ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

923.7   Geography & History
ชีวประวัติบุคคลในสาขาการศึกษา

พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)


พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) (25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2488) ผู้เชี่ยวชาญวิชาอักษรศาสตร์ภาษาไทย ผู้ร่วมแปลและถ่ายหนังสือหิโตปเทศจากภาษาอังกฤษร่วมกับพระยาอนุมานราชธน และได้ร่วมงานกันต่อเนื่องมาเป็นเวลานานและใช้นามปากกาที่มีชื่อเสียงร่วมกันคือ “เสฐียรโกเศศและนาคะประทีป”

ประวัติ

พระสารประเสริฐ เกิดที่ตำบลถนนตรีเพชร อำเภอพาหุรัด (เขตปกครองสมัยนั้น) เป็นบุตรของหลวงพิพิธวิรัชการ (เทียน นาคะประทีป) และนางสวน เมื่อเป็นเด็กเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบไล่ได้ประโยค 2 อย่างเก่าและชอบภาษาบาลีเป็นอย่างมาก จึงขออนุญาตผู้ปกครองบวชเป็นเณร เมื่ออายุได้ 17-18 ปีก็ได้เป็นเปรียญ 7 ประโยคมีหน้าที่สอนบาลีในสำนักวัดที่บวชคือวัดเทพศิรินทราวาส เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระมหาตรี” พระมหาตรีมีความเชี่ยวชาญภาษาเป็นอย่างดีและแม้ไม่ชำนาญในภาษาสันสกฤตแต่ก็ยังอ่านอักษรเทวนาครีได้ เพราะเคยติดตามพระอาจารย์คือพระราชาคณะคือพระธรรมนิเทศทวยหาญไปเกาะลังกา เมื่อขุนโสภิตอักษรการเจ้าของ “โรงพิมพ์ไท” ที่จัดพิมพ์หนังสือดีมีคุณภาพในสมัยนั้นต้องการพิมพ์หนังสือ หิโตปเทศ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ได้แนะนำให้พระยาอนุมานราชธนรู้จักกับพระมหาตรีให้เป็นผู้ช่วยตรวจ เนื่องจากเกรงว่าอาจเพี้ยนไปจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั้งสองท่านก็ได้มีความสัมพันธ์ทั้งในด้านการงานและการส่วนตัวร่วมกันสร้างสรรค์งานด้านอักษรศาสตร์เป็นมรดกแก่ประเทศมาจนตลอดชีวิต
พระมหาตรีสึกออกมาเป็นฆราวาสเมื่อ พ.ศ. 2462 เมื่ออายุได้ 30 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์ประจำกระทรวงกลาโหมซึ่งมีพระธรรมนิเทศทวยหาญเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ศาสนาจารย์ 3 ปีได้เป็นรองอำมาตย์โท เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้นได้ขอตัวมาดำรงตำแหน่งผู่ช่วยแผนกอภิธานสยามในกรมตำราเมื่อ พ.ศ. 2465 ในปีต่อมา พ.ศ. 2566 ก็ได้บรรดาศักดิ์เป็น หลวงธุรกิจภิธาน ประจวบขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ กำลังทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธา อยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการใกล้ชิดพระองค์ชั่วคราว โดยมีหน้าที่ถวายความเห็นเกี่ยวกับเรื่องศัพท์และตามเสด็จไปอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันบ่อยครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสวรรคต หลวงธุรกิจภิธานได้กลับไปรับราชการที่เดิม
พ.ศ. 2469 กรมราชเลขาธิการขอย้ายหลวงธุรกิจภิธานไปรับราชการในกรมในตำแหน่งปลัดกรมพระอาลักษณ์ และถึงปี พ.ศ. 2471 ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลื่อน บรรดาศักดิ์เป็นพระสารประเสริฐรับราชการอยู่จนถึง พ.ศ. 2475 จึงย้ายกลับไปรับราชการในกระทรวงศึกษาธิการเป็นข้าราชการชั้นเอกประจำกรมวิชาการ ภายหลังได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองศาสนศึกษาระยะหนึ่งจึงออกจากราชการเพื่อรับพระราชทานเบี้ยบำนาญและได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์พิเศษประจำแผนกวิชาภาษาบาลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงแก่กรรม
พระสารประเสริฐ มีบุตรเกิดด้วยนางสารประเสริฐ (สิริพันธ์ นาคะประทีป) 5 คนมีชื่อพระราชทานทั้ง 5 คนตามลำดับคือ ศรีวรรณ ศรีกุน ศรีฉันท์ ศรีสิทธิ์และศรีกมล โดยสองคนแรกเป็นหญิง

