงต่อเนื่องกัน ตามลำดับ แต่ละภาพมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เมื่อมาฉายต่อเนื่องกันในอัตราความเร็วที่พอเหมาะ ก็จะปรากฎเป็นภาพเคลื่อนไหว ปกติภาพยนตร์เสียงขนาด 16 มม. จะปรากฎภาพจำนวน 24 ภาพต่อวินาที ดังนั้นภาพ 1 ภาพ จะอบู่บนจอภาพ 1/24 วินาที การเห็น ภาพเคลื่อนไหวบนจอเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์การรับรู้ภาพของมนุษย์ที่เรียกว่า Persistance of vision กล่าวคือ ตาของมนุษย์จะสามารถคงภาพที่เห็นติดตาอยู่บนเรตินาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นภาพนิ่งที่ปรากฎบนจอหลาย ๆ ครั้งอย่างต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ดูเหมือนกับว่ามีภาพเคลื่อนไหวเกิดขึ้นบนจอภาพ (ณรงค์ สมพงษ์ 2530 : 249) กลายเป็นสารนิเทศที่มองเห็นได้อย่างต่อเนื่อง การใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์ต้องใช้เครื่องฉาย ภาพยนตร์ประกอบ การชมจึงจะได้สารนิเทศทั้งเสียงและภาพ ภาพยนตร์ที่ให้สารนิเทศต่าง ๆ นั้น อาจแบ่งได้เป็น 5 ประเภท (เกื้อกูล คุปรัตน์ 2520 : 106) ดังต่อไปนี้ คือ
    6.1 ภาพยนตร์บันเทิง ผู้สร้างมุ่งให้ความบันเทิงเป็นหลัก มีศิลป การสร้างภาพยนตร์มาตามลำดับ เป็นการพัฒนาภาพยนตร์เพื่อการบันเทิง เมื่อจัดสร้างแล้ว จัดฉายตามโรงภาพยนตร์ และบันทึกในรูปม้วนวีดีทัศน์เพื่อชมในสถานที่อื่น ๆ
    6.2 ภาพยนตร์การศึกษา จัดสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการศึกษา ใช้ประกอบการเรียนวิชาต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ใช้ประกอบการสอนเฉพาะวิชาต่าง ๆ ในห้องเรียน และใช้ฝึกทักษะหรือเทคนิคบางอย่าง
    6.3 ภาพยนตร์สารคดี เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ จัดทำขึ้น มุ่งให้ความรู้และข่าวสารโดยตรง
    6.4 ภาพยนตร์ข่าว เป็นภาพยนตร์ที่เสนอข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น ที่สนใจแก่ผู้สนใจ ปัจจุบันเป็นประเภทของภาพยนตร์ที่มีบทบาทต่อการดำเนินงานสถานี โทรทัศน์ในประเทศต่าง ๆ โดยออกรายการภาคข่าว ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้น ในแต่ละวัน
    6.5 ภาพยนตร์โฆษณาสินค้า เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อโฆษณาชักจูงให้ซื้อสินค้า หรือสนับสนุนธุรกิจการค้า

