สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
WW1 TitlePicture For Wikipedia Article.jpg
'รูปภาพเรียงตามเข็มนาฬิกาเริ่มจากภาพบนสุด: การสงครามสนามเพลาะในแนวรบด้านตะวันตก; รถถังมาร์ค 4 ของอังกฤษกำลังเคลื่อนผ่านสนามเพลาะ; เอชเอ็มเอส อิรีซิสทิเบิล เรือรบหลวงแห่งราชนาวีอังกฤษกำลังอับปางหลังจากปะทะเข้ากับทุ่นระเบิด ในยุทธนาวีดาร์ดาเนลส์; ทหารอังกฤษในหน้ากากกันแก๊สกำลังคุมปืนกลวิคเกอร์ส และฝูงเครื่องบินปีกสองชั้นรุ่น อัลบาทรอส เด 3 ของเยอรมนี
วันที่ 28 กรกฎาคม]] ค.ศ. 1914 – 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 (การสงบศึก)
สถานที่ ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง หมู่เกาะแปซิฟิก จีน และนอกชายฝั่งอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
ผลลัพธ์ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ
คู่สงคราม
ฝ่ายสัมพันธมิตร:

ธงชาติของจักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิอังกฤษ
ธงชาติของฝรั่งเศส ฝรั่งเศส
ธงชาติของจักรวรรดิรัสเซีย รัสเซีย (1914-17)
ธงชาติของราชอาณาจักรอิตาลี (ค.ศ. 1861–1946) อิตาลี (1915-18)
Flag of the United States สหรัฐอเมริกา (1917-18)

ฝ่ายมหาอำนาจกลาง:

ธงชาติของจักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิเยอรมัน
ธงชาติของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
Ottoman flag จักรวรรดิออตโตมัน
ธงชาติของบัลแกเรีย บัลแกเรีย (1915-18)

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: World War I หรือ First World War) หรือที่มักเรียกว่า "สงครามโลก" หรือ "มหาสงคราม (Great War) ก่อน ค.ศ. 1939 เป็นสงครามใหญ่ที่มีศูนย์กลางในยุโรประหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ถึง 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ทุกประเทศมหาอำนาจของโลกเกี่ยวพันในสงคราม[1] ซึ่งแบ่งออกเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร (มีศูนย์กลางอยู่ที่ไตรภาคี ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย) และฝ่ายมหาอำนาจกลาง (มีศูนย์กลางอยู่ที่ไตรพันธมิตร ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการีและอิตาลี)[2] พันธมิตรทั้งสองมีการจัดระเบียบใหม่ และขยายตัวเมื่อมีชาติเข้าสู่สงครามมากขึ้น ท้ายสุด มีทหารกว่า 70 ล้านนาย ซึ่งเป็นทหารยุโรปเสีย 60 ล้านนาย ถูกระดมเข้าสู่สงครามใหญ่ที่สุดสงครามหนึ่งในประวัติศาสตร์นี้[3][4] สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังนับว่าเป็นความขัดแย้งวงกว้างภายในทวีปยุโรปครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามนโปเลียน[5] ทหารผู้เข้าร่วมรบเสียชีวิตเกิน 9 ล้านนาย สาเหตุหลักเพราะความร้ายแรงของพลังทำลายของอาวุธที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยไม่มีพัฒนาการในการคุ้มครองหรือความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ที่สอดคล้องกัน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นสงครามที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์อันดับที่หก[6] สงครามนี้เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย รวมกันไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน และกรุยทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายอย่าง เช่น การปฏิวัติในชาติที่เข้าร่วมรบ[7]

สาเหตุระยะยาวของสงครามรวมถึงนโยบายต่างประเทศแบบจักรวรรดินิยมของมหาอำนาจยุโรปทั้งหลาย อย่างจักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลี ส่วนการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 โดยกัฟรีโล ปรินซีป นักชาตินิยมยูโกสลาฟ เป็นชนวนเหตุใกล้ชิดของสงคราม ออสเตรีย-ฮังการีจึงยื่นคำขาดฮับสบูร์กต่อราชอาณาจักรเซอร์เบีย[8][9] พันธมิตรทั้งหลายซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อหลายทศวรรษก่อนถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ มหาอำนาจทั้งหลายจึงอยู่ในภาวะสงคราม และความขัดแย้งลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วผ่านอาณานิคมต่าง ๆ

วันที่ 28 กรกฎาคม ความขัดแย้งเปิดฉากขึ้นเมื่อออสเตรีย-ฮังการีรุกรานเซอร์เบีย[10][11] ตามด้วยการรุกรานเบลเยียม ลักเซมเบิร์กและฝรั่งเศสของเยอรมนี และการโจมตีเยอรมนีของรัสเซีย หลังการบุกโจมตีกรุงปารีสของเยอรมนีถูกหยุด แนวรบด้านตะวันตกก็เป็นการรบแห่งการสูญเสียที่อยู่กับที่ด้วยแนวสนามเพลาะซึ่งเปลี่ยนแปลงน้อยมากกระทั่ง ค.ศ. 1917 ในทางตะวันออก กองทัพรัสเซียสามารถเอาชนะกองทัพออสเตรีย-ฮังการี แต่ถูกกองทัพเยอรมันบีบให้ถอยกลับจากปรัสเซียตะวันออกและโปแลนด์ แนวรบใหม่ ๆ เปิดขึ้นเมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้าสู่สงครามใน ค.ศ. 1914 อิตาลีและบัลแกเรียใน ค.ศ. 1915 และโรมาเนียใน ค.ศ. 1916 จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายใน ค.ศ. 1917 และรัสเซียถอนตัวจากสงครามหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน หลังการรุกตามแนวรบด้านตะวันตกของเยอรมนีใน ค.ศ. 1918 กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามและกองทัพสัมพันธมิตรสามารถผลักดันกองทัพเยอรมันกลับไปหลังได้รับชัยชนะติดต่อกันหลายครั้ง เยอรมนี ซึ่งประสบปัญหากับนักปฏิวัติถึงขณะนี้ ได้ตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วันสงบศึก และชัยชนะตกเป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร

เมื่อสงครามยุติ รัฐจักรวรรดิใหญ่สี่รัฐ อันได้แก่ จักรวรดิเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและออตโตมัน พ่ายแพ้ทั้งทางการเมืองและทางทหารและได้สิ้นสภาพไป เยอรมนีและรัสเซียสูญเสียดินแดนไปมหาศาล ส่วนอีกสองรัฐที่เหลือนั้นล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง แผนที่ยุโรปกลางได้ถูกเขียนใหม่โดยมีประเทศขนาดเล็กเกิดใหม่หลายประเทศ[12] สันนิบาตชาติถูกก่อตั้งขึ้นด้วยหวังว่าจะป้องกันความขัดแย้งเช่นนี้มิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ลัทธิชาตินิยมยุโรปเกิดขึ้นหลังสงครามและการล่มสลายของจักรวรรดิทั้งหลาย ผลสะท้อนจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและปัญหากับสนธิสัญญาแวร์ซาย ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นปัจจัยซึ่งนำไปสู่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง[13]

เนื้อหา

[แก้] เบื้องหลัง

แผนที่แสดงประเทศผู้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง: ฝ่ายสัมพันธมิตรในสีเขียว, ฝ่ายมหาอำนาจกลางในสีส้ม และประเทศเป็นกลางในสีเทา

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาติมหาอำนาจยุโรปประสบปัญหากับการรักษาไว้ซึ่งสมดุลของอำนาจทั่วทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองและทหารอันซับซ้อนทั่วทั้งทวีปจนถึง ค.ศ. 1900[2] พันธมิตรเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1815 ด้วยพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างปรัสเซีย รัสเซียและออสเตรีย จากนั้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1873 นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออตโต ฟอน บิสมาร์ก เจรจาตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิระหว่างพระมหากษัตริย์ของออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและเยอรมนี ความตกลงดังกล่าวล้มเหลวเพราะออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซียไม่สามารถตกลงกันได้ในนโยบายเหนือคาบสมุทรบอลข่าน ทิ้งให้เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีจัดตั้งพันธมิตรกันสองประเทศใน ค.ศ. 1879 เรียกว่า ทวิพันธมิตร ซึ่งถูกมองว่าเป็นวิธีการตอบโต้อิทธิพลของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่านเมื่อจักรวรรดิออตโตมันอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง[2] ใน ค.ศ. 1882 พันธมิตรนี้ขยายรวมไปถึงอิตาลีและเกิดเป็นไตรพันธมิตร[14]

หลัง ค.ศ. 1870 ความขัดแย้งในยุโรปเบี่ยงเบนไปส่วนใหญ่ผ่านเครือข่ายสนธิสัญญาที่มีการวางแผนไว้อย่างระมัดระวังระหว่างจักรวรรดิเยอรมันกับประเทศที่เหลือในยุโรปด้วยฝีมือของนายกรัฐมนตรีบิสมาร์ค เขาเน้นการทำงานเพื่อยึดรัสเซียให้อยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามสองแนวรบกับฝรั่งเศสและรัสเซีย เมื่อจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเยอรมนี (ไกเซอร์) พันธมิตรของบิสมาร์คค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลง เช่น จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงปฏิเสธจะต่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีกับรัสเซียใน ค.ศ. 1890 อีกสองปีต่อมา มีการลงนามจัดตั้งพันธมิตรฝรั่งเศส-รัสเซียเพื่อตอบโต้อำนาจของไตรพันธมิตร ใน ค.ศ. 1904 สหราชอาณาจักรประทับตราเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ซึ่งเรียกว่า ความตกลงฉันทไมตรี และใน ค.ศ. 1907 สหราชอาณาจักรและรัสเซียลงนามในอนุสัญญาอังกฤษ-รัสเซีย ระบบนี้ประสานความตกลงทวิภาคีและก่อตั้งไตรภาคี[2]

เอชเอ็มเอส ดรีตนอท การแข่งขันทางอาวุธกองทัพเรือเกิดขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรกับเยอรมนี

อำนาจทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตขึ้นอย่างมากหลังการรวมชาติและการสถาปนาจักรวรรดิใน ค.ศ. 1870 นับตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา รัฐบาลของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ได้ใช้ฐานนี้ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมันขนานใหญ่ จัดตั้งขึ้นโดยพลเรือเอกอัลเฟรด ฟอน ทีร์พิทซ์ แข่งขันกับกองทัพเรืออังกฤษเพื่อชิงความเป็นเจ้านาวิกโลก[15] ผลที่ตามมาคือ ทั้งสองชาติต่างพยายามแข่งขันผลิตเรือรบขนาดใหญ่ระหว่างกัน ด้วยการปล่อยเอชเอ็มเอส ดรีดนอท ใน ค.ศ. 1906 จักรวรรดิอังกฤษได้ขยายความได้เปรียบเหนือเยอรมนีคู่แข่งอย่างสำคัญ[15] การแข่งขันอาวุธระหว่างอังกฤษและเยอรมนีได้ลุกลามไปยังส่วนที่เหลือของยุโรปในที่สุด โดยประเทศมหาอำนาจทั้งหมดทุ่มเทฐานอุตสาหกรรมของตนในการผลิตยุทโธปกรณ์และอาวุธที่จำเป็นสำหรับความขัดแย้งทั่วทวีปยุโรป[16] ระหว่าง ค.ศ. 1908 และ 1913 ค่าใช้จ่ายด้านการทหารของประเทศในยุโรปเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซนต์[17]

กัฟรีโล ปรินซีปถูกจับกุมทันทีหลังลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกเฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย

ออสเตรีย-ฮังการีจุดชนวนเร่งให้เกิดวิกฤตการณ์บอสเนีย ค.ศ. 1908-1909 โดยการผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งเป็นอดีตดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างเป็นทางการ หลังได้ยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1878 สร้างความโกรธแค้นแก่ราชอาณาจักรเซอร์เบียและประเทศผู้ให้การสนับสนุน คือ จักรวรรดิรัสเซียซึ่งมีแนวคิดรวมชาติสลาฟ[18] การดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองของรัสเซียในภูมิภาคบั่นทอนเสถียรภาพของสันติภาพควบคู่ไปกับความแตกร้าวที่เกิดขึ้นแล้วในสิ่งที่เป็นที่รู้จักกันว่า "ถังดินปืนแห่งยุโรป"[18]

ใน ค.ศ. 1912 และ 1913 สงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่งสู้รบกันระหว่างสันนิบาตบอลข่านและจักรวรรดิออตโตมันที่เสื่อมอำนาจลง สนธิสัญญาลอนดอนอันเป็นผลของสงครามได้ลดขนาดของจักรวรรดิออตโตมันไปอีก สถาปนาอัลเบเนียเป็นรัฐเอกราช ขณะที่เพิ่มดินแดนให้แก่บัลแกเรีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกรและกรีซ เมื่อบัลแกเรียโจมตีเซอร์เบียและกรีซเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1913 บัลแกเรียก็เสียมาซิโดเนียส่วนใหญ่ให้แก่เซอร์เบียและกรีซ และเสียเซาเทิร์นดอบรูจาให้แก่โรมาเนียในสงครามบอลข่านครั้งที่สองนาน 33 วัน ซึ่งยิ่งบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคขึ้นไปอีก[19]

วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 กัฟรีโล ปรินซีป นักศึกษาชาวบอสเนียเซิร์บและสมาชิกบอสเนียหนุ่ม ลอบปลงพระชนม์รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย ในซาราเยโว บอสเนีย[20] อันเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินกลยุทธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศสและอังกฤษ เรียกว่า วิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม โดยต้องการยุติการเข้าแทรกแซงของเซอร์เบียในบอสเนีย ออสเตรีย-ฮังการีจึงยื่นคำขาดเดือนกรกฎาคมแก่เซอร์เบีย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสิบประการซึ่งมีเจตนาทำให้ยอมรับไม่ได้ และเจตนาจุดชนวนสงครามกับเซอร์เบีย[21] เมื่อเซอร์เบียยอมตกลงในข้อเรียกร้องเพียงแปดจากสิบข้อ ออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914

จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งไม่ต้องการปล่อยให้ออสเตรีย-ฮังการีกำจัดอิทธิพลของตนในบอลข่าน และเพื่อให้การสนับสนุนชาวเซิร์บที่อยู่ในความคุ้มครองเป็นเวลานานแล้ว จึงออกคำสั่งระดมพลบางส่วนในวันต่อมา[14] เมื่อจักรวรรดิเยอรมันเริ่มระดมพลเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ฝรั่งเศส ซึ่งโกรธแค้นจากการยึดครองอัลซาซ-ลอแรนของเยอรมนีระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย จึงสั่งระดมพลเช่นกันเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เยอรมนีประกาศสงครามต่อรัสเซียในวันเดียวกัน[22] สหราชอาณาจักรประกาศสงครามต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 หลัง "คำตอบซึ่งไม่น่าพอใจ" ต่อคำขาดของอังกฤษที่เรียกร้องให้เคารพความเป็นกลางของเบลเยียม[23]

[แก้] เส้นทางของสงคราม

[แก้] การเปิดความเป็นศัตรูกัน

[แก้] ความสับสนภายในฝ่ายมหาอำนาจกลาง

ยุทธศาสตร์ของฝ่ายมหาอำนาจกลางเสียหายเพราะความผิดพลาดในการติดต่อสื่อสารกัน เยอรมนีให้คำมั่นสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีในการรุกรานเซอร์เบีย แต่ได้มีการตีความความหมายนี้ผิดไป แผนการจัดวางกำลังซึ่งเคยทดสอบมาแล้วในอดีตถูกเปลี่ยนใหม่ในต้น ค.ศ. 1914 แต่ยังไม่เคยทดสอบในทางปฏิบัติ ผู้นำออสเตรีย-ฮังการีเชื่อว่าเยอรมนีจะป้องกันปีกด้านทิศเหนือที่ติดกับรัสเซีย[24] อย่างไรก็ตาม เยอรมนีซึ่งเห็นว่าออสเตรีย-ฮังการีมุ่งส่งกำลังทหารส่วนใหญ่ต่อสู้กับรัสเซีย ขณะที่เยอรมนีจัดการกับฝรั่งเศส ความสับสนนี้ทำให้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีต้องแบ่งกำลังเพื่อไปประจำทั้งแนวรบรัสเซียและเซอร์เบีย

[แก้] การทัพแอฟริกา

การปะทะกันครั้งแรก ๆ ของสงครามเกิดขึ้นในกองทัพอาณานิคมอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนีในแอฟริกา วันที่ 7 สิงหาคม กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษรุกรานโตโกแลนด์ อันเป็นดินแดนในอารักขาของเยอรมนี วันที่ 10 สิงหาคม กองทัพเยอรมันในแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้โจมตีแอฟริกาใต้ การต่อสู้ประปรายและป่าเถื่อนดำเนินต่อไปกระทั่งสงครามสิ้นสุด กองทัพอาณานิคมเยอรมันในแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนี นำโดยพันเอก พอล เอมิล ฟอน เลทโท-วอร์เบค สู้รบในการทัพสงครามกองโจรระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและยอมจำนนสองสัปดาห์หลังสัญญาสงบศึกมีผลใช้บังคับในยุโรป[25]

