สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
รศ.จุมพจน์ วนิชกุล
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


คำนำ

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ
สังคมข่าวสาร

วัสดุสารสนเทศ

หนังสือและส่วนต่างๆ
ของหนังสือ

การจัดหมวดหมู่
สารสนเทศ

การค้นข้อมูลใน
สังคมสารสนเทศ

หนังสืออ้างอิง

การเขียนรายงาน
การศึกษา
และค้นคว้า

แบบฝึกหัด

เฉลยแบบฝึกหัด

บรรณานุกรม

โน้ตจากผู้สอน


Home

ความรู้เรื่องสังคมข่าวสาร

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป สังคมบนโลกกำลังเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากยุคที่ไม่มีความสลับซับซ้อนในอดีต กลายมาเป็น สังคมที่มีความวุ่นวายสับสน จากความเรียบง่าย กลายเป็นสังคมที่ไร้ระเบียบและยุ่งเหยิง เป็นสังคมที่คนในสังคมต้องยอมรับ และยอมอยู่ร่วมกัน สังคมนี้ได้แก่สังคมข่าวสาร (Information Society) ซึ่งทำให้โลกแคบลง การติดต่อสื่อสารเพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือสารนิเทศทำได้อย่างสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในมนุษยชาติ

ความรู้ในสังคมปัจจุบัน มีการบันทึกถ่ายทอดมาตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกตัวอักษร มี สถานที่จัดเก็บและให้บริการความรู้ คือ ห้องสมุด ซึ่งมีบรรณารักษ์เป็นผู้รับผิดชอบ ในการจัดดำเนินงานเกี่ยวกับความรู้ทั้งหมดที่จัดเก็บให้บริการข้อมูล ความรู้ทุกเรื่อง จึงหาได้จากห้องสมุด

ผู้ที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารได้ดีที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่บรรณารักษ์ หรือ นักสารนิเทศ ในศูนย์เอกสารต่าง ๆ บุคคลเหล่านี้ มีคุณสมบัติพิเศษ ที่ได้ศึกษาวิชาวรรณกรรมต่าง ๆ มาอย่างดี จึงรู้วิธีการที่จะหาคำตอบในทุก ๆ วิชาได้ ส่วนความละเอียดลึกซึ้ง จะเป็นหน้าที่ของ ผู้รับบริการ คือผู้ใช้ข้อมูล ว่าจะนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

จากเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้จนกระทั่งเรื่องที่มีคำตอบอย่างสมบูรณ์ บรรณารักษ์ และนักสารนิเทศจะมีวิธีการค้นหาข้อมูล อย่างเป็นระบบ ซึ่งถึงแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขา วิชาการนั้น ๆโดยตรงก็อาจคิดไม่ถึงว่า ทำไมจึงหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ วิธีการจัด ระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อค้นหาคำตอบ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่วิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ได้รับการพัฒนา ต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ในสังคมสมัยโบราณ การติดต่อสื่อสารเพื่อถ่ายทอดสารนิเทศซึ่งกันและกัน ใช้เวลานานมากกว่าจะได้ทราบเรื่องซึ่งกันและกัน ดังเช่นการเชิญพระราชสาส์นในสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้เวลาในการเชิญพระราชสาส์นจาก กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2229 จนกระทั่งไปถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2229 การเดินทางของสารนิเทศ คือพระราชสาส์นใช้เวลา เดินทางเกือบ 2 เดือนเต็มกว่าที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ได้ทอดพระเนตร เมื่อระบบโทรคมนาคมเข้ามาเกี่ยวข้องกับสารนิเทศ ความเปลี่ยนแปลงต่อการรับ สารนิเทศจึงเปลี่ยนแปลงไป จากเวลาหลายเดือนในการส่งของสารนิเทศและต้องใช้คน เดินทางไปกับสารนิเทศ กลายเป็นใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง ด้วยการส่งโทรเลข หรือโทรศัพท์โดย ไม่ต้องใช้คน และรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการปรับปรุงพัฒนาระบบโทรคมนาคม ดังตัวอย่างของเหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารนิเทศในชีวิตประจำวันของสังคมสารนิเทศใน ปัจจุบัน

