ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

923.1593
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระนามเต็ม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ในสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

พระราชประวัติ

วันพระราชสมภพ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระราชพิธีสมโภชเดือน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2495 โดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495 เช้าวันรุ่งขึ้น (15 กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เริ่มด้วยพอถึงพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทองลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศ ตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ฯ ข ึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียนครบรอบตามประเพณี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย ในการนี้มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ

สมเด็จพระยุพราช

เมื่อทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐ ชันษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร" และเมื่อทรงมีเจริญวัยอันควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระราชอิสริยยศแต่งตั้งเป็น สมเด็จพระยุพราช สยามมกุฎราชกุมาร หรือ องค์รัชทายาท

พระราชภารกิจด้านการศึกษา

การศึกษาเบื้องต้น

ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ ๒ จากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และในระดับมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ

การศึกษาวิชาทหาร

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ได้ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทรงการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอัษรศาสตร์ ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

การศึกษาต่อในประเทศไทย

หลังจากเสด็จกลับประเทศไทย ทรงรับราชการทหาร และศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 และทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. 2521 จากนั้นทรงศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รุ่นที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2525 และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จากประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2533

การฝึกอบรมวิชาทหาร

เดือนมกราคม ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และศึกษางานด้านการทหาร ณ เครือรัฐออสเตรเลีย ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวน และต้นหนชั้นสูง รวมทั้งหลักสูตรส่งทางอากาศ พ.ศ. ๒๕๒๒ ถึงพ.ศ. ๒๕๒๓ ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ - ๑ เอซ ของบริษัท เบลล์ รวมชั่วโมงบิน ๕๔.๓๖ ชั่วโมง

เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ทรงเข้ารับการฝึกตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร กองทัพบกสหรัฐอเมริกา รวม ๖ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอาวุธประจำกายและ เครื่องยิงลูกระเบิด หลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย หลักสูตรการสงครามแบบกองโจร หลักสูตรการฝึกการดำรงชีพ และหลักสูตรส่งทางอากาศ ( ทางบกและทางทะเล )

เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ - ๑ เอซ กับเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ - ๑ เอ็น ของบริษัทเบลล์ รวมชั่วโมงบิน ๒๕๙.๕๖๐ ชั่วโมง

เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี ติดอาวุธ แบบ ยู เอซ - ๑ เอซ ของบริษัทเบลล์ จากกองทัพไทย รวมชั่วโมงบิน ๕๔.๕๐ ชั่วโมง

เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Sial - Marchetti SF 120 MT รวมชั่วโมงบิน ๑๗๒.๒๐ ชั่วโมง

เดือนมีนาคม ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Cessna T - 37 รวมชั่วโมงบิน ๒๔๐ ชั่วโมง

เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการทางทหารและตำรวจ ณ สหราชอาณาจักร ราชอาราจักรเบลเยียม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐฝรั่งเศส และเครือรัฐออสเตรเลีย

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเปลี่ยนเป็นเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ - ๕ (พิเศษ) รุ่นที่ ๘๓ (พุทธศักราช ๒๕๒๖) เอ ที ดับบลิว และหลักสูตรเครื่องบินขับไล่ชั้นสูง รุ่นที่ ๘๓ (พุทธศักราช ๒๕๒๖ ) เอ วี ดับบลิว ณ ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ มลรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา รวนชั่วโมงบิน ๒,๐๐๐ ชั่วโมง

พ.ศ. ๒๕๓๒ ทรงผ่านการฝึกบินด้วยเครื่องบินใบพัด แบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย โรงเรียนการบิน กองทักอากาศ และการฝึกบิน ด้วยเครื่องบินไอพ่น แบบ ที ๓๓ และหลักสูตร นักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบิน ขับไล่ แบบ เอฟ ๕ อี/เอฟ ของกองบิน ๑ ฝูงบิน ๑๐๒ โดยทรงทำชั่วโมงบิน ๒๐๐ ชั่วโมง ในเบื้องต้น และทรงทำชั่วโมงบินสูงสุด ๑,๐๐๐ ชั่วโมง และทรงเข้าร่วมการแข่งขัน การใช้อาวุธทางอากาศประจำปี ซึ่งทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้นที่ ๑ ประเภทอาวุธระเบิดสี่ดาว อาวุธจรวดสี่ดาว และอาวุธปืนสี่ดาว ในศกเดียวกัน

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการในฐานะนักบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๔๐๐ จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน ) และทรงผ่านการตรวจสอบจาก การขนส่งทางอากาศ ก ับทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน จากบริษัท การบินไทย จำกัด ( มหาชน ) และทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายตำแหน่งนักบินที่ ๑ ในพุทธศักราช ๒๕๔๙ ทั้งนี้ ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ ๑ อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ รวมชั่วโมงบิน ๓,๐๐๐ ชั่วโมง