[แก้] การทัพเซอร์เบีย

ทหารเซอร์เบียขณะข้ามแม่น้ำคาลูบาราระหว่างการรบ

กองทัพเซอร์เบียสู้รบในยุทธการเซอร์กับออสเตรีย-ฮังการีฝ่ายรุกราน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม โดยยึดตำแหน่งป้องกันตามด้านใต้ของแม่น้ำดรินาและซาวา อีกสองสัปดาห์ถัดมา การโจมตีของออสเตรียถูกตีโต้ตอบกลับไปโดยประสบความสูญเสียอย่างหนัก นับเป็นชัยชนะสำคัญครั้งแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามและทำลายความหวังของออสเตรีย-ฮังการีที่จะได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว ผลคือ ออสเตรียจำต้องรักษากำลังขนาดใหญ่พอสมควรบนแนวรบเซอร์เบีย พร้อมกับลดทหารด้านรัสเซียลง[26]

[แก้] กองทัพเยอรมันในเบลเยียมและฝรั่งเศส

ทหารเยอรมันในตู้รถไฟขนสินค้าขณะไปยังแนวหน้าใน ค.ศ. 1914 ข้อความบนตู้เขียนว่า "ทริปไปปารีส" ในช่วงต้นของสงครามคาดกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะกินเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้น กองทัพเยอรมัน อันประกอบด้วยเจ็ดกองทัพสนามในด้านตะวันตก เริ่มดำเนินการตามแผนชลีฟเฟินแบบปรับปรุง ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีฝรั่งเศสอย่างรวดเร็วผ่านดินแดนประเทศเบลเยียมที่เป็นกลาง ก่อนจะเลี้ยวลงไปทางใต้เพื่อโอบล้อมกองทัพฝรั่งเศสตามพรมแดนเยอรมนี[8] แผนการดังกล่าวกำหนดให้ปีกขวาตีมาบรรจบกันที่กรุงปารีส ซึ่งเยอรมนีประสบความสำเร็จในช่วงแรก จนถึงวันที่ 12 กันยายน ฝรั่งเศสด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพอังกฤษหยุดยั้งการรุกของฝ่ายเยอรมนีได้ทางตะวันออกของกรุงปารีสที่ยุทธการมาร์นครั้งที่หนึ่ง (5-12 กันยายน) วันท้าย ๆ ของยุทธการนี้นำจุดจบมาสู่สงครามจรในด้านตะวันตก[8] การรุกเข้าไปในเยอรมนีของฝรั่งเศสซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ด้วยยุทธการมุลลูส ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย

ส่วนในทางตะวันออก มีเพียงหนึ่งกองทัพสนามเท่านั้นที่ป้องกันปรัสเซียตะวันออก และเมื่อรัสเซียโจมตีพื้นท่ดังกล่าว ทำให้เยอรมนีต้องแบ่งกำลังที่เดิมตั้งใจจะส่งไปรบในแนวรบด้านตะวันตกมาป้องกัน เยอรมนีเอาชนะรัสเซียในการรบหลายครั้งซึ่งรวมรู้จักกันในชื่อ ยุทธการทันเนนแบร์กครั้งที่หนึ่ง (17 สิงหาคม - 2 กันยายน) แต่การแบ่งกำลังดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาความเร็วที่ไม่เพียงพอจากจุดสิ้นสุดทางรถไฟซึ่งเสนาธิการทหารเยอรมันไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ฝ่ายมหาอำนาจกลางไม่ได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วและถูกบีบให้ทำสงครามสองแนวรบ เยอรมนีสู้รบตามรายทางไปจนถึงจุดป้องกันที่ดีในประเทศฝรั่งเศสและทำให้ทหารฝรั่งเศสและอังกฤษเสียชีวิตรวมกันมากกว่าทหารเยอรมันถึง 230,000 นาย แต่แม้ว่าจะประสบความสำเร็จดังนี้แล้วก็ตาม ปัญหาการสื่อสารและการตัดสินใจบัญชาการที่ไม่แน่นอนทำให้เยอรมนีเสียโอกาสที่จะคว้าชัยชนะอย่างรวดเร็ว[27]

[แก้] เอเชียและแปซิฟิก

นิวซีแลนด์ยึดครองเยอรมันซามัว (ภายหลังชื่อ ซามัวตะวันตก) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม วันที่ 11 กันยายน กองทัพรบนอกประเทศทหารและนาวิกออสเตรเลียยกพลขึ้นบกบนเกาะนอยพอมแมร์น (ภายหลังชื่อ นิวบริเตน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันนิวกินี เยอรมนียึดครองอาณานิคมไมโครนีเซียของเยอรมนี และหลังจากการล้อมชิงเต่า เมืองท่าถ่านหินของเยอรมนีในคาบสมุทรชานตงของจีน ภายในไม่กี่เดือน กองทัพสัมพันธมิตรได้ยึดครองดินแดนเยอรมนีทั้งหมดในแปซิฟิก มีเพียงผู้เข้าปล้นการค้าที่โดเดียวและดินแดนส่วนน้อยในนิวกินีที่ยังเหลืออยู่[28][29]

[แก้] สงครามขั้นต้น

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งส่วนใหญ่ ทั้งสองฝ่ายหยุดประจัญหน้ากันในการสงครามสนามเพลาะตลอดแนวรบด้านตะวันตก

ยุทธวิธีทางทหารที่ใช้กันช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งล้าหลังกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอยู่มากนัก ความก้าวหน้าเหล่านี้ทำให้สามารถพัฒนาระบบป้องกันอันน่าทึ่ง ซึ่งยุทธวิธีทางทหารอันล้าสมัยไม่สามารถเจาะทะลวงได้ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของสงคราม ลวดหนามเป็นเครื่องกีดขวางสำคัญในการยับยั้งคลื่นมนุษย์ทหารราบ ปืนใหญ่ ซึ่งมีประสิทธิภาพร้ายแรงถึงตายกว่าในคริสต์ทศวรรษ 1870 เมื่อใช้ร่วมกับปืนกลแล้ว ทำให้การเคลื่อนทัพผ่านพื้นที่เปิดนั้นเป็นไปได้ยากยิ่ง[30] ฝ่ายเยอรมนีเริ่มใช้แก๊สพิษ ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายได้นำมาใช้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าแก๊สพิษจะไม่เคยถูกพิสูจน์ว่าเป็นปัจจัยเด็ดขาดในการเอาชนะศึก แต่ผลกระทบของแก๊สพิษนั้นโหดร้าย ทำให้ผู้ได้รับแก๊สเสียชีวิตอย่างช้า ๆ และทรมาน และแก๊สพิษได้กลายมาเป็นความน่าสะพรึงกลัวที่เป็นที่หวาดกลัวกันและเป็นที่จดจำดีที่สุดของสงคราม ผู้บัญชาการทั้งสองฝ่ายล้มเหลวที่จะพัฒนายุทธวิธีเจาะที่ตั้งสนามเพลาะโดยไม่ประสบความสูญเสียอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง เทคโนโลยีเริ่มผลิตอาวุธเพื่อการรุกแบบใหม่ อย่างเช่น รถถัง[31] อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้ใช้หลัก และเยอรมนีวางกำลังรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยึดมาได้และรถถังที่ตนออกแบบเองอีกจำนวนหนึ่ง ภายหลังยุทธการมาร์นครั้งที่หนึ่ง ทั้งฝ่ายไตรภาคีและเยอรมนีเริ่มอุบายการตีโอบปีกของกองทัพฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเรียกกันว่า "การแข่งขันสู่ทะเล" อังกฤษและฝรั่งเศสพบว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับกองทัพเยอรมันในสนามเพลาะเป็นแนวยาวตั้งแต่แคว้นลอร์เรนของฝรั่งเศสไปจนถึงชายฝั่งเบลเยียม[8] อังกฤษและฝรั่งเศสพยายามจะเป็นฝ่ายริเริ่มบุกก่อน ขณะที่เยอรมนีตั้งรับอย่างเข้มแข็งในดินแดนยึดครอง ผลที่สุดคือ สนามเพลาะเยอรมันถูกสร้างขึ้นดีกว่าสนามเพลาะของฝ่ายตรงข้ามมาก ขณะที่สนามเพลาะของอังกฤษ-ฝรั่งเศสมีเจตนาจะใช้เป็นแนวชั่วคราวก่อนที่กองทัพจะตีผ่านแนวป้องกันของเยอรมนีเท่านั้น[32] ทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามทำลายสถานการณ์คุมเชิงกันอยู่ด้วยการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มากขึ้น วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1915 ในยุทธการอีแปรครั้งที่สอง ฝ่ายเยอรมนีใช้แก๊สคลอรีนเป็นครั้งแรกบนแนวรบด้านตะวันตก อันเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเฮก กองทัพอัลจีเรียถอยทัพเมื่อถูกรมแก๊สและเปิดช่องว่างขนาดหกกิโลเมตรในแนวรบสัมพันธมิตรซึ่งฝ่ายเยอรมนีเข้ายึดครองอย่างรวดเร็ว กองทัพแคนาดาสามารถอุดรอยแตกดังกล่าวได้ในยุทธการครั้งเดียวกัน[33] และในยุทธการอีแปรครั้งที่สาม กองทัพแคนาดาและแอนแซ็กได้ยึดครองหมู่บ้านพาสเชลเดล

ทหารไอร์แลนด์ในสนามเพลาะสื่อสารในวันแรกของยุทธการแม่น้ำซอมม์ วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1916

วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 เป็นวันที่กองทัพอังกฤษสูญเสียกำลังพลไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ สูญเสียรวม 57,470 นาย รวมทั้งเสียชีวิต 19,240 นาย ในวันแรกของยุทธการแม่น้ำซอมม์ ความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชั่วโมงแรกของการโจมตี การรุกซอมม์ทำให้กองทัพอังกฤษสูญเสียทหารไปทั้งสิ้นเกือบครึ่งล้านนาย[34]

ทั้งสองฝ่ายนั้นพิสูจน์แล้วว่าไม่อาจตัดสินผลชี้ขาดเป็นเวลากว่าสองปี แม้ว่าการปฏิบัติยืดเยื้อของเยอรมนีที่ป้อมแวร์เดิงตลอด ค.ศ. 1916[35] ประกอบกับการนองเลือดที่แม่น้ำซอมม์ ทำให้กองทัพฝรั่งเศสที่เหนื่อยล้าใกล้ล่มสลายเต็มที ความพยายามอันไร้ผลในการโจมตีทางด้านหน้าทำให้กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสสูญเสียกำลังพลไปสูงลิบ และนำไปสู่การขัดคำสั่งอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการรุกเนวิลล์[36]

ทหารแคนาดาเดินตามหลังรถถังมาร์ก 2 ของอังกฤษ ระหว่างยุทธการเนินวิมี

ตลอด ค.ศ. 1915-1917 จักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสประสบความสูญเสียหนักกว่ากองทัพเยอรมันมากนัก จากสถานะทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ทั้งสองฝ่ายเลือก ซึ่งในทางยุทธศาสตร์ ขณะที่ฝ่ายเยอรมันโจมตีหลักเพียงครั้งเดียวที่แวร์เดิง ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับโจมตีผ่านแนวของฝ่ายเยอรมันหลายครั้ง ในทางยุทธวิธี หลักการ "การป้องกันยืดหยุ่น" ของผู้บัญชาการเยอรมนี อีริช ลูเดนดอร์ฟ เหมาะสมกับการสงครามสนามเพลาะ การป้องกันแบบนี้มีที่มั่นด้านเบาบาง ส่วนที่ตั้งหลักนั้นอยู่ห่างออกไปพ้นพิสัยปืนใหญ่ ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตีโต้ตอบอย่างฉับพลันและทรงพลัง[37][38]

ณ ช่วงใดช่วงหนึ่ง มีทหารจากอังกฤษและเครือจักรภพประจำอยู่ที่แนวรบด้านตะวันตกราว 1.1 ถึง 1.2 ล้านนายตลอดเวลา[39] ทหารกว่าหนึ่งพันกองพัน ครอบครองพื้นที่เป็นแนวยาวจากทะเลเหนือจนถึงแม่น้ำออร์น และใช้ระบบหมุนเวียนสี่ขั้นนานหนึ่งเดือน เว้นแต่ขณะอยู่ระหว่างการโจมตี แนวรบนั้นเป็นแนวสนามเพลาะยาวกว่า 9.600 กิโลเมตร แต่ละกองพันจะประจำอยู่ในพื้นที่เป็นเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะถูกส่งกลับไปยังเส้นทางส่งกำลังบำรุงและจากนั้นถอยกลับไปยังแนวสนับสนุนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนเปลี่ยนเวน ซึ่งใช้กันมากในเขตโพเพริงและอแมนส์ของเบลเยียม

ในยุทธการแอเรซ ค.ศ. 1917 ความสำเร็จทางทหารสำคัญของอังกฤษเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ สามารถยึดเนินวีมีได้โดยกองทัพแคนาดาภายใต้การบังคับบัญชาของเซอร์อาเธอร์ คูรี และจูเลียน บียง ฝ่ายโจมตีสามารถรุกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จากนั้นก็ทำการเสริมกำลังได้อย่างรวดเร็วและยึดครองสันเขาซึ่งป้องกันที่ราบบูไอ ซึ่งอุดมไปด้วยถ่านหิน[40][41]

[แก้] สงครามทางทะเล

กองเรือรบประจัญบานแห่งกองเรือทะเลหลวงในมหาสมุทรแอตแลนติก

เมื่อสงครามเริ่มต้น จักรวรรดิเยอรมันมีเรือลาดตระเวนกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งเรือบางลำในจำนวนนี้ได้ถูกใช้โจมตีการเดินเรือพาณิชย์ฝ่ายสัมพันธมิตรต่อมา ฝ่ายราชนาวีอังกฤษได้พยายามตามล่าเรือรบเหล่านี้อย่างเป็นระบบ แต่ก็ยังอับอายจากความไร้ความสามารถในการคุ้มครองการเดินเรือฝ่ายสัมพันธมิตร ตัวอย่างเช่น เรือลาดตระเวนเบาเยอรมนี เอสเอ็มเอส เอมเดน อันเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือเอเชียตะวันออก ประจำการอยู่ในเมืองท่าชิงเตา ได้ยึดหรือทำลายเรือพ่อค้า 15 ลำ ตลอดจนเรือลาดตระเวนเบารัสเซียและเรือพิฆาตฝรั่งเศสอย่างละลำด้วย อย่างไรก็ตาม กองเรือเอเชียตะวันออกของเยอรมนีส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะสองลำ เรือลาดตระเวนเบาสองลำ และเรือขนส่งสองลำ ไม่ได้รับคำสั่งให้โจมตีการเดินเรือแต่อย่างใด และกำลังอยู่ระหว่างแล่นกลับเยอรมนีเมื่อกองเรือเผชิญกับเรือรบฝรั่งเศส กองเรือเยอรมัน พร้อมด้วยเรือเดรสเดน จมเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะได้สองลำในยุทธนาวีโคโรเนล หากกองเรือดังกล่าวเกือบถูกทำลายสิ้นที่ยุทธนาวีหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 โดยมีเพียงเรือเดรสเดนและเรือเล็กอีกไม่กี่ลำเท่านั้นที่สามารถหลบหนีไปได้[42]

หลังสงครามปะทุไม่นาน อังกฤษก็ได้ทำการปิดล้อมทางทะเลต่อเยอรมนี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เห็นผลแล้วว่ามีประสิทธิภาพ โดยการปิดล้อมได้ตัดเสบียงของทั้งทหารและพลเรือนที่สำคัญของเยอรมนี แม้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวจะเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติซึ่งได้รับการยอมรับและประมวลขึ้นผ่านความตกลงระหว่างประเทศหลายครั้งในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมาก็ตาม[43] กองทัพเรืออังกฤษยังได้วางทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำสากลเพื่อป้องกันมิให้เรือลำใดออกสู่เขตมหาสมุทร ซึ่งเป็นอันตรายแม้แต่กับเรือของประเทศที่เป็นกลาง[44] และเนื่องจากอังกฤษได้รับปฏิกิริยาจากยุทธวิธีดังกล่าวเพียงเล็กน้อย เยอรมนีจึงคาดหวังว่าสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตของตนจะได้รับปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยแบบเดียวกัน[45]

