ประวัติศาสตร์ทิเบต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดูบทความหลักที่ ประเทศทิเบต

ทิเบต ตั้งอยู่ในใจกลางของทวีปเอเชียระหว่างประเทศจีนกับอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร ในบริเวณที่มีภูเขาและที่ราบสูงที่สุดในโลก มีอากาศแห้งและหนาวเย็น รวมทั้งที่ราบกลางหุบเขาริมแม่น้ำอันกว้างใหญ่หลายสาย อันเป็นที่พำนักพิงของชาวธิเบต ผู้ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง มาเป็นเวลาช้านาน และมีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างจากผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน ชาวธิเบตได้มีการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ในตนเอง ทั้งยังมีการพัฒนาด้านสติปัญญาและจิตใจ ได้แก่ การมีภาษาที่โดดเด่น มีวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ และมีผลงานศิลปะที่น่ามหัศจรรย์ นอกจากนี้ อารยธรรมของชาวธิเบต ซึ่งสืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายพันปีนั้น ยังเป็นอารยธรรมที่สูงส่ง และมีคุณค่าสืบทอดต่อกันมา เป็นมรดกของมนุษยชาติ

เนื้อหา

[แก้] ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ชาวจีนและชาวทิเบต-พม่าดั้งเดิมอาจจะแยกออกจากกันเมื่อราว 3,457 ปีก่อนพุทธศักราช เมื่อชาวจีนเริ่มอพยพเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ในขณะที่ชาวทิเบตพม่าดั้งเดิมยังเป็นผู้ร่อนเร่ ชาวทิเบตแยกตัวออกจากชาวพม่าชัดเจน เมื่อราว พ.ศ. 943[1] [2]

พบหลักฐานในยุคเหล็กและยุคสำริดในที่ราบสูงฉางตังแต่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด วัฒนธรรมในบริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อวัฒนธรรมจางจุง ซึ่งมีกล่าวถึงในเอกสารโบราณของทิเบตและเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาบอน

[แก้] ตำนานทางประวัติศาสตร์

กษัตริย์องค์แรกของทิเบต ญาตริ ซันโป (ระบบ Wylie: Gnya-khri-btsan-po) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ทูโบ เชื่อกันว่าเป็นผู้เสด็จมาจากสวรรค์หรือมาจากอินเดีย และโดยลักษณะที่แปลกไปจากมนุษย์เช่น มีพังผืดระหว่างนิ้วและหนังตาปิดจากล่างขึ้นบน คนท้องถิ่นจึงเชื่อว่าพระองค์เป็นเทวดามาจุติ มีอิทธิฤทธิ์พลังวิเศษ กษัตริย์พระองค์นี้และองค์ต่อๆมาทั้งหมด7องค์ ติดต่อกับสวรรค์ได้โดยมีสายเชือกโยงกับสวรรค์ เป็นลำแสงสูง1ฟุตอยู่เหนือศีรษะ เมื่อสิ้นพระชนม์ก็กลายร่างเป็นสายรุ้งหรือไต่บันไดฟ้ากลับคืนสู่สรวงสรรค์ โดยไม่มีกายหยาบเหลือทิ้งไว้

กษัตริย์องค์ที่8คือ กริกัมซันโป (Dri-gum-brtsan-po) ยุแหย่ให้องครักษ์ของพระองค์ชื่อโลงัม (Lo-ngam) ต่อสู้กับพระองค์ ในระหว่างการต่อสู้ สายเชือกที่โยงพระองค์กับสวรรค์ถูกตัดขาด และพระองค์ถูกฆ่าตาย ตั้งแต่นั้นมากษัตริย์ทุกพระองค์จึงทิ้งซากศพไว้ในเมืองมนุษย์ และต้องนำไปฝัง[3]

อีกตำนานหนึ่งชาวทิเบตเป็นลูกหลานของลิงกับยักษ์ ลิงนั้นจริงๆแล้วคือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (ภาษาทิเบต: Spyan-ras-gzigs) ส่วนยักษ์นั้นคือพระนางตารา (ภาษาทิเบต:'Grol-ma) [4]

[แก้] ยุคจักรวรรดิทิเบต

จักรวรรดิทิเบตเรืองอำนาจในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 โดยมีอาณาเขตทางใต้จดเบงกอล ทางเหนือจดมองโกเลีย

[แก้] การปรากฏตัวครั้งแรกในประวัติศาสตร์

มีการกล่าวถึงทิเบตครั้งแรกในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมีในชื่อ บาทายซึ่งมาจากชื่อพื้นเมือง “บอด” (Bod) ทิเบตปรากฏในประวัติศาสตร์จีนครั้งแรกในชื่อ “ฟา” เมื่อพระเจ้านัมริ โลนซัน ส่งราชทูตไปจีนในพุทธศตวรรษที่ 12 [5]

[แก้] การก่อตั้งราชวงศ์

การก่อตัวของทิเบตเริ่มที่ปราสาทตักเซในตำบลชิงบา เขตชองกยา ตามที่กล่าวถึงในพงศาวดารทิเบตโบราณ “กลุ่มของผู้สนับสนุนยุยงให้ตันบูญาซิกก่อกบฏต่อต้านคูทริ ซิงโปเช” ซิงโปเชนี้เป็นขุนนางของจักรวรรดิจางจุงภายใต้การปกครองของราชวงศ์สิกมยี [6] ซิงโปเชตายก่อนที่กลุ่มกบฏจะชนะ และลูกชายของเขาคือนัมริ โลนซัน ขึ้นเป็นผู้กุมอำนาจคนต่อมา และเป็นผู้ก่อตั้งจักรวรรดิทิเบตขึ้น เขาส่งทูตไปจีนสองครั้งในพ.ศ. 1191 และ 1192 เป็นการเปิดตัวต่อนานาชาติครั้งแรกของทิเบต [7]

[แก้] สมัยพระเจ้าซรอนซัน กัมโป

พระเจ้าซรอนซัน กัมโป(กลาง) เจ้าหญิงเวนเชิง (ขวา) และเจ้าหญิงภริคุติ(ซ้าย)

