สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
-
บทความนี้เกี่ยวกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สำหรับพระเชษฐาพระองค์อื่น ดูที่ พระเชษฐา
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 |
|
---|---|
พระบรมนามาภิไธย | พระเชษฐา |
พระปรมาภิไธย | สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 |
พระอิสริยยศ | พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์สุพรรณภูมิ |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2034-พ.ศ. 2072 |
ระยะครองราชย์ | 38 ปี |
รัชกาลก่อนหน้า | สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 |
รัชกาลถัดไป | สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2015 |
สวรรคต | พ.ศ. 2072 |
พระราชบิดา | สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ |
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระมหากษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเชษฐา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2015 ที่เมืองพิษณุโลก ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานถึง 38 ปี นับเป็นลำดับที่สองรองจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นพระราชบิดา
เนื้อหา |
[แก้] พระราชประวัติ
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระเชษฐา เสด็จพระราชสมภพเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2015 ที่เมืองพิษณุโลก พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีพระเชษฐา ได้แก่ พระอินทรราชาและพระบรมราชา (ต่อมา คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3)
เมื่อปี พ.ศ. 2027 พระองค์ทรงผนวชพร้อมด้วยพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เมื่อพระองค์ลาผนวชแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสถาปนาพระองค์พระองค์ไว้ที่พระมหาอุปราชขณะที่มีพระชันษาได้ 13 ปี แต่มิได้ทรงระบุว่าทรงเป็นพระมหาอุปราชเมืองพิษณุโลกหรือกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2031 ขณะที่พระองค์มีพระชันษาได้ 16 พรรษา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาอยู่จึงได้ย้ายราชธานีมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหลังจากที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายราชธานีไปยังเมืองพิษณุโลก ส่วนพระองค์ยังคงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกในตำแหน่งพระมหาอุปราช จนกระทั่ง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2034 สมเด็จพระเชษฐาธิราชจึงเสด็จจากเมืองพิษณุโลกมาเสวยราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อมีพระชันษาได้ 19 พรรษา โดยทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ 2)
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2072 ขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา พระองค์ครองราชสมบัติรวม 38 ปี ในปีที่พระองค์เสด็จสวรรคตนั้นเป็นปีที่ดาวหางฮัลเลย์โคจรมาใกล้โลก โดยมีปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า
|
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงมีพระราชสมภพที่พิษณุโลกใน พ.ศ. 2015 เมื่อพระชนมายุ 13 ปี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดาทรงอภิเษกให้เป็นพระมหาอุปราช อยู่ 3 ปี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็สวรรคต ราชสมบัติตกอยู่แก่พระเชษฐา คือ พระบรมราชาธิราชที่ 3 ซึ่งครองราชย์เพียง 3 ปี ก็เสด็จสวรรคต จึงเสด็จมาเสวยราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระชันษา 19 ปี
นอกจากนี้พระองค์ยังมีอีกพระนามคือ พระพันวษา
[แก้] พระราชโอรส
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสัณนิษฐานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงมีพระราชโอรสสามพระองค์ได้แก่
- พระอาทิตย์วงศ์ ประสูติกับพระอัครมเหสี ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร
- พระไชยราชา ประสูติกับพระสนม ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช
- พระเฑียรราชา เป็นอนุชาต่างพระสนมกับพระไชยราชา ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
[แก้] พระราชกรณียกิจ
[แก้] การพระศาสนา
- พ.ศ. 2035 สมเด็จพระรามาธิบดีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่เพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ในเขตพระบรมหาราชวัง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่เพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในวัดเดียวกัน
- พ.ศ. 2042 สมเด็จพระรามาธิบดีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารในวัดศรีสรรเพชญ์
- พ.ศ. 2043 สมเด็จพระรามาธิบดีหล่อโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูป พระศรีสรรเพชญ์ เริ่มหล่อในวันอาทิตย์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6
- พ.ศ. 2046 ทรงให้มีงานฉลองสมโภชพระศรีสรรเพชญ์ วันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8
[แก้] การเจริญสัมพันธไมตรีกับโปรตุเกส
ใน พ.ศ. 2054 ทูตนำสารของ อะฟองซู ดือ อะบูแกร์ แม่ทัพใหญ่ของโปรตุเกสได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า พระองค์ทรงตอบรับไมตรีจากโปรตุเกส และได้ทำสัญญาทางราชไมตรีกับทางการค้าต่อกัน ใน พ.ศ. 2059 นับเป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศ โปรตุเกสจึงนับเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา
ผลจากการเข้ามาสร้างไมตรีของชาวโปรตุเกส ได้มีการนำเอาอาวุธแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาถวาย ได้แก่ ปืนประเภทต่าง ๆ และกระสุนดินดำ ต่อมาชาวโปรตุเกสได้เข้ามาเป็นทหารอาสาฝรั่ง ได้ช่วยฝึกวิธีการใช้อาวุธแบบตะวันตกกับกรุงศรอยุธยา
[แก้] ราชการสงคราม
[แก้] สงครามกับมะละกา
เมื่อ พ.ศ. 2043 พระองค์ทรงส่งกองทัพทั้งทางบกและทางเรือไปทำสงครามกับมะละกาถึงสองครั้ง โดยเข้าโจมตีชายฝั่งตะวันออกและตะวันตก แม้ไม่ประสบผลสำเร็จแต่ก็ทำให้มะละกาได้ตระหนักถึงอำนาจของอยุธยาที่มีอิทธิพลเหนือหัวเมืองในคาบสมุทรภาคใต้ โดยมีเมืองนครศรีธรรมราชทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ใช้เป็นฐานในการควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ในคาบสมุทรแห่งนี้ กษัตริย์มะละกาผู้ปกครอง ปัตตานี ปาหัง กลันตัน และเมืองท่าที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทั้งหมดต้องส่งบรรณาการต่อกษัตริย์อยุธยาทุกปี
[แก้] สงครามกับล้านนา
- พ.ศ. 2056 พระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่แห่งอาณาจักรล้านนา ยกทัพมาตีกรุงสุโขทัย สมเด็จพระรามาธิบดีได้ทรงออกทัพขึ้นไปป้องกันทางเหนือ จนกองทัพเชียงใหม่แตกกลับไป
- พ.ศ. 2058 พระองค์ได้ทรงยกกองทัพขึ้นไปตีล้านนาอีกหน คราวนี้ทรงตีเมืองลำปางได้
[แก้] สถาปนาพระมหาอุปราช
พ.ศ. 2069 พระองค์ได้ทรงสถาปนาพระอาทิตย์วงศ์ พระราชโอรสให้เป็นพระบรมราชาตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธางกูร หรือสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้ารัชทายาท โปรดเกล้า ฯ ให้ปกครองหัวเมืองเหนือประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ทำให้ราชอาณาจักรล้านนาไม่มารบกวนเมืองเหนืออีกตลอดรัชสมัยของพระองค์
[แก้] การจัดระเบียบกองทัพ
สมเด็จพระรามาธิบดีที ทรงจัดให้มีการจัดระเบียบกองทัพ และแต่งตำราพิชัยสงคราม ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำบัญชีกำลังพล เมื่อ พ.ศ. 2061 เพื่อเกณฑ์พลเมืองเข้ารับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยกำหนดให้ไพร่ที่เป็นชาย อายุตั้งแต่ 18 - 60 ปี ต้องเข้ารับราชการทหาร ยกเว้นผู้ที่มีบุตรชายแล้วเข้ารับราชการ ตั้งแต่สามคนขึ้น ผู้เป็นบิดาจึงพ้นหน้าที่รับราชการทหาร
ชายที่มีอายุ 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนทหารเพื่อเข้ารับการฝึกหัดทหาร เรียกว่า ไพร่สม เมื่ออายุ 20 ปี จึงเรียกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการเรียกว่า ไพร่หลวง ส่วนพวกที่ไม่สามารถมารับราชการทหารได้ ก็ต้องมีของมาให้ราชการเป็นการชดเชยเรียกว่า ไพร่ส่วย
ได้มีการตั้งกรมพระสุรัสวดี ให้เป็นหน่วยรับผิดชอบ โดยมีออกพระราชสุภาวดี เป็นเจ้ากรมรับผิดชอบในมณฑลราชธานี พระสุรัสวดีขวา รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือ และพระสุรัสวดีซ้าย รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายใต้
[แก้] เหตุการณ์สำคัญ
- พ.ศ. 2039 ทรงประพฤติการเบญจาพิธ และทรงให้มีเล่นการดึกดำบรรพ์
- พ.ศ. 2040 ทรงให้ทำการปฐมกรรม
- พ.ศ. 2067 งาช้างต้นเจ้าพระยาปราบแตกข้างขวายาวไป ในเดือนเดียวกันมีผู้ทอดบัตรสนเท่ห์ สมเด็จพระรามาธิบดีทรงให้ประหารขุนนางจำนวนมาก
- พ.ศ. 2068 น้ำน้อย ข้าวมีการเน่าเสีย แผ่นดินไหวทุกเมือง และเกิดเหตุอุบาทว์หลายอย่าง
- พ.ศ. 2069 ข้าวสารแพงเป็น 3 ทะนานต่อเฟื้องเบี้ยแปดร้อย เกวียนหนึ่งเป็นเงินชั่งหกตำลึง
[แก้] การกล่าวถึงพระองค์ในวรรณคดีไทย
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นที่เชื่อกันว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกับที่ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระพันวษา ในวรรณคดีพื้นบ้านเรื่องขุนช้างขุนแผน เนื่องจากในพงศาวดาร อาทิ คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุถึงรัชสมัยของพระองค์ มีตอนที่กล่าวถึงทหารคนสำคัญคนหนึ่งที่ชื่อ ขุนแผน ด้วย
[แก้] อ้างอิง
- วิชาการ.คอม
- หอมรดกไทย
- พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อธิบายประกอบ สำนักงานพิมพ์โอเดียนสโตร์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2510
- ไทยรบพม่า เล่ม 1 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักงานพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2546
- พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สำนักงานพิมพ์คลังวิทยา จัดพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. 2510
[แก้] ดูเพิ่ม
สมัยก่อนหน้า | สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 | สมัยถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระราเมศวร ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1981 - พ.ศ. 1991) |
พระมหาอุปราชแห่งอาณาจักรอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2028 - พ.ศ. 2034) |
พระอาทิตยวงศ์ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2069 - พ.ศ. 2072) |
||
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2031 - พ.ศ. 2034) |
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2034 - พ.ศ. 2072) |
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2072 - พ.ศ. 2076) |
|
|
|