เอชเอ็มเอส ไลออนระหว่างยุทธนาวีจัตแลนด์ หลังถูกระดมยิงอย่างหนักจากเรือรบเยอรมัน

ค.ศ. 1916 ยุทธนาวีจัตแลนด์ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นยุทธนาวีครั้งใหญ่ที่สุดในสงคราม และครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการปะทะกันเต็มอัตราศึกของกองทัพเรือทั้งสองฝ่าย ซึ่งกินเวลาสองวัน คือ 31 พฤษภาคมและ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1916 ในทะเลเหนือนอกคาบสมุทรจัตแลนด์ กองเรือทะเลหลวงของกองทัพเรือเยอรมัน ภายใต้บังคับบัญชาของพลเรือโทไรนาร์ด เชร์ ประจัญกับกองเรือหลวงของราชนาวีอังกฤษภายใต้การนำของพลเรือเอก เซอร์จอห์น เจลลิโค ผลของยุทธนาวีนี้ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะ เมื่อฝ่ายเยอรมันสามารถหลบหนีจากกองเรืออังกฤษที่มีกำลังเหนือกว่า และสร้างความเสียหายแก่กองเรืออังกฤษมากกว่าที่ตนได้รับ แต่ในทางยุทธศาสตร์แล้ว ฝ่ายอังกฤษแสดงสิทธิ์ในการควบคุมทะเล และกองเรือผิวน้ำส่วนใหญ่ของเยอรมนีถูกกักอยู่แต่ในท่ากระทั่งสงครามยุติ[46]

เรืออูของเยอรมนีพยายามตัดเส้นทางเสบียงระหว่างอเมริกาเหนือกับอังกฤษ[47] ธรรมชาติของสงครามเรือดำน้ำ หมายความว่า การโจมตีมักมาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ทำให้ลูกเรือสินค้ามีหวังรอดชีวิตน้อยมาก[47][48] สหรัฐอเมริกาประท้วง และเยอรมนีเปลี่ยนกฎการปะทะ หลังการจมเรือโดยสาร อาร์เอ็มเอส ลูซิตาเนีย อันฉาวโฉ่ใน ค.ศ. 1915 เยอรมนีสัญญาว่าจะไม่เลือกโจมตีเรือเดินสมุทรอีก ขณะที่อังกฤษติดอาวุธเรือสินค้าของตน และจัดให้อยู่นอกเหนือการคุ้มครองของ "กฎเรือลาดตระเวน" ซึ่งกำหนดให้มีการเตือนภัยและจัดวางลูกเรือไว้ใน "ที่ปลอดภัย" อันเป็นมาตรฐานซึ่งเรือช่วยชีวิตไม่เป็นไปตามนี้[49] จนในที่สุด ต้น ค.ศ. 1917 เยอรมนีปรับใช้นโยบายสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขต เมื่อตระหนักว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงครามในที่สุด[47][50] เยอรมนีพยายามจะจำกัดเส้นทางเดินเรือของฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะสามารถขนส่งกองทัพขนาดใหญ่ข้ามทะเล แต่เยอรมนีสามารถใช้เรืออูพิสัยไกลออกปฏิบัติการได้เพียงห้าลำ จึงมีผลจำกัด[47]

ภัยจากเรืออูนั้นเริ่มลดลงใน ค.ศ. 1917 เมื่อเรือพาณิชย์ของอังกฤษเริ่มเดินทางในขบวนเรือคุ้มกัน (convoy) ที่มีเรือพิฆาตนำ ยุทธวิธีดังกล่าวทำให้เรืออูค้นหาเป้าหมายยาก และทำให้การสูญเสียลดลงอย่างสำคัญ หลังจากเริ่มมีการใช้ไฮโดรโฟนและระเบิดน้ำลึก ทำให้เรือพิฆาตที่เสริมเข้ามาอาจโจมตีเรือดำน้ำที่อยู่ใต้น้ำได้โดยมีหวังสำเร็จอยู่บ้าง ขบวนเรือคุ้มกันดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งเสบียง เพราะเรือต้องรอให้ขบวนเรือคุ้มกันมารวมกันครบก่อน ทางแก้ปัญหาความล่าช้านี้ คือ โครงการอันกว้างขวางในการสร้างเรือขนส่งสินค้าแบบใหม่ ส่วนเรือขนส่งทหารนั้นเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเรือดำน้ำและไม่เดินทางไปกับขบวนเรือคุ้มกันในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ[51] เรืออูจมเรือฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่า 5,000 ลำ โดยมีเรือดำน้ำถูกทำลายไป 199 ลำ[52]

[แก้] เขตสงครามใต้

[แก้] บอลข่าน

ทหารออสเตรียประหารชีวิตชาวเซอร์เบียที่ถูกจับเป็นเชลยใน ค.ศ. 1917 เซอร์เบียสูญเสียประชากรราว 850,000 คน หนึ่งในสี่ของประชากรก่อนสงคราม และทรัพยากรครึ่งหนึ่งก่อนสงคราม[53]

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการีจึงสามารถแบ่งกองทัพโจมตีเซอร์เบียได้เพียงหนึ่งในสาม หลังประสบความสูญเสียอย่างหนัก ออสเตรียก็สามารถยึดครองเมืองหลวงเบลเกรดของเซอร์เบียได้ช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การตีโต้ตอบของเซอร์เบียในยุทธการคอลูบารา ได้ขับออสเตรียออกจากประเทศเมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1914 ในช่วงสิบเดือนแรกของ ค.ศ. 1915 ออสเตรีย-ฮังการีใช้ทหารกองหนุนส่วนใหญ่สู้รบกับอิตาลี แต่ทูตเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีสามารถชักชวนให้บัลแกเรียเข้าร่วมโจมตีเซอร์เบีย จังหวัดสโลวีเนีย โครเอเชียและบอสเนียของออสเตรีย-ฮังการีเป็นพื้นที่จัดเตรียมทหารให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งรุกรานเซอร์เบียเช่นเดียวกับสู้รบกับรัสเซียและอิตาลี มอนเตเนโกรวางตัวเป็นพันธมิตรกับเซอร์เบีย[54]

เซอร์เบียถูกยึดครองนานกว่าหนึ่งเดือนเล็กน้อย เมื่อฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มโจมตีทางเหนือตั้งแต่เดือนตุลาคม อีกสี่วันถัดมา บัลแกเรียร่วมโจมตีจากทางตะวันออก กองทัพเซอร์เบีย ซึ่งสู้รบบนสองแนวรบและแน่นอนว่าต้องเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ ได้ถอยทัพไปยังอัลเบเนีย และหยุดยั้งเพียงครั้งเดียวเพื่อป้องกันการโจมตีของบัลแกเรีย ชาวเซิร์บประสบความพ่ายแพ้ในยุทธการโคโซโว มอนเตเนโกรช่วยคุ้มกันการล่าถอยของเซอร์เบียไปยังชายฝั่งเอเดรียติกในยุทธการมอยคอแวทส เมื่อวันที่ 6-7 มกราคม ค.ศ. 1916 แต่สุดท้ายก็ส่งผลให้ออสเตรียยึดครองมอนเตเนโกรเช่นเดียวกัน กองทัพเซอร์เบียถูกอพยพทางเรือไปยังกรีซ[55]

ปลาย ค.ศ. 1915 กองทัพฝรั่งเศส-อังกฤษยกพลขึ้นบกที่ซาโลนิกาของกรีซ เพื่อเสนอความช่วยเหลือและกดดันให้รัฐบาลกรีซประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง โชคไม่เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อพระมหากษัตริย์กรีกผู้ทรงนิยมเยอรมนี พระเจ้าคอนแสตนตินที่ 1 ทรงปลดรัฐบาลนิยมสัมพันธมิตรของเอเลฟเทริออส เวนิเซลอสพ้นจากตำแหน่ง ก่อนที่กองทัพรบนอกประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรจะมาถึง[56] ความร้าวฉานระหว่างพระมหากษัตริย์กรีซและฝ่ายสัมพันธมิตรพอกพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กรีซถูกแบ่งแยกเป็นภูมิภาคซึ่งยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลเฉพาะกาลใหม่ของเวนิเซลอสในซาโลนิกา หลังการเจรจาทางการทูตอย่างเข้มข้นและการเผชิญหน้าด้วยอาวุธในกรุงเอเธนส์ระหว่างกองทัพสัมพันธมิตรและฝ่ายนิยมกษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์กรีซต้องสละราชสมบัติ และพระราชโอรสพระองค์ที่สอง อเล็กซานเดอร์ เสด็จขึ้นครองราชย์แทน เวนิเซลอสเดินทางกลับมายังกรุงเอเธนส์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 และกรีซ ซึ่งรวมเป็นหนึ่งอีกครั้ง เข้าร่วมสงครามอย่างเป็นทางการโดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร กองทัพกรีซทั้งหมดถูกระดมและเริ่มเข้าร่วมในปฏิบัติการทางทหารต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางบนแนวรบมาซิโดเนีย

ทหารบัลแกเรียในสนามเพลาะเตรียมยิงอากาศยานที่กำลังมา

หลังจากถูกยึดครอง เซอร์เบียถูกแบ่งออกระหว่างออสเตรีย-ฮังการีและบัลแกเรีย ใน ค.ศ. 1917 ชาวเซิร์บได้ก่อการกำเริบโทพลิคาขึ้น และส่งผลให้พื้นที่ระหว่างเทือกเขาโกบาโอนิคและแม่น้ำเซาท์โมราวาถูกปลดปล่อยชั่วคราว แต่การก่อการกำเริบดังกล่าวถูกบดขยี้โดยกองทัพร่วมบัลแกเรียและออสเตรียเมื่อปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917

แนวรบมาซิโดเนียส่วนใหญ่ไม่มีพัฒนาการ กองทัพเซอร์เบียยึดคืนบางส่วนของมาซิโดเนียโดยยึดบิโตลาคืนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 และเฉพาะเมื่อสงครามใกล้ยุติลงแล้วเท่านั้นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถโจมตีผ่านได้ หลังกองทัพเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีส่วนใหญ่ถอนกำลังออกไปแล้ว กองทัพบัลแกเรียประสบความพ่ายแพ้เพียงครั้งเดียวในสงครามที่ยุทธการโดโบรโพล แต่อีกไม่กี่วันให้หลัง บัลแกเรียก็สามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษและกรีกได้อย่างเด็ดขาดที่ยุทธการดอเรียน แต่เพื่อป้องกันการถูกยึดครอง บัลแกเรียได้ลงนามการสงบศึกเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1918[57] ฮินเดนบูร์กและลูเดนดอร์ฟสรุปว่าสมดุลทางยุทธศาสตร์และปฏิบัติการเอียงไปข้างฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย และหนึ่งวันหลังบัลแกเรียออกจากสงคราม ระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ยืนยันให้มีการเจรจาสันติภาพในทันที[58]

การหายไปของแนวรบมาซิโดเนียหมายความว่าถนนสู่บูดาเปสต์และเวียนนาเปิดกว้างสำหรับกองทัพขนาดกำลังพล 670,000 นาย ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกเฟรนเช เดเปเร เมื่อบัลแกเรียยอมจำนน ทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางสูญเสียทหารราบ 278 กองพัน และปืนใหญ่ 1,500 กระบอก ซึ่งเทียบเท่ากับกองพลของเยอรมนีราว 25 ถึง 30 กองพล ซึ่งเคยยึดแนวดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้[59] กองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีตัดสินใจส่ง 7 กองพลทหารราบ และ 1 กองพลทหารม้าไปยังแนวหน้า แต่กำลังเหล่านี้ไม่เพียงพอจะสถาปนาแนวรบขึ้นมาใหม่ได้อีก[59]

[แก้] จักรวรรดิออตโตมัน

ที่ตั้งปืนใหญ่ของกองทัพอังกฤษระหว่างยุทธการเยรูซาเล็ม ค.ศ. 1917

จักรวรรดิออตโตมันเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยได้ลงนามเป็นพันธมิตรออตโตมัน-เยอรมันอย่างลับ ๆ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งได้ภัยคุกคามต่อดินแดนคอเคซัสของรัสเซีย และการติดต่อคมนาคมของอังกฤษกับอินเดียผ่านทางคลองสุเอซ อังกฤษและฝรั่งเศสได้เปิดแนวรบโพ้นทะเลด้วยการทัพกัลลิโปลีและการทัพเมโสโปเตเมีย ที่กัลลิโปลี จักรวรรดิออตโตมันสามารถขับไล่กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศสและเหล่ากองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ แต่การณ์กลับตรงกันข้ามในเมโสโปเตเมีย ซึ่งจักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้อย่างหายนะจากการล้อมคุท (ค.ศ. 1915-16) กองทัพจักรวรรดิอังกฤษรวบรวมทัพใหม่และสามารถยึดกรุงแบกแดดได้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917

ห่างไปทางตะวันตก คลองสุเอซได้รับการป้องกันอย่างเป็นผลจากการโจมตีของออตโตมันใน ค.ศ. 1915 และ 1916 ในเดือนสิงหาคม กองทัพเยอรมันและออตโตมันพ่ายแพ้ที่ยุทธการโรมานี หลังชัยชนะนี้ กองทัพจักรวรรดิอังกฤษรุกคืบข้ามคาบสมุทรไซนาย ผลักดันกองทัพออตโตมันให้ถอยกลับไปในยุทธการแมกดาบา (Magdhaba) ในเดือนธันวาคมและยุทธการราฟาตรงชายแดนระหว่างไซนายของอียิปต์และปาเลสไตน์ของออตโตมันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 ในเดือนมีนาคมและเมษายน ที่ยุทธการกาซาครั้งแรกและครั้งที่สอง กองทัพเยอรมันและออตโตมันหยุดการรุกคืบ แต่ในปลายเดือนตุลาคม การทัพไซนายและปาเลสไตน์ดำเนินต่อ เมื่อกองทัพรบนอกประเทศอียิปต์ของอัลเลนบีชนะยุทธการเบียร์เชบา สองกองทัพออตโตมันพ่ายแพ้อีกไม่กี่สัปดาห์ให้หลังที่ยุทธการสันเขามักอาร์ (Maghar Ridge) และต้นเดือนธันวาคม เยรูซาเลมถูกยึดได้หลังกองทัพออตโตมันอีกกองทัพหนึ่งพ่ายแพ้ที่ยุทธการเยรูซาเล็ม พอถึงช่วงนี้ ฟรีดริช ไฟรแฮร์ เครสส์ ฟอน เครสเซนสไตน์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพที่ 8 และแทนที่ด้วย Cevat Çobanlı และอีกไม่กี่เดือนให้หลัง ผู้บัญชาการกองทัพออตโตมันในปาเลสไตน์ อีริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ ถูกแทนที่ด้วยออทโท ลีมัน ฟอน ซันเดอร์ส

สนามเพลาะป่ารัสเซียในซาริคามิส

โดยปกติแล้วกองทัพรัสเซียด้านคอเคซัสเป็นกองทัพที่ดีที่สุด เอนเวอร์ ปาชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพออตโตมัน มีความทะเยอทะยานและใฝ่ฝันจะยึดครองเอเชียกลางอีกครั้ง และดินแดนที่เคยเสียให้แก่รัสเซียในอดีต แต่เขาเป็นผู้บัญชาการที่ไม่มีความสามารถ[60] เขาออกคำสั่งโจมตีรัสเซียในคอเคซัสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 โดยมีกำลังพล 100,000 นาย เขายืนกรานการโจมตีทางด้านหน้าต่อที่ตั้งของรัสเซียที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาในฤดูหนาว ซึ่งทำให้สูญเสียกำลังพลไปถึง 86% ในยุทธการซาริคามิส[61]

ผู้บัญชาการรัสเซียระหว่าง ค.ศ. 1915-1916 พลเอกนิโคไล ยูเดนนิช สามารถขับไล่พวกเติร์กให้ออกไปจากเขตเทือกเขาคอเคซัสตอนใต้ส่วนใหญ่โดยได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ใน ค.ศ. 1917 แกรนด์ดยุกนิโคลัสเข้าบัญชาการกองทัพรัสเซียแนวรบคอเคซัส[61] เขาวางแผนสร้างทางรถไฟจากจอร์เจียไปยังดินแดนยึดครอง เพื่อที่ว่ากองทัพรัสเซียจะมีเสบียงเพียงพอในการรุกครั้งใหม่ใน ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 พระเจ้าซาร์ถูกโค่นล้มหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ และกองทัพรัสเซียคอเคซัสเริ่มแตกออกจากกัน

ด้วยการยุยงของสำนักอาหรับของสำนักงานต่างประเทศและเครือจักรภพของอังกฤษ การปฏิวัติอาหรับจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 ด้วย ยุทธการเมกกะ โดย ชารีฟ ฮัสเซน แห่งเมกกะ และจบลงด้วยการยอมจำนนของจักรวรรดิออตโตมันที่ดามัสกัส ฟาครี ปาชา ผู้บัญชาการออตโตมันที่เมดินะ ทำการรบต้านทานเป็นเวลากว่าสองปีครึ่งระหว่างการล้อมเมดินะ[62]

