สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
K3415007-24.jpg
พระบรมนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
ราชวงศ์ บ้านพลูหลวง
ครองราชย์ พ.ศ. 2301 - พ.ศ. 2301
ระยะครองราชย์ 2 เดือน
รัชกาลก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
ข้อมูลส่วนพระองค์
สวรรคต พ.ศ. 2339
พระราชบิดา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระราชมารดา กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย)
พระราชโอรส/ธิดา พระองค์เจ้าตัน
พระองค์เจ้าแม้น
พระองค์เจ้าหญิงดารา
พระองค์เจ้าหญิงสิริ
    

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ สมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิต หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ (อุทุมพร หมายถึง "มะเดื่อ") เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 32 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) โดยพระมารดาของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากสกุลพราหมณ์บ้านสมอพลือ ที่มีต้นสกุลมาจากเมืองรามนคร มัชฌิมประเทศ ต่อมาได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมเป็น กรมขุนพรพินิต พระองค์มีพระเชษฐาร่วมพระราชมารดา คือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) และมีพระเชษฐภคินีและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา 6 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าประภาวดี เจ้าฟ้าประชาวดี เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้าฟ้าจันทวดี เจ้าฟ้ากษัตรี และเจ้าฟ้ากุสุมาวดี

เนื้อหา

[แก้] ครองราชย์

หลังจากเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2289 แล้วสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มิได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใด ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชแทน เป็นเวลาถึง 11 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2300 จึงทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยทรงเห็นว่าทรงพระปรีชา มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศสวรรคต เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2301 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 แต่ก่อนหน้าที่จะมีพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบและพระอนุชาต่างพระมารดาสามองค์ คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี ได้พยายามแย่งชิงราชสมบัติ แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงขอให้พระราชาคณะเกลี้ยกล่อมจนสำเร็จ และพระองค์ได้ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์

เมื่อพระองค์ครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ ก็ทรงสละราชย์สมบัติแล้ว ถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผู้เป็นพระเชษฐา แล้วพระองค์เสด็จออกผนวช โดยประทับอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งเป็นที่มาในการเรียกพระองค์ว่า ขุนหลวงหาวัด ในกาลต่อมา

[แก้] หลังเสียกรุงศรีอยุธยา

เจดีย์ที่เชื่อว่าบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในสุสานล้านช้าง หรือโยเดียใกล้สะพานไม้สักอูเบ็ง

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ถูกกวาดต้อนไปที่พม่าด้วยพร้อมเจ้านายและเชลยชาวไทยอื่น ๆ โดยทางพม่าได้ให้สร้างหมู่บ้านอยู่รอบเมืองมัณฑะเลย์ และพระองค์ได้เป็นผู้ให้ปากคำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแก่พม่า ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ในปัจจุบัน หมู่บ้านดังกล่าวนี้ก็ยังคงมีอยู่ มีชื่อว่า "เมงตาสึ" แปลว่า "เยี่ยงเจ้าชาย" และก็ยังคงมีหลักฐานปรากฏถึงวัฒนธรรมไทยอยู่ เช่น ประเพณีการขนทรายเข้าวัดในวันสงกรานต์ หรือการตั้งศาลบูชาพ่อปู่ หรือ หัวโขน เป็นต้น แม้ผู้คนในหมู่บ้านนี้จะไม่สามารถพูดไทยหรือมีวัฒนธรรมไทยเหลืออยู่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นเชลยมาจากไทย ปัจจุบันคนไทยกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า "โยเดีย" (Yodia)

ปี พ.ศ. 2540 มีข่าวว่าพบพระบรมสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร บริเวณสุสานร้าง เมืองอมรปุระ ไม่ไกลจากสะพานไม้สักอูเบ็ง ข้อสันนิษฐานเกิดจากการพิจารณารูปพรรณสัณฐานไม่ได้ว่าเป็นแบบมอญ หรือพม่า คนเฒ่าคนแก่ในย่านนั้นก็เรียกสถูปนี้ว่า "โยเดียเซดี" (Yodia Zedi) แปลว่า สถูปอยุธยา แต่ทว่า ข้อห้ามของทางการพม่าที่ไม่ให้ขุดค้นหลักฐานโบราณคดีในสถูป ทำให้กลายเป็นข้อสันนิษฐานที่รอการพิสูจน์

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรสวรรคตในขณะทรงเป็นบรรพชิต ใน พ.ศ. 2339 ตามพงศาวดารพม่า

[แก้] ราชตระกูล

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

สมัยก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สมัยถัดไป
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2275 - พ.ศ. 2301)
2leftarrow.png Seal of Ayutthaya (King Narai).png
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2301)
2rightarrow.png สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2301 - พ.ศ. 2310)


เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น