ใน พ.ศ. 1173 ถือว่าเป็นยุคประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของทิเบต พระเจ้าซรอนซันกัมโป สนับสนุนให้มีการศึกษาพุทธศาสนาจากคัมภีร์ที่นำเข้ามาตั้งแต่ยุคต้น (พ.ศ. 976) พร้อมดำเนินการปฏิรูปศรัทธาทิเบต ต่อมาประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยการสนับสนุนของพระมเหสี 2 พระองค์ คือพระนางเหวินเฉิง พระธิดาของกษัตริย์ถังไท้จงแห่งจีน และพระนางภริคุติเทวี พระธิดาของพระเจ้าอัมสุวารมาแห่งเนปาล ทั้งสองพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนามหายานอย่างเคร่งครัด จึงได้นำพระพุทธรูปมาด้วยทั้งสองพระองค์ คือเจ้าหญิงเหวินเฉิง นำพระพุทธรูปชื่อโจโว มาประดิษฐานที่วัดซิลลากัง ในกรุงลาซา และเจ้าหญิงภริคุตเทวีได้นำพระพุทธรูปศากยมุนีที่สำคัญมาประดิษฐานที่วัดราโมเช ซึ่งเป็นวัดหลวง และมีความสำคัญรองเป็นอันดับสองในกรุงลาซา ช่วงนี้ได้มีชาวทิเบตเชื้อพระวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปศึกษาในจีน และพระภิกษุชาวจีนก็มาศึกษาในทิเบตเพื่อแปลพระคัมภีร์และพระสูตรจำนวนมาก ในยุคนี้พระเจ้าซรอนซันกัมโปได้ทรงส่งทูตชื่อ ทอนมี สัมโภตะ ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา แล้วกลับทิเบต ท่านได้เริ่มงานประดิษฐ์อักษร และเขียนไวยากรณ์สอนชาวทิเบต โดยใช้อักษรพราหมี ที่นิยมใช้กันในกัศมีร์ (แคชเมียร์) และดำเนินงานเผยแผ่พุทธศาสนาทำให้ประชาชนเลื่อมใส

[แก้] สมัยพระเจ้าตริมัง โลนซัน (1193 – 1220)

สมัยนี้เป็นสมัยที่เสนาบดีตระกูลคัรมีอำนาจ เสนาบดีคัร ซงซัน เป็นผู้รวมเขตอาซาเข้ากับทิเบต เขาตายเมื่อ พ.ศ. 1210 ทิเบตชนะและเข้ายึดครองโกตันในช่วง พ.ศ. 1208 – 1213 พระเจ้าตริมัง โลนซัน อภิเษกกับเจ้าหญิงทริมาโล ซึ่งต่อมาเป็นผู้มีบทบาทมากในประวัติศาสตร์ทิเบต พระเจ้าตริมังสิ้นพระชนม์ในปลายปี พ.ศ. 1219 หลังจากนั้นอาณาจักรจางจุงก่อกบฏต่อทิเบต[8] และเป็นปีเดียวกับที่ตริดู ซงซัน โอรสของพระเจ้าตริมัง โลนซันประสูติ

[แก้] สมัยพระเจ้าตริดู ซงซัน (1220 – 1247)

พระเจ้าตริดู ซงซันปกรองทิเบตภายใต้การบงการของมารดาคือพระนางทริมาโล และเสนาบดีคัร ตันยาดมบู พ.ศ. 1228 เสนาบดีผู้นี้ถึงแก่กรรม น้องชายของเขาคือคัร ตริดริงซันโดร ขึ้นมากุมอำนาจแทน [9] พ.ศ. 1235 ทิเบตเสียที่ราบตาริมให้จีน ตริดริงซันโดรรบชนะจีนได้ในพ.ศ. 1239 และมีการทำสัญญาสงบศึกกัน ใน พ.ศ. 1241 พระเจ้าตริดู ซงซันเชิญตระกูลคัร (มากกว่า 2000 คน) มาในงานเลี้ยงแล้วจับประหารชีวิตทั้งหมด มีเพียงตริดริงซันโดรที่ได้รับอนุญาตให้ฆ่าตัวตาย กองทหารที่ภักดีต่อเขาหนีไปสวามิภักดิ์ต่อจีน อำนาจของตระกูลคัรจึงสิ้นสุดลง ตั้งแต่ พ.ศ. 1243 จนสวรรคต พระเจ้าตริดู ซงซันได้ขยายอำนาจออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของเขตทิเบตกลางโดยให้มารดาของพระองค์คือพระนางทริมาโลบริหารประเทศแทน [10] พ.ศ. 1245 จีนกับทิเบตทำสัญญาสงบศึก ในปลายปีนั้นทิเบตเข้าครอบครองเขตซุมรูทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูร้อนของ พ.ศ. 1246 พระเจ้าตริดู ซงซันยกทัพไปถึงแม่น้ำยังเซและรุกรานดินแดนยาง (Jang) พ.ศ. 1247 ยกทัพไปตีเมียวา (Mywa) บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงแต่พระองค์สิ้นพระชนม์ในการรบครั้งนี้ [11]

[แก้] สมัยพระเจ้าตริเด ซุกซัน (1247 – 1297)

กยัล ซุกรูที่ต่อมาจะขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าตริเด ซุกซัน เกิดเมื่อ พ.ศ. 1247 เมื่อพระเจ้าตริดู ซงซันสิ้นพระชนม์ พระนางทริมาโลจึงเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมือง พี่ชายที่แก่กว่ากยัล ซุกรู 1 ปี คือ ลาบัลโพถูกตัดสิทธิในการขึ้นครองบัลลังก์ [12] พระนางทริมาโลเชิญเจ้าหญิงซินเชิงจากจีนแต่ไม่ทราบว่าอภิเษกกับใครระหว่างกยัล ซุกรูที่อายุเพียง 7 ปีหรือลาบัลโพ [13][14] กยัล ซุกรูขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1255 ในนามพระเจ้าตริเด ซุกซันหลังจากที่พระนางทริมาโลสิ้นพระชนม์ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่พวกอาหรับและเตอร์กิสมีอำนาจมากขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1253 – 1263 ทิเบตทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับอาหรับและเติร์กตะวันออก ทิเบตทำสงครามกับจีนใน พ.ศ. 1272 ช่วงแรกทิเบตและชาวเติร์กที่เป็นพันธมิตรไดรับชัยชนะแต่มาเพลี่ยงพล้ำในช่วงหลัง จนกระทั่งเกิดกบฏในจีนตอนใต้และทิเบตกลับมาชนะอีกครั้งในพ.ศ. 1273 จึงมีการสงบศึก

