สฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ | |
---|---|
นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คนที่ 11 | |
ดำรงตำแหน่ง 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 – 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 |
|
สมัยก่อนหน้า | จอมพล ถนอม กิตติขจร |
สมัยถัดไป | จอมพล ถนอม กิตติขจร |
ผู้บัญชาการทหารบก | |
ดำรงตำแหน่ง 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 – 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 |
|
สมัยก่อนหน้า | จอมพล ผิน ชุณหะวัณ |
สมัยถัดไป | จอมพล ถนอม กิตติขจร |
รักษาการนายกรัฐมนตรี (ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ) |
|
ดำรงตำแหน่ง 16 กันยายน พ.ศ. 2500 – 21 กันยายน พ.ศ. 2500 |
|
สมัยก่อนหน้า | จอมพลแปลก พิบูลสงคราม |
สมัยถัดไป | นายพจน์ สารสิน |
ดำรงตำแหน่ง 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 |
|
สมัยก่อนหน้า | จอมพลถนอม กิตติขจร |
สมัยถัดไป | จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพฯ ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 (55 ปี) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | พรรคเสรีมนังคศิลา (พ.ศ. 2498) พรรคชาติสังคม (พ.ศ. 2500) |
คู่สมรส | ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ |
ศาสนา | พุทธ |
ลายมือชื่อ |
จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ พลตำรวจเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 — 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506) เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อสัญกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารบกและอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ก่อตั้งสำนักงบประมาณ และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารทหารไทย เจ้าของคำพูดที่ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"[1] และ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"
จอมพลสฤษดิ์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการแปลวรรณกรรมกัมพูชามาเป็นภาษาไทย[2][3][4] ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษฎ์ได้ให้การสนับสนุนผู้มีอำนาจของประเทศลาว นายพลพูมี หน่อสะหวัน ในการต่อสู้กับกองโจรคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว ในราชอาณาจักรลาว
จอมพลสฤษดิ์มีอนุภรรยาจำนวนมาก[5] และมีบุตรหลายคน สมรสครั้งสุดท้ายกับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ ปัจจุบันคือ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์
เนื้อหา |
[แก้] การศึกษา
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดมุกดาหาร จากนั้นเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในปี พ.ศ. 2462 ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ใช้เวลาเรียนอยู่ 10 ปี จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2471 ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472
[แก้] การรับราชการทหาร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ขณะที่ติดยศร้อยตรี ได้เกิดกบฏบวรเดช นำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหนึ่งในผู้บังคับหมวดปราบปรามกบฏของฝ่ายรัฐบาล ที่มีพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชา หลังจากรัฐบาลได้รับชัยชนะ ได้รับพระราชทานยศ ร้อยโท จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก
ในปี พ.ศ. 2484 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 จังหวัดลำปาง มียศเป็นพันตรี และได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ จนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2488 จึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง โดยก่อนหน้านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2487 อำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เริ่มเสื่อมถอยลง[6] หลังจากลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับเติบโตขึ้นโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ[7]
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2490 คณะนายทหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยความเคารพเลื่อมใสที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ[8] พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเข้าร่วมคณะรัฐประหาร เป็นการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นขุนพลคู่ใจตั้งแต่นั้น[9]
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชีวิตราชการของพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานยศ พลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงเมื่อปีเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็น พลโท ต่อด้วยการก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2493 ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ได้ครองตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ครองยศ พลเอก
ส่วนตำแหน่งในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และได้รับพระราชทานยศ จอมพล
[แก้] บทบาททางการเมือง
ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก โดยสาเหตุการลาออกนั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[10] ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อันธพาลที่เรียกโดยสุภาพในขณะนั้นว่า "ผู้กว้างขวาง"[11] ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมาก เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ลุกลาม เกิดความวุ่นวายอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบอีก ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า "วีรบุรุษมัฆวานฯ"[12]
ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามขาดความชอบธรรมที่จะปกครองบ้านเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[13] คงเหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียงอย่างเดียว
เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการจะรักษาอำนาจต่อไป จึงทำให้มีทั้งนายทหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภท 1 และประเภท 2 ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลบางส่วนลาออก บางส่วนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วยอีกต่อไป ต่างก็พากันไปร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีเป้าหมายคือให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลงจากอำนาจ
ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจากจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง[14] ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยคสำคัญที่ยังติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"[15]
จนเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปที่บ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กำลังจะเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏที่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลแต่ยังไม่ทันที่ดำเนินการใด ๆ
ในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากตำแหน่ง ในคืนนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ ท่ามกลางความยินดีของประชาชนชาวไทย รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้สิ้นสุดอย่างสิ้นเชิงนับแต่นั้น
หลังจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากรัฐบาลนายพจน์ สารสินจัดการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย พลโทถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 แต่กาลต่อมา ได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีขึ้นในรัฐบาลพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทถนอม กิตติขจรก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วร่วมมือกับพลโทถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง
[แก้] ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 หลังจากการทำรัฐประหารรัฐบาลของจอมพลป พิบูลสงคราม
ในช่วงที่บริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมืองลง โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ทั้งยังได้สร้างผลงานทั้งทางด้านการปรับปรุงการบริหารและการพัฒนาประเทศไว้มากมาย ผลงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล กฎหมายปรามการค้าประเวณี และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนกระทั่งได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (ปี พ.ศ. 2504 - พ.ศ. 2509) ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแม่แบบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน มีการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า, ประปา, ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเรียกว่า "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคไตพิการเรื้อรัง รวมอายุได้ 55 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตลงในขณะที่ดำรงตำแหน่ง[16] ซึ่งหลังการเสียชีวิตสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้เปิดเพลง "พญาโศก" เป็นการไว้อาลัยแก่ท่านด้วย[17]
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีฉายาว่า "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย[18] เพราะตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่งและมีบทบาท ท่านได้ใช้มาตรการเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด เพื่อจัดการความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันที หลังจากบ้านใดเกิดเพลิงไหม้ เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ การใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 17 การปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นผู้ที่รื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา เป็นต้น[19]
นอกจากนี้แล้ว ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลสฤษดิ์ ประเทศไทยได้เกิดมีกรณีพิพาทกับประเทศกัมพูชา เพื่อนบ้าน ในกรณีประสาทเขาพระวิหาร ในศาลโลก ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการเรื่ยรายเงินบริจาคจากประชาชนชาวไทยคนละ 1 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลโลก[20] ซึ่งในคำตัดสินของศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2505 ได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งหลังจากทราบคำตัดสินของศาลโลกแล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้แก่ประชาชนชาวไทยด้วยตนเองผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย[21]
[แก้] เรื่องอื้อฉาว
หนึ่งเดือนหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ทายาททั้งหลายต่างก็เริ่มวิวาทแก่งแย่งทรัพย์มรดกมหาศาลของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 บุตรทั้ง 7 คนของจอมพลสฤษดิ์ได้ฟ้องท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ที่พยายามจะตัดสิทธิในส่วนแบ่งอันถูกต้องของทายาท