7. วัสดุบันทึกเสียงและภาพ (Sound and Picture Recordings) เป็นสื่อสารนิเทศที่ให้สารนิเทศในรูปของการบันทึกเสียง และภาพออกมาในรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ตามประเภทของการจัดทำ (Gorman 1978 : 146) วัสดุบันทึกเสียงและภาพที่จัดทำใน ปัจจุบันที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
    7.1 แผ่นเสียง (Disc) ได้แก่ สื่อสารนิเทศที่เป็นแผ่นกลม ซึ่งบันทึก เสียงด้วยคำพูดไว้ในลักษณะเป็นร่องบนพื้นผิว เมื่อใส่บนหีบเสียงและให้เข็มเดินตามร่องที่จะ เกิดเสียงตามที่บึกทึกไว้ (ราชบัณฑิตยสถาน ก 2530 : 563) แผ่นเสียงแบ่งได้หลายประ เภท (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ 2531 : 54) คือ
      1. แบ่งตามขนาด คือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7", 10", 12" และ 16" ขนาดที่นิยม คือ ขนาด 10"
      2. แบ่งตามความเร็วของการหมุน คือ ความเร็ว 33 1/2, 45, 78 และ 16 2/3 รอบต่อนาที
      3. แบ่งตามความกว้างของร่องเสียง คือ Standard Groove ขนาด 0.003" Micro Groove ขนาด 0.001" Stereo Microgroove ขนาด 0.0005"- 0.0007" และ Ultra Microgroove ขนาด 0.000025"
    7.2 แผ่นวีดิทัศน์ (Video Disc) เป็นสื่อสารนิเทศที่พัฒนามาจากแผ่นเสียง ต่างกันที่แผ่นวีดิทัศน์มีการบันทึกสัญญาณภาพ และเสียงที่ละเอียดและซับซ้อนมากกว่า โดยใช้ลำแสงเลเซอร์ (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 85-86) แผ่นวีดิทัศน์แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
      7.2.1 ระบบเลเซอร์ แผ่นทำด้วยเงินฉาบพลาสติกใส ขนาดของแผ่นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เล่นด้วยความเร็ว 600-1,8000 รอบต่อนาที ความยาว 30 นาทีต่อหน้า
      7.2.2 ระบบคาปาซิแตนซ์ แบบมีร่องสัญญาณ บันทึกสัญญาณลงแผ่นด้วยสำแสงเลเซอร์ แต่เล่นด้วยเข็มธรรมดา มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10.2 นิ้ว เล่นด้วยความเร็ว 900 รอบต่อนาที ความยาว 1 ชั่วโมงต่อหน้า แผ่นวีดิทัศน์ ให้สารนิเทศออกมาเป็นภาพ และเสียงเหมือนภาพยนตร์หรือ แถบวีดิทัศน์ แต่ไม่สามารถบันทึกสัญญาณภาพและเสียงลงบนแผ่นได้
    7.3 เทปบันทึกเสียง (Sound Tapes) เป็นวัสดุที่สามารถบันทึกเสียงได้ และเมื่อต้องการฟังเสียงก็สามารถเปิดฟังได้ โดยอาศัยหลักการทำงานของเครื่องบันทึกเสียง มี 3 ประเภท (กัลยา จยุติรัตน์ และคนอื่น ๆ 2531 : 54-55) คือ
      7.3.1 เทปม้วน (Open reel-to-reel) เป็นเทปกว้าง 1/4 นิ้ว และมีขนาดล้อม 3, 5, 7 และ 10 1/2 นิ้ว เทปมีความยาว 1,200 ถึง 1,400 ฟุต อัตราความเร็วในการเล่นเทปคิดเป็นนิ้วต่อวินาที มีหลายอัตรา คือ 7 1/2, 3 3/4, 17/8 และ 15/16 นิ้วต่อวินาที
      7.3.2 เทปตลับ (Cassetts tapes) มีลักษณะคล้ายเทปม้วน แต่มีขนาดเล็กกว่า ตัวเทปบรรจุอยู่ในกล่องพลาสติก ด้านข้างมีช่องสำหรับให้หัวเทปสัมผัสกับ เนื้อเทปกว้าง 1/8 นิ้ว อัตราความเร็ว 17/8 นิ้วต่อวินาที เทปแต่ละม้วนมีระยะ เวลาในการบันทึกแตกต่างกัน เช่น C-60 หมายถึงเทปที่บันทึกเสียงได้ด้านละ 30 นาที นอกจากนี้ยังมีเทปขนาดอื่น ๆ อีก เช่น c-90} c-120 เป็นต้น
      7.3.3 เทปกล่อง (Cartridge tapes) เทปชนิดนี้เส้นเทปจะเดิน ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการหยุดหรือจบ ไม่ต้องหมุนเทปกลับ และมีความกว้างเท่ากับ เทปม้วน คือ 1/4 นิ้ว บรรจุในกล่องพลาสติกขนาด 51/2, 3 3/4, และ 3/4 นิ้ว ใช้อัตราความเร็วในการเล่น 3 3/4 นิ้วต่อวินาที
    7.4 แถบวีดิทัศน์ (Video tapes หรือ Video Cassette) เป็นแถบ บันทึกภาพและเสียง สามารถเล่นได้จากเครื่องเล่นวีดิทัศน์ โดยเปิดชมภาพและเสียงจาก โทรทัศน์ ลักษณะของแถบวีดิทัศน์คล้ายเทปตลับ คือ มีลักษณะเป็นเส้นเทปทำมาจากวัสดุ ประเภทพลาสติกจำพวกเซลลูโลส ไตรอาซิเตต โพลีเอสเตอร์ หรือโพลิไวนิล ฉาบด้วยสารแม่เหล็กอย่างแข็งเพื่อคงสภาพ สัญญาณที่ถูกบันทึกลงไว้ให้ดีที่สุด แถบวีดิทัศน์บันทึกได้ทั้งเสียงและภาพในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และสามารถลบภาพและเสียงที่บันทึกไว้ออก แล้วบันทึกเทปได้หลายครั้ง (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 84) แถบวีดิทัศน์ที่นิยมใช้กันมี ขนาดของแถบกว้างประมาณครึ่งนิ้ว