ใน พ.ศ. 1277 มีการอภิเษกระหว่างเจ้าหญิงดรอนมาโลนของทิเบตกับข่านสูงสุดของชาวเติร์ก จีนเป็นพันธมิตรกับอาหรับเข้ารุกรานชาวเติร์ก เมื่อสงครามจีน – เติร์ก สิ้นสุดลง จีนหันมาโจมตีทิเบต ทิเบตประสบชัยชนะในแนวรบด้านตะวันออกและยันไว้ได้ในแนวรบด้านตะวันตก เมื่อจักรวรรดิของชาวเติร์ก ล่มลงด้วยปัญหาภายใน ทิเบตได้เข้าโจมตีดินแดนของชาวเติร์ก เมื่อ พ.ศ. 1280 กษัตริย์บรูซาของเตริ์กขอให้จีนช่วย แต่ทิเบตก็เข้ายึดครองดินแดนของชาวเติร์กไว้ได้จน พ.ศ. 1290 อำนาจของทิเบตในเอเชียกลางอ่อนแอลงจนสูญเสียเมืองขึ้นไปเกือบหมด ทั้งนี้เนื่องด้วยความสามารถของนายพลเถา เซียนฉี ของจีนที่มุ่งมั่นจะเปิดการติดต่อโดยตรงระหว่างจีนกับเอเชียกลางและแคชเมียร์อีกครั้ง หลังจากสงครามระหว่างจีนกับอาหรับในพ.ศ. 1294 อำนาจของจีนในเอเชียกลางเริ่มอ่อนแอลงอีก ส่วนอำนาจของทิเบตเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา พ.ศ. 1298 พระเจ้าตริเด ซุกซันถูกปลงพระชนม์โดยเสนาบดีจังและบัล เจ้าชายซอง เดซันได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา

[แก้] สมัยพระเจ้าตริสอง เดซัน

ใน พ.ศ. 1298-1340 พระเจ้าตริสอง เดซัน กษัตริย์องค์ที่ 5 นับจากพระเจ้าซรอนซันกัมโปได้ไปอาราธนา พระศานตรักษิต ที่เคยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทามาเผบแผ่หลักคำสอนอันบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากท่านสอนแต่หลักธรรม แต่ไม่สอนเวทมนตร์คาถา แต่ชาวทิเบต มีความเชื่อเรื่องอำนาจภูติผีของลัทธิบอน และขณะนั้นเกิดโรคระบาด และภัยธรรมชาติ ทำให้ประชาชนเชื่อว่าท่านนำเหตุการณ์นี้มาด้วย ท่านได้กลับไปอินเดีย แล้วไปอาราธนา พระปัทมสัมภวะ พระราชโอรสของพระเจ้าอินทรภูมิ แห่งแคว้นอุทยานซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานให้ไปเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิตันตระ ถูกกับอัธยาศัยของประชาชน ท่านมีความชำนาญในเรื่องไสยศาสตร์สามารถปราบปีศาจ และทำให้ภูติผีปีศาจกลับมาสนับสนุนปกป้องพระพุทธศาสนาด้วย เหตุการณ์จึงสงบประชาชนฝ่ายข้าราชการ และฝ่ายราชสำนักก็ยอมรับนับถือท่านว่าเป็น คุรุรินโปเช คือพระอาจารย์ใหญ่ของพวกเขา ท่านปัทมสัมภวะได้สร้างวัดในพุทธศาสนาแห่งแรกของทิเบตในนาม วัดสัมเย ตามความเชื่อของอินเดียที่มีเขาพระสุเมรุ (อ่านว่า เขา-พระ-สุ-เมน) อยู่ตรงกลาง มีอารามอยู่ 4 ทิศ และมีอารามด้านนอกอีกแปดทิศ เป็นสัญลักษณ์ของทวีปในจักรวาล มีอีกวัดทางตะวันออก และตะวันตกเฉียงเหนือเป็นสัญลักษณ์พระจันทร์ และพระอาทิตย์ ในวัดนี้มีห้องสมุด ห้องนั่งสมาธิโดยอาจารย์สอนสมาธิจากจีน พุทธศาสนาลัทธิตันตระ เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา จนถึง พุทธศตวรรษที่ 16 มีชื่อกำหนดแยกจำเพาะออกไปว่า "นิกายเนียงมา (เนียงมาปะ) หรือนิกายหมวกแดง" ต่อมาพระศานตรักษิต ได้กลับทิเบตเพื่อปฏิบัติศาสนกิจครั้งจนมรณภาพที่นั่น ท่านได้แปลพระคัมภีร์ และเป็นอุชฌาย์บวชให้แก่ชายหนุ่มทิเบต 5 คน เพื่อวางรากฐานการบวชสายทิเบต ตามพระราชดำริของพระเจ้าตริสองเดซัน อุปสมบทกรรมที่นั่นมีพระนิกายสรวาทสติวาทร่วมด้วย 12 รูป

[แก้] สมัยพระเจ้าตริเด ซองซัน (1342 – 1358)

ในสมัยนี้มีการทำสงครามต่อต้านอาหรับทางตะวันตก ทิเบตแผ่อำนาจไปได้ไกลถึงสมารขัณฑ์และคาบูล แต่ต่อมารัฐบาลของทิเบตในคาบูลหันไปรวมกับอาหรับและเปลี่ยนเป็นมุสลิม ในช่วง พ.ศ. 1355 – 1358 พวกอาหรับแผ่อิทธิพลไปไกลถึงแคชเมียร์ ในเวลาเดียวกัน ชาวอุยกูร์รุกรานทิเบตทางตะวันตกเฉียงเหนือด้วย

[แก้] การต่อต้านพุทธศาสนา

พุทธศาสนาในยุคนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ทิเบตเป็นอย่างดี บางองค์เป็นนักปราชญ์รอบรู้พุทธธรรมลึกซึ้ง คือ พระเจ้าเสนาเล ซึ่งทรงสละราชสมบัติออกผนวชเป็นภิกษุ ใน พ.ศ. 1357 ได้มีการทำพจนานุกรมภาษาสันสกฤต-ทิเบต และในรัชสมัยของพระเจ้าราลปาเชน (พ.ศ. 1359) มีการเขียนประวัติศาสตร์ทิเบตเป็นฉบับแรก กษัตริย์พระองค์นี้ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าถึงกับสยายพระเกศารองเป็นอาสนะให้พระสงฆ์นั่งล้อมแสดงธรรมถวายพระองค์ พระสงฆ์ได้รับสิทธิพิเศษเป็นราชครู มีพระรูปหนึ่งมีผู้ถวายอาหารเจ็ดครอบครัว มีการลงโทษผู้ที่ไม่เคารพพระสงฆ์ สุดท้ายมีการลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากพระองค์ทรงแต่งตั้งชาวพุทธให้ดำรงตำแหน่งทางการบริหาร หรือสนับสนุนพุทธศาสนาเกินไป จากนั้น พระเจ้าลางทรมาที่ทรงถือลัทธิบอนก็ครองราชย์ พระองค์ทรงตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อพุทธศาสนาอยู่หลายปี ได้ทำลายวัดวาอารามที่สำคัญสองแห่งในนครลาซา กำจัดพระสงฆ์โดยให้ลาสิกขา ต่อมามีพระสงฆ์แต่งตัวด้วยชุดดำ ทาม้าสีดำ สวมหมวกสีดำเข้ามาปะปนกับประชาชน ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าลางทรมาสำเร็จ

