1544603 การสืบค้นข้อมูลภาษาไทย
(Thai Information Retrieval) 3(3-0-6)
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551
ผู้สอน รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ถนนกาญจนบุรี-ไทรโยค ต.หนองบัว อ.เมือง กาญจนบุรี 71000

***ความรู้คืออำนาจ เรียนและค้นคว้าให้สนุกในโลกของสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


คำอธิบายรายวิชา/
แนวการสอน
(Course
Overview)

สารบัญเนื้อหาวิชา

กิจกรรมการเรียน
การสอน

สื่อการสอน

การประเมินผล
(Evaluation)

ตำราประกอบ
การสอน
(Texts and
Materials)

แหล่งทรัพยากร
สารสนเทศอื่นๆ
(Other Useful
Resources)

แหล่งทรัพยากร
เกี่ยวกับ
Internet
(Resources
about the
Internet and
Its Tools)

ตำราและวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์
(On-Line
Journals and
Magazines)

แนะนำตัวผู้สอน

รายชื่อนักศึกษา

ผลงานของนักศึกษา

การสอบปลายภาค


Home

การจัดหมวดหมู่ระบบทศนิยมสากลของดิวอี้
กับสารสนเทศภาษาไทย
(Dewey Decimal Classification)

เมลวิล ดิวอี้ (Melvil Dewey) บรรณารักษ์ชาวอเมริกันเป็นผู้คิดระบบการจัดหมู่หนังสือแบบทศนิยมขึ้น ดิวอี้เป็นที่รู้จักกัน ทั่วโลกในวงการห้องสมุดและบรรรณารักษศาสตร์ เพราะนอกจากจะเป็นผู้คิดระบบการจัดหมู่แบบทศนิยมแล้ว ยังเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่ม ก่อตั้งสมาคมห้องสมุดอเมริกันซึ่งเป็นสมาคมอาชีพบรรณารักษ์แห่งแรกในโลก สมาคมนี้ได้มีการฉลองครบรอบร้อยปีของการจัดตั้ง เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1976 ยังเป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนบรรณารักษศาสตร์แห่งแรกขึ้น ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียนิวยอร์กเมื่อ ค.ศ. 1887 และได้ออกวารสาร Library Journal ซึ่งเป็นวารสารทางบรรณารักษศาสตร์ฉบับแรก

ดิวอี้เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1851 และถึงแก่กรรม วันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1931 ดิวอี้มีความสนใจงานห้องสมุดเป็นพิเศษ ในขณะที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยแอมเมอร์สต์ (Amherst College ) ในรัฐแมสซาจูเซท ได้สมัครเข้าทำงานห้องสมุดในวิทยาลัยนั้นใน ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์ดิวอี้ไปดูงานด้านการจัดหมู่หนังสือแบบทศนิยมขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1873 ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการห้องสมุดของวิทยาลัย และได้รับอนุมัติให้ใช้ในห้อง สมุดของวิทยาลัยนั้น (Elliott, 1981, pp. 666-671)

ดิวอี้เริ่มพิมพ์หนังสือการจัดหมวดหมู่ครั้งแรกของเขาโดยให้ชื่อว่า A Classification and Subject Index for Cataloguing and Arranging the Books and Pamphletts of a Library เมื่อปี ค.ศ. 1876 ซึ่งต่อมาได้รับการปรับปรุงนำไปใช้ในหลายประเทศ ฉบับพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1876 ประกอบไปด้วยตารางการจัดหมวดหมู่ 44 หน้า หมวดหมู่ใหญ่ ๆ ได้ดัดแปลงมาจากการจัดหมวดหมู่ ฮาร์ริส ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการจัดหมวดหมู่ของฟรานซิส เบคอน มาก่อน