ตามพรมแดนลิเบียของอิตาลีและอียิปต์ของอังกฤษ ชนเผ่าเซนุสซี ซึ่งได้รับการปลุกปั่นยุยงและติดอาวุธโดยพวกเติร์ก ทำสงครามกองโจรขนาดเล็กต่อกองทัพสัมพันธมิตร ฝ่ายอังกฤษถูกบีบให้ต้องแบ่งทหาร 12,000 นายมาต่อสู้ในการทัพเซนุสซี จนกระทั่งกบฎเหล่านี้ถูกบดขยี้ในที่สุดเมื่อกลาง ค.ศ. 1916[63]

[แก้] การเข้าร่วมของอิตาลี

ทหารภูเขาออสเตรีย-ฮังการีในไทรอล

อิตาลีเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีตั้งแต่ ค.ศ. 1882 โดยเป็นภาคีของไตรพันธมิตร อย่างไรก็ตาม อิตาลีนั้นมีเจตนาของตนบนพื้นที่ของออสเตรียในเตรนตีโน อิสเตรียและดัลมาเทีย อิตาลีได้แอบทำสนธิสัญญาอย่างลับ ๆ กับฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1902 ซึ่งเป็นการลบล้างพันธมิตรเก่าอย่างสิ้นเชิง ในตอนต้นของสงคราม อิตาลีปฏิเสธที่จะส่งทำเข้าร่วมรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง โดยให้เหตุผลว่าไตรพันธมิตรเป็นพันธมิตรป้องกัน แต่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกลับเป็นผู้เปิดฉากสงครามก่อนเสียเอง รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีเริ่มเจรจาเพื่อพยายามจะให้อิตาลีวางตัวเป็นกลางในสงคราม โดยเสนออาณานิคมตูนิเซียของฝรั่งเศสให้เป็นการตอบแทน ซึ่งทางฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยื่นข้อเสนอซ้อนโดยสัญญาว่าจะอิตาลีจะได้ไทรอลใต้ จูเลียนมาร์ช และดินแดนบนชายฝั่งดัลมาเทียหลังออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้ ข้อเสนอดังกล่าวทำให้เป็นทางการในสนธิสัญญาลอนดอน หลังถูกกระตุ้นจากการรุกรานตุรกีของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 อิตาลีเข้าร่วมกับไตรภาคีและประกาศสงครามต่อออสเตรีย-ฮังการีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และประกาศสงครามต่อเยอรมนีอีกสิบห้าเดือนให้หลัง

แม้ว่าในทางการทหาร อิตาลีจะมีความเหนือกว่าด้านกำลังพลก็ตาม แต่ข้อได้เปรียบดังกล่าวเสียไป ไม่เพียงแต่มีสาเหตุจากลักษระภูมิประเทศสลับซับซ้อนที่เกิดการสู้รบขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใช้ด้วย จอมพลลุยจิ คาดอร์นา ผู้เสนอการโจมตีทางด้านหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ใฝ่ฝันว่าจะตีเข้าไปสู่ที่ราบสูงสโลวีเนีย ตีเมืองลูบลิยานา และคุกคามกรุงเวียนนา มันเป็นแผนการสมัยนโปเลียน ซึ่งไม่มีโอกาสสำเร็จแท้จริงเลยในยุคของลวดหนาม ปืนกลและการยิงปืนใหญ่ทางอ้อม ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นเนินและภูเขา

บนแนวรบเตรนติโน ออสเตรีย-ฮังการีใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศแบบภูเขา ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตั้งรับ หลังจากการล่าถอยทางยุทธศาสตร์ในช่วงแรก ส่วนใหญ่แนวรบก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายสู้รบในระยะประชิดตัวอันขมขื่นตลอดฤดูร้อน ออสเตรีย-ฮังการีตีโต้ตอบที่อัสซิอาโก มุ่งหน้าไปยังเวโรนาและปาดัว ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1916 แต่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย

เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1915 กองทัพอิตาลีภายใต้การบังคับบัญชาของคาดอร์นา ได้โจมตีประมาณสิบเอ็ดครั้งบนแนวไอซอนโซตามแนวของแม่น้ำชื่อเดียวกัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตรีเอสเต ซึ่งการโจมตีทั้งหมดก็ถูกขับไล่โดยกองทัพออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งยึดภูมิประเทศที่สูงกว่า ในฤดูร้อน ค.ศ. 1916 กองทัพอิตาลีสามารถตีเมืองกอร์ริซเซียได้ หากหลังจากชัยชนะย่อยครั้งนี้ แนวรบนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี แม้อิตาลีจะโจมตีอีกหลายครั้ง เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1917 ทหารออสเตรีย-ฮังการีได้รับกำลังเสริมขนาดใหญ่จากเยอรมนี ฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มการรุกเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1917 โดยมีทหารเยอรมันเป็นหัวหอก ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้รับชัยชนะที่คาปอร์เรตโต กองทัพอิตาลีแตกพ่ายและล่าถอยเป็นระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร จึงสามารถจัดระเบียบใหม่ได้ และยึดแนวที่แม่น้ำเปียเว และเนื่องจากอิตาลีสูญเสียอย่างหนักในยุทธการคาปอร์เรตโต รัฐบาลอิตาลีจึงสั่งให้ชายอายุต่ำกว่า 18 ปีทุกคนเข้าประจำการ ใน ค.ศ. 1918 ออสเตรีย-ฮังการีไม่สามารถตีผ่านแนวดังกล่าวได้ ในยุทธการหลายครั้งตามแม่น้ำเปียเว และสุดท้ายก็พ่ายแพ้ราบคาบในยุทธการวิตโตริโอ วีนีโตในเดือนตุลาคมปีนั้น ออสเตรีย-ฮังการียอมจำนนในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918[64][65][66]

[แก้] การเข้าร่วมของโรมาเนีย

โรมาเนียได้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายมหาอำนาจกลางตั้งแต่ ค.ศ. 1882 อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเริ่มต้น โรมาเนียได้ประกาศตนเป็นกลาง โดยให้เหตุผลว่าออสเตรีย-ฮังการีเองที่เป็นฝ่ายประกาศสงครามต่อเซอร์เบีย และโรมาเนียไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องเข้าสู่สงคราม เมื่อฝ่ายไตรภาคีให้สัญญาว่าจะยกดินแดนขนาดใหญ่ทางตะวันออกของฮังการี (ทรานซิลเวเนียและบานัท) ซึ่งมีประชากรโรมาเนียขนาดใหญ่อาศัยอยู่ ให้แก่โรมาเนีย แลกเปลี่ยนกับที่โรมาเนียต้องประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง รัฐบาลโรมาเนียจึงสละความเป็นกลาง และวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1916 กองทัพโรมาเนียได้เปิดฉากโจมตีออสเตรีย-ฮังการี โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัสเซีย การรุกของโรมาเนียประสบความสำเร็จในช่วงต้น โดยสามารถผลักดันทหารออสเตรีย-ฮังการีในทรานซิลเวเนียออกไปได้ แต่การตีโต้ตอบของฝ่ายมหาอำนาจกลางขับกองทัพรัสเซีย-โรมาเนีย และเสียกรุงบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1916 การสู้รบในมอลโดวาดำเนินต่อไปใน ค.ศ. 1917 ซึ่งจบลงด้วยการคุมเชิงกันที่มีราคาแพงสำหรับฝ่ายมหาอำนาจกลาง[67][68] เมื่อรัสเซียถอนตัวจากสงครามในปลาย ค.ศ. 1917 จากผลของการปฏิวัติเดือนตุลาคม โรมาเนียถูกบีบให้ลงนามในการสงบศึกกับฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1917

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 กองทัพโรมาเนียสถาปนาการควบคุมเหนือเบสซาราเบีย เมื่อกองทัพรัสเซียละทิ้งดินแดนดังกล่าว แม้ว่าสนธิสัญญาถูกลงนามโดยรัฐบาลโรมาเนียและบอลเชวิครัสเซียหลังการประชุมระหว่างวันที่ 5-9 มีนาคม ค.ศ. 1918 ที่ให้กองทัพโรมาเนียถอนกำลังออกจากเบสซาราเบียภายในสองเดือน วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1918 โรมาเนียผนวกเบสซาราเบียเข้าเป็นดินแดนของตน โดยอาศัยอำนาจอย่างเป็นทางการของมติที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติท้องถิ่นของดินแดนในการรวมเข้ากับโรมาเนีย

โรมาเนียยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว โรมาเนียมีข้อผูกมัดจะยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางและยกดินแดนบางส่วนให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ยุติการควบคุมช่องเขาบางแห่งในเทือกเขาคาร์พาเธียนและยกสัมปทานน้ำมันแก่เยอรมนี ในการแลกเปลี่ยน ฝ่ายมหาอำนาจกลางจะรับรองเอกราชของโรมาเนียเหนือเบสซาราเบีย สนธิสัญญาดังกล่าวถูกละทิ้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 และโรมาเนียเข้าสู่สงครามอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 วันรุ่งขึ้น สนธิสัญญาบูคาเรสต์ถูกทำให้เป็นโมฆะตามเงื่อนไขของการสงบศึกที่คองเปียญ[69][70] มีการประเมินว่าชาวโรมาเนียทั้งทหารและพลเรือนที่เสียชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1914 และ 1918 ภายในพรมแดนปัจจุบัน มีถึง 748,000 คน[71]

[แก้] บทบาทของอินเดีย

สงครามเริ่มต้นโดยสหราชอาณาจักรได้รับความจงรักภักดีและความปรารถนาดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากภายในเหล่าผู้นำทางการเมืองกระแสหลัก ตรงข้ามกับอังกฤษซึ่งหวาดกลัวการปฏิวัติของชาวอินเดีย[72][73] อันที่จริงแล้วกองทัพอินเดียมีกำลังพลเหนือกว่ากองทัพอังกฤษเมื่อสงครามเริ่มต้นใหม่ ๆ อินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษสนับสนุนความพยายามของสงครามของอังกฤษอย่างมากโดยการจัดหากำลังคนและทรัพยากร รัฐสภาอินเดียปฏิบัติเช่นนั้นด้วยหวังว่าจะได้รับสิทธิ์ปกครองตนเอง ขณะที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอยู่มาก สหราชอาณาจักรทำให้ชาวอินเดียผิดหวังโดยไม่ให้การปกครองตนเอง นำไปสู่ยุคคานธีในประวัติศาสตร์อินเดีย ทหารและแรงงานอินเดียกว่า 1.3 ล้านคนถูกส่งไปปฏิบัติในยุโรป แอฟริกาและตะวันออกกลาง ขณะที่ทั้งรัฐบาลอินเดียและเจ้าชายส่งเสบียงอาหาร เงินและเครื่องกระสุนให้เป็นปริมาณมาก จากทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในแนวรบด้านตะวันตก 140,000 นาย และอีกเกือบ 700,000 นายในตะวันออกกลาง ทหารอินเดียเสียชีวิต 47,476 นาย และได้รับบาดเจ็บ 65,126 นายระหว่างสงคราม[74]

[แก้] แนวรบด้านตะวันออก

[แก้] การปฏิบัติขั้นต้น

เชลยศึกรัสเซียที่เทนเนนแบร์ก

ขณะที่สถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันตกยังคุมเชิงกันอยู่ สงครามยังดำเนินต่อไปในแนวรบด้านตะวันออก แผนเดิมของรัสเซียกำหนดให้รุกรานกาลิเซียของออสเตรียและปรัสเซียตะวันออกของเยอรมนีพร้อมกัน แม้ว่าการรุกขั้นต้นเข้าไปในกาลิเซียของรัสเซียจะประสบความสำเร็จใหญ่หลวง แต่กองทัพที่ส่งไปโจมตีปรัสเซียตะวันออกถูกขับกลับมาโดยฮินเดนบูร์กและลูเดนดอร์ฟที่ทันเนนแบร์กและทะเลสาบมาซูเรียนในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 1914[75][76] ฐานอุตสาหกรรมที่ด้อยพัฒนาของรัสเซียและผู้นำทางทหารที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังนี้ เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1915 รัสเซียล่าถอยเข้าไปในกาลิเซีย และในเดือนพฤษภาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางสามารถตีผ่านแนวรบทางใต้ของโปแลนด์ครั้งใหญ่[77] วันที่ 5 สิงหาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางยึดวอร์ซอและบีบให้รัสเซียถอยออกจากโปแลนด์

[แก้] การปฏิวัติรัสเซีย

ดูบทความหลักที่ การปฏิวัติรัสเซีย พ.ศ. 2460

แม้ความสำเร็จในกาลิเซียตะวันออกระหว่างการรุกบรูซิลอฟเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916[78] แต่ความไม่พอใจกับการชี้นำสู่สงครามของรัฐบาลรัสเซียเพิ่มมากขึ้น ความสำเร็จถูกบ่นทอนโดยความไม่เต็มใจของนายพลคนอื่นที่ส่งกำลังของตนเข้าไปสนับสนุนให้ได้รับชัยชนะ กองทัพสัมพันธมิตรและรัสเซียฟื้นฟูชั่วคราวเฉพาะเมื่อโรมาเนียเข้าสู่สงครามเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม กองทัพเยอรมันเข้าช่วยเหลือกองทัพออสเตรีย-ฮังการีพร้อมรบในทรานซิลเวเนียและบูคาเรสต์เสียให้แก่ฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ขณะเดียวกัน ความไม่สงบเกิดขึ้นในรัสเซีย ระหว่างที่ซาร์ยังคงประทับอยู่ที่แนวหน้า การปกครองอย่างขาดพระปรีชาสามารถของจักรพรรดินีอเล็กซานดรานำไปสู่การประท้วง และการฆาตกรรมคนสนิทของพระนาง รัสปูติน เมื่อปลายปี ค.ศ. 1916

เมื่อเดือนมีนาคม 1917 การชุมนุมประท้วงในเปโตรกราด ลงเอยด้วยการสละราชบัลลังก์ของซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียและการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวของรัสเซียซึ่งอ่อนแอ และแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มสังคมนิยมเปโตรกราดโซเวียต การจัดการดังกล่าวนำไปสู่ความสับสนและความวุ่นวายทั้งที่แนวหน้าและในรัสเซีย กองทัพรัสเซียยิ่งมีประสิทธิภาพด้อยลงกว่าเดิมมาก[77]

สงครามและรัฐบาลได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อย ๆ ความไม่พอใจทำให้พรรคบอลเชวิค ที่นำโดย วลาดีมีร์ เลนิน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เขาให้สัญญาว่าจะดึงรัสเซียออกจากสงครามและทำให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ชัยชนะของพรรคบอลเชวิคในเดือนพฤศจิกายนนั้น ตามมาด้วยการสงบศึกและการเจรจากับเยอรมนี ในตอนแรก พรรคบอลเชวิคปฏิเสธข้อเสนอของเยอรมนี แต่เมื่อกองทัพเยอรมันทำสงครามต่อไปและเคลื่อนผ่านยูเครนโดยไม่ช้าลง รัฐบาลใหม่จึงต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลีตอฟสก์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1918 ซึ่งทำให้รัสเซียออกจากสงคราม แต่ต้องยอมยกดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล รวมไปถึงฟินแลนด์ รัฐบอลติก บางส่วนของโปแลนด์และยูเครนแก่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง[79] อย่างไรก็ตาม ดินแดนที่เยอรมนีได้รับจากรัสเซียทำให้ต้องแบ่งกำลังพลไปยึดครองและอาจเป็นปัจจัยนำสู่ความล้มเหลวของการรุกฤดูใบไม้ผลิ และสนับสนุนอาหารและยุทธปัจจัยอื่นค่อนข้างน้อย

ด้วยการลงมติยอมรับสนธิสัญญาเบรสต์-ลีตอฟสก์ ไตรภาคีจึงไม่คงอยู่อีกต่อไป ฝ่ายสัมพันธมิตรนำกำลังขนาดเล็กรุกรานรัสเซีย ส่วนหนึ่งเพื่อหยุดมิให้เยอรมนีใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัสเซีย และในขอบเขตที่เล็กกว่า เพื่อให้การสนับสนุน "รัสเซียขาว" (ตรงข้ามกับ "รัสเซียแดง") ในสงครามกลางเมืองรัสเซีย[80] กองทัพสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่อาร์ชอันเกลและวลาดิวอสตอก