[แก้] ความแตกแยกของทิเบต

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าลางทรมา เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับผู้สืบทอดราชบัลลังก์ระหว่างยุมตันกับโอซุง การรวมศูนย์อำนาจของทิเบตสิ้นสุดตั้งแต่สมัยนี้จนถึงยุคของนิกายสักยะจึงมีการรวมตัวอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มของโอซุงเข้าครอบครองกรุงลาซา กลุ่มของยุมตันเข้าปกครองยาลุง ต่างตั้งตัวเป็นกษัตริย์ไม่ขึ้นต่อกัน [15] ใน พ.ศ. 1453 โอรสของโอซุงชื่อบัลโคริซันเข้าควบคุมดินแดนทีเบตกลางชั่วระยะเวลาหนึ่ง และสืบต่อให้โอรสอีกสององค์คือดาราซิ เซ็นซันและทริคยีดิง ต่อมาทริคยีดิงอพยพไปสู่ทิเบตตะวันตกและตั้งราชวงศ์ของตนขึ้น [16]

หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิทิเบตใน พ.ศ. 1385 ญิมะ-กอนก่อตั้งราชวงศ์ลาดักมีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองลาดักปัจจุบัน ลูกชายคนโตของคยิเด ญิกอนกลายเป็นผู้ปกครองเขตมัรยุล (หรือลาดัก) และลูกชายคนรองอีกสองคนปกครองทิเบตตะวันตกในนามอาณาจักรกูเกและปู-ฮรัง ในยุคท้ายกษัตริย์ของกูเกชื่อ ชังจุบ เยเซ โอ บวชเป็นพระภิกษุ เขาส่งนักวิชาการไปแคชเมียร์เพื่อเชิญท่านอตีศะเข้าสู่ทิเบต เมื่อ พ.ศ. 1583 ถือเป็นการฟื้นฟูพุทธศาสนาในทิเบตอีกครั้งหนึ่ง

[แก้] การฟื้นฟูพุทธศาสนา:กำเนิดนิกายเกลุก

ศาสนาพุทธยังคงเหลืออยู่ในทิเบตในเขตคาม ในสมัยพระเจ้าลางทรมา พระภิกษุสามรูปถูกขับออกจากลาซาไปยังอัมโด ศิษย์ผู้ติดตามชื่อ มุซุ ซาเอลบาร์ ต่อมาเป็นที่รู้จักในนามนักวิชาการคองปะ รับซัล เป็นผู้ฟื้นฟูศาสนาพุทธในทิเบตตะวันตกเฉียงเหนือ และเป็นที่มาของนิกายนิงมะ ในช่วงนั้น ผลของการติดต่อค้าขาย ทายาทของโอซุงส่งชายหนุ่มสิบคนมาเรียนพุทธศาสนากับรับซัล หนึ่งในจำนวนนี้มี ลูเม เชรับ ซุลทริมซึ่งกลับไปเผยแพร่ศาสนาพุทธในแคว้นอูและจั้ง ในทิเบตภาคกลาง กลุ่มของนักวิชาการเหล่านี้มีการพบปะกับพระอตีศะในช่วงสั้นๆเมื่อ พ.ศ. 1585 ทำให้มีการตั้งองค์กรพุทธศาสนาที่โลคา และการตั้งนิกายสักยะในพ.ศ. 1616 [17] อีก 200 ปีต่อมา นิกายสักยะได้เติบโตจนเป็นนิกายสำคัญในทิเบต พ.ศ. 1698 นิกายกรรมะปะได้ก่อตัวขึ้น

ใน พ.ศ. 1600 ถือว่าเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่ทิเบตโดยตรง ประดิษฐานมั่นคง เป็นศาสนาประจำชาติครั้งใหญ่สุดท้าย และมีนิกายแตกแยกออกไปมาก โดยมีพระทีปังกรศรีชญาณ หรือ พระอติศะ จากมหาวิทยาลัยวิกรมศาลาในแคว้นพิหาร ได้เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาในทิเบต หลังจากนั้นปลายยุคนี้ ท่านสองขะปะ (พ.ศ. 1918) ซึ่งเป็นนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ได้อาศัยหลักคำสอนนี้แล้วตั้งนิกาย "นิกายเกลุก หรือเกลุกปะ หรือหมวกเหลือง" ขึ้น นิกายนี้องค์ดาไลลามะปัจจุบันสังกัดอยู่ และมีอิทธิพลในภาคกลางของทิเบต

[แก้] ยุคศาสนจักร

[แก้] ยุคอิทธิพลมองโกล

ชาวทิเบตรับรู้ถึงการที่ชาวมองโกลเข้าครอบครองจักรวรรดิตันกัต ใน พ.ศ. 1750 การติดต่อระหว่างทิเบตกับมองโกลที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกคือการพบปะระหว่างเจงกีสข่านกับซังปะ ดุงคุรวาและศิษย์อีกหกคนซึ่งอาจจะเป็นการพบกันในเขตจักรวรรดิตันกัตเมื่อ พ.ศ. 1758

หลังจากเจ้าชายโกเดนแห่งมองโกลเข้าควบคุมโกโกนอร์ในพ.ศ. 1782 เพื่อหาโอกาสเข้าตีจีนในสมัยราชวงศ์ซ้องจากทางตะวันตกเขาได้ส่งนายพลคอร์ดาไปสำรวจทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1783 ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ วัดของนิกายกรรมะปะถูกเผาและคน 500 คนถูกฆ่า ความตายของโอโกเดย ข่านสูงสุดของมองโกลใน พ.ศ. 1784 ทำให้แผนการณ์ครองโลกชะงักไปชั่วคราว มองโกลเริ่มสนใจทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1787 เมื่อเจ้าชายโกเดนเชิญสักยะบัณฑิตผู้นำนิกายสักยะ มายังเมืองหลวงของพระองค์ซึ่งถือเป็นการยอมจำนนต่อมองโกลของทิเบต สักยะบัณฑิตไปถึงโกโกนอร์พร้อมด้วยหลานชายสองคนคือ โดรกอน โชกยัล พักปะ และชนะ ดอร์เจ เมื่อ พ.ศ. 1789 เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่กล่าวว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน อย่างไรก็ตามมีข้อโต้แย้งจากนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทิเบตว่ายุคของมองโกล ทิเบตกับจีนถือเป็นหน่วยทางการเมืองคนละหน่วยกัน