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ กรมการขนส่งทางอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใบรับรองในตำแหน่งครูฝึกภาคอากาศกับตำแหน่ง ครูฝึกเครื่องช่วยฝึกบิน สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๔๐๐

พระราชภาระหน้าที่

ทางราชการ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในฉลองพระองค์เต็มยศรักษาพระองค์ ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ นครเพิรธ รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย

ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้าย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่บริเวณ รอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ณ เขาล้าน จังหวัดตราด

9 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบกกระทรวงกลาโหม

6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

30 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

9 มกราคม พ.ศ. 2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ด้านการบิน

4 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-5 อี/เอฟ

พ.ศ. 2552ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ ๑ เครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๔๐๐ ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( เที่ยวบินที่ ทีจี ๘๘๗๐ ( กรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่ ) และเที่ยวบินที่ ทีจี ๘๘๗๑ ( จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพมหานคร )

พระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายนานัปการณ์ เพื่อประโยชน์ของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ จนสำเร็จบรรลุผลด้วยดี ดังต่อไปนี้

ด้านการทหาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการทหารมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยได้เสด็จฯไปเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆอยู่เสมอ จากการที่ได้ทรงศึกษาด้านวิชาทหารมานาน จึงทรงมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างมาก และได้พระราชทานความรู้เหล่านั้นให้แก่ทหาร ๓ เหล่าทัพ

ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่นายทหาร ทรงสนพระทัย เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ทุกข์สุขของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเทิดทูนและความจงรักภักดีแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง

ด้านการศึกษา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะการศึกษาของบุตรหลานข้าราชบริพารซึ่งอยู่ในวัยก่อน ประถมศึกษา เป็นจำนวนมาก จึงพระราชทานพระพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลและพระราชทานชิ่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็ก ราชวัลลภรักษาพระองค์ จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล และในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายโรงเรียนนี้ไปยังสถานที่ใหม่ตรงข้ามกับพระตำหนักนนทบุรี ได้เปิดทำการสอนทั้งในระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา

นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงสู่ท้องถิ่นทุรกันดารเพื่อให้เยาวชนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้มีโอกาสได้รับการศึกษา จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลลคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งกระกระทรวงศึกษาธิการได้สนองพระราชประสงค์ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๖ โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ได้แก่ โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา อ.ปลาปาก จ.นครพนม( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ ) โรงเรียนมัธยมจุฑาวัชร อ.ลานกระลือ จ.กำแพงเพชร( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ ) โรงเรียนมัธยมวัชเรศร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ ) โรงเรียนมัธยมจักรีวัชร อ.รัตนภูมิ จ.สงขลา( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ ) โรงเรียนมัธยมวัชรวีร์ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ ) และ โรงเรียนบุษย์นำเพชร อ.เมือง จ.อุดรธานี( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๑ )

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร เนื่องจากการรักษาความสมบูรณ์แข็งแรง ของร่างกาย เป็นปัจจัยที่สำคัญของเศรษฐกิจที่ดีและความมั่นคงของสังคมเพราะผู้ที่มีสุขภาพอนามัยที่ดีสามารถที่จะประกอบอาชีพได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลจาก ความเจริญก้าวหน้าส่วนใหญ่ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจนเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีแพทย์ที่จะทำให้การดูแลรักา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษา พยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ราษฎรเหล่านี้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น การเจ็บไข้ได้ป่วยลดน้อยลง

ด้านศาสนา

ทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดการพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า "วชิราลงฺกรโณ" และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521

สำหรับพระราชภารกิจทางด้านพระพุทธศาสนานั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปปฏิบัติ พระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่นวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น

ด้านการเกษตร

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพทางการเกษตร แต่ประชากรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจนเนื่องจากมีรายได้น้อย และเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะผลผลิตส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ราษฎรขาดความรู้ในวิชาการเกษตรแผนใหม่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและได้ทรงทุ่มเทในการช่วยเหลือ ัทั้งในด่านแหล่งน้ำ ดิน ตลอดจนพันธุ์พืช โดยได้ทรงส่งเสริมการทำนาอย่างแท้จริง เพื่อให้ข้าวเป็นพืชพันธุ์ที่อยู่เคียงคู่กับคำว่าไทยตลอดมาและชาวนาที่ปลูกข้าวมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการช่วยเหลือเกษตรกรและส่งเสริมการเพาะปลูก ด้วยการเสด็จฯไปทรงทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆ เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อพระราชทานแก่เกษตรกร สำหรับนำไปใช้ในการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มผลผลิต ที่บ้านแหลมสะแก ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

ด้านเยาวชน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงตระหนักดีว่า การที่ประเทศชาติจะมีความเจริญก้าวหน้าได้นั้นขึ้นอยู่กับเยาวชนปัจจุบัน จึงทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อเยาวชน ด้วยการเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยาวชนในตำบลต่างๆ ทรงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เยาวชนตำบล รวมทั้งได้ทรงเป็นประธานงานวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ ๒๐ กันยายน ของทุกปี และ ทรงเป็นประธานในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามของลูกเสือและเนตนารี และสมาชิกผู้ทำประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้เยาวชนเป็นพลเมืองที่ดีของชาติบ้านเมือง