[แก้] ข้อเสนอริเริ่มการเจรจาสันติภาพของฝ่ายมหาอำนาจกลาง

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 หลังจากการสู้รบอย่างดุเดือดสิบเดือนของยุทธการแวร์ดังและการรุกโรมาเนียที่ประสบความสำเร็จ เยอรมนีพยายามจะเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่นานหลังจากนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐ วูดโรว์ วิลสันพยายามเข้าแทรกแซงเป็นผู้ประนีประนอม โดยร้องขอในโน้ตแก่ทั้งสองฝ่ายให้ระบุข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่าย คณะรัฐมนตรีสงครามของอังกฤษมองว่าข้อเสนอสันติภาพของเยอรมนีเป็นแผนการสร้างความแตกแยกในฝ่ายสัมพันธมิตร หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว อังกฤษถือโน้ตของวิลสันเป็นอีกความพยายามหนึ่ง โดยส่งสัญญาณว่าสหรัฐใกล้จะเข้าสู่สงครามกับเยอรมนีหลัง "การทำลายล้างด้วยเรือดำน้ำ" ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรโต้เถียงกันเรื่องการตอบข้อเสนอของวิลสัน เยอรมนีเลือกจะบอกปัดและสนับสนุน "การแลกเปลี่ยนมุมมองโดยตรง" มากกว่า เมื่อทราบถึงการตอบสนองของเยอรมนี รัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอิสระจะระบุข้อเรียกร้องที่ชัดเจนในวันที่ 14 มกราคม โดยเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย การอพยพประชากรจากดินแดนยึดครอง ค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศส รัสเซียและโรมาเนีย และการยอมรับหลักการแห่งเชื้อชาติ ซึ่งรวมไปถึงการให้เสรีภาพแก่ชาวอิตาลี สลาฟ โรมาเนีย เชโกสโลวัก และการสถาปนา "โปแลนด์ที่มีอิสระและรวมเป็นหนึ่ง" ว่าด้วยปัญหาความมั่นคง ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกร้องคำยืนยันที่จะป้องกันหรือจำกัดสงครามในอนาคต และยกเลิกการลงโทษ เป็นเงื่อนไขของทุกการเจรจาสันติภาพ[81] การเจรจาล้มเหลวและไตรภาคีปฏิเสธข้อเสนอของเยอรมนี เพราะเยอรมนีไม่ได้กล่าวถึงข้อเสนอใดเจาะจง วิลสันและไตรภาคีว่าจะไม่เริ่มการเจรจาสันติภาพจนกว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางจะอพยพประชากรในดินแดนยึดครองที่เคยเป็นของฝ่ายสัมพันธมิตรและค่าชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด[82]

[แก้] ค.ศ. 1917-1918

[แก้] ความคืบหน้าใน ค.ศ. 1917

เหตุการณ์ใน ค.ศ. 1917 นั้นได้พิสูจน์แล้วว่ามีความเด็ดขาดในการยุติสงคราม แม้ว่าผลจะยังไม่อาจสัมผัสได้กระทั่งปลาย ค.ศ. 1918 การปิดล้อมทางทะเลของกองทัพเรืออังกฤษได้ทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อเยอรมนี เยอรมนีได้โต้ตอบด้วยการออกปฏิบัติการเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อังกฤษขาดแคลนอาหารและต้องออกจากสงคราม นักวางแผนชาวเยอรมันประเมินว่า สงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตจะทำให้อังกฤษสูญเสียเรือไปกว่า 600,000 ตันต่อเดือน ขณะที่อังกฤษตระหนักว่านโยบายดังกล่าวมีแนวโน้มจะดึงให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ความขัดแย้ง การสูญเสียเรือของอังกฤษจะสูงมากเสียจนอังกฤษถูกบีบให้เรียกร้องสันติภาพหลังเวลาผ่านไป 5 ถึง 6 เดือน ก่อนที่การเข้าแทรกแซงของสหรัฐจะมีผลกระทบ ในความเป็นจริง เรืออังกฤษถูกยิงจมไปคิดเป็นน้ำหนักมากกว่า 500,000 ตันต่อเดือนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม และสูงที่สุด 860,000 ตันในเดือนเมษายน หลังเดือนกรกฎาคม ได้มีการนำระบบขบวนเรือคุ้มกันกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดภัยคุกคามจากเรืออูลงอย่างยิ่ง อังกฤษปลอดภัยจากการขาดแคลนอาหาร ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลง และทหารสหรัฐเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมากกว่าที่เยอรมนีเคยคาดไว้ก่อนหน้านี้มาก

ทหารฝรั่งเศสที่ขัดขืนคำสั่งถูกยิง ใน ค.ศ. 1916

วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 ระหว่างการรุกเนวิลล์ กองพลอาณานิคมที่ 2 ของฝรั่งเศสที่เหน็ดเหนื่อย ทหารผ่านศึกยุทธการแวร์เดิง ปฏิเสธคำสั่งที่ได้รับ มาถึงโดยเมาและปราศจากอาวุธ นายทหารไม่อาจหาวิธีการมาลงโทษทหารทั้งกองพลได้ และไม่มีการดำเนินมาตรการรุนแรงในทันที จากนั้น การขัดขืนคำสั่งได้ลุกลามไปยังอีก 54 กองพลของฝรั่งเศส และมีทหารหนีหน้าที่ 20,000 นาย กองทัพสัมพันธมิตรอื่นโจมตีแต่ประสบความสูญเสียมหาศาล[83] อย่างไรก็ตาม ด้วยการดึงดูดสู่ความรักชาติและหน้าที่ เช่นเดียวกับการจับกุมและการพิจารณาครั้งใหญ่ กระตุ้นให้ทหารกลับมาป้องกันสนามเพลาะของตน แม้ว่าทหารฝรั่งเศสปฏิเสธจะเข้าร่วมในการปฏิวัติการรุกต่อไป[84] โรเบร์ต เนวิลล์ถูกปลดจากตำแหน่งบัญชาการในวันที่ 15 พฤษภาคม และแทนที่ด้วยพลเอกฟิลิป เปแตง ผู้ยกเลิกการรุกขนาดใหญ่อันนองเลือดชั่วคราว

ชัยชนะของออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนีที่ยุทธการกาปอเรตโต นำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่การประชุมราปัลโลจัดตั้งสภาสงครามสูงสุดเพื่อประสานการวางแผน โดยก่อนหน้านั้น กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสได้ดำเนินการบังคับบัญชาแยกกัน

ในเดือนธันวาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางลงนามสงบศึกกับรัสเซีย ทำให้ทหารเยอรมันจำนวนมากสามารถถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่ในทางตะวันตกได้ ด้วยกำลังเสริมเยอรมนีและทหารสหรัฐที่ไหลบ่าเข้ามาใหม่ ทำให้แนวรบด้านตะวันตกจะเป็นการตัดสินผลของสงคราม ฝ่ายมหาอำนาจกลางทราบว่าตนไม่อาจเอาชนะสงครามยืดเยื้อ แต่พวกเขาตั้งความหวังไว้สูงสำหรับความสำเร็จโดยขึ้นอยู่กับการรุกอยางรวดเร็วครั้งสุดท้าย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำฝ่ายมหาอำนาจกลางและฝ่ายสัมพันธมิตรต่างเริ่มรู้สึกกลัวต่อความไม่สงบในสังคมและการปฏิวัติในยุโรป ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็มุ่งได้รับชัยชนะขั้นเด็ดขาดอย่างรวดเร็ว[85]

ค.ศ. 1917 จักรพรรดิคาร์ลที่ 1 แห่งออสเตรีย ทรงพยายามเจรจาแยกต่างหากอย่างลับ ๆ กับคลูมองโซ โดยมีน้องชายของพระมเหสี ซิกตัส ในเบลเยียม เป็นคนกลาง โดยเยอรมนีไม่รับรู้ด้วย เมื่อการเจรจาล้มเหลว และความพยายามดังกล่าวทราบถึงเยอรมนี ส่งผลให้เกิดหายนะทางการทูตระหว่างสองประเทศ[86][87]

[แก้] สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม

สหรัฐอเมริกาเดิมดำเนินนโยบายไม่แทรกแซง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างประเทศและเป็นนายหน้าสันติภาพ เมื่อเรืออูเยอรมันจมเรือโดยสารลูซิทาเนียของอังกฤษ ใน ค.ศ. 1915 ที่มีชาวอเมริกันอยู่บนเรือ 128 คน ประธานาธิบดีวิลสันได้สาบานว่า "อเมริกามีทิฐิมากเกินกว่าจะสู้" และเรียกร้องให้ยกเลิกการโจมตีเรือพลเรือน ซึ่งเยอรมนีก็ยอมตาม วิลสันพยายามเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทแต่ล้มเหลว เขาเตือนย้ำว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ทนต่อสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขต วิลสันได้รับแรงกดดันธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้ประณามพฤติการณ์ของเยอรมนีว่าเป็น "การกระทำอันเป็นโจรสลัด"[88] ความปรารถนาของวิลสันที่จะได้เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพเมื่อสงครามยุติเพื่อพัฒนาแนวคิดสันนิบาตชาติเองก็เป็นส่วนสำคัญ[89] รัฐมนตรีต่างประเทศของวิลสัน วิลเลียม เจนนิงส์ ไบรอัน ซึ่งความคิดเห็นของเขาได้ถูกเพิกเฉย ได้ลาออกเพราะไม่อาจสนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดีได้อีกต่อไป มติมหาชนรู้สึกโกรธกับเหตุวินาศกรรมแบล็กทอมในนครเจอร์ซีย์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งสงสัยว่าเยอรมนีอยู่เบื้องหลัง และเหตุระเบิดคิงส์แลนด์

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 เยอรมนีทำสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตอีกครั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศบอกแก่เม็กซิโก ผ่านโทรเลขซิมแมร์มันน์ ว่า สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มเข้าสู่สงครามหลังสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตเริ่มขึ้น และเชิญเม็กซิโกเข้าสู่สงครามเป็นพันธมิตรของเยอรมนีต่อสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เยอรมนีจะส่งเงินให้เม็กซิโกและช่วยให้เม็กซิโกได้รับดินแดนเท็กซัส นิวเม็กซิโกและแอริโซนาที่เม็กซิโกเสียไประหว่างสงครามเม็กซิโก-อเมริกาเมื่อ 70 ปีก่อน[90] วิลสันเปิดเผยโทรเลขดังกล่าวให้แก่สาธารณชน และชาวอเมริกันมองว่าเป็นเหตุแห่งสงคราม

วิลสันประกาศตัดความสัมพันธ์กับเยอรมนีอย่างเป็นทางการต่อหน้ารัฐสภา 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงครามโดยอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายพันธมิตร แต่ไม่เคยเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของฝ่ายพันธมิตรเลย โดยเรียกตัวเองว่าเป็น "ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ" (Associated Power) สหรัฐอเมริกามีกองทัพขนาดเล็ก แต่หลังรัฐบัญญัติคัดเลือกทหาร (Selective Service Act) สหรัฐก็มีทหารเกณฑ์มากถึง 2.8 ล้านนาย[91] และภายในฤดูร้อน ค.ศ. 1918 ก็มีการส่งทหารใหม่กว่า 10,000 นายไปยังฝรั่งเศสทุกวัน ใน ค.ศ. 1917 รัฐสภาสหรัฐให้สถานะพลเมืองแก่ชาวเปอร์โตริโก เมื่อพวกเขาถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากรัฐบัญญัติโจนส์ เยอรมนีคำนวณผิด โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าสหรัฐอเมริกาจะมาถึง และการขนส่งทหารข้ามมหาสมุทรสามารถถูกหยุดยั้งได้โดยเรืออู[92]

ทหารแอฟริกันอเมริกันกำลังเดินสวนสนามในฝรั่งเศส[93]

กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ส่งกองเรือรบไปยังสกาปาโฟลว์ (Scapa Flow) เพื่อเข้าร่วมกับกองเรือหลวง (Grand Fleet) อังกฤษ, เรือพิฆาตไปยังควีนส์ทาวน์, ไอร์แลนด์ และเรือดำน้ำไปช่วยคุ้มกันขบวนเรือ นาวิกโยธินหลายกรมของสหรัฐอเมริกาถูกส่งไปยังฝรั่งเศส ด้านอังกฤษและฝรั่งเศสต่างต้องการให้หน่วยทหารอเมริกันเข้าเสริมกำลังบนแนวรบที่มีทหารของตนอยู่ก่อนแล้ว และไม่สิ้นเปลืองจำนวนเรือที่มีอยู่น้อยเพื่อขนย้ายเสบียง และไม่ต้องการใช้เรือเพื่อเป็นการขนส่งเสบียง ซึ่งสหรัฐปฏิเสธความต้องการแรก แต่ยอมตามความต้องการข้อหลัง พลเอกจอห์น เจ. เพอร์ชิง ผู้บัญชาการกองกำลังรบนอกประเทศอเมริกา (AEF) ปฏิเสธที่จะแบ่งหน่วยทหารออกเพื่อใช้เป็นกำลังหนุนแก่หน่วยทหารอังกฤษและฝรั่งเศส โดยยกเว้นให้กรมรบแอฟริกัน-อเมริกันถูกใช้ในกองพลฝรั่งเศสได้ หลักนิยมของ AEF กำหนดให้ใช้การโจมตีทางด้านหน้า ซึ่งผู้บัญชาการอังกฤษและฝรั่งเศสเลิกใช้ไปนานแล้ว เพราะสูญเสียกำลังพลมหาศาล[94]

[แก้] การรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918

ดูบทความหลักที่ การรุกฤดูใบไม้ผลิ

พลเอกเยอรมัน อิริช ลูเดนดอร์ฟ ได้ร่างแผนซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการมิคาเอล ขึ้นสำหรับการรุกบนแนวรบด้านตะวันตกใน ค.ศ. 1918 การรุกฤดูใบไม้ผลิมีจุดประสงค์เพื่อแยกกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสออกจากกันด้วยการหลอกหลวงและการรุกหลายครั้ง ผู้นำเยอรมนีหวังว่าการโจมตีอย่างเด็ดขาดก่อนที่กองกำลังสหรัฐขนาดใหญ่จะมาถึง ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1918 โดยโจมตีกองทัพอังกฤษที่อเมนส์ และสามารถรุกเข้าไปได้ถึง 60 กิโลเมตรอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดสงคราม[95]

ทหารเยอรมันเดินทัพผ่านที่มั่นฝ่ายอังกฤษ ซึ่งถูกยึดได้ระหว่างการรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918

ส่วนแนวสนามเพลาะของอังกฤษและฝรั่งเศสถูกเจาะผ่านด้วยยุทธวิธีแทรกซึมที่เป็นของใหม่ ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า ยุทธวิธีฮูเทียร์ (Hutier tactics) ตามชื่อพลเอกชาวเยอรมันคนหนึ่ง ก่อนหน้านั้น การโจมตีเป็นรูปแบบการระดมยิงปืนใหญ่อย่างยาวนานและการบุกโจมตีโดยใช้กำลัพลมหาศาล อย่างไรก็ตาม ในการรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918 ลูเดนดอร์ฟได้ใช้ปืนใหญ่เฉพาะเป็นเวลาสั้น ๆ และแทรกซึมกลุ่มทหารราบขนาดเล็กไปยังจุดที่อ่อนแอ พวกเขาโจมตีพื้นที่สั่งการและพื้นที่ขนส่ง และผ่านจุดที่มีการต้านทานอย่างดุเดือด จากนั้น ทหารราบที่มีอาวุธหนักกว่าจะเข้าบดขยี้ที่ตั้งที่ถูกโดดเดี่ยวนี้ภายหลัง ความสำเร็จของเยอรมนีนี้อาศัยความประหลาดใจของข้าศึกอยู่มาก[96]

แนวหน้าเคลื่อนเข้าไปในระยะ 120 กิโลเมตรจากกรุงปารีส ปืนใหญ่รถไฟหนักของครุพพ์ยิงกระสุน 183 นัดเข้าใส่กรุงปารีส ทำให้ชาวปารีสจำนวนมากหลบหนี การรุกในช่วงแรกประสบความสำเร็จอย่างงดงามกระทั่งจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงประกาศให้วันที่ 24 มีนาคมเป็นวันหยุดราชการ ชาวเยอรมันจำนวนมากคิดว่าชัยชนะของสงครามอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังการต่อสู้อย่างหนัก ปรากฏว่าการรุกของเยอรมนีหยุดชะงักไป การขาดแคลนรถถังหรือปืนใหญ่เคลื่อนที่ทำให้ฝ่ายเยอรมันไม่สามารถรวมกำลังกันรุกต่อไปได้ สถานการณ์ดังกล่าวยังเลวร้ายลงไปอีกเมื่อเส้นทางส่งกำลังบำรุงตอนนี้ถูกยืดออกไปอันเป็นผลจากการรุก[97] การหยุดกะทันหันนี้ยังเป็นผลมาจากกำลังจักรวรรดิออสเตรเลีย (AIF) จำนวนสี่กองพลที่ถูกกวดไล่ และสามารถกระทำในสิ่งที่ไม่มีกองทัพใดสามารถทำได้ และหยุดยั้งการรุกของเยอรมนีตามเส้นทางได้ ระหว่างช่วงเวลานี้ กองพลออสเตรเลียที่หนึ่งถูกส่งขึ้นเหนืออย่างเร่งรีบอีกครั้งเพื่อหยุดยั้งการเจาะผ่านครั้งที่สองของเยอรมนี