ในขณะที่นักบริหารธุรกิจคนหนึ่งกำลังชมรายการโทรทัศน์ที่บ้าน พร้อมกับครอบครัว นักบริหารคนนั้นนึกได้ว่าจะต้องเดินทาง ไปทำธุรกิจร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ จากบริษัทอื่น ๆ และได้รับมอบหมายให้ดำเนินการขอรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง รายละเอียดเกี่ยว กับการเจรจาทำธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศฮ่องกง ในกรณีนี้โทรทัศน์จะมีบทบาทอย่างมากต่อ การได้ข่าวสารข้อมูล ต่าง ๆ โดยที่บ้านของนักบริหารผู้นั้นจะต้องมีการดำเนินการติดตั้ง อุปกรณ์สื่อข้อมูลบางชนิดเพิ่มเติม

กิจกรรมในการดำเนินหาข้อมูลภายในบ้าน เริ่มต้นจากการที่นักบริหารผู้นั้นกดรหัส โทรศัพท์เพื่อขอทราบรายละเอียดในการเดินทาง และหมุนสวิตซ์ต่อเข้ากับเครื่องรับ โทรทัศน์ ภาพจากจอจะปรากฏในไม่กี่วินาที โดยมีข้อความว่า

"...ขอขอบคุณที่สอบถามเรื่องการเดินทาง กรุณาแจ้งวัน เวลา จุดหมาย ปลายทาง และพาหนะที่ใช้เดินทาง รหัสของเมืองที่ท่านเดินทางไปอยู่ในสมุด คู่มือของท่านแล้วหรือสามารถดูได้ที่นี่โดยกดหมายเลข "3" ..."

นักบริหารผู้นั้นจะดำเนินการใส่ข้อมูลที่ได้แจ้งจากจอโทรทัศน์ เมื่อใส่ข้อมูลตามที่ต้องการแล้ว จะมีคำตอบจากโทรทัศน์ว่า

"...เที่ยวบินจากกรุงเทพถึงฮ่องกง สายการบินไทยเที่ยวบินที่ TG 631 เวลา 8.30 น. 15/3/89 กลับด้วยเครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 365 เวลา20.05 น. 16/3/89 ยืนยันจองตั๋วที่นั่ง พร้อมจองที่พักในโรงแรมต่าง ๆ ได้จากการกดหมายเลข "5" ภายใน 13/3/89 ..."

เมื่อนักธุรกิจได้ข้อมูลตามที่ต้องการแล้ว จะกดปุ่มโทรศัพท์ "เลิก" แล้วหมุนช่อง เครื่องรับโทรทัศน์ไปดูรายการอื่น ๆ ของสถานีโทรทัศน์ได้ตามปกติ

การใช้บริการสารนิเทศข้างต้น โดยการใช้โทรศัพท์ และเครื่องรับโทรทัศน์ ชนิดที่มีการติดตั้ง อุปกรณ์บางอย่าง เป็นวิธีการติดต่อ สารนิเทศที่ประชาชนทั่วไปสามารถดำเนินการได้ โดยการปรับ โทรทัศน์ และ โทรศัพท์ที่มีอยู่ให้เข้ากับระบบที่มีผู้ให้บริการข่าวสาร ผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ซึ่งเรียกว่า วิดีโอเท็กซ์(Video text) ดังเช่น ระบบเพรสเทล (Prestel) ที่ให้บริการอยู่ในประเทศอังกฤษ ขณะนี้ บริการนี้ใช้วิธีการให้บริการสารนิเทศ โดยการส่งข้อความมาตามสายถึงผู้ใช้ผ่าน เครื่องรับโทรทัศน์

เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคสังคมข่าวสารปัจจุบันสามารถสร้างสภาพแวดล้อม ให้ผู้ใช้งานได้ตามความต้องการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฟังเสียงเพลงจากแผ่นซีดีเพลง ชมรายการภาพยนตร์ที่จ้ดทำลงบนแผ่นซีดีภาพยนตร์ หรือการติดต่อทั่วโลก ในระบบเครือข่าย INTERNET ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้พร้อมกันทั่วโลก ไม่มีปัญหาและ อุปสรรคใดๆที่เกี่ยวข้อง กับระยะทางและกาลเวลาอีกต่อไป

พัฒนาการของสารนิเทศในยุคสังคมข่าวสารปัจจุบัน จึงดูเป็นเรื่องของอภินิหาร หรือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแต่ละช่วงของยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลง สภาพของสื่อสารนิเทศแต่ละชนิด ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสื่อไปในทำนองใด ความสำคัญของสารนิเทศยังคงเหมือนเดิม คือความสำคัญของผู้ที่ส่งสารนิเทศและผู้รับ สารนิเทศที่จะทราบเรื่องราวซึ่งกันและกัน เพื่อการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันนั่นเอง

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008