ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลาย สมัยรัชกาลที่ 7(หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

โดย Miss.Dutchanee เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2010 เวลา 8:00 น. ·

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลาย 

สมัยรัชกาลที่ 7(หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

………………….

1. การบริหารกิจการบ้านเมือง 

            รัชกาลที่ 7 ทรงดำริที่จะมอบอำนาจการปกครองบ้านเมืองแก่ประชาชน ทรงฝึกหัดข้าราชการและราษฎรให้เข้าใจการปกครองตนเอง โดยตั้งสภานครบาลที่ประจวบคีรีขันธ์ ทำหน้าที่ดูแลการปกครองท้องถิ่นแถบนั้น นอกจากนั้นทรงตั้งสภาต่างๆ ดังนี้

            1. อภิรัฐมนตรีสภา ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ 5 พระองค์ มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดินแก่พระมหากษัตริย์

            2. องคมนตรีสภา ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งในและนอกราชการที่มีความสามารถ 40 คน มีหน้าที่ประชุมรับโครงการตามพระราชดำริไปวินิจฉัยเสนอความคิดเห็นในสภา

            3. เสนาบดีสภา ประกอบด้วยเสนาบดีกระทรวงต่างๆ สภานี้มีกษัตริย์เป็นประธาน

            4. สภาป้องกันพระราชอาณาจักร เป็นสภาที่ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายป้องกันประเทศ ติดต่อประสานงานกับกระทรวงฝ่ายธหารและพลเรือนที่เกี่ยวข้องในการดูแลบ้านเมือง เช่น กลาโหม ทหาร มหาดไทย คมนาคม และพาณิชย์ สภานี้มีกษัตริย์เป็นสภานายกและพระบรมวงศ์เธอ ดำรงพระยศสูงสุด เป็นอุปนายก

            5. สภาการคลัง มีหน้าที่ตรวจตราวินิจฉัยงบประมาณแผ่นดินและรักษาผลประโยชน์การเงินของประเทศ คอยวินิจฉัยการคลังเสนอต่อพระมหากษัตริย์ และทำหน้าที่เกี่ยวกับการคลังตามพระราชดำรัสของระมหากษัตริย์ สมาชิสภาประกอบด้วยเสนาบดีคลัง ราชเลขาธิการ และสมาชิกที่ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน

            6. ราชบัณฑิตยสภา ประกอบด้วยแผนกวรรณคดี โบราณคดี และศิลปากร

2. การจัดการปกครอง 

            - การปกครองส่วนกลาง ได้ยุบกระทรวงเหลือ 10 กระทรวง คือรวมกระทรวงทหารเรือเข้ากับกระทรวงกลาโหม และรวมกระทรวงโยธาธิการเข้ากับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อลดงานซ้ำซ้อน

            - การปกครองส่วนภูมิภาค ใช้นโยบายดุลยภาพยุบรวมตำแหน่งปลัดมณฑล อุปราชประจำภาค มณฑลบางมณฑล จังหวัดบางจังหวัดให้รวมเป็นอำเภอ เพื่อลดค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอันเป็นผลมาจากสงครมโลกครั้งที่ 1

            - เริ่มทดลองจัดดำเนินการปกครองแบบเทศบาล ที่หัวหินและชะอำ

3. การเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ 

            ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 7ทรงเสด็จกลับจากอเมริกา ทรงมอบหมายให้พระยาศรีวิศาลวาจาและนายเรมอนด์ สตีเวนส์ (ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถูกพระบรมวงศานุวงศ์ทัดทานไว้

4. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

            - หลังจากที่รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาดวงตาแล้ว และได้โปรดให้ผู้ชำนาญทางกฎหมายข้างต้นร่างรัฐธรรมนูญถวายให้ทันในวันฉลองพระนครครบ 150 ปี คือวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 แต่ได้ถูกทัดทานไว้ดังกล่าว พระองค์จึงนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นไปพิจารณาใหม่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้มีคณะบุคคลประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนส่วนหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า      "คณะราษฎร์" โดยมี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย

            พฤติการณ์การปฏิวัติ

            - วันที่ 24 มิถุนายน  2475  คณะราษฎร์ทำการปฏิวัติ

            - วันที่ 25 มิถุนายน  2475  คณะราษฎร์ได้ทำหนังสือทูลเชิญรัชกาลที่ 7 เสด็จนิวัติพระนคร

            - วันที่ 27 มิถุนายน  2475  ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เรียกว่า " พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว"

            - วันที่ 28 มิถุนายน  2475  เปิดประชุมสภาเป็นครั้งแรก

            - วันที่ 10 ธันวาคม  2475  พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

5. สาเหตุของการปฏิวัติ 

            1. ระดับการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น ก่อให้เกิดความคิดและความต้องการประชาธิปไตย

            2. เห็นตัวอย่างการปฏิวัติการปกครองจากประเทศใกล้เคียง เช่น จีน ญี่ปุ่น

            3. หนังสือพิมพ์ลงบทความกระตุ้นให้ประชาชนต้องการได้ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของตน

            4. เศรษฐกิจตกต่ำตามภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ราษฎรต้องว่างงานมากและข้าราชการบางส่วนถูกปลดออก จึงเกิดความไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น

            5. นักศึกษาไทยจากต่างประเทศมีมากขึ้น ได้เห็นรูปแบบและศึกษาวิธีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ในยุโรป

 

6. หลักการ 6 ประการของคณะราษฎร์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

            1. รักษาเอกราชทางการเมือง การศาล และการเศรษฐกิจของประเทศ

            2. รักษาความปลอดภัย จะรักษาความปลอดภัยภายในประเทศให้โจรผู้ร้ายน้อยลง

            3. เศรษฐกิจ จะจัดหางานให้ทุกคนทำ และวางโครงการเศรษฐกิจของชาติเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

            4. ความเสมอภาค ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน

            5. เสรีภาพ ให้ราษฎรมีเสรีภาพในขอบเขตของกฎหมาย

            6. การศึกษา จะให้ราษฎรได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง


· แสดงความคิดเห็น · แชร์