เนื่องจากเป็นเรื่องอื้อฉาวมาก ประชาชนจึงต่างให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในคดีนี้และสื่อมวลชนก็ยกให้เป็นคดีที่อื้อฉาวที่สุดในเมืองไทยปัจจุบัน การที่ประชาชนให้ความสนใจในการพิจารณาคดีนี้ จึงเป็นการบังคับให้รัฐบาลจอมพลถนอมต้องเข้าแทรกแซงและสอบสวนเบื้องหลังความมั่งคั่งของจอมพลสฤษดิ์
ได้มีการเปิดพินัยกรรมของจอมพลสฤษดิ์ที่บ้านของจอมพลถนอม ต่อหน้าทนายความและนายทหารคนสำคัญๆ ที่เป็นผู้ใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ ตัวพินัยกรรมเองลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงเล็กน้อย ข้อสำคัญในพินัยกรรมกล่าวว่าทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ให้ตกแก่ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์แต่เพียงผู้เดียว โดยมีข้อแม้ว่าท่านผู้หญิงต้องให้ลูกเลี้ยง คือพันตรีเศรษฐา ธนะรัชต์และร้อยโทสมชาย ธนะรัชต์ คนละ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งบ้านหนึ่งหลังที่เหมาะสมกับฐานะของบุคคลทั้งสอง อย่างไรก็ตาม จะเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ก็ต่อเมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นเงินสดมีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ที่นาของจอมพลสฤษดิ์จะต้องแบ่งให้แก่บุตรชายคนโตทั้งสองคนจำนวนเท่าๆ กัน
โจทย์ร้องเรียนว่าจอมพลสฤษดิ์ได้เขียนพินัยกรรมขึ้นอีกฉบับหนึ่งซึ่งถูกท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ทำลายไปแล้วหลังจากที่เข้าบุกบ้านส่วนตัวของจอมพลสฤษดิ์ในค่ายกองพลที่ 1 บุตรชายทั้งสองกล่าวหาท่านผู้หญิงวิจิตราว่าได้พยายามจะรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ไว้โดยอ้างว่ามีเงินจำนวนถึง 2,874,009,794 บาท รวมกันอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายที่ไม่สามารถจะประมาณได้ ตรงกันข้ามท่านผู้หญิงวิจิตรากลับกล่าวว่าตนรู้เพียงว่ามีเงินเพียง 12 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่รอคอยผลการตัดสินจากศาล บุตรของจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ร้องเรียนจอมพลถนอมให้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ในการสอบสวนเรื่องราวนี้ทั้งหมด หลังจากที่พิจารณาอย่างคร่าวๆ แล้ว รัฐบาลรู้สึกว่าหากมิได้ลงมือกระทำการอย่างรวดเร็วแล้ว ก็จะทำให้ฐานะของรัฐบาลไม่ดีในสายตาของประชาชน ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2507 จอมพลถนอมจึงออกประกาศว่าตนจะได้นำมาตรา 17 มาใช้ในการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์และตั้งคณะกรรมการสอบสวนขอบข่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวงของจอมพลสฤษดิ์
จากงานของคณะกรรมการคณะนี้ ปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้เงินแผ่นดินเพื่อเลี้ยงดูนางบำเรอและลงทุนในธุรกิจ เงินผลประโยชน์ที่สำคัญๆ 3 แหล่งที่รัฐบาลสนใจคือ เงินงบประมาณ 394 ล้านบาทที่เป็นเงินสืบราชการลับของสำนักนายกรัฐมนตรี เงิน 240 ล้านบาทจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และประมาณ 100 ล้านบาทซึ่งควรที่จะให้แก่กองทัพบกซึ่งได้เปอร์เซนต์จากการขายสลากกินแบ่ง
ในระหว่างการสอบสวน อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเปิดเผยว่า จอมพลสฤษดิ์และท่านผู้หญิงวิจิตรามีผลประโยชน์จากบริษัทต่างๆ ถึง 45 แห่ง การถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งก็คือในบริษัทกรุงเทพกระสอบป่าน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ต่อมาสมาชิกผู้หนึ่งในคณะกรรมการบริษัทได้ให้ปากคำว่า หุ้นส่วน้เหล่านี้ได้โอนไปให้น้องชายจอมพลสฤษดิ์สองคน ซึ่งทั้งนี้ก็หมายความว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากอุตสาหกรรมข้าว ซึ่งกฎหมายบังคับให้ซื้อกระสอบป่านจากบริษัทนี้ นอกจากจำนวนหุ้นและบัญชีเงินฝากในธนาคารจำนวนมากมายแล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังมีที่ดินอีกจำนวนมหาศาล ดังที่อธิบดีกรมที่ดินกล่าวว่า จอมพลสฤษดิ์มีที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับแปลงไม่ถ้วนทั้งในและทั่วพระนคร ส่วนเงินสดที่เก็บไว้ในธนาคารต่างๆ นั้น จอมพลสฤษดิ์มีอยู่ประมาณ 410 ล้านบาท ซึ่งถูกยึดไว้เพื่อพิจารณาว่าเงินส่วนใดเป็นของรัฐบาลหรือไม่
ในที่สุดศาลก็ได้พิจารณาคดีวิวาทเกี่ยวกับทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ศาลแนะนำให้ประนีประนอมกันโดยที่ให้ท่านผู้หญิงวิจิตราและพันโทเศรษฐาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และให้ตกลงกันเองต่อเมื่อปรากฏผลขั้นสุดท้ายของการสอบสวนของรัฐบาลแล้ว
[แก้] กิจการที่จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ก่อตั้ง
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 (เสนางคะบดี)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ
- เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา
- เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
- เหรียญราชการชายแดน
- เหรียญจักรมาลา
- เหรียญลูกเสือสดุดี
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 2 (อ.ป.ร.2)[22]
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศเป็นอันมาก
[แก้] อ้างอิง
- ^ หนังสือประชาธิปไตยบนเส้นขนาน โดย วินทร์ เลียววาริณ, ISBN 9748585476
- ^ http://www.bookrags.com/biography/sarit-thanarat/
- ^ Smith Nieminen Win. Historical Dictionary of Thailand. Praeger Publishers. pp. 225. ISBN 0-8108-5396-5.