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1971 ได้มีการจัดพิมพ์ตารางการจัดหมวดหมู่ระบบทศนิยมของดิวอี้ฉบับสมบูรณ์ รวมทั้งสิ้น 18 ครั้ง ฉบับย่อพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1894 ฉบับย่อเหมาะสำหรับใช้ในห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชนซึ่งมีจำนวนหนังสือ ไม่เกิน 20,000 ชื่อเรื่อง แผนการจัดหมู่ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 15 เมื่อปี ค.ศ. 1951 ถือได้ว่าเป็นฉบับพิมพ์มาตรฐาน โดยมี มิลตัน เจ เฟอร์กุสัน (Mitton J. Ferguson) เป็นบรรณาธิการ มีการปรับปรุงระบบทศนิยมของดิวอี้ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นมีการพิมพ์ออกเป็น 2 เล่ม คือ เล่มตาราง การจัดหมวดหมู่ และเล่มดรรชนีสัมพันธ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 16 ออกจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 1958 ได้มีการพิมพ์เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องฉบับที่ 15 มีเลขหมู่รวม 17,928 เลขหมู่ เหมาะสมกับห้องสมุดที่มีมากกว่า 200,000 เล่ม ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งที่ 17 พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1965 เป็นฉบับแก้ไขและขยายเพิ่มเติมของฉบับพิมพ์ครั้งที่ 16 มีเลขหมู่รวม 17,132 เลขหมู่ (Custer, 1972, pp.132-135) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 18 พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1971 มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมลักษณะบางอย่างให้เหมาะสมกับความต้องการของห้องสมุดในปัจจุบันให้ มากขึ้น ลักษณะพิเศษดังกล่าว คือการเพิ่มเลขหรือตารางย่อย 7 ตาราง และการจัดทำเลขหมู่ 340 กฎหมาย และ 510 คณิตศาสตร์ เสียใหม่เพื่อให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดได้แก่ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 19 เมื่อ ค.ศ. 1979 แบ่งออกเป็น 3 เล่ม มีความหนาถึง 1217 หน้า (Dewey, 1980) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 19 มีการปรับปรุงขอบเขตอย่างกว้างขวางและเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ในห้องสมุดเกือบทุกแห่ง (Batty, 1981, p.7) แสดงว่าวิทยาการในโลกนี้ได้เพิ่มพูนขึ้นอีกเป็นอันมาก และยังมีฉบับย่อสำหรับ ให้ห้องสมุดเล็ก ใช้และสำหรับนิสิต นักศึกษาบรรณารักษศาสตร์ใช้เป็นตำราเรียน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 11 เป็นฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด พิมพ์ในปีเดียวกับฉบับเต็ม หนังสือนี้ได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก

ในประเทศไทยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยได้จัดแปลและจัดพิมพ์ฉบับย่อซึ่งเป็นฉบับพิพม์ครั้งที่ 7 เป็นภาษาไทยไทยครั้งแรก ขณะนี้ได้ดำเนิน การจัดแปลฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10 เรียบร้อย ชื่อว่า แผนการจัดหมู่ระบบทศนิยมและดรรชนีสัมพันธ์ฉบับย่อ (สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, 2523, เล่ม 1) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน ที่จะใช้เป็นคู่มือในการให้เลขหมู่หนังสือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีรายงานการวิจัยเปิดเผยว่า มีห้องสมุดเกือบทุกประเภทรวมกัน ประมาณ กว่า 85 เปอร์เซนต์ ใช้ระบบทศนิยมของดิวอี้ทั่วประเทศ สหรัฐอเมริกาและ แคนาดา (Comaromi 1975 : 12) นอกจากนี้ตารางการจัดหมวดหมู่ยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศอื่น ๆ อีกมาก

ในประเทศอังกฤษได้มีการวิจัยว่า ในบรรดาห้องสมุด 940 แห่งที่ตอบแบบสอบถาม กล่าวว่า ใช้ระบบทศนิยมของดิวอี้ ในการจัดหมวดหมู่ 744 แห่ง แบ่งเป็นห้องสมุดประชาชน 441 แห่ง ห้องสมุดวิทยาลัย 265 แห่ง ห้องสมุดมหาวิทยาลัย 27 แห่ง และ ห้องสมุดอื่น ๆ 14 แห่ง (Bakewell, 1978, p.15)

ระบบทศนิยมของดิวอี้มีการแบ่งหมวดหมู่วิชาการออกเป็น 10 หมวด แต่ละหมวดใหญ่จะมีการแบ่งย่อยอีก 10 หมวด เช่นเดียวกับการแบ่งของหมวด 0-9 และจะเป็นตำแหน่งที่สองของเลขหมู่ เลข 0 ใช้สำหรับงานทั่ว ๆ ไปของวิทยาศาสตร์ประยุกต์ 61 หมายถึง แพทยศาสตร์ 62 วิศวกรรมศาสตร์และวิชาที่เกี่ยวข้องแต่ละหมวดย่อยจะมีเลข 0 อีก 1 หลักตามมา ดังนั้น 600 เป็นงานทั่ว ๆ ไปของหมวดหลัก 6 610 สำหรับแพทยศาสตร์ 620 สำหรับวิศวกรรมศาสตร์ และ 630 สำหรับเกษตรศาสตร์ เป็นต้น แต่ละหมวดย่อยจะมีการแบ่งอีก 10 หมู่ ให้เลข 0-9 เช่นกัน ตัวเลขนี้จะเป็นตำแหน่งที่สามของเลขหมู่ ดังนั้นเลขเติมช่องของเลขหมู่ แต่ละหมวดย่อยของตัวอย่างดังที่กล่าวมาจะเป็น 600-609, 610-619, 620-629, 630-639 ในเลขหมู่เหล่านี้ เลข 0 หมายถึง งานทั่ว ๆ ไปของหมวดย่อยทั้งหมด และ 1-9 ใช้สำหรับวิชาที่แบ่งย่อยออกไปอีกของหมวดย่อยต่าง ๆ ดังนั้น 630 จะเป็นเลขหมู่วิชาเกษตรศาสตร์ 631 เป็นเลขหมู่ ของพืชผล 632 สำหรับสิ่งที่ทำอันตรายพืช โรคพืช 633 ผลิตผลพืชเกษตร 636 สำหรับ สัตวบาล