เมื่อมองเกเป็นข่านสูงสุดของมองโกลเมื่อ พ.ศ. 1794 เขาได้มอบหมายให้น้องชายคือกุบไลข่านเป็นผู้ดูแลทิเบต และหาโอกาสรุกรานจีน ใน พ.ศ. 1796 สักยะบัณฑิตถึงแก่กรรม กุบไลข่านจึงตั้งให้ โดรกอน โชกยัล พักปะ เป็นตัวแทนของทิเบต กุบไลข่านได้รับเลือกเป็นข่านสูงสุดของมองโกลหลังจากที่มองเกข่านถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 1803 ต่อมา พ.ศ. 1808 โดรกอน โชกยัล พักปะ กลับสู่ทิเบตและตั้งให้นกายสักยะเป็นผู้ปกครองมีอำนาจสูงสุดในทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1810 ยุคนี้ทิเบตถูกแบ่งออกเป็น 13 เขต

เมื่อ พ.ศ. 1812 โดรกอน โชกยัล พักปะ เดินทางไปพบกุบไลข่านอีกครั้งที่เมืองคานบาอิก (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) เขาได้ประดิษฐ์อักษรสำหรับภาษามองโกเลียเรียกอักษรพัก-ปา ทำให้ได้รับการยืนยันอีกครั้งว่าเขาคือผู้มีอำนาจปกครองทิเบต นิกายสักยะมีอำนาจในทิเบตจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 แม้ว่าจะมีการกบฏโดยนิกายกาจูที่ได้รับการสนับสนุนจากฮึเลกึข่านในเขตอิลข่าน การกบฏเริ่มเมื่อ พ.ศ. 1828 และถูกปราบโดยความร่วมมือของนิกายสักยะและทหารมองโกลตะวันออกใน พ.ศ. 1833 โดยมีการเผาวัดของนิกายกาจู และมีคนถูกฆ่าถึง 10,000 คน

ใน พ.ศ. 2089-2130 มีกษัตริย์มองโกลนามว่า อัลตัลข่าน ได้พบกับประมุขสงฆ์ของนิกายเกลุกที่ชื่อว่า สอดนัมยาโส แล้วเลื่อมใส เนื่องจากท่านสืบเชื้อสายมาจากนิกายสักยะ และพักโมดรุ ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลในทิเบต มีการดัดแปลงวัดที่นิกายอื่นอ่อนแอในการปกครอง และทิ้งให้ร้างให้เป็นวัดนิกายเกลุก (หมวกเหลือง) กษัตริย์มองโกลทรงเชื่อว่าประมุขสงฆ์นี้เคยเป็นอาจารย์ของพระองค์ในชาติก่อน เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นกุบไลข่าน จึงถวายตำแหน่ง "ทะไลลามะ" (คำว่าทะไลลามะ "ทะไล" เป็นภาษามองโกลแปลว่า ทะเล หรือ กว้างใหญ่ "ลามะ" หมายถึง พระหรือคฤหัสถ์ที่มีความรู้ความชำนาญ แต่ชาวทิเบตนิยมใช้คำว่า "คยาวา ริมโปเช" คือ ชัยรัตนะ) นับว่าเป็นต้นกำเนิดทะไลลามะครั้งแรก และท่านสอดนัมวังยาโสก็ได้ถวายตำแหน่ง "ธรรมราชาทรงความบริสุทธิ์" แก่อัลตันข่านเป็นการตอบแทน ท่านสอดนัมวังยาโสถือว่าตนเองเป็นทะไลลามะองค์ที่ 3 เพราะท่านได้ถวายตำแหน่งย้อนขึ้นไปแก่อวตารในสองชาติแรกของท่านด้วย ในขณะที่ท่านมีพระชนม์ชีพท่านได้สร้างวัดพระพุทธรูปหนึ่งพันองค์ ได้เผยแผ่พระศาสนาสู่มองโกเลีย และทิเบตตะวันออกซึ่งเคยเป็นดินแดนอิทธิพลของลัทธิบอน จนท่านได้ตำแหน่งพิเศษจากราชวงศ์หมิงของจีน ถึงยุคทะไลลามะองค์ที่ 4 นิกายหมวกเหลืองก็ยังเจริญรุ่งเรืองเพราะมีทหารมองโกลหนุนหลังอยู่

[แก้] ยุคทะไลลามะครองอำนาจ

ในยุคของโลซัง กยัตโส ทะไลลามะองค์ที่ 5 (พ.ศ. 2158-2223 ชาวมองโกลในทิเบตไม่มีเอกภาพ ทำให้เจ้าเมืองซังอัน ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของทิเบตชิงบัลลังก์ลาซาไปได้ ทะไลลามะองค์นี้ซึ่งมีมองโกลสนับสนุน จึงขอความช่วยเหลือไปยัง กุชรีข่าน ผู้นำมองโกลให้มายึดอำนาจคืนสำเร็จ และมอบอำนาจการปกครองทิเบตทั้งหมด คือฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักรให้แก่ทะไลลามะ และเป็นครั้งแรกที่ทะไลลามะได้อำนาจสูงสุดทั้งหมด จากนั้นท่านก็ได้ย้ายที่ประทับที่พระราชวังโปตาลา นครลาซา ชาวทิเบตมีความเชื่อว่าทะไลลามะเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ผู้กรุณา และเชื่อว่าปันเชนลามะ ผู้มีอำนาจรองจากทะไลลามะเป็นอวตารของพระอมิตาภะ แต่ทะไลลามะนั่งสมาธิแบบเนียงมา พลอยทำให้นิกายเนียงมาเจริญไปด้วย แต่นิกายโจนังหลังจากท่านตารนาถ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์มีชื่อเสียงแล้วถูกยึดวัดทั้งหมด ถือว่านิกายเกลุกพัฒนารุ่งเรืองตามคำสอนของพระนาครชุน พระอสังคะ เป็นต้น แม้ลัทธิบอนก็ยังนำไปพัฒนาตนเองของตนเอง จนทะไลลามะสวรรคต ชาวทิเบตจึงถวายพระนามว่า "มหาปัญจะ" เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แม้พระองค์จะเสด็จสวรรคตแล้วยังมีผู้อ้างว่าทะไลลามะทรงเสด็จเข้าสมาธิระยะยาว แล้วสำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยปิดข่าวการสวรรคตนานถึง 13 ปี เพื่องานฟื้นฟูวังโปตาลาต่อไป จากนั้นมีการแต่งตั้งทะไลลามะองค์ที่ 6 แต่พระองค์โปรดการแต่งกวี และสนใจผู้หญิง ไม่สนใจบริหารประเทศ จึงถูกเนรเทศไปจีนแต่สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

ในสมัยของทะไลลามะองค์ที่ 5 มีมิชชันนารีนิกายเยซูอิตสองคนเข้าไปถึงทิเบตแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ มีมิชชันนารีกลุ่มอื่นๆเข้าไปในทิเบตด้วยเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

