พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร |
|
---|---|
พระปรมาภิไธย | พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์จักรี |
ครองราชย์ | 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 |
ระยะครองราชย์ | 12 ปี, 99 วัน |
รัชกาลก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว |
รัชกาลถัดไป | พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช |
วัดประจำรัชกาล | วัดสุทัศนเทพวราราม (โดยอนุโลม) [1] |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
พระราชสมภพ | 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมัน |
สวรรคต | 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (20 พรรษา) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พระราชบิดา | สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก |
พระราชมารดา | สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี |
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (20 กันยายน พ.ศ. 2468 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมนี ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมศรีสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี") มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ
พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ระหว่างกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี
เนื้อหา |
[แก้] พระราชประวัติ
[แก้] ขณะทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นพระโอรสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมนี ขณะที่สมเด็จพระราชบิดาทรงศึกษาการแพทย์ที่ประเทศเยอรมัน โดยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล [2][3] สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท [4]
พระองค์ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระราชบิดาทรงเข้าศึกษาวิชาแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ประทับ ณ วังสระปทุม ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชบิดาทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ดังนั้น พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว [5]
พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรส และพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนนูแวลเดอลา ซูวิสโรมองต์ และ ทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ[6]
[แก้] การขึ้นทรงราชย์
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท ดังนั้น คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477[7] โดยได้รับการเฉลิมพระนามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[8][9]
ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ 8 พรรษา และยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) [10]
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[11] และเมื่อเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญญกรรม จึงมีการแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน[12] หลังจากนั้น เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญญกรรม รวมทั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว [13] จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับสู่พระนคร[14]
[แก้] การเสด็จนิวัติพระนคร
รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนคร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2477 เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์จึงได้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2478 แต่ก็ทรงติดขัดเรื่องพระพลานามัยอีกเช่นกัน หลังจากนั้น รัฐบาลได้ส่งพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีที่โลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2479 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการเสด็จนิวัติพระนครนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ คณะรัฐบาลใหม่จึงขอเลื่อนการรับเสด็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด[15]
หลังจากนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองโลซานน์ที่ประทับโดยทางรถไฟมายังเมืองมาเชลล์ เพื่อประทับเรือเมโอเนีย ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทย และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เรือพระที่นั่งได้เทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง รัฐบาลได้จัดเรือหลวงศรีอยุธยาออกไปรับเสด็จมายังจังหวัดสมุทรปราการ ณ ที่นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จไปคอยรับพระราชนัดดาและพระสุนิสาด้วย หลังจากนั้น จึงได้เสด็จโดยเรือหลวงศรีอยุธยาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งนับเป็นการเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[15]
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง พระองค์จึงเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการเสด็จนิวัติประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป[14]
[แก้] สวรรคต
-
ดูบทความหลักที่ การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์จนเรียบร้อยแล้วจึงจะเสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวรและทรงเข้ารับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ด้วยสาเหตุทรงต้องพระแสงปืน ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน
หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบงเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานชั้นบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสริรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม[16]
[แก้] การเฉลิมพระปรมาภิไธย
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไม่ได้ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระบรมขัติยราชอิสสริยยศ รวมทั้ง ยังได้ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางองค์ เช่น นพปฎลเศวตฉัตร ซึ่งใช้ในการกางกั้นพระบรมศพและพระบรมอัฐิ จึงได้มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช" โดยประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2489[17]
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในวโรกาสพระราชพิธีฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า
"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตน สรณารักษ์วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร"[18]
นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาล มหารัษฎธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร" และอย่างสังเขปว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร"[5]
[แก้] พระราชลัญจกรประจำพระองค์
ในปี พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้สำนักพระราชวังจัดสร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้น ซึ่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี สมุหพระราชวัง ได้ปรับปรุงพระราชลัญจกรรูปพระโพธิสัตว์สวนดุสิต ที่เคยใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ โดยการสร้างพระราชลัญจกรนั้น ใช้แนวคิดจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "อานันทมหิดล" ซึ่งหมายถึง เป็นที่ยินดีแก่แผ่นดิน ดังนั้น จึงได้ใช้รูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีหมายความเดียวกันว่า เป็นความยินดีและเป็นเดชยิ่งในพื้นพิภพ มาเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 8 นั้น เป็นตรางา ลักษณะกลมศูนย์กลางกว้าง 7 เซนติเมตร มีรูปพระโพธิสัตว์ประทับอยู่เหนือบัลลังก์ดอกบัว พระบาทขวาห้อยอยู่เหนือบัวบาน ซึ่งหมายถึง แผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีเรือนแก้วอยู่ด้านหลังแถบรัศมี ซึ่งมีข้อแตกต่างจากพระราชลัญจกรที่ใช้ในรัชกาลที่ 5 คือ มีการเพิ่มรูปฉัตรตั้งไว้ข้างแท่นที่ประทับของพระโพธิสัตว์ [19][20]