8. ชุดการสอน (Kits) หมายถึง การนำสื่อสารนิเทศตั้งแต่ 2 ชนิด มาใช้ ประกอบกัน เพื่อให้ความรู้หรือสารนิเทศเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยใช้เทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ทางการศึกษาจัดเตรียมขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้เกิดการเรียนรู้ หรือมีความคิดรวบยอดได้ดีขึ้น เนื่องจากได้รับประสบการณ์จากประสาทรับรู้หลายทางโดยสื่อต่างชนิด สื่อเหล่านั้นอาจเป็น โสตทัศนวัสดุ หรือวัสดุตีพิมพ์ต่างๆ (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 137) การใช้ชุด การสอนจึงเป็นการใช้สื่อสารนิเทศผสมหลายอย่าง และใช้ประกอบการเรียนการสอนใน สถาบันการศึกษาชุดการสอนประเภทหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการฝึกอบรมทักษะ ได้ แก่ เกมส์ต่าง ๆ ซึ่งจัดเตรียมขึ้น มีการกำหนดวิธีการและกฏเกณฑ์ในการเล่นหรือการ แข่งขันเพื่อเป็นการจูงใจผู้เรียน

9. ตู้อันตรทัศน์ (Diorama) เป็นสื่อสารนิเทศที่ใช้ประโยชน์มากในการ เรียนการสอน มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า กล่องทัศนียภาพ เวทีจำลอง หรือตู้จำลอง คือการจำลองแสดงเหตุการณ์ สถานที่เพื่อให้ผู้เขียนได้เรัยนรู้ถึงเหตุการณ์ใกล้เคียงของจริงมากขึ้น ลักษณะของตู้อันตรทัศน์ประกอบด้วยกล่องสี่เหลี่ยม หรือตู้สี่เหลี่ยม เปิดฝาไว้ด้านหนึ่ง ปิดด้วยกระจกใส หรือเปิดโล่ง ภายในจัดตกแต่งด้วยหุ่นจำลองของตัวอย่างและฉาก เพื่อแสดงเหตุการณ์ในเนื้อหาเรื่องราวที่ต้องการจัดแสดง (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 151) เช่น ตู้อันตรทัศน์แสดงเหตุการณ์สงครามเก้าทัพ ณ ทุ่งลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ในศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี และตู้อันตรทัศน์แสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นต้น

10. แผ่นโปร่งใส (Overhead tranparency) เป็นสื่อสารนิเทศที่แสดงบนแผ่นพลาสติก หรือแผ่นอาซีเตทโปร่งใส ด้วยการวาดภาพ หรือเขียนเป็นตัวหนังสือ แผ่นโปร่งใสจึงเป็นวัสดุฉายที่มีลักษณะโปร่งใส ซึ่งนำมาใช้กับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead Projector) สารนิเทศที่ได้จากการดูจะอยู่ในลักษณะการบรรยาย การเสนอแนวความคิดเห็นกระบวนการข้อเท็จจริง (ณรงค์ สมพงษ์ 2530 : 229) ขนาดของแผ่นโปร่งใสมีขนาดที่นินมกันคือประมาณ 10 x 12 นิ้ว

11. หุ่นจำลอง (Models) หุ่นจำลองเป็นวัสดุ 3 มิติที่สร้างขึ้นเฟื่อเลียนแบบของจริงหรือใช้แทนของจริง ที่ไม่สามารถจะนำมาแสดงได้โดยตรง มีการจัดทำหลายประเภท เช่น หุ่นจำลองแสดงลักษณะภายนอก หุ่นจำลองเหมือนของจริง หุ่นจำลอง แบบขยายหรือแบบย่อ หุ่นจำลองแบบผ่าซีก หุ่นจำลองแบบแยกส่วน หุ่นจำลองแบบเคลื่อนไหวทำงานได้ และหุ่นจำลองเลียนแบบของจริง เป็นต้น (กัลยา จยุติรัตน์ 2531 : 149- 150) การใช้หุ่นจำลองเป็นสารนิเทศนี้ นิยมใช้ในการเรียนการสอน เช่น ใช้เป็นอุปกรณ์ การสอนประกอบการเรียนวิชาแพทยศาสตร์ เป็นต้น เพราะทำให้ง่ายต่อความเข้าใจและเปิดโอกาสให้สามารถศึกษาลักษณะ และการทำงานของของจริงได้ง่ายขึ้น

12. ของตัวอย่าง (Specimens)เป็นสื่อสารนิเทศที่นำตัวแทนของสิ่งของกลุ่มหนึ่ง หรือประเภทหนึ่ง อาจเป็นส่วนใดของของจริงก็ได้ เพราะของจริงบางอย่างไม่สามารถนำมาแสดงได้ด้วย มีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือหาได้ยาก หรือมีราคาแพง เป็นต้น ของตัวอย่างจะช่วยให้ได้ ประสบการณ์ใกล้กับความจริงยิ่งขึ้น เช่น ตัวอย่างหิน แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น

หน้าสารบัญ