- ^ Richard Jensen, Jon Davidann, Sugita. Trans-Pacific Relations: America, Europe, and Asia in the Twentieth Century. Praeger Publishers. pp. 222. ISBN 0275977145. http://www.amazon.com/Trans-Pacific-Relations-America-Twentieth-Perspectives/dp/0275977145/ref=si3_rdr_bb_product/104-7867281-3169568.
- ^ "โดม แดนไทย" ผู้เขียน "จอมพลของคุณหนูๆ" (โรงพิมพ์เกียรติศักดิ์ พ.ศ. 2507) รวบรวมรายชื่อ บรรดาสตรีในชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ไว้ถึง 81 คน
- ^ หนังสือประชาธิปไตยบนเส้นขนาน โดย วินทร์ เลียววาริณ, ISBN 9748585476
- ^ หนังสือประชาธิปไตยบนเส้นขนาน โดย วินทร์ เลียววาริณ, ISBN 9748585476
- ^ หนังสือ นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์ โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม พ.ศ. 2522
- ^ หนังสือ นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์ โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม พ.ศ. 2522
- ^ ปัญหาความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของการเลือกตั้ง จากปี 2500 เลือกตั้ง "สกปรก" ถึงปี 2549 เลือกตั้ง "ตลก-โจ๊ก"
- ^ ถ่อยเกินร้อย.. โดยวิจารณ์ จันทนะเวส
- ^ รัฐประหาร 19 กันยา ในสายตาของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา
- ^ วีซีดีชุดบันทึกเมืองไทย ดำเนินรายการ โดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา พ.ศ. 2540
- ^ วีซีดีชุดบันทึกเมืองไทย ดำเนินรายการ โดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา พ.ศ. 2540
- ^ หนังสือประชาธิปไตยบนเส้นขนาน โดย วินทร์ เลียววาริณ, ISBN 9748585476
- ^ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
- ^ หนังสือ 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย โดย ส.คลองหลวง
- ^ หนังสือ 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย โดย ส.คลองหลวง
- ^ วันนี้ในอดีต: 16 กันยายน จากเว็บไซต์สารคดี
- ^ [http://www.oknation.net/blog/spyone/2008/06/20/entry-2 ไทยเสียเขาพระวิหารเพราะ..ภาษิตลาติน... จากโอเคเนชั่น
- ^ แถลงการณ์ของจอมพลสฤษดิ์จากเอ็มไทย
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘, เล่ม ๖๗, ตอน ๓๙ ง, ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๓๐๓๘
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะที่ 29 : 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 [1]
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2451
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2506
- นักการเมืองไทย
- นายกรัฐมนตรีไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติไทย
- รัฐมนตรีไทยที่ไม่ได้ประจำกระทรวง
- อธิบดีกรมตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- ผู้บัญชาการทหารสูงสุดไทย
- ผู้บัญชาการทหารบกของกองทัพไทย
- ทหารบกชาวไทย
- จอมพล
- บุคคลจากกรุงเทพมหานคร
- ชาวไทยเชื้อสายลาว
- สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ น.ร.
- สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ. (ฝ่ายหน้า)
- สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ส.ร.
- สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- สมาชิกเหรียญจักรมาลา
- สมาชิกเหรียญรัตนาภรณ์ อ.ป.ร.2
- สมาชิกเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.1
- บุคคลจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- พรรคชาติสังคม