1631101 ความรู้เบื้องต้นทางบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
Introduction to Library and Information Science
2 (2 - 0)
ความหมายของสารนิเทศและสารนิเทศศาสตร์
ความหมายของสารนิเทศ (Information)
คำในภาษาไทยที่มีความหมายว่า ข่าวสาร ข้อมูล วิชาการ แหล่งความรู้ เอกสาร ล้วนแล้วแต่แปลเกือบจะใกล้เคียงกัน บางคำอาจใช้แทนกันได้
บางครั้งก็อาจเกิดความสับสนว่า จะใช้คำไหนดี ในภาษาอังกฤษมีคำที่เรียกใช้อยู่คำหนึ่งซึ่งตรงกับสังคมยุคข่าวสาร คือ คำว่า Information
และเรียกวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Information ว่า Information Science
สมาคมห้องสมุดอเมริกันให้คำจำกัดความของคำว่า Information ว่า หมายถึง ความคิด ข้อเท็จจริง และผลงาน ที่เกิดขึ้นจากจิตใจทั้งหมด
ซึ่งมีวิธีกาาติดต่อสื่อสาร มี การจดบันทึกรวบรวม มีการตีพิมพ์เผยแพร่ หรือมีวิธีการแจกจ่ายทั้งอย่างเป็นทางการ และ ไม่เป็นทางการในทุกรูปแบบ
(Young 1983 : 117)
คำว่า "Information" ซึ่งบัญญัติความหมายโดย Prytherch (1987 : 381) สรุปได้ว่า คือ ข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการบันทึกบนกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ
และใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสาร และ Palmer (1987 : 6) ให้ความหมายที่สั้นกระทัดรัดว่า คือข้อมูลซึ่งใช้ในการตัดสินใจ
ส่วนคำในภาษาไทย แปลคำว่า Information คือ ข่าวสาร เรื่องราว ข้อความรู้ ข้อสนเทศ สารนิเทศ ความรู้ (อัมพร ทีขะระ 2528: 160) ราชบัญฑิตยสถาน
(2524 :37) บัญญัติศัพท์ว่า สารนิเทศ แต่ก็มีการใช้คำว่า สนเทศ ซึ่งให้หมายถึง คำสั่ง ข่าวสาร ใบบอก (ราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 768) ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว
ยังมีความหมายไม่ครอบคลุมถึงคำว่า information ในภาษาอังกฤษ
เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า " information" ในภาษาอังกฤษ และ "สารนิเทศ" ในภาษาไทย แล้ว นงลักษณ์ ไม่หน่ายกิจ (2526 : 115) ได้สรุปว่า หมายถึง
ข่าวข้อเท็จจริง ข้อมูล ตลอดจน ความรู้ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ทั้งในรูปของสิ่งตีพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ วัสดุย่อส่วน เทปโทรทัศน์ เทปแม่เหล็ก และจานแม่เหล็ก
เป็นต้น ข้อสนเทศ ซึ่งได้บันทึกไว้นี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่นำมาใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการ การวางแผน การศึกษาวิจัย การพัฒนาอาชีพ และอื่น ๆ
ของบุคคลในทุกวงการและทุกระดับห้องสมุดและ ศูนย์สารนิเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์และตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด
และทันกับเวลาที่ต้องการด้วย
คำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า information ได้แก่ คำว่า documentation และ documentalistics ซึ่งนิยม ใช้กันในศูนย์สารนิเทศประเทศตะวันตก
แต่ก็ยังมีความหมายไม่ครอบคลุมไปถึงความหมายของคำว่า information เพราะคำทั้งสองเน้นหนักไปทางความหมายของ "เอกสาร" จึงมีผู้บัญญัติคำว่า
information ซี่งเป็นคำใหม่ และ ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป (นวนิตย์ อินทรามะ 2518 : 67) โดยสรุป ตามความหมายที่กล่าวมาแล้ว information
จึงตรงกับคำว่า สารนิเทศ
ความหมายของสารนิเทศศาสตร์ (Information Science)