ระบบการจัดหมู่นี้จะยอมให้มีการแบ่งเลขหมู่ย่อยออกไปมากกว่าอีกเท่าใดก็ได้ โดยการใช้เลขแบ่งหลังจุดทศนิยมตามที่ต้องการ แบ่งให้ละเอียดออกไป ดังนั้น 636 เลขหมู่ สำหรับสัตวบาล แบ่งได้เป็น 636.1 เรื่องของม้า 636.2 วัวควาย 636.3 แกะ และ การแบ่งย่อยลงไปในเรื่องของม้า อาจแบ่งได้เป็น 630.11 ม้าพันธุ์ตะวันออก 636.12 เชื้อสายพันธุ์ม้า 636.16 ลูกม้า เป็นต้น (Dewey 1980 : xxviii-xxix) ดังนั้นระบบทศนิยมของดิวอี้เป็นระบบที่สามารถเพิ่มเติมเนื้อหาวิชาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ลักษณะการจัดหมู่หนังสือระบบทศนิยมของดิวอี้

การจัดหมู่หนังสือใช้ตัวเลขเป็นสัญญลักษณ์แทนประเภทของหนังสือ มี 10 หมวดใหญ่ (Dewey, 1980, p.471) ดังต่อไปนี้ คือ

    000 เบ็ดเตล็ดหรือความรู้ทั่วไป
    100 ปรัชญา
    200 ศาสนา
    300 สังคมศาสตร์
    400 ภาษา
    500 วิทยาศาสตร์
    600 วิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือเทคโนโลยี
    700 ศิลปกรรมและการบันเทิง
    800 วรรณคดี
    900 ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การท่องเที่ยว ชีวประวัติ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้อง

การแบ่งหมวดใหญ่ทั้ง10หมวดนี้เป็นการแบ่งหมวดหมู่วิชาความรู้อย่างกว้างขวาง เรียกว่า การแบ่งครั้งที่ 1 (First Summary) เลขหมวดใหญ่ยังแบ่งออกเป็นครั้งที่ 2 (Second Summry) ได้อีกหมวดละ 10 หมู่ (Dewey, 1980, p. 472) ดังเช่น

หมวดใหญ่ 300 สังคมศาสตร์ แบ่งเป็น 10 หมู่ ดังนี้

    300 สังคมศาสตร์
    310 สถิติ
    320 รัฐศาสตร์
    330 เศรษฐศาสตร์
    340 กฎหมาย
    350 รัฐประศาสนศาสตร์
    360 สวัสดิการสังคม
    370 การศึกษา
    380 การพาณิชย์
    390 ขนบธรรมเนียมประเพณีและนิทานพื้นเมือง

นอกจากการแบ่งครั้งที่ 2 แล้ว แต่ละหมู่ใหญ่ยังแบ่งได้อีก 1 หมู่ย่อย เป็นการแบ่งครั้งที่ 3 (Third Summary) ดังตัวอย่าง (Dewey, 1980, p.476) ดังนี้ คือ
    370 การศึกษา
    371 โรงเรียน
    372 ประถมศึกษา
    373 มัธยมศึกษา
    374 การศึกษาผู้ใหญ่
    375 หลักสูตร
    376 การศึกษาสำหรับสตรี
    377 โรงเรียนกับศาสนา
    378 อุดมศึกษา
    379 การศึกษาและรัฐ

การแบ่งที่ละเอียดลงไปมากกว่านี้คือ การแบ่งสาขาวิชาให้ละเอียด โดยใช้จุดทศนิยม (Dewey, 1980, p. 513) ตัวอย่างเช่น
    371 โรงเรียน
    .1 การสอนและครู
    .2 วิธีสอนและวิธีศึกษา
    .3 วิธีสอนและวิธีศึกษา
      .32 หนังสือตำราเรียน
      .33 โสตทัศนวัสดุเพื่อการสอน

    .4 การแนะแนว
    .5 ระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน
    .6 อาคารเรียน
    .7 สุขวิทยาโรงเรียนและความปลอดภัย
    .8 นักเรียน
    .9 การศึกษาพิเศษ

 


Send comments to Chumpot@hotmail.com
Copyright © 2008
Revised:May 2008