1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science
2 (2 - 0)
บริการค้นสารนิเทศระบบออนไลน์
(On-line Searching Services)
การให้บริการค้นสารนิเทศระบบออนไลน์ เป็นการนำเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์มาใช้กับงานบริการสารนิเทศ และได้พัฒนามาเป็นระบบออนไลน์
ซึ่งเป็นการค้นหาข้อมูลที่ให้ประโยชน์มหาศาลแก่งานบริการสารนิเทศของห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดมหาวิทยาลัย (จินดารัตน์ โกสุวรรณ 2530 : 11-12)
ทั้งนี้เพราะเป็นการค้นข้อมูลที่อำนวยความสะดวก แก่ผู้ต้องการใช้สารนิเทศโดยการค้นข้อมูลด้านบรรณานุกรมโดยใช้คอมพิวเตอร์
ช่วยให้มีรูปแบบของการติดต่อโดยตรง และมีการค้นที่ผู้ค้นค่อยๆ ปรับกลวิธีจนได้คำตอบที่ต้องการ คอมพิวเตอร์ที่ค้นจะติดต่อกับคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ห่างไกล
ซึ่งจะมีข้อมูลเก็บไว้ เรียกว่า ฐานข้อมูล (Database) ฐานข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่บันทึกด้วยสัญลักษณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในลักษณะของดรรชนี และสาระสังเขป
ผู้ค้นข้อมูลสามารถตรวจสอบสารบัญของฐานข้อมูล โดยผ่านโครงสร้างที่ได้ตกลงกันไว้ด้วยระบบการค้นคืนข้อมูล (Retrieval System) โดยใช้หัวเรื่อง (Subject
Descriptor) คำไข (Keyword) และตรรกวิทยา (Boolean Logic)
การค้นฐานข้อมูลหรือสารนิเทศออนไลน์เป็นระบบที่โต้ตอบกันได้และผู้ใช้สามารถปรับการค้นของตน ผู้ค้นจึงสามารถเปลี่ยน
หรือเรียกข้อมูลกลับได้ตรงจุดที่ต้องการได้ทันที เมื่อผู้ค้นพอใจข้อมูลที่ปรากฎอยู่บนจอก็สามารถสั่งให้เครื่องพิมพ์ พิมพ์ข้อมูลนั้นออกมาได้ทันที (Online)
หลังจากการค้นครั้งนั้นได้เสร็จสิ้นลง
สารนิเทศที่จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล มี 2 ประเภทใหญ่ ๆ (นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ 2526 : 22) คือ
- 1. ฐานข้อมูลด้านบรรณานุกรม (Bibliographic databases) เป็นสารนิเทศที่ให้รายละเอียดทางบรรณานุกรม อาจจะมีสาระสังเขปประกอบ
- 2. ฐานข้อมูลซึ่งให้สารนิเทศทางด้านตัวเลข สถิติต่าง ๆ เช่น ตัวเลขเกี่ยวกับการลงทุน ตลาดหุ้น เป็นต้น
การให้บริการค้นสารนิเทศระบบออนไลน์เป็นการขจัดปัญหาเรื่องข้อมูลสารนิเทศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนภูมิภาคของโลก
เพราะสามารถขอรับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ กัน (จินดารัตน์ โกสุวรรณ 2530 : 12-14) ดังต่อไปนี้ คือ
- 1. ความคล่องตัวในการให้บริการ ระบบออนไลน์จะช่วยให้บรรณารักษ์ค้นหาบรรณานุกรมและข้อมูลต่าง ๆ
ได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการมากที่สุดเพราะการใช้เทคนิคให้บรรณารักษ์สามารถนำแนวคิดต่าง ๆ มาเชื่อมติดต่อกัน ในการค้นเพียงครั้งเดียว
คำสั่งที่ใช้ในการค้นซึ่งแตกต่างกันไปตามฐานข้อมูลยังสามารถช่วยวางเงื่อนไขหรือคำจำกัดคำตอบ
ที่ได้จากการค้นหาข้อมูล ผู้ค้นสามารถทราบโดยทันทีว่าข้อมูลที่ได้ตรงกับความต้องการของตนหรือไม่เพียงไร ถ้าไม่ตรงก็สามารถ
เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะได้คำตอบเป็นที่พอใจ