พระเกียรติยศ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ

เหรียญกล้าหาญ

เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1

เหรียญราชการชายแดน

เหรียญจักรมาลา

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้น 1

เหรียญราชรุจิ ทอง รัชกาลที่ 9

เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

Special class of the Grand Cross of the Order of Merit of the Federal ประเทศเยอรมนี

Grand Cordon of the Supreme Order of the Chrysanthemum ประเทศญี่ปุ่น

Grand Cross the Order of the Elephant ประเทศเดนมาร์ก

Grand Cross of the Order of the Darjah Kebesaran Kerabat Terengganu Yang Amat Mulia Darjah Yang Kedua Panglima ประเทศมาเลเซีย

Grand Cross of the Royal and Distinguished Spanish Order of Carlos III ประเทศสเปน

Grand Cross of the Royal Victorian Chain ไอร์แสนด์เหนือ

พระยศทหาร

พ.ศ. ๒๕๐๘ ร้อยตรี เหล่าทหารราบ เรือตรี พรรคนาวิน เรืออากาศตรี เหล่าทหารนักบิน และนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ นายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ และนายทหารพิเศษประจำโรงเรียนนายเรืออากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ กองทัพอากาศ

พ.ศ. ๒๕๑๔ ร้อยโท เรือโท และ เรืออากาศโท

พ.ศ. ๒๕๑๘ ร้อยเอก เรือเอก และ เรืออากาศเอก และ นายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กองทัพบก กระทรวงกลาโหม

พ.ศ. ๒๕๒๐ พันตรี นาวาตรี และ นาวาอากาศตรี

พ.ศ. ๒๕๒๑ รองผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

พ.ศ. ๒๕๒๓ พันโท นาวาโท และ นาวาอากาศโท และ ผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

พ.ศ. ๒๕๒๔ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

พ.ศ. ๒๕๒๕ นายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และ นายกองเอก กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการ กองอาสารักษาดินแดน

พ.ศ. ๒๕๒๖ พันเอก นาวาเอก และ นาวาอากาศเอก

พ.ศ. ๒๕๒๗ ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

พ.ศ. ๒๕๓๐ พลตรี พลเรือตรี และ พลอากาศตรี

พ.ศ. ๒๕๓๑ พลโท พลเรือโท และ พลอากาศโท และ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ กรมทหาราบที่ 21 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ และกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้บํญชาการ หน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์

พ.ศ. ๒๕๓๕ พลเอก พลเรือเอก และ พลอากาศเอก ผู้บํญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย รักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ นายกองใหญ่ กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน

พ.ศ. ๒๕๔๗ นายทหารพิเศษประจำกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

พ.ศ. ๒๕๔๘ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ กองพันทหารช่างที่ 2 รักษาพระองค์

อภิเษกสมรส

หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร (ปัจจุบัน ทรงพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ) เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520

นางสาวยุวธิดา ผลประเสริฐ (หรือ หม่อมสุจาริณี มหิดล ณ อยุธยา ปัจจุบันคือ คุณสุจาริณี วิวัชรวงศ์)

นางสาวศรีรัศมิ์ อัครพงศ์ปรีชา (หรือ หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ปัจจุบันทรงพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

พระราชโอรส-ธิดา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชธิดา ที่ประสูติแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ 1 พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาอีก 1 พระองค์ กับ 4 องค์ ที่ประสูติแต่ คุณสุจาริณี วิวัชรวงศ์
หม่อมเจ้าจุฑาวัชร มหิดล (ท่านอ้วน) ประสูติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2522 (ปัจจุบัน คือ คุณจุฑาวัชร วิวัชรวงศ์)
หม่อมเจ้าวัชรเรศร มหิดล (ท่านอ้น) ประสูติเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 (ปัจจุบัน คือ คุณวัชร วิวัชรวงศ์ )
หม่อมเจ้าจักรีวัชร มหิดล (ท่านอ่อง) ประสูติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 (ปัจจุบัน คือ คุณจักรี วิวัชรวงศ์ )
หม่อมเจ้าวัชรวีร์ มหิดล (ท่านอิน) ประสูติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2528 (ปัจจุบัน คือ คุณวัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ )
หม่อมเจ้าหญิงบุษย์น้ำเพชร มหิดล (หรือ หม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล ปัจจุบันทรงพระนามว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์)

และทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ 1 พระองค์ คือ
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

ที่มา:

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2553). สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ

สยามมกุฎราชกุมาร.ค้นเมื่อ สิงหาคม 28, 2553, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%
B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%
9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%
B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%
E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A_%E0%B9%80%E0%B8%
88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%
B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%B4%
E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%
A3%E0%B8%93_%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%
B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%8E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%
E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com