พลเอกฟอคกดดันให้ใช้กำลังอเมริกาที่มาถึงแล้วเป็นการเข้าสวมตำแหน่งแทนโดยลำพัง แต่เพอร์ชิงมุ่งให้จัดวางหน่วยของสหรัฐอเมริกาเป็นกองกำลังอิสระ หน่วยเหล่านี้ถูกมอบหมายให้อยู่ในการบังคับบัญชาของฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษที่ทหารร่อยหรอลง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สภาสงครามสูงสุดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรถูกจัดตั้งขึ้นที่การประชุมดูล็อง (Doullens) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917[98] พลเอกฟอคถูกแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรสูงสุด เฮก เปแตง และเพอร์ชิงยังคงมีการควบคุมทางยุทธวิธีในส่วนของตนอยู่ ฟอครับบทบาทประสานงาน มากกว่าบทบาทชี้นำ และกองบัญชาการอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐดำเนินการส่วนใหญ่เป็นอิสระต่อกัน[98]

หลังปฏิบัติการมิคาเอล เยอรมนีเริ่มปฏิบัติการเกออร์เกทเทอ (Operation Georgette) ต่อเมืองท่าช่องแคบอังกฤษทางเหนือ ฝ่ายสัมพันธมิตรหยุดยั้งการผลักดันโดยเยอรมนีได้รับดินแดนเพิ่มน้อยมาก กองทัพเยอรมันทางใต้เริ่มปฏิบัติการบลอแชร์และยอร์ค ซึ่งพุ่งเป้าไปยังกรุงปารีส ปฏิบัติการมาร์นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม โดยพยายามจะล้อมแรมส์และเริ่มต้นยุทธการแม่น้ำมาร์นครั้งที่สอง การตีตอบโต้ที่เป็นผลนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการรุกร้อยวัน นับเป็นการรุกที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงคราม

จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม กองทัพเยอรมันถูกผลักดันข้ามแม่น้ำมาร์นที่แนวเริ่มต้นไกแซร์ชลัชท์[99] โดยที่ไม่บรรลุจุดประสงค์ใด ๆ เลย หลังขั้นสุดท้ายของสงครามในทางตะวันตกแล้ว กองทัพเยอรมันจะไม่อาจเป็นฝ่ายริเริ่มได้อีก ความสูญเสียของเยอรมนีระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน ค.ศ. 1918 อยู่ที่ 270,000 คน รวมทั้งสตอร์มทรุปเปอร์ที่ได้รับการฝึกอย่างดี ขณะเดียวกัน ในประเทศกำลังแตกออกเป็นเสี่ยง การรณรงค์ต่อต้านสงครามเกิดบ่อยครั้งขึ้น และขวัญกำลังใจในกองทัพถดถอย ผลผลิตทางอุตสาหกรรมทรุดลงอย่างหนัก โดยคิดเป็น 53% ของผลผลิตทางอุตสาหกรรมใน ค.ศ. 1913

[แก้] ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัย: ฤดูร้อนและใบไม้ร่วง ค.ศ. 1918

ดูบทความหลักที่ การรุกร้อยวัน
ทหารปืนใหญ่อังกฤษในยุทธการอาเมียง
ทหารช่างอเมริกันขณะเดินทางกลับจากแนวหน้า ระหว่างยุทธการแซงมีอีล

การตีตอบโต้ของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรู้จักกันว่า การรุกร้อยวัน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1918 ในยุทธการอาเมียง กองทัพน้อยที่ 3 กองทัพอังกฤษที่ 4 อยู่ทางปีกซ้าย กองทัพฝรั่งเศสที่ 1 อยู่ทางปีกขวา และกองทัพน้อยออสเตรเลียและแคนาดาเป็นหัวหอกโจมตีตรงกลางผ่าน Harbonnières[100][101] ยุทธการครั้งนั้นมีรถถังมาร์ก 4 และมาร์ก 5 กว่า 414 คัน และทหารกว่า 120,000 นายเข้าร่วม ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกเข้าไป 12 กิโลเมตรในดินแดนที่เยอรมนีถือครองในเวลาเพียงเจ็ดชั่วโมง อีริช ลูเดนดอร์ฟ เรียกวันนี้ว่า "วันอันมืดมนของกองทัพเยอรมัน"[100][102]

หัวหอกออสเตรเลีย-แคนาดาที่อาเมียง ยุทธการซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความล่มจมของเยอรมนี[103] ช่วยดึงให้กองทัพอังกฤษคืบหน้าไปทางเหนือและกองทัพฝรั่งเศสไปทางใต้ ขณะที่การต้านทานของเยอรมนีบนแนวรบกองทัพอังกฤษที่ 4 ที่อาเมียงเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง หลังฝ่ายสัมพันธมิตรรุกเข้าไป 14 กิโลเมตรจากอาเมียง กองทัพฝรั่งเศสที่ 3 ขยายความยาวของแนวรบอาเมียงเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เมื่อกองทัพถูกส่งไปทางปีกขวาของกองทัพฝรั่งเศสทรา 1 และรุกเข้าไป 6 กิโลเมตร ซึ่งกำลังปลดปล่อย Lassigny กระทั่งการสู้รบดำเนินไปจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม ทางใต้ของกองทัพฝรั่งเศสที่ 3 พลเอก Charles Mangin เคลื่อนกองทัพฝรั่งเศสที่ 10 ไปข้างหน้าที่ Soissons เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เพื่อจับกุมเชลยศึกแปดพันคน ปืนใหญ่สองร้อยกระบอก และที่ราบสูง Aisne ที่มองเห็นและคุกคามที่ตั้งของเยอรมนีทางเหนือของ Vesle[104] อีริช ลูเดนดอร์ฟบรรยายว่านี่เป็น "วันอันมืดมน" อีกวันหนึ่ง

ขณะเดียวกัน พลเอก Byng แห่งกองทัพอังกฤษที่ 3 รายงานว่าข้าศึกบนแนวรบของเขากำลังมีจำนวนลดลงจากการจำกัดการล่าถอย ถูกออกคำสั่งให้โจมตีด้วยรถถัง 200 คัน ไปยัง Bapaume เปิดฉากยุทธการอัลแบร์ (Albert) ด้วยคำสั่งเฉพาะให้ "เจาะแนวรบข้าศึก เพื่อที่จะตีโอบปีกข้าศึกที่อยู่บนแนวรบ" (ตรงข้ามกองทัพอังกฤษที่ 4 ที่อาเมียง)[103] การโจมตีเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะชิงความได้เปรียบจากการรุกที่ประสบความสำเร็จตรงปีก แล้วจากนั้นจึงยุติเมื่อการโจมตีสูญเสียแรงผลักดันเริ่มต้นไป[104]

แนวรบยาว 24 กิโลเมตรของกองทัพอังกฤษ ทางเหนือของอัลแบร์ มีความคืบหน้า หลังหยุดไปวันหนึ่งเมื่อเผชิญกับแนวต้านทานหลักซึ่งข้าศึกได้ถอนกำลังไปแล้ว[105] กองทัพอังกฤษที่ 4 ของรอว์ลินสัน สามารถสู้รบต่อไปทางปีกซ้ายระหว่างอัลแบร์และซอมม์ ซึ่งยืดแนวระหว่างตำแหน่งอยู่หน้าของกองทัพที่ 3 และแนวรบอาเมียง ซึ่งส่งผลให้ยึดอัลแบร์กลับคืนได้ในขณะเดียวกัน[104] วันที่ 26 สิงหาคม กองทัพอังกฤษที่ 1 ซึ่งอยู่ทางปีกซ้ายของกองทัพที่ 3 ถูกดึงเข้าสู่การสู้รบซึ่งยืดกองทัพไปทางเหนือจนพ้นอารัส เหล่าทหารแคนาดาซึ่งกลับอยู่ที่เดิมในทัพหน้าของกองทัพที่ 1 สู้รบจากอารัสไปทางตะวันออก 8 กิโลเมตร คร่อมพื้นที่อารัส-กองเบร์ ก่อนจะถึงการป้องกันชั้นนอกของแนวฮินเดนบูร์ก ก่อนจะเจาะแนวดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม วันเดียวกัน เยอรมนีเสีย Bapaume ให้แก่กองพลนิวซีแลนด์แห่งกองทัพที่ 3 และกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งยังนำการรุกของกองทัพที่ 4 สามารถผลักดันแนวรบไปข้างหน้าที่อาเมียงและยึดเปรอนน์ (Peronne) และมงแซ็ง-เกียงแต็ง (Mont Saint-Quentin) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ห่างไปทางใต้ กองทัพฝรั่งเศสที่ 1 และที่ 3 รุกคืบอย่างช้า ๆ ขณะที่กองทัพที่ 10 ซึ่งข้ามแม่น้ำ Ailette มาแล้ว และอยู่ทางตะวันออกของ Chemin des Dames ปัจจุบันอยู่ใกล้กับตำแหน่งอัลเบริชของแนวฮินเดนแบร์ก[106] ระหว่างช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม แรงกดดันตามแนวรบยาว 113 กิโลเมตรต่อข้าศึกนั้นเป็นไปอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง แม้กระทั่งทางเหนือในฟลานเดอร์ กองทัพอังกฤษที่ 2 และที่ 5 มีความคืบหน้าจับกุมเชลยศึกและยึดที่มั่นได้ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน[106]

วันที่ 2 กันยายน เหล่าแคนาดาโอบล้อมแนวฮินเดนแบร์กด้านข้าง ด้วยการเจาะตำแหน่งโวทัน (Wotan) ทำให้กองทัพที่ 3 สามารถรุกคืบต่อไปได้ ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับตลอดแนวรบด้านตะวันตก วันเดียวกันโอแบร์สเตอ เฮเรสไลทุง (OHL) ไม่มีทางเลือกนอกจากสั่งให้หกกองทัพล่าถอยเข้าไปสู่แนวฮินเดนแบร์กทางใต้ หลังกานัลดูนอร์ดบนแนวรบกองทัพที่ 1 ของแคนาดา และถอนกลับไปยังแนวทางตะวันออกของลิส (Lys) ในทางเหนือ ซึ่งถูกยึดครองโดยปราศจากการต่อสู้ ส่วนที่ยื่นออกมาถูกยึดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา[107] ตามข้อมูลของลูเดนดอร์ฟฟ์ "เราจำต้องยอมรับความจำเป็น ... ที่จะล่าถอยทั้งแนวรบจากสการ์ป (Scarpe) ถึงเวสเล (Vesle)"[108]

เวลาเกือบสี่สัปดาห์หลังการต่อสู้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม มีเชลยศึกเยอรมันถูกจับกุมได้เกิน 100,000 นาย อังกฤษจับได้ 75,000 นาย และที่เหลือโดยฝรั่งเศส จนถึง "วันอันมืดมนของกองทัพเยอรมัน" กองบัญชาการทหารสูงสุดเยอรมนีตระหนักว่าพ่ายสงครามแล้วและพยายามบรรลุจุดจบอันน่าพอใจ วันหลังการสู้รบ ลูเดนดอร์ฟฟ์บอกพันเอกแมร์ทซ์ว่า "เราไม่อาจชนะสงครามได้อีกต่อไป แต่เราจะต้องไม่แพ้เช่นกัน" วันที่ 11 สิงหาคม เขาเสนอลาออกจากตำแหน่งต่อไกเซอร์ ผู้ทรงปฏิเสธ โดยทรงตอบว่า "ฉันเห็นว่าเราต้องทำให้เกิดสมดุล เราได้เกือบถึงขีดจำกัดอำนาจการต้านทานของเรา สงครามต้องยุติ" วันที่ 13 สิงหาคม ที่สปา (Spa) ฮินเดนแบร์ก ลูเดนดอร์ฟฟ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศฮินทซ์ตกลงว่าสงครามไม่อาจยุติลงได้ในทางทหาร และในวันรุ่งขึ้นสภาราชสำนักเยอรมันตัดสินใจว่า ชัยชนะในสนามรบขณะนี้ยากที่จะเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ออสเตรียและฮังการีเตือนว่า ทั้งสองสามารถทำสงครามได้ถึงเดือนธันวาคมเท่านั้น และลูเดนดอร์ฟฟ์เสนอการเจรจาสันติภาพทันที แด่ไกเซอร์ผู้ทรงสนองโดยทรงแนะนำให้ฮินทซ์มองหาการไกล่เกลี่ยจากสมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายรุพเพรชท์เตือนเจ้าชายมักซ์แห่งบาเดนว่า "สถานการณ์ทางทหารของเราบั่นทอนลงอย่างรวดเร็วเสียใจฉันไม่เชื่อว่าเราสามารถยื้อได้ตลอดฤดูหนาวอีกต่อไป และเป็นไปได้ว่าหายนะจะมาเร็วกว่านั้น" วันที่ 10 กันยายน ฮินเดนแบร์กกระตุ้นท่าทีสันติภาพต่อจักรพรรดิชาลส์แห่งออสเตรีย และเยอรมนีร้องต่อเนเธอร์แลนด์ขอการไกล่เกลี่ย วันที่ 14 กันยายน ออสเตรียส่งบันทึกถึงคู่สงครามและประเทศเป็นเลางทั้งหมดเสนอการประชุมสันติภาพในประเทศที่เป็นกลาง และวันที่ 15 กันยายน เยอรมนียื่นข้อเสนอสันติภาพต่อเบลเยียม ข้อเสนอสันติภาพทั้งสองถูกปฏิเสธ และวันที่ 24 กันยายน OHL แจ้งต่อผู้นำในเบอร์ลินว่าการเจรจาสงบศึกหลีกเลี่ยงไม่ได้[106]

เดือนกันยายนเป็นเดือนที่ฝ่ายเยอรมันยังคงสู้รบการปฏิบัติกองระวังหลังอย่างเข็มแข้งและเริ่มการตีโต้ตอบหลายครั้งต่อตำแหน่งที่เสียไป แต่ประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อย และเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมือง หมู่บ้าน ที่สูงและสนามเพลาะในตำแหน่งและกองรักษาด่านที่มีการป้องกันของแนวฮินเดนแบร์กยังเสียแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพอังกฤษเพียงชาติเดียวก็สามารถจับเชลยศึกได้ถึง 30,441 นายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การรุกต่อไปทางตะวันออกขนาดเล็กจะเกิดขึ้นหลังชัยชนะของกองทัพที่ 3 ที่อีวินกูร์ (Ivincourt) ในวันที่ 12 กันยายน กองทัพที่ 4 ที่อีเฟอนี (Epheny) ในวันที่ 18 กันายน และกองทัพฝรั่งเศสยึดได้แอซซีญีเลอก็อง (Essigny-le-Grand) อีกวันหนึ่งให้หลัง วันที่ 24 กันยายน การโจมตีครั้งสุดท้ายของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสบนแนวรบ 6.4 กิโลเมตรจะเข้ามาในระยะ 3.2 กิโลเมตรของแซ็งก็องแต็ง (St. Quentin)[106] ด้วยกองรักษาด่านและแนวป้องกันขั้นต้นของตำแหน่งซีกฟรีดและอัลเบริชถูกทำลายหมดไป ฝ่ายเยอรมันขณะนี้อยู่หลังแนวฮินเดนแบร์กทั้งหมด ด้วยตำแหน่งโวทันของแนวนั้นได้ถูกเจาะไปแล้วและตำแหน่งซีกฟรีดอยู่ในอันตรายจะถูกโอบจากทางเหนือ เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรสบโอกาสโจมตีตลอดทั้งความยาวแนวรบ

การโจมตีตรงแนวฮินเดนแบร์กของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน รวมทหารสหรัฐด้วย ทหารอเมริกันที่ยังอ่อนประสบการณ์ประสบปัญหาเกี่ยวกับรถไฟเสบียงสำหรับหน่วยขนาดใหญ่บนภูมิประเทศทุรกันดาร[109] สัปดาห์หนึ่งให้หลังหน่วยฝรั่งเศสและอเมริกันเจาะผ่านในช็องปาญ (Champagne) ที่ยุทธการเนินบลังก์มง (Blanc Mont) บีบให้ฝ่ายเยอรมันถอยไปจากที่สูงที่ควบคุมอยู่ และรุกคืบเข้าใกล้ชายแดนเบลเยียม[110] เมืองเบลเยียมแห่งสุดท้ายที่ได้รับการปลดปล่อยก่อนการสงบศึกคือ เกนต์ (Ghent) ซึ่งฝ่ายเยอรมันยึดไว้เป็นจุดหลังกระทั่งฝ่ายสัมพันธมิตรนำปืนใหญ่ขึ้นมา[111][112] กองทัพเยอรมันได้ย่นระยะแนวรบของตนและใช้พรมแดนดัตช์เป็นสมอเพื่อสู้รบการปฏิบัติกองหลัง