[แก้] ยุคจักรวรรดินิยม

[แก้] พุทธศตวรรษที่ 23-24

ทิเบตเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2315 เนื่องจากภูฏานส่งทหารเข้าโจมตีเขตคชพิหารของอังกฤษ จนทางอังกฤษตัดสินใจทำสงครามกับภูฏาน แต่ปันเชนลามะจากทิเบตเข้ามาไกล่เกลี่ยสำเร็จ ถือเป็นครั้งแรกที่อังกฤษหันมาสนใจทิเบต อังกฤษพยายามติดต่อกับทิเบต หวังจะใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับจีน แต่ความสัมพันธ์ยังไม่ก้าวหน้า

พ.ศ. 2331 กษัตริย์ชาวกุรข่าของเนปาล ปริทวี นารายัน ชาห์ รุกรานทิเบต ทิเบตไม่สามารถต่อสู้กับกองทัพชาวกุรข่าได้จึงขอให้จีนในสมัยราชวงศ์ชิงช่วย กองทัพผสมทิเบต-จีน ขับไล่กองทัพกุรข่าออกไปสำเร็จ

พ.ศ. 2335 ราชวงศ์ชิงได้เพิ่มระดับการควบคุมทิเบตให้มั่นคงขึ้น และสนับสนุนให้มีการคานอำนาจระหว่างปันเชนลามะกับทะไล ลามะ รวมทั้งเข้าควบคุมการจับสลากเลือกปันเชน ลามะ หรือทะไล ลามะ ในกรณีที่มีผู้อยู่ในข่ายมากกว่า 1 คน ทะไล ลามะองค์ที่ 10, 11 และ 12 คัดเลือกด้วยวิธีนี้ ส่วนทะไล ลามะองค์ที่ 9, 13, และ 14 คัดเลือกโดยฝ่ายทิเบต และได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนภายหลัง

อังกฤษเข้ามากดดันให้ทิเบตถอนอิทธิพลของตนออกจากเนปาล ในพุทธศตวรรษที่ 24 อำนาจของราชวงศ์ชิงเสื่อมลง ช่วง พ.ศ. 2384 - 2389 ทิเบตทำสงครามกับเนปาล 2 ครั้ง โดยที่จีนติดพันอยู่กับสงครามฝิ่นกับอังกฤษ ไม่สามารถมาช่วยทิเบตได้ หลังจากการรุกรานทิเบตของนายพลโซราวาร์ สิงห์ ทิเบตทำสัญญาสันติภาพกับลาดักและเนปาลโดยรัฐบาลจีนไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง สนธิสัญญาใน พ.ศ. 2399 ทำให้ชาวเนปาลเข้ามาทำการค้าในทิเบตได้โดยเสรี ทิเบตจำต้องลงนามในสนธิสัญญากับเนปาล ให้คนเนปาลได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตในทิเบต

เมื่อรัสเซียขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชียกลาง อังกฤษมองทิเบตด้วยความกังวลใจ เกรงว่ารัสเซียจะเข้าครอบงำทิเบตผ่านทางมองโกเลีย อังกฤษจึงพยายามเข้าไปขยายอิทธิพลในทิเบต จนกระทั่ง พ.ศ. 2446 อังกฤษส่งทหารบุกรุกทิเบต การบุกรุกสิ้นสุดลงโดยการลงนามในสนธิสัญญากำหนดให้ทิเบตเปิดเมืองยาตุง เมืองเกียนเจอและเมืองการ์ตอก เป็นตลาดการค้าสำหรับอังกฤษ ในพุทธศตวรรษที่ 23 ทิเบตเกิดความขัดแย้งกับภูฏานซึ่งมีลาดักสนับสนุน ทำให้ทิเบตรุกรานลาดัก แคชเมียร์เข้าช่วยลาดัก ทำให้กษัตริย์ของลาดักเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม สนธิสัญญาเตมิสกิม พ.ศ. 2227 แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างทิเบตกับลาดัก และแสดงถึงความเป็นอิสระของทิเบตด้วย

[แก้] พุทธศตวรรษที่ 25: การแทรกแซงของอังกฤษ

บทความหลัก:การรุกรานทิเบตของอังกฤษ พ.ศ. 2446

ผู้ปกครองอังกฤษของอินเดียสนใจทิเบตอีกครั้งในช่วง พ.ศ. 2430 และเริ่มส่งคนจากอินเดียเข้ามาในฐานะนักสำรวจและพ่อค้า สนธิสัญญาเกี่ยวกับทิเบตระหว่างอังกฤษกับจีนมีขึ้นใน พ.ศ. 2429, 2433 และ 2436 ระหว่างเกมอันยิ่งใหญ่เพื่อแย่งชิงเอเชียกลางระหว่างอังกฤษกับรัสซีย อังกฤษต้องการมีอิทธิพลเหนือลาซาเพื่อตัดการขยายอิทธิพลของรัสเซีย พ.ศ. 2447 อังกฤษส่งทหารจากอินเดียภายใต้การนำของ พ.ท. ฟรานซิส ยังฮัสแบนด์ ซึ่งเข้ายึดครองลาซาหลังจากเกิดการสู้รบกันในช่วงเวลาหนึ่ง จีนได้ประท้วงและกล่าวว่าจีนมีอำนาจเหนือทิเบต

สนธิสัญญาที่ตามมาอนุญาตให้ทิเบตเปิดการค้าตามแนวชายแดนกับอินเดีย อนุญาตให้พ่อค้าจากอังกฤษและอินเดียเข้าไปทำการค้าได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องเสียภาษีทางการค้า ทิเบตต้องชดใช้ค่าเสียหาย 2.5 ล้านรูปี และห้ามติดต่อกับต่างชาติโดยที่อังกฤษไม่อนุญาต ขณะนั้นทะไล ลามะองค์ที่ 13 ลี้ภัยไปมองโกเลีย สัญญาจึงลงนามโดยกาเด็น ติ-ริมโปเช

เมื่อพรรคแรงงานมีอำนาจอีกครั้งในอังกฤษจึงอนุญาตให้จีนเข้ามาเจรจาเกี่ยวกับทิเบต สนธิสัญญาอังกฤษ-ทิเบตได้รับการยืนยันด้วยสนธิสัญญาจีน-อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2449 ในข้อที่ว่า “อังกฤษจะไม่ผนวกดินแดนทิเบตหรือเข้าไปก้าวก่ายการบริหารงานของทิเบต” จีนตกลงที่จะจ่ายค่าเสียหาย 2.5 ล้านรูปีแทนทิเบตด้วย พ.ศ. 2450 อังกฤษและรัสเซียตกลงกันว่าจะไม่เจรจากับทิเบตโดยตรง และถือว่าจีนมีอำนาจเหนือทิเบต พ.ศ. 2453 ราชวงศ์ชิงส่งทหารเข้ามาประจำการในทิเบต ทะไลลามะองค์ที่ 13 ลี้ภัยไปอินเดียอีกครั้ง

