สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา |
|
---|---|
พระบรมนามาภิไธย | พระศรีสุธรรมราชา |
พระปรมาภิไธย | สมเด็จพระสรรเพชญที่ 7 |
พระอิสริยยศ | พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ปราสาททอง |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2199 |
ระยะครองราชย์ | 2 เดือน 17 วัน |
รัชกาลก่อนหน้า | สมเด็จเจ้าฟ้าไชย |
รัชกาลถัดไป | สมเด็จพระนารายณ์มหาราช |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
สวรรคต | พ.ศ. 2199 |
-
บทความนี้เกี่ยวกับสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7 สำหรับสมเด็จพระสรรเพชญ์พระองค์อื่น ดูที่ สมเด็จพระสรรเพชญ์
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7 หรือ พระศรีสุธรรมราชาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยารัชกาลที่ 26 และเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททองลำดับที่ 3 (ครองราชย์ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2199 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2199) พระองค์เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยบางแห่งกล่าวว่าเป็นบุตรของมหาดเล็ก พี่ชายของนางอิน พระมารดาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[1]
เนื้อหา |
[แก้] พระราชประวัติ
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสว่า "น้องเราคนนี้น้ำใจกักขชะหยาบช้า มิได้มีหิริโอตัปปะ จะให้เป็นอุปราชรักษาแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณมิได้ ให้เป็นแต่เจ้าพระ ชื่อ พระศรีสุธรรมราชา" พร้อมกันนี้โปรดให้พระศรีสุธรรมราชาตั้งบ้านหลวงอยู่ที่ริมวัดสุทธาวาส
[แก้] การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จเจ้าฟ้าไชยพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองสมบัติสืบต่อสมเด็จพระราชบิดา แต่สมเด็จเจ้าฟ้าไชยทรงครองราชย์ได้ไม่นาน พระศรีสุธรรมราชา พระปิตุลา (อา) และสมเด็จพระนารายณ์ พระราชนัดดาของพระองค์ ก็สมคบคิดกันชิงราชบัลลังก์ เมื่อถึงวันตามที่ทั้งสองพระองค์ตกลงกันแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ได้พาพระราชกัลยาณี พระขนิษฐาในพระองค์ลอบหนีออกจากพระราชวังทางประตูตัดสระแก้วเพื่อเสด็จไปหาพระศรีสุธรรมราชา หลังจากนั้น พระศรีสุธรรมราชาและสมเด็จพระนารายณ์จึงได้ยกกำลังพลเข้ามาในพระราชวัง จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าไชยและนำพระองค์ไปสำเร็จโทษเสีย ณ วัดโคกพระยา เมื่อชิงราชสมบัติเป็นผลสำเร็จ พระศรีสุธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนารายณ์ พระราชนัดดาเป็นพระมหาอุปราช โดยให้เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล
[แก้] เหตุแห่งการยึดอำนาจ
หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้สองเดือนเศษ สมเด็จพระนารายณ์ได้ชิงราชสมบัติจากพระองค์ ซึ่งการช่วงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาโดยสมเด็จพระนารายณ์นั้นมีการกล่าวไว้ในหลายแง่มุม โดยพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า สมเด็จพระศรีสุธรรมราชามีจิตเสน่หาต่อพระราชกัลยาณี ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์และเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ จึงทรงรับสั่งให้ไปเฝ้าบนพระที่ แต่พระราชกัลยาณีไม่ได้เสด็จขึ้นไปและได้นำความมาบอกพระนม พระนมจึงเชิญพระราชกัลยาณีซ่อนในตู้พระสมุดแล้วหามออกไปยังพระราชวังบวรสถานมงคลอันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงกริ้วและตรัสว่า
เป็นที่เชื่อกันว่า เหตุการณ์เล็กน้อยข้างต้นอาจเป็นเพียงข้ออ้างหนึ่งของพระนารายณ์ที่นำมาใช้ในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา[ต้องการอ้างอิง] มีหลักฐานของฮอลันดากล่าวถึงการปรึกษาของพระนารายณ์กับพ่อค้าชาวฮอลันดาในการขอความช่วยเหลือเพื่อชิงราชสมบัติมาตั้งแต่แรกที่สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชย์เมื่อเดือนสิงหาคม[ต้องการอ้างอิง]
[แก้] สวรรคต
พระนารายณ์ได้รับการสนับสนุนจากพระยาเสนาภิมุข พระยาไชยาสุระและทหารญี่ปุ่น 40 นาย รวมทั้งชาวมุสลิมจากเปอร์เซีย การต่อสู้ยึดอำนาจเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงในตอนเย็นวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2199 จนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น ไพร่พลของทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ทั้งสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาและสมเด็จพระนารายณ์ต่างได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไปวังหลังแต่ถูกพระนารายณ์จับตัวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้และนำไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา
ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2199 พระนารายณ์ได้ปราบดาภิเศกขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาซึ่งอยู่ในราชสมบัติได้เพียง 2 เดือน 17 วัน
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- วุฒิชัย มูลศิลป์ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๒๖ หน้า ๑๖๘๒๘
- พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบาทสมเด็จพระ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา พระนคร : ศิวพร, ๒๕๑๑
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๒ เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๗
- Cushman, Richard D, (Trans). The Royal Chronicles of Ayutthaya. Bangkok : The Siam Societey, ๒๐๐๐
สมัยก่อนหน้า | สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา | สมัยถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จเจ้าฟ้าไชย (ราชวงศ์ปราสาททอง) (พ.ศ. 2199) |
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา (ราชวงศ์ปราสาททอง) (พ.ศ. 2199) |
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ราชวงศ์ปราสาททอง) (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) |
|