เมื่อบัลแกเรียลงนามการสงบศึกแยกต่างหากเมื่อวันที่ 29 กันยายน ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับการควบคุมเซอร์เบียและกรีซ ลูเดนดอร์ฟฟ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความเครียดใหญ่หลวงหลายเดือน มีอาการคล้ายกับป่วย เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเยอรมนีไม่อาจป้องกันได้อย่างสำเร็จอีกต่อไป[113][114]

ขณะเดียวกัน ข่าวความพ่ายแพ้ทางทหารที่กำลังเกิดขึ้นในไม่ช้าของเยอรมนีแพร่สะพัดไปทั่วกองทัพเยอรมัน ภัยคุกคามการขัดขืนคำสั่งนั้นสุกงอม พลเรือเอกไรนาร์ด เชร์และลูเดนดอร์ฟฟ์ตัดสินใจเริ่มความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อฟื้นฟู "ความกล้าหาญ" ของกองทัพเรือเยอรมัน โดยทราบว่ารัฐบาลของเจ้าชายมาซีมีลันแห่งบาเดนจะยับยั้งการปฏิบัติเช่นนี้ ลูเดนดอร์ฟฟ์ตัดสินใจไม่ถวายรายงาน อย่างไรก็ดี ข่าวการโจมตีที่กำลังเกิดขึ้นในไม่ช้ามาถึงหูกะลาสีที่คีล กะลาสีหลายคนปฏิเสธจะเข้าร่วมการรุกทางทะเลซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ก่อกบฏและถูกจับกุม ลูเดนดอร์ฟฟ์รับผิดชอบความผิดพลาดนี้ ไกเซอร์ปลดเขาในวันที่ 26 ตุลาคม การล่มสลายของบอลข่านหมายความ่วา เยอรมนีกำลังเสียเสบียงอาหารและน้ำมันหลักของตน ปริมาณสำรองได้ใช้หมดไปแล้ว ขณะเดียวกับที่กองทัพสหรัฐมาถึงยุโรปด้วยอัตรา 10,000 นายต่อวัน[115]

โดยได้รับความสูญเสียถึง 6 ล้านชีวิต เยอรมนีได้หันไปหาสันติภาพ เจ้าชายมาซีมีลันแห่งบาเดนมีหน้าที่ในรัฐบาลใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร การเจรจาทางโทรเลขกับประธานาธิบดีวิลสันเริ่มขึ้นทันที ในความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเขาจะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่ากับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่วิลสันกลับเรียกร้องให้ไกเซอร์สละราชสมบัติ ไม่มีการต่อต้านเมื่อฟีลิพพ์ ไชเดมันน์แห่งพรรคสังคมประชาธิปไตย ประกาศให้เยอรมนีเป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายลง และเยอรมนีใหม่ คือ สาธารณรัฐไวมาร์ ได้เกิดขึ้นแทน[116]

[แก้] การสงบศึกและการยอมจำนน

ในภาพ จอมพลฟอคเป็นคนที่สองนับจากทางขวา ด้านหลังเป็นตู้โดยสารรถไฟในป่าคองเปียญอันเป็นสถานที่ลงนามการสงบศึก ตู้รถไฟนี้ภายหลังถูกใช้เชิงสัญลักษณ์ในการสงบศึกของเปแตงในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 มันถูกย้ายไปยังกรุงเบอร์ลินเป็นรางวัล แต่เนื่องจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ย้ายไปยังคราวินเคล ธูรินเกีย ที่ซึ่งมันถูกทำลายอย่างเจตนาโดยกำลังเอสเอสใน ค.ศ. 1945[117]

การล่มสลายของฝ่ายมหาอำนาจกลางมาเยือนอย่างรวดเร็ว บัลแกเรียเป็นประเทศแรกที่ลงนามการสงบศึก เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1918 ที่ซาโลนิกิ[118] วันที่ 30 ตุลาคม จักรวรรดิออตโตมันยอมจำนนที่มูโดรส[118]

วันที่ 24 กันยายน อิตาลีเริ่มการผลักดันซึ่งทำให้ได้รับดินแดนที่สูญเสียไปคืนหลังยุทธการคาปอเร็ตโต จนลงเอยในยุทธการวิตโตริโอ เวเนโต อันเป็นจุดจบที่กองทัพออสเตรีย-ฮังการีไม่อาจเป็นกำลังรบที่มีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป การรุกนี้ยังกระตุ้นการสลายตัวของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม มีการประกาศเอกราชขึ้นในกรุงบูดาเปสต์, ปราก และซาเกร็บ วันที่ 29 ตุลาคม ทางการออสเตรีย-ฮังการีขอสงบศึกกับอิตาลี แต่อิตาลีรุกคืบต่อไป โดยไปถึงเทรนโต, ยูดีนและตรีเอสเต วันที่ 3 พฤศจิกายน ออสเตรีย-ฮังการีส่งธงพักรบขอการสงบศึก เงื่อนไข ซึ่งจัดการโดยโทรเลขกับทางการฝ่ายสัมพันธมิตรในกรุงปารีส มีการสื่อสารไปยังผู้บัญชาการออสเตรียและยอมรับ การสงบศึกกับออสเตรียมีการลงนามในวิลลา กิอุสติ ใกล้กับพาดัว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ออสเตรียและฮังการีลงนามการสงบศึกแยกกันหลังการล้มล้างราชวงศ์ฮับส์บูร์ก

หลังการปะทุของการปฏิวัติเยอรมัน มีการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน องค์ไกเซอร์ได้ทรงหลบหนีไปยังเนเธอร์แลนด์ วันที่ 11 พฤศจิกายน มีการลงนามการสงบศึกกับเยอรมนีขึ้นในตู้โดยสารรถไฟในคองเปียญ เมื่อเวลา 11 นาฬิกา ของวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 หรือ "ชั่วโมงที่สิบเอ็ด ของวันที่สิบเอ็ด ของเดือนที่สิบเอ็ด" การหยุดยิงมีผลบังคับ กองทัพซึ่งประจัญกันอยู่บนแนวรบด้านตะวันตกนั้นเริ่มถอนจากตำแหน่งของตน พลทหารแคนาดา จอร์จ ลอว์เรนซ์ ไพรซ์ ถูกยิงโดยพลแม่นปืนชาวเยอรมันเมื่อเวลา 10.57 น. และสิ้นชีวิตเมื่อเวลา 10.58 น.[119] เฮนรี กึนเธอร์ชาวอเมริกันถูกสังหาร 60 วินาทีก่อนการสงบศึกมีผลบังคับขณะเข้าตีกำลังพลเยอรมันที่รู้สึกประหลาดใจ เพราะทราบข่าวว่า กำลังจะมีการสงบศึกขึ้น[120] ทหารอังกฤษคนสุดท้ายที่เสียชีวิต คือ พลทหารจอร์จ เอ็ดวิน เอลลิสัน ผู้เสียชีวิตคนสุดท้ายในสงคราม คือ ร้อยโทโธมัส ผู้ซึ่ง หลังเวลา 11 นาฬิกา กำลังเดินไปยังแนวรบเพื่อแจ้งข่าวแก่ทหารอเมริกันซึ่งยังไม่ถูกแจ้งข่าวการสงบศึกว่า พวกเขาจะละทิ้งอาคารเบื้องหลังพวกเขา[121]

สถานะสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองฝ่ายดำรงอยู่เป็นเวลาอีกจนเดือน กระทั่งการลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายกับเยอรมนีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 สนธิสัญญากับออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรียและจักรวรรดิออตโตมันมีการลงนามภายหลัง อย่างไรก็ดี การเจรจากับจักรวรรดิออตโตมันนั้นตามมาด้วยการขัดแย้งกัน และสนธิสัญญาสันติภาพสุดท้ายระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับประเทศซึ่งอีกต่อมาไม่นานจะได้ชื่อว่า สาธารณรัฐตุรกี มีการลงนามเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 ที่โลซาน

ในทางกฎหมาย สนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการไม่เสร็จสมบูรณ์กระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญาโลซานฉบับสุดท้าย ภายใต้เงื่อนไขนั้น กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรถอนออกจากคอนสแตนติโนเปิลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1923

[แก้] ความได้เปรียบของฝ่ายสัมพันธมิตรและตำนานแทงข้างหลัง พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีกำลังบำรุงที่เป็นคนและยุทโธปกรณ์มากพอที่จะรุกรานเยอรมนี กระนั้น เมื่อมีการสงบศึกนั้น ไม่มีกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรใดข้ามพรมแดนเยอรมนีได้เลย แนวรบด้านตะวันตกยังอยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลินเกือบ 1,400 กิโลเมตร และกองทัพเยอรมันยังล่าถอยจากสนามรบอย่างเป็นระเบียบดี ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ฮินเดนบูร์กและผู้นำเยอรมันอาวุโสคนอื่น ๆ เผยแพร่เรื่องเล่าว่า กองทัพของพวกเขามิได้ถูกเอาชนะอย่างแท้จริง ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นตำนานแทงข้างหลัง[122][123] คือ ถือว่าความพ่ายแพ้ของเยอรมนีนั้นมิได้เกิดจากการขาดความสามารถในการสู้รบต่อไป (แม้ทหารมากถึงหนึ่งล้านนายกำลังเจ็บป่วยจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ค.ศ. 1918 และไม่พร้อมรบ) แต่เป็นเพราะสาธารณชนขาดการสนองต่อ "การเรียกด้วยความรักชาติ" และการก่อวินาศกรรมอย่างเจตนาต่อความพยายามของสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกยิว สังคมนิยมและบอลเชวิค

[แก้] เทคโนโลยี

สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นเป็นการปะทะของเทคโนโลยีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 กับยุทธวิธีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยได้เกิดความสูญเสียเลือดเนื้ออย่างใหญ่หลวงตามมา อย่างไรก็ดี เมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1917 กองทัพของประเทศใหญ่ ๆ ซึ่งมีกำลังพลหลายล้านนาย ได้ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยและมีการใช้โทรศัพท์ การสื่อสารไร้สาย[124] รถหุ้มเกราะ รถถัง[125] และอากาศยาน ขบวนทหารราบมีการจัดใหม่ ดังนั้น กองร้อยที่มีทหาร 100 นายจึงมิใช่หน่วยหลักในการดำเนินกลยุทธ์อีกต่อไป และหมู่ที่มีทหารประมาณ 10 นาย ภายใต้บัญชาของนายทหารประทวนอ่อนอาวุโสกลายเป็นได้รับความนิยม

ปืนใหญ่เองก็ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นเช่นกัน ใน ค.ศ. 1914 ปืนใหญ่ประจำอยู่ในแนวหน้าและยิงไปยังเป้าหมายโดยตรง จนถึง ค.ศ. 1917 การยิงเล็งจำลองด้วยปืน (เช่นเดียวกับปืนครกหรือแม้กระทั่งปืนกล) พบแพร่หลาย โดยใช้เทคนิคใหม่สำหรับการกำหนดตำแหน่งและการตั้งระยะ ที่โดดเด่นคือ อากาศยานและโทรศัพท์สนามที่ตกค้างบ่อยครั้ง ภารกิจต่อสู้กองร้อยทหารปืนใหญ่ก็ได้กลายมาแพร่หลายเช่นกัน และการตรวจจับเสียงได้ถูกใช้เพื่อค้นหาปืนใหญ่ของข้าศึก

เยอรมนีนำหน้าฝ่ายสัมพันธมิตรไกลในการใช้การเล็งยิงจำลองหนัก กองทัพเยอรมันติดตั้งฮาวอิตเซอร์ขนาด 150 และ 210 มม. ใน ค.ศ. 1914 ขณะที่ปืนใหญ่ตามแบบของฝรั่งเศสและอังกฤษมีขนาดเพียง 75 และ 105 มม. อังกฤษมีฮาวอิตเซอร์ 152 มม. แต่มันหนักเสียจนต้องลำเลียงสู่สนามเป็นชิ้น ๆ และประกอบใหม่ ฝ่ายเยอรมันยังประจำปืนใหญ่ออสเตรีย 305 มม. และ 420 มม. และเมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้นนั้น ได้มีรายการมีเนนเวอร์เฟอร์ (Minenwerfer) หลายขนาดลำกล้องแล้ว ซึ่งเหมาะสำหรับการสงครามสนามเพลาะตามทฤษฎี[126]

การสู้รบมากครั้งข้องเกี่ยวกับการสงครามสนามเพลาะ ซึ่งทหารหลายร้อยนายเสียชีวิตในแผ่นดินแต่ละหลาที่ยึดได้ ยุทธการครั้งนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวนมากเกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยุทธการเหล่านั้นเช่น อีแปร มาร์น คัมไบร ซอมม์ แวร์เดิง และกัลลิโปลี ฝ่ายเยอรมันนำกระบวนการฮาเบอร์ซึ่งเป็นการตรึงไนโตรเจนมาใช้ เพื่อให้กำลังมีเสบียงดินปืนอย่างต่อเนื่อง แม้ฝ่ายอังกฤษจะทำการปิดล้อมทางทะเลก็ตาม[127] ปืนใหญ่เป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด[128] และบริโภควัตถุระเบิดปริมาณมหาศาล การบาดเจ็บที่ศีรษะจำนวนมากเกิดขึ้นจากกระสุนปืนใหญ่ที่ระเบิดและการแตกกระจาย ทำให้ชาติที่เข้าร่วมสงครามต้องพัฒนาหมวกเหล็กกล้าสมัยใหม่ นำโดยฝรั่งเศส ซึ่งนำหมวกเอเดรียนมาใช้ใน ค.ศ. 1915 และต่อมาไม่นานอังกฤษและสหรัฐได้ใช้หมวกโบรดี และใน ค.ศ. 1916 โดยหมวกสทาลเฮล์มที่มีเอกลักษณ์ของเยอรมนี ซึ่งการออกแบบและการปรับปรุง ยังใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

การใช้การสงครามเคมีอย่างแพร่หลายเป็นคุณลักษณะเด่นเฉพาะของความขัดแย้งนี้ แก๊สที่ใช้มีคลอรีน แก๊สมัสตาร์ดและฟอสจีน มีผู้เสียชีวิตจากแก๊สในสงครามเพียงเล็กน้อย[129] เพราะมีวิธีการรับมือการโจมตีด้วยแก๊สที่มีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว เช่น หน้ากากกันแก๊ส ทั้งการใช้สงครามเคมีและการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขอบเขตเล็กนั้นถูกบัญญัติห้ามโดยอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1907 และทั้งสองพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพจำกัด[130] แม้จะจับจินตนาการของสาธารณะก็ตาม

อาวุธติดตั้งภาคพื้นที่ทรงอานุภาพที่สุด คือ ปืนใหญ่รถไฟ (railway gun) ซึ่งแต่ละกระบอกหนักหลายร้อยตัน ปืนใหญ่เหล่านี้มีชื่อเล่นว่า บิกเบอร์ธา เยอรมนีได้พัฒนาปืนใหญ่ปารีส ซึ่งสามารถยิงถล่มกรุงปารีสจากพื้นที่ซึ่งห่างออกไปกว่า 100 กิโลเมตรได้ แม้กระสุนปืนใหญ่จะค่อนข้างเบา โดยมีน้ำหนัก 94 กิโลกรัม แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะมีปืนใหญ่รถไฟเช่นเดียวกับเยอรมนี แต่แบบของเยอรมันมีพิสัยไกลกว่าและเหนือชั้นกว่าของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก

[แก้] การบิน

อากาศยานปีกตรึงมีการใช้ในทางทหารครั้งแรกโดยอิตาลีในลิเบียเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ระหว่างสงครามอิตาลี-ตุรกีเพื่อการลาดตระเวน ตามมาด้วยการทิ้งระเบิดมือและการถ่ายภาพทางอากาศในปีต่อมา เมื่อถึง ค.ศ. 1914 ประโยชน์ใช้สอยทางทหารของอากาศยานนั้นปรากฏชัด อากาศยานเหล่านี้เดิมทีใช้เพื่อการลาดตระเวนและโจมตีภาคพื้นดิน ในการยิงเครื่องบินฝ่ายข้าศึก จึงได้มีการพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานและเครื่องบินขับไล่ขึ้น เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ถูกผลิตขึ้น โดยเยอรมนีและอังกฤษเป็นหลัก แม้เยอรมนีจะใช้เซพเพลินด้วยเช่นกัน[131] เมื่อสงครามใกล้ยุติ เรือบรรทุกเครื่องบินจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก

บอลลูนสังเกตการณ์ที่มีคนขับ ลอยสูงเหนือสนามเพลาะ ถูกใช้เป็นแท่นตรวจตราอยู่กับที่ คอยรายงานการเคลื่อนไหวของข้าศึกและชี้เป้าให้ปืนใหญ่ โดยทั่วไปบอลลูนมีลูกเรือสองคน และมีร่มชูชีพติดตัว[132] เผื่อหากมีการโจมตีทางอากาศของข้าศึก ร่มชูชีพจะสามารถกระโดดร่มออกมาได้อย่างปลอดภัย