[แก้] พระราชกรณียกิจ
[แก้] การปกครอง
พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ และทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่อง มีพระราชดำริว่า หากปล่อยความขุ่นข้องบาดหมางไว้เช่นนี้ จะเป็นผลร้ายตลอดไป จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และพระองค์ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ 3 กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนี้จึงเป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป
[แก้] การศาสนา
ในการเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกนั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารนั้น พระองค์เคยมีพระราชดำรัสกล่าวว่า "ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง" ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้[15]
พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงผนวชในพระพุทธศาสนา โดยได้มีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ทรงผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้[15] นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร[21]
[แก้] การศึกษา
ในการเสด็จนิวัติพระนครในครั้งที่ 2 พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 [22] และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[5]
หลังจากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต[23]
[แก้] พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจสำคัญน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เช่น
- พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ ดังนั้น จึงมีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ บริเวณลานประทักษิณ ชั้นล่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระวิหารหลวง พระบรมรูปหล่อด้วยสำริด ขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ประทับยืน ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนยกพื้นสูง มีแผ่นทองเหลืองจารึกเกี่ยวกับกำหนดการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เบื้องหลังเป็นแผ่นหินอ่อนวงโค้ง ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ "อปร" ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ[24]
- พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2475 เลขประจำพระองค์ 2329 หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี พระองค์เจ้าอานันทมหิดลก็ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีความผูกพันกับ โรงเรียนเทพศิรินทร์มาโดยตลอด มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมาคมนักเรียนเก่าฯ ตลอดจนมวลหมู่ลูกแม่รำเพยทุกคน ซึ่ง พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ มีขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ประทับยืน เช่นเดียวกับ พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ด้วยพระองค์เอง โดยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกๆปีเวียนมาบรรจบครบ ทางโรงเรียนเทพศิรินทร์ อันประกอบด้วย คณะผู้บริหาร คณะครู นักเรียนเก่า นักเรียนปัจจุบัน และ บุคลากรของโรงเรียน ได้จัดพิธีวางพวกมาลาและถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทุกปีเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
- พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด(ชาย) เปิดทำการสอนตั้งแต่พุทธศักราช 2448 ตั้งอยู่พระราชวังจันทร์เกษม(พระราชวังหน้าแห่งกรุงศรีอยุธยา) ใกล้กับวัดเสนาสนาราม เรียกชื่อ"โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า"ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น"โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย"และย้ายมาอยู่ในสถานที่ปัจจุบัน เมื่อปีพุทธศักราช 2484 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแสนบาท สร้างอาคารเรียน 2 ชั้น 1 หลัง หอประชุม 1 หลังพร้อมบ้านพักครูอีก 20 หลัง และในวันที่ 19 กรกฎาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลุกเธอทั้สองพระองค์เสด็จมาเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 และโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนนับเวลาถึงปัจจุบันได้ 106 ปี (ณ พ.ศ. 2553) ในทุกวันที่ 9 มิถุนายน ในทุกๆปี ทางโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อันประกอบด้วย คณะผู้บริหาร คณะครู สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะกรรมการนักเรียน นักเรียนปัจจุบันและศิษญ์เก่า ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน และรํบพิธีวางพวกมาลาและถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล หน้าอาคารพระราชทานสิริมงคลานันท์ ทุกปีเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
- พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดลพบุรี และพระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลอานันทมหิดล[25] หลังจากการสร้างแล้วเสร็จ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2481 ดังนั้น คณะกรรมการโรงพยาบาลจึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ หน้าตึกอำนวยการของโรงพยาบาล
- พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระราชปรารภต่อรัฐบาลในสมัยนั้น เรื่องการผลิตแพทย์เพิ่มให้เพียงพอต่อประชาชน อันเป็นจุดกำเนิดโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศ ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้ติดต่อให้ คุณไข่มุก ชูโต เป็นผู้ออกแบบปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์แท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2528 และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พระบรมรูปหล่อด้วยส่วนผสมของทองเหลืองและทองแดง มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับนั่งเหนือพระเก้าอี้ ผินพระพักตร์ไปทางเบื้องขวาเล็กน้อย ประดิษฐาน ณ ลานหน้าอาคาร อานันทมหิดล ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[26]
[แก้] พระบรมราชานุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทุนอานันทมหิดลขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์มีพระราชดำริที่จะพระราชทานทุนให้นักศึกษาผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม ไปศึกษาต่อให้ถึงระดับความรู้ชั้นสูงสุดยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศชาติและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หลังจากนั้น ได้จัดตั้งขึ้นเป็น มูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 เดิมทุนนี้จะพระราชทานให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ แต่เมื่อความต้องการผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น ๆ มีเพิ่มมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาอื่น ๆ ปัจจุบัน การพระราชทานทุนนั้นสามารถแบ่งออกเป็นแผนกต่าง ๆ ได้ ดังนี้ แผนกแพทยศาสตร์ แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกวิศวกรรมศาสตร์ แผนกเกษตรศาสตร์ แผนกธรรมศาสตร์ แผนกอักษรศาสตร์ แผนกทันตแพทยศาสตร์ และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ [5]
- มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นประจำ จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อเป็นทุนสำหรับบูรณปฏิสังขรณ์วัด และส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์และสามเณรคณะกรรมการจึงได้จัดตั้งเป็น มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2518 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[15][27]
- อาคาร "อปร" และอาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สืบเนื่องจากความไม่เพียงพอของแพทย์ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งผลิตแพทย์เพิ่ม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างตึกใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนิสิตแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 90 คนต่อปี โดยได้รับอนุมัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2536 และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญอักษรพระปรมาภิไธย "อปร" มาเป็นชื่ออาคาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งได้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2539 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย "อปร" เป็นชื่ออาคาร เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2546 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 8 อาคารดังกล่าวเป็นย่อมุม 8 มุม สูง 19 ชั้น บนยอดอาคารประดับอักษรพระปรมาภิไธย "อปร" ตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ[28] นอกจากนี้ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังมีอาคารอานันทมหิดลอีกด้วย
[แก้] พระราชตระกูล
ลำดับพงศาวลีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
[แก้] อ้างอิง
- ^ ไม่มีวัดประจำรัชกาลตามประกาศพระบรมราชโองการ แต่ถือกันว่าวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นวัดประจำรัชกาลโดยอนุโลม เพราะเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร[ต้องการอ้างอิง]
- ^ วุฒิชัย มูลศิลป์ และคณะ, พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, อัลฟ่า มิเล็นเนียม, ISBN 974-91048-5-4
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า, เล่ม 44, ตอน 0ก, 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470, หน้า253
- ^ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา, เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์, ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549, 450 หน้า, ISBN 974-7047-55-1
- ^ 5.0 5.1 5.2 5.3 พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จากเว็บไซต์ มูลนิธิอานันทมหิดล
- ^ อ. วิโรจน์ ไตรเพียร, 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี, สำนักพิมพ์ คลังศึกษา,2543,หน้า 108-116
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1330
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง เฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, เล่ม 51, ตอน 0ก, 25 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1407
- ^ คำว่า "พระบาท" นั้น ใช้นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จาก วันฉัตรมงคล เวปไซต์ Thaimail
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม 52, ตอน 0ก, 21 สิงหาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1260
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม), เล่ม 58, ตอน 0ก, 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, หน้า 1821
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ , เล่ม 61, ตอน 45ก, 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487, หน้า 730
- ^ 14.0 14.1 ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 62, ตอน 52ก, 20 กันยายน พ.ศ. 2488, หน้า 559
- ^ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 ศิลปากร,กรม, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล, กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ บริษัท ส.ศิลป์ (2521) จำกัด, 2529 ISBN 974-7925-81-8
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ 4/2493 ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสยามินทราธิราช ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พ.ศ. 2493, เล่ม 67, ตอน 16ง, 21 มีนาคม พ.ศ. 2493, หน้า 1261
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, เล่ม 63, ตอน 54ก, 13 สิงหาคม พ.ศ. 2489, หน้า 439
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล, เล่ม 113, ตอน 11ข, 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539, หน้า 1
- ^ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ 8 จากเว็บไซต์ Debsirin History Networks
- ^ ตราราชวงศ์จักรี และพระราชลัญจกร ประจำพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่าง ๆ จากเว็บไซต์ บ้านฝันดอตคอม
- ^ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์,ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์, สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น,2520
- ^ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
- ^ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล จาก เว็บไซต์รากฐานไทย ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ
- ^ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 จาก เวปไซต์วัดสุทัศนเทพวราราม
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินสร้างโรงพยาบาลที่จังหวัดลพบุรี, เล่ม 54, ตอน 0ง, 19 เมษายน พ.ศ. 2480, หน้า 149
- ^ พระรูป ร.8 จากเวปไซต์ สมาคมศิษย์เก่าแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์
- ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้อำนาจจัดตั้ง "มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์" เป็นนิติบุคคล, เล่ม 92, ตอน 241ง, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518, หน้า 2997
- ^ อาคาร "อปร" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[แก้] ดูเพิ่ม
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: |
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: |
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- เฉลิมพระเกียรติยศพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จาก Debsirin History Networks
- มูลนิธิอานันทมหิดล
- ชมรมผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล
สมัยก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | สมัยถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | พระมหากษัตริย์สยาม (2 มีนาคม พ.ศ. 2477 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร |
|
- บทความคุณภาพ
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2468
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2489
- พระมหากษัตริย์ไทย
- ราชสกุลมหิดล
- รัชกาลที่ 8
- ชาวไทยที่เกิดในประเทศเยอรมนี
- ชาวไทยเชื้อสายจีน
- สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก.
- สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ น.ร.
- สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ.ว.
- พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ตั้งแต่เยาว์วัย
- พระมหากษัตริย์ที่ถูกลอบปลงพระชนม์
- พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5
- พระราชปนัดดาในรัชกาลที่ 4
- บุคคลจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
- บุคคลจากโรงเรียนเทพศิรินทร์