- 2. ความรวดเร็วในการให้บริการ เมื่อจดภาพแสดงข้อมูลซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ค้นแล้ว ผู้ค้นสามารถสั่งให้เครื่องพิมพ์พิมพ์ ข้อมูลออกมาได้ทันที
(Online) หรือ อาจใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งโดยปกติจะส่งถึงผู้ค้นทางไปรษณีย์ โดยใชัเวลาเพียง 2-3 วัน
ตรงข้ามกับการค้นข้อมูลโดยใช้เครื่องค้นแบบเก่า ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์กว่าผลการค้นจะถึงมือผู้ใช้
- 3. ความครอบคลุมในขอบเขตของเนื้อหาที่ให้บริการ การใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ เป็นการขยายแหล่งข้อมูล ทำให้ผู้ค้นสามารถค้นหาสารนิเทศได้มากขึ้น
กล่าวคือสามารถค้นบทความจากวารสารที่มีในห้องสมุดอื่น ถ้าปราศจากดรรชนีของฐานข้อมูลในระบบออนไลน์ (Online Indexes) บทความเหล่านี้อาจค้นไม่พบ
ทั้งนี้เพราะวารสารหลายฉบับ ทำดรรชนีเฉพาะในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์เท่านั้น และแม้ว่าจะมีดรรชนีฉบับพิมพ์ออกมาก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน
เนื่องจากการจัดทำล่าช้า ดังนั้นดรรชนีในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์จึงมีความทันสมัยกว่า คุณลักษณะที่ดีในส่วนนี้ยังทำให้ห้องสมุด
ขนาดเล็กสามารถบริการผู้ใช้ให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารนิเทศ เช่นเดียวกับห้องสมุดขนาดใหญ่อีกด้วย
- 4. ความสะดวกในการติดตั้งเทอร์มินัล การติดตั้งเทอร์มินัลทำได้ทุกที่ที่มีปลั๊กเสียบไฟฟ้าและสายโทรศัพท์
บรรณารักษ์ผู้ค้นสารนิเทศสามารถใช้คอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลเวลาใดก็ได้ตามช่วงเวลาที่จัดไว้
- 5. ความประหยัด ระบบออนไลน์จะช่วยให้ห้องสมุดประหยัดงบประมาณ คือไม่จำเป็นต้องซื้อดรรชนีวารสาร เพราะข้อมูลนับพัน
ทั้งข้อมูลเฉพาะวิชาและข้อมูลทั่วไปมีอยู่ในฐานข้อมูล และไม่มีการปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ และห้องสมุดสามารถประหยัด
เนื้อที่ในการเก็บสิ่งพิมพ์ และยิ่งกว่านั้นบรรณารักษ์เองก็สามารถประหยัดเวลาและแรงงานที่ต้องใช้ในการสั่งซื้อ จัดหา ทำบัตรรายการ ลงทะเบียน นำขึ้นชั้น
ซ่อมหรือเย็บเล่มดรรชนีวารสารอีกด้วย
- 6. ความชำนาญของบรรณารักษ์บริการสารนิเทศ การใช้ระบบออนไลน์จะช่วย เพิ่มพูนทักษะความชำนาญของบรรณารักษ์ ในการค้นหา สารนิเทศ
เพราะความคล่องตัวและ ความรวดเร็วของการให้บริการ ทำให้บรรณารักษ์มีโอกาสฝึกและพัฒนาการค้น
สารนิเทศได้ดีกว่าการใช้คู่มือช่วยค้นจากสิ่งพิมพ์ ถึงแม้ว่าการให้บริการค้นสารนิเทศระบบออนไลน์ จะมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์
ต่อการให้บริการดังที่กล่าวมาแล้ว บรรณารักษ์หรือนักสารนิเทศควรได้พิจารณาถึงปัญหาต่างๆ ของการให้บริการระบบออนไลน์ด้วย เช่น
งบประมาณในการติดตั้งการให้บริการและผลกระทบอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะการค้นฐานข้อมูลต่าง ๆ มีการคิดอัตราบริการที่ค่อนข้างแพง มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา
ข้อจำกัดในการค้นเอกสารทั้งเล่ม เป็นต้น
หน้าสารบัญ