ชีวิตงานและผลงาน

พระสารประเสริฐร่วมงานด้านอักษรศาสตร์และวรรณกรรมอย่างใกล้ชิดกับพระยาอนุมานราชธนมายาวนานเกือบ 40 ปี พระยาอนุมานฯ เล่าว่าหนังสือหิโตปเทศเป็นปัจจัยอันสำคัญที่เปลี่ยนวิถีทางเดินแห่งชีวิตของ "พระมหาตรี" ทั้งสองท่านมีผลงานร่วมกันโดยเรียงตามลำดับการตีพิมพ์ที่ทราบ ดังนี้
ภาคผนวกแห่งนิยายเบงคลี 2460
ปาลี-สยามอภิธาน 2465
หิโตปเทศ 2466
พระรามมะลายู 2476
สมญาภิธานรามเกียรติ์ 2477
ลัทธิของเพื่อน 2496
โสตัพพมาลินี อุปกรณ์ 2500
สัมภารวิบาก 2502
กามนิต โดย คาร์ล อดอล์ฟ เจเลอรูป ในภาษาเยอรมัน แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย จอห์น อี โลกี 2503
สัมโมหนิทาน 2503
ประวัติราชทินนาม 2503
บทฝึกนิสัย 2504
สมบัติอันประเสริฐ 2507
อาหรับราตรี 2509
พันหนึ่งทิวา 2512
นานานีติ 2513
นิยายเบงคลี 2515
รวมนิทาน 2515
บาลีสยามอภิธาน 2515
คำแก้ว 2516
ประชุมเรื่องพระรามและแง่คิดจากวรรณคดี 2516
ลัทธิ-ศาสนา 2516
กถาสริตสาคร (จากนิยายเรื่องใหญ่ในภาษาสันสกฤต)
ฟอลคอน เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ฯลฯ
ทศมนตรี (แปลจากอาหรับราตรี)
นิยายเอกของปาชา
นีติศตกม สุภาษิตร้อยบท งานแปล
รัตนาวลี
เรื่องพระโพธิสัตว์
ธาติ
สดุดีเด็ก ๆ

พระยาคุณอนุมานราชธนเล่าไว้ในหนังสือประวัติครูของคุรุสภาว่า ก่อนที่ท่านทั้งสองจะร่วมงานกัน มีงานที่พระสารประเสริฐแต่งเอง 2 เรื่องคือ
พระธรรมบทหมวดพาลแทรกชาดก แปลเมื่อ พ.ศ. 2458 และเรื่อง
คัมภีร์อภิธารัปปทีปิกา
เมื่อพระสารประเสริฐรับราชการในตำแหน่งปลัดกรมอาลักษณ์ ได้มีหน้าที่ร่างประกาศพระราชกระแสพระบรมราชโองการ คิดตั้งชื่อและยังทำหน้าที่อ่านประกาศในงานพระราชพิธีต่างๆ พระยาอนุมานฯ เล่าว่า มีผู้สงสัยว่าพระสารประเสริฐพูดมีติดอ่างจะอ่านประกาศในงานพิธีให้ดีได้อย่างไร แต่ตรงกันข้าม พระสารประเสริฐอ่านได้ดีเป็นที่สุด เพราะได้ฝึกซ้อมใส่ขีดทำเครื่องหมายแบ่งจังหวะสำหรับอ่านและอ่านซ้อมหลายครั้งอ่านดี จนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เสด็จมาจับไหล่แสดงความยินดี
งานที่พระสารประเสริฐชอมมากเป็นพิเศษคืองานชำระปทานุกรม ซึ่งท่านได้เป็นกรรมการชำระปทานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน โดยบางวันแม้รถประจำทางสาธารณะขัดข้องท่านก็ยังยอมเดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาที่ราชบัณฑิตยสถาน และแม้แต่ที่หอสมุดแห่งชาติก็ยังยอมเดินมาจนได้ เวลาประชุมท่านจะเอาใจใส่พิถีพิถันและมักเอา "หัวชนกำแพง" ถ้าไม่เห็นด้วย "ลางทีชำระคำๆ เดียวกินเวลา 2 ประชุมก็เคยมี" แม้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเป็นประธาน พระสารประเสริฐก็ไม่ยอม "พบกันครึ่งทาง" พระยาอนุมานฯ เล่าว่า ประธานเคยตรัสว่า "ผมไม่ถือ เพราะพระสารประเสริฐเป็นคน "ขลังวิชา" แต่พระสารประเสริฐจะยอมเห็นด้วยโดยง่ายถ้าเห็นว่าถูกต้อง"
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เป็นวันสุดท้ายที่พระสารประเสริฐมาประชุมชำระปทานุกรม ขณะกำลังจดคำที่พระยาอนุมานราชธนบอก แต่กลับถามว่า "คำอะไรนะ" ซ้ำๆ อยู่ ประมาณ 10 ครั้ง ก่อนหน้านั้นเวลาประชุมก็เงียบผิดปกติ "จนพระวรเวทพิสิฐทักขึ้นว่า วันนี้นักบาลีทำไมเงียบ เห็นจะเป็นเพราะตัว ฝ กระมัง" ท่านไม่ตอบ เลิกประชุมรีบเดินออกจากห้องก่อนใคร พระยาอนุมานฯ เล่าว่าได้ทราบภายหลังว่าเดินไปขึ้นรถประจำทางที่หน้าวังบูรพาล้มลงแต่ก็มีคนพยุงขึ้นรถไปจนถึงบ้าน ไปหมดสติอยู่ที่หน้าบ้านตอนลงจากรถนั้นเอง พระสารประเสริฐสิ้นลมที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลอีก 7 วันต่อมา รวมสิริอายุได้ 56 ปี

ที่มา

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2553).พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป).

ค้นเมื่อ ตุลาคม 15, 2553, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%
B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%
E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%
B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%90_(%E0%B8%95%
E0%B8%A3%E0%B8%B5_%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%
84%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%
B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%9B)

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com