เมื่อมีการตระหนักถึงคุณค่าของบอลลูนในฐานะแท่นสังเกตการณ์ บอลลูนจึงตกเป็นเป้าสำคัญขออากาศยานข้าศึก ในการป้องกันบอลลูนจากการโจมตีทางอากาศ บอลลูนจึงได้รับการป้องกันอย่างแน่นหนาโดยปืนต่อสู้อากาศยานและมีอากาศยานฝ่ายเดียวกันลาดตระเวน ในการโจมตี ได้มีการทดลองใช้อาวุธไม่ธรรมดาอย่างจรวดอากาศสู่อากาศ ดังนั้น คุณค่าการสังเกตการณ์ของเรือเหาะและบอลลูนจึงได้มีส่วนต่อการพัฒนาการสู้รบแบบอากาศสู่อากาศระหว่างอากาศยานทุกประเภท และต่อภาวะคุมเชิงกันในสนามเพลาะ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ได้โดยไม่ถูกสังเกตพบ เยอรมนีดำเนินการตีโฉบฉวยทางอากาศต่ออังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1915 และ 1916 ด้วยเรือบิน โดยหวังว่าจะบั่นทอนขวัญกำลังใจของอังกฤษและส่งผลให้อากาศยานถูกเบี่ยงเบนไปจากแนวหน้า และที่จริง ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นตามมาได้นำไปสู่การเบี่ยงเบนฝูงเครื่องบินขับไหล่หลายฝูงจากฝรั่งเศส[131][133]

[แก้] เทคโนโลยีนาวิก

เยอรมนีวางเรืออู (เรือดำน้ำ) หลังสงครามอุบัติ โดยเปลี่ยนไปมาระหว่างการสงครามเรือดำน้ำจำกัดและไม่จำกัดในมหาสมุทรแอตแลนติก ไกเซอร์ลีเชอมารีนจัดวางเพื่อตัดทอนเสบียงสำคัญมิให้ไปถึงหมู่เกาะอังกฤษ การเสียชีวิตของกะลาสีเรือพาณิชย์อังกฤษและการที่เรืออูดูเหมือนอยู่คงกระพันนำไปสู่การพัฒนาทุ่นระเบิดน้ำลึก (ค.ศ. 1916), ไฮโดรโฟน (โซนาร์เชิงรับ, ค.ศ. 1917), เรือเหาะ (blimp), เรือดำน้ำล่าสังหาร (เรือหลวงอาร์-1, ค.ศ. 1917), อาวุธต่อสู้เรือดำน้ำโยนไปด้านหน้า และไฮโดรโฟนจุ่ม (สองอย่างนี้ถูกยกเลิกไปใน ค.. 1918) เพื่อขยายขอบเขตการปฏิบัติ เยอรมนีได้เสนอเรือดำน้ำเสบียง (ค.ศ. 1916) เทคโนโลยต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกลืมไปหลังสงครามยุติ ก่อนได้รับการรื้อฟื้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ

[แก้] เทคโนโลยีการสงครามภาคพื้น

สนามเพลาะ ปืนกล การสอดแนมทางอากาศ รั้วลวดหนามและปืนใหญ่สมัยใหม่ซึ่งมีกระสุนลูกปรายมีส่วนให้แนวสู้รบของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่อาจเอาชนะกันได้เด็ดขาด อังกฤษมองหาทางออกด้วยการสร้างการสงครามรถถังและยานยนต์ขึ้น รถถังคันแรก ๆ ถูกใช้ระหว่างยุทธการซอมม์เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1916 ความน่าเชื่อถือยานยนต์นั้นเป็นปัญหา แต่การทดลองพิสูจน์ถึงคุณค่าของมัน ภายในหนึ่งปี อังกฤษส่งรถถังเข้าสู่สนามรบหลายร้อยคัน และพวกมันได้แสดงแสงยานุภาพระหว่างยุทธการคัมไบรในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ด้วยการเจาะแนวฮินเดนบูร์ก ขณะที่กำลังผสมจับกุมทหารข้าศึกเป็นเชลยได้ 8,000 นาย และยึดปืนใหญ่ได้ 100 กระบอก สงครามยังได้มีการนำอาวุธกลเบาและปืนกลมือ เช่น ปืนลิวอิส ไรเฟิลอัตโนมัติบราวนิง และเบิร์กทันน์ เอ็มเพ 18

[แก้] ภายหลังสงคราม

[แก้] ประสบการณ์ของทหารผ่านศึก

[แก้] ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกำลังคน

[แก้] ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ภายหลังสงคราม ประเทศไทยได้แก้สนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน ฯลฯ ที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาติชาติอีกด้วย

[แก้] กองทหารไทยในดินแดนเยอรมนี

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2457 ไทยตั้งตัวเป็นกลาง จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ไทยจึงได้ประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี และได้ส่งทหารอาสาสมัครไปช่วยรบประมาณ 1,200 คน ทั้งนี้รวมทั้งนายและพลทหาร สมทบกับนักเรียนไทยในนานาประเทศอีกประมาณ 400 คน รวมทหารอาสาสมัครทั้งหมดประมาณ 1,600 คน

ทหาร อาสาออกเดินทางเมื่อ พ.ศ. 2461 ถึงประเทศฝรั่งเศสอยู่ใต้บัญชาการของนายพล เปแตง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ไปปฏิบัติการในสมรภูมิประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม

ผลที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น มีความสำคัญดังนี้

  1. เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของประเทศ
  2. ได้รับเกียรติเข้าร่วมทำสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์
  3. เมื่อสงครามสงบได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกประเภทริเริ่มขององค์การสันนิบาตชาติ เป็นหลักประกันเอกราชและความปลอดภัยของประเทศ
  4. ได้แก้ไขสัญญาที่ทำไว้แต่รัชกาลที่ 4 เป็นผลสำเร็จ ยกเลิกสัญญาต่าง ๆ ที่ไทยทำกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี และทำสัญญากับประเทศต่าง ๆ ใหม่
  5. ได้ยึดทรัพย์จากเชลย
  6. เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์ เพื่อนำไปใช้ในกองทัพไทยที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  7. สร้างอนุสาวรีย์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ อนุสาวรีย์ทหารอาสา วงเวียน 22 กรกฎา สมาคมสหายสงคราม เป็นต้น
  8. มีการจัดทหารแบบยุโรป และเริ่มจัดตั้งกรมอากาศยานขึ้นเป็นครั้งแรก

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] ภาพยนตร์และวรรณกรรม

[แก้] เชิงอรรถ

  1. ^ Willmott 2003, pp. 10–11
  2. ^ 2.0 2.1 2.2 2.3 Willmott 2003, p. 15
  3. ^ Keegan 1988, p. 8
  4. ^ Bade & Brown 2003, pp. 167–168
  5. ^ Joll 1992, pp. 10–38
  6. ^ Willmott 2003, p. 307
  7. ^ Willmott 2003, p. 307
  8. ^ 8.0 8.1 8.2 8.3 Taylor 1998, pp. 80–93
  9. ^ Djokić 2003, p. 24
  10. ^ Evans 2004, p. 12
  11. ^ Martel 2003, p. xii ff
  12. ^ Keegan 1988, p. 7
  13. ^ Keegan 1988, p. 11
  14. ^ 14.0 14.1 Keegan 1998, p. 52
  15. ^ 15.0 15.1 Willmott 2003, p. 21
  16. ^ Prior 1999, p. 18
  17. ^ Fromkin 2004, p. 94
  18. ^ 18.0 18.1 Keegan 1998, pp. 48–49
  19. ^ Willmott 2003, pp. 2–23
  20. ^ Willmott 2003, p. 26
  21. ^ Willmott 2003, p. 27
  22. ^ Willmott 2003, p. 29
  23. ^ "Daily Mirror Headlines: The Declaration of War, Published 4 August 1914". bbc.co.uk. http://www.bbc.co.uk/history/worldwars/wwone/mirror01_01.shtml. เรียกข้อมูลเมื่อ 9 February 2010. 
  24. ^ Strachan 2003, pp. 292–296, 343–354
  25. ^ Farwell 1989, p. 353
  26. ^ Tucker & Roberts 2005, p. 172
  27. ^ Tucker & Roberts 2005, pp. 376–8
  28. ^ Keegan 1968, pp. 224–232
  29. ^ Falls 1960, pp. 79–80
  30. ^ Raudzens 1990, pp. 424
  31. ^ Raudzens 1990, pp. 421–423
  32. ^ Donald James Goodspeed, The German Wars 1914-1945 (N.Y., N.Y.: Bonanza Books, 1985), page 199 (footnote).
  33. ^ Love 1996
  34. ^ Duffy
  35. ^ Tucker & Roberts 2005, p. 1221
  36. ^ Tucker & Roberts 2005, p. 854
  37. ^ Heer 2009, pp. 223–4
  38. ^ Goodspeed 1985, p. 226
  39. ^ Perry 1988, p. 27
  40. ^ ([ลิงก์เสีย] - Scholar search) Vimy Ridge, Canadian National Memorial, New South Wales Department of Veteran's Affairs and Board of Studies, 2007, http://www.ww1westernfront.gov.au/vimy_ridge/index.html 
  41. ^ Winegard, Timothy. "Here at Vimy: A Retrospective – The 90th Anniversary of the Battle of Vimy Ridge". Canadian Military Journal 8 (ฉบับที่ 2). http://www.journal.forces.gc.ca/vo8/no2/winegard-eng.asp. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-04-21. 
  42. ^ Taylor2007, pp. 39–47
  43. ^ Keene 2006, pp. 5
  44. ^ Halpern 1995, p. 293
  45. ^ Zieger 2001, pp. 50
  46. ^ Tucker & Roberts 2005, pp. 619–24
  47. ^ 47.0 47.1 47.2 47.3 Sheffield, Garry, The First Battle of the Atlantic, BBC, http://www.bbc.co.uk/history/worldwars/wwone/battle_atlantic_ww1_01.shtml, เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-11-11 
  48. ^ Gilbert 2004, p. 306
  49. ^ von der Porten 1969
  50. ^ Jones 2001, p. 80
  51. ^ Nova Scotia House of Assembly Committee on Veterans' Affairs, http://www.gov.ns.ca/legislature/hansard//comm/va/va_2006nov09.htm, เรียกข้อมูลเมื่อ 2007-10-30 
  52. ^ Roger Chickering, Stig Förster, Bernd Greiner, German Historical Institute (Washington, D.C.) (2005). "A world at total war: global conflict and the politics of destruction, 1937-1945". Cambridge University Press. p.73. ISBN 0-521-83432-5
  53. ^ "The Balkan Wars and World War I". Library of Congress Country Studies.
  54. ^ Neiberg 2005, pp. 54–55
  55. ^ Tucker & Roberts 2005, pp. 1075–6
  56. ^ Neiberg 2005, pp. 108–10
  57. ^ Tucker, Wood & Murphy 1999, p. 120
  58. ^ Pyrrhic victory: French strategy and operations in the Great War, Harvard University Press, 2005;, 2005, หน้า 491, ISBN 9780674018808, http://books.google.com/?id=vZRmHkdGk44C&pg=PA247&dq=vardar+offensive#v=onepage&q=vardar%20offensive&f=false, เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-10-03 
  59. ^ 59.0 59.1 "The Balkan Front of the World War (in Russian)". militera.lib.ru. http://militera.lib.ru/h/korsun_ng4/06.html. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-09-27. 
  60. ^ Fromkin 2001, p. 119
  61. ^ 61.0 61.1 Hinterhoff 1984, pp. 499–503
  62. ^ Sachar, pp. 122–138
  63. ^ Gilbert 1994
  64. ^ The Battles of the Isonzo, 1915-17, FirstWorldWar.com, http://www.firstworldwar.com/battles/isonzo.htm 
  65. ^ Battlefield Maps: Italian Front, FirstWorldWar.com, http://www.firstworldwar.com/maps/italianfront.htm 
  66. ^ Hickey 2003, pp. 60-65
  67. ^ "The Battle of Marasti (July 1917)". WorldWar2.ro. 1917-07-22. http://www.worldwar2.ro/primulrazboi/?language=en&article=116. เรียกข้อมูลเมื่อ 2011-05-08. 
  68. ^ Cyril Falls, The Great War, p. 285
  69. ^ Béla, Köpeczi, Erdély története, Akadémiai Kiadó, http://mek.oszk.hu/02100/02109/html/571.html 
  70. ^ Béla, Köpeczi, History of Transylvania, Akadémiai Kiadó, ISBN 848371020X, http://mek.niif.hu/03400/03407/html/429.html 
  71. ^ Erlikman, Vadim (2004), Poteri narodonaseleniia v XX veke : spravochnik, Moscow, ISBN 5-93165-107-1 
  72. ^ Brown 1994, pp. 197–198
  73. ^ Brown 1994, pp. 201–203
  74. ^ Participants from the Indian subcontinent in the First World War, Memorial Gates Trust, http://www.mgtrust.org/ind1.htm, เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-12-12 
  75. ^ Tucker 2005, p. 715
  76. ^ Meyer 2006, pp. 152–4, 161, 163, 175, 182
  77. ^ 77.0 77.1 Smele
  78. ^ Schindler 2003
  79. ^ Wheeler-Bennett 1956
  80. ^ Mawdsley 2008, pp. 54–55
  81. ^ Kernek 1970, pp. 721–766
  82. ^ Stracham (1998), p. 61
  83. ^ Lyons 1999, p. 243
  84. ^ Marshall, 292.
  85. ^ Heyman 1997, pp. 146–147
  86. ^ Kurlander 2006
  87. ^ Shanafelt 1985, pp. 125–30
  88. ^ Brands 1997, p. 756
  89. ^ Karp 1979
  90. ^ Tuchman 1966
  91. ^ "Selective Service System: History and Records". Sss.gov. http://www.sss.gov/induct.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2010-07-27. 
  92. ^ Wilgus, p. 52
  93. ^ "African Americans during World War I". http://www.archives.gov/education/lessons/369th-infantry/. 
  94. ^ Millett & Murray 1988, p. 143
  95. ^ Westwell 2004
  96. ^ Posen 1984, pp. 190&191
  97. ^ Gray 1991, p. 86
  98. ^ 98.0 98.1 Moon 1996, pp. 495–196
  99. ^ Rickard 2007
  100. ^ 100.0 100.1 The Battle of Amiens: 8 August 1918, Australian War Memorial, http://www.awm.gov.au/1918/battles/amiens.htm, เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-12-12 
  101. ^ Amiens Map, Australian War Memorial, Archived from the original on 2007-06-17, http://web.archive.org/web/20070617055415/http://www.awm.gov.au/1918/battles/amiensmap.htm, เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-10-24  (archived 2007-06-17)
  102. ^ Rickard 2001
  103. ^ 103.0 103.1 Terraine 1963
  104. ^ 104.0 104.1 104.2 Pitt 2003
  105. ^ Maurice 1918
  106. ^ 106.0 106.1 106.2 106.3 Gray & Argyle 1990
  107. ^ Nicholson 1962
  108. ^ Ludendorff 1919
  109. ^ Jenkins 2009, p. 215
  110. ^ McLellan, p. 49
  111. ^ Gibbs 1918b
  112. ^ Gibbs 1918a
  113. ^ Stevenson 2004, p. 380
  114. ^ Hull 2006, pp. 307–10
  115. ^ Stevenson 2004, p. 383
  116. ^ Stevenson 2004
  117. ^ (ในภาษาFrench) Clairière de l'Armistice, Ville de Compiègne, http://www.compiegne.fr/decouvrir/clairierearmistice.asp, เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-12-03 
  118. ^ 118.0 118.1 "1918 Timeline". League of Nations Photo Archive. http://www.indiana.edu/~league/1918.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-11-20. 
  119. ^ Lindsay, Robert, The Last Hours, http://www.nwbattalion.com/last.html, เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-11-20 
  120. ^ Gunther, Henry (Wednesday 29, 2008), BBC Magazine, http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/magazine/7696021.stm, เรียกข้อมูลเมื่อ 2012-12-06 
  121. ^ Tomas (February 15, 2010), 11 Facts about the End of the Great War, http://listverse.com/2010/02/15/11-facts-about-the-end-of-the-great-war/, เรียกข้อมูลเมื่อ 2012-12-06 
  122. ^ Baker 2006
  123. ^ Chickering 2004, pp. 185–188
  124. ^ Hartcup 1988, p. 154
  125. ^ Hartcup 1988, pp. 82–86
  126. ^ Mosier 2001, pp. 42–48
  127. ^ Harcup 1988
  128. ^ Raudzens, p. 421
  129. ^ Raudzens
  130. ^ Heller 1984
  131. ^ 131.0 131.1 Cross 1991
  132. ^ Winter 1983
  133. ^ Cite error: Invalid <ref> tag; no text was provided for refs named FullCircle

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น