จอมพล ถนอม กิตติขจร (11 สิงหาคม พ.ศ. 2454—16 มิถุนายน พ.ศ. 2547) อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
[แก้] ประวัติ
จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ถนอม กิตติขจร เกิดเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ณ บ้านหนองหลวง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เป็นบุตรของขุนโสภิตบรรณารักษ์ (อำพัน กิตติขจร) กับนางโสภิตบรรณารักษ์ (ลิ้นจี่) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน มีแซ่ในภาษาจีนว่า ฝู (จีน: 符; พินอิน: fú)เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดโคกพลู จังหวัดตากหลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก และในระหว่างรับราชการทหารได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนแผน ที่ทหาร กองทัพบก โรงเรียนทหารราบ กองทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 1) ตามลำดับ
จอมพลถนอมได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2504[1] จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2506
[แก้] บุตรธิดา
จอมพลถนอม กิตติขจรสมรสกับท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร (สกุลเดิม ถนัดรบ บุตรีของ พันเอกหลวงจบกระบวนยุทธ์ (แช่ม ถนัดรบ) และ คุณหญิงเครือวัลย์ จบกระบวนยุทธ์) มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่
- นางนงนาถ เพ็ญชาติ (พ.ศ. 2474-ปัจจุบัน)
- พันเอกณรงค์ กิตติขจร (พ.ศ. 2476-ปัจจุบัน) สมรสกับคุณสุภาพร (จารุเสถียร) กิตติขจร
- คุณหญิงนงนุช จิรพงศ์
- พลอากาศเอกยุทธพงศ์ กิตติขจร
- คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี (พ.ศ. 2487-ปัจจุบัน) สมรสกับ ร้อยโท ดร.สุวิทย์ ยอดมณี
- คุณหญิงทรงสมร คชเสนี (พ.ศ. 2489-ปัจจุบัน)
นอกจากนี้ยังรับหลานอีก 2 คน ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวของท่านผู้หญิงจงกลมาเลี้ยงดูดุจลูกแท้ๆ ของท่านเอง คือ
- พลตำรวจตรีนเรศ คุณวัฒน์
- นรา คุณวัฒน์
[แก้] การรับราชการ
รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับหมวดกรมทหารราบที่ 8 กองพันที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้ร่วมก่อ รัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ในขณะที่มียศเป็นพันโท ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารบกที่ 11 ต่อมาได้เป็น รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รองผู้บัญชาการภาคทหารบกที่ 1 และเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 มาโดยลำดับ
จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของนายพจน์ สารสิน จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รับการซาวเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 บริหารประเทศไทย 9 เดือนเศษก็ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมตรี เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาที่จอมพล ถนอม กิตติขจร บริหารประเทศได้สร้างทางหลวงสายต่าง ๆ ทั่วประเทศหลายสาย สร้างเขื่อน อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ นอกจากนี้ท่านยังได้ทำการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยทัดเทียมกับนานาประเทศ และในปี พ.ศ. 2508 ได้ส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเวียดนามด้วย
[แก้] การเมือง
หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 มีการเลือกตั้งทั่วไปและมีรัฐสภา ในปี พ.ศ. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง และได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หนึ่งในผู้ที่ยืนหยัดวิจารณ์อย่างไม่เกรงกลัวอำนาจได้แก่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนจดหมายในนามนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึง ผู้ใหญ่ ทำนุ เกียรติก้อง (หมายถึงจอมพลถนอมนั่นเอง)
จนกระทั่งมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรรมนูญการปกครองดังกล่าวได้มีมติให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
จอมพล ถนอม กิตติขจร พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์นี้ ทำให้พลังทางการเมืองหลายฝ่ายกดดันให้จอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยการยึดอำนาจและรัฐประหารทั้งสิ้น 10 ปี 6 เดือนเศษ หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของจอมพลถนอม จนนำไปสู่การยึดทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สุจริตต้องเป็นจำนวนมาก
วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 ท่ามกลางกระแสการปฏิวัติรัฐประหารของฝ่ายทหารทวีความรุนแรงอย่างกว้างขวาง จอมพลถนอมในวัย 65 ปี ได้กลับประเทศไทยอีกครั้งโดยบวชเป็นสามเณร ทำให้นักศึกษาประชาชนได้ออกมาประท้วงขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดรายนี้ เป็นเหตุให้กลุ่มการเมืองอีกฝ่ายที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ฉวยโอกาสก่อรัฐประหารและทำการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก นำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุติการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา และทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้เผด็จการทหารต่อมาเป็นเวลาปีเศษ
จอมพลถนอม กิตติขจร เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัย (รวมในสมัยเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติตัวเองด้วยเป็นสมัยที่ 3) สมัยแรกเป็นนายกในระยะเวลาสั้น ๆ หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2501 สมัยที่สองถึงสี่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอมจึงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการทหาร ถึงแม้ว่า ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นที่ 1 เสนางคบดี ซึ่งเปรียบเสมือนสายสะพายแห่งความกล้าหาญ พร้อมกันนี้ยังได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกกว่า 30 รายการ ซึ่งถือว่าเป็นการจบชีวิตของนายทหารยศจอมพลคนสุดท้ายของกองทัพไทย
ตั้งแต่การเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 นายทหารคนธรรมดาสามัญที่ครองยศจอมพลมีด้วยกัน 7 คน โดยจอมพลถนอมเป็นคนที่ 6 จอมพลประภาส จารุเสถียรเป็นคนที่ 7 แต่ผู้ที่มีอายุยืนที่สุด คือจอมพลถนอม จึงกลายเป็น "จอมพลคนสุดท้าย" จอมพลถนอมถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกเมื่อกลางดึก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2547 อายุรวม 92 ปี
[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้] อ้างอิง
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น