|
927.8 Geography & History ชีวประวัติบุคคลในสาขาดนตรี
เอื้อ สุนทรสนาน
นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือเรียกกันว่า "ครูเอื้อ" (21 มกราคม พ.ศ. 2453 - 1 เมษายน พ.ศ. 2524) เป็นทั้งนักร้อง นักประพันธ์เพลง อาทิ เพลงถวายพระพร เพลงวันลอยกระทง เพลงปลุกใจ เพลงสดุดี เพลงประจำจังหวัด และเป็นหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
เอื้อ สุนทรสนาน ได้แต่งเพลงร่วมกับแก้ว อัจฉริยกุล และท่านอื่นๆ ไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 2,000 เพลง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น เพลงรำวงลอยกระทง เพลงรำวงเริงสงกรานต์ เพลงนางฟ้าจำแลง เป็นต้น นอกจากนั้นยังถือได้ว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่บุกเบิกเพลงไทยสากล และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี พ.ศ. 2518
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอ เอื้อ สุนทรสนาน ต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ซึ่งต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกก็ได้ยกย่องครูเอื้อเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล
ชีวิตในวัยเด็ก
เอื้อ สุนทรสนาน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ" ครูเอื้อมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่
หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นางปาน แสงอนันต์ และ นายเอื้อ สุนทรสนาน
ครูเอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาตัวเข้ากรุงเทพมหานคร โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ และต่อมาจึงถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท เอื้อจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยภาคเช้าเรียนวิชาสามัญ ภาคบ่ายเรียนวิชาดนตรี ทางโรงเรียนสอนทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง ครูเอื้อถนัดดนตรีฝรั่ง จึงเลือกเรียนดนตรีฝรั่งกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต โดยมีอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์
หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้ครูเอื้อหัดไวโอลิน และให้หัดเป่าแซ็กโซโฟนอีกอย่างหนึ่งด้วย ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นไป
ชีวิตการทำงาน
2 ปีต่อมา ความสามารถของเอื้อก็ประจักษ์ชัดแด่คณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน 5 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ 2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร เอื้อซึ่งพิสูจน์ฝีมือดนตรีจนประจักษ์ชัด เงินเดือนจึงขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน 2 ปีต่อมา
นอกจากนับราชการในกรมศิลปากรแล้ว เอื้อยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้อง ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของแม่เลื่อน ไวณุนาวิน ได้แต่งเพลง "ยอดตองต้องลม" ขึ้น นับเป็นเพลงในชีวิตการประพันธ์เพลง เพลงยอดตองต้องลมนี้ เอื้อ สุนทรสนาน ให้ทำนอง เฉลิม บุณยเกียรติ ให้คำร้อง นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นเอง เอื้อได้ขับร้องเพลง นาฏนารี คู่กับนางสาววาสนา ละออ และถือว่าเป็นเพลงแรกสุดที่ได้ขับร้องบันทึกเสียงด้วย
กรมโฆษณาการ
ในปี พ.ศ. 2479 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นชื่อว่า บริษัทไทยฟิล์ม ประเดิมภาพยนตร์เรื่องแรกคือ "ถ่านไฟเก่า" เอื้อมีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง ได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย
จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง เอื้อ สุนทรสนาน จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ "ไทยฟิล์ม" ตามชื่อบริษัทหนัง และนี่คือการเริ่มแรกของวงดนตรีครูเอื้อ แต่หลังจากตั้งวงดนตรีได้ปีเศษ กิจการบริษัทไทยฟิล์มที่สร้างภาพยนตร์มีอันต้องเลิกกิจการไป วงดนตรีไทยฟิล์มก็พลอยสลายตัวไปด้วย
จากนั้นอีก 1 ปี ทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ โดยมีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี นายวิลาศได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ซึ่งคุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำนายวิลาศว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร
และนี่คือที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่8
ครอบครัว
เอื้อ สุนทรสนาน ได้สมรสกับ อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสอิ้ง กรรณสูต เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางอติพร เสนะวงศ์ สมรสกับ พล.ต.ท. สันติ เสนะวงศ์
ตำแหน่งการทำงาน
เอื้อ สุนทรสนาน ได้นำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นผู้จัด คุณสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกับเอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นเอื้อตกหลุมรักอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์
เอื้อรับราชการในกรมโฆษณาการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2495 กรมโฆษณาการได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศแต่เพียงตำแหน่งเดียวจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2516 และในปีนี้ เอื้อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516
ถึงแม้เอื้อจะไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงการราชการเท่าที่ควร แต่เอื้อมีสิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวคือ วันที่เอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512
ปัจฉิมวัย
ตลอดระยะเวลา 42 ปีของการทำงาน เอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนัก และอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 ก็เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะ ๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ
ในช่วงปี พ.ศ. 2523 เอื้อได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ เพลงพรานทะเล
ตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา อาการของเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 เอื้อ สุนทรสนาน ก็ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน
เอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี พ.ศ. 2523 - 2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 โดยมี นางอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทน
ที่มา:
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2553). เอื้อ สุนทรสนาน. ค้นเมื่อ สิงหาคม 26, 2553, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AD%
E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD_%E0%B8%AA%E0%B8%B8%
E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%99%
E0%B8%B2%E0%B8%99
|
|