สารนิเทศศาสตร์ เป็นวิชาใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมข่าวสาร เป็นวิชาที่พัฒนามาจาก หลายสาขาวิชาการ
โดยเป็นสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายทอดสารนิเทศ มีรากฐานจากวิชาบรรณารักษศาสตร์มาตั้งแต่ 669-630 ก่อนคริสตกาล
และมีบทบาทมากยิ่ง ขึ้นในช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (Davis and Rush 1979 :3)
ความหมายของคำว่า information science ในระยะแรกเริ่ม มีขอบเขตอย่างกว้าง ๆ เช่น Horko (1968 : 3) ให้ความหมายว่า
คือวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวม การจัดองค์การ การถ่ายทอด และการใช้ประโยชน์จากสารนิเทศ
และเมื่อขอบเขตวิชาเกี่ยวข้องไปทางพัฒนาการเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ จึงมีการให้ความหมายให้เกี่ยวข้องกับสภาพการใช้สารนิเทศ
จึงเป็นวิชาที่ว่าด้วยการพัฒนาสารนิเทศ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อสารนิเทศทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนศิลปวิทยาการต่าง ๆ (University of
Chicago 1970 : 211)
คำจำกัดความที่สั้นของ information scicnce ได้แก่ "วิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับการจัดหา และประมวลผลข้อสารนิเทศ (Stokes 1986 : 127)
ซึ่งเน้นไปในทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่วิชานี้มีส่วนเข้าไป เกี่ยวข้อง และตรงกับความหมายที่ว่า
"เป็นวิชาการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนพัฒนาไปไกล ในเรื่องระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
ตลอดจนวิธีการศึกษาวิจัยและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสืบค้นสารนิเทศ (Svenonius and Witthus 1981 : 301)
สหพันธ์สากลแห่งสมาคมห้องสมุด (International Federation of Library Association) (1976: 212) ได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของ "information
science" ค่อนข้างครอบคลุมเนื้อหาวิชาดังต่อไปนี้
สารนิเทศศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษา คุณสมบัติ และพฤติกรรมของ สารนิเทศ การจัดการให้สารนิเทศมีการเลื่อนไหล
และการใช้ประโยชน์ในการประมวลผล สารนิเทศ สารนิเทศศาสตร์เกี่ยวข้องกับความรู้ที่สัมพันธ์กับสารนิเทศ ในเรื่องของการกำเนิด การรวบรวม
การจัดองค์การ การจัดเก็บ การสืบค้น การแปล การถ่ายทอด และการใช้ ประโยชน์ วิธีการดังกล่าว รวมถึงการเป็นตัวแทนของสารนิเทศ
ทั้งในระบบธรรมชาติและ ระบบอื่น ๆ เช่น การใช้สัญญลักษณ์ในการสื่อสารนิเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการใช้ คอมพิวเตอร์
ตลอดจนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้สารนิเทศศาสตร์ยังเป็น สหวิทยาการที่พัฒนามาจากวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ตรรกวิทยา
การวิจัยเชิงปฏิบัติ บรรณารักษศาสตร์ การจัดการ และวิชาอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
ในภาษาไทย คำว่า "information science" ตรงกับคำว่า สารนิเทศศาสตร์ มีความหมายว่า เป็นวิชาที่มีขอบเขตเกี่ยวกับ การจัดการทื่เกี่ยวข้องกับความรู้
ข่าวสาร ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากความรู้ หรือข่าวสารดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และเป็น ประโยชน์มากที่สุด
(จารุวรรณ สินธุโสภณ 2521 : 71) คำว่าสารนิเทศศาสตร์ อาจใช้คำว่า สนเทศศาสตร์ แทน แต่ในขณะนี้ส่วนใหญ่เรียกวิชา information science ว่า
สารนิเทศศาสตร์
หน้าสารบัญ