สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
พระบรมนามาภิไธย เจ้าสามพระยา
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
ราชวงศ์ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ครองราชย์ พ.ศ. 1967-พ.ศ. 1991
ระยะครองราชย์ 24 ปี
รัชกาลก่อนหน้า สมเด็จพระอินทราชา
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ข้อมูลส่วนพระองค์
สวรรคต พ.ศ. 1991
พระราชบิดา สมเด็จพระอินทราชา
พระมเหสี พระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 แห่งสุโขทัย
พระราชโอรส/ธิดา พระอินทราชา
พระราเมศวร
(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)
    

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) และเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 1967 ภายหลังจากเหตุการณ์การแย่งราชสมบัติของพระเชษฐาทั้งสองจนสิ้นพระชนม์ไปทั้ง 2 พระองค์ โดยพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา

พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในการปกครอง และการรบ ดังจะเห็นได้จากกรณีการตีล้านนาและเมืองกัมพูชา นับเป็นการขยายพระราชอาณาเขตของ อาณาจักรอยุธยาตอนต้นอย่างเป็นรูปธรรม

เนื้อหา

[แก้] พระราชประวัติ

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 มีพระนามเดิมว่า เจ้าสามพระยา เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระอินทราชา ทรงมีพระเชษฐา 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปปกครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญทางเหนือและได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไท) แห่งกรุงสุโขทัย ส่วนเจ้าอ้ายพระยาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ปกครองเมืองสุพรรณบุรีและเจ้ายี่พระยาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ปกครองเมืองสรรค์ (แพรกศรีราชา)

เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคตในพ.ศ. 1967 เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ต่างยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อชิงราชสมบัติ ทั้งสองพระองค์ได้กระทำยุทธหัตถีกันที่เชิงสะพานป่าถ่านจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ เป็นเหตุให้เจ้าสามพระยาได้ครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 2) โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระเจดีย์ขึ้น 2 องค์ ณ บริเวณที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาชนช้างกันจนสิ้นพระชนม์ทั้ง 2 พระองค์

พระองค์ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์ ได้แก่

  1. พระอินทรราชา หรือ พระนครอินทร์ เชื่อกันว่าประสูติจากมเหสีเดิมในสมัยที่เจ้าสามพระยาทรงครองเมืองชัยนาท ต่อมา พระอินทราชาได้รับการโปรดเกล้าให้ไปครองเมืองพระนครหลวงจนกระทั่งสิ้นพระชนม์
  2. พระราเมศวร ประสูติแต่พระมารดาที่เป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัย

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 1991 พระองค์ครองราชสมบัติรวม 24 ปี โดยสมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสได้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราช มีพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

[แก้] พระราชกรณียกิจ

[แก้] ด้านราชการสงคราม

[แก้] การศึกกับเขมร

เมื่อ พ.ศ. 1974 พระเจ้าธรรมาโศก กษัตริย์อาณาจักรเขมร ได้ยกกำลังเข้ามากวาดต้อนผู้ตามหัวเมืองชายแดนของกรุงศรีอยุธยาไป ทำให้สมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวง(นครธม) เมื่อ พ.ศ. 1975 พระองค์ตั้งทัพล้อมเมืองพระนครหลวงอยู่ 7 เดือน ก็สามารถตีเอาเมืองพระนครหลวงได้ ครั้งนั้นพระองค์ทรงให้พระอินทราชา พระโอรสปกครองเมืองนครหลวงในฐานะเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา แล้วให้นำ พระยาแก้ว พระยาไทย และรูปภาพ (เทวรูป สมบัติศิลปะของขอม) ทั้งปวงพร้อมทั้งกวาดต้อนผู้คนและสิ่งของสำคัญๆ มายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้อิทธิพลของเขมรในด้านการปกครอง ประเพณี ตลอดจนงานศิลปะมาปรากฏชัดในอยุธยา

