ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
โครงการห้องสมุดโรงเรียนในฝัน

***ร่วมสร้างองค์ความรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต วิทยพัฒนาเด็กไทยในท้องถิ่น***


000 หมวดเบ็ดเตล็ด
(Generalities)

100 หมวดปรัชญา
(Philosophy)

200 หมวดศาสนา
(Religion)

300 หมวดสังคมศาสตร์
(Social Sciences)

400 หมวดภาษาศาสตร์
(Language)

500 หมวดวิทยาศาสตร์
(Pure Sciences)

600 หมวดเทคโนโลยี
(Technology)

700 หมวดศิลปะ
(The Arts)

800 หมวดวรรณคดี
(Literature)

900 หมวดประวัติศาสตร์
(Geography & History)


Home

   

ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี

                   

อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2493 ที่ จ.สิงห์บุรี อาจารย์ธนิสร์ เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงถูกเรียกติดปากว่า "อาจารย์ธนิสร์" ได้เข้าร่วมวงคาราบาว ในปี พ.ศ. 2526 พร้อมกับ เทียรี่ เมฆวัฒนา และ อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) ในการเป็นนักดนตรีแบ๊คอัพในห้องอัดของอโซน่า เมื่อคาราบาว โดยแอ๊ดได้มาอัดเสียงที่นี่ และชักชวนเข้าร่วมวง

บทบาทของ อาจารย์ธนิสร์ ในวงคาราบาว นั้น นับว่า โดดเด่นมาก โดยจะเป็นผู้เล่นในตำแหน่ง คีย์บอร์ด และการประสานเสียง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และความสามารถเฉพาะ ก็คือ การเป่าขลุ่ยไทย โดยเฉพาะในเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ ที่ อาจารย์ธนิสร์ ได้เป่าตลอดทั้งเพลง รวมทั้งการส่งเสียงแซวในเนื้อเพลงด้วย จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกสีสันประจำตัวเมื่อมักจะแซวสมาชิกในวงคนอื่น ๆ โดยเฉพาะแอ๊ด เมื่อเล่นคอนเสิร์ตเสมอ ๆ

อาจารย์ธนิสร์ ได้แยกตัวออกจากวง เมื่อปี พ.ศ. 2531 ภายหลังการออกอัลบั้มชุดที่ 9 คือ "ทับหลัง" โดยขัดแย้งในความเห็นกับแอ๊ด นับเป็นสมาชิกคนแรกที่แยกตัวออกไป จากนั้นก็มีสมาชิกคนอื่น ๆ แยกออกไป หลังจากนั้น อาจารย์ธนิสร์ ได้ร่วมกับเทียรี่และเป้า ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตัวเอง ในปี พ.ศ. 2533 ชื่อชุด "ขอเดี่ยวด้วยคนนะ" มีเพลงที่ได้รับความนิยม ซึ่งร้องโดย อาจารย์ธนิสร์และเทียรี่ คือ วันเกิด และ เงินปากผี

หลังจากนั้น อาจารย์ธนิสร์ ก็ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตนเองชื่อชุด "ลมไผ่" มีเพลงที่เป็นที่จดจำ มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีความไพเราะมาก คือ ทานตะวัน ที่นำเนื้อร้องมาจากบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งแต่งไว้เมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากการชมทุ่งทานตะวัน ที่รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางไปพร้อมกับวงคาราบาวในการทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ ซึ่งเป็นการร้องประสานเสียงพร้อมเสียงขลุ่ยซึ่งมีเนื้อร้องว่า

ตะวันส่องใสแดดฉายลงมาทาบทาทิวทุ่ง
แผ่วลมผ่านโรยเหมือนโปรยกลิ่นปรุงดอกฟางหอมลอย
ดอกหญ้าดาววับวาวทางเกลื่อนเหมือนดังหยาดพลอย
แตะนิดต้องน้อยราวมณีร่วงพรูพัดพรายลงดิน