[แก้] ยุคสาธารณรัฐจีน

เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในประเทศ มีการปรากฏตัวของขุนศึกที่แยกเป็นก๊กเป็นเหล่า ทิเบตประกาศตนเป็นประเทศเอกราชในช่วงนี้ มีการขับไล่ชาวจีนออกนอกประเทศ หลังจากการปฏิวัติในจีน กองทหารท้องถิ่นในทิเบตเขาโจมตีกองทหารจีนที่รักษาการณ์ในทิเบต เจ้าหน้าที่ชาวจีนถูกบังคับให้ลงนามในข้อตกลงสามข้อเพื่อยอมรับว่าอำนาจปกครองทิเบตของจีนได้สิ้นสุดลง พ.ศ. 2455 ทะไลลามะเสด็จกลับลาซา และเตรียมหาทางประกาศเอกราช ทิเบตและมองโกเลียกล่าวอ้างว่าทั้งสองได้ลงนามในสนธิสัญญายอมรับซึ่งกันและกันว่าเป็นประเทศเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2456 แต่การมีอยู่ของเอกสารนี้ไม่เป็นที่ยืนยัน [18] ในช่วง พ.ศ. 2456 – 2457 มีการจัดการประชุมที่สิมลาระหว่างอังกฤษ ทิเบตและจีน อังกฤษเสนอให้แบ่งทิเบตเป็นทิเบตนอกและทิเบตใน (คล้ายกับข้อตกลงระหว่างจีนกับรัสเซียเกี่ยวกับมองโกเลีย) ทิเบตนอกคือส่วนที่เป็นเขตปกครองตนเองทิเบตในปัจจุบัน จะเป็นส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ส่วนทิเบตในได้แก่ คามตะวันออกและอัมโดอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลที่ลาซา ระหว่าง พ.ศ. 2451 – 2461 มีกองทหารรักษาการณ์ชาวจีนอยู่ในคามและมีอำนาจควบคุมผู้ปกครองท้องถิ่น

ในระหว่างการประชุม เฮนรี่ แมคมาฮอน หัวหน้าฝ่ายเจรจาของอังกฤษได้วาดแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างทิเบตกับอินเดีย ฝ่ายจีนเรียกเส้นนี้ว่าเส้นแมคมาฮอน ซึ่งมีจุดที่มีปัญหาระหว่างรัฐอรุณาจัลประเทศกับทิเบตใต้ซึ่งทำให้อินเดียได้ดินแดนมาก

ผลของการประชุมสิมลาสิ้นสุดลงโดยฝ่ายจีนปฏิเสธการแบ่งเขตระหว่างทิเบตนอกกับทิเบตใน มีการลงนามเฉพาะอังกฤษกับทิเบตเท่านั้น พ.ศ. 2461 ทิเบตเข้าครอบครองอัมโดกับคามตะวันตกโดยมีแม่น้ำยังเซเป็นเขตแดน ในเวลานั้นรัฐบาลทิเบตควบคุมดินแดนอู-จั้ง และคามทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยังเซ คามตะวันออกปกครองโดยเจ้าชายท้องถิ่น

หลังจากลงนามในสนธิสัญญาสิมลาประมาณ 1 เดือน เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทะไลลามะองค์ที่ 13 เสนอจะส่งทหารไปช่วยอังกฤษ แต่อังกฤษปฏิเสธ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิเบตมีความสำคัญต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อญี่ปุ่นยึดพม่าได้ ทำให้การติดต่อระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับจีนผ่านทางมณฑลยูนนานถูกตัดขาด สหรัฐจึงหันมาสนใจทิเบต เพื่อเป็นทางผ่านไปยังจีน ทางทิเบตยอมให้สหรัฐขนส่งสิ่งของข้ามแดนได้แต่ต้องไม่ใช่อาวุธ

ระหว่าง พ.ศ. 2463 – 2473 ประเทศจีนเกิดความวุ่นวายจากสงครามประชาชนและสงครามต่อต้านญี่ปุ่นแต่ไม่เคยประกาศสละสิทธิ์เหนือดินแดนทิเบต พ.ศ. 2477 ทะไลลามะสิ้นพระชนม์ จีนส่งตัวแทนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกทะไลลามะองค์ใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ทิเบตประกาศแยกตัวออกจากจีน แต่จีนยังมีอิทธิพลต่อการเมืองภายในทิเบตและยังมีอำนาจปกครองทิเบตในคามและอัมโด[19]

ทิเบตจัดตั้งกระทรวงการต่างประเทศของตนขึ้นใน พ.ศ. 2485 และได้ส่งทูตไปพบเจียง ไคเช็กเมื่อ พ.ศ. 2486 เพื่อยืนยันว่าทิเบตเป็นประเทศเอกราช พ.ศ. 2490 – 2492 ทิเบตส่งคณะทูตทางการค้านำโดยชาคัปปาไปยังอินเดีย ฮ่องกง นานกิง (เมืองหลวงของจีนในขณะนั้น) สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ทุกประเทศต้อนรับคณะทูตของทิเบตแต่หลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าทิเบตเป็นเอกราชอย่างชัดเจน

[แก้] ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน

บทความหลัก: ทิเบตภายใต้การปกครองของจีน

เมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนยึดครองประเทศได้ ขับไล่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งไปไต้หวัน มีกลุ่มชนชั้นสูงในทิเบตและชาวคามทางภาคตะวันออกร่วมมือกับสหรัฐและไต้หวันเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ภายในรัฐบาลลาซาเองเกิดความแตกแยกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนจีนและฝ่ายต่อต้านจีน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดยเหมา เจ๋อตุง ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในทิเบตมากนักเมื่อขึ้นครองอำนาจในช่วงแรก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2493 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจึงเข้าสู่เขตชัมโดของทิเบตและปราบปรามการต่อต้านของทิเบตได้สำเร็จ ปี พ.ศ. 2494 รัฐบาลจีนเสนอข้อตกลง 17 ข้อให้ทิเบต เพื่อให้การยอมรับว่าจีนมีอำนาจเหนือทิเบต ข้อตกลงนี้ได้มีการลงนามในเมืองลาซาในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

รัฐบาลจีนได้แผ่อิทธิพลไปยังทิเบตอย่างช้าๆ จนมีการลงนามในข้อตกลง 17 ข้อ ระหว่างรัฐบาลลาซากับรัฐบาลจีนเมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นการระบุว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลจีนเริ่มปฏิรูปที่ดินในเขตอู-จั้ง รวมคามตะวันออกและอัมโด เข้ากับมณฑลเสฉวน และมณฑลชิงไห่ ตามลำดับ คามตะวันตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทหารที่ชัมโด ในบริเวณดังกล่าวเริ่มมีการปฏิรูปที่ดิน รัฐบาลจีนสร้างถนนหลวงจากลาซาเพื่อเชื่อมต่อกับชายแดนอินเดีย เนปาลและปากีสถาน รัฐบาลท้องถิ่นของทิเบตอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลจีน ในช่วง พ.ศ. 2493 รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับระบบลามะในทิเบต และก่อน พ.ศ. 2502 ในทิเบตยังมีทาส

ประมาณ พ.ศ. 2498 การปฏิรูปที่ดินในเขตคามตะวันออกและอัมโดเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดกบฏต่อต้านทั่วเขตคามตะวันออกและแพร่เข้าสู่คามตะวันตกและอู-จั้ง ใน พ.ศ. 2502 เป็นปีที่ทะไลลามะมีอำนาจเต็มในการบริหารด้วยพระองค์เอง และเป็นปีที่รัฐบาลจีนพยายามก่อตั้งคอมมูนในทิเบตตามอย่างที่ได้จัดมาแล้วทั่วประเทศจีน ทำให้เกิดกบฏในลาซา

ขบวนการป้องกันทิเบตเริ่มต่อต้านการปกครองจากรัฐบาลจีนในช่วง พ.ศ. 2501 – 2502 ซึ่งเริ่มแรกได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆจากสหรัฐ กลุ่มกบฏเข้ายึดครองทิเบตใต้จนกระทั่งรัฐบาลจีนส่งทหารเข้าไปปราบปรามใน พ.ศ. 2502 และเข้ายึดครองลาซา กองทัพต่อต้านจีนจึงย้ายฐานที่มั่นไปเนปาล ตั้งเขตปกครองกึ่งอิสระที่นั่นจน พ.ศ. 2512 เมื่อการสนับสนนถูกยกเลิก จึงถูกรัฐบาลเนปาลปราบปราม

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับทิเบตตึงเครียดขึ้นเมื่อเกิดกบฏในเขตคามและขยายเข้าสู่กรุงลาซา ความขัดแย้งนำไปสู่การจลาจลเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2502 เมื่อพวกกบฏเข้าล้อมวังนอร์บุลิงกา ไม่ยอมให้ทะไลลามะเสด็จไปค่ายทหารปลดแอกประชาชนตามคำเชิญของทหารจีนเพราะเกรงจะถูกจับเป็นตัวประกัน ทำให้ทหารปลดแอกประชาชนเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏ ทะไลลามะเสด็จหนีออกจากลาซาไปลี้ภัยในอินเดียในคืนนั้น ต่อมาจึงประกาศจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อเรียกร้องเอกราชจากจีน จีนแต่งตั้งปันเชนลามะเป็นผู้นำของรัฐบาลทิเบตแทน

พ.ศ. 2508 จีนได้จัดให้ดินแดนทิเบตที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของทะไลลามะเป็นเขตปกครองตนเองทิเบต มีผู้นำเป็นชาวทิเบตอยู่ภายใต้การควบคุมของชาวจีนที่เป็นตัวแทนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกต่อหนึ่ง การแสดงออกทางวัฒนธรรมของทิเบตถูกจำกัดในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา จีนมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ การควบคุมทางวัฒนธรรมและศาสนาได้ผ่อนคลายลง อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปในทิเบตได้

อ้างอิง ==
  1. ^ Van Driem, George "Tibeto-Burman Phylogeny and Prehistory: Languages, Material Culture and Genes".
  2. ^ Bellwood, Peter & Renfrew, Colin (eds) Examining the farming/language dispersal hypothesis (2003) , Ch 19
  3. ^ Haarh, The Yarluṅ Dynasty. Copenhagen: 1969.
  4. ^ ฉัตรสุมาลย์, 2538
  5. ^ Beckwith, C. Uni. of Indiana Diss., 1977
  6. ^ Beckwith, Christopher I. The Tibetan Empire in Central Asia. A History of the Struggle for Great Power among Tibetans, Turks, Arabs, and Chinese during the Early Middle Ages, 1987, Princeton: Princeton University Press. ISBN 0-691-02469-3, p. 14, 48, 50.
  7. ^ Beckwith, Christopher I. The Tibetan Empire in Central Asia. A History of the Struggle for Great Power among Tibetans, Turks, Arabs, and Chinese during the Early Middle Ages, 1987, Princeton: Princeton University Press. ISBN 0-691-02469-3, p. 17.
  8. ^ Old Tibetan Annals, hereafter OTA l. 2
  9. ^ Beckwith 1987: 50
  10. ^ Petech, Luciano (1988). "The Succession to the Tibetan Throne in 704-5." Orientalia Iosephi Tucci Memoriae Dicata, Serie Orientale Roma 41.3. pp. 1080-1087.
  11. ^ Petech, Luciano (1988). "The Succession to the Tibetan Throne in 704-5." Orientalia Iosephi Tucci Memoriae Dicata, Serie Orientale Roma 41.3. pp. 1080-1087.
  12. ^ Petech, Luciano (1988). "The Succession to the Tibetan Throne in 704-5." Orientalia Iosephi Tucci Memoriae Dicata, Serie Orientale Roma 41.3. pp. 1080-1087.
  13. ^ Yamaguchi 1996: 232
  14. ^ Beckwith 1983: 276
  15. ^ Tsepon W. D. Shakabpa, Tibet, a Political Hstory (New Haven: Yale, 1967) , 53
  16. ^ Petech, L. The Kingdom of Ladakh. (Serie Orientale Roma 51) Rome: Instituto Italiano per il Medio ed Estremo Oriente, 1977: 14-16
  17. ^ Grunfeld, A. Tom, The Making of Modern Tibet, 1996, p37-38. Hoffman, 393. Shakabpa, 54-55.
  18. ^ Walt van Praag, Michael C. van. The Status of Tibet: History, Rights and Prospects in International Law, Boulder, 1987, p. 37.
  19. ^ Convention Between Great Britain and Russia (1907)</
  • กรุนเฟลด์ม เอ.ทอม. ทิเบตที่เป็นจริง แปลโดย ส.สุวรรณ. กทม. สุขภาพใจ. 2546
  • ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน. พุทธศาสนาแบบทิเบต. กทม. ศูนย์ไทยทิเบต. 2538

เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น