พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 — 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531) นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2489-2490
[แก้] ประวัติ
พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ชื่อ-นามสกุลเดิม: ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เกิดที่ตำบลหัวรอ อำเภอรอบกรุง (ปัจจุบัน คือ อ.พระนครศรีอยุธยา) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายอู๋ กับนางเงิน ธารีสวัสดิ์ เริ่มการศึกษาที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จากนั้น เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายเรือ กรุงเทพ และได้ศึกษาวิชากฎหมายจนสำเร็จได้เป็นเนติบัณฑิตไทย ในขณะที่รับราชการอยู่ในกองทัพเรือ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
[แก้] ชีวิตการเมือง
พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลง การปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และได้เริ่มบทบาททางการเมืองโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก สภาผู้แทนประเภท 2 และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี ครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อปี พ.ศ. 2476 และเมื่อปี พ.ศ. 2477 ภายหลังจากรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ให้เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปกราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ที่ประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 ในราชวงศ์จักรีสืบไป ในปี พ.ศ. 2479 - พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาล ของ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลของ นายปรีดี พนมยงค์
[แก้] การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งนั้น ประเทศอยู่ในภาวะหลังสงคราม เศรษฐกิจของประเทศกำลังทรุดหนัก พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วยการจัดตั้ง องค์การสรรพาหาร ขึ้น โดยการซื้อของแพงมาขายถูกให้แก่ประชาชนเพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้สูง และเรียกเก็บธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้จ่ายจากประชาชนด้วยการออกธนบัตรใหม่ให้แลก รวมทั้งนำเอาทองคำซึ่งเป็นทุนสำรองของชาติออกขายแก่ประชาชน และจากเหตุการณ์นี้ทางรัฐบาลและรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการส่งข้าวออกขายนอกประเทศ โดยนำข้าวชั้นดีไปขายเหลือแต่เพียงข้าวหักสำหรับเลี้ยงสัตว์ไว้ให้ประชาชนบริโภคเองในประเทศ ทำให้ฝ่ายค้านโดย พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการอภิปรายครั้งแรกด้วยที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ แม้จะได้รับเสียงส่วนมากไว้วางใจ แต่กระแสกดดันที่รุนแรงทำให้ท่านต้องลาออกในวันรุ่งขึ้น และได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทันที
ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น มีความแตกแยกกันเองในหมู่นักการเมือง และประชาชนค่อนข้างมากหลัง เหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และเหตุอื่นๆ บทบาทของท่านในช่วงนี้ คือ การเจรจาทำความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อประสานรอยร้าว จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "นายกฯลิ้นทอง" แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
หลังรัฐประหารแล้ว ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปลี้ภัยอยู่ที่ฮ่องกงระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับประเทศไทย และใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบต่อมา พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 87 ปี นับเป็นทหารเรือคนแรกและคนเดียวจนบัดนี้ ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- หนังสือ 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย โดย ส.คลองหลวง