จะอยู่แดนไหนสุดฟ้าแสนไกลคะนึงถึงถิ่น
ด้าวแดนแผ่นดินที่เราจากมาเนิ่นนานแสนนาน
ดอกหญ้างามงดงามดังก่อนหรือร่อนร่วงราน
แดดร้อนดินแล้งลมระงมแผ้วพานบ้านนาป่าเขา

ทุ่มกายทุ่มใจเข้าโหมแรงไฟหัวใจแรงเร่า
ยิ่งสร้างยิ่งทำระกำหนักเบาดิ้นรนหนทาง
เจ้ามิ่งขวัญยิ่งวันยิ่งเดือนยิ่งเลือนยิ่งราง
ทอดทิ้งทุ่งร้างวันและวันผ่านเยือนเหมือนเดินทางไกล

ตะวันส่องแสงสาดแสงลงมาทาบทาทางใหม่
ร่วมจิตร่วมใจก้าวไปก้าวไปฝ่าภัยร้อยพัน
มิ่งขวัญเอ๋ยหัวใจเรามั่นเหมือนทานตะวัน
เฉิดแสงแรงฝันกลางรวีตะวันสีทองส่องใส

และนับแต่นั้น อาจารย์ธนิสร์ ก็ได้ทำงานที่ชื่นชอบและถนัดของตนเอง มีผลงานออกมาหลายชุด ซึ่งโดยมากเป็นทำนองเพลงพื้นบ้านหรือเพลงไทยประยุกต์ให้เข้ากับดนตรีร่วมสมัย หลายชุดก็เป็นการร่วมงานกับศิลปินเพื่อชีวิตคนอื่น ๆ เช่น สุรชัย จันทิมาธร หรือ วิสา คัญทัพ เป็นต้น และในปี พ.ศ. 2538 ก็ได้กลับมาร่วมงานกับคาราบาวอีกครั้ง ในชุด "15 ปี คาราบาว หากหัวใจยังรักควาย" อันเป็นการกลับมาร่วมทำงานด้วยกันของสมาชิกเก่า ๆ

ในปี พ.ศ. 2547 อาจารย์ธนิสร์ ได้ร่วมกับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ออกอัลบั้มร่วมกันในชุด "เพลงแผ่นดิน จาก 3 คีตกานต์กวี" ซึ่งก็ได้นำทานตะวันมาทำดนตรีและร้องใหม่โดย พงษ์เทพ ด้วย

อาจารย์ธนิสร์ มีชื่อเล่นว่า "เล็ก" ซึ่งไปซ้ำกับชื่อของ เล็ก ปรีชา ชนะภัย สมาชิกอีกคนของวง ดังนั้น อาจารย์ธนิสร์ เมื่ออยู่ในวงจึงไม่ถูกเรียกชื่อเล่นเหมือนสมาชิกคนอื่น ๆ โดยผลงานสุดท้ายที่ทำร่วมกับคาราบาว คือ การเป่าขลุ่ยในเพลง เดือนแรม ในอัลบั้ม "สาวเบียร์ช้าง" ในปี พ.ศ. 2544

อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้รับการยอมรับว่า เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถและความชำนาญอย่างมากในการเล่นดนตรีประเภทเครื่องเป่า โดยเฉพาะ ขลุ่ยไทย จนได้รับฉายาว่า "จอมยุทธขลุ่ย" ปัจจุบัน จัดรายการวิทยุประจำที่คลื่นความคิด F.M.96.5 ของ อสมท และเป็นวิทยากรประจำรายการ คุณพระช่วย โดย บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ทางช่อง 9

ที่มา

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2553). ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี .

ค้นเมื่อ กันยายน 25, 2553, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%
B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%
A3%E0%B9%8C_%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%
E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%88%
E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5

 


Copyright
All copyright rights in the Dewey Decimal Classification system are owned by OCLC. Dewey, Dewey Decimal Classification, DDC and WebDewey are registered trademarks of OCLC
Revised:March 2009


Send comments to Chumpot@hotmail.com