1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science

2 (2 - 0)

คำรำพึงของอาจารย์บรรณารักษ์

"คิด ๆ ดูแล้ว ผมว่าประเทศไทยของเราน่าจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าในปัจจุบันนี้" ปรีชารำพึงกับสมศักดิ์
"ทำไมคุณปรีชาคิดอย่างนั้น," สมศักดิ์ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยตอบ
"จากการอภิปรายหน้าชั้นเมื่อวานนี้ คุณสมศักดิ์ก็น่าจะทราบนะครับว่าไทยเรามีการ สนับสนุนการจัดตั้ง ห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 แต่ในปัจจุบัน กิจการของห้องสมุดประชาชนเกือบทุกจังหวัด อยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลาน," ปรีชาอธิบาย
"อํอ เข้าใจล่ะครับ คุณปรีชากำลังนึกถึงสภาพการเริ่มต้นการพัฒนาประเทศให้เป็นมหาอำนาจโดยการใช้ห้องสมุดประชาชน เหมือนกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยใช้ เมื่อ 200 ปีก่อนใช่ใหมครับ, สมศักดิ์กล่าวสรุป
"ครับ ผมกำลังนึกเปรียบเทียบอยู่นี่แหละครับ โลกเป็นหนี้บุญคุณของ วิชาการความรู้ ต่าง ๆ ของโลกโบราณ จากการอ่านบันทึก ข้อความเอกสารในสภาพต่างๆ เช่น แผ่นดินเหนียว, กระดาษปาไปรัส, แผ่นหนังแกะ..."
"จนกระทั่งมาเป็น กระดาษใช่ไหมครับ," สมศักดิ์รีบกล่าวสรุปให้
"ครับ คุณสมศักดิ์คงจำห้องสมุดในสมัยโบราณได้นะครับ ผมอุตส่าห์นำ ภาพมาแสดงให้ดูในชั้น," ปรีชาถามสมศักดิ์
"จำได้ซิครับ ผมชอบออก ห้องสมุดสมัยโบราณ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
    1. ห้องสมุดดินเหนียว
    2. ห้องสมุดปาไปรัส
    3. ห้องสมุดแผ่นหนัง
ผมชอบยุคสมัยเอกสาร ของชาวอียิปต์โบราณ," สมศักดิ์ตอบ
"ก็คุณชอบเรื่องลึกลับนี่ใช่ไหมครับ ผมเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่าม้วนกระดาษ ปาไปรัสบางม้วน เช่น Harris Papyrus I มีความยาวถึง 133 ฟุต ผมอยากรู้จักเลย ว่ามีข้อความอะไรบ้าง"
"นี่แหละเขาเรียกว่าเป็นบรรณารักษ์ที่ดี เพราะบรรณารักษ์อดไม่ได้ที่จะ ต้องเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเป็นความรู้," สมศักดิ์กล่าวดักคอ
"ไม่ต้องชมผมหรอก คุณเองก็ไม่ใช่ย่อย," ปรีชาโต้
"วิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาหนังสือ ผมเองไม่นึกว่าจะมาเรียนวิชานี้ เพราะผมชอบวิทยาศาสตร์ ไปๆมาๆ ก็มาเรียนกับคุณ," สมศักดิ์เอ่ยขึ้น," ห้องสมุดเป็นสถานที่เดียวที่ให้ความรู้ต่าง ๆ แก่ผมได้มาก"
"ผมเองก็เหมือนกัน แต่ผมชอบการอ่านหนังสืออยู่แล้วก็เลยยิ่งชอบใหญ่ เมื่อมาเรียนวิชาบรรณารักษศาสตร์ เมื่อกี้นี้ คุณสมศักดิ์ว่ายังไงนะครับ"
"ผมกำลังพูดถึงเรื่องห้องสมุดว่า ห้องสมุดคือ สถานที่รวบรวมสรรพวิทยาการ ต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือ วารสาร สิ่งพิมพ์อื่น ๆ ต้นฉบับตัวเขียน สมุดข่อย และ อุปกรณ์โสตทัศนวัสดุทุกชนิด ซึ่งมีวิธีการจัด และ บริหารงานเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ ห้องสมุดในทุกวิถีทาง และจะต้องมีบรรณารักษ์หรือนักสารนิเทศซึ่งได้รับการศึกษา มาแล้วเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ทราบว่าคุณปรีชาเห็นด้วยกับผมหรือไม่"
"เห็นด้วยซิครับ เพราะห้องสมุดทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ห้องสมุดประชาชน หอสมุดแห่งชาติ หรือ ห้องสมุดเฉพาะ ล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่ในการรวบรวมวัสดุห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ด้วยกัน ทั้งสิ้น," ปรีชาตอบ
"คุณปรีชาคิดเหมือนผมไหมครับว่า ห้องสมุดทั้ง 5 ประเภทนี้ ห้องสมุด ประชาชนมีสภาพที่น่าวิตกกว่าเพื่อน"
"ครับ ผมเห็นด้วย ประเทศไทยเรามีประวัติการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน มานานแล้ว แรกเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการจัดตั้งหอไตรภายในวัด เพื่อให้ ประชาชนได้อ่านคัมภีร์หรือตำรายา ครั้นพอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาสเป็นห้องสมุดประชาชนโดยการ รวบรวมวิชาการต่างๆ บันทึก และ จารึกไว้ตามเสาระเบียงและศาลา"
"ผมก็คิดว่ามันน่าอัศจรรย์เพราะยังไม่เคยมีใครคิดในการเผยแพร่ข่าวสารแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้สภาพห้องสมุดประชาชน ทำไมถึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรล่ะครับ"
"อาจจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนโดยตรง เรายังไม่มีกฏหมาย ห้องสมุดเพื่อสนับสนุนกิจการห้องสมุด วัตถุประสงค์ของห้องสมุดมี 5 ข้อ คือ
    1. เพื่อการศึกษา (Education)
    2. เพื่อให้ความรู้และข่าวสาร (Information)
    3. เพื่อการค้นคว้าวิจัย (Research)
    4. เพื่อความจรรโลงใจ (Inspiration)
    5. เพื่อนันทนาการ (Recreation)
ก็เลยไม่สามารถสนองตอบแก่ผู้ใช้ห้องสมุดได้อย่างแท้จริง เราก็เลย ต้องรอ รอจนกว่าผู้บริหารประเทศจะเข้าใจ และหาทางพัฒนาแหล่งวิชาการพื้นฐานให้ กับประชาชนต่อไป"

หน้าสารบัญ