บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
วิชา 1065106
มนุษยสัมพันธ์สำหรับผู้บริหาร
Human Relations for Administrators
ผู้สอน
รศ.ดร.จุมพจน์ วนิชกุล
***ความรู้คืออำนาจ เรียนให้สนุกในโลกแห่งสังคมข่าวสาร ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา***


แนวสังเขปรายวิชา

สารบัญ
เนื้อหาวิชา

กิจกรรม
การเรียนการสอน

สื่อการสอน

การประเมินผล

ตำราประกอบ
การสอน

แหล่งทรัพยากร
สารสนเทศ
ประกอบ
การเรียนการสอน

แหล่งทรัพยากร
เกี่ยวกับ Internet

ตำราและวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์

แนะนำผู้สอน


Home

ทฤษฎีการสื่อสารองค์การ / แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการของการบริหารองค์การ
รองศาสตราจารย์ ดร.รสชงพร โกมลเสวิน

ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงปลายศตวรรษที่ 19 การผลิตสินค้าต่าง ๆ เป็นการผลิตด้วยมือในครอบครัวหรือในโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งให้ผลผลิตจำนวนน้อยและมีราคาแพง โดยผู้ซึ่งสามารถซื้อสินค้าดังกล่าวได้มักจะเป็นชนชั้นสูงในสังคม ความต้องการสินค้าต่าง ๆ จึงมีมาก เมื่อมีการปฏิวัติอุสาหกรรมอันเป็นผลมาจากการที่เจมส์ วัตต์ ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ การผลิตสินค้าด้วยมือในครอบครัวหรือในโรงงานขนาดเล็กเปลี่ยนเป็นการผลิตด้วยเครื่องจักรในโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมได้จำนวนมหาศาลและตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางหรือต่ำกว่าได้เต็มที่ ในการนี้ การจัดการองค์การมีพัฒนาการอย่างกว้างขวางสอดคล้องกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมและสังคม นักทฤษฎีการจัดการองค์การจึงศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของการบริหารงานองค์การ ซึ่งนำไปสู่การศึกษาพัฒนาการของแนวคิดเกี่ยวกับการสื่อสารในองค์การเช่นกัน
การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้มีการนำเครื่องจักรมาช่วยในการผลิต โดยเจ้าของโรงงานต้องการผลิตสินค้าให้ได้มากที่สุดเพื่อป้อนตลาด ซึ่งในขณะนั้นมีความต้องการสินค้าในระดับสูง แนวคิดการบริหารองค์การในระยะนี้เรียกว่า แนวคิดแบบคลาสสิก (Classical Approaches) ซึ่งเปรียบการทำงานในองค์การเหมือนการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งแต่ละส่วนมีหน้าที่โดยเฉพาะของตนเองและทุกคนต้องทำงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แนวคิดการบริหารองค์การแบบนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างพนักงานภายในองค์การ โดยพิจารณาเห็นว่าพนักงานควรสื่อสารแต่เฉพาะเรื่องงานเพื่อที่จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสื่อสารส่วนใหญ่จะเป็นแบบแนวดิ่งจากบนลงล่าง แนวคิดนี้รวมถึงทฤษฎีการบริหารงานแบบคลาสสิกของฟาโยล การบริหารองค์การแบบระบบราชการของเวเบอร์ และทฤษฎีการบริหารงานเชิงวิทยาศาสตร์ของเทย์เลอร์
การปฏิบัติต่อพนักงานในองค์การเสมือนเป็นเครื่องจักรก่อให้เกิดความไม่พอใจและการต่อต้านจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จึงมีการพัฒนาแนวคิดในการบริหารองค์การในขั้วตรงกันข้ามคือ แนวคิดเชิงความสัมพันธ์ของมนุษย์ (Human Relations Approach) ซึ่งเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในองค์การเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานขององค์การดำเนินไปอย่างราบรื่น แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารในองค์การ โดยเห็นว่าการสื่อสารเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รูปแบบการสื่อสารนอกจากจะเป็นแนวดิ่งจากบนลงล่างแล้ว ยังเป็นแนวระนาบระหว่างพนักงานด้วย แนวคิดนี้รวมถึงการศึกษาของฮอว์ธอร์น ทฤษฎีลำดับขั้นของความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ ทฤษฎีปัจจัยภูมิคุ้มกันและจูงใจของเฮอร์ซ์เบิร์ก และทฤษฎีเอ๊กซ์และทฤษฎีวายของแม็คเกรเกอร์
แนวคิดประการต่อมาให้ความสำคัญต่อพนักงานในองค์การมากขึ้นโดยมองว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าขององค์การ แนวคิดนี้เรียกว่าแนวคิดเชิงทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Approaches) ในการนี้ องค์การมีบทบาทและหน้าที่ในการจัดรูปแบบและโครงสร้างขององค์การให้เหมาะสมในการพัฒนาพนักงาน และการสื่อสารในองค์การจะมีบทบาทช่วยให้พนักงานพัฒนาศักยภาพของตนเองในการทำงานเป็นกลุ่ม ในการนำเสนอความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการองค์การเพื่อให้พนักงานเกิดความพึงพอใจ รูปแบบการสื่อสารในแนวคิดนี้เกิดขึ้นได้ทุกทิศทางและทุกรูปแบบ แนวคิดนี้รวมถึงแนวคิดกรอบโครงในการบริหารของเบลคและมูตัน ระบบการบริหารของไลเคิร์ต แบบที่ 4 และทฤษฎี Z ของอูชิ
การบริหารองค์การได้พัฒนาขึ้นมาจนเป็นแนวทางร่วมสมัย (Contemporary Approach) ซึ่งมองการบริหารจัดการองค์การในเชิงบูรณาการ โดยมองว่าองค์การเป็นระบบใหญ่ซึ่งประกอบด้วยระบบย่อยต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน การเปลี่ยนแปลงในระบบย่อยหนึ่ง ๆ จะส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอื่น ๆ และระบบใหญ่ในที่สุด นอกจากนั้น องค์การยังมีวัฒนธรรมของตนเองซึ่งประกอบขึ้นมาจากวัฒนธรรมย่อยของพนักงานและระบบย่อยต่าง ๆ นอกจากนั้น แนวทางร่วมสมัยยังให้ความสำคัญกับการวิพากษ์โครงสร้างทางอำนาจขององค์การ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน แนวทางการบริหารองค์การแบบร่วมสมัยให้ความสำคัญกับการสื่อสารองค์การในระบบเครือข่ายว่าเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและสร้างอำนาจในองค์การ และการสื่อสารสามารถเกิดได้ทุกรูปแบบและทุกทิศทาง

 


Send comments to chumpot@hotmail.com
Copyright © 2011
Revised: July 2011