พระอินทราชานั้นครองราชย์เมืองพระนครไม่นานก็สิ้นพระชนม์ เนื่องจากทนภาวะอากาศไม่ได้ กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดขึ้นไปดูแลแทน จึงทำให้ชาวเขมรนั้นไม่อาจกลับมายังที่เมืองพระนครได้ ปล่อยให้เมืองร้างลง ภายหลังเมื่อเขมรมีอำนาจคืนได้จึงมีการย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองพนมเปญ ทำให้เมืองพระนครล่มสลายในที่สุด

[แก้] การศึกกับล้านนา

ในปี พ.ศ. 1985 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้รบกับท้าวช้อยผู้เป็นพระอนุชา ท้าวช้อยแพ้หนีไปอยู่เมืองเทิง(อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย) เจ้าเมืองเทิงได้มาขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาและขอให้ส่งกองทัพไปช่วยรบ สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ของอาณาจักรล้านนาแต่ก็ตีไม่สำเร็จประกอบกับทรงพระประชวรจึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 1987 ทรงตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ครั้งนี้ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่กับเชลยอิก 120,000 คน จึงยกทัพหลวงกลับพระนคร

[แก้] ด้านการพระศาสนา

เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดให้สถาปนาเจดีย์ใหญ่ สองพระองค์ ไว้ตรงบริเวณที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาชนช้างสู้รบกันถึงสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ณ ตำบลป่าถ่าน พร้อมกับได้โปรดให้สถาปนาวัดราชบูรณะ ประกอบด้วยพระธาตุ และพระวิหาร โดยสร้างไว้ ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาและสร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้นเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระราชบิดาในวาระนั้นด้วย

พ.ศ. 1981 สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์

[แก้] ด้านการปกครอง

ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญาศึก (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ขึ้น

[แก้] การรวมสุโขทัยกับอยุธยา

พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา เป็นผู้นำที่เข้มแข็งในการสงคราม ได้พยายามที่จะขยายอาณาเขตของเมืองเชียงใหม่ลงมาทางใต้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงเห็นว่าหากปล่อยให้เชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ปกครองสุโขทัยในฐานะเมืองประเทศราชอยู่เช่นนั้นแล้ว จะทำให้ผู้คนในหัวเมืองพากันไปเข้ากับล้านนา หรือไม่ก็ถูกล้านนาลงมารุกราน ด้วยสุโขทัยนั้นอ่อนแอลงไม่เข้มแข็งพอ ที่จะดูแลหัวเมืองต่าง ๆ นั้นได้

เพื่อให้หัวเมืองฝ่ายเหนือหรืออาณาจักรสุโขทัยในการดูแลของเมืองพิษณุโลก อยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ ดังนั้นใน พ.ศ. 1981 เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 กษัตริย์แห่งสุโขทัยซึ่งครองเมืองพิษณุโลกอยู่ได้สวรรคตลง สมเด็จพระบรมราชาธิราช จึงทรงให้รวบรวมหัวเมืองเหนือที่เคยแยกการปกครองเป็นสองเขตนั้น รวมเป็นเขตเดียวกัน แล้วแต่งตั้งให้พระโอรสพระราเมศวรซึ่งมีพระมารดาเป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 เป็นพระมหาอุปราช ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อกำกับดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด โดยให้เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองมหาอุปราช จึงเป็นการทำให้ราชวงศ์พระร่วงหมดอำนาจในปกครองสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัยจึงค่อยๆถูกรวมกับกรุงศรีอยุธยา

[แก้] เหตุการณ์สำคัญ

[แก้] อ้างอิง

[แก้] ดูเพิ่ม

สมัยก่อนหน้า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 สมัยถัดไป
สมเด็จพระอินทราชา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1952 - พ.ศ. 1967)
2leftarrow.png Seal of Ayutthaya (King Narai).png
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1967 - พ.ศ. 1991)
2rightarrow.png สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1991 - พ.ศ. 2031)
เครื่องมือส่วนตัว

สิ่งที่แตกต่